Feature

ชู ซอง-ฮุน : นักสู้ไซนิจิ ผู้ไปสุดทั้งวงการกีฬาและแวดวงบันเทิง | Main Stand

รายการเรียลลิตี้ Physical: 100 บนช่องทาง Netflix นำเสนอเรื่องราวของการนำคนแกร่งจากทั่วประเทศเกาหลีใต้จากทุกสายอาชีพไล่ตั้งแต่เกษตรกร นักกีฬาโอลิมปิก ยันเชียร์ลีดเดอร์ ทั้งยังไม่จำกัดเพศ อายุ สรีระ และสัญชาติ มาห้ำหั่นผ่านภารกิจที่หลากหลาย ด้วยเป้าหมายร่วมกันคือการพิชิตเงินรางวัล 300 ล้านวอน ไปจนถึงการพิสูจน์ให้เห็นถึงการเป็นคนแกร่งที่สุดจากทั้งหมด 100 คน

 


อาจจะด้วยเนื้อหาที่มีความแปลกใหม่ กอปรกับความตื่นเต้น ลุ้นระทึกที่เกิดขึ้นทุก ๆ ตอน ทำให้เรียลลิตี้ดังกล่าว โด่งดังถึงขั้นติดท็อป 10 คอนเทนต์ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงไทยมาหลายสัปดาห์ ในช่วงที่ออนแอร์

หนึ่งในชื่อผู้เข้าแข่งขันที่ได้สร้างความฮือฮามากที่สุดคนหนึ่งของรายการคือ ชู ซอง-ฮุน หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นคือ โยชิฮิโร อะกิยามา นักชกศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ซึ่งมีเส้นทางชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน

เพราะ ซอง-ฮุน เป็นชาวไซนิจิ หรือกลุ่มชาติพันธ์ุเกาหลีที่อยู่ในญี่ปุ่น นั่นทำให้เขาเคยเผชิญช่วงชีวิตทั้งที่เคยถูกผลักให้เป็นคนชายขอบระหว่างทั้งสองชาติ ก่อนจะใช้ความสามารถและความมุ่งมั่นที่มีในตัวผลักดันตัวเอง จนกลายเป็นที่ยอมรับและเป็นขวัญใจของทั้งคอกีฬาหมัดมวย ไปจนถึงแฟนคลับในอุตสาหกรรมบันเทิง

เขาทำได้อย่างไร อะไรคือส่วนสำเร็จที่เติมเต็มเรื่องราวทั้งหมด Main Stand อาสาพาผู้อ่านทุกท่านมาติดตามเส้นทางชีวิตของ ชู ซอง-ฮุน ไปพร้อม ๆ กัน 

 

สายเลือดคนสองแผ่นดิน

“ผมมองไปยังช่องว่างระหว่างธงชาติเกาหลีใต้และธงชาติญี่ปุ่น ในฐานะคนเกาหลีผมไม่สามารถลงเล่นให้ทีมชาติสำหรับการแข่งขันยูโดอันทรงเกียรตินี้ได้ ชู ซอง-ฮุน กล่าวผ่านรายการทอล์กโชว์ MBC เมื่อถูกถามถึงช่วงเวลาในพิธีรับเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในฐานะตัวแทนทีมชาติญี่ปุ่น 

“แต่กับญี่ปุ่น ที่นี่สามารถรับประกันตำแหน่งทีมชาติให้ผมได้ ผมไม่เคยเสียใจนะที่ตัวเองมีเชื้อสายเกาหลี” 

“ไซนิจิ” คือคำที่ใช้เรียกคนเกาหลีพลัดถิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมานมนาน หากจะย้อนไปจริง ๆ มีข้อมูลปรากฏถึงยุคที่คาบสมุทรเกาหลียังแบ่งเป็นหลายอาณาจักร ทว่าตอนนั้นยังไม่ได้มีการนับเป็นรุ่น กระทั่งเข้าช่วงปี 1920 เรื่อยมาภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์โชซอน เกาหลีก็ตกอยู่ใต้จักรวรรดิญี่ปุ่นแบบเบ็ดเสร็จ 

เพราะความแร้นแค้น กอปรกับความต้องการแรงงาน ตลอดจนทหารเข้ากองทัพในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การอพยพย้ายถิ่นฐานเพิ่มสูงขึ้น เกิดเป็นชุมชนคนเกาหลีที่ในเวลานั้นยังรวมทั้งชนโคเรียจากทั้งภูมิภาคตอนเหนือและใต้ 

ภายหลังที่เกาหลีได้รับอิสรภาพจากญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่ากันว่ามีคนเกาหลีกว่า 4.6 แสนคนที่ตัดสินใจพำนักในญี่ปุ่นต่อ นานวันเข้าก็กลายเป็นพลเมืองญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว 

อย่างไรก็แล้วแต่ เพราะแรกเริ่มไม่ได้เข้ามาในฐานะของคนมีฐานะ คนกลุ่มนี้จึงถูกสังคมอาทิตย์อุทัยผลักให้เป็นพลเมืองชั้นรองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และพวกเขาก็กลายเป็นกลุ่มคนชายขอบอยู่เรื่อยมา

ชู จอง-วอน คือชื่อทวดของ ชู ซอง-ฮุน ที่อพยพจากเชจู เคาน์ตี้ หรือเกาะเชจูในปัจจุบัน มาทางเรือ ในยุคที่จักรวรรดิแดนอาทิตย์อุทัยเข้ามายึดครองคาบสมุทรเกาหลี ก่อนจะมีการรับเอาชื่อญี่ปุ่นมาใช้ และได้ตั้งรกรากบนแผ่นดินใหม่ที่โอซากา และนั่นก็ทำให้ ซอง-ฮุน ในฐานะคนเกาหลีในญี่ปุ่น รุ่น 4 มีชื่อญี่ปุ่นว่า ‘โยชิฮิโร อะกิยามา’ 

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้า คนเกาหลีในญี่ปุ่นไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายเท่าไรนัก มิหนำซ้ำบางคนยังถูกเลือกปฏิบัติจากคนเกาหลีในเกาหลีเองเสียด้วย ซึ่งชีวิตในช่วงแรกของ ชู ซอง-ฮุน เขาประสบพบเจอกับเรื่องราวเช่นนี้เข้าเต็มเปา

สิ่งหนึ่งที่พ่อของ ซอง-ฮุน อยากเห็นลูกชายคนนี้ทำให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิตคือการมีส่วนร่วมกับประเทศเกาหลีใต้ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่ง ซอง-ฮุน ก็สานฝันให้คุณพ่อได้สำเร็จ โดยใช้ใบเบิกทางผ่านกีฬา “ยูโด” ที่เขาเริ่มเล่นมาตั้งแต่เด็ก 

เพราะที่เกาหลี กีฬายูโดไม่ได้เป็นที่นิยมและไม่ได้โด่งดังเท่าเทควันโด ความเก่งกาจของ ชู ซอง-ฮุน ทำให้เขาเลือกปฏิเสธการติดทีมชาติญี่ปุ่นไปก่อน แล้วตัดสินใจเลือกมาทำงานให้หน่วยงานรัฐของเมืองปูซาน จนต่อยอดสู่การติดทีมชาติเกาหลีใต้ กระทั่งคว้าเหรียญทองในการแข่งขันศึกยูโดชิงแชมป์เอเชีย เมื่อปี 2001 มาแล้ว

ถึงแม้ ชู ซอง-ฮุน จะก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาทีมชาติเกาหลีใต้และคว้าเหรีญรางวัลติดมือได้ด้วย แต่เพราะเขาคือคนเกาหลีที่เกิดและเติบโตในญี่ปุ่น ทำให้ “ความเป็นญี่ปุ่น” ติดตัวเขาในสายตาผู้หลักผู้ใหญ่ของวงการยูโดแดนกิมจิไปด้วย นำมาซึ่งการไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควร 

เพราะที่เกาหลีใต้ นักกีฬายูโดทีมชาติส่วนใหญ่จะมาจากมหาวิทยาลัยยงอิน (Yong In University) สถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นมาจากอดีตโรงเรียนยูโดเกาหลี 

ก่อนถึงมหกรรมกีฬาใหญ่อย่างเอเชียนเกมส์ ปี 2002 ที่ปูซานจะมาถึง ซอง-ฮุน ไม่ได้เป็นตัวเลือกแรก ๆ ของทีมชาติเกาหลีใต้ เขามักจะถูกผลักเป็นนักกีฬาตัวเลือกรอง โดยนักกีฬาตัวเลือกแรก ๆ ที่เกาหลีใต้ส่งแข่งคือนักกีฬาที่เคยผ่านการฝึกฝนและเก็บตัวจากมหาวิทยาลัยยงอินนั่นเอง 

“ไม่ว่าผมจะชนะกี่ครั้งหรือทำเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ดีเพียงใด มันก็ย่อมมีอุปสรรคเข้ามา เมื่อได้เรียนรู้ความเป็นจริง ผมคิดว่าผมไม่สามารถปล่อยให้สิ่งนั้นมาครอบงำอาชีพนักกีฬายูโดของผมได้อีก” ชู ซอง-ฮุน กล่าว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ซอง-ฮุน จึงตัดสินใจกลับมานับหนึ่งใหม่ที่ญี่ปุ่น ด้วยศักยภาพที่มีในตัวแถมพกดีกรีเหรียญรางวัลชิงแชมป์เอเชียมาหมาด ๆ ในที่สุดเขาก็พาตัวเองกลายเป็นนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นได้

และด้วยความสามารถของ ชู ซอง-ฮุน หรือ โยชิฮิโร อะกิยามา ก็เบิกทางให้เขากลายเป็นนักกีฬาเหรียญทองยูโด รุ่น 81 กิโลกรัม ในเอเชียนเกมส์ ที่ปูซาน โดยคู่แข่งของเขาก็คือนักกีฬาจากเกาหลีใต้นาม อัน ดง-จิน ท่ามกลางเสียงตะโกนโจมตีจากผู้ชมบนอัฒจันทร์ที่สาดส่องเข้ามา ทั้งการตะโกนว่าเป็นคนทรยศชาติ ตลอดจนไล่กลับญี่ปุ่นไปเสีย

กับฝั่งญี่ปุ่นเอง โยชิฮิโร อะกิยามา ก็เจอเรื่องราวลักษณะนี้เช่นกัน อย่างในปี 2006 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาผันตัวจากนักกีฬายูโดมาเป็นนักสู้ศิลปะป้องกันตัวแบบผสม หรือ Mixed Martial Arts (MMA) ไปแล้ว ในไฟต์ที่เขาเผชิญหน้ากับ คาซุกิ ซากุราบะ แม้การแข่งขันที่โอซากาในวันนั้นอะกิยามาจะชนะแบบ TKO หรือชนะน็อกแบบกรรมการเป็นผู้ตัดสินโดยไม่จำเป็นต้องนับถึง 10 

แต่ท้ายที่สุดซากุราบะมีการร้องเรียนว่าอะกิยามาใช้น้ำมันทาตัวหรือใช้สารหล่อลื่นอะไรบางอย่างทาตามร่างกาย เป็นการผิดกติกาการแข่งขันตามกฎของ K-1 ทำให้เขาถูกริบชัยชนะและโดนแบนจากเวทีไปพักใหญ่ 

และที่สำคัญ เขาตกเป็นเป้าโจมตีจากคนญี่ปุ่น ทั้งสายชาตินิยมไปจนถึงการคอมเมนต์ตามกระแสสังคม แน่นอนว่าคำความหมายเชิงลบที่โถมใส่อดีตนักกีฬายูโดผู้นี้ มีบางส่วนที่เกี่ยวโยงกับการเป็นคนสายเลือดเกาหลีรวมอยู่ด้วย

 

จากยูโด สู่ MMA และชีวิตที่ยังไม่หมดไฟ

ทุก ๆ เหตุการณ์ที่ ชู ซอง-ฮุน ถูกผลักเสมือนเป็นบุคคลไม่มีตัวตนทั้งที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น แต่เขามักใช้ทั้งพรสวรรค์และพรแสวงทางกีฬาตอบโต้อุปสรรคทุกครั้งไป

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาอยู่ภายใต้การเป็นนักสู้มาตั้งแต่สมัยเด็ก ว่ากันว่า ซอง-ฮุน เริ่มเล่นกีฬายูโดมาตั้งแต่อายุได้ 3 ขวบ

ภายหลังที่คว้าเหรียญทองยูโด เอเชียนเกมส์ 2002 รวมถึงกวาดแชมป์ยูโดระดับประเทศญี่ปุ่นมาไม่น้อย โมเมนต์สำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของ ชู ซอง-ฮุน ไปอีกระดับคือช่วงที่ตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นนักกีฬาต่อสู้ศิลปะป้องกันตัวแบบผสม (MMA) ในปี 2004

นอกจากจะนำทักษะด้านกีฬายูโดมาประยุกต์แล้ว ซอง-ฮุน ยังได้รับการฝึกฝนศาสตร์ศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ เพิ่มเข้าไปด้วย ทั้งมวยปล้ำ (ซับมิชชัน) คาราเต้ มวยสากล ไปจนถึงคิกบ็อกซิ่ง จนกลายเป็นหนึ่งในนักสู้ที่น่าจับตามองมากคนหนึ่งในเวลานั้นจากรูปร่างและสภาพร่างกายที่ชวนให้หลงใหล ถึงขั้นคนในแวดวง MMA มอบฉายาให้เขาว่า ‘Sexyama’ 

ชู ซอง-ฮุน ผ่านสังเวียนการขึ้นชกกับยอดฝีมือชื่อดังมาหลายสังเวียน โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จากจุดเริ่มต้นที่เปิดตัวในศึก K-1 

ไฮไลต์สำคัญตลอดการต่อกรกับคู่แข่งบนดินแดนเอเชียตะวันออกก็หนีไม่พ้นการใช้ท่าไม้ตายซับมิชชั่นใส่คู่แข่ง นำมาซึ่งการคว้าแชมป์ K-1 HERO รุ่นไลต์เฮฟวี่เวต กรังด์ปรีซ์ ได้ตั้งแต่ช่วง 3 ปีแรกที่เดบิวต์กีฬาชนิดนี้

เวลาต่อจากนั้น นักชกฉายา Sexyama มีโอกาสโยกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกแดนซามูไรและแดนอารีรัง ด้วยการเซ็นสัญญาซบค่ายดังจากซีกโลกตะวันตกนาม Ultimate Fighting Championship หรือที่รู้จักกันในชื่อ UFC มาแล้ว

ที่ UFC ซอง-ฮุน ได้สัมผัสศึกใหญ่ที่ว่ากันว่าเป็นรายการใหญ่ที่ดึงดูดคอหมัดมวยจากทั่วโลกเบอร์ต้น ๆ ของค่ายอย่าง Fight of the Night ถึง 3 ไฟต์ด้วยกัน โดยเก็บชัยชนะได้ในไฟต์เดบิวต์เหนือ อลัน เบลเชอร์ นักสู้แดนมะกัน ซึ่งว่ากันว่าไฟต์นี้เป็นหนึ่งในการแข่งขันรุ่นมิดเดิลเวตที่ดีที่สุดตลอดกาลของ UFC อีกด้วย

ถึงแม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จมากเท่าสมัยที่ชกใน K-1 จากสถิติชนะ 2 แพ้ 5 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาการบาดเจ็บที่เข้ามารบกวนเขาอยู่บ่อยครั้ง 

อย่างไรก็ดี ทุก ๆ ครั้งที่ ชู ซอง-ฮุน ลงทำการแข่งขัน สิ่งสำคัญที่อยู่ในใจเขาตลอดเวลาคือการเป็นตัวแทนของคนเกาหลีและญี่ปุ่นต่อกรกับยอดนักสู้ฝีมือเก่ง ๆ โดยเจ้าตัวมักจะใช้ธงทั้งสองประเทศสื่อสารให้ผู้ชมเห็นอยู่เสมอ

ในปี 2019 หรือช่วง 4 ปีต่อจากไฟต์สุดท้ายบนสังเวียน UFC ชู ซอง-ฮุน เปิดตัวเป็นนักกีฬาคนใหม่ของศึกวันแชมเปี้ยนชิพ (One Championship) ด้วยวัย ณ เวลานั้น 44 ปี 

แม้ในไฟต์เปิดตัวร่วมกับค่ายดังแห่งเอเชีย ชู ซอง-ฮุน จะแพ้คะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อ อากิลัน ทานี นักสู้ชาวมาเลเซีย ที่ 14-7 คะแนน แถมการชกไฟต์ล่าสุด (หนที่สาม) ก็เกิดขึ้นต่อจากไฟต์สองในระยะห่างถึงสองปีด้วยกัน (ไฟต์สองแข่งปี 2020 ไฟต์สามหรือไฟต์ล่าสุดแข่งในปี 2022) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 กอปรกับเรื่องการเตรียมตัว

แต่ถึงกระนั้นจอมเก๋าเลือดไซนิจิผู้นี้ยังไม่หมดไฟกับเส้นทางนี้แต่อย่างใด ความกระหายในความสำเร็จในวัยใกล้เลข 5 ยังคงเป็นปณิธานในใจเขาเรื่อยมา

“ผมจะขึ้นชกไปจนกว่าจะอายุ 50 แน่นอนล่ะ นั่นคือเป้าหมายปัจจุบันของผม มันขึ้นอยู่กับ (ความพร้อม) ทางร่างกายของผม ผมอยากต่อสู้กับแชมป์เปี้ยน ผมยังไปไม่ถึงจุดนั้น (กับวันแชมเปี้ยนชิพ) ผมต้องการสู้ต่อไป เพื่อที่ผมจะได้ท้าทายตัวเอง” ชู ซอง-ฮุน ให้สัมภาษณ์ในวันที่อายุ 47 ปี

จากสถิติขึ้นชกรวม 25 แมตช์ แบ่งภาพรวมเป็นไฟต์ชนะ 16 ครั้ง แพ้ 7 ครั้ง นับเป็นเครื่องการันตีชั้นดีของนักชกสายเลือดสองแผ่นรายนี้ 

และตราบใดที่เขายังไม่ประกาศอำลาสังเวียน เราอาจได้เห็นสถิติชนะของเขาเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีกก็เป็นได้

 

กับวงการบันเทิง โดดเด่นไม่แพ้กัน

ตลอดเส้นทางบนสังเวียนหมัดมวย ชู ซอง-ฮุน เขาใช้ความสามารถจนพาตัวเองขึ้นมาเป็นนักกีฬาขวัญใจของทั้งคนเกาหลีและญี่ปุ่นหลาย ๆ คน รวมถึงได้รับการเคารพนับถือมากมายจากนักกีฬารุ่นน้อง

และในอีกทางหนึ่งกับการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแวดวงบันเทิงทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็ยิ่งทำให้เขากลายเป็นขวัญใจของคนทั่วไป ซึ่งไม่ได้มีแค่แฟน ๆ กีฬากำปั้นอย่างเดียวอีกต่อไป

ก่อนเข้าร่วมเรียลลิตี้ Physical: 100 ชู ซอง-ฮุน เป็นที่รู้จักมาพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เขารวมถึงลูกสาว ชู ซา-รัง เป็นส่วนหนึ่งของรายการวาไรตี้ยอดนิยม The Return of Superman ที่ให้คุณพ่อเป็นผู้รับหน้าที่ดูแลลูก ๆ เพียงลำพังตลอด 48 ชั่วโมง 

นับแต่ที่ตอนของ ชู ซอง-ฮุน และ ชู ซา-รัง ออกอากาศก็กลายเป็นกระแสฮือฮาน่าสนใจ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ในเกาหลีใต้แต่ยังรวมถึงที่ญี่ปุ่นด้วย 

นั่นเพราะผู้ชมได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขาที่ถ่ายทอดออกมาให้เห็น จากอดีตที่เคยโดนข้อครหาเพราะเป็นคนไซนิจิ มาถึงวันนี้ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปทั้งหมด

“เมื่อผมอยู่ข้างใน (สังเวียนแข่ง) ผมจะจริงจังเพราะมันไม่ใช่เกม แต่นอกสังเวียนผมตรงกันข้ามกันเลยนะ ผมเป็นคนร่าเริงและมีชีวิตชีวามาก ๆ เลยล่ะ” ชู ซอง-ฮุน เผย

อนึ่ง สำหรับ ชู ซา-รัง ลูกสาวของคุณพ่อ ชู ซอง-ฮุน และคุณแม่ ชิโฮะ ยาโนะ อดีตนางแบบชื่อดังชาวญี่ปุ่น การปรากฏตัวของเธอบนหน้าสื่อในทุก ๆ ครั้งถึงขั้นมีบทวิเคราะห์ว่านี่เป็นหนึ่งในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีของคนสองประเทศไปโดยปริยาย  

ความสำเร็จของ The Return of Superman ชี้ให้เห็นได้จากรางวัลที่ได้รับมากมายจากการประกาศรางวัลตามงานสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ 

สำหรับ ชู ซอง-ฮุน เขายังคว้าความสำเร็จส่วนตัวในวงการบันเทิงด้วย รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมประเภทวาไรตี้โชว์ ของ KBS Entertainment Awards เมื่อปี 2014 ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ถือเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ส่งให้ ชู ซอง-ฮุน ปรากฏตัวผ่านวงการบันเทิง ตลอดจนโซเชียลมีเดียของคนดังมากมายในช่วงเวลาต่อจากนั้น 

อาทิ การเป็นส่วนหนึ่งของวาไรตี้ท่องเที่ยว “Now, Follow Me!” ซึ่งดำเนินรายการโดยมีคู่พ่อลูกทั้งสี่คู่ ไปจนถึงการเป็นคู่ซ้อมมวยให้ “จองกุก” หนึ่งในสมาชิกของบอยแบนด์ชื่อดัง ที่ว่ากันว่าเป็นสมบัติของชาติเกาหลีใต้ นาม “BTS” มาแล้ว เป็นต้น

จากที่เคยเผชิญเรื่องการถูกมองเป็นคนชายขอบที่มีเรื่องความต่างของสัญชาติมาเกี่ยวข้อง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในตอนนี้ ชู ซอง-ฮุน หรือ โยชิฮิโร อะกิยามา กลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญและเป็นที่เคารพยกย่องของทั้งคนเกาหลีใต้และญี่ปุ่น จากความสามารถอันเหลือล้นที่ได้จารึกให้เห็นจากทั้งวงการกีฬาศิลปะการต่อสู้และวงการบันเทิง 

ไม่ว่า ชู ซอง-ฮุน จะไปยืนอยู่ในจุดไหนในช่วงเวลาต่อจากนี้ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นช่วงเวลาที่น่าภาคภูมิใจที่เขาทำมันขึ้นมาด้วยตัวเอง

 

แหล่งอ้างอิง

http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2008/02/117_19819.html 
https://www.fightopinion.com/2008/01/01/the-story-of-choo-sung-hoon/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/Yoshihiro_Akiyama 
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Return_of_Superman_(TV_series) 
https://nextshark.com/yoshihiro-sexyama-akiyama-one-championship 
https://www.koreaboo.com/stories/physical-100-sexyama-choo-sung-hoon-hot-yoshihiro-akiyama/?fbclid=IwAR3V9oSt4inElrt_XnVJg0LcDV7buwjaLmB_o10AU0oHdn9yjgAkH8SYoOc&mibextid=Zxz2cZ 
https://www.mmafighting.com/2022/3/30/23003408/yoshihiro-akiyama-plans-to-fight-until-hes-50-wants-to-challenge-for-one-championship-title 
https://www.onefc.com/th/athletes/yoshihiro-akiyama/ 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น