Feature

เทพฎีกาทีมใหม่ : เหตุใดการดวลจุดโทษของโครเอเชีย จึง "ไร้พ่าย" ในฟุตบอลโลก | Main Stand

สิ้นเสียงนกหวีดที่สนาม เอดูเคชั่น ซิตี้ ณ เมืองอัล เรย์ยาห์น ประเทศกาตาร์ เป็น ทีมชาติโครเอเชีย ที่โชว์การยิงและเซฟจุดโทษระดับเทพเจ้าดับความร้อนแรงของ บราซิล ไป 4-2 หลังจากเสมอในเวลา 1-1 (สกอร์รวม 5-3) 

 


นอกจากจะส่งพลพรรค "ตราหมากรุก" ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ 2 สมัยติดต่อกัน ยังได้สร้างสถิติใหม่ในสังหารจุดโทษในฟุตบอลโลก โดย 3 ครั้งที่ผ่านมาเมื่อถึงคราวต้องดวลฎีกาโครเอเชียก็เก็บชัยชนะได้ทั้งหมด หรือเรียกได้ว่า "Perfect Hundred" ก็ย่อมได้

เรียกได้ว่าทีมจากคาบสมุทรบอลข่านที่มีประชากรประมาณ 4 ล้านคนทีมนี้ทำสถิติเทียบเท่ากับเทพเจ้าฎีกาในตำนาน อย่าง ทีมชาติเยอรมนี ที่ชนะมาแล้ว 4 ครั้งเลยทีเดียว หากแต่ด้วยการเป็นประเทศที่ได้รับเอกราชมาประมาณ 30 ปี และเข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาเพียง 6 สมัย สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดและน่าตกตะลึงอย่างมาก

เกิดอะไรขึ้น ? โครเอเชียก้าวขึ้นมาเป็น "เทพฎีกา" ทีมใหม่ได้อย่างไร ? ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

 

คิดจะเล่นเขี้ยว ต้องเชี่ยวจุดโทษ

ก่อนอื่นนั้นต้องเข้าใจพลวัตระบบการเล่นของโครเอเชียกันเสียก่อน โดยในช่วงแรก ๆ หลังได้รับเอกราช โครเอเชียอาจจะกำลังแสวงหาแนวทางอยู่ อย่างการได้อันดับที่ 3 ในฟุตบอลโลก 1998 ครานั้นก็ถือว่าเล่นเกมรุกแบบสะเด่าด้วยการบัญชาของ ดาวอร์ ซูเคอร์ และ ซโวนิเมียร์ โบบัน สองตำนานของทีม แต่เมื่อหมดรุ่นเขาไปโครเอเชียก็กลับมาตกต่ำและไปไม่ถึงจุดเดิมที่เคยทำได้

ต่อมาเมื่อถึงเจเนอเรชั่นใหม่ โครเอเชียก็หันกลับมาเล่นแบบ "จอดรถบัส" ซึ่งถือว่าลดระดับตนเองลงไปเล่นแบบทีมเกรดบี เกรดซี ในยุโรป และแน่นอนว่าทีมก็ยังทรง ๆ ทรุด ๆ และไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

เมื่อมาถึงยุคของ สลาเวน บิลิช กุนซือหนุ่มเลือดใหม่ไฟแรง ที่มีความพยายามนำฟุตบอลแบบเพรสซิ่งที่วิ่งไล่บอลทั้งทีม เข้ามาติดตั้งให้โครเอเชีย พร้อมกับการเข้าสู่ยุค "โกลเดนเจเนอเรชั่น" ที่ในทีมมีนักเตะที่เล่นเป็นตัวหลักในทีมลีกใหญ่ ๆ ของยุโรปแทบทั้งสิ้น เช่น ลูกา โมดริช, อิวาน ราคิติช, อิวาน เปริซิช หรือ มาริโอ มานด์ซูคิช ที่คุ้นเคยกับการเพรสซิ่งเป็นอย่างดี ก็ทำให้เกิดผลงานอันน่าอภิรมย์ก่อนที่ นิโค โควัช จะเข้ามารับช่วงต่อ และพาโครเอเชียทะยานขึ้นเป็นทีมผูกขาดโควตาฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ได้สำเร็จ 

แต่น่าเสียดายที่ทั้งสองกุนซือหนุ่มที่ทำทีมดีแต่ไร้ซึ่งเสถียรภาพ เพราะทั้งฟุตบอลยูโร 2012 และฟุตบอลโลก 2014 แม้ทีมจะบุกกดดันได้เยี่ยมยอดแต่ผลงานกลับไม่น่าพิศมัย พวกเขาตกรอบตั้งแต่ไก่โห่มาตลอด หรืออาจจะเรียกด้วยศัพท์วัยรุ่นได้ว่า "เล่นดี ไม่มีแต้ม"

จนการมาถึงของ สลัตโก ดาลิช กุนซือวัยกลางคนสุดโนเนม ขนาดแฟนบอลในประเทศยังเกาหัวแกรก ๆ ถามว่า "หมอนี่ใคร ?" แม้เขาจะโลว์โปรไฟล์ แต่เขาก็เข้ามาแล้วเปลี่ยนแปลงทีมจากหน้ามือเป็นหลังมือ และไม่ได้ทำให้กระบวนทัพของทีมเสียหายอย่างน่าเหลือเชื่อ

สิ่งที่ดาลิชติดตั้งให้ลูกทีมคือวิธีการเล่นแบบเขี้ยวลากดิน หรือก็คือการเล่นแบบเหนียวแน่น ไม่ได้ก็อย่าให้เสีย ครองบอลเอาชัวร์มีช่องค่อยจ่าย ค่อยไดเร็กต์ฟุตบอล และเอาบอลไปให้ถึงแดนหน้าโดยเร็ว

ถือได้ว่าเป็นการเล่นที่แหวกแนวยุคสมัยอย่างมาก เพราะโดยทั่วไปทีมที่เหนือชั้นกว่าก็มักจะเล่นกันแบบ "เพรสซิ่ง" หรือไม่ก็ "จอดรถบัส" สำหรับทีมที่ด้อยชั้นกว่า

แต่ไม่ใช่กับโครเอเชีย เพราะไม่ว่าจะทีมเล็กทีมใหญ่พวกเขาจะตะบี้ตะบันใช้แผนนี้ทั้งหมด นับตั้งแต่ ฟุตบอลโลก 2018 เป็นต้นมาโครเอเชียมีแนวทางการเล่นฟุตบอลแบบนี้ชัดเจน ขนาดที่ว่าคนไม่ค่อยแตกฉานในแทกติคแค่มองปราดเดียวก็เข้าใจในทันที เรียกได้ว่าแทบจะเป็น "ดีเอ็นเอ" ของประเทศชาติเลยทีเดียว

การมาเล่นด้วยแผนแบบเขี้ยวลากดินยื้อยุดฉุดกระชากนี้เองทำให้การคาดหวังประตูเป็นไปได้ยากขึ้นตามไปด้วย นั่นเพราะการไม่ผลีผลามบุก ไม่ขยันวิ่งไล่ และไม่ได้นำนักเตะเข้าไปป้วนเปี้ยนหน้าปากประตูคู่ต่อสู้มากเท่าที่ควร ทำให้โอกาสในการส่องตาข่ายก็จะลดลงเป็นเงาตามตัว สวนทางกับการ Play Safe หน้าปากประตูตนเองที่จะการันตีได้เปลาะหนึ่งว่า อย่างไรนักเตะก็มีจำนวนมากกว่าคู่ต่อสู้ที่เติมมาบุกแน่นอน

ดังนั้นโครเอเชียจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทีเด็ดบางอย่างที่จะมาหักลบกลบหนี้ ณ จุดนี้สิ่งที่ดีที่สุดแน่นอนว่าหนีไม่พ้น ทีเด็ดจากบรรดาลูกตั้งเตะต่าง ๆ รวมไปถึงการยิงจุดโทษ ซึ่งก็ถือได้ว่าตามตำราทีมที่เล่นแบบนี้เป๊ะ ๆ โดยไม่ได้เป็นเรื่องใหม่หรือมีสิ่งใดผิดเพี้ยนไป

ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นการแก้ "Pain Point" ที่เป็นมาตลอดได้อย่างอยู่มือ ในเมื่อเล่นดีแต่ไม่มีแต้ม อย่างนั้นในคราวนี้ก็ขอมีแต้มด้วยการยื้อไปจนถึงฎีกาเสียเลย

แน่นอนว่าการตั้งธงเป็นหมุดหมายของทีมได้แล้วว่าในกาลต่อ ๆ ไปจะเล่นด้วยชุดวิธีคิดในลักษณะนี้ นั่นก็เป็นเหมือนการวางแนวคิดลงไปสู่นักเตะอย่างถ้วนหน้าว่า ต่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่ปูมาตลอดยังคงเหมือนเดิม ต่อให้จะโดนนำหรือต่อให้จะขึ้นนำก็จะยังคงยื้อไว้เช่นเดิม และจะไม่มีการแหกคอกแต่อย่างใด 

และมันยังได้ส่งผลไปถึงการออกแบบโปรแกรมฝึกซ้อมด้วย โดยจะมีการเน้นหนักไปที่ลูกเซตพีชและจุดโทษเป็นหลัก จริงอยู่ที่ทุกทีมบนโลกต่างก็ต้องฝึกซ้อมให้รอบด้านไม่ต่างกัน หากแต่จะมีสักกี่ทีมชาติที่จะตั้งแง่ไว้ว่า "จะมากำชัยด้วยการยื้อล้วน ๆ" แบบโครเอเชีย 

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการเข้ารอบในระบบแพ้คัดออกของพลพรรคตราหมากรุกถึงได้เหมือนฉายหนังม้วนเดิมกับในฟุตบอลโลก 2018 นั่นคือเสมอในเวลา ต่อเวลา และชนะจุดโทษ 

กระนั้นด้วยวิถีทางเช่นนี้ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตาเห็นในสนามเพียงอย่างเดียว

 

เพราะเล่นเขี้ยว เลยเฟี้ยวจุดโทษ

ฟุตบอล นอกจากจะขึ้นอยู่กับพลังกาย การหักเหลี่ยมเฉือนคมของผู้เล่นในสนาม หรือการวัดกึ๋นของโค้ชแต่ละคนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของ "Mentality" หรือ "สภาพจิตใจ" ก็สำคัญไม่แพ้กัน

การเล่นแบบเขี้ยวลากดิน กล่าวเฉย ๆ เหมือนจะทำง่าย ดูเหมือนจะแค่ใช้ความอดทน ความพยายาม และสมาธิอันแรงกล้า หากแต่วัตรปฏิบัติจริง ๆ แล้วถือว่าทำยากมาก ๆ เพราะหลักของระบบนี้เป็นเรื่องของการทำให้คู่ต่อสู้รู้สึกถึงความเหนือกว่าบางอย่าง ซึ่งขัดกับการเล่นฟุตบอลเพื่อชัยชนะแบบที่เข้าใจกัน

หรือก็คือ นักเตะโครเอเชียต้องกระทำตนแบบ "ข่มจิต ข่มใจ ข่มกิเลสตัณหา" ไว้กว่า 120 นาที เพื่อที่จะหลอกล่อให้คู่ต่อสู้ชะล่าใจหรือตายใจ แม้จะไม่ได้แสดงออกมาในสนาม หากแต่ลึก ๆ ในจิตใจย่อมจะเกิดความคิดไปในทางที่ว่า "ข้าเหนือกว่า ข้าเจ๋งกว่า ข้าชนะได้ไม่ยาก" ก็เป็นได้

เกมกับ ญี่ปุ่น ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ในครึ่งแรกญี่ปุ่นที่ได้ใจมาตั้งแต่รอบแรกหลังพลิกชนะ เยอรมนี กับ สเปน บุกแบบเต็มสตรีม พวกเขาบุกจนได้ประตูขึ้นนำ และยังคงบุกอย่างต่อเนื่องเพื่อทำประตูอีกให้ได้ ในเวลานั้นมันดูเหมือนว่าโครเอเชียเพลี่ยงพล้ำและตกอยู่ในเกมของพลพรรคซามูไรบลูไปเต็มกระบุง

กระนั้นเมื่อญี่ปุ่นเริ่มบุกแล้วทำไม่ได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่โครเอเชียก็ยังคงเล่นแบบเดิม แต่เริ่มมีจังหวะเสียว ๆ มากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่าญี่ปุ่นกำลังจะดร็อปลงเรื่อย ๆ สวนทางกับโครเอเชีย 

สถานการณ์เช่นนี้ก็จะเริ่มบ่อนทำลายความมั่นใจของญี่ปุ่นลงเรื่อย ๆ จากที่คิดว่าตนนั้นเหนือกว่าก็เริ่มที่จะผิดไปจากความเป็นจริงมากขึ้น จนท้ายที่สุดก็มาเสียประตูตีเสมอไปแบบง่าย ๆ จากลูกโหม่งที่ดูไม่มีอะไร 

จนท้ายที่สุดญี่ปุ่นก็ตกอยู่ภายใต้เกมของโครเอเชียอย่างเต็มตัวจนแทบจะขยับเขยื้อนอะไรไม่ได้ และท้ายที่สุดเมื่อถึงช่วงเวลาฎีกาก็ถือว่าเข้าทางโครเอเชีย เพราะสิ่งที่พวกเขาพยายามกระทำใส่ญี่ปุ่นมาตลอด 120 นาทีมาผลิดอกออกผลพอดี จากที่ใหญ่คับฟ้าก็หดลงมาเหลือไม่กี่นิ้วได้

และผลลัพธ์ก็คือ โครเอเชียเก็บตัวแทนจากเอเชียตะวันออก เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายไปตามระเบียบ

หรือแม้แต่เกมกับ บราซิล ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก็ออกมาในลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากญี่ปุ่น แต่ต่างตรงที่บราซิลนั้นย่อมคิดว่าตนเองใหญ่จากประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่ผ่านมาเป็นทุน แถมยังเป็นเต็ง 1 ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ ดังนั้น โครเอเชียจึงต้องมาแบบเจียมตนตามครรลอง 

"ยิ่งตัวใหญ่ยิ่งล้มดัง" เป็นสำนวนที่ใช้อธิบาย บราซิล ปะทะ โครเอเชีย ได้เป็นอย่างดี เพราะแม้จะยื้อมาได้จนถึงช่วงต่อเวลา และความเหนือกว้าทั้งเกมของบราซิลก็ส่งให้ เนย์มาร์ ยิงประตูขึ้นนำไปก่อนในครึ่งทางของช่วงต่อเวลาพิเศษ

แต่เพราะความคิดที่คิดว่าตนเหนือกว่าทั้งสภาพจิตใจและผลงานบนสกอร์บอร์ดก็ทำให้บราซิลอยากได้ประตูอีกสักลูกเพื่อการันตีปิดเกม นั่นหมายถึงการคิดว่าตนเหนือกว่าไปอีกเท่าทวี ซึ่งจุดนี้เองโครเอเชียก็ใช้เวลาไม่กี่อึดใจสวนตูมเดียวจากการตะบี้ตะบันส่องสกอร์ที่ 2 ของบราซิล เป็นประตูไปแบบเหลือเชื่อ

ณ ตอนนั้น แม้แต่เนย์มาร์ก็ยังแสดงออกด้วยสีหน้าเหมือนโลกทั้งใบถล่มลงมาเลยทีเดียว

และแน่นอนว่าเมื่อมาถึงจุดโทษ กะจิตกะใจในการเป็นคนที่เหนือกว่าของบราซิลก็แทบจะไม่เหลือ สุดท้ายจึงเสร็จโครเอเชียไปอีกราย

ซึ่ง สลัตโก ดาลิช ได้กล่าวเน้นย้ำถึงจุดนี้ไว้ว่า "ความหวาดหวั่นและความกลัว (ของคู่ต่อสู้) สะท้อนออกมาด้วยการเซฟของ (โดมินิค) ลิวาโควิช" 

ซึ่งลิวาโควิชนี้เองคือตัวแปรที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำสถิติจุดโทษของโครเอเชียเลยก็ว่าได้ 

 

ซูบาซิชไป ลิวาโควิชมา

"ผมคิดไม่ผิดเลยว่าเขา (ลิวาโควิช) คือตัวตายตัวแทนของ (ดานีเยล) ซูบาซิชได้อย่างหมดจดจริง ๆ … ประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอย ดีจริงโว้ย!"

คำกล่าวของดาลิชเช่นนี้หมายความว่า ผู้รักษาประตูของโครเอเชียที่มีความโดดเด่นเรื่องการเซฟจุดโทษมีการรับไม้ต่อกันมาได้อย่างไม่ขาดตอน 

จากในฟุตบอลโลก 2018 ที่ตำแหน่งตัวจริงเป็นของ ดานีเยล ซูบาซิช ผู้รักษาประตูจอมเก๋า ที่เซฟจุดโทษพัลวันให้โครเอเชียผ่านทั้ง เดนมาร์ก ในรอบ 16 ทีม และ รัสเซีย ในรอบ 8 ทีม ได้สำเร็จ โดยฝากสถิติเซฟ 3 จุดโทษไว้ในการพบกับพลพรรคโคนม 

4 ปีต่อมา โดมินิค ลิวาโควิช ตำนานผู้รักษาประตูของ ดินาโม ซาเกร็บ ก็ได้ทำเช่นเดียวกัน เหมือนฉายหนังม้วนเดิมเป๊ะ ๆ โดยการเซฟ 3 จุดโทษในเกมกับ ญี่ปุ่น ในรอบ 16 ทีม และเซฟอีก 1 จุดโทษปราบ บราซิล ในรอบ 8 ทีม ซึ่งน่าจับตามองต่อไปว่าหากเข้ารอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จจะเข้ากับรอยทางที่ซูบาซิชสร้างไว้เลยทีเดียว

แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่า สองนายทวารทีมชาตินี้มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ

ซูบาซิช แม้เจ้าตัวจะเป็นนายทวารดาวรุ่งมือฉมังที่แจ้งเกิดกับสโมสรไฮจ์ดุค สปลิท และไปโด่งดังต่อกับ โมนาโก แต่ในระดับทีมชาตินั้นเขาตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของ สตีเป เพลทีโคซ่า รุ่นพี่ในสโมสรอยู่หลายปี กว่าจะได้รับโอกาสเป็นมือ 1 ก็ปาเข้าไปในทัวร์นาเมนต์ ยูโร 2016 ซึ่งอยู่ในวัย 32 ปีแล้ว

ลิวาโควิช ก็เช่นเดียวกัน เขาอยู่ภายใต้ร่มเงาของ ซูบาซิช ในระดับทีมชาติมาตั้งแต่เขาแจ้งเกิดกับ เอ็นเค ซาเกร็บ และ ดินาโม ซาเกร็บ เพียงแต่เขารอไม่นานขนาดนั้น เพราะหลังจากซูบาซิชประกาศเลิกเล่นทีมชาติไป เขาก็กลายเป็นหมายเลข 1 ทันที

ซึ่งการนั่งเป็นตัวสำรองอยู่ข้างสนามสำหรับตำแหน่งผู้รักษาประตูนั้นไม่เหมือนตำแหน่งอื่น ๆ เพราะตำแหน่งนี้คือ The only ที่ลงสนามได้ครั้งละคนเดียว หากไม่มีอะไรผิดพลาดหรือสุดวิสัยจริง ๆ บรรดามือ 2 จะไม่มีทางได้ลงไปสัมผัสกลิ่นหญ้าเป็นแน่ ได้แต่ซ้อมแล้วก็ซ้อมอย่างเดียว

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้มีเพียงหนึ่ง นั่นคือการสรรหาความสามารถพิเศษเพิ่มเติมให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมาเทียบเท่าหรืออาจจะเกินสิ่งที่ตัวจริงมี ทั้งยังเพื่อเป็นแต้มต่อ เก็บสะสมไว้ เผื่อโค้ชจะรับพิจารณาในสักวันหนึ่ง 

ซึ่งความพิเศษนี้ก็หนีไม่พ้น "การเซฟจุดโทษ" เพราะความสามารถนี้เป็นหนทางเดียวในการแข่งขันจริงที่ตนจะมีโอกาสได้ทำการเปลี่ยนตัวกับตัวจริงลงไปทำงาน หากทำดีแม้เพื่อนร่วมทีมยิงพลาด ยิงห่วย ก็จะสามารถพลิกเกม หรือบางครั้งอาจต้องเซฟประตูอุตลุตแต่กลับมาชนะได้ เสมือนเป็นฮีโร่กลาย ๆ ได้เลยทีเดียว

และคนที่จะเห็นชัดที่สุดก็คือ ทิม ครูล ของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ที่เปลี่ยนตัว ลงมาเซฟจุดโทษ และพาพลพรรคกังหันสีส้มปราบ คอสตาริกา ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2014 มาแล้ว

แน่นอน ซูบาซิช และ ลิวาโควิช ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่พวกเขามีโอกาสขึ้นเป็นมือหนึ่งไม่เหมือนกับ ทิม ครูล ที่ยังคงเป็นตัวสำรองตลอดกาล

เมื่อเป็นเช่นนี้โครเอเชียจึงถือว่าประมาทไม่ได้ พวกเขาเล่นเหมือนจะไม่มีอะไร แต่จริง ๆ แล้วมีอะไรมากมายที่ใช้เพียงตามมองอาจจะมองไม่เห็น สมดังที่ดาลิชได้ประกาศกร้าวไว้อย่างออกตัวแรงว่า

"อย่าดูถูกกู! พวกเราชาวโครแอตแม้จะเป็นชาติเล็ก ๆ แต่ก็หาญกล้าและมีศรัทธาเต็มเปี่ยม"

แต่สิ่งที่น่าพิจารณาต่อคือ นักเตะหลายรายในทีมชุดนี้อยู่ในวัยใกล้ปลดเกษียณตนเองกันทั้งนั้น และรุ่นใหม่ ๆ ที่ผลิตออกมาก็ยังมีชื่อชั้นที่ห่างจากรุ่นก่อน ๆ อยู่มากโข

ไม่แน่ว่า โครเอเชีย ในฟุตบอลโลก 2022 นี้ อาจจะรังสรรค์ผลงานสุดเหลือเชื่อ ด้วยการเข้ารอบชิงชนะเลิศอีกครั้งก็เป็นได้

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.wsj.com/articles/world-cup-2022-croatia-brazil-penalty-shootout-11670503611 
https://www.wsj.com/articles/brazil-croatia-world-cup-2022-neymar-penalty-kicks-11670607307?mod=e2fb&fbclid=IwAR0wbBJmCJ5Zk0PpAAypdOnfRAzE4uVYub9Z55UYwciA8mbZJs63LmBgQzQ 
https://www.theguardian.com/football/2022/dec/09/croatia-brazil-world-cup-quarter-final-match-report?fbclid=IwAR0avhgHVvEfPIS5w0OzrRPTdw70x4O3BxpUhAxWjzi4BHlTLwbuYDCs12g 
https://edition.cnn.com/2018/07/13/football/croatia-world-cup-france-final-russia-2018-spt-int/index.html
https://www.croatiaweek.com/2022-fifa-world-cup-we-look-at-croatias-chances/  

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา