“หรือเป็นเพราะเลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า ต้องเปลี่ยนเบอร์โทรสักทีหรือเปล่า ขอแค่ให้ฉันมีคนมารักหน่อยได้ไหม ไม่โสดอีกแล้วได้เปล่า”
นี่คือเนื้อร้องส่วนหนึ่งจากเพลง “เลือดกรุ๊ปบี” ของ เอิ๊ก ชาลิสา อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ที่ถูกปล่อยออกมาให้ทุกคนได้ฟังกันเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 และได้กลายไปเป็นเพลงฮิตติดหูสำหรับใครหลาย ๆ คน ด้วยเนื้อเพลงที่โดนใจเหล่าคนโสดและร้องตามได้ง่าย
โดยเนื้อหาของเพลงดังกล่าวพูดถึงสาเหตุของการที่คน ๆ หนึ่งยัง “โสด” อยู่นั้น อาจเป็นเพราะเรื่องของ “กรุ๊ปเลือด” ก็เป็นได้ ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ว่า กรุ๊ปเลือดสามารถบ่งบอกนิสัยหรือพฤติกรรมของแต่ละคนได้
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้แค่กับเรื่องของความรักเพียงอย่างเดียว แต่ฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นเองก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยว่าคัดเลือกนักกีฬาเข้าทีมโดยใช้กรุ๊ปเลือดเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกด้วยเหมือนกัน
เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น ? ติดตามไปพร้อมกับเรา Main Stand
กรุ๊ปเลือด กับ คนญี่ปุ่น
เท้าความก่อนว่า เรื่องกรุ๊ปเลือดนั้นได้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1900 โดยแพทย์ชาวออสเตรียนามว่า คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ ซึ่งตอนนั้นเขาทำงานให้กับ สถาบันพยาธิวิทยากายวิภาคของมหาวิทยาลัยเวียนนา (มหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งเวียนนา ในปัจจุบัน) ลันด์สไตเนอร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนผสมของเลือดจากคนปกติสามารถจับกลุ่มกันเป็นก้อนได้ หลังเห็นว่าในบางครั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงมีการจับตัวกันเป็นกลุ่มตะกอน
เขาจึงทำการทดลองโดยนำตัวอย่างเลือดที่ได้จากเพื่อนร่วมงานของเขาในห้องปฏิบัติการรวมทั้งตัวเขาเองมาแยกส่วนเซลล์เม็ดเลือดแดงออกจากพลาสมา (น้ำเหลือง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลือดที่ได้หลังแยกส่วนของเม็ดเลือดแดงออกไปแล้ว) จากนั้นก็นำพลาสมาของคนหนึ่งมารวมเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดของอีกคนหนึ่ง แล้วพบว่าเกิดปฏิกิริยาการจับตัวเป็นกลุ่มตกตะกอนของเลือดเฉพาะแค่กับบางคนเท่านั้น
ก่อนที่ลันด์สไตเนอร์จะทำการจำแนกหมู่เลือดออกเป็น 3 กลุ่ม โดยใช้ชื่อว่า A, B และ C ซึ่งต่อมาหมู่เลือดกลุ่ม C ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่เลือดกลุ่ม O เพราะมันมาจากคำว่า ‘ohne’ ในภาษาเยอรมัน แปลว่า ‘ไม่มี’ เพราะกรุ๊ปเลือดนี้คือกรุ๊ปเลือดที่ไม่มีสาร A และ B บนผนังเซลล์นั่นเอง และหลังจากนั้นไม่กี่ปี ลูกศิษย์ 2 คนของลันด์สไตเนอร์ก็ได้ค้นพบหมู่เลือดกลุ่มที่สี่และตั้งชื่อว่า AB ซึ่งการค้นพบเกี่ยวกับเรื่องกรุ๊ปเลือดทั้งสี่ในครั้งนี้ทำให้ คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 1930 พร้อมกับสร้างความก้าวหน้าให้กับวิทยาศาสตร์การแพทย์มากยิ่งขึ้น หลังจากได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับกรุ๊ปเลือดมาประยุกต์ใช้เข้ากับวิธีการรักษาโดยการถ่ายเลือด
เวลาผ่านไปกว่า 20 ปีหลังจากทั่วโลกได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องกรุ๊ปเลือดที่ คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ ค้นพบ ในปี 1929 ได้มีศาสตาจารย์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสตรีโตเกียว (มหาวิทยาลัยสตรีโอฉะโนะมิสึ ในปัจจุบัน) ที่ชื่อ โทเคจิ ฟุรุคาวะ ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกรุ๊ปเลือดกับอารมณ์ พร้อมกับได้รับการตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวลงเป็นบทความในวารสารจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย
โดยฟุรุคาวะได้นำเสนอว่า อารมณ์และนิสัยของกรุ๊ปเลือดแต่ละกลุ่มนั้นมีจุดดีจุดเสียอะไรบ้าง ซึ่งจำแนกออกมาได้ดังนี้
- กรุ๊ปเลือด A ข้อดี = อดทน, มีความรับผิดชอบสูง ข้อเสีย = ดื้อรั้น, ขี้กังวล
- กรุ๊ปเลือด B ข้อดี = มีความคิดสร้างสรรค์, รักอิสระ ข้อเสีย = เห็นแก่ตัว, ไม่มีความรับผิดชอบ
- กรุ๊ปเลือด O ข้อดี = มีเหตุผล, เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ข้อเสีย = ไม่มีความรอบคอบ
- กรุ๊ปเลือด AB ข้อดี = มีความมั่นใจสูง, ชอบความท้าทาย ข้อเสีย = เอาแต่ใจตัวเอง, เย็นชา
บทความหัวข้อ “การศีกษาอารมณ์ผ่านกรุ๊ปเลือด” ของฟุรุคาวะได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก จนกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นในตอนนั้นได้นำผลการศึกษาดังกล่าวมาใช้ในการจัดกำลังทหารเพื่อคัดเลือกว่าทหารกรุ๊ปเลือดไหนเหมาะสำหรับการทำหน้าที่ใด และทหารที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับการลุยศึกสงครามมีกรุ๊ปเลือดไหน
ต่อมาในปี 1971 ความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดบ่งบอกบุคลิกลักษณะของแต่ละคนนั้นได้เข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมญี่ปุ่นอีกครั้ง เมื่อมีนักข่าวคนหนึ่งนามว่า มาซาฮิโกะ โนมิ ได้ตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อ “Understanding Affinity by Blood Type” โดยโนมิได้ขยายแนวคิดเกี่ยวกับกรุ๊ปเลือดของ โทเคจิ ฟุรุคาวะ ให้ชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่บอกว่ากรุ๊ปเลือดมีความเชื่อมโยงกับนิสัยและอารมณ์ โนมิได้อธิบายเพิ่มเติมว่ากรุ๊ปเลือดนั้นอาจจะมีความเชื่อมโยงกับโรคหรือความบกพร่องทางร่างกายอีกด้วย
ซึ่งหนังสือดังกล่าวก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า พร้อมกับทำให้ความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดบอกนิสัยนั้นแพร่หลายจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปในที่สุด โดยความเชื่อนี้จะมีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นเก๋ ๆ ว่า “Ketsueki-Gata” หรือแปลเป็นไทยตรง ๆ ว่า “กรุ๊ปเลือด”
ความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดบอกนิสัยเข้ามามีอิทธิพลและมีความสำคัญอย่างมากกับการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นนับตั้งแต่นั้น โดยพวกเขาเชื่อว่ากรุ๊ปเลือดสามารถบ่งบอกบุคลิกลักษณะของแต่ละคนได้ จนส่งผลให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความคิดว่าคนที่มีกรุ๊ปเลือด B และ AB คือคนที่ไม่น่าคบหาด้วย จากผลการศึกษาที่ฟุรุคาวะและโนมิได้นำเสนอออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรบ่งชี้ว่าคนกรุ๊ปเลือดเหล่านี้มักมีนิสัยเห็นแก่ตัวและไม่มีความรับผิดชอบ
การถือกำเนิดของอาชีพต่าง ๆ ที่มีการใช้กรุ๊ปเลือดมาเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพ หรือการนำกรุ๊ปเลือดมาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าทำงานกับองค์กรก็ได้เกิดขึ้นหลังกระแสความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดบอกนิสัย และแพร่หลายอย่างมากในญี่ปุ่นตอนนั้น
เช่น นักดูดวง ที่มีการนำกรุ๊ปเลือดมาใช้ในดูดวงทำนายโชคชะตา ทั้งด้านความรัก การงาน การเงิน หรือจะในด้านอื่น ๆ ก็ตาม ซึ่งกรุ๊ปเลือดก็สามารถทำนายได้ รวมถึงการคัดเลือกพนักงานของบางบริษัทก็มีการใช้กรุ๊ปเลือดมาเป็นเกณฑ์
หรือแม้แต่ในวงการกีฬาของญี่ปุ่นเองก็ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อเหล่านี้เช่นกัน หลังมีคนตั้งข้อสงสัยอยู่เป็นระยะ ๆ ว่ากรุ๊ปเลือดอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกนักกีฬาเข้าทีมจากความเชื่อในเรื่องกรุ๊ปเลือดของชาวญี่ปุ่น
ส่งอิทธิพลต่อแวดวงกีฬา
แม้จะไม่ได้มีหลักฐานแน่ชัดว่าหลายทีมกีฬาในญี่ปุ่นใช้กรุ๊ปเลือดตัดสินผลงานและฟอร์มการเล่นของนักกีฬาแต่ละคนหรือไม่ แต่เหล่าคอกีฬาต่างมีการพูดคุยกันถึงประเด็นนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะกับกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่าง ฟุตบอล ที่มีการพูดถึงเหล่านักเตะทีมชาติญี่ปุ่นที่มีชื่อติดทีมไปลุยฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายว่ามีนักเตะกรุ๊ปเลือดไหนบ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลงานของพวกเขาในทัวร์นาเมนต์แต่ละครั้ง
นับตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นผ่านเข้ามาเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1998 พวกเขาก็สามารถตี๋ตั๋วเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกรอบนี้ได้ทุกสมัย ซึ่งจากสถิติจะพบว่านักเตะที่ติดทีมชาติญี่ปุ่นไปลุยฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายแต่ละครั้งในปี 1998 - 2018 จะมีนักเตะที่มีกรุ๊ปเลือด B อยู่ในทีมไม่เกิน 3 คนเสมอ ขณะที่นักเตะที่มีกรุ๊ปเลือด AB แม้ในปี 2006 และ 2010 จะมี 5 คน แต่ครั้งอื่น ๆ จะมีไม่เกิน 3 คนเช่นเดียวกับกรุ๊ปเลือด B
ชิเอโกะ อิชิคาวะ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรุ๊ปเลือดและลักษณะนิสัยของสถาบันวิจัย Human Science ABO Center ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ABO System of Blood Types and Positions in Soccer Team” เกี่ยวกับเหตุผลที่ทำให้นักเตะทีมชาติญี่ปุ่นที่มีกรุ๊ปเลือด B ในฟุตบอลโลกมีจำนวนน้อยว่า
“เหตุผลที่ทีมชาติญี่ปุ่นมีนักเตะกรุ๊ปเลือด B น้อย เป็นเพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับการทํางานเป็นทีมมากกว่า จากสไตล์การเล่นฟุตบอลของพวกเขา”
“คนกรุ๊ปเลือด B มักจะทําสิ่งต่าง ๆ ตามอารมณ์และความนึกคิดของตัวเอง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความคิดเหล่านั้นได้ดีนัก ในกีฬาเบสบอลมีโอกาสมากมายสําหรับผู้เล่นในการจะเล่นแบบฉายเดี่ยว แต่ในฟุตบอลความร่วมมือประสานงานกันถือเป็นสิ่งสําคัญ ด้วยเหตุนี้นักเตะที่มีกรุ๊ปเลือด B มักจะตกเป็นตัวเลือกหลังสุดอยู่บ่อยครั้งในโลกของฟุตบอล”
สวนทางกับอีกสองกรุ๊ปเลือดอย่าง A และ O ที่จะเป็นสองกรุ๊ปเลือดยอดนิยมของนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลกแต่ละครั้งอยู่เสมอ
“คนกรุ๊ปเลือด A จะมีนิสัยที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ นั่นคือมีความอดทน, รับผิดชอบในหน้าที่ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ส่วนคนกรุ๊ปเลือด O จะเข้าหาคนอื่น ๆ ได้ดี และมีความเป็นผู้นำที่สูง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นักเตะกรุ๊ปเลือดทั้งสองจะพบเห็นได้มากในทีมชาติ” อิชิคาวะ กล่าว
“แต่อีกเหตุผลที่ทำให้นักเตะกรุ๊ปเลือด A และ O มีจำนวนมากในทีมชาติญี่ปุ่น มันเป็นเพราะประชากรส่วนใหญ่ในประเทศต่างก็เป็นคนที่มีกรุ๊ปเลือดนี้ด้วยเหมือนกัน”
โดยข้อมูลจากสภากาชาดญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 2022 เกี่ยวกับจำนวนคนญี่ปุ่นในแต่ละกรุ๊ปเลือด พบว่าคนญี่ปุ่นจำนวน 38.1% เป็นคนกรุ๊ปเลือด A, 30.7% เป็นคนกรุ๊ปเลือด O, 21.8% เป็นคนกรุ๊ปเลือด B และ 9.4% เป็นคนกรุ๊ปเลือด AB จึงอาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกหากจะมีนักเตะกรุ๊ปเลือด A และ O ติดทีมชาติญี่ปุ่นไปลุยฟุตบอลโลกมากกว่ากรุ๊ปเลือด B และ AB
อย่างไรก็ตาม ในฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด กลับเป็นครั้งแรกที่มีนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นที่มีกรุ๊ปเลือด B ไปลุยศึกครั้งนี้ถึง 7 คน เป็นรองกรุ๊ปเลือด A ที่มี 14 คนจากทั้งหมด 26 คน ขณะที่นักเตะกรุ๊ปเลือด O กลับมีเพียง 5 คนเท่านั้น และทีมก็ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจในฟุตบอลโลกครั้งนี้ จากการเอาชนะสองทีมที่มีเคยเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้วอย่าง เยอรมนี และ สเปน ได้ในรอบแบ่งกลุ่ม ด้วยการเล่นเป็นทีมตามแบบฉบับของพวกเขา
นั่นจึงเป็นสิ่งที่ช่วยการันตีว่า “กรุ๊ปเลือด” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับนิสัยของแต่ละคน ซึ่งมันก็สอดคล้องกับความจริงที่ว่าทั่วโลกนั้นคิดต่างจากคนญี่ปุ่น
ขณะที่คนญี่ปุ่นต่างมีความเชื่อว่ากรุ๊ปเลือดสามารถบอกนิสัยคนได้ ผู้คนที่อยู่ภายนอกญี่ปุ่นกลับไม่ได้เชื่อตามพวกเขา ด้วยเหตุผลที่ว่าวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาคำอธิบายให้กับความเชื่อเหล่านี้ได้ โดยในปัจจุบัน เรื่องกรุ๊ปเลือดกับนิสัยยังไม่ได้มีหลักการหรือผลการทดลองใด ๆ ที่สามารถพิสูจน์และยืนยันได้ว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน
ทำให้ความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดบอกนิสัยของญี่ปุ่นยังคงเป็นเพียงแค่ วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) เท่านั้นในมุมมองของวิทยาศาสตร์ และไม่ควรจะให้ความสำคัญกับมันมากนัก
อย่างไรก็ตาม แม้มันจะเป็นเพียงความเชื่อไม่ใช่ความเป็นจริง คนญี่ปุ่นหลายคนก็ยังคงที่จะยึดถึอในความเชื่อเหล่านี้ต่อไป เพียงแต่ลดความสำคัญลง เหลือเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งในชีวิตเท่านั้น
ความเชื่อที่ไม่ยอมเสื่อมคลาย
ในปัจจุบัน คนญี่ปุ่นไม่ได้มีความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดอย่างเป็นจริงเป็นจังอีกแล้ว โดยมองว่าความเชื่อดังกล่าวเป็นเพียงความบันเทิงอย่างหนึ่งที่สามารถเลือกได้ว่าอยากจะนำมันเข้ามาอยู่ในชีวิตด้วยหรือเปล่า
ซึ่งอันที่จริงความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดบอกนิสัยของคนญี่ปุ่นก็เคยจางหายไปแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปลายยุค 40s หลังจากที่ผู้คนและกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นในตอนนั้นเริ่มเห็นความไม่จริงของผลการศึกษาที่ โทเคจิ ฟุรุคาวะ ได้นำเสนอว่า กรุ๊ปเลือดมีความเชื่อมโยงกับนิสัยและอารมณ์ ก่อนจะละทิ้งมันไป
ทว่าความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดบอกนิสัยก็ได้กลับมาบูมในญี่ปุ่นอีกครั้งหลัง มาซาฮิโกะ โนมิ ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความเชื่อดังกล่าวในช่วงปี 1971 แล้วด้วยความที่เวลานั้นญี่ปุ่นกำลังอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจภายในประเทศเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก หลังประชาชนช่วยกันฟื้นฟูประเทศขึ้นมาจากความเสียหายที่ได้รับในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นการง่ายสำหรับผู้คนที่กำลังมีสภาพการเงินที่ดีที่จะสามารถเข้าถึงความเชื่อดังกล่าวได้ผ่านการอ่านหนังสือของโนมิ
โดยครั้งนี้ ความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดบอกนิสัยกลับเป็นที่นิยมมากเสียจนเป็นเรื่องยากที่จะทำให้หายไปอีกครั้งได้ จนสุดท้ายความเชื่อนี้ก็ได้เข้าหลอมรวมจนเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นไปในที่สุด ซึ่งสามารถเห็นได้จากสื่อบันเทิงต่าง ๆ จากแดนอาทิตย์อุทัยทั้งละคร, มังงะ หรืออนิเมะ ที่มักจะมีการใส่รายละเอียดเกี่ยวกับกรุ๊ปเลือดของตัวละครในเรื่องเอาไว้ เพื่อให้คนอ่านคนดูพอที่จะเข้าใจและคาดเดาลักษณะนิสัยของแต่ละตัวละครได้
และแน่นอนว่าตามความเชื่อของญี่ปุ่นที่ว่าคนที่มีกรุ๊ปเลือด B และ AB เป็นคนที่ไม่น่าคบหาด้วยนั้นก็ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบตัวละครในสื่อบันเทิงต่าง ๆ ของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน โดยหลาย ๆ ครั้งตัวละครในมังงะหรืออนิเมะที่รับบทเป็นตัวร้าย หรืออาจมีแนวโน้มไปในโทนตัวร้ายมักจะมีกรุ๊ปเลือด B หรือ AB
ส่วนในโลกของฟุตบอลเอง แม้คนญี่ปุ่นจะยังคงมีบ้างที่พูดถึงเรื่องกรุ๊ปเลือดของนักเตะกันอยู่ แต่สุดท้ายพวกเขาก็จบการสนทนาทั้งหลายเหล่านี้ไป โดยไม่ได้คิดว่ากรุ๊ปเลือดมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับฟอร์มการเล่นของนักเตะ
เพราะไม่ว่าจะเป็นนักเตะกรุ๊ปเลือดไหนก็สามารถเจิดจรัสบนเส้นทางลูกหนังได้หากมีใจที่มุ่งมั่น ไม่ลดละความพยายาม และหมั่นพัฒนาฝีเท้าของตัวเองให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน
แหล่งอ้างอิง
https://www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/features/why-do-we-have-blood-types-9622054.html
https://www.silpa-mag.com/history/article_99213
https://psychcentral.com/health/blood-type-personality#theorys-origins
https://soranews24.com/2014/06/16/what-does-blood-type-have-to-do-with-the-japan-national-football-team/
https://abofan.jimdofree.com/データ/スポーツと血液型/サッカー/
https://sakanowa.jp/topics/66263
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3595629/