Feature

ถอดกรณีศึกษาจาก “บิว-ภูริพล” : ทำไมทัพนักวิ่งไทยจึงสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ในเอเชียนเกมส์ | Main Stand

 

***ขอบคุณเครดิตภาพปกจาก THE STANDARD ***

การแข่งขันวิ่งในเอเชียนเกมส์ที่ผ่านมากลายเป็นประเด็นให้พูดถึงกันอย่างมาก หลังจากที่ “บิว” ภูริพล บุญสอน ยอดนักวิ่งทีมชาติไทย มีสภาพร่างกายไม่พร้อมสมบูรณ์จนต้องถอนตัวในการแข่งวิ่ง 200 เมตร และนำไปสู่การชวดเหรียญในประเภทผลัด 4x100 เมตร

 

Main Stand จึงถือโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาการกีฬาและการพัฒนาความสามารถนักกีฬา เพื่อร่วมวิเคราะห์และถอดบทเรียนเป็นกรณีศึกษาจากเหตุการที่เกิดขึ้น

ผู้เป็นคีย์แมนเบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาไทยมาแล้วมากมายท่านนี้ ทั้ง “บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย แชมป์โลกแบดมินตันคู่ผสม, “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ นักว่ายน้ำดีกรีเหรียญทองซีเกมส์ ฯลฯ จะมีความคิดเห็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่

 

โปรแกรมหนักทำแข่งไม่จบ ?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ภูริพล บุญสอน มีอาการบาดเจ็บระหว่างทัวร์นาเมนท์จนสภาพร่างกายไม่ฟิตเต็มร้อย

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในศึกซีเกมส์ ที่กัมพูชา ขณะกำลังลงแข่งวิ่ง 200 เมตร บิวเคยมีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อโคนขาซ้ายกระตุกและล้มลงจนทำให้แข่งไม่จบมาแล้ว

การบาดเจ็บครั้งนั้นทำให้เขาถอนชื่อจากอีเวนต์ที่เหลือ ซึ่งตนเป็นแชมป์เก่าประเภท 100 เมตร และผลัด 4x100 เมตร อีกทั้งเขายังต้องพักรักษาตัวอีกไม่ต่ำกว่า 1 เดือน

หลังอาการเริ่มฟื้นฟูขึ้นจนกลับมาวิ่งได้ ทางสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยได้ส่งบิวลงแข่งในศึกกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย ในเดือนกรกฎาคมทันที แต่เซฟร่างกายด้วยการไม่ส่งลงแข่งในระยะสั้น โดยเหลือเพียงประเภทเดียวคือประเภทผลัด 4x100 เมตร และช่วยให้ทีมคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ

ถัดมาอีก 2 เดือนเศษ บิวมีคิวลงแข่งในเอเชียนเกมส์ โดยถูกวางตัวชิงชัยถึง 3 ประเภท ทั้ง 100 เมตร, 200 เมตร และผลัด 4x100 เมตร ก่อนที่ผลการแข่งขันจะออกมาอย่างที่ทุกคนได้เห็น 

ในระยะ 100 เมตร สภาพร่างกายของบิวถือว่าสมบูรณ์พร้อมที่สุดและสามารถคว้าเหรียญเงินมาครองได้สำเร็จ ทว่ารายการที่เหลือหากเขาลงแข่งตามโปรแกรมที่วางไว้ก็จะต้องลงแข่งติดต่อกันทุกวัน และยังต้องวิ่งวันละ 2 รอบ จนนำมาสู่การยอมปล่อยจอยวิ่งไม่จบ (DNF) ในระยะ 200 เมตร ทั้งที่วิ่งรอบคัดเลือกมาแล้ว

เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ยอมรับว่ามีอาการตึงกล้ามเนื้อเล็กน้อยบริเวณจุดเดิมที่เคยบาดเจ็บ หลังจากใส่เต็มวิ่งถึง 3 รอบในระยะ 100 เมตรมาก่อนหน้า เลยเซฟแรงเพื่อรอแข่งผลัด 4x100 เมตรทีเดียว 

คำถามก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นที่ทำให้บิวรวมถึง “ต้า” สรอรรถ ดาบบัง ยอมทิ้งสถิติและตั้งใจออกสตาร์ทฟาวล์ในการแข่ง 100 เมตร ถอนตัวจากการแข่ง 200 เมตร และไม่สามารถลงแข่งครบตามโปรแกรมที่วางไว้แต่แรกได้นั้นเกิดจากปัจจัยใด

โปรแกรมอัดแน่นเกินไป ? ร่างกายไม่พร้อมพอสำหรับแข่งทุกรายการ ? หรือเพราะอาการเจ็บเกิดขึ้น ? 

เรื่องนี้ ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ได้วิเคราะห์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ

“โดยหลักของการแข่งขัน เรื่องการจัดโปรแกรมแข่งและกฎกติกาต่าง ๆ ก็มาจากหลักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เช่น ในเรื่องของความเร็วที่ต้องมีเวลาพักอย่างน้อยเท่าไรร่างกายจึงจะมีการชดเชยและฟื้นสภาพได้เพียงพอ ซึ่งเป็นแม่บทจากโอลิมปิกอยู่แล้วที่ต้องการให้นักกีฬาได้แสดงศักยภาพได้เต็มความสามารถ”

“โปรแกรมที่ออกมาจึงถูกออกแบบมาแล้วและมีการปรับให้เหมาะสมอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับทีมโค้ชว่าจะประเมินสภาพร่างกายของนักกีฬาอย่างไรให้เหมาะสม” ศ.ดร.เจริญ ระบุ

แล้วถ้าตัดปัจจัยเรื่องโปรแกรมออกไป สิ่งที่ต้องวิเคราะห์กันต่อก็คือสภาพร่างกายของนักกีฬาว่าแท้จริงแล้วมีความพร้อมมากน้อยขนาดไหน

 

ความพร้อมของร่างกายไม่เพียงพอ ?

“ตามหลักของวิทยาศาสตร์ ถ้าโปรแกรมการซ้อมดีมันต้องไม่นำมาซึ่งปัญหาอาการบาดเจ็บ” ศ.ดร.เจริญ เกริ่นนำ

ในกรณีของบิวนั้น ศ.ดร.เจริญ ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่ามาจากสาเหตุอะไรเนื่องจากเขาไม่ได้เป็นผู้ดูแลรายละเอียดให้กับตัวนักกีฬาโดยตรง ซึ่งต้องวิเคราะห์ด้วยหลายปัจจัย

อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรืออาการกล้ามเนื้อกระตุกขณะที่ใช้ความเร็วเต็มที่นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ โดยอาจจะมาจากการวอร์มไม่ดี หรือสภาพอากาศ-สภาพแวดล้อมต่างจากที่เคยซ้อมทำให้ร่างกายยังปรับไม่ได้ 

ศ.ดร.เจริญ เผยต่อว่าแม้อาการบาดเจ็บเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีวิธีเตรียมความพร้อมในการรับมือเพื่อลดความเสี่ยงของโอกาสในการเกิด โดยสิ่งสำคัญคือต้องเริ่มต้นอย่างถูกวิธีตั้งแต่วัยเด็ก

“ต้องย้อนไปดูก่อนที่เขาจะมาถึงจุดนี้ ตั้งแต่อายุ 13-15 ปี ว่าโค้ชที่ดูแลเขาตั้งแต่เริ่มต้นได้วางโครงสร้างรากฐานดีแล้วหรือยัง”

“นักกีฬาไทยส่วนใหญ่จะข้ามขั้นตรงนี้ เราเก่งเร็วแต่มักจะมีปัญหาตรงนี้ตลอด โค้ชมาถึงก็ใส่กันเลย เด็กก็เก่งเร็ว แต่โครงสร้างรากฐานไม่แข็งแกร่งพอ เราเสียนักกีฬาดี ๆ ในขั้นนี้เยอะมาก แล้วถ้าโค้ชไม่เข้าใจและยยังพยายามเร่งเด็กอยู่ตลอดมันก็พัง”

“ตามหลักที่ใช้สร้างนักกีฬาที่ทำอยู่จะไม่เน้นให้เด็กลงแข่งขันบ่อย แต่จะเน้นให้ฝึกในลักษณะจำลองเหตุการณ์ ให้เด็กได้สร้างพื้นฐานการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง แล้วสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรองรับ ไม่ต่างจากการสร้างตึกอาคาร จะต่อเติมในอนาคตได้ก็ต้องมีรากฐานที่แน่น”

“การสร้างกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งมันมีหลายระดับไม่ใช่แค่เวตเทรนนิง เราสามารถ Bodyweight Exercises, Elastic Training หรือใช้แรงดึงดูดของโลก เช่น วิ่งขึ้นเนินลงเนินช่วยก็ได้ เพราะถ้าเล่นเวตอย่างเดียวทุกอย่างมันจะช้าหมด ความสัมพันธ์ในด้านการเคลื่อนไหวมันจะเสียหมด”

“เราชอบซ้อมกำลังความเร็วโดยที่ไม่มีความแข็งแรง มันก็จะนำมาซึ่งปัญหาอาการบาดเจ็บได้ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือตัวความแข็งแรงเนี่ยเมื่อถึงจุดหนึ่งเราสามารถเปลี่ยนมันเป็นกำลังและความเร็วได้” ศ.ดร.เจริญ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาการกีฬาชั้นนำของไทยยังเชื่อว่า การสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อที่ถูกวิธีจะทำให้นักกีฬาพัฒนาศักยภาพได้สูงขึ้น รวมถึงตัวบิวที่หลายคนมองว่ามีปัญหาช่วงการออกสตาร์ทด้วยเช่นกัน

 

บิวออกตัวช้า ?

ภาพที่หลายคนเห็นแทบทุกครั้งยามที่ภูริพลลงแข่งขันก็คือการเค้นฝีเท้าวิ่งแซงคู่แข่งคนแล้วคนเล่าเข้าเส้นชัย ซึ่งมีแฟนกีฬาหลายคนคอมเมนต์ไปในทิศทางเดียวกันว่า บิวออกตัวได้ไม่ดี หากออกสตาร์ทได้ดีกว่านี้ก็น่าจะทำเวลาได้ดีขึ้นอีก

ยิ่งเทียบกับ เซี๊ยะ เซิน เหย่ คู่แข่งเจ้าของเหรียญทองจากจีน ที่ดวลกันลู่ต่อลู่มาตั้งแต่รอบคัดเลือก ภาพยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก เพราะหนุ่มจากแดนมังกรแทบจะนำม้วนเดียวจบตั้งแต่ออกสตาร์ทจนเข้าเส้นชัย

ในเรื่องนี้ ศ.ดร.เจริญ มองว่าหากมีการฝึกกล้ามเนื้อแล้วสามารถบริหารจัดการได้อย่างถูกวิธีก็มีโอกาสที่จะทำความเร็วได้ดีขึ้น

“หลายคนบอกว่าบิวออกตัวช้า จริง ๆ ไม่ได้ช้าหรอก ถ้าดูจากรีแอ็กชั่นตอนออกบล็อกสตาร์ท เพียงแต่อัตราการเร่ง Accelerate Speed (สปีดต้น) เขาต่ำมาก ช่วง 30-40 เมตรแรกเขาขึ้นได้ช้ามาก ดีที่เขามีแรงปลายดีมาก”

“ดังนั้นต้องกลับมาดูว่าความแข็งแรงและกำลังกล้ามเนื้อที่จะเซตออกมาเป็นกำลังการเคลื่อนไหวเนี่ยเพียงพอไหม เวลาเราฝึกกล้ามเนื้อคือการเอาแรงไปเก็บในกล้ามเนื้อ เหมือนเราเอาแรงไปฝากออมสิน พอเราได้ความแข็งแรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการแล้ว มันก็ต้องมีวิธีการกระตุ้นแล้วดึงแรงออกมาใช้”

“ต้องมาเรียนรู้ในเรื่องการใช้แรงถีบยันเท้าแล้วเอาแรงออกมาใช้ ซึ่งจะมีแบบฝึกอีกหลากหลายขั้นตอนสำหรับการถ่ายแรงออกมาใช้ในการเคลื่อนที่และการเคลื่อนไหว ไม่ใช่จับวิ่ง ๆ อย่างเดียว เราสามารถฝึกด้วยการเล่นมูฟเมนต์ยิมนาสติกง่าย ๆ เช่น ม้วนตัวกระโดด เคลื่อนที่กระโดด ที่จะช่วยเพิ่มอัตราเร่งของการถีบเท้า”

“ออกสตาร์ทเร็วขึ้นก็ลดเวลาได้ มีอัตราเร่งสูงขึ้นก็ลดเวลาได้ มันต้องมองให้ออกว่าจุดไหนที่จะช่วยลดเวลาได้ และจุดนั้นจะซ้อมอย่างไร ไม่ใช่ตะบี้ตะบันซ้อมหนัก ซ้อมมาก ซ้อมนาน แล้วคิดว่าเวลามันจะลด มันจะลดได้ตรงไหน” ศ.ดร.เจริญ ทิ้งท้าย

นี่คือบทวิเคราะห์บางส่วนจากผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาการกีฬาที่คร่ำหวอดในวงการกีฬาไทยมาหลายสิบปี ซึ่งน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้แก่การพัฒนาศักยภาพนักวิ่งและนักกีฬาไทยได้อย่างดีในอนาคต

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น