Feature

คำบอกเล่าจากไลฟ์การ์ด ทำไม LIFE SAVING (การช่วยชีวิตทางน้ำ) ถึงต้องถูกบรรจุเป็นกีฬาใน WORLD GAMES ? | Main Stand

การช่วยชีวิตทางน้ำ … หากจินตนาการตามแบบฉบับละครหลังข่าวภาคค่ำคงหนีไม่พ้นซีนที่นางเอกกำลังจะจมน้ำแล้วพระเอกกระโดดลงไปช่วย อุ้มขึ้นมาผายปอด แล้ว ฟื้นในชั่วพริบตา


 

แต่ในชีวิตจริงมันมีรายละเอียดและหลักวิชาหลากแขนงที่เราทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้มากกว่านั้น เพราะมันจำเป็นกับการประคองสติตัวเองหากพบเหตุ รวมถึงเพื่อรักษาชีวิตใครสักคนอย่างถูกวิธีในฐานะผู้ช่วยเหลือ

LIFE SAVING หรือ การช่วยชีวิตคนทางน้ำ จึงต้องแยกร่างออกมาเป็นเวอร์ชั่นการแข่งขัน และมีสมาคมกีฬาไลฟ์เซฟวิ่งที่รับรองโดยสมาพันธ์เวิลด์เกมส์ นานาชาติมาตั้งแต่ปี 1982 ก่อนจะถูกบรรจุไว้ในมหกรรมกีฬา WORLD GAMES ในรูปแบบที่กระชับ ฉับไว เน้นความเร็วในการช่วยเหลือคน คล้ายกับการแข่งขันว่ายน้ำ เพียงแต่จะเพิ่มอุปสรรคเป็นหุ่นหรือทุ่นจำลองให้เหมือนกับผู้ประสบภัยจริง ในทุก ๆ การช่วยชีวิตคนทางน้ำในเวิลด์เกมส์มีการจับเวลาเป็นตัวบีบคั้นให้ผู้เข้าแข่งขันต้องเร่งทำความเร็ว แต่ในชีวิตจริงความเร็วไม่สำคัญเท่ากับความถูกต้อง

“การช่วยชีวิตทางน้ำในชีวิตจริง คนช่วยห้ามหันหลังให้ผู้ประสบภัยเด็ดขาด เพราะจะเสี่ยงตายทั้งคู่ 1.ผู้ประสบภัยจะไม่มั่นใจว่าเขาปลอดภัย 2.พอสติแตกก็จะเหนี่ยวรั้ง หนีบแข้งขาคนช่วย แต่ในการแข่งขันนักกีฬาจะพุ่งลงในน้ำแล้วช่วยหุ่นจำลองขึ้นมา แล้วจึงหันหลังว่ายน้ำจ้วงเข้าฝั่งอย่างรวดเร็วเพราะเขาจับเวลา นั่นเพราะเขาต้องทำให้มันสนุกขึ้นเท่านั้น” 

“และเมื่อช่วยขึ้นมาบนฝั่งแล้ว ในชีวิตจริงคุณต้อง CRP อย่างถูกวิธี ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ประสบภัยนอน มันไม่เหมือนกัน แต่ที่เขาต้องทำสำหรับการแข่งขันก็เพื่อให้คนเข้าถึง” 

พลตรีอดิศักดิ์  สุวรรณประกร ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรมสมาคมช่วยชีวิตทางนํ้า อธิบายความแตกต่างระหว่างชีวิตจริงกับการแข่งขัน ชายผู้นี้ผ่านการอบรมและทำหน้าที่เป็นไลฟ์การ์ดให้กับสถาบัน YMCA มาถึง 17 ปี และมีโอกาสเดินทางไปอบรมที่ประเทศแคนาดา จนได้ตำราวิชาการช่วยชีวิตทางน้ำจากที่นั่นกลับมาศึกษา และก่อตั้งสมาคมขึ้นในประเทศไทย กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 20 ของสมาคมช่วยชีวิตทางน้ำในไทย แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่ใจกับหลักสูตรการช่วยชีวิตทางน้ำได้มากเท่าที่หวัง เพราะการจะทำให้สำเร็จต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก และ นักกีฬาทุกคนต้องผ่านการอบรมการช่วยชีวิตทางน้ำและได้รับใบเซอร์ทิฟิเคทฯ ก่อน ถึงจะลงแข่งได้ 

หลายคนอาจคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่หากดูข้อมูลที่รัฐบาลเปิดเผยสถิติไว้ก่อนหน้านี้ พบว่าในช่วง10 ปีที่ผ่านมา (2555-2564) ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 35,915 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมากถึงร้อยละ 20.5 (7,374คน) โดยเด็กช่วงอายุ 5-9 ปีเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดที่ 2,867 คน และช่วงเดือน มี.ค. - พ.ค. เป็นช่วงเวลาที่เสียชีวิตมากที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 32.7 ของการจมน้ำเสียชีวิตตลอดทั้งปี

“เรื่องนี้แก้ปัญหาจากต้นเหตุได้ เราควรบรรจุ การช่วยชีวิตคนทางน้ำ ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ๆ ผู้ปกครองก็ควรตระหนักที่สุดว่าต้องเรียนรู้ เอาง่าย ๆ ถ้าคุณอยู่บ้านแล้วเผลอเรอปล่อยลูกเดินตกลงบ่อปลาหน้าบ้าน คุณจะช่วยชีวิตลูกเป็นไหม นั่นแหละคือ LIFESAVING” ผอ.สมาคมช่วยชีวิตทางน้ำแนะ ก่อนถอนหายใจเสียงอ่อน

“หากใครยังจำได้ เหตุการณ์สึนามิที่ จ.ภูเก็ต เด็กหญิงอังกฤษ อายุ 10 ขวบรอดตาย เพราะเห็นน้ำทะเลลดฮวบเลยบอกคนในครอบครัวให้ขึ้นตึกสูงทันที เธอบอกว่าในหนังสือเรียนสอนให้สังเกตและสอนวิธีรับมือ เขาทำให้มันเป็นเรื่องใกล้ตัวและนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง” พลตรีอดิศักดิ์  สุวรรณประกร พูดทิ้งทาย 

พาขวัญ ดิษฐเจริญ อดีตนักศึกษาคณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปัจจุบันแต่งงานและใช้ชีวิตกับสามีและลูกชายอยู่ที่สหรัฐอเมริกา สนับสนุนความคิดที่ว่าการช่วยชีวิตทางน้ำควรถูกส่งเสริมให้เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะตนเองก็เคยคิดว่ามันไกลตัวมาก กระทั่งปี 2013 ที่สมัครไป Work and Travel  

“ก่อนที่จะได้ทำงานนี้เคยได้ยินมาบ้างว่าไลฟ์การ์ดคืออะไร แต่ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า CPR คืออะไร เพราะอยู่ในไทยมันไกลตัวเรา ก็เพราะมันไกลตัวด้วยตอนนั้นเลยเลือกทำงานไลฟ์การ์ดเพราะคิดว่ามันท้าทายดี” 

“ก่อนจะได้งาน นายจ้างบินมาจากอเมริกาเพื่อสัมภาษณ์ แล้วเราต้องว่ายน้ำให้ได้นานที่สุด ว่ายที่สระธรรมศาสตร์ 50 เมตร 5 รอบ ดำน้ำเก็บของลึกอีก 3 เมตร ฉะนั้นทักษะที่สำคัญคือว่ายและดำน้ำ”

“พอไปถึงอเมริกา เราต้องเข้าหลักสูตรเพื่อให้ได้ Certificate มีทักษะแยกย่อยต่าง ๆ ทั้งการ CPR ในช่วงอายุที่แตกต่างกันออกไป ต้องเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น Rescue Tube, Rescue Board, Masks, AED ฯลฯ รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น”  

ปัจจุบันแม้ว่าเธอจะไม่ได้ทำอาชีพเป็นไลฟ์การ์ดแล้ว และยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ต้องงัดทักษะมาช่วยชีวิตคน แต่เมื่อมีลูก LIFE SAVING ก็กลายเป็นตำราข้างกายที่ทำให้เธออุ่นใจเสมอ และรู้สึกว่า LIFE SAVING เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อเทียบกับในปี 2013 

พาขวัญ มองว่าการบรรจุเป็นการแข่งขันก็มีส่วนที่ทำให้คนหันมาสนใจ LIFE SAVING มากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นความคิดเห็นส่วนตัวของเธอกลับมองว่า อีกทักษะที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามคือการทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองต้องตกอยู่ในสถานการณ์มากกว่า 

“เรามองว่าสิ่งที่สำคัญกว่า LIFE SAVING คือความระมัดระวังมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องถูกช่วยชีวิต ซึ่งมันก็คือความตระหนัก ความไม่เผลอเรอ สิ่งเหล่านี้มันก็ถือเป็นการเซฟชีวิตได้แล้วเหมือนกัน” 

ปัจจุบัน LIFE SAVING ในรูปแบบกีฬามีกติกาการแข่งขันที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ทัวร์นาเมนต์ ส่วนการแข่งขันใน World Games มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบครั้งล่าสุดเมื่อปี 2013 จากเดิมที่เคยแข่งขันกันที่ชายหาดก็เปลี่ยนมาเป็นสังเวียนในสระว่ายน้ำ โดยแบ่งประเภทเป็นการว่ายช่วยหุ่นจำลองโดยใช้ฟินส์และไม่ใช้ฟินส์ การว่ายข้ามสิ่งกีดขวาง และการว่ายช่วยหุ่นจำลองแบบผลัด ทั้งชาย หญิง และผสม 


แม้จะแตกต่างจากในชีวิตจริง แต่คอมมูนิตี้ในส่วนของกีฬาก็กระตุ้นให้ LIFE SAVING เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยได้มากขึ้น 
ยกตัวอย่างจากเมือง Camrose ประเทศแคนาดา ที่กลายเป็นเมืองที่คนในชุมชนตระหนักรู้เรื่องการช่วยชีวิตทางน้ำเป็นอย่างมาก เพราะมีทีม LIFE SAVING ที่มีชื่อว่า The Camrose Tsunami Junior Lifeguard Club เจ้าของแชมป์โลกเยาวชนปีล่าสุด ที่ในทีมคือเด็กอายุราว ๆ 15-17 ปีที่ต่อยอดทักษะจากตำราเรียนสู่สนามแข่งขัน 

หากประเทศไทยบรรจุหลักสูตรการช่วยชีวิตทางน้ำลงในหนังสือเรียนบ้าง ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำอาจน้อยลง อาชีพไลฟ์การ์ดอาจได้รับความนิยม และถูกให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงอาจทำให้มีทีมกีฬา LIFE SAVEING จากไทย ที่ไปไกลถึงระดับนานาชาติ

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.theworldgames.org/sports/Life_Saving-33
https://www.cbc.ca/news/canada/edmonton/camrose-swimmers-to-compete-at-international-lifesaving-sport-world-championships-in-italy-1.6501310
https://www.camrose.ca/en/recreation-and-leisure/programs-and-courses.aspx
http://www.thailifesaving.org/index.php/contact-us/infomation

Author

กุลญา กระจ่างกุล

นักข่าวสาวเสียงอีสาน โปรดปรานกีฬาม่วนๆ ชอบชวนคุ้ยป่น ไม่อดทนเผด็จการ

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ