อาการบาดเจ็บเป็นปัญหาใหญ่สำหรับวงการฟุตบอล และเคยพรากคนเก่ง ๆ ไปแล้วมากมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน แม้ว่า ณ เวลานี้เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การกีฬาจะก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก แต่ปัญหาอาการบาดเจ็บในฟุตบอลกลับไม่ลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ๆ เพราะจำนวนเกมการแข่งขันที่นักฟุตบอลต้องเผชิญ
ปัจจุบัน AI (ปัญญาประดิษฐ์) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการกีฬาอย่างฟุตบอล หลายสโมสรนำ AI มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทีมทั้งในแง่ของการแข่งขัน และการตลาด รวมถึงปัญหาอาการบาดเจ็บก็เช่นเดียว
วงการฟุตบอลกำลังผลักดันการพัฒนา AI เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอาการบาดเจ็บของนักเตะที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ AI จะเข้ามาบทบาทในการช่วยลดอาการบาดเจ็บของนักเตะได้อย่างไรบ้าง แล้วจะช่วยได้จริง ๆ หรือไม่ ติดตามเรื่องราวนี้ได้ที่ Main Stand
AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ในฟุตบอล
ในบรรดาลีกที่มีชื่อเสียง บุนเดสลีกาเยอรมัน ถือเป็นลีกแรกที่บุกเบิกการนำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกการมีส่วนร่วมของเหล่าแฟนบอลกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก เพื่อมอบประสบการณ์การรับชมและวางแนวทางคอนเท้นต์ให้ตรงกับความต้องการของแฟนบอลแต่ละคนมากที่สุด
AI ได้เข้ามามีบทบาทในการตอบสนองความต้องการของคอบอลเยอรมัน ตั้งแต่การวิเคราะห์มุมกล้องในสนามไปจนถึงประสบการณ์ส่วนตัวบนแอปพลิเคชันของแฟนบอล ทำให้หลังจากมีการนำ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจความสนใจของแฟนบอลอย่างจริงจัง แอปพลิเคชันบุนเดสลีกา บนมือถือมีอัตราการใช้เวลาอยู่ในแอป ต่อผู้ใช้หนึ่งราย เพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 23%
นอกจากการนำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดแล้ว AI ยังถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์การฝึกซ้อมของนักเตะ เพื่อให้ได้วิธีที่เหมาะสมกับผู้เล่นและวิธีการเล่นที่สุด
ด้วยการทำงานของ AI ที่ใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมที่ซับซ้อนและชุดข้อมูลจำนวนมาก ทำให้สามารถวิเคราะห์การเคลื่อนไหว และท่าทางของผู้เล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความเร็ว มุมมองการจ่ายและยิง การยืนตำแหน่ง อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ถึงจุดดี จุดอ่อนของผู้เล่นแต่ะคนได้
ต่างจากการฝึกซ้อมแบบดั้งเดิมที่อาศัยการใช้สายตาของมนุษย์และประสบการณ์ส่วนตัวในการดูและวิเคราะห์วิธีการเล่นของนักเตะแต่ละคน แม้ว่าวิธีนี้จะประเมินค่าไม่ได้ เพราะประสบการณ์ของเหล่าผู้ฝึกสอนที่สั่งสมมานานนั้นไม่อาจตีค่าออกมาเป็นตัวเลขให้เห็นกันชัด ๆ ได้ ว่ามีคุณค่าเพียงไหน แต่วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดเรื่องความแม่นยำ รวมไปถึงอารมณ์ร่วม และอคติส่วนตัว
ในทางกลับกัน AI ปราศจากความรู้สึก และอารมณ์ร่วมกับเหล่าผู้เล่น อีกทั้งยังให้ความแม่นยำที่สายตามนุษย์ไม่สามารถเทียบเคียงได้ แม้จะเป็นเพียงรูปแบบการเคลื่อนที่ ที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยก็ตาม การเข้ามาของ AI จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการฝึกซ้อม โดยทำงานร่วมกับมนุษย์
นอกจากการประมวลผลของ AI แล้ว อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่หลายสโมสรนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์การยิงฟรีคิก การยิงจุดโทษ การจ่ายบอล และการเล่นลูกตั้งเตะ คือ VR เชื่อว่าแฟนบอลหลายคนคงเคยเห็นภาพนักเตะในตอนฝึกซ้อมแล้วมีอุปกรณ์บางอย่างติดอยู่บนศีรษะ สิ่งนั้นคือ VR เป็นการจำลองสภาพแวดล้อมสามมิติเสมือนจริง เพื่อให้นักเตะได้ทดลองยิงและจ่ายบอล จากนั้นจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์เทคนิคการยิง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นลูกตั้งเตะ และการเล่นบอลยาวให้กับทีม
อาการบาดเจ็บของนักเตะที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
พรีเมียร์ลีกกำลังประสบวิกฤติการบาดเจ็บ ส่งผลให้ฤดูกาล 2023-24 ยอดรวมผู้เล่นที่มีอาการบาดเจ็บกลายเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก โดยมีผู้เล่นได้รับบาดเจ็บถึง 196 คน ในระยะเวลาเพียง 3 เดือนนับตั้งแต่เปิดฤดูกาล หลายทีมมีผู้เล่นพลาดลงเล่นเกิน 10 นัด ก่อนช่วงสิ้นปี 2023
จากการเปิดเผยข้อมูลของพรีเมียร์ลีก การบาดเจ็บในฤดูกาล 2023-24 โดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับ 4 ฤดูกาลที่ผ่านมา ตลอด 20 เกมแรก นิวคาสเซิล เสียผู้เล่นไป 16 คนจากอาการบาดเจ็บ และ 14 จาก 20 ทีมในลีกกำลังเผชิญกับปัญหาอาการบาดเจ็บของผู้เล่น 6 คนขึ้นไป
การเปลี่ยนกฎทดเวลาบาดเจ็บอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาการบาดเจ็บของผู้เล่นมีอัตราสูงขึ้น เพราะเกมการแข่งขันต้องเล่นกันเกิน 100 นาทีในทุกสัปดาห์ จึงอาจก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเหนื่อยล้าสะสมจนนำไปสู่การบาดเจ็บของนักเตะ
หรือต้นตอของอาการบาดเจ็บที่พุ่งสูงขึ้นอาจจะสืบเนื่องมาตั้งแต่การล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ตารางการแข่งขันต้องหยุดชั่วคราว บรรดานักเตะต้องฝึกซ้อมที่บ้านทำให้ศักยภาพลดลง เพราะการดูแลและควบคุมไม่ได้เข้มงวดเหมือนช่วงเวลาที่ต้องมาฝึกซ้อมที่สโมสร
หลังจากกลับมาแข่งได้อีกครั้ง นักเตะหลายคนก็ต้องเข้าสู่โปรแกรมทีมชาติระดับทวีปอย่างฟุตบอลยูโรต่อ และหลังจากนั้นไม่นานก็ตามมาด้วยฟุตบอลโลกในช่วงฤดูหนาว ที่คั่นกลางโปรแกรมลีก ทำให้นักเตะมีจำนวนแมตช์การแข่งขันเพิ่มขึ้นในหนึ่งฤดูกาล ดังนั้นผู้เล่นจึงไม่มีโอกาสได้พักผ่อนหรือฟื้นฟูสมรรถภาพของตนเองเท่าที่ควร
จากข้อมูลของ Howden บริษัทประกันภัยระดับโลกเปิดเผยว่า ค่าเฉลี่ยที่นักฟุตบอลพลาดลงสนามให้กับต้นสังกัด เนื่องจากอาการบาดเจ็บใน 5 ลีกใหญ่ยุโรป เพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก 11.35 วัน เป็น 19.41 วัน หลังจบฟุตบอลโลก 2022
นอกจากผลกระทบเรื่องผลงานในสนามแล้ว ค่าใช้จ่ายของสโมสรก็กระทบเช่นเดียวกัน เพราะแม้นักเตะจะได้รับอาการบาดเจ็บจนไม่สามารถลงสนามได้ แต่พวกเขายังคงได้ค่าเหนื่อยเหมือนเดิม อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จำนวนไม่น้อย ทำให้ผลกระทบทางการเงินโดยรวมในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022-23 อยู่ที่ 255.4 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 70.8 ล้านปอนด์จากฤดูกาล 2021-22
ฤดูกาล 2022-23 ของเชลซี มีนักเตะบาดเจ็บรวมกันถึง 68 ครั้ง เสียผลประโยชน์ทางการเงินไปกว่า 40.1 ล้านปอนด์ ซึ่งมากที่สุดในบรรดาสโมสรในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และจากอาการบาดเจ็บของนักเตะที่เป็นปัญหารบกวนการทำงานของกุนซือเชลซีตลอดทั้งฤดูกาล ผลงานของทีมจึงย่ำแย่ เพราะพวกเขาทำได้เพียงจบอันดับ 12 ของตารางไปอย่างน่าผิดหวัง
ในขณะที่ทีมแชมป์อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีอาการบาดเจ็บรวมกัน 40 ครั้ง ตีค่าความเสียหายเป็นเงินเพียง 11.9 ล้านปอนด์เท่านั้น จากความต่างของอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 ทีม Big 6 ในพรีเมียร์ลีก แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด และส่งผลต่อผลงานโดยตรง
และไม่ใช่เพียงแค่ในพรีเมียร์ลีกเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เพราะโดยรวมแล้วความเสียหายที่ตีออกมาเป็นเม็ดเงินจากปัญหาอาการบาดเจ็บของนักเตะในฤดูกาล 2022-23 จาก 5 ลีกใหญ่ยุโรป เพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2021-22 ถึง 27.3% จากเงิน 485.2 ล้านปอนด์ เป็น 617.8 ล้านปอนด์
อาการบาดเจ็บที่แฮมสตริง หรือกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง เป็นปัญหาหลักของนักเตะ จากข้อมูลของพรีเมียร์ลีกเมื่อฤดูกาล 2022-23 มีอาการบาดเจ็บแฮมสตริงเกิดขึ้น 26 ครั้ง ในขณะที่ฤดูกาลนี้เริ่มไปได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น แต่กลับมีตัวเลขจำนวนอาการบาดเจ็บบริเวณแฮมสตริงเพิ่มขึ้นเป็น 53 ครั้ง
“90% ของอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นที่แฮมสตริง นอกเหนือจากนั้นคืออาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อทั่วไป ปัญหาบริเวณโคนขาหนีบ หัวเข่า และข้อเท้า” เจสัน แม็คเคนนา หัวหน้าฝ่ายข้อมูลอาการบาดเจ็บของพรีเมียร์ลีกกล่าวกับ The Guardian
AI จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอาการบาดเจ็บได้อย่างไร
หลายสโมสรในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้ทดลองนำ AI มาใช้เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ เช่น ลิเวอร์พูล ได้นำ AI มาใช้เพื่อติดตามการฝึกซ้อม และการแข่งขัน เพื่อให้แน่ใจว่าการฝึกซ้อมเป็นไปอย่างถูกต้อง นักเตะมีความฟิตพร้อมลงเล่น และเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ได้รับบาดเจ็บ
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นำ AI มาวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของผู้เล่นในทุกท่วงท่าไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง กระโดด หรือยิง จากนั้นจึงให้ทีมแพทย์วิเคราะห์อีกครั้งว่ากล้ามเนื้อเหนื่อยล้ามากน้อยแค่ไหน หรือเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือไม่ หากพบว่าเสี่ยงทีมแพทย์จะไ้ด้เข้าไปแทรกแซงได้ก่อนที่จะเกิดการบาดเจ็บ
ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ได้รวม AI ไว้ในโปรแกรมฟื้นฟูร่างกาย ผู้เล่นที่ฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บจะได้รับการตรวจอย่างละเอียดโดยใช้ AI เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้รีบใช้งานนักเตะเกินไป จนเสี่ยงต่อการบาดเจ็บซ้ำ
แต่จากตัวเลขสถิติที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า ณ ตอนนี้ ฟุตบอลกำลังเผชิญกับอาการบาดเจ็บที่ทวีคูณความเสียหายมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาจะก้าวหน้ามากเพียงไหน และจะนำ AI มาช่วยแล้วก็ตาม แต่การพัฒนาระบบนั้นยังอยู่ในจุดเริ่มต้นเท่านั้น จึงไม่สามารถคาดหวังความแม่นยำ และประสิทธิภาพได้แบบ 100% ทำให้หลายสโมสรยังไม่สามารถรับมือกับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้
การพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวล้ำยิ่งขึ้นอีก เพื่อช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุด AI จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง โดยการช่วยให้เหล่าบรรดานักเตะต้องเผชิญกับอาการบาดเจ็บน้อยลง
ดร.ลี เฮอร์ริงตัน หัวหน้าด้านสุขภาพของนักกีฬาจาก UK Sports Institute และผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูอาการบาดเจ็บจากกีฬา กล่าวถึงการนำ AI มาใช้วิเคราะห์ เพื่อลดความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บว่า
“มนุษย์ไม่อาจคาดเดาอาการบาดเจ็บได้ วิธีที่จะใช้วิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และการตัดสินใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น AI จึงสามารถเข้ามาช่วยให้โค้ช และผู้เล่นมีข้อมูลมากขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกโปรแกรมการฝึกซ้อม และเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้”
AI สามารถวิเคราะห์เลือด ปัสสาวะ เหงื่อ คุณภาพการนอนหลับ และอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อได้ และแจ้งข้อมูลสภาพร่างกายโดยรวมของนักเตะให้ทีมแพทย์รับรู้ได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มานี้จะเป็นตัวช่วยสำหรับทีมแพทย์ และทีมโภชนาการของสโมสร เพื่อทำความเข้าใจ และดูแลสภาพร่างกายของนักเตะแต่ละคนอย่างเหมาะสม
ผู้เล่นแต่ละคนมีสภาพร่างกายที่ต่างกัน วิธีการดูแลจึงต่างกัน AI ทำงานด้วยระบบอัลกอริทึมที่ซับซ้อนมาก จึงสามารถวิเคราะห์วิธีการที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้เล่นแต่ละคนได้ เพราะหากโปรแกรมการฝึกซ้อมหนักเกินไป การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือโภชนาการด้านอาหารไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ
ในระหว่างการฝึกซ้อมและการแข่งขัน AI ยังสามารถนำข้อมูลที่เก็บได้มาวิเคราะห์ว่าผู้เล่นวิ่งไปเยอะแค่ไหน กล้ามเนื้อของนักเตะเหนื่อยล้าในระดับไหน การสูบฉีดเลือดของหัวใจมีประสิทธิภาพแค่ไหน หากข้อมูลที่ได้มาดูสุ่มเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ ทีมแพทย์และผู้ช่วยจะได้สั่งหยุด และเข้าไปดูแลนักเตะได้ทันเวลา ก่อนที่จะบาดเจ็บจริง ๆ
ไม่เพียงแค่แจ้งเตือนถึงความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บเท่านั้น AI ยังสามารถจัดโปรแกรมการฟื้นฟูร่างกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้เล่น และอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น โปรแกรมการฟื้นฟูที่ดีจะช่วยให้การฟื้นฟูร่างกายเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ สามารถสลัดอาการบาดเจ็บได้ตามเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเจ็บซ้ำ ที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวได้
อนาคตของ AI จะเป็นอย่างไรต่อ
“AI มีข้อจำกัด แต่มนุษย์ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ดังนั้น การทำงานร่วมกันของมนุษย์ และ AI จึงเป็นแนวทางที่ทรงพลังที่สุด” แดเนียล คาฮ์นะมัน นักจิตวิทยา เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าว
การเข้ามาของ AI จะมาสนับสนุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีมแพทย์ แม้ว่าตอนนี้ AI สำหรับแก้ปัญหาอาการบาดเจ็บของนักฟุตบอล จะยังอยู่ในช่วงเวลาของการเริ่มต้นเท่านั้น หมายความว่าในอนาคตยังพัฒนาต่อยอดได้อีก ดร.ลี เฮอร์ริงตัน ได้แนะแนวทางให้เหล่าทีมในพรีเมียร์ลีก เป็นผู้ริเริ่มการพัฒนา AI ขึ้นไปอีกขั้น โดยกล่าวว่า
“สิ่งที่เราต้องการคือ สโมสรในพรีเมียร์ลีกต้องแบ่งปันข้อมูลอาการบาดเจ็บโดยไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อนำไปใส่ในระบบประมวลผลและแชร์ผลลัพธ์ให้กับทุกทีม แต่ผมไม่รู้นะว่าพวกเขาจะเต็มใจทำแบบนี้ไหม แต่ถ้าไม่ทำ เราก็คงไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากปัญญาประดิษฐ์”
ในอนาคตหาก AI สามารถรวบรวมข้อมูลการบาดเจ็บของนักเตะได้จำนวนมากขึ้น ประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ก็จะเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ตัวเลขสถิติอาการบาดเจ็บในฟุตบอลลดลงได้ เพราะผลกระทบจากอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ไม่ได้มีเพียงความเจ็บปวด หรือการพลาดลงสนามเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสุขภาพโดยรวมและอายุงานในเส้นทางอาชีพนักฟุตบอล
นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกายแล้ว อาการบาดเจ็บแต่ละครั้งยังก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตของนักฟุตบอลอีกด้วย ดร.มิเซีย เกอร์วิส นักจิตวิทยากีฬา กล่าวว่า
“เมื่อเหล่านักกีฬาต้องห่างหายจากการเล่นกีฬาไปนาน ๆ ทำให้พวกเขารู้สึกต่อต้านและโกรธการบาดเจ็บและการฟื้นฟูของตัวเอง พวกเขาจะเริ่มกังวลตำแหน่งในการเล่นที่ถูกทดแทนโดยผู้เล่นคนอื่น และหากมีผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามาโดยที่ไม่รู้จักเขา ผู้จัดการทีมจะซื้อคนอื่นมาแทนเขาหรือไม่ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อนักกีฬาเริ่มคิดมากกับเส้นทางอาชีพของตัวเอง”
วิกฤตการบาดเจ็บในฟุตบอลจะยังคงส่งผลกระทบแบบโดมิโนต่อไปหากไม่ได้ใช้ AI เข้าไปแทรกแซง เมื่อมีนักเตะบาดเจ็บในแต่ละครั้ง พวกเขาจะมีความเจ็บปวด ต้องพลาดการลงสนาม สโมสรเสียผลประโยชน์จากการที่ไม่สามารถใช้งานนักเตะได้ ส่งผลกระทบต่อผลงานโดยรวม กระทบสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตในระยะยาวของนักเตะ
และนับวันตารางการแข่งขันฟุตบอลในยุโรปยิ่งแน่นขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในฤดูกาล 2024-25 รายการแข่งขันถ้วยยุโรปของยูฟ่าทั้งหมดจะเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันใหม่ แต่เดิมจะเตะรอบแบ่งกลุ่มเพียง 6 นัด แต่รูปแบบใหม่ต้องเตะกันถึง 8-10 นัด หากต้องเล่นเพลย์ออฟ ทำให้ตารางการแข่งขันแทบไม่มีช่วงว่างให้นักเตะได้พักร่างกายเลย และแน่นอนว่าการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลให้นักเตะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น
หาก AI ถูกพัฒนาระบบอย่างเร็วที่สุด ปัญหาอาการบาดเจ็บของนักเตะก็จะถูกแก้ไขอย่างเร็วที่สุด และลดผลกระทบแบบโดมิโนที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอล
แหล่งอ้างอิง
https://www.linkedin.com/pulse/how-can-ai-improve-performance-football-morgan-roberts-tldve
https://www.theguardian.com/sport/2024/jan/19/ai-innovation-premier-league-sports-injuries-hamstring
https://aegai.nd.edu/latest/does-artificial-intelligence-increase-human-athletic-performance/
https://www.linkedin.com/pulse/injury-prevention-through-ai-safeguarding-athletes-age-abougabal-uhrke
https://www.linkedin.com/pulse/how-ai-revolutionizing-football-performance-giovanni-sisinna
https://www.bbc.com/sport/football/67417862