Feature

เสรีแล้วดีอย่างไร? : มุมมองต่อ "กัญชา" ที่เปลี่ยนไปในวงการกีฬาไทย โดย นพ.มีชัย อินวู๊ด | Main Stand 

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่มีการปลดล็อกกัญชาและกัญชงอย่างเป็นทางการในประเทศไทย หลังจากเรื่องดังกล่าวได้มีการผลักดันกันมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีการอนุญาตให้ประชาชนปลูกและบริโภคพืชชนิดนี้ได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย 

 


อย่างไรก็ตามการใช้เพื่อการสันทนาการก็ต้องอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนในพื้นที่สาธารณะ และถึงจะเปิดกว้างมากขึ้น เรื่องของการใช้กัญชาก็ยังคงเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ ทั้งในเรื่องของความเหมาะสมในการใช้ รวมไปถึงการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องประโยชน์และโทษของกัญชา จนเป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ เรื่องของกัญชาเสรี ยังได้กลายมาเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงในวงการกีฬาเช่นเดียวกัน ตามข้อมูลที่มีการศึกษากันอยู่ในปัจจุบันพบว่า ในบางครั้งกัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในวงการกีฬาได้จริง เนื่องจากสารสกัด CBD ที่ได้จากกัญชาที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างเช่นการช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ในขณะเดียวกันสารที่สกัดได้จากกัญชาบางชนิดอย่าง THC ก็ยังเป็นสารต้องห้ามที่มีการแบนโดย องค์การการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) อยู่ในระดับสากล

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ในวันที่กัญชาเสรีในประเทศไทยนักกีฬาไทยสามารถใช้กัญชาได้หรือไม่อย่างไร ? ติดตามต่อได้ใน Main Stand 

เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาที่มากขึ้น รวมไปถึงข้อกำหนดและคำแนะนำสำหรับการใช้กัญชาในวงการกีฬาหลังจากที่ประเทศไทยเพิ่งปลดล็อกสมุนไพรชนิดดังกล่าว เราจึงติดต่อไปพูดคุยกับ "นายแพทย์มีชัย อินวู๊ด" ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาแห่งการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อขอความรู้เรื่องมุมมองต่อกัญชาที่อาจส่งผลต่อกีฬาไทยในอนาคต

 

ในวันที่กัญชาเริ่มปลดล็อกแล้ว สรุปกัญชาดีหรือไม่ดีอย่างไรกับวงการกีฬา ? 

ในวงการกีฬาเองก็มีคนพูดคุยเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ว่า 'เอ้ย ไม่ต้องห้ามหรอก' แต่ว่ายังมีข้อจำกัดที่ว่า ถ้าเราไม่ได้คุมแล้วเป็น THC ถ้านักกีฬาติดขึ้นมาอนาคตจะเสียแล้วจะเสี่ยงทำไม เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าชีวิตช่วงที่เป็นนักกีฬานั้นสั้นและมีเวลาในการทำการแข่งขันระดับสูงๆ น้อย ถ้าเลยจากตรงนั้นมาแล้วจะใช้ในการรักษาก็ไม่มีปัญหาแล้ว แต่พอไปดูว่าโรคที่รักษามีอะไรบ้าง เราจะพบว่าเป็นโรคที่ไม่ควรมาเล่นกีฬาแล้ว อย่างน้อยก็ในระดับที่เป็นเลิศ 

นึกออกไหม คุณเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว คุณเครียดจนขนาดทำมาหากินไม่ได้แล้ว คุณจะมาแข่งกีฬาเพื่อเพิ่มความเครียด เพิ่มความเจ็บปวดก็ไม่ใช่เรื่องแล้ว เลยมีกำแพงว่าถ้าต้องใช้ก็ไม่ควรเล่นกีฬาแล้วนะ อย่างไรก็ตามก็มีนักกีฬาหลาย ๆ คนที่ใช้แล้วยังเล่นกีฬาได้แล้วมีความสุขดี แต่ตอนนี้ข้อมูลยังมีไม่พอที่จะตัดสินใจทางใดทางหนึ่งได้

อย่างไรก็ตามกัญชาไม่ใช่ว่ามีแต่ผลเสียสำหรับกีฬา มีงานวิจัยที่บอกว่าการใช้กัญชาหรือว่าสารสกัดบางตัวของกัญชาทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบก็ขึ้นอยู่กับชนิดกีฬา บางชนิดกีฬาที่ต้องการความนิ่งก็อาจจะไม่ได้เปรียบ 

ในเรื่องของการใช้เพื่อความสุขก็มีผลที่เราพอจะรู้กันอยู่แล้วแหละว่าการใช้กัญชาทำให้ลดการเจ็บปวดได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงทำให้คลายเครียด สองอย่างนี้เป็นผลที่เรายอมรับกัน แม้แต่ในวงการแพทย์เองก็มีการใช้สารบางชนิดที่อยู่ในกัญชา ต้องแยกให้ถูกก่อนว่า สารที่เราใช้ในวงการแพทย์เป็น CBD เป็น Cannabidiol ไม่ใช่เป็น THC ซึ่งเป็นสารตัวกัญชาปกติ 

 

ความแตกต่างระหว่าง CBD และ THC ? 

ในกัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีสารผสมอยู่ไม่ได้เป็นสารสารเดียว เป็น THC และ สารอื่น ๆ อีกเป็น 1,000 ชนิด สารที่เราเข้าใจว่าอยู่กัญชารวมๆ นั้นก็คือสารตระกูล "คานาบิอยด์" (Canabinoid) ซึ่งมีผลต่อระบบประสาท อาจจะกด อาจจะกระตุ้นแล้วแต่ปริมาณ มีผลต่อหัวใจ หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น มีผลต่อหลอดลม เป็นการขยายหลอดลม แล้วก็ในช่วงที่กดประสาทก็จะเบลอ ๆ หน่อย แต่ก็มีบางคนที่สูบแล้วคึก ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและปริมาณที่ใช้ 

THC กับ CBD ต่างกันตรงที่ว่า THC สูบแล้วติด เป็น Psychoactive Drug ใช้แล้วจะมีอาการ พอขาดไปจะรู้สึกหงุดหงิด แต่ CBD ไม่มีคุณสมบัตินี้ เพราะงั้นในทางการแพทย์ก็ต้องสกัด CBD มาใช้ 

 

แปลว่าสาร CBD ในกัญชามีประโยชน์จริง ? 

มีโรคที่อนุญาตให้ใช้ได้อยู่ 7-8 โรค ที่พบว่ามีประโยชน์จริงและมีผลข้างเคียงน้อยมากหรือเป็นผลข้างเคียงที่รับได้ ถ้าเราเข้าใจว่ายาทุกตัวที่เราใช้อยู่ปัจจุบันมีผลข้างเคียงหมด ตัวอย่างเช่นพาราเซตามอลจะทำลายตับถ้าใช้เยอะเกินไป

CBD ก็จะถูกใช้ในกรณีที่เครียดนาน ๆ กินยาอื่นไปนาน ๆ แล้วมีผลในทางลบ บางคนก็หันมาใช้ CBD แทนเพราะไม่ติด ถ้าจะมาใช้ทางการแพทย์ก็ต้องมีคุณหมอสั่งยาให้ แล้วก็จะสามารถมีไว้ในครอบครองได้เหมือนยาตัวอื่น แพทย์ด้วยกันเองก็มองว่าสิ่งนี้เป็นทางเลือก ซึ่งในประเทศไทยเราก็มีสมุนไพรแบบนี้ที่ออกมาใช้ชัดเจนแล้วค่อนข้างเยอะอยู่ อย่างเช่น ขมิ้นชันแก้ท้องอืดหรือว่าฟ้าทลายโจรลดไข้ 

 

มีกีฬาชนิดไหนที่ "เหมาะ" หรือ "ไม่เหมาะ" กับการใช้กัญชาบ้าง ? 

ข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ประเทศที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังก็จะเป็นแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาใช้มานานแล้ว เขาพบว่ากีฬาที่ใช้ความเร็วและความแรงทั้งหลายไม่ควรใช้กัญชา เพราะว่ากัญชามีผลต่อการเต้นของหัวใจ จะทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น กีฬาที่ต้องนิ่ง หัวใจเต้นช้า ๆ เช่น ยิงปืน ยิงธนู ก็ไม่ควรใช้ เพราะใช้กัญชาแล้วหัวใจเต้นเร็ว

แต่กีฬาที่ใช้ออกซิเจนเยอะๆ เวลาใช้กัญชาแล้วหลอดลมจะขยายก็อาจมีผลดีอยู่บ้าง แต่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ตามสถิติแล้วนักกีฬาที่ใช้จริง ๆ เขาจะใช้ก่อนที่จะทำการแข่งขัน เป็นประเภทที่ทำให้ใจเย็นลง พวกนี้จะเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีม อย่างเช่นกีฬาโต้คลื่นก็ใช้กันปกติ พวกกีฬาผาดโผนทั้งหลายก็จะมีการใช้ของเขาอยู่ ซึ่งกีฬาพวกนั้นบางประเภทก็ไม่ได้อยู่ในกฎกติกาของสารต้องห้าม ซึ่งไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นกีฬาที่อยู่ในกฎกติกาของสารต้องห้ามก็จะผิดกฎ 

 

ใช้ขนาดไหนถึงเรียกว่าโด๊ป ?​ 

สารใดก็ตามที่จะเป็นการโด๊ปได้จะต้องเข้าเกณฑ์อยู่ 3 ข้อ ข้อที่หนึ่ง คือมีผลทำให้เก่งขึ้นในเรื่องของกีฬา อึดขึ้น ทนขึ้น ไวขึ้น ข้อที่สอง คือมีผลเสียต่อร่างกาย ข้อที่สาม คือไม่เป็นไปตามวิถีของกีฬาหรือบางคนก็ใช้คำว่าจิตวิญญาณของกีฬา คือไม่เป็นไปตามแฟร์เพลย์

ย้อนกลับไปที่ THC กับ CBD ในวงการกีฬาจะแบน THC แต่แบนเฉพาะในการแข่งขัน ช่วงที่ไม่แข่งขันก็ใช้ได้ ก็คือถ้าไม่ได้มีการเสพกัญชาในช่วงที่มีการแข่งขันก็ไม่ถือว่าผิด อย่างไรก็ตาม THC นั้นเป็นสารที่อยู่ในร่างกายได้นาน ถ้ามีการใช้แบบต่อเนื่อง ก็อาจจะอยู่เกินหนึ่งเดือนได้ เพราะเป็นสารที่ละลายในไขมัน ไปเก็บสะสมอยู่ในไขมัน แล้วถึงจะค่อย ๆ ปล่อยออกมา เพราะงั้นการที่บอกว่าเราหยุดใช้ก่อนไปแข่งผิดไหม ? ถ้าตรวจเจอก็ยังผิดอยู่ 

อย่างไรก็ตาม CBD จะไม่โดนแบน แต่ปัญหาดันอยู่ตรงที่ว่า การสกัด CBD ออกมา 100 เปอร์เซ็นต์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในปัจจุบัน คือต้องมี THC ผสมมาด้วย เวลาตรวจเขาตรวจหา THC ถ้าเจอขึ้นมาก็ถือว่าเป็นโด๊ป

ถ้าใช้เพื่อที่จะให้นอนหลับพักผ่อนเต็มที่ ไม่เครียด ลดอาการเจ็บปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็โอเค แต่ก็ต้องเลิกใช้ก่อนแข่งหนึ่งเดือน เพราะสารตกค้างจะอยู่ในร่างกายนานประมาณนั้น 

 

ถ้าไม่ใช้กัญชา นักกีฬามีตัวเลือกอื่นในการผ่อนคลายยังไงบ้าง ?

อยู่ที่เป้าหมายในการใช้คืออะไร ถ้าใช้เพื่อคลายเครียดก็ต้องดูว่าเครียดมาจากอะไร แล้วรักษาความเครียดนั้นให้หายจะได้ไม่ต้องใช้ ถ้าใช้เพราะปวดต้องไปหาว่าสาเหตุว่าที่ปวดมาจากอะไร กระดูกไม่ดีหรือกล้ามเนื้อไม่ดี เอ็นฉีกหรืออะไรก็แล้วแต่ รักษาตรงนั้นให้หาย เพื่อที่ไม่จำเป็นต้องใช้กัญชาต่อ 

วิธีการที่จะทำให้ผ่อนคลายมีตั้งแต่ไม่ซ้อมหนักเกินไปจะได้ไม่เครียด มีเรื่องของการให้ความรู้ด้านจิตวิทยา มีเรื่องของการฟังเพลง นั่งสมาธิ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อม พักผ่อนเพียงพอ กินอาหาร 5 หมู่ ทำจิตใจให้สบาย หรือตัวกีฬาเองถ้าเราเล่นอย่างถูกต้องก็เป็นการผ่อนคลายอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่พอมีการแข่งขันเข้ามาเมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นความเครียด

เรื่องของอาการเจ็บปวด กัญชาสามารถใช้ในการเจ็บปวดระดับสูงแทนพวกมอร์ฟีน แต่ก็มียาแก้ปวดเต็มไปหมดเหมือนกัน ซึ่งส่วนมากเวลาปวดจะเป็นเรื่องของการปวดทางกาย คือมีการบาดเจ็บ ฟกช้ำดำเขียว ไปจนถึงกระดูกหัก พวกนี้มียารักษาอยู่แล้ว เป็นยาที่ค้นคว้าวิจัยมา มีการทำทดลองแล้วว่าผลข้างเคียงควบคุมได้

สารต้องห้ามมีข้อกำหนดอยู่ข้อหนึ่งว่า ท่านสามารถใช้ยาที่เป็นสารต้องห้ามในการรักษาได้ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ เหตุผลที่หนึ่ง ก็คือใช้ยาอื่นไม่ได้หรืออาจจะแพ้ยานู่นนี่นั่นจนเหลือตัวนี้ที่ไม่แพ้ เหตุผลที่สอง คือไม่มียาอื่นมาเทียบเคียง แล้วก็เหตุผลที่สาม คือใช้แล้วไม่ทำให้ส่งผลต่อการแข่งขัน คือไม่ทำให้เล่นกีฬาดีขึ้น ซึ่งพอเรากลับมาดูว่าเราขอใช้กัญชาได้ไหมก็ไม่น่าจะมีใครอนุญาตให้ใช้ได้เพราะมียาตัวอื่นที่ใช้แทนกันได้

 

แล้วถ้าจำเป็นต้องใช้จริง ๆ จะใช้อย่างไร ? 

คำว่า "จำเป็นต้องใช้" ยังไม่มีก่อนนะในวงการกีฬา แล้วก็เรื่องของการสูบคือตัดทิ้งไปเลย ยังไงตรวจเจอก็เป็นโด๊ป แต่ก็มีกีฬาที่คนพิการเล่นได้ คนที่เจ็บมาก ๆ ก็เล่นได้ เช่น หมากฮอส หมากรุก หรือกีฬากระดานต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ความแข็งแรงทางกายภาพ เท่าที่ดูอาจจะเป็นกรณีเดียวที่ใช้กัญชาได้ด้วยคำว่า "จำเป็น"

แต่คำว่าจำเป็นหมายถึงว่าใช้อย่างอื่นไม่ได้ผลหรือผลข้างเคียงเยอะเกินไปนะ เช่น ถ้าปวดมากแล้วใช้มอร์ฟีน แต่ใช้จนเบลอ ขยับไม่ได้ หายใจไม่สะดวก ถ้ามีกรณีแบบนี้ขึ้นมาคือจำเป็น

สิ่งแรกที่ต้องทำคือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนว่าจะต้องใช้ในปริมาณเท่าไหร่ บ่อยขนาดไหน เป็นระยะเวลานานแค่ไหนถึงจะคุ้ม สิ่งที่สองจะต้องมีการตรวจทางการแพทย์อย่างละเอียดเพื่อที่จะดูว่าใช้อย่างอื่นไม่ได้แล้ว มีการเขียนใบรับรองแพทย์ มีการทำเอกสารประกอบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ต้องให้เป็นกรณีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

เราเรียกว่าเป็นการขอ Therapeutic Usage Emotion หรือ TUE คือทำได้ตามกฎ จะมีคณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมานั่งพิจารณาว่าใช้ได้ไหม ถ้าพิจารณาแล้วว่าใช้ได้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเล่น ไม่ได้มีผลกระทบต่อสุขภาพ แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการที่ได้เปรียบคนอื่นเขาก็จะอนุญาตให้ใช้ได้ เราก็ใช้ในความควบคุมของแพทย์ 

 

ในอนาคตมีโอกาสที่จะถูกพิจารณาการให้ใช้สำหรับนักกีฬามากขึ้นไหม ? 

ข้อมูลตอนนี้ยังไม่พอที่จะตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง อย่าง 200 กว่าประเทศของโอลิมปิก มีประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาน้อยกว่าประเทศที่ไม่อนุญาต พอเป็นเสียงข้างมากแล้ว แน่นอนว่ากัญชาก็ยังโดนแบนอยู่

ถ้าวันใดวันหนึ่งมีผลงานวิจัยออกมาชัดเจนว่า เฮ้ย พืชสมุนไพรชนิดนี้มีมาตั้งนานแล้ว ผลข้างเคียงน้อยมาก ถ้าไม่ใช้เกินเหตุหรือข้อกำหนด 3 ข้อนั้นหายไป วันนั้นเขาจะเอากัญชาออกจากลิสต์ 

ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น คาเฟอีน ที่ดื่มกาแฟแล้วตื่น เป็นการกระตุ้น แต่ก็ถูกเอาออกจากกฎแล้ว เพราะคาเฟอีนกระตุ้นได้ 15 นาที แล้วจะกระตุ้นให้ได้เรื่องได้ราวคุณต้องกินกาแฟ 12 แก้วในครั้งเดียว ซึ่งไม่สมเหตุสมผลแล้ว (หัวเราะ) ไม่มีใครบ้าทำหรอก ก็เอาออกจากลิสต์ได้ 

สารต้องห้ามทุกตัวเราคุยเรื่องนี้กันทุกปี ซึ่งในเรื่องของกัญชาเองปีนี้ไม่ทัน ปีหน้าจะมีการพิจารณากันใหม่ว่าเมื่อเปิดเสรีแล้ว ทำการวิจัยเพิ่มขึ้นแล้วผลออกมาเแป็นแบบนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่อยู่ในวงการนี้ก็จะไปนั่งคุยกันว่า เฮ้ย ไม่จำเป็นแล้ว เพราะมันอาจจะกลายเป็นการจำกัดสิทธิ์​ จะมาบอกว่าทำอาหารใส่กัญชาแล้วอร่อยน้อยลงไม่มี แต่นักกีฬาห้ามกินอาหารอร่อยหรือ ? ไม่ได้สิ ตอนช่วงที่เขาไม่ได้แข่งขันเขาจะกินอะไรก็เรื่องของเขา (หัวเราะ)

 

ในอนาคตหากมีการเปิดใช้กันอย่างเสรีมากขึ้นจะมีการรับมืออย่างไร ?

ในข้อมูลที่เรารอตอนนี้คือความชัดเจนของตัวกฎหมายเองเมื่อถูกบังคับใช้ ตอนนี้ยังสังเกตเห็นว่ายังมีข้อโต้แย้งอยู่ว่าอะไรคือถูกกฎหมายอะไรคือผิดกฎหมาย เดี๋ยวพอเรื่องนี้ชัดเจนแล้วเราก็จะมีการแถลงอีกรอบหนึ่งว่าเมื่ออยู่ข้างนอกการแข่งขันสิ่งนี้ทำได้และสิ่งนี้ทำไม่ได้ 

ขณะนี้ข้อมูลน้อยเกินไปที่จะบอกว่าสิ่งนี้ใช่หรือสิ่งนี้ไม่ใช่ ถ้าข้อมูลระดับโลกไม่ชัดเราจะไม่พูด เราจะให้คำปรึกษาได้เป็นกรณี แต่ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปผมยังตอบให้ไม่ได้ เช่น ถ้ามีคนคิดว่าอยากจะทำเครื่องดื่มชูกำลังที่มีกัญชาผสมที่ยังไม่ถูกกฏหมายด้วยซ้ำหรือถ้าจะมีแต่ CBD อย่างเดียวซึ่งไม่ผิดกฎหมาย คุณมีวิธีการสกัด CBD ใหได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์หรือยัง ? เพราะฉะนั้นตอนนี้เรื่องกัญชาไม่ได้เป็นขาวหรือดำ เป็นพื้นที่สีเทา ๆ เยอะมาก แต่เราก็มีข้อมูลพอที่จะตัดสินใจเป็นกรณีไป 

 

โดยสรุปแล้ว นักกีฬา "มีสิทธิ์" ที่จะใช้กัญชาหรือไม่ ? 

นักกีฬามีสิทธิ์จะใช้ไหม มีสิ (หัวเราะ) นอกการแข่งขันไม่ได้ห้ามอยู่แล้ว แต่ก็อย่าถือเข้าสนาม ในบางกรณีก็อาจจะมีผลดีก็ได้ในบางกีฬา เราก็ต้องดูตามการใช้ของแต่ละคนไป 

ถ้าเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตอนนี้เราสามารถทำงานวิจัยได้อย่างเสรีขึ้นแล้ว นี่จึงเป็นช่วงที่ควรจะทำเรื่องนี้มากกว่า 

การจะใช้กัญชาในการกีฬายังเป็นความเสี่ยงอยู่ เสี่ยงที่ต้องดูว่าผู้ใช้จะสามารถรับได้หรือเปล่า การลงโทษคือการแบน 4 ปี คุ้มกันหรือไม่ผู้ใช้ก็ต้องตัดสินใจเอง เพราะทั้งสองฝ่ายจะไม่ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลกัน 

ในเมื่อกฎหมายบอกว่าใช้ได้แล้วก็แค่ไม่ใช้ระหว่างการแข่งขันเพราะนั่นเป็นกติกา ถ้าเราเข้าใจว่าเรื่องสารต้องห้ามเป็นส่วนหนึ่งของกติกา เมื่อคุณทำผิดกติกาคุณก็ต้องโดนลงโทษ

Author

ณัฐพล ทองประดู่

Memento Vivere / Memento Mori

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ