Feature

เวมบลีย์ สเตเดียม : สนามกีฬาเอนกประสงค์ ที่ใช้จัดการแข่งขันกีฬาและคอนเสิร์ตได้อย่างลงตัว | Main Stand

หากเอ่ยถึงชื่อของสนามกีฬาที่มีอัฒจันทร์โดยรอบ หรือที่เรียกว่า “สเตเดียม (Stadium)” ที่โด่งดังมากที่สุดที่หนึ่งบนโลก ชื่อของสนามกีฬาเวมบลีย์ (Wembley stadium) ย่อมถูกยกขึ้นมาเป็นชื่อแรก ๆ 

 


นั่นเพราะเวมบลีย์เป็นสถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์และมีช่วงเวลาที่น่าจดจำมาเป็นเวลาเกือบศตวรรษ สนามแห่งนี้ไม่ได้มีภาพจำแค่เรื่องจัดการแข่งขันฟุตบอลที่เปรียบเสมือนเป็นกีฬาแห่งชาติของอังกฤษเท่านั้น แต่ยังใช้จัดชนิดกีฬาอื่น ๆ ตลอดจนงานคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อก้องโลกมาแล้วนักต่อนัก

ไล่มาตั้งแต่เอฟเอคัพ นัดชิงชนะเลิศ ครั้งแรกที่นี่ ในปี 1923 ไปจนถึงวันที่ บ็อบบี้ มัวร์ ชูถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 หรือแม้แต่อภิมหาคอนเสิร์ต Live Aid ที่มีศิลปินชื่อดังมาเล่นเมื่อปี 1985 ฯลฯ 

สนามกีฬาเวมบลีย์ใช้จัดงานสองแวดวงที่ต่างกันนี้ได้อย่างไร ติดตามไปพร้อม ๆ กันได้ที่ Main Stand

 

ปฐมบท

แม้จะไม่ใช่สเตเดียมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ทว่าเวมบลีย์ก็ก่อตั้งมาเป็นเวลาเกือบครบศตวรรษเข้าไปแล้ว

เวมบลีย์เก่า (Old Wembley) ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่  28 เมษายน 1923 นั่นหมายความว่าในปี 2023 สนามกีฬาแห่งชาติของอังกฤษนี้จะก่อตั้งมาครบ 100 ปีพอดิบพอดี

เดิมทีพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของสวนสาธารณะเวมบลีย์ (Wembley park) และเคยเป็นพื้นที่เล่นฟุตบอลในย่านนั้นมาก่อน โดยวัตถุประสงค์แรกเริ่มของสถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดนิทรรศการจักรวรรดิบริติช (British Empire exhibition) โดยรัฐบาลอังกฤษ ในปี 1924-1925 โดยงบประมาณการก่อสร้างในตอนนั้น อยู่ที่ 750,000 ปอนด์ แล้วเสร็จภายใน 300 วันก่อนจัดแสดง

นั่นทำให้ชื่อเดิมของที่นี่เคยใช้ชื่อว่า British Empire exhibition stadium หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เอ็มไพร์ สเตเดียม (Empire stadium)” 

อย่างที่คอฟุตบอลทราบกันดี อังกฤษเป็นประเทศที่กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมจากคนทุกชนชั้นของประเทศ ทั้งยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้กำหนดกฎและกติกาการแข่งขันขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว กอปรกับมีรายการแข่งขันที่ชื่อ “เอฟเอ คัพ” ซึ่งว่ากันว่าเป็นถ้วยฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดของโลก

ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากที่ เอ็มไพร์ สเตเดียม ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมความจุที่รองรับผู้ชมในสนามยุคนั้นได้ถึงหลักแสนคน 

ปฐมฤกษ์ของการใช้สนามดังกล่าวคือการจัดการแข่งขันเอฟเอคัพ นัดชิงชนะเลิศ ในปี 1923 ระหว่าง โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส กับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ซึ่งผลการแข่งขันเป็น เดอะ ทร็อตเตอร์ เอาชนะ เดอะ แฮมเมอร์ส ไป 2-0

และนั่นก็ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ “สนามแตก” เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญยุคแรกของเวมบลีย์ที่ใครหลายคนต้องพูดถึง เนื่องด้วยมวลชนชาวอังกฤษที่แห่เข้ามากันล้นหลามจนเกมต้องล่าช้าออกไป จนถึงขั้นเรียกชื่อนัดตัดสินแชมป์ในปีนั้นว่า ‘White Horse Final’ 

นั่นเพราะตำรวจม้าต้องลงไปจัดระเบียบฝูงชนที่ทะลักเข้าไปยังผืนสนามนั่นเอง

อย่างไรก็ดี แม้อีเวนต์แรกที่ เอ็มไพร์ สเตเดียม จะเปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ ทว่าพอจบนิทรรศการในช่วง 1-2 ปีต่อจากนั้น สถานที่แห่งนี้เกือบจะถูกทุบทิ้งตามข้อตกลงเดิม แต่ถึงกระนั้นด้วยความตั้งใจแต่เดิมของ เซอร์เจมส์ สตีเวนสัน (Sir James Stevenson) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดนิทรรศการ ที่เป็นผู้แนะนำว่าไม่ควรจะทุบสนามทิ้ง ควรให้สเตเดียมแห่งนี้ยังคงอยู่ต่อไป 

สตีเวนสันมองเห็นถึงความสำคัญว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่แข่งขันฟุตบอลมาตั้งแต่ทศวรรษ 1880 แล้ว อีกทั้งสถานที่โดยรอบยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของชนชาวลอนดอน

ก่อนที่บริษัท “Wembley Stadium and Greyhound Racecourse Company” หรือชื่อสั้น ๆ ว่า บริษัทเวมบลีย์ โดย อาร์เธอร์ อัลวิน (Arthur Elvin - ต่อมาได้รับยศเป็นเซอร์) จะระดมทุนจนมีเม็ดเงินเข้ามาดูแลสถานที่แห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป 

หนึ่งในนั้นคือการระดมทุนผ่านจัดการแข่งขันวิ่งสุนัขเกรย์ฮาวด์ดังชื่อเต็มของบริษัท เหตุเพราะเจ้าตูบสายพันธุ์นี้มีความปราดเปรียวและวิ่งเร็วที่สุดสายพันธ์ุหนึ่งในโลก และเคยมีการแข่งขันลักษณะนี้มาแล้วที่อังกฤษก่อนจะได้รับความนิยมที่สหรัฐอเมริกา

จากที่เกือบจะถูกรื้อถอนแบบถาวรก็กลายมาเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเบาและที่อยู่อาศัยของผู้คน เอ็มไพร์ สเตเดียม หรือชื่อใหม่ในเวลาต่อมาอย่างเวมบลีย์ ยังไม่ถูกลบไปจนเหลือแต่ความทรงจำ

เวลาต่อจากนั้น สถานที่แห่งนี้ถูกใช้งานทั้งที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬา ตลอดจนวงการบันเทิง สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ต่อโลกมามากมาย

 

สนามกีฬาเอนกประสงค์

แม้ เวมบลีย์ สเตเดียม จะมีภาพจำถึงความเป็นสนามฟุตบอลที่โอ่อ่า เป็นสนามฟุตบอลแห่งชาติของอังกฤษที่ทีมชาติอังกฤษลงเล่นหลักในฐานะเจ้าบ้าน หนึ่งในโมเมนต์สำคัญคือการชูถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกและครั้งเดียวในเวลานี้ เมื่อปี 1966 

ไปจนถึงเกมลูกหนังนัดสำคัญ ๆ ในระดับสโมสร เช่น นัดตัดสินแชมป์เอฟเอคัพ แชมป์ลีกคัพ เกมตัดสินโควตาเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดของทีมเพลย์ออฟจากลีกรอง เป็นต้น

แต่นั่นก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะจุดประสงค์จริง ๆ ของเวมบลีย์ไม่ได้มีขึ้นเพื่อจัดแข่งเกมลูกหนังเพียงอย่างเดียว

ด้วยการที่เวมบลีย์เป็นสนามกีฬาประเภท “สนามกีฬาเอนกประสงค์ (Multi-purpose stadium)” กล่าวคือ เป็นสนามที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาหลายชนิด มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รองรับทั้งผู้ชมไปจนถึงบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขัน 

ยิ่งไปกว่านั้น ความหมายของสนามกีฬาเอนกประสงค์ยังรวมถึงการถูกใช้เป็นสถานที่จัดมหรสพ ไปจนถึงกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับมวลชนมหาศาลด้วยอีกทาง

เวมบลีย์ หรือ เอ็มไพร์ สเตเดียม เป็นสนามกีฬาเอนกประสงค์มาตั้งแต่ยุคแรกของการก่อตั้ง เห็นได้จากตัวอย่างที่ไล่มาตั้งแต่การจัดศึกเอฟเอ คัพ นัดชิงชนะเลิศ 1923 ซึ่งเป็นช่วงที่สนามถูกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ จากนั้นก็ใช้จัดงานงานนิทรรศการของชาติ ไปจนถึงการแข่งวิ่งของสุนัขพันธ์ุเกรย์ฮาวด์ ฯลฯ

เวลาล่วงเลยมา เวมบลีย์ยังคงใช้จัดการแข่งขันกีฬาที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง ไล่มาตั้งแต่การเป็นหนึ่งในสนามหลักของมหกรรมโอลิมปิก 1948 รวมถึงปี 2012 ที่ลอนดอนเป็นเจ้าภาพ, การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล (NFL), การแข่งขันรักบี้ลีกและรักบี้ (ยูเนี่ยน), เวิลด์คัพ รอบชิงชนะเลิศ ปี 2015 ตลอดจนการดวลกันของสองยอดมวยแอนโทนี่ โจชัว กับ วลาดิเมียร์ คลิทช์โก้ เมื่อปี 2017 เป็นต้น

ดังที่เกริ่นไปก่อนหน้า เพราะความเอนกประสงค์ของสถานที่ เวมบลีย์จึงไม่ได้รองรับแค่การจัดการแข่งขันกีฬาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตด้วย เหมือนกับสนามกีฬาเอนกประสงค์อื่น ๆ ที่เคยจัดงานลักษณะนี้มาก่อน ซึ่งผลคือได้รับการตอบรับที่ดี

สำหรับจุดเริ่มต้นของการนำศิลปินมาทำการแสดงต่อหน้าแฟน ๆ ในรูปแบบของคอนเสิร์ต ผ่านการใช้สนามกีฬาเกิดขึ้นในปี 1965 เมื่อ The Beatles เดินทางมาทัวร์ที่สหรัฐอเมริกา 

ซิด เบิร์นสไตน์ โปรโมเตอร์ที่ได้รับการนิยามว่าเป็นตำนานของวงการเพลงสากล มีความคิดอยากใช้สนามกีฬาเอนกประสงค์ในรูปแบบของเวทีกลางแจ้งแบบเดียวกับ เชีย สเตเดียม (Shea Stadium) ของทีมเบสบอลนิวยอร์ก เม็ตส์ ที่ใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตของวงดนตรี “สี่เต่าทอง”

แม้จะต้องแลกด้วยปัญหาและคุณภาพเรื่องเสียง เนื่องด้วยการจัดในพื้นที่เปิดและแฟนเพลงที่เข้ามาดูกว่า 56,000 คนที่พร้อมใจส่งเสียงกึกก้อง แน่นอนว่าผู้ชมบางส่วนไม่ได้ยินเสียงศิลปินกลุ่มที่ตนชื่นชอบแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่ศิลปินเองก็อาจจะไม่ได้ยินเสียงร้องของตัวเอง ตลอดจนเสียงดนตรีที่บรรเลงไปแบบ 100%

ทว่านี่กลับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการแสดงดนตรีกลางแจ้ง ผู้จัดกวาดรายได้มากกว่าการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ในพื้นที่ปิด ซึ่งถูกจำกัดเรื่องพื้นที่ ทำให้ผู้ชมถูกจำกัดลงไปด้วย 

 

4 ปีต่อมา เวมบลีย์ สเตเดียม ถูกใช้จัดงานดนตรีขึ้นเป็นครั้งแรกเช่นกัน ถึงแม้จะมีข้อครหาเรื่องการจัดคอนเสิร์ตพื้นที่โล่งแจ้งอยู่บ้าง ทว่าครั้งหนึ่งในปี 1985 กลับมีภาพจำที่ชวนทึ่งกลบเสียงวิจารณ์ดังกล่าว กับงานคอนเสิร์ต Live Aid ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตระดมทุนบริจาคให้กับผู้ยากไร้ในทวีปแอฟริกา 

ว่ากันว่ามีแฟน ๆ เดินทางเข้ามาชมงานในสนามกว่า 70,000 คน และยังไม่นับแฟน ๆ ทางบ้านกว่าหนึ่งพันล้านคนจาก 110 ประเทศที่เฝ้าชมการถ่ายทอดสด ทุกคนพร้อมใจกันเข้ามาชมโชว์ของศิลปินระดับท็อปกว่า 75 ชีวิต ทั้ง พอล แมคคาร์ทนีย์, เอลตัน จอห์น รวมไปถึงวง Queen ที่มีนักร้องนำขวัญใจมหาชนอย่าง เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ เป็นส่วนหนึ่งของงาน

ท้ายสุดแล้ว มีความเห็นว่างานคอนเสริตดังกล่าวถูกยกย่องเป็นหนึ่งในโชว์ดนตรีที่ดีที่สุดงานหนึ่งเท่าที่เคยจัดมา

ล่วงเลยมาจนถึงการปรับปรุงจากเวมบลีย์เก่าสู่เวมบลีย์ใหม่ สนามกีฬาเอนกประสงค์แห่งนี้ถูกใช้จัดงานคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลกที่สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามาขึ้นโชว์ในทุก ๆ ปี 

แฟนเพลงมีโอกาสได้เห็น บียอนเซ่ โนวส์ ศิลปินจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงบอยแบนด์ดังเกาหลีใต้อย่าง BTS เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาขึ้นเวทีใหญ่บนเกาะอังกฤษ หรือแม้แต่การขึ้นโชว์ในประเทศบ้านเกิดของเหล่านักร้องชื่อดัง เช่น เอ็ด ชีแรน ไปจนถึง แฮร์รี่ สไตลส์ เป็นต้น

และในเวลาเดียวกัน เวมบลีย์ก็ยังคงถูกใช้จัดการแข่งขันกีฬาควบคู่กันไปอยู่เช่นเคย

เนื่องด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บวกกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่สนามแห่งนี้ทำอยู่เรื่อยมา นั่นคือการ “อัปเกรด” เพื่อความทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ

 

อัปเกรดให้ทันสมัยอยู่เรื่อย ๆ

เพราะเป็นสนามกีฬาเอนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่ใช้จัดงานสำคัญ ๆ มานักต่อนัก และเพื่อรับรองสิ่งดังกล่าวทำให้เวมบลีย์ได้รับการปรับปรุงอยู่เสมอ 

ไล่มาตั้งแต่ปี 1955 ได้มีการนำไฟฟลัดไลต์ (Flood Light) หรือไฟที่ใช้สำหรับพื้นที่นอกอาคารหรือที่ที่ต้องการแสงสว่างมาก ๆ มาติดตั้ง จากนั้นอีก 8 ปีถัดมาก็เปลี่ยนมาใช้สกอร์บอร์ดไฟฟ้า ส่วนหลังคาบนอัฒจันทร์รอบสนามก็เปลี่ยนมาใช้อะลูมิเนียมและกระจกโปร่งแสง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ภายหลังในยุคที่การบริหารเปลี่ยนมือมาเป็นสมาคมฟุตบอลอังกฤษก็ได้มีแนวคิดสู่การปรับปรุงสนามขนานใหญ่ จากที่เคยคงความเก่าแก่ คลาสสิก คงรูปทรงโบราณ ดังภาพจำหอคอยคู่ (Twin Towers) บริเวณทางเข้าสนาม

30 กันยายน 2002 คือวันเวมบลีย์เก่าถูกทุบทิ้งเพื่อเนรมิตรสนามใหม่บนพื้นที่เดิม แน่นอนว่ามนต์ขลังและอัตลักษณ์การเป็นสนามกีฬาเอนกประสงค์ยังคงอยู่ ทว่าสิ่งที่จะรองรับความยิ่งใหญ่ในอนาคตคือการปรับปรุงเพื่อความทันสมัย สอดรับกับกระแสโลกและเทคโนโลยีที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

นิว เวมบลีย์ (New Wembley) มีกำหนดสร้างในระหว่างปี 2003-2007 ด้วยงบประมาณราว 789 ล้านปอนด์ หรือตีเป็นค่าเงินปัจจุบันที่ 1.27 พันล้านปอนด์ กลับมาเปิดใช้ทางการอีกครั้งในวันที่  9 มีนาคม 2007

สนามกีฬาเอนกประสงค์แห่งชาติแห่งใหม่นี้เปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่อย่างเห็นได้ชัด สัญลักษณ์เดิมจากหอคอยคู่ (Twin Towers) แปรเปลี่ยนมาเป็นสถาปัตยกรรมเสาโค้งรูปครึ่งวงกลม (Arc) อยู่เหนือกลางสนาม

ความจุเดิมจากที่ไม่ได้จัดเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนสำหรับงานอีเวนต์ต่าง ๆ ก็มีการจัดสัดส่วนของประเภทมหรสพไว้อย่างชัดเจน เช่น จุผู้ชมฟุตบอลได้ 90,000 คน จุผู้ชมคอนเสิร์ตทั้งบัตรนั่งและยืนแตะหลักแสนคน เป็นต้น

ยังไม่นับการอัปเกรดรายละเอียดยิบย่อยโดยทีมสถาปนิก วิศวกร และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาปรับโฉม ทั้งเรื่องการออกแบบไปจนถึงวิศวกรรมในทุก ๆ ภาคส่วนของสนาม เช่น การออกแบบหลังคาของสนามที่สามารถเปิดปิดได้ด้วยระบบรางและฟันเฟือง เพื่อรองรับทั้งสภาพอากาศของประเทศ ไปจนถึงความเหมาะสมของงานต่าง ๆ 

ตลอดจนการดูแลผืนสนามหญ้าให้ตรงตามมาตรฐานระดับ 5 ดาว จากการรับรองของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ที่ต้องมีการรดน้ำ อากาศไหลเวียน และมีแสงแดดส่อง ฯลฯ 

ซึ่งเวมบลีย์ก็เพิ่งจะปรับปรุงสนามหญ้าใหม่ทั้งหมด ชนิดที่มีทีมงานสลับสับเปลี่ยนเข้ามาดูแลตลอด 24 ชั่วโมงภายใน 7 วัน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2019 ถึงกุมภาพันธ์ 2020

หรือแม้แต่การปรับปรุงเพื่อสอดรับกับงานคอนเสิร์ต จากอดีตที่ทีมปรับปรุงได้มีการศึกษาว่ามีบางจุดของพื้นที่สนามเก่าที่มีปัญหาเรื่องเสียงสะท้อนมาอัดรวมกันอยู่ที่เดียว บางส่วนของสนามก็อยู่ในจุดอับเสียง 

โดยเวมบลีย์ใหม่ได้มีการแก้ปัญหาในจุดนี้ หนึ่งในนั้นคือการออกแบบหน้าต่างสำหรับห้องกระจกภายในสนามในลักษณะมุมเบี่ยง เพื่อไม่ให้คลื่นเสียงสะท้อนใส่กันไปมาทั้งสี่ด้าน และเสียงจะกระจายออกไปทุกทิศทางของสนามแทน

เช่นเดียวกับสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อย่างห้องน้ำ ว่ากันว่าเวมบลีย์มีโถสุขภัณฑ์รองรับแฟน ๆ กว่า 2,618 โถ มากกว่าทุกสเตเดียมบนโลก แถมยังสามารถจ่ายน้ำออกได้แบบไม่มีสะดุด 

เพราะด้านใต้ของสนามมีถังน้ำขนาดใหญ่ที่บรรจุน้ำถึง 740,000 ลิตร คอยรองรับห้องนํ้า ร้านอาหาร จุดบริการอาการและเครื่องดื่ม รวมถึงบาร์ที่รองรับแฟน ๆ กว่า 700 จุด

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งสำคัญที่สนามกีฬาเอนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะอังกฤษแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสนามที่ดีที่สุดบนโลก นั่นคือการอัปเกรดทั้งตัวสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับเกมกีฬารวมทั้งงานคอนเสิร์ตได้อย่างลงตัวและยั่งยืน 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.wembleystadium.com/about/stadium-facts-and-features 
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-5664331/Wembley-played-host-huge-range-sporting-events-years.html 
https://sportsvenuebusiness.com/2023/01/15/wembley-stadium-prepares-to-celebrate-its-100th-anniversary/ 
https://archello.com/project/wembley-stadium 
https://www.dailymotion.com/video/x3jg8gl 
https://web.archive.org/web/20090502015057/http://www.wembleystadium.com/StadiumHistory/historyIntroduction 
https://www.engadget.com/2014-09-23-wembley-stadium-ee.html 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น