อนิเมะกีฬาคือหนึ่งในนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับแนวเรื่องสู้เพื่อฝัน ท่ามกลางหยาดเหงื่อและหยดน้ำตา และทำให้อนิเมะประเภทนี้เข้าไปอยู่ในใจผู้ชมมาโดยตลอด
ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากพาไปสำรวจว่าอนิเมะกีฬาที่ออกอากาศผ่านหน้าจอทีวีเรื่องไหนถูกรับชมมากที่สุด ร่วมหาคำตอบไปกับ Manga Matchi The Series โปรเจ็กต์ความร่วมมือระหว่าง Main Stand และ The Matter ไปพร้อมกัน
เบสบอล เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น มันคือกีฬาที่ลูกเด็กเล็กแดงเล่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง ดังนั้นอนิเมะกีฬาที่มีคนดูมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องราวเกี่ยวกับเบสบอล ที่มีชื่อว่า Star of the Giants อนิเมะที่ทำมาจากมังงะชื่อเดียวกัน ที่ออกฉายในช่วงปี 1968-1971
Star of the Giants ว่าด้วยเรื่องราวของ ฮิวมะ โฮชิ พิชเชอร์ดาวรุ่งกับความฝันที่จะเป็นดาวดังเหมือนกับ อิตเท็ตสึ โฮชิ ผู้เป็นพ่อที่ต้องเลิกเล่นไปเพราะอุบัติเหตุ เป็นการเล่าเรื่องของความยากลำบากที่เขาต้องฝ่าฝัน ซึ่งถือเป็นมังงะที่ประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น
Photo : imdb.com
และเมื่อมันถูกดัดแปลงมาเป็นอนิเมะ มันก็ยังได้รับเสียงตอบรับที่ล้นหลาม ด้วยเรตติ้งที่สูงถึง 36.6 เปอร์เซ็นต์ จนกลายเป็นอนิเมะกีฬาทางทีวีที่มีคนดูมากที่สุดตลอดกาล แถมเมื่อกลับมารีรันซ้ำก็ยังทำเรตติ้งไปได้ถึง 28.2 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่รองลงมาน่าจะเป็นอนิเมะที่ชาวไทยคุ้นเคย นั่นก็คือ หน้ากากเสือ หรือ Tiger Mask อนิเมะที่ดัดแปลงมาจากมังงะ ผลงานการเขียนเรื่องของ อิคคิ คาจิวะระ และวาดโดย นาโอกิ สึจิ ก่อนถูกดัดแปลงเป็นการ์ตูนภาพเคลื่อนไหว 105 ตอนจบ ที่ออกฉายในช่วงปี 1969-1971 และทำเรตติ้งไปได้ 31.9 เปอร์เซ็นต์
เช่นกันสำหรับอันดับสองร่วม ที่เป็นหนึ่งในการ์ตูนในดวงใจของใครหลายคนอย่าง Touch ยอดรักนักกีฬา ผลงานต้นฉบับจากปลายปากกาของอาจารย์อาดาจิ มิตสึรุ ที่สร้างเรตติ้ง 31.9 เปอร์เซ็นต์เท่ากับหน้ากากเสือ แม้จะออกฉายในช่วงปี 1985 หรือหลังจากหน้ากากเสือเริ่มฉายเกือบ 16 ปีก็ตาม
อย่างไรก็ดี น่าสังเกตุว่าในจำนวน 10 อันดับแรก มีหลายเรื่องที่ชาวไทยไม่คุ้นหู โดยเฉพาะ Harris no Kaze ที่ออกฉายในช่วงปี 1966-1967 และรีรันในปี 1968 ซึ่งทั้งสองครั้ง สามารถทำเรตติ้งได้สูงถึง 31.8 และ 28.9 เปอร์เซ็นต์ แถมยังถูกรีเมกโดย มูชิ โปรดักชันของ เท็ตสึกะ โอซามุ และทำเรตติ้งไปได้ 26.2 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าอุตสาหกรรมอนิเมะในช่วงแรกจะเป็นพื้นที่ของผู้ชาย แต่ใช่ว่าอนิเมะโชเนน (เด็กผู้ชาย) จะครองความยิ่งใหญ่ทั้งหมดเสมอไป เพราะใน 10 อันดับแรกของอนิเมะที่มียอดคนดูสูงสุดนั้น มี อนิเมะโชโจ (เด็กผู้หญิง) หรือที่เรามักเรียกกันว่าแนวการ์ตูนตาหวานเข้ามาอยู่ในชาร์ตถึง 2 เรื่อง
เรื่องแรกคือ Aim for the Ace! อนิเมะที่ดัดแปลงมาจากมังงะของอาจารย์ซูมิกะ ยามาโมโต และออกฉายในช่วงปี 1973-1974 โดยเป็นเรื่องราวของ ฮิโรมิ โอกะ เด็กมัธยมปลายที่มีความอ่อนแอทางจิตใจและวิตกกังวล แต่มีความฝันที่จะเป็นนักเทนนิสอาชีพ
Photo : imdb.com
โดยเรื่องนี้เป็นที่สนใจในวงกว้างตั้งแต่สมัยเป็นมังงะจนมียอดขายสูงถึง 15 ล้านเล่มในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับฉบับอนิเมะที่ไม่เพียงได้รับความนิยมในหมู่เด็กผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มที่ไม่ใช่เป้าหมาย จนสามารถทำเรตติ้งไปได้ถึง 27.2 เปอร์เซ็นต์ ในการกลับมาฉายใหม่ในปี 1978
ส่วนอีกเรื่องก็คือ Attack no.1 อนิเมะวอลเลย์บอลที่มีต้นฉบับมาจากปลายปากกาของ จิคาโกะ อุราโนะ ซึ่งเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากการคว้าเหรียญทองของทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นในโอลิมปิก 1964 ก่อนที่มันจะถูกนำไปทำเป็นอนิเมะในปี 1969-1971
Attack no.1 คือเรื่องราวของ โคซุเอะ อายุฮาระ ที่มีความฝันที่จะขึ้นไปเป็นเอซของทีมชาติญี่ปุ่น และพาทีมเข้าไปเล่นในโอลิมปิก โดยระหว่างนั้นเธอต้องฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อก้าวไปให้ถึงจุดนั้น
ซึ่งความพยายามของเธอก็โดนใจผู้ชม จนสามารถทำเรตติ้งไปได้ถึง 27.1 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่อนิเมะเรื่องนี้ถือเป็นอนิเมะเกี่ยวกับกีฬาของผู้หญิงเรื่องแรกที่ออกฉายทางหน้าจอโทรทัศน์
ปฎิเสธไม่ได้ว่ามังงะถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเอาไปสร้างเป็นอนิเมะมาตั้งแต่อดีตหรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ซึ่งการที่สตูดิโอ จะเลือกเรื่องไหนไปทำนั้น นอกจากงานภาพที่สวยงามแล้ว เนื้อเรื่อง ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
และในบรรดาผู้คิดเนื้อเรื่อง คงจะไม่มีใครโดดเด่นไปกว่า อิคคิ คาจิวะระ หรือชื่อจริงคือ อาซากิ ทาคาโมริ เมื่อมังงะถึง 3 เรื่องที่เขาเป็นผู้แต่งเรื่องสามารถทำเรตติ้งอยู่ใน 10 อันดับแรกที่มีผู้ชมสูงสุด หลังถูกนำไปดัดแปลงเป็นอนิเมะ
Photo : thelancet
ไล่ตั้งแต่อันดับ 1 อย่าง Star of the Giants ที่เป็นผลงานสร้างชื่อของเขา ตามมาด้วย หน้ากากเสือ ที่ถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล
และในช่วงเวลาเดียวกัน เขายังแบ่งเวลาไปแต่งเรื่องให้ โจ สิงห์สังเวียน แม้ว่าในข้อมูลจะระบุว่าผู้แต่งคืออาซาโอะ ทาคาโมริ แต่ความจริงชื่อนี้คืออีกนามปากกาอีกชื่อหนึ่งของ อาซากิ ทาคาโมริ
ซึ่งสำหรับ โจ สิงห์สังเวียน ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งฉบับมังงะและฉบับอนิเมะ ที่ทำให้มันสามารถทำเรตติ้งไปได้ถึง 31.6 เปอร์เซ็นต์ในการนำมาฉายใหม่อีกครั้ง ขณะที่การออกฉายครั้งแรกก็ไม่ได้แย่ เพราะทำเรตติ้งไปได้ 29.2 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับแรก ที่ อาซากิ ทาคาโมริ เป็นผู้แต่ง ไม่ว่าจะเป็น
New Star of the Giants ภาคต่อของ Star of the Giants ที่ออกฉายในปี 1977-1978 และทำเรตติ้งไปได้ 24.7 เปอร์เซ็นต์
หรือ Kick no Oni ที่อ้างอิงมาจากชีวิตของ ทาคาชิ ซาวามุระ นักกีฬาคิกบ็อกซิ่ง เจ้าของฉายาลูกเตะปีศาจ ที่ถูกนำมาทำเป็นอนิเมะในปี 1970-1971 โดยทำเรตติ้งอยู่ที่ 22.8 เปอร์เซ็นต์
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น อนิเมะกีฬา ถือหนึ่งในประเภทอนิเมะที่ครองใจผู้ชม จนทำให้มันสามารถยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของการเป็นอนิเมะที่มีผู้ชมสูงสุดตลอดกาล ด้วยระดับมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจากเรื่อง Star of the Giants, หน้ากากเสือ, Touch และ โจ สิงห์สังเวียน
อย่างไรก็ดี หากสังเกตุดูให้ดีจะพบว่า อนิเมะดังกล่าวล้วนถือกำเนิดขึ้นในยุค 1960s-1980s โดยที่ไม่มีอนิเมะยุค 1990s โผล่เข้ามาอยู่ในชาร์ต 10 อันดับแรกแม้แต่เรื่องเดียว
เพราะอย่าง สแลมดังก์ ที่เป็นมังงะกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยยอดขายกว่า 120 ล้านเล่ม ยังทำเรตติ้งได้เพียง 21.4 เปอร์เซ็นต์ หลังออกฉายในปี 1994 หรือ กัปตันสึบาสะ ที่อยู่ในช่วงปลายยุค 1980s ก็ทำเรตติ้งอยู่ที่ 21.2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
Photo : hypebeast
แน่นอนว่ามันไม่ใช่ความบังเอิญ เพราะมีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เรตติ้งของอนิเมะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกได้ว่า Disrupt อนิเมะอย่างหนักอย่างวิดีโอเกมของนินเทนโดที่มีชื่อว่า แฟมิคอม
เนื่องจากก่อนหน้านั้น อนิเมะ ถือเป็นหนึ่งในความบันเทิงไม่กี่อย่างของเด็กยุคนั้น ที่ทำให้อนิเมะกีฬามีส่วนแบ่งเรื่องยอดผู้ชมสูงมากในระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ในยุค 1960s-1970s ซึ่งถือเป็นยุคแห่งความเบ่งบานของอุตสาหกรรมอนิเมะ
ทว่าการมาถึงของ Family Computer ในปี 1983 ตามมาด้วยเกมยอดฮิตอย่าง Super Mario ก็ทำให้ทีวีถูกเปลี่ยนจากเครื่องดูอนิเมะของเด็ก ๆ ให้กลายเป็นจอสำหรับเล่นเกม และทำให้เรตติ้งของอนิเมะลดลง ซึ่งก็รวมถึงอนิเมะกีฬาด้วย
ขณะเดียวกัน ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงของชาวญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เรตติ้งของอนิเมะสายสปอร์ตไม่สามารถกลับไปถึงจุดที่เคยเป็น
จากสถิติระบุว่าในปี 1980 ญี่ปุ่นมีประชากร 117.6 ล้านคน โดยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีถึง 23 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 1989 แม้ประชากรจะเพิ่มขึ้นมาถึง 6 ล้านคน แต่มีสัดส่วนของวัยเด็กเพียงแค่ 18.8 เปอร์เซ็นต์ และลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 12.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015
รวมไปถึงการมาถึงของสื่อบันเทิงภายในบ้านอย่าง CD, DVD และ Blue-ray มาจนถึงผู้ให้บริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix หรือ Amazon Prime ที่ทำให้เด็กยุคนี้มีตัวเลือกมากขึ้น จนทำให้อนิเมะทางทีวีตั้งแต่ยุค 1990s เป็นต้นมามีเรตติ้งที่น้อยลงมาก
Photo : facebook.com/Prince-of-Tennis
ยกตัวอย่างเช่น Prince of Tennis ที่ถือเป็นอนิเมะที่ประสบความสำเร็จมากในยุค 2000s จนถึงขนาดมีแฟนการ์ตูนส่งช็อกโกแลตวันวาเลนไทน์มาให้ตัวละครนับหมื่นชิ้น ก็ยังทำเรตติ้งไปได้เพียง 12.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
หรือ อายชิลด์ 21 อนิเมะที่หลายคนต่างชมว่าดีว่าตอนที่เป็นมังงะอย่างก้าวกระโดด ก็มีสัดส่วนเรตติ้งแค่เพียง 4.1 เปอร์เซ็นต์ หลังออกฉายในช่วงปี 2005 - 2008 เช่นเดียวกับก้าวแรกสู่สังเวียนที่ฉายในปี 2000-2002 ก็มีเรตติ้งสูงสุดอยู่ที่ 6.1 เปอร์เซ็นต์
หรือล่าสุดอย่าง ไฮคิว อนิเมะกีฬาที่ดังที่สุดในยุคปัจจุบัน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวอลเลย์บอลทีมชาติญี่ปุ่นหลายคน ก็มีเรตติ้งที่น้อยนิดเพียงแค่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ หลังฉายมาตั้งแต่ปี 2014
Photo : akibatan.com
สิ่งเหล่านี้คือข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า แทบไม่มีทางที่อนิเมะกีฬาหรือแม้แต่อนิเมะทั่วไปจะกลับไปมีส่วนแบ่งของผู้ชมในระดับ 25-30 เปอร์เซ็นต์เหมือนในอดีตได้อีกแล้ว ทว่าทางผู้ผลิตเองต่างก็รู้ในเรื่องนี้ดี จึงพยายามปรับตัวและหาทางเพิ่มรายได้ด้วยวิธีอื่นอยู่เสมอ
ทั้งการผลิตการบ็อกซ์เซ็ตมาจำหน่ายหลังอนิเมะฉายจบ ขายของที่ระลึกจากอนิเมะ ไปจนถึงขายลิขสิทธิ์ให้กับต่างชาติ ที่แทบจะเป็นกำไรหลักของอนิเมะบางเรื่อง
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอนิเมะกีฬายังไปต่อได้ แม้เรตติ้งจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม
แหล่งอ้างอิง
https://nendai-ryuukou.com/article/110.html
https://www.amazon.co.jp/%E5%9B%BD%E6%9D%BE%E3%81%95%E3%81%BE%E3%81%AE%E3%81%8A%E9%80%9A%E3%82%8A%E3%81%A0%E3%81%84/dp/B00GCYED5G
https://www.asahi.com/articles/ASP426RTCP41KTQ200N.html
https://friday.kodansha.co.jp/article/44748