โดยส่วนมากการพิจารณาถึงเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลกมักหนีไม่พ้นชุดวิธีคิดอยู่สองประการ นั่นคือ วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ที่เน้นศึกษาผ่านการสร้างทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จากการสังเกต ทดลอง ทำซ้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นกลาง เที่ยงตรง แม่นยำ หรืออีกแบบที่กำลังเป็นเทรนด์ของประเทศไทยไม่นานมานี้คือ วิธีการเชิงโครงสร้าง ที่เน้นวิเคราะห์ ตีความ ค้นหาความสัมพันธ์บางอย่าง ทั้งจากการอ่าน วิพากษ์หลักฐาน ถอดความคิดจากประสบการณ์ของอดีต การประกอบสร้างทฤษฎี หรือเก็บข้อมูลด้วยประสบการณ์คนศึกษา เพื่อตอบคำถามหรือเป็นการหาความรู้ที่ไม่สิ้นสุด
กระนั้นอีกแนวทางหนึ่งที่ยังไม่ได้ขึ้นมาเป็นแนวคิดกระแสหลักในประเทศไทย นั่นคือวิธีการแบบ "จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)" ที่ได้เข้ามาเป็น "ขั้วที่สาม (Third-party)" ในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันที่มีความสลับซับซ้อนและยากในการคลี่ปมออกมาระดับที่ตาเห็น ไปจนถึงระดับของความรู้หรือประสบการณ์บางอย่างได้
ศาสตราจารย์ สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นักวิชาการคนสำคัญที่เป็นผู้บุกเบิกและนำเข้าจิตวิเคราะห์มาสู่วงวิชาการไทย ได้สละเวลาพาเราไปทำความเข้าใจจิตวิเคราะห์ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกกีฬาที่มีบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวพันกับจิตวิเคราะห์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดมากกว่าวงการอื่น ๆ เพื่อที่ว่าวันใดวันหนึ่งจิตวิเคราะห์อาจแทรกซึมเข้าไปในอ้อมอกอ้อมใจเวลาใช้มองโลกหรือมองกีฬาในอนาคต
กราบสวัสดีครับอาจารย์
สวัสดีครับ จริง ๆ ผมออกตัวก่อนว่าผมเล่นกีฬามาตลอดตั้งแต่เด็ก ๆ แต่มักไม่ได้รับชมกีฬาเป็นกิจลักษณะเหมือนใครหลาย ๆ คนที่ก็เป็นเช่นนี้ ผมแค่เห็นผ่าน ๆ ตามสื่อกีฬานั่นแหละครับ
เข้าใจครับ ว่าแต่เป็นมาอย่างไรอาจารย์ถึงได้ให้ความสนใจกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ได้ครับ ?
ตอบยากนะครับว่าเริ่มตรงจุดไหน แต่ตอบไว ๆ คือการอ่านย้อนศร คือผมสนใจ "สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek)" มาก่อน แล้วจิตวิเคราะห์โดยเฉพาะจิตวิเคราะห์แบบ "ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan)" เป็นหนึ่งในฐานความคิดของชิเช็ค เลยเริ่มมาสนใจ เหมือนกับว่าเป็นภาคบังคับ คือไม่อ่านลากองก่อนจะไม่อาจเข้าใจชิเชคได้ในเชิงลึก ซึ่งผิดกับคนทั่วไปตามห้วงเวลาที่ต้องเริ่มจาก "ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)" ไปลากองแล้วไปชิเชค แต่ปัญหาหลักคือเราเข้าใจพวกนี้เริ่มมาจากชิเชคทั้งนั้น หรือจะว่าเป็นการอ่านลากองผ่านชิเชคก็ได้
แต่จริง ๆ แล้วคือไม่ค่อยพอใจการนำเสนอลากองในประเทศไทย เพราะส่วนมากมักไปจัดประเภทการนำเสนอของลากองให้เป็น Post-structuralism ที่พูดถึงความจริงและวาทกรรม ซึ่งตรงนี้เป็นลากองที่ใกล้เคียงกับ "มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)" มากจนเกินไป ซึ่งตรงนี้ลากองพอใจหรือไม่เป็นคำถามสำคัญ ผมเลยพยายามนำเสนอเวอร์ชั่นที่แตกต่างออกไป เป็นความแปลกประหลาดที่ขยายพรมแดนของลากองในประเทศไทยออกไป อะไรทำนองนี้
ทีนี้ในประเทศไทยอาจจะคุ้นชินกับคำว่า "จิตวิทยา" มากกว่า ดังนั้นอยากให้อาจารย์เคลียร์ศัพท์เสียหน่อยครับว่า จิตวิเคราะห์ มีความแตกต่างจากจิตวิทยามากน้อยขนาดไหน ?
ง่าย ๆ เลย จิตวิเคราะห์เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิทยา คือเริ่มมาจากฟรอยด์ ส่วนจิตวิทยามาได้หลากหลาย แน่นอนว่าจิตวิทยาคือการศึกษาจิตและพฤติกรรมมนุษย์แบบกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลายครั้งเป็นการศึกษาที่ "แยกปัจเจกออกจากสังคม" แบบสารเคมีในสมองคนนั้นคนนี้ทำงานอย่างไร เป็นแบบใด ผิดพลาดตรงไหน ประสาทเดินดีไหม หรือส่วนไหนของสมองสว่างวาบขึ้น
แต่หากจะเข้าใจจิตวิเคราะห์ต้องเข้าใจว่า "เราอยู่ในโลก และโลกอยู่ในเรา" ดังนั้นจึงเป็นการศึกษาระบบทั้งระบบที่แยกจากกันไม่ขาด "เราต้องเปลี่ยนแปลงโลกเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง ในขณะที่เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกไปพร้อมกัน" การที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้คือเราไร้น้ำยาต่อการเปลี่ยนแปลงโลกอะไรแบบนี้ หรือกล่าวอะไรแบบซ้าย ๆ หน่อย
นั่นคือจิตวิเคราะห์พยายามจะบอกว่า จิตของเรานั้นโดน "ทุน (Capital)" นั้นครอบงำมากน้อยเพียงใด คือเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แต่จิตวิทยาเลี่ยงได้ อย่างคำถามคลาสสิกของฟรอยด์ที่ว่า "ผู้หญิงต้องการอะไร ? (What do women want ?)" เป็นภาพสะท้อนว่า สังคมนั้นคือ "ชายเป็นใหญ่" สิ่งนี้โน้มน้าวให้สตรีปรารถนาการเป็นช้างเท้าหลัง เป็นวัตถุทางเพศ เป็นคนไร้สิทธิอย่างไร เช่น ฟ้องหย่าสามีไม่ได้ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทำแต่งานบ้าน บทบาทในโลกน้อย ถือครองทรัพย์สินไม่ได้ โจทย์ของฟรอยด์ก็คือ เหตุใดสตรีถึงยอมรับสภาพนี้ได้ ตรงนี้สำคัญ
ผมแอบรู้สึกว่าคล้ายคลึงกับ "จิตวิทยาสังคม" เพราะพวกโครงสร้างนี่กำกับจิตเราด้วย อีกสิ่งที่แตกต่างคือเรื่อง "การรักษา" โดยเฉพาะจิตวิทยาคลินิกนี่เน้นการรักษาด้วยยา เพราะหลายครั้งการรักษาในจิตวิทยาคือการปรับปัจเจกให้เข้ากับสังคม ปรับนู่นปรับนี่ ให้ยานู่นนี่ให้กลับมาเป็นปัจจัยในการผลิต ขับเคลื่อนสังคม ส่วนจิตวิเคราะห์นี่จริง ๆ ไม่ได้เน้นรักษา คือเน้นให้คนนั้น ๆ มุ่งตั้งคำถามกับโลก ประเภทตั้งคำถามเรื่องชีวิตที่ดี การมีความสุข การบริโภค โครงสร้างต่าง ๆ อะไรแบบนี้
อีกอย่าง จิตวิทยาคือเราเหมือนไปหากูรู คนชี้ทางสว่างให้ แต่จิตวิเคราะห์ไม่ได้บอกอะไรและไม่ได้สัญญาว่าจะหายขาด คือคนป่วยมีคำตอบในตนอยู่นานแล้ว นักจิตวิทยาฟันโชะ ๆ ตอบได้เลยไงว่าคุณป่วยอะไร แต่จิตวิเคราะห์ไม่ได้เป็นแบบนั้น คำตอบอยู่ในตัวปัจเจกแต่เขาไม่รู้ตัว หน้าที่ของจิตวิเคราะห์คือต้องให้คนป่วยพูดไปเรื่อย ๆ 4-5 ปีอะไรก็ว่ากันไปให้เกิดความเข้าใจบางอย่าง ความป่วยที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นความป่วยของโลกแล้วเข้ามากระทบปัจเจก
ซึ่งคล้ายกับวลีว่า " เขาไม่รู้ว่าเขากำลังทำอะไร (For They Know Not What They Do)" ซึ่งเป็นชื่อหนังสือของชิเชคใช่ไหมครับ ?
ใช่ แต่อีกเรื่องคือหลาย ๆ ครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในตนเองต่าง ๆ ก็ไม่ได้มาจากปัญหาทางด้าน "ความรู้ (Wisdom)" เพียงอย่างเดียว คือบางอย่างที่เกิดขึ้นมักเป็นการเข้าใจว่าเกิดจากการเข้าใจที่ผิดพลาด บิดเบือนประวัติศาสตร์ เขียนตำราอวยอีกฝั่ง มีการศึกษามาอีกแบบ แต่คำถามคือหากเขียนตำราดีขึ้น เราจะดีขึ้นจริงหรือ
คือจิตวิเคราะห์ไม่ได้แตะเพียงเท่านี้ เราต้องไปไกลกว่าระดับของความรู้ คือเรายอมรับในบางรูปแบบ ความรู้เลยผิดเพี้ยน ทำให้เราปฏิเสธความรู้ใหม่และเรื่องราวใหม่ ๆ มากมาย เป็นเรื่องของ "ความสำราญ (Enjoyment)" บางอย่าง หรือ "แฟนตาซี (Fantasy)" บางอย่างที่ทำให้เรายอมรับเช่นนั้นโดยไม่รู้ตัว และจะเกี่ยวข้องกับพวกการเหยียดผิวหรือชาตินิยมสุดโต่งด้วย ซึ่งผมจะกล่าวต่อไป
เห็นจากเมื่อครู่ รู้สึกว่าจิตวิเคราะห์นั้นมี "ศัพท์เฉพาะวงการ (Jargon)" พอสมควร เลยอยากให้อาจารย์ชี้มาเลยครับว่า ศัพท์ไหนควรมีในหัวแบบต้องมี ก่อนการเข้าใจจิตวิเคราะห์ได้ ?
พวกนักคิดสายนี้นิยมสร้างศัพท์เสียด้วย คือแต่ละคนย่อมอยากคิดศัพท์ขึ้นมาใช้ด้วยตนเอง เป็นลายเซ็นส่วนตัวอะไรแบบนี้ แบบว่านี่คือ Contribution ของเรา แต่ศัพท์แรกเลยที่ผมจะแนะนำ นั่นคือ Drive (ไดรฟ์), Unconciousness (จิตไร้สำนึก), Enjoyment, Object a (อ็อบเจ็กต์ เปอตีต์ อา) อะไรทำนองนี้ ซึ่งจริง ๆ ขยันสร้างมาแล้วขัดแย้งกันเองทั้งนั้น
เอ้อ เกือบลืม พวกศัพท์ว่า Lack หรือความขาดพร่อง และ Desire หรือความปรารถนาอะไรแบบนี้ด้วย คือซับเจ็กต์ (Subject) ของจิตวิเคราะห์นี่แตกต่างจากะพวกสังคมศาสตร์ พวกนี้จะเน้นไปที่ "การคิดแบบมีเหตุผล (Rational)" ได้มากกว่าเสีย ลดความเจ็บปวด ความคุ้มค่า แต่จิตวิเคราะห์ลึกซึ้งกว่ามาก ไม่ได้วิ่งหาผลประโยชน์ตลอดเวลา รู้ความต้องการตลอดเวลา คนบ้าแล้วแบบนั้น ใครจะไปทราบความปรารถนาของตนเองได้ตลอดเวลา
จิตวิเคราะห์เลยสมจริงและซับซ้อนกว่ามาก ลืมบอก ซับเจ็กต์ที่ว่านี้ไม่ใช่มนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งของ คือจะเป็นซับเจ็กต์ได้คน ๆ นั้นต้องมีความไม่ลงรอยไม่เข้าพวกบางอย่างกับธรรมชาติและสังคม เช่นการทำอะไรขัดกับความอยู่รอดของตนเอง สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย คือเป็น "ประเภทที่สาม" ไม่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ที่เน้นธรรมชาติหรือการประกอบสร้างทางสังคม ปลูกฝัง ขัดเกลาอะไรแบบนี้ จิตวิเคราะห์ไม่เป็นไปตามแบบดังกล่าว
อีกคำหนึ่งที่ตามมาคือ Excess หรือความล้นเกิน คือทำอะไรที่ไม่สนอะไรที่เป็นคุณแก่ตนเอง ซึ่งจริง ๆ Lack ก็คือ Excess หากไม่ขาดพร่อง เบสิกเลย เราคงไม่ต้องการหาอะไรมาเติมให้เต็ม เราก็อยู่อย่างพอเพียงกันไป แต่เติมเท่าไรก็ไม่เต็มเสียที ทำให้ Excess ไง ราว ๆ นี้
เปรียบเป็นชูชกได้ไหมครับ ? แบบกินเท่าไรก็ไม่อิ่ม
ต้องแยกอย่างนี้ ระหว่าง Pleasure กับ Enjoyment นี่ไงได้อีกคำแล้ว คือ Enjoyment เป็นขั้นกว่าของ Pleasure อีกที อย่างการกินคลีนนี่สามารถทำร้ายคุณได้ คืออาจจะเสียเพื่อนกินไป ยิ่งกว่านั้นการกินเค้ก 1 ชิ้นก็อาจจะเป็น Pleasure กินไปบ่นไปอะไรแบบนี้ แต่การกินถึง 1-2 ปอนด์ สิ่งนี้ไปละเมิดบรรทัดฐานการมีสุขภาพที่ดี ละเมิด BMI นี่แหละ Enjoyment หลาย ๆ ครั้ง Pleasure คือการสลายความสมดุล ไม่ตึงเกินไปไม่หย่อนเกินไป แต่ Enjoyment คือทำลายทุกมิติ สะสมความตึงเครียด
เช่นผมไปต่อคิวชั่วโมงครึ่งเพื่อกินอาหารร้านดัง ๆ นี่แหละ Enjoyment เมื่อไรจะได้กิน รอนานแล้วเนี่ย แต่พอได้ตักคำแรกเข้าปาก นั่นเป็น Pleasure ทันที หรืออย่างการนั่งรถไฟเหาะ การรอคิว ได้นั่ง แล้วพอรถไฟกำลังจะขึ้น สิ่งนี้คือ Enjoyment แต่พอรถไฟกำลังลง จอดสนิท สิ่งนี้คือ Pleasure หรือแม้แต่เรื่องบนเตียง การเล้าโลม การใช้วาจา หยอดคำหวาน การยั่วยวน สิ่งนี้คือ Enjoyment แต่พอสอดใส่ ร่วมเพศ หรือหลั่งไป นี่คือ Pleasure เห็นไหมว่ามีความแตกต่างกัน ที่เน้น ๆ เลยคือ Enjoyment มักไม่เป็นผลดีกับตัวซับเจ็กต์เอง เราไม่อาจปรารถนาสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราได้ เรื่องนี้เป็นรากฐานเลย เราเข้าถึงไม่ได้
ผมยกตัวอย่างเป็นโจ๊กดีกว่าจะได้เข้าใจ เป็นภาพสะท้อนที่ดีในเรื่องนี้นั่นคือเรื่องเล่าของดาวตลก มาร์กาเร็ต โช (Margaret Cho) ที่บอกว่า ตั้งแต่ย้ายเข้ามาอยู่บ้านเดียวกันกับแฟน เราไม่มีเซ็กส์กันเลย เหมือนกับที่เราดื่มนมวัวได้อย่างไม่จำกัดเลยเกิดแพ้แล็กโตสขึ้นมา เมื่อเราได้อะไรตลอดเวลาอย่างไม่จำกัดเราย่อมเอียนกับสิ่งนั้น ๆ ทำให้เราไม่สามารถมี Enjoyment กับสิ่งนั้น ๆ ได้ คุณถูกหวยทุกงวดคุณจะอยากซื้อหวยไหม คือโอกาสชนะมีน้อย โอกาสแพ้อย่างบาน เราเลยสามารถมี Enjoyment ได้ การพนันก็แบบนี้ การเล่นมือขึ้นมากเข้า ๆ ทำให้เกิด Enjoyment เพราะโอกาสที่จะเสียไปมีมากกว่า
อย่างกีฬาก็เช่นนั้น ความสุ่มเสี่ยงในการเสียแชมป์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จบทัวร์นาเมนต์ได้แชมป์ เริ่มใหม่อีก 4 ปีเรื่อย ๆ หมายถึงโอกาสเสียแชมป์มีได้เรื่อย ๆ ทุกคนแข่งแล้วได้ถ้วยกันถ้วนหน้าแล้วจะแข่งไปเพื่ออะไรจริงไหม เรื่องอำนาจก็ด้วย เราไม่สามารถมี Enjoyment กับอำนาจได้จนกว่าจะเสียไป จึงไม่แปลกใจที่เกิดการคร่ำครวญที่ว่า "ในสมัยที่ผมมีอำนาจเนี่ย ผม…" เห็นไหม เรามี Enjoyment กับสิ่งที่เราไม่มีเสมอ ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่อาจที่จะสำราญได้
โห ถือได้ว่าเป็นการปูเรื่องได้ครบกระบวนมาก ๆ ครับ แต่ทีนี้ในเมื่อโลกปัจจุบันมักสรรหาคำว่า "Utility" จึงอยากให้อาจารย์ชี้ให้เห็นครับ ว่าแท้จริงจิตวิเคราะห์มีความสำคัญหรือความจำเป็นต่อคนทั่วไปอย่างไรบ้าง ?
ต้องบอกแบบนี้ จิตวิเคราะห์เข้ามา "เสริม" วิธีคิดได้ในหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็มีความขัดแย้งและต้านในหลาย ๆ เรื่องเช่นกัน อย่างแรกเลย Enjoyment เป็นปัจจัยทางการเมืองอย่างไร เหตุใดคนเราชอบเลือกผู้นำที่ออกนโยบายที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนเอง อย่างทรัมป์ไง คนดำ คนละติน ผู้หญิง เพศที่สาม เลือกกันเยอะมาก ๆ จากนโยบายคุณก็เห็นว่าไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้เลย หรือเรื่องการเหยียดสีผิว ชาตินิยมสุดโต่ง พวกนี้สำคัญเลย เพราะเกี่ยวข้องกับกีฬาด้วย ประเดี๋ยวผมจะกล่าวต่อไป แต่พวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในระดับของความรู้ อคติในหัว หรือความโง่เขลาเบาปัญญา แต่เกิดมาจาก Enjoyment บางอย่าง
อีกเรื่องคือเรื่องของการคิดให้ไกลไปกว่าการเป็น Homo Economicus คือคิดแบบเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด เหตุผล ประสิทธิภาพ ความตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ หรือผลประโยชน์ต่าง ๆ แต่จิตวิเคราะห์ไม่เป็นแบบนั้น ซับเจ็กต์ในจิตวิเคราะห์บางทีก็ไม่ได้ทำตามเหตุผลและทำเรื่องที่ทำร้ายตนเองในบางครั้ง ไม่ได้ปรารถนาสิ่งที่ดีเสมอไป ขัดแย้งในตนเอง หรือเราไม่ได้รู้ว่าเราปรารถนาอะไรตลอดเวลา ทำให้มนุษย์สมจริงขึ้น ซับซ้อนขึ้น แยบยลขึ้น ไม่ก็เปิดมิติใหม่ไปเลย อย่างภาวะโลกร้อน ทุกคนก็รู้หมด เข้าใจหมด แต่ทำไมเราปล่อยเบลอทำหูทวนลม คือเพราะอะไร มีอะไรเหนือไปกว่านั้นไหม เราละเมิดความรู้ของเราไป การสูบบุหรี่เนี่ย หน้าซองเห็นอยู่โทนโท่แต่สูบกันปุ๋ย ๆ เห็นไหม แต่เราไม่สนไง นี่แหละ Enjoyment
สิ่งนี้จึงเสริมเรื่องการมองโลกได้ การแก้ไขในระดับของความรู้จึงควรถูกตั้งคำถาม แก้ที่ความรู้ทุกอย่างจะดีขึ้นจริงไหม หรือควรแก้ที่ Enjoyment อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของ Resistance (การต่อต้าน) สมมุติว่าการที่คนยอมจำนนต่อเผด็จการเป็นเพียงความรู้ที่ผิดพลาดหรือกลัวตายหรือไม่ หากไม่ เหตุใดคนเหล่านี้ถึงยอมรับกับเผด็จการ เผด็จการดึงดูดอย่างไร ตอบแบบซ้าย ๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องปัญหาของสำนึกที่ผิดพลาด หากมีความรู้ที่ถูกต้องจะเกิดการปฏิวัติโค่นล้มอะไรแบบนี้ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นล่ะ การแตะ Enjoyment จึงเข้ามาแก้ตรงจุดนี้
ให้เข้ากับพวกคุณหน่อยคือเรื่องของทุนนิยม คุณรู้ทั้งรู้ว่าระบบโคตรทำร้ายตัวคุณ แต่ทำไมคุณยอมล่ะ ฝ่ายซ้ายทำเยอะมาก ๆ ในการสรรหาสิ่งที่จะยกระดับความเข้าใจในบางอย่างเพื่อให้เกิดแนวร่วม แต่คุณดูฝ่ายขวา ปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะไอ้พวกชั่วนั่น พวกนี้ขโมย Enjoyment ของเราไป จบเลย ฝ่ายขวาบางครั้งจึงเร้าอารมณ์เราได้มากกว่าฝ่ายซ้าย ไอ้คำว่า "คืนความสุข" นี่แหละตัวอย่าง แม้ในระดับความรู้จะสู้ฝ่ายซ้ายไม่ได้ แต่การเร้าอารมณ์กับ Enjoyment แบบนี้คือพันธสัญญาอะไรบางอย่างที่จะเข้ามาขจัดเรื่องบางอย่างในหัวของเราไปได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น
จิตวิเคราะห์เป็นเพียงเครื่องมือไม่ใช่ไปมั่วซั่วใช้ออกนโยบายภาครัฐอะไรแบบนี้ คนละเรื่องกัน อย่าไปคาดหวัง เหมือนคุณพยายามยัดเศรษฐศาสตร์ไปในทุกมิติ ทำได้ไหมก็อาจจะได้ แต่ไม่ถูกที่ถูกเวลา ต้องดูด้วย แต่ที่สำคัญจิตวิเคราะห์ไม่ได้สนใจ Utility มานานนม ดังนั้นจึงอยู่ที่การใช้งานเป็นหลัก ทางเลือกที่ 3 ไง ไม่เป็นทั้งคุณประโยชน์และไม่เป็นทั้งสิ่งไร้ประโยชน์ อะไรแบบนี้
แหม เต็มอิ่มเลยครับ ทีนี้เมื่อครู่อาจารย์เปิดหัวไว้เกี่ยวกับเรื่องของกีฬาที่มีประเด็น การเหยียดผิว (Racism) และ ชาตินิยมสุดโต่ง (Hyper-nationalism) จึงอย่างถามว่า ในกรอบของจิตวิเคราะห์มีความแตกต่างจากแนวอื่น ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในการอธิบายอย่างไรครับ ?
มีสองเรื่องสำคัญ จริง ๆ ผมแอบเกริ่นไปบางส่วนก่อนหน้านี้ คือการเหยียดสีผิวและชาตินิยมสุดโต่งที่โยงกับกีฬาโดยตรง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Enjoyment อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สองสิ่งนี้มีสิ่งสำคัญที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ "เรากีดกันใครบางคนออกไป" เราสำราญกับศัตรูที่กำลังจะมาขโมย Enjoyment ของเราไป เช่นเรื่องของความเป็นชาติ หากทุกคนเป็นสมาชิกชาติเราได้ทั้งโลกชาติจะมีคุณค่าอะไร ชาติไทยเนี่ย ผมพูดตรง ๆ ถึงจะอ่อนปวกเปียกแต่ก็มีความภูมิใจบางอย่าง เข้า ตม.ที่สุวรรณภูมิมาเราผ่านได้แบบฉลุย แต่พวกชาวต่างชาติต้องต่อคิวแน่นเอียด แค่นี้เราก็ภูมิใจแล้ว เรากีดกันพวกนั้นชาติเราเลยพิเศษ เลี่ยงการกีดกันไม่ได้
แต่อย่าลืมเรื่องที่สำคัญ นั่นคือเหตุใดคนถึงยอมรับกับความเป็นชาติ เรามักอธิบายไปที่การประกอบสร้างนานาสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติเรา แต่ผมถามจริง ๆ อย่างฟุตบอลโลกหนล่าสุด ผมมองไปทางไหนตราสัญลักษณ์ก็มีแต่สิงโตไม่ก็ใส่ชุดสีน้ำเงินกันเยอะแยะ และอีกอย่างการที่ไทยเราคว้าแชมป์เราปีติยินดี แต่คิดกลับกันหากไม่ชนะล่ะ ใครคือศัตรูที่ขโมยความสุขในชาติของเราไป อย่างตอนผมเด็ก ๆ เนี่ย ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ใช่ไหมที่โดนกล่าวหาว่าล้มบอล นี่ไง โดนทำให้เป็นตัวการในการขโมยความสุขในชาติของเราไป ต้องมีแพะรับบาป เป็นศัตรู หรือด่ากรรมการว่าไปสมคบคิดกับคู่ต่อสู้ อะไรแบบนี้ พวกนี้เป็นเรื่อง Enjoyment ทั้งนั้น
ไม่เช่นนั้นก็จะพูดแต่เรื่องของประวัติศาสตร์ อคติ การสร้างสัญลักษณ์บางอย่างร่วมกัน หรือก็คือพูดแบบเดียวกับ "เบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson)" ที่เรียกว่า "ชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities)" ถูกไหม เราจินตนาการถึงชาติ เราโดนกระตุ้นด้วยรัฐสมัยใหม่ แต่เหตุใดเราจึงไปยอมรับกับชาติ เหตุใดชาติจึงน่ายอมรับ เหตุใดสิ่งที่ประกอบสร้างทางสังคมจึงทำให้เรายอมรับได้ เรื่องการเหยียดสีผิวก็เช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนคำว่าชาติเป็นคำว่า "เผ่าพันธุ์ (Ethnics)" แต่ชาติไม่ได้ระบุเผ่าพันธุ์ไง ตรงนี้จึงเป็นประเด็นอย่างมากในการนำจิตวิเคราะห์เข้ามา
อีกทั้ง Enjoyment เป็นของใครของมัน ในแต่ละชาติก็มีความขัดแย้งกันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะ กับแฟนบอลนี่เห็นได้ชัด เป็นเรื่องทั่วไปที่จะบอกว่า เชียร์ดังไป ยั่วยุเกินไป แสดงออกมากเกินไป หรือกระทั่งสุภาพเกินไป ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยอภิรมย์กับความเป็นชาติหรือ Enjoyment ของอีกฝ่ายเสมอ อย่างนักกีฬาผิวสีเนี่ยมักจะเป็นแพะรับบาปตลอด ชาติเราโดนขโมย Enjoyment ไปเพราะคนนี้ เวลาทีมชนะพวกเขาคือส่วนหนึ่ง เวลาแพ้พวกเขากลายเป็นคนนอก
ผมอ่านกวาดสายตาในช่วง เอเอฟเอฟ คัพ นี่ ผมเห็นตลอด กรรมการฮั้วกับคู่แข่ง พวกนี้มาขโมย Enjoyment ของชาติเราไป บางทีความแตกต่างของกีฬากับสงครามก็มีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่เท่านั้น มีการสร้างศัตรูล้วน ๆ แต่มีกฎเคร่งครัด แต่ไม่ได้อยากให้พิจารณาว่ากีฬาคือแหล่งกำเนิดของการเหยียดสีผิวหรือชาตินิยมสุดโต่ง จริง ๆ กีฬาก้าวหน้าไปกว่านั้นมาก สิ่งที่ทำให้กีฬาน่าตื่นเต้นจริง ๆ นั่นคือ "ปาฏิหาริย์" พลิกนรกนาทีสุดท้าย แซงชนะอะไรแบบนี้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ๆ จริงไหม สิ่งนี้แหละคือ Enjoyment
เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ไงเราเลยรู้สึกสำราญบางอย่าง ไม่ได้มานั่งพูดปาว ๆ ถึงตัวเลขสถิติ ผมโคตรเบื่อเลยเวลาผู้บรรยายหรือนักวิเคราะห์พูดถึงสถิติ เฮ้ย ! ผมไม่ได้มานั่งดูตลาดหุ้น กีฬาไม่ใช่แค่เรื่องของสถิติ ไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์ ใครจะอยากดู ไปเปิดข่าวหุ้นดูนู่นไป แต่ที่กีฬามี Enjoyment เพราะว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ตรงนี้คือจะโยงกับปาฏิหาริย์ทางการเมืองได้ ถามต่อไปอีกได้ว่า เหตุใดเราถึงยอมรับได้กับปาฏิหาริย์ในกีฬา แต่ไม่กับการเมือง
แต่ไม่ได้หมายความว่านักกีฬาจะหัวก้าวหน้าไปทั้งหมด คุณดูบราซิล ร้อยละ 99 เลือกฝ่ายขวา เนย์มาร์ ยังเลือกฝ่ายขวาเลย โจทย์ของผมคือ การปฏิวัติ การโค่นล้ม การเปลี่ยนแปลง ที่เป็นปาฏิหาริย์ทางการเมืองกลับไม่ค่อยมีคนยอมรับ กีฬาเลยมีอีกด้านหนึ่งคือเป็นปริมณฑลเรื่องการกอบกู้ เรื่องปาฏิหาริย์ และไม่อาจจะมานั่งลดทอนไปเป็นอื่นได้ ตรงนี้สำคัญ คือง่าย ๆ เลยมันเป็นรูปแบบเดียวกันกับการเมืองบนท้องถนน คือคุณออกไปผลักดันสิ่งต่าง ๆ คุณหวังปาฏิหาริย์ไง อยากทำลายสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
คือมนุษย์นี่มีปาฏิหาริย์หลายครั้ง อย่างการเลิกทาสคุณก็เลิกได้ คนดำไม่ได้โดนกดขี่ไปชั่วกัปชั่วกัลป์ หรือในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 19 เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศตะวันออกจะปกครองตนเอง แต่ก็เห็นเป็นเอกราชกันได้ การปฏิวัติรัสเซียแบบนี้ เลนินไง มันก็เกิดขึ้น ลองคิดดูว่ากับกีฬายังเกิดขึ้นได้ เหตุใดในการเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้
ฟังดูแล้วทำให้คึกคักได้เลยนะครับ แต่ว่ามีอีกเรื่องหนึ่งในโลกกีฬา คือเรื่องของ "การชิงชังสตรี (Misogyny)" ซึ่งเป็นเรื่องที่แสดงออกมาผ่านการกดค่าแรง การด้อยค่า การมีส่วนแบ่งไม่เป็นธรรม ตรงนี้จิตวิเคราะห์สามารถคลี่ให้เห็นได้อย่างไรบ้างครับ ?
กลับไปหาฟรอยด์เลย เหตุใดสตรีจึงยอมรับการด้อยค่าตนเอง โลกโน้มน้าวให้สตรียอมรับการด้อยค่าในตนเองอย่างไร นักกีฬาหญิงไม่ใช่ทุกคนจะมาต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ ในจิตวิเคราะห์ ชาย-หญิง แยกรูปแบบกัน ชายคือความเป็นหนึ่งเดียว หญิงคือความขาดพร่อง ที่ชายอยู่เหนือว่าหญิงเป็น Enjoyment แบบชาย หมายถึงเรามีคุณขาดอะไรแบบนี้ นักกีฬาชายกาก ๆ บางคนอาจจะได้เงินมากกว่านักกีฬาหญิงระดับท็อป ด้านหนึ่งต้องถามว่า เหตุใดถึงไม่ออกมาประท้วงให้มากกว่านี้ หรือเหตุใดพวกชาย ๆ จึงไม่ออกมาให้ความเสมอภาคมากกว่านี้
ตราบใดที่หญิงขาดมากกว่าชายก็อาจจะโอเค เป็นไปได้ แต่ผมอยากคิดข้ามช็อตไปให้ไกลกว่านี้เสียหน่อย อย่าไปคิดเพียงวงการกีฬาเพียงอย่างเดียว คือในโลกที่เหลื่อมล้ำเนี่ยต้องคำนึงว่าใครเย็บเสื้อกีฬา ใครเย็บลูกบอล ตรงนี้แรงงานหญิงโดนด้อยค่าชัด ๆ งานที่เหมาะกับความเป็นหญิงคือจ่ายค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
ผมแทรกเล็กน้อยครับ อย่างกีฬา "กอล์ฟ" นี่สามารถเป็นข้อยกเว้นได้ไหมครับ เพราะผู้หญิงนี่ออกจะมีชื่อมากกว่าพอสมควร ?
อืม ผมก็กลับมาที่โจทย์ที่ว่า ในทางเทคนิคกอล์ฟอาจจะทำให้ผู้หญิงเท่ากับผู้ชายได้ แต่ในภาคส่วนแรงงานนอกระบบโดนกดค่าแรงนะครับ สิ่งทอ อุตสาหกรรมเบา เป็นภาคส่วนผู้หญิง ดูเหมือนจะเชิดชู งานฝีมือประณีตแต่ค่าแรงสุดระทม ตรงนี้เชิดชูแบบไหน คือไม่สามารถต่อรองได้ไง ใคร ๆ ก็ทำได้ อำนาจเลยน้อย ดังนั้นกีฬาเองต้องขยายวงออกมา มองให้ไกล ๆ ให้ครอบคลุมพวกนี้ด้วย
ทีนี้ผมขอถามต่อว่า ในโลกปัจจุบันที่ทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้คนอยากเป็นนักกีฬาเพื่อ "การขยับสถานะทางสังคม (Social Mobility)" มากยิ่งขึ้น จากค่าตอบแทนที่สูงลิบ เห็นผลได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี ซึ่งอาจจะทำให้ไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าปาฏิหาริย์ เพราะรวยได้ไว รวยได้เรื่อย ๆ เราจะเสี่ยงเพื่ออะไรแบบนี้ ผมเลยอยากถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปดีครับในเมื่อเป็นแบบนี้ ? หรือจิตวิเคราะห์มีแนวทางแก้ไขไหมครับ ?
ในด้านหนึ่งผมคิดว่าไปกับมาร์กซ (คาร์ล มาร์กซ) ได้ ในระดับง่ายที่สุดเลยคือทุกคนอยากเป็น ไทเกอร์ วูดส์ ถูกไหม ต้องขายฝันไง ผมเคยดูรายการโรงเรียนกีฬาไปสัมภาษณ์เด็ก ๆ ทุกคนบอกอยากติดทีมชาติหมด เฮ้ย ! บ้าแล้ว จะเป็นไปได้อย่างไร ตรงนี้ Fantasy แรงมาก ๆ ต้องให้ความหวังสูงมาก ๆ ไม่ดูสถิติหน่อยหรือว่าอัตราการแจ้งเกิดได้เท่าไร อย่างตอนที่ มาเรีย ชาราโปวา ดัง ๆ นี่คนรัสเซียส่งลูกหลานไปเรียนเทนนิสหมด
คือตรงนี้ถึงข้อเท็จจริงถาโถมมาให้ตายคนก็จะยังเชื่อแบบนี้ อีกส่วนคือต้องแยก Enjoyment เป็นขวา-ซ้าย แบบขวาคือความเต็ม แต่ไม่เต็มจึงสร้างศัตรูแบบที่กล่าวไป แต่แบบซ้ายจะเน้นความขาดพร่อง ที่ไปได้ดีกับมาร์กซไง ใครเป็นคนที่สูญเสีย ใครโดนสังเวย เช่นการสร้างสนามกีฬาในกาตาร์ที่มีแรงงานตายหลักพัน นักกีฬาก็โดนสารพัดเหยียด
ตรงนี้จิตวิเคราะห์อาจจะช่วยคานเรื่องชาตินิยมและเหยียดสีผิวได้บางประการ คือให้คิดว่าอีกฝ่ายไม่ใช่ศัตรู พวกเขาก็เป็นแบบเรา คือขาดพร่องไม่ต่างจากเรา เขาไม่ได้กีดขวาง Enjoyment ของเรา อาจจะไปได้ดีก็ได้ เวลาชาติหนึ่งจัดมหกรรมกีฬาจะพูดแต่ว่าจะได้อะไรเป็นสำคัญ และชี้วัดด้วยจำนวนโดยไม่ได้มองว่าใครต้องเสียเท่าไร เกิดขึ้นหมดตลอด 4 ปี ต้องสร้างสนามใหม่ก็ต้องไล่ที่กัน เก็บภาษีเพิ่ม คอรัปชั่นเพียบ ต้องพิจารณาตรงนี้ ไม่ได้แบเบอร์ว่ามีแต่รายได้ล้วน ๆ ติดหนี้ก็มี คือใช้เงินเยอะเพราะต้องปรับปรุงทั้งระบบ
ตอนเด็ก ๆ ผมจำได้ดี ไทยจัดเอเชียนเกมส์ ย้ายสลัมไม่ทันก็สร้างบิลบอร์ดขนาดใหญ่มาปิดสลัม แต่เวลาคุณคลี่ปมให้เห็นแบบนี้ คุณชังชาตินะครับ เป็นศัตรูของชาติทันที ดังนั้นหันไปดูเรื่องการโดนสังเวยและการสูญเสียเป็นสำคัญ แต่จริง ๆ อย่าลืมว่าจิตวิเคราะห์ไม่ใช่ศาสตร์เชิงนโยบาย คือ Enjoyment ใช้พิจารณาได้ทุกเรื่องจริงหรือ อาจจะเป็นรูปแบบเดียวไง ทุกอย่างสามารถยอมรับได้เกือบหมด ดังนั้นหากเราไม่ขาดพร่องเราย่อมไม่ปรารถนาและไม่ล้นเกิน จึงไม่มีอะไรแปลกหากจะยอมรับ
สุดท้ายนี้อยากให้อาจารย์ให้ข้อเสนอแนะต่อวงการกีฬาครับ ว่าสิ่งใดควรกระทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
นักกีฬาอยู่ฝั่งเดียวกับแรงงานไหม หากใช่ก็ต้องปกป้องแรงงานคนอื่น ๆ ด้วย สนามที่ใช้หรือชุดที่ใส่มาจากแรงงานทั้งนั้น อย่าไปคิดว่ามีพรสวรรค์หรือเป็นเลิศเหนือใคร อีกเรื่องคือปาฏิหาริย์ไม่ได้เกิดแค่ในสนาม นอกสนามก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง คือมีรูปแบบเดียวกัน ตรงนี้สำคัญมาก ๆ ผมอยากฝากไว้เท่านี้