News

จานลูก้า ซามบร็อตต้า แข้งแชมป์บอลโลก 2006 กับ อิตาลี เผยจะต้องใส่ขาเทียม สืบเนื่องจากภาวะขาโก่ง

ย้อนกลับไปในสมัยที่ จานลูก้า ซามบร็อตต้า แบ็กชาวอิตาลียังค้าแข้ง เขาถือเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จทั้งในนามสโมสรรวมถึงทีมชาติ โดยเฉพาะการชูถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลก 2006 อย่างไรก็ตามดูเหมือนตอนนี้เขากำลังตกที่นั่งลำบาก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากภาวะขาโก่ง ถึงขนาดที่ต้องใส่ขาเทียมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 


ในการพูดคุยกับพอดแคสต์ BSMT จานลูก้า ซามบร็อตต้า ได้ออกมาเปิดเผยถึงสิ่งที่ไม่เคยบอกใครมาก่อน นั่นคือเขาป่วยเป็นภาวะ Genu Varum หรือที่เรียกอีกอย่างว่าขาโก่ง ซึ่งขาจะมีลักษณะโก่งออกด้านนอกคล้ายคันธนูที่บริเวณหัวเข่า

โดย จานลูก้า ซามบร็อตต้า เริ่มเล่าถึงอาการนี้ว่า "เมื่อเวลาผ่านไป ขาของผมก็เริ่มโค้งงอ ... ตลอดอาชีพการงานค้าแข้งของผม ผมไม่เคยได้รับบาดเจ็บร้ายแรงใด ๆ แต่ผมเคยผ่าตัดหมอนรองกระดูกด้านใน (กระดูกอ่อนภายในข้อเข่า) มาแล้ว 3 ครั้ง"

"ทว่าปัจจุบันผมไม่มีหมอนรองกระดูกทั้งซ้ายและขวา ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ขาของผมจึงโค้งงอ และทุกวันนี้ ผมเป็นนางแบบในห้องแล็บให้กับศัลยแพทย์หลายคน"

"กลุ่มแพทย์ที่ให้การรักษามักจะมองมาที่ผมแล้วถามกันว่าผมเดินได้อย่างไร อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผมจะต้องใส่ขาเทียมแบบเต็มรูปแบบ สิ่งที่เกิดขึ้นแย่ลงเรื่อย ๆ เนื่องจากพันธุกรรมและหมอนรองกระดูกด้านในที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นบางทีผมควรเริ่มทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ผมจะต้องผ่าตัดหัวเข่าทั้งสองข้างในไม่ช้า"

"ผมเดินทางไปพบศัลยแพทย์ชั้นนำสามหรือสี่คนทั่วประเทศ แต่พวกเขาไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ว่าผมมีหัวเข่าแบบนี้ได้อย่างไร หรือผมจะสามารถทำกิจกรรมทางกายภาพ เช่น เล่นกีฬาพาเดลได้ไหม"

และเมื่อพิธีกรถามเรื่องการเข้ารับการผ่าตัดในอนาคตอันใกล้ จานลูก้า ซามบร็อตต้า เล่าต่อไปว่า "ผมจะต้องเข้ารับการผ่าตัดกระดูก"

"โดยทั่วไป แพทย์จะยืดขาของผมโดยการตัดกระดูกชิ้นเล็ก ๆ บริเวณด้านบนและด้านล่าง ก่อนจะใส่แผ่นโลหะเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการต้องใส่ขาเทียมทั้งตัวในตอนนี้ แม้สุดท้ายในอีกไม่กี่ปีผมก็ต้องใช้ขาเทียมแบบนั้นอยู่ดี"

สำหรับภาวะ Genu Varum หรือ ขาโก่ง (Bowlegs) จะส่งผลให้ผู้ที่เป็นมีอาการปวดรอบข้อเข่า, มีเสียงดังในข้อเข่าขณะขยับ, ข้อฝืด รวมถึงองศาการเคลื่อนไหวและความแข็งแรงของข้อต่อบริเวณดังกล่าวลดลง

โดยสาเหตุที่ภาวะขาโก่งเกิดในผู้สูงอายุ มีสาเหตุมาจาก โรคข้อเข่าเสื่อม, ขาดวิตามินดี, การบาดเจ็บหรือกระดูกหักที่รักษาไม่ถูกต้อง รวมถึง ขาโก่งตั้งแต่วัยเด็กที่ไม่ได้รับการรักษา

ส่วนวิธีรักษามีทั้งทำด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็น บริหารกล้ามเนื้อขา การยืดกล้ามเนื้อ และการใช้อุปกรณ์พยุง แต่หากใครมีอาการหนักอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดปรับแนวกระดูก การเปลี่ยนข้อเทียม หรือการผ่าตัดดัดกระดูกเลยทีเดียว

 

Author

รณกฤต ตุลยะปรีชา

วัยรุ่นคู้บอน

Graphic

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1