Feature

คุยกับ ผศ. ดร. พีระ เจริญวัฒนนุกูล : ไม่มีอะไรที่ “วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ไปไม่ถึง ฟุตบอลโลก ก็เช่นกัน | Main Stand

“ผมนึกไม่ออกว่าเราจะมองอะไรในโลกนี้โดยไม่คิดถึงมิติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างไร”

 

วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ ไออาร์ (International Relations : IR) ถือเป็นสาขาหนึ่งในรัฐศาสตร์ ที่ได้รับความนิยมสูงมาก เนื่องจากโลกในปัจจุบันเป็นโลกที่เชื่อมร้อยรัฐชาติต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคมนาคม ขนส่ง การเมือง เศรษฐกิจ การสื่อสาร สื่อสังคมออนไลน์ หรือแม้กระทั่งกีฬา 

โดยเฉพาะ ฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นภาพแทนมหกรรมกีฬาของการรวมกันเป็นหนึ่งของความเป็นกลุ่มก้อนทั่วทั้งโลก ทั้งในแง่ของการแข่งขันผ่านตัวแทนทีมชาติจากทุกทวีป บรรดาแฟนบอลหลากเชื้อชาติที่เดินทางเข้าไปรับชมเกมในสนาม หรือแม้กระทั่งแฟนบอลที่รับชมผ่านทางการถ่ายทอดสดทางหน้าจอโทรทัศน์ ก็ถือว่ามีมิติของเรื่องระหว่างประเทศทั้งนั้น

Main Stand จึงจะพาไปพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตนักศึกษาปริญญาโท-เอก ที่มหาวิทยาลัยเคมบริจด์ สหราชอาณาจักร ที่ได้ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับมาตุภูมิแห่งฟุตบอลมาร่วม 10 ปี และเป็นอาจารย์สอนวิชาไออาร์มาจนกระทั่งขอตำแหน่งทางวิชาการระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ 

ว่าแท้จริงแล้ว การนำวิชาไออาร์เข้ามาเป็น “ชุดวิธีคิด” ในการทำความเข้าใจฟุตบอล โดยเฉพาะ ฟุตบอลโลก เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งที่แยกจากชีวิตไม่ขาด มิหนำซ้ำยังมีอยู่ในตัวของแฟนบอลทุกคนโดยไม่ใช่เรื่องที่แปลกแหวกแนวหรือไกลตัวแต่อย่างใด 

 

กราบสวัสดีครับ อาจารย์

สวัสดีครับ จริง ๆ มีผู้เชี่ยวชาญในสายงานเดียวกับผมมากมายอยู่แล้วในประเทศ ผมก็ได้แต่พูดในมุมมองของเรื่องการระหว่างประเทศที่ผมสนใจ จริง ๆ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ของเรานี่ในภาคภาษาอังกฤษก็มีรายวิชา Sports and Politics ด้วย ท่านใดสนใจก็เข้ามาสมัครได้นะครับ นี่! เป็นไง ขายของด้วย

 

ตามนั้นครับอาจารย์ ว่าแต่ก่อนอื่นอยากให้อาจารย์เท้าความถึงประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องของฟุตบอลหรือฟุตบอลโลกก็ได้ครับ

ผมโฟกัสที่ฟุตบอลโลกเลย ผมนี่เชียร์ อาร์เจนตินา คือต้องบอกว่าไม่ได้มีทีมชาติเชียร์เป็นกิจจะลักษณะ แต่ปีนี้ต้องเชียร์ เมสซี่ จริง ๆ ดูหมอนี่เล่นมาไม่ต่ำกว่าหลักสิบปี อยากให้สัมผัสแชมป์โลกสักครั้ง ส่วนในสโมสรนี่ผมเชียร์ ลิเวอร์พูล ไม่ก็ บาร์เซโลน่า เพราะที่บ้านผมเนี่ยเด็กหงส์ เขาเชียร์ เราก็เชยร์ ก็เฮโลตามไปตอนนั้น ไมเคิล โอเว่น ดังไง ผมยังมีเสื้อสกรีนชื่อโอเว่นอยู่เลย เสื้อที่ใส่ยิง อาร์เซนอล ในเอฟเอ คัพ แต่ลึก ๆ คือเราไม่ได้อิน เราเลยสวนกระแสเลยไปเชียร์บาร์เซโลน่า มาจากสึบาสะเลย ใครอ่านจะเข้าใจ ริวัลโด้ ด้วย 


แต่ไป ๆ มา ๆ พอได้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ คนก็เริ่มมาถามว่าตกลงเชียร์ทีมอะไร ผมก็เลยได้แรงบันดาลใจมาจากปีที่ลิเวอร์พูลเกือบได้แชมป์ที่จ่อแบบสุด ๆ แล้ว แล้วพี่ที่ผมรู้จักคนหนึ่งเขาเป็นแฟนเดนตายของลิเวอร์พูล แล้วเขาเศร้ามาก เศร้าเป็นอาทิตย์ เลยตัดสินใจติดตามลิเวอร์พูลก็ได้ ก็เลยติดตามมาตลอด อีกอย่างคือ เรื่องของเวลาแข่งด้วย ถ้าให้ไปตามลา ลีกา ตี 2 ตี 3 ก็ดึกเกินไป ผมก็ตายพอดี และอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือผมมักจะไปฝังตัวอยู่ตามเว็บบอร์ดเกี่ยวกับฟุตบอล เพื่อให้รู้ว่าคนที่เหมือน ๆ กันกับเรานี้เขาคุยอะไรกันบ้าง อย่างพวก SoccerSuck อะไรแบบนี้นี่ผมเข้ามานานมากแล้ว

 

ถือได้ว่าอาจารย์อยู่กับฟุตบอลในหลากหลายมิติมาเกือบค่อนชีวิตเลยทีเดียวครับ

แน่นอน เป็นชีวิตจิตใจของผมเลย

 

เช่นนั้น กลับมาเรื่องของเรานะครับ อย่างในมิติของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ ไออาร์ (IR) ที่อาจารย์เชี่ยวชาญและสอนอยู่ อยากให้เคลียร์คำหรือนิยามสั้น ๆ ครับ ว่าแท้จริง หมายความว่าอะไร ? 

จริง ๆ แล้ว วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นการศึกษามิติความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ที่เกิดการ “ข้ามพรมแดน” เมื่อข้ามพรมแดนเมื่อไร พวกเราเหล่าไออาร์จะเข้าไปศึกษาทันที ไม่ว่าจะใช้วิธีทางการเมือง ประวัติศาสตร์ หรือโมเดลทางเศรษฐกิจ ตรงนี้จะเรียกว่าไออาร์ ซึ่งในประเทศไทยก็มีเรียกทั้ง การระหว่างประเทศ (International Relations) และ การต่างประเทศ (International Affairs) อย่างของธรรมศาสตร์เนี่ยเรียกการต่างประเทศ แต่โดยรวมเนี่ยคือการทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ข้ามพรมแดนเป็นหลัก

 

ซึ่งคำสำคัญก็คือ “ข้ามพรมแดน” ใช่ไหมครับ ?

แน่นอน จริง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกก็ข้ามพรมแดนหมด ไม่มีอะไรไม่ข้ามหรืออยู่ในพรมแดนเดียว ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนหรือรัฐอธิปไตยไหนที่จะอยู่กันเองเฉย ๆ โดยไม่สุงสิงกับใคร เรียกได้ว่านี่คือธรรมชาติของรัฐ หากมีที่ไหนอยู่คนเดียวบนโลกก็บอกผมด้วย ผมสนใจ ขนาดเกาหลีเหนือยังข้ามพรมแดนเลย ได้ไปฟุตบอลโลก ส่งทีมไปเตะยังทำเลย หากไม่สนใจจริง ๆ จะส่งไปทำไม แค่บินไปนี่ก็ข้ามพรมแดนแล้ว สถานทูตในไทยยังอุตส่าห์มีเลย เห็นไหม นี่แหละคือสิ่งที่วิชาไออาร์สนใจ

 

เมื่อเราเห็นแบบนี้แล้ว วิชาไออาร์มีความจำเป็นหรือสำคัญสำหรับประชาชนทั่วไปหรือบรรดาแฟนบอลอย่างไรครับ ?

ตรง ๆ เลยนะ "ผมนึกไม่ออกว่าเราจะมองอะไรในโลกนี้โดยไม่คิดถึงมิติของไออาร์ได้อย่างไร" คำถามที่ว่ามีอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับไออาร์บ้างในโลกนี้ อันนี้ตอบได้โคตรยาก ยากมาก ๆ เพราะทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐชาติ ชาตินิยม การเคลื่อนที่ของทุน หรือแม้กระทั่งกีฬาที่เป็นภาพแทนของชาตินิยมบางประการ เราเห็นได้ตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มองกีฬาในฐานะมิติหนึ่งในไออาร์

 

หรือก็คือ กีฬา = ไออาร์ ใช่ไหมครับ ? 

แน่นอน (เสียงหนักแน่น) วันก่อนมีมุกตลก เป็นมีมแบบว่าอังกฤษเป็นคนคิดค้นฟุตบอลและแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ดันเตะได้กากสุด ๆ เห็นไหมว่าที่ทุกประเทศเตะฟุตบอลได้ส่วนหนึ่งเพราะระบบเจ้าอาณานิคมที่อังกฤษยึดไปทั่ว ฟุตบอลก็ตามไปด้วย หากไม่ใช่เรื่องไออาร์อังกฤษก็เตะเองดูเองไปแล้ว ครั้งล่าสุดที่ชนะฟุตบอลโลกนี่ตนเองเป็นเจ้าภาพเสียด้วยซ้ำ มีข้อครหาด้วย เห็นปะ 

ทำให้ผมคิดไม่ออกจริง ๆ ว่าเราจะละมุมมองแบบไออาร์ไปได้จริง ๆ หากไม่ได้คิดแบบนี้มีปัญหาแน่นอน มีตัวอย่างใกล้ตัว ผมฟันธงเลย พวกที่คิดนโยบายกัญชาเสรีนี่ไม่ได้มีวิธีคิดแบบไออาร์แน่ ๆ เพราะหากคิดจะต้องรู้ว่าบางประเทศมีมาตรการหรือการตรวจเข้มงวด หากพกเข้าไปมีโอกาสเกมได้ ติดคุกนะครับ 

 

เหมือนข่าวเมื่อไม่กี่ปีก่อน ที่แม่ยัดน้ำมันกัญชาให้ลูกสาวก่อนไปเรียนที่อเมริกา แล้วโดนจับขังคุกแบบไม่รู้ตัว ใช่ไหมครับ ? 

นั่นเลย ไอ้ตอนที่เสพนี่คุณเสพอยู่ในประเทศที่เสรี แต่พอบินข้ามประเทศไป ตรวจเจอก็ฉิบหายสิครับ เห็นไหม ว่าสำคัญขนาดไหน เรื่องเล็ก ๆ เท่านี้ก็เป็นประเด็นได้ จะไม่มีวิธีคิดแบบไออาร์ไม่ได้ ต้องคิดเป็นลำดับต้น ๆ เลย นอกเสียจากว่ารัฐนั้นจะแบนการเดินทางข้ามพรมแดน แต่ปัญหาก็คือก็ยังมีการใช้เส้นทางธรรมชาติหลบหนีได้ อย่างเกาหลีเหนือ เห็นไหม หลุดออกมาเพียบ มาแฉท่านคิมยับ ๆ เลย ผมถึงยืนยันตลอดว่าไออาร์สำคัญมาก ๆ ลงไปจนถึงชีวิตประจำวันเลยทีเดียว

 

อย่างนี้อาจจะบอกได้ว่า กีฬา = การเมือง ด้วยใช่ไหมครับ ? 

ขอตั้งต้นแบบนี้ก่อน ตรงนี้สำคัญ ต้องถามก่อนว่ากีฬาแยกขาดจากการเมืองโดยสิ้นเชิงไหม เพราะจริง ๆ แล้ว กีฬาก็คือ “พิธีกรรมทางการเมือง (Political Ritual)” รูปแบบหนึ่ง เราจะเห็นได้จากการเฮฮาและตะโกนสุดเสียงเวลาที่ทีมรักชนะ กีฬาเลยผูกพันกับการเมืองตลอด อย่างนี่ คุณลองไปที่บาร์เซโลน่า ก็จะมีอัตลักษณ์บางอย่างของคาตาลันที่เขาแสดงออกมา ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่เป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งเวลาปะทะกับ เรอัล มาดริด เพราะเป็นการปะทะกับวิธีคิดเผด็จการ หรือการทำให้ สเปน เป็นหนึ่งเดียวผ่าน เรอัล มาดริด ในยุคของฟรังโก อย่างแมตช์ โคปา เดล เรย์ ที่เรอัล มาดริด ชนะไป 11-1 ก็เพราะว่าโดนขู่ และที่โดนขู่เพราะไม่สามารถยอมรับได้หากอัตลักษณ์แบบคาตาลันจะขึ้นมาได้แชมป์ อันนี้เรื่องใหญ่เลย ประเดี๋ยวมีการแยกดินแดน 

หรือใกล้ ๆ นี้เลย ทำไม เชลซี โดนแบนตลาดซื้อขายหรือการขายตั๋วในเดือนมีนาคม 2022 นี่มันไออาร์ชัด ๆ เลย เจ้าของคือใคร ซี้กับใคร ปูตินใช่ไหม แล้วพอรัสเซียบุกยูเครน ยุโรปก็แทบจะพร้อมใจกันคว่ำบาตรหมด พร้อมใจแทรกแซงหมด หากจะบอกว่ากีฬาแยกจากการเมืองทำไมไม่ปล่อยเชลซีไป ไม่เกี่ยวกันนี่ เตะบอลก็เตะไป แบบนี้ขวัญนักเตะกระเจิงหมด นี่เป็นผลให้ทุนอเมริกาเข้ามา ทูเคิลกระเด็นตกเก้าอี้ พ็อตเตอร์เข้ามาใหม่ก็ยังกระท่อนกระแท่น ไม่ได้ดีไปกว่าเดิมเลย แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นยังมีสิ่งหนึ่งที่อยู่ต่อหน้าเราแต่เราไม่เห็น

อย่างเรื่อง European Integration หรือการที่ความเป็นยุโรปแพร่กระจายไปทั่วโลกผ่านโลกาภิวัฒน์ ตรงนี้บอกอะไรกับวงการฟุตบอล ไปไล่ดูชื่อโค้ชที่พาเชลซีคว้าแชมป์ทั้งในประเทศและระดับทวีป หรือทีมอื่น ๆ ที่ร่วมลีก จะแปลกใจมากว่าเป็นชาวต่างชาติในยุโรปหมดเลย ต่างจากก่อนยุค 90s ที่เป็นบริติชทั้งนั้น นี่ก็เป็นผลมาจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นไง การแบ่งขั้วสิ้นสุดลง พวกฝรั่งเศสนี่มาก่อนเลย อาร์เซนอล ลิเวอร์พูล อะไรแบบนี้ 

ยังมีเรื่องของทุนที่ไหลไปง่ายขึ้นกว่าเดิม ไปไล่ดูเลยว่าบริติชเป็นเจ้าของกี่ทีมชาติอื่น ๆ กี่ทีม เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันหมด หรือแม้แต่ อังเดร อาชาวิน ยิงหงส์ไป 4 เม็ดเวนเกอร์ก็ไปเซ็นมาจาก เซนิต หากเป็นสมัยสงครามเย็นก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่มีแล้วมาห้ามว่าอายุ 27-28 ก่อนค่อยออก แบบไม่อยากให้หลงแสงสีอะไรแบบนี้ หรืออย่าง โอลิมปิก 2008 ทำไมจีนต้องห้ามถุยน้ำลายในที่สาธารณะล่ะ กลับมาที่ไทยเลยเนี่ย ทำไมนักพากย์บางคนต้องออกมาขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองล่ะ ขอบคุณทำไมหากไม่ได้เกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง นี่ไงไม่ได้ขาดออกจากกัน 

 

อย่างกรณีของฟุตบอลโลก ตรงนี้ ไออาร์เข้ามายังพื้นที่ตรงนี้มากน้อยแค่ไหนครับ ?

มา! ฟุตบอลโลก เราจะมองผ่านมิติของไออาร์อย่างไรถูกไหม ผมจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นกาตาร์เพียว ๆ กับอีกเรื่องคือการจัดการระบบระเบียบระหว่างประเทศแล้วกัน น่าจะง่ายที่สุด

 

ประเดิมด้วยส่วนแรก ส่วนกาตาร์เลยครับ

ตรงนี้มีความน่าสนใจมากเพราะเป็นประเทศขนาดเล็กและมาทีหลัง แทบจะที่สุดในตะวันออกกลางหรือโลกอาหรับ เพิ่งจะได้เอกราชในปี 1971 นี้เอง มีประชากรราว ๆ 3 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นกว่าตารางกิโลเมตร ไทยมี 5 แสนกว่า ๆ แต่เป็นประเทศที่รวยแทบจะที่สุดในอาหรับหากวัดด้วยจีดีพี จริง ๆ การทหารก็ใช่ว่าจะดี อยู่อันดับ 77 ของ Global Firepower Index ข้อมูลพวกนี้สำคัญอย่างไร 

แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาจะทราบได้ทันทีว่ากาตาร์เป็นประเทศที่เล็กมาก ๆ มีอิทธิพลบางเรื่องเท่านั้นในไออาร์ ความน่าสนใจคือการได้เป็นเจ้าภาพ กาตาร์ใช้งบประมาณรวมทั้งหมดไปกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นจำนวนเยอะที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีการจัดฟุตบอลโลกมา คือแบบเยอะมาก ๆ ที่ต้องใช้จ่ายขนาดคือเอาไปใช้สร้างเมืองใหม่ เพราะเมืองเขาเล็กมาก ต้องคิดแล้วว่าใครจะมาทำงาน “ใช้แรงงาน” เพราะคนกาตาร์นี่รวยมาก ๆ ไม่มาทำแน่นอน คือที่ใช้เป็นแรงงานต่างชาติเกือบทั้งหมด 

ตรงนี้ตรงตามตำราของคำอธิบายไออาร์เลย คือการเป็นประเทศเล็กนั้นต้องแสวงหาสถานภาพเสมอ คือต้องทำให้โลกเห็นถึงความสำคัญบางอย่างไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีบทบาทแล้วโดนกลืนไป สู้กระทั่งเพื่อนบ้านอย่างซาอุดีอาระเบียไม่ได้เลย คุณไปค้นหาตามอินเทอร์เน็ตดูได้เลย นโยบายต่างประเทศที่กาตาร์ทำบ่อย ๆ คือชอบเล่นบทบาท “คนไกล่เกลี่ย” เพราะได้หน้าไง ไม่เสีย สามารถเป็นคนกลางได้ ยุติความขัดแย้งได้ ดังนั้นการได้จัดฟุตบอลโลกก็คือการโชว์อย่างหนึ่ง กาตาร์ไม่เคยพาทีมชาติไปเล่นรอบสุดท้ายแต่ได้จัดฟุตบอลโลก ไม่ธรรมดานะครับ 

ยังไม่รวมการทุ่มงบโปรโมตด้วย แต่คิดดูดี ๆ เงิน 2 ล้านล้านอาจจะตำน้ำพริกละลายแ1ม่น้ำก็ได้ เมืองใหม่ที่สร้างขึ้นมาอาจจะร้างก็ได้ ใครจะมาดูแลใครจะมาอาศัยอยู่ ยังไม่รวมถึงประเด็นที่ทำให้คนไม่อยากมากาตาร์ด้วย แต่โนสนโนแคร์ เพราะน้ำมันเยอะ ก๊าซธรรมชาติเยอะ ผลิตเงินจ่ายได้ ขนหน้าแข้งไม่ร่วง ซึ่งกาตาร์แข่งขันในโลกอาหรับมาตลอด แข่งกับพวกซาอุดีอาระเบีย ยูเออี อะไรแบบนี้ พวกนี้มีน้ำมันหล่อลื่น เห็นไหม ตามตำราเป๊ะ ๆ คล้าย ๆ กับไทยนี่แหละ เราก็เล็กไม่ต่างจากกาตาร์ เราเลยโปรโมตพวกวัฒนธรรม ของดีประจำประเทศ อะไรแบบนี้ ชอบเป็นตัวกลาง เจรจาความขัดแย้งอะไรแบบนี้ เป็นมาตรฐานเลย

 

อย่าง เอเปค รอบล่าสุดนี่ คือแบบนี้ไหมครับ ?

นี่ไง ทำไมต้องมาทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการประชุม เช่น อาหาร วัฒนธรรมอะไรแบบนี้ ประเทศใหญ่ ๆ เขาไม่ทำกัน ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร มีอะไรให้ทำเยอะแยะมากกว่านั้น

 

(แค่นหัวเราะ) กล่าวต่อไปได้เลยครับ

นัยทางไออาร์ที่มีต่อการเกิดขึ้นของสารพัดปัญหาในฟุตบอลโลกครั้งนี้เลยก็คือ ต้องย้อนกลับไปในยุค 90s ที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง นักรัฐศาสตร์คนหนึ่งชื่อว่า Samuel P. Huntington คนนี้ดังมากเลย เป็นนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน คนวงการอื่น ๆ น่าจะเคยได้ยินชื่อ เขาได้ทำนายไว้ว่าในอนาคตที่เกิดขึ้นคือ The clash of civilization หรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลกจะค่อย ๆ ขัดกันและปะทะกันในที่สุด แต่คนไม่ค่อยอ่าน แต่ก็ดันเข้าใจในทันทีว่าหมายถึงอะไร 

ซึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำถามขนาดใหญ่ของศตวรรษได้เปลี่ยนไป จากแต่เดิมที่ถามกันว่าคุณจะอยู่ข้างใคร? แต่หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลงไป คำถามก็เปลี่ยนเป็น “คุณคือใคร ?” ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ถามง่าย ๆ แต่สำคัญมาก แล้วเขายืนยันเลยว่าถามแบบนี้แหละทำให้คนตีกัน เพราะเป็นคำถามพื้นฐานที่ถามไปที่ตัวตน มันตอบยากแต่ก็เปลี่ยนแปลงได้ยาก รากฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนี่แหละที่เป็นชนวนให้ตีกัน นี่เลยคือคำถามแห่งยุคสมัย 

ตอนนั้นเขาโดนด่ายับเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตอนนี้ก็เข้าทางที่เขาถามไว้เป๊ะ ๆ โดยเฉพาะ ปัญหาที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าตอนนี้ชุดความคิดแบบตะวันตก (Western Culture) อย่างพวกประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก แต่แน่นอนว่าคุณค่าแบบนี้ปะทะกันกับคุณค่าแบบท้องถิ่นบางที่ อย่างกาตาร์นี่ขัดยับเลย เวลาเราไปกาตาร์อะไรก็ขัดหูขัดตาไปหมด แต่ถามจริง ๆ ว่าคนกาตาร์นี่คิดแบบเราไหม ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ไออาร์ทำให้เราเห็นว่า โลกตอนนี้คุณจะยึดมั่นใน “พหุนิยม” (pluralism) ที่ชูความหลากหลายและคุณค่าท้องถิ่นต่าง ๆ หรือจะเลือก “เอกภาพ” (solidarism) ยึดแบบเดียวกันทั้งโลก ใครอยากได้แบบไหน ตรงนี้สำคัญมาก ๆ 

เพราะเมื่อพยายามที่จะชูคุณค่าว่าฟุตบอลไม่แบ่งแยก โอบอุ้มความหลากหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นในกาตาร์จึงไม่ได้ตอบได้ง่าย ๆ เลย หากเป็นไปตามนี้เราจะว่ากล่าวกาตาร์ได้แบบเต็มปากไหม โจทย์ยากเห็นไหม ตอบได้ยากกว่าที่คิด ๆ กันมาก แน่นอนว่าผมอ่าน SoccerSuck หลายความเห็นนี่ก็ตอบแบบแง่ตรงข้าม แต่ว่าหากคิดว่าคุณค่าควรเป็นแบบเอกภาพก็จะขัดหลักอำนาจอธิปไตย แต่เอ้า กาตาร์ก็บอกเราว่าไม่อยากให้ใส่เสื้อวาบหวิว มันผิดกฎหมายเรา เราทำกันแบบนี้ 

กระทั่ง LGBTQ+ ที่เป็นประเด็นมาก ๆ และกาตาร์มักย้ำว่าไม่ได้มีปัญหา มาได้ ยินดีต้อนรับ แต่ดันมีข้อแม้ตามมา ผมขอโควตเลย เขาบอกว่า “เราเป็นอนุรักษ์นิยม การแสดงออกถึงความรักในที่สาธารณะน่ากังขาสำหรับเรา คนที่มาเยือนโปรดเคารพพวกเราด้วย” คือเป็นเรื่องไก่กับไข่ไง อยากให้มีคุณค่าบางอย่างเหมือนกันทั่วโลก แต่ก็มาตายที่เรื่องของการเชิดชูคุณค่าของแต่ละวัฒนธรรม

 

ตรงนี้อาจจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องของ ความหลากหลาย ปะทะกันกับ ความเป็นสากล ใช่ไหมครับ ? 

เรียกว่าสากลก็ไม่ตรงเท่าไร เพราะมันคือ International คำถามคืออิสลามนี่สากลไหม ? ไม่สากลตรงไหน โลกอาหรับนี่เพียบ ควรใช้คำว่า Universal เพราะคือสิ่งที่ครอบจักรวาลที่ใช้เหมือนกันทุกที่ แต่อย่างที่บอก ก็จะไปขัดกับหลักอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ ซึ่งที่ตลกร้ายก็คืออำนาจอธิปไตยนี่ก็ของตะวันตกอีก คิดดูดี ๆ เนี่ยจะกลายเป็นขัดหลักการของตนเอง คุณจะทำอย่างไรต่อ 

ถึงได้บอกว่าตอบยาก ไปชี้ผิดชี้ถูกแบบฟันธงไม่ได้ แต่ก็คนละเรื่องกับการใช้แรงงานทาสหรือสวัสดิภาพแรงงาน อันนี้ไม่ถูกต้องแน่นอน ยอมไม่ได้ แต่กาตาร์ก็มาแก้ลำภายหลัง ก็ดีหน่อย เมื่อเป็นประเด็นอย่าง LGBTQ+ กาตาร์เลยไม่ยอมไง ประธานฟีฟ่าก็ยังออกมาชี้แจงว่าควรโฟกัสกับฟุตบอล อย่าไปวุ่นวายกับเรื่องการเมือง ทีนี้จะทำอย่างไร คำพูดนี้โคตรจะการเมืองเลย แยกกันได้หรือ ฟีฟ่าก็คือหน่วยงานทางการเมืองแบบหนึ่ง ประเด็นคือฟีฟ่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นแบบใด ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ 

ควรยึดมั่นในอุดมการณ์แบบไหน สมมุติต้องการพหุนิยมก็ต้องยอมรับกาตาร์ หากต้องการเอกภาพก็โดนด่าอีกหาว่าไม่เคารพกาตาร์ เลยตอบไม่ง่าย แต่ฟีฟ่าดันมีอำนาจทางฟุตบอล ก็มีอยู่องค์กรเดียวไง อย่างประเด็นปลอกแขน One Love ฟีฟ่าก็ออกโรงว่า ใส่ได้ แต่รับใบเหลืองแน่นอน ยอมไหม ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครใส่ ยอมหมด ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่คิดดี ๆ หากกัปตันทีมยึดมั่นในหลักการนี้จริง ๆ ทำไมถึงไม่ยอมโดนใบเหลือง มีอะไรที่สำคัญกว่านั้นไหม คุณค่าแบบไหนอยู่เหนือกว่ากัน ชาติ ฟุตบอล หรือการสนับสนุนคุณค่าอื่น ๆ อย่างเรื่อง LGBTQ+ ? 

เห็นไหมพอเขาไม่ใส่ปลอกแขนก็แสดงให้เห็นว่าคุณค่าอื่น ๆ สำคัญกว่า จริง ๆ หากจะใส่มีทริกอีกเพียบที่จะหลบหลีกได้ อย่างให้ผู้รักษาประตูใส่ ยอมโดนใบเหลืองไป ตำแหน่งนี้นาน ๆ จะมีส่วนร่วมกับเกมที่จะทำให้โดนใบแดง เว้นแต่มาโวยวายหรือเข้าสกัดเป็นคนสุดท้าย เห็นไหม ตอบได้ชัดเจนเลย 

ทั้งหมดยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการคุกคามนักข่าวหรือสวัสดิภาพแรงงาน อย่าลืมว่าคนกาตาร์ไม่มาขายแรงงานแน่นอน ต้องไปหาคน การสร้างเมืองใหม่ใช้คนเยอะมาก ที่เลื่อนมาเตะหน้าหนาวแบบนี้กาตาร์อาจจะบอกว่า เตะฤดูร้อนนักเตะทนไม่ได้ แต่สำหรับแรงงานนี่โอเคไหม ทำงาน 9-10 ชั่วโมง นักเตะทำงานแค่ 1.30 ชั่วโมง ตรงนี้โอเคสำหรับฝ่ายไหน เห็นไหมการเมืองล้วน ๆ ไออาร์ล้วน ๆ 

 

แล้วอย่างประเด็นที่สอง เรื่องการจัดการระบบระเบียบระหว่างประเทศ เป็นอย่างไรครับ ?

ขอโทษด้วย กาตาร์ยาวไปเล็กน้อย ประเด็นนี้จะมีนักประวัติศาสตร์ที่ดังมาก ๆ ชื่อว่า ไนออล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) เรียกว่า “The rise of the rest” คือต้องการจะสื่อสารว่า แต่ก่อนเนี่ยเป็น The rise of the west คือตะวันตกครองโลก แต่ตอนนี้ไม่ได้ผูกขาดอีกต่อไป ทั้งโลกกระโดดขึ้นมาหมด ในสนามนี่เห็นได้ชัดเจน อย่างพวกทีมรองบ่อนก็สามารถสู้กับยักษ์ใหญ่ได้อย่างสนุกสนาน ญี่ปุ่น ชนะ เยอรมัน 2-1 เป็นไปได้! ซาอุดีอาระเบีย ชนะ อาร์เจนตินา 2-1 เกาหลีใต้ บุกใส่ อุรุกวัย และเสมอ 0-0 จริง ๆ 4 ปีก่อนชนะ เยอรมัน เสียด้วย หรือแท้แต่ โมร็อกโก ก็ชนะ เบลเยียม 2-0 

นี่แหละสภาวะ The rise of the rest ถามว่าเกิดได้อย่างไร ส่วนหนึ่งคือโลกาภิวัตน์เดินทางเข้าหากันได้ง่ายขึ้น สมัยก่อนนี่ผูกปีแพ้ แต่ตอนนี้พอไปดูทีมชาติญี่ปุ่นชุดนี้จะเห็นว่าเล่นให้ทีมในยุโรปทั้งนั้น เล่นในประเทศไม่ถึง 5 คน 3 ใน 5 ผ่านการเล่นในยุโรปมาแล้ว

เอ้อ จริง ๆ มีอีกประเด็นคือเรื่อง Race หรือเชื้อชาติ คือเป็นเรื่องแบบ Elephant in the room เห็นอยู่ทนโท่แต่คนทั่วไปไม่คิดว่าเป็นประเด็น อย่างเรื่องปลอกแขน No discrimination คำถามคือ หากไม่มีเรื่องการแบ่งแยกพวกนี้อยู่แล้ว คุณจะใส่เพื่ออะไร ? ที่ใส่แสดงว่ามีประเด็นพวกนี้ใช่ไหม อย่างสมมุติว่าใส่ปลอกแขน “อย่าเหยียดคนขาว” คุณเคยเห็นไหม เพราะไม่มีการเหยียดไงเลยไม่ต้องใส่ 

หรือสิ่งที่โต้เถียงกันหนาหูตอนนี้คือเรื่อง อันโตนิโอ รูดิเกอร์ ไปทำท่าวิ่งกวนบาทาใส่ ทาคุมะ อาซาโนะ คนเห็นก็คิดไปว่าล้อเลียนคนเอเชีย หาว่าขาสั้น วิ่งไม่ทัน แต่จริง ๆ ใครดูบอลเป็นประจำโดยเฉพาะแฟนเชลซีนี่จะรู้ดี คือหมอนี่ทำแบบนี้อยู่แล้ว จะเชื้อชาติไหนก็ทำ คือวิ่งเร็วไง ขายาว อยากโชว์ออฟ แต่ทำไมคนตีความว่าเป็นเรื่องการเหยียด ? ที่ตีความแบบนั้นก็เพราะมันชัดเจนเลยว่าสิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ในสังคมและไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่มีม่านมาบังตาไว้ 

ไหน ๆ แล้วขออีกสักประเด็นคือเรื่องการเคลื่อนไหวของทุนที่รวดเร็ว ฉับไว (Greater Capital Mobility) เกริ่นไปเล็กน้อยข้างต้นจะเห็นว่า ทั้งนักเตะและเจ้าของทีมมาจากหลายประเทศหลายทวีปทั้งนั้น ซึ่งก็ส่งผลให้มาตรฐานฟุตบอลสูงขึ้น ราคาก็สูงขึ้น เห็นได้จากราคานักเตะ แจ็ค กรีลิช ร้อยล้านปอนด์ บ้าไปแล้ว! แต่แฟนบอลอย่างเราได้ประโยชน์ไง ดูบอลสนุกมากขึ้น เป็นอานิสงส์ไป  

 

ได้เห็นภาพกว้าง ๆ ของไออาร์ในฟุตบอลโลกไปแล้ว น่าจะครบถ้วน ทีนี้หากพิจารณา ฟีฟ่า ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ก็คือไออาร์โดยตรงเลย แถมมีอำนาจล้นพ้นเสียด้วย ระยะหลัง ๆ ที่ ฟีฟ่าเองมักจะขัดหลักการ บางทีก็เข้าข้างอาหรับแบบออกนอกหน้า หรือไม่ก็ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย รับส่วย อะไรแบบนี้ ตรงนี้ถือว่ามีปัญหาหรือสิ่งที่น่าขบคิดสำหรับไออาร์ไหมครับ ?
 
องค์กรนี้จริง ๆ น่าสนใจโคตร ๆ เพราะประเด็นคือตัวฟีฟ่าเองควรตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าที่ตั้งขึ้นมาร้อยกว่าปีเนี่ย เป็นไปเพื่อสะท้อนคุณค่าแบบใด ? ควรจะเป็นเรื่องฟุตบอลเพียว ๆ หรือไปไกลกว่านั้น ที่คุณบอกมาว่า ฟีฟ่าแหกจากสิ่งที่ทำมา อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเป็นแบบนั้นไหม เพราะไปย้อนดูเนี่ยเขาก็จับมือกับเผด็จการมาเยอะมาก ฟุตบอลโลก 1934 จัดที่อิตาลี ใครเป็นผู้นำ มุสโสลินี ถูกไหม ฟาสซิสต์ล้วน ๆ ถึงจะบอกว่าตนเองเป็นประชาธิปไตยก็ตาม ปี 1978 ในอาร์เจนตินา ฆอร์เก ราฟาเอล วิเอรา ก็เป็นเผด็จการ ปี 2018 ที่รัสเซีย ปูตินนี่ประชาธิปไตยไหม แต่กาตาร์นี่หนักเลย กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นคำถามคือฟีฟ่านี่เชิดชูคุณค่าแบบประชาธิปไตยไหม ?


ที่แย่ไปกว่านั้น หากย้อนไปดูสปีชของ เยอโรม วัล์คเค (Jérôme Valcke) เลขาธิการทั่วไปฟีฟ่า เมื่อปี 2013 อย่าง ที่กล่าวไว้ว่า “ผมจะขอพูดอะไรบ้า ๆ สักหน่อย แต่ประชาธิปไตยยิ่งน้อยยิ่งเป็นผลดีต่อการจัดฟุตบอลโลก หากมีผู้นำที่แข็งแกร่งก็จะตัดสินใจง่ายแบบที่ปูตินทำ ง่ายกว่าการไปจัดที่เยอรมนี ซึ่งต้องไปต่อรองกันหลายระดับ” เห็นไหม ฟีฟ่าอาจไม่ได้เป็นภาพแทนของประชาธิปไตยแบบที่เราเข้าใจกันก็เป็นได้

 

ซึ่งหมายถึง เรากำลังคิดผิดใช่ไหมครับ ?
 
เห็นโควตเมื่อกี้ไหมล่ะ เชิดชูประชาธิปไตยตรงไหน ขนาดที่โลกในปัจจุบันเชิดชูประชาธิปไตยจะตายไป ฟีฟ่ายังทำแบบนี้เลย

 

เช่นนั้นละไว้ในฐานที่เข้าใจนะครับ

ละไว้ในฐานที่เข้าใจไปก่อน ผมแนะนำ

 

เมื่อองค์ใหญ่ผ่านไปแล้ว ทีนี้อย่างในแง่ของบุคคลที่ในปัจจุบันแต่ละทีมชาติ เริ่มมีสตาร์ก้าวขึ้นมาอยู่เหนือทีม เช่น โรนัลโด้ หรือ เมสซี่ ที่อาจารย์เชียร์ แตกต่างจากสมัยก่อน ที่สตาร์คือคนที่เล่นเพื่อทีมแต่โดดเด่น ตรงนี้ไออาร์ไปทำความเข้าใจอะไรได้บ้างครับ ?

แน่นอนว่าเป็นประเด็นไออาร์เลย แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องของปัจเจกนั่นแหละ ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไร แต่ที่น่าสนใจคือ หากพวกสตาร์ใช้ความเป็นอินฟลูเอนเซอร์เพื่อทำการ “Call Out” ล่ะจะเกิดอะไรขึ้น อย่าง เดวิด เบ็คแฮม ที่รับโปรโมตให้กาตาร์ แล้วอยู่ ๆ Call Out อยู่ ๆ คืนเงิน ไม่ทำแล้ว หากยังไม่เปิดกว้าง ไม่ให้ดื่ม กีดกันทางเพศ ตรงนี้สิน่าสนใจ แต่ผมคิดว่าเขาไม่ทำแน่ ๆ ใครล่ะจะทำ เงินเป็นล้าน ๆ เป็นคุณ คุณจะทำไหม คิดดี ๆ 

 

ซึ่งการไม่ทำก็กลับมาสู่ภาพกว้างอยู่ดีใช่ไหมครับ ?

คุณจะทำไปทำไมล่ะ เงินเยอะขนาดนี้ ไม่คุ้ม ฟีฟ่ายังมีข่าวคอรัปชั่น ข่าวรับสินบน ใต้โต๊ะ อะไรแบบนี้เลย นับประสาอะไรกับพวกนักเตะ

 

อย่างนั้นอาจารย์มีประเด็นอื่น ๆ ที่ควรค่าแก่การทำความเข้าใจในฟุตบอลโลกอีกไหมครับ ?

ผมคิดมาตั้งแต่ออกจากบ้านเลย มีอยู่ประเด็นเดียวเลยคือ “ควรใช้ฟุตบอลในฐานะการเชิดชูคุณค่าบางอย่าง” หรือ “ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกีฬาเพียว ๆ” สำคัญมากนะครับ เพราะหลายครั้งฟุตบอลถูกใช้เป็นพื้นที่ในการเชิดชูคุณค่าสารพัด อย่างการคุกเข่า Black Live Matter อันนี้เห็นชัด แต่ทำไมมาเป็นเรื่อง LGBTQ+ กลับไม่มีที่ทางให้ใช้ฟุตบอลขับเคลื่อน อย่างนี้ถือว่าเลือกที่รักมักที่ชังไหม ตรงนี้เลยเป็น Public Debate ที่สำคัญที่สุด นำมาสู่ปัญหาคลาสสิกตลอดกาลแบบที่ผมกล่าวไป นั่นคือจะเป็นแบบพหุนิยมหรือครอบจักรวาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะตอบได้ง่าย ๆ 

 

ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของ Practice หรือวัตรปฏิบัติต่อ ๆ ไปที่ต้องหาวิธีตอบคำถามต่อไป ซึ่งยากมากจนอาจจะตอบไม่ได้เลยใช่ไหมครับ ?

ใช่เลย ตอบโคตรยาก ทั้งชีวิตไม่รู้จะตอบได้ไหม เป็นคำถามชวนคิดที่ทรงพลังมาก ๆ ผมก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร คือหน้าที่ผมคือมาคิด ทำให้เห็นถึงปัญหา ทีนี้ก็ต้องไปตอบกันเอง 

 

มีคนพยายามตอบไหมครับ ?

เพียบ อย่างบางคนก็บอกว่าเราควรเริ่มทำเสียที ใช้ฟุตบอลในการแพร่กระจายคุณค่าบางอย่างไปเลยให้กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับ แต่อย่างที่ว่า ไออาร์แบบผมนี่คือการ “เปิด” สิ่งตรงนี้ออกมา ชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาซ่อนอยู่ตรงนี้ ที่เหลือจะใช้แบบไหนก็ต้องไปจัดการกันเอง สมมุติอยากให้ครอบจักรวาลก็จะโดนครหาว่าไม่เชิดชูคุณค่าที่หลากหลายอีก

 

กลับมาเรื่องเดิมอีกแล้วใช่ไหมครับ ?

เห็นไหมกลับมาเรื่องนี้ตลอด ไม่หนีไปไหน จะให้ผมมาชี้ 1 2 3 4 แบบนี้ไม่ใช่ ทำให้เห็นปัญหาก่อน ตอบแบบไหนอีกเรื่องหนึ่ง จะแก้ไขแบบใดก็อีกเรื่องหนึ่ง ลองไหมล่ะ ฟีฟ่าประกาศเลยว่าเราสนับสนุน LGBTQ+ แต่เสียรัฐอิสลามไปทั้งยวง แบบนี้ยอมไหม

 

อย่างเดนมาร์กที่มีข่าวลือว่าจะออกจากฟีฟ่า ตรงนี้เกี่ยวพันกับปัญหาที่อาจารย์ว่ามาไหมครับ ?

ตอนนี้ยังไม่ออกใช่ไหม อย่างนั้นก็เกี่ยวข้องเลย ก็คือหากเดนมาร์กไม่สังฆกรรมกับฟุตบอลระดับโลกอีกเลย และแสดงให้เห็นว่าสำหรับเขาคุณค่าบางอย่างสูงส่งกว่าการเตะฟุตบอล และคุณค่านั้น ๆ กำกับนโยบายระหว่างประเทศด้วย แต่หากไม่ออกก็แสดงว่าคุณค่าสูงสุดยังเป็นฟุตบอลอยู่ นี่ไงการเมืองกับฟุตบอลเป็นเรื่องเดียวกัน ใครมาแยกออกจากกันนี่ผมส่ายหัวเลย 

 

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องของเดนมาร์กใช่ไหมครับ ?

ใช่ แต่ที่คุณยกมาโคตรน่าสนใจ คือถ้าเลือกจะออกจริง ๆ สำหรับผมน่าสนใจและน่าติดตามมากในมิติของไออาร์ นั่นหมายถึงการยึดมั่นในหลักการของเดนมาร์กและยอมเสียอะไรหลาย ๆ อย่างไป ยอมตัดญาติขาดมิตรหลาย ๆ อย่างไป เพื่อคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ของตน ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ 

อย่างที่ผมบอกไง ผมนึกไม่ออกว่าคุณจะพิจารณาพรีเมียร์ลีกโดยไม่สนใจโลกาภิวัฒน์ได้หรือ ดูตำนานทีมยักษ์ใหญ่แต่ละคนสิครับสัญชาติอะไรบ้าง อังกฤษสักกี่คนในปัจจุบัน นี่ยังไม่นับรวมเรื่องฟุตบอลเพียว ๆ อย่าง “การเปลี่ยนแปลงของแทคติก” ที่เกิดขึ้นเพราะ “เสรีนิยมใหม่” อีกนะครับ

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ อาจารย์จัดให้เป็นวิทยาทานแก่แฟนบอลได้ไหมครับ ?

หากคุณไปอ่านงานประวัติศาสตร์เรื่องพลวัตและพัฒนาการของแทคติกฟุตบอล ชื่องานว่า “Inverting The Pyramid: The History of Soccer Tactics” ของ “โจนาธาน วิลสัน (Jonathan Wilson)” นักเขียนของ เดอะการ์เดียน คุณก็จะเห็นว่าพัฒนาการทางแทคติกเนี่ยเดิมเป็นแบบพีระมิดกลับหัว แต่ตอนนี้พลิกกลับมาเป็นปกติจากแนวความคิดเสรีนิยมใหม่ที่เชื่อเรื่องทุนและการรีดเร้นศักยภาพของมนุษย์ออกมาให้ได้มากที่สุด คน ๆ หนึ่งต้องทำได้มากกว่าหนึ่งอย่าง 

สมัยก่อนหน้าที่นักเตะจะตามตำแหน่ง เป็นสไตร์เกอร์ก็อยู่ตรงแดนหน้า คอยยืนค้ำพักบอล แต่มาตอนนี้ผมนึกไม่ออกแล้วว่าใครจะยืนจังก้าประจำตำแหน่งอยู่เฉย ๆ แบบนั้น ส่วนมากจะลงมาล้วงบอลต่ำทั้งนั้น อย่างฟีร์มีโนเนี่ยชัดเลย ผมยังงงว่านี่เล่นตำแหน่งเบอร์ 9 ใช่ไหม หรือพวก Inside Forward เนี่ย ปีกตัดเข้าไปทำประตูมีที่ไหน แต่ก่อนเลี้ยง ๆ แล้วครอสเข้าในทั้งนั้น False 9 อะไรพวกนี้ด้วย Box to Box ยังไม่มีเลย แต่เพราะเสรีนิยมใหม่ไงเลยต้องเก่งรอบด้านเก่งหลายอย่าง ผู้รักษาประตูต้องใช้เท้าเก่งไง เด เคอา แม่งปวดหัวเลย เห็นไหม อย่างริเบอโร่เนี่ยตอนนี้ใครเขาเล่นบ้าง ผมไม่ได้พูดเองนะ วิลสันพูดไว้ ผมก็อ่านแล้วแบบ เออ จริง แทคติกเปลี่ยนไปเยอะเลย นักเตะทำหลายอย่างมาก

 

ผมคิดต่อเล็กน้อยว่าอย่างประเทศแถบเอเชียที่มีความเสรีนิยมใหม่สูงมาก ๆ อย่างการทำงานหนักแบบญี่ปุ่น เกาหลี อะไรแบบนี้ ตรงนี้ส่งผลต่อทีมชาติไหมครับ ?

แน่นอนว่าทีมชาติพวกนี้เลยดีดไง วิ่งยับ ๆ แบ็กซ้ายขวาต้องขึ้นสุดลงสุด แต่ก่อนมีที่ไหน อย่างลิเวอร์พูลนี่ เห็นชัดเลย เมื่อก่อนกองหลังไม่ต้องเร็วไง แต่เดี๋ยวนี้กองหลังเร็วกว่ากองหน้าเสียอีก นี่ไงไม่เสรีนิยมใหม่ตรงไหน ไอ้พวกแบบว่าต้องมี Growth Mindset การ Relearn-Unlearn แข่งขันกับคนอื่น ๆ แบบเข้มข้น คุณเลยเจาะไปด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะในตลาดแรงงานมีคนทำได้พอ ๆ กันกับคุณ แต่ดันมีแต้มต่อคือทำอย่างอื่นได้มากกว่าคุณอีกหลายอย่าง ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไม เมซุต โอซิล หรือพวกที่มีสไตล์แบบนี้ถึงสูญพันธุ์ เพลย์เมกเกอร์สมัยก่อนเฉื่อยมาก วิ่งช้ามาก มาดูตอนนี้สิวิ่งกันลืมตายเลย 

 

แล้วพวกแบบรัฐสวัสดิการเต็มขั้นอย่างแถบสแกนดิเนเวีย พวกนี้ได้รับอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่บ้างไหมครับ ในแง่ของฟอร์เมชั่น ?

เดนมาร์กเลยหลุดเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกทีมเดียวในภูมิภาคไงครับ (แค่นหัวเราะ) นักเตะดัง ๆ จากสแกนดิเนเวียเลยไม่ค่อยมีไง เว้นแต่ เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ จากนอร์เวย์ แต่หมอนี่ก็ได้อิทธิพลจากพ่อที่ไปค้าแข้งในอังกฤษ ง่าย ๆ เลยทำไม ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ถึงไปไม่รอดกับ เป๊ป กวาร์ดิโอลา นอกจากเรื่องส่วนตัวแล้วก็เรื่องเสรีนิยมใหม่นี่แหละ ให้หมอนี่มาวิ่ง มาล้วงบอล มาไล่เพรส คิดว่าจะทำไหม หรือพวกปีกที่ไม่มีความเร็ว อย่างเบ็คแฮมเนี่ย มายืนรอเปิดบอลล้วน ๆ ปัจจุบันก็ไม่ค่อยเห็นแล้ว

 

แต่พวกลีกระดับล่าง ๆ ยังเห็นอยู่นะครับ

นี่ไงความระยำของเสรีนิยมใหม่ มันบีบให้คุณทำให้ได้มากกว่าคนอื่น แข่งขันกันตลอดเวลา คนพวกนี้ที่มีสไตล์เดิม ๆ เลยเล่นในระดับสูงไม่ได้ไง บางคนบอกก็เพราะเป๊ปมาปฏิวัติ แต่จริง ๆ แล้วในระดับโครงสร้าง ไอ้หมอนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพนี้ เป๊ปยังไม่เลือกซื้อกองกลางสไตล์คล้ายคลึงกับตนเองเลย มีหรือมาไล่อัด ไล่หวด เล่นเกมรับอย่างเดียว ไม่มี เดอ บรอยด์ อะไรแบบนี้ ต้องทำได้หมด ก็องเต้ อะไรแบบนี้ คนรักทั้งนั้น

 

อย่างนี้บอกได้ไหมครับว่า โรนัลโด้ กำลังประสบกับสภาวะ “เปลี่ยนผ่าน” จากแบบเก่าไปสู่แบบใหม่ เลยทำให้แสดงออกแบบที่เราเห็น ?

โห ตรงใจผมเลย โรนัลโด้ติดกับดักความสำเร็จแบบนี้เพราะแต่เดิมเขาเล่นแบบมีตำแหน่งตายตัว แต่พอมาอยู่ในแทคติกที่ต้องทำได้หลายอย่างก็เลยต้องสู้ต่อ จริง ๆ จะลงสวย ๆ ก็ได้เมื่อ 1-2 ปีก่อน แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น อีกอย่างความน่ากลัวของเสรีนิยมใหม่ อันนี้ผมเน้นย้ำเลยนะว่าเป็นระบบที่สามารถ “หาคนมาแทนได้ตลอดเวลา” คนอาจจะคิดว่า นักเตะซุเปอร์สตาร์ระดับตำนาน จะหาใครมาแทนไม่ได้ แต่คุณดูสิ เมสซี่ ยังมาแทนโรนัลดิญโญ่ ได้แบบทันท่วงที ทั้งที่คาดการณ์ในตอนนั้นว่าจะเกิดช่องว่างขนาดใหญ่ คุณเห็นไหม

 

ซึ่งก็คือระบบที่ทำให้เรา “อย่าสำคัญตัวผิด” ใช่ไหมครับ ?

แน่นอน คุณดูโรนัลโด้สิ เอฟร่ายังบ่นเลย กินแต่โปรตีน ผัก และอาหารคลีน ๆ ทำไมล่ะ เพราะไม่อยากตกไปอยู่ฐานพีระมิดถูกไหม นี่ไงไม่เสรีนิยมใหม่ตรงไหน เมสซี่ก็เช่นกัน สมัยก่อนกับตอนนี้คนละเรื่อง สมัยนั้นโดนด่ายับว่ายิงฟรีคิกกากมาก ดูตอนนี้สิยิงฟรีคิกยังกับจุดโทษ การแข่งขันสูงขึ้นเพราะเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้ต้องบีบตนเอง รีดเร้นตนเอง อยากอยู่ต่อ ก็ต้องเทพแบบนี้

 

ท้ายที่สุดนี้อาจารย์มีอะไรอยากฝากถึงแฟนบอลไหมครับ ?

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ดูแล้วลุ้นดี และหากคุณเข้าใจสิ่งที่ผมพูด The rise of the rest อะไรแบบนี้ ทีมรองบ่อนสู้ทีมใหญ่ ๆ ได้สนุกสูสีขึ้น คุณดูญี่ปุ่นสิครับ ฟัดกับอดีตแชมป์โลก 2 ทีมเลย เห็นไหม แน่นอนผมเลยอยากเห็นบอลไทยไปบอลโลกสักครั้งในชีวิตก่อนตาย อยากให้ทีมชาติไทยลงเล่นรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลโลกสักครั้งก็ยังดี ผมอาจจะตายตาหลับก็ได้ 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

อาณกร จารึกศิลป์

Main Stand's Photographer

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ