โฟลเรียน เวียตซ์ 116 ล้านปอนด์, มิลอส เคอร์เคซ 40 ล้านปอนด์, เจเรมี่ ฟริมปง 35 ล้านปอนด์ ล่าสุดเป็น อูโก้ เอกิติเก้ อีก 80 ล้านปอนด์ ... แถมยังมีข่าวเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง
ลิเวอร์พูล ไม่เคยทุ่มซื้อนักเตะใหม่ด้วยการจ่ายเงินระห่ำแบบนี้มาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจนอกจากการเสริมเพื่อต่อยอดความสำเร็จที่สร้างไว้ในซีซั่นที่แล้วก็คือ ... พวกเขาได้เงินมาจากไหน และทำไมจึงสามารถทุ่มแหลกแบบ "เอามาอีก !" ได้ขนาดนี้
เปิดเบื้องหลังตัวเลขชัด ๆ ของการเสริมทัพครั้งประวัติศาสตร์ของหงส์แดง ในปีที่โลกโซเชี่ยลแซวว่าพวกเขาคือ "อัล-ลิเวอร์พูล" กับ Main Stand
ยืนได้จาก Money Ball
ก่อนจะเริ่มเรื่องความมั่งคั่งของ ลิเวอร์พูล เราคงต้องย้อนไปจุดตกต่ำที่สุดของพวกเขากันสักหน่อย และมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องย้อนไปไกลอะไรนัก เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อราว ๆ 15-20 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง
ลิเวอร์พูล เคยเป็นทีมที่ขาดทุนระยับ และอยู่ในสภาพการเงินที่ย่ำแย่ในช่วงหลังยุคปี 2007 เป็นต้นมา เนื่องจากการเข้าเทคโอเวอร์สโมสรของ ทอม ฮิคส์ และ จอร์จ ยิลเล็ตต์ 2 เศรษฐีอเมริกันที่ "กู้เงิน" ราว 220 ล้านปอนด์ ซื้อสโมสรต่อจากตระกูลมัวร์ส ที่เป็นเจ้าของ ลิเวอร์พูล มาหลายรุ่นอายุ
การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเกิดขึ้นราวหายนะ ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ เหมือนกับจับเสือมือเปล่าสำหรับการขายฝันผ่านลมปาก พวกเขาไม่ควักเงินตัวเองสักบาท ทั้งคู่ใช้เวลาเพียงแวบเดียว กู้เงินมาถึง 350 ล้านปอนด์ จาก ธนาคาร รอยัล แบงค์ ออฟ สกอตแลนด์ (RBS) โดยมีกำหนดชำระหนี้ทั้งหมดในปี 2010
ทว่าเงินที่กู้มานั้นไม่สามารถทำให้งอกเงยหรือพัฒนาสโมสรได้ นำมาซึ่งการค้างชำระหนี้และโดนเจ้าหนี้เรียกเก็บดอกเบี้ยเพิ่มถึงปีละ 35 ล้านปอนด์ ... ซึ่งหลังปี 2010 เป็นต้นมา ลิเวอร์พูล ก็ถังแตก แทบไม่มีเงินเสริมทัพ และทยอยปล่อยนักเตะที่ดีที่สุดออกจากทีมไปเรื่อย ๆ แถมยังมีเรื่องปัญหาภายใน และถูกแฟนบอลต่อต้านอย่างหนัก
สุดท้าย 2 มะกันก็ยอมแพ้ ขายสโมสรต่อให้กลุ่มทุน FSG หรือ Fenway Sports Group ที่นำโดย จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ ในปี 2010 ในราคา 300 ล้านปอนด์ ... แม้จะเป็นกลุ่มทุนอเมริกันเหมือนกัน แต่โมเดลธุรกิจของ FSG นั้นเด็ดขาดกว่าหลายเท่าตัว และหนึ่งในวิธีที่พวกเขาใช้แก้หนี้ทำกำไรให้กับทีมก็คือ "Moneyball"
“Moneyball” ของ ลิเวอร์พูล มีต้นแบบจากทีมเบสบอลใน MLB อย่าง โอ๊คแลนด์ แอธเลติก ที่หลายคนอาจคุ้นในชื่อ โอ๊คแลนด์ เอส์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ข้อมูลสถิติขั้นสูง เพื่อมองหาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในนักเตะราคาถูกหรือยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย กล่าวคึอแทนที่จะใช้ "ชื่อเสียง" หรือ "ค่าตัว" เป็นเกณฑ์หลัก พวกเขาเชื่อเรื่องตัวเลข สถิติ และการประเมินนักเตะอย่างรอบด้าน แม้กระทั่งเรื่องนิสัยใจคอ
เมื่องบน้อยก็ต้องเลือกตัวที่ไม่ดัง และการจะเลือกนักเตะที่ "ไม่ดังแต่ปัง" จำเป็นต้องมีทีมหลังบ้านที่เก่งมาก ๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ลิเวอร์พูล เลือกลงทุนกับทีมงานชุดนี้ และได้หัวหอกของทีมอย่าง ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้อำนวยการกีฬา ผู้ผลักดันโมเดล Moneyball, เอียน เกรแฮม หัวหน้าฝ่ายวิจัย, นอกจากนี้ยังมีทีมวิเคราะห์ข้อมูลอีกหลายชีวิตที่ทำหน้าที่เจาะสถิติและประเมินศักยภาพนักเตะแต่ละคนที่ทีมจะซื้อ
โมเดลนี้เอง ค่อย ๆ ถูกสอดใส่เข้าไปในการเสริมทัพทีละน้อย โดยช่วงแรก ๆ หลังปี 2010 ทีมยังต้องหาเงินจ่ายหนี้เก่าไปก่อน จนกระทั่งมาเริ่มจริง ๆ ก็ตอนแต่งตั้ง เอ็ดเวิร์ดส์ ในปี 2016 ที่นำมาซึ่งนักเตะที่ซื้อถูก-เล่นดี และขายแพงมากมายหลายคน อาทิ ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ (ทำไรให้ทีม 133 ล้านปอนด์), โดมินิค โซลันกี้ (15.5 ล้านปอนด์), ริอาน บรูวส์เตอร์ (ทำกำไร 24 ล้านปอนด์), หลุยส์ ซัวเรซ (ทำกำไร 45 ล้านปอนด์) ... และอีกหลายคนในช่วงเวลา 4-5 ปีหลังสุดที่ไม่ได้กล่าวถึง
จากทีมที่เคยฟุบ ไม่เคยมีเงินก้อนใหญ่ซื้อนักเตะใหม่เสริมทัพ ลิเวอร์พูล ใช้โมเดล Moneyball ครั้งแล้วครั้งเล่า และประสบความสำเร็จแทบทุกดีลในช่วงหลัง ๆ มันทำให้ฐานด้านการเงินของพวกเขาแข็งแกร่งพร้อม ๆ กับการทีมที่ค่อย ๆ กลับสู่ความยิ่งใหญ่ ซึ่งกลายเป็นแรงบวกมหาศาลที่ทำให้ หงส์แดง กลายเป็นเศรษฐีในช่วงหลัง
มั่งคั่ง ยั่งยืน
โมเดลธุรกิจที่ยอดเยี่ยม และการเลือกโค้ชที่สามารถยกระดับทีมได้อย่างยั่งยืนแบบ เยอร์เก้น คล็อปป์ สร้างรายรับจำนวนมหาศาลให้กับ ลิเวอร์พูล โดยเฉพาะหลังปี 2018 เป็นต้นมา
นอกจากกำไรที่มาจากการขายนักเตะแล้ว ลิเวอร์พูล กลายเป็นทีมที่มีรายได้เชิงพาณิชย์ เติบโตทะลุ 300 ล้านปอนด์เป็นครั้งแรก, พวกเขาสร้างรายได้จากการขายตั๋วและสินค้าของสโมสรเพิ่มขึ้น 22 ล้านปอนด์ และการได้ไปเตะฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แบบต่อเนื่องก็เพิ่มรายรับอีกมาก จากส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ที่เพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี
นอกจากนี้ FSG ก็ยังลงทุนกับสโมสรเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโต โดยหนนี้เตรียมใช้กลยุทธ์การซื้อทีมฟุตบอลทีมอื่น ๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้น คล้าย ๆ กับโมเดลของ แมนฯ ซิตี้ โดย ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป และกลุ่ม เรดบูล ... ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้จะทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลนักเตะได้ลึกขึ้น และกว้างขึ้นยิ่งกว่าเดิม
สื่อต่างประเทศอย่าง Financial Times ได้สรุปว่าโดยรวม ๆ ทั้งหมดทำให้ ลิเวอร์พูล มีรายได้รวมสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของสโมสร ด้วยการกวาดรายรับไป 714 ล้านปอนด์ในซีซั่น 2024-25 ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 100 ล้านปอนด์เลยทีเดียว
ตัวเลขรายรับดังกล่าวถือเป็นตัวเลข "สีเขียว" ในบัญชีรายรับ-รายจ่าย ของพวกเขา และสิ่งนี้ทำสำคัญอย่างมากสำหรับฟุตบอลยุคใหม่ที่มีกฎเรื่องการเข้ามาบังคับใช้ ไม่ให้สโมสรขาดทุน มากกว่าได้กำไรเกิน 3 ปีติดต่อกัน โดยห้ามขาดทุนเกิน 105 ล้านปอนด์
ตัวเลขสีเขียวที่เข้ามาแบบต่อเนื่องนี้เอง ที่นอกจากจะทำให้ ลิเวอร์พูล มีเงินซื้อนักเตะแล้ว พวกเขายังสามารถซื้อนักเตะได้ตามใจชอบโดยแทบไม่ต้องสนกฎการเงิน (PSR) เลย เพราะตัวเลขรายรับของพวกเขา ยังมากกว่ารายจ่ายสบาย ๆ
ยิ่งในซีซั่นที่แล้ว ที่พวกเขาเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก ทีมเสริมทัพไปแค่ เฟเดริโก้ เคียซ่า คนเดียว แถมค่าตัวเพียงแค่ราว 10 ล้านยูโร มันยิ่งทำให้ซีซั่นนี้พวกเขาสามารถใช้เงินได้แบบตามใจไร้ข้อแม้ เพราะทีมมีความยืดหยุ่นด้านการเงินสูงมาก สามารถปรับนโยบายการเสริมทัพได้ตามที่พวกเขาต้องการสำหรับตลาดฤดูกาล 2025-26 และพวกเขาเลือกที่จะเสริมทัพแบบเปิดโหมดโหดจัด เพื่อสานต่อความสำเร็จจากซีซั่นที่แล้วแบบไม่มีกั๊ก
ที่เหลือคือระยะยาว
จากทีมที่เคยล้มเมื่อราว 15 ปีก่อน ลิเวอร์พูล พาตัวเองกลับมาเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่า 5.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก เรอัล มาดริด, แมนฯ ยูไนเต็ด และ บาร์เซโลน่า (จัดอันดับจากนิตยสาร Forbes) ... ชัดเจนว่าพวกเขาเป็นสโมสรที่ "รวย" และนั่นทำให้ไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาต้องเหนียมอายกับการเสริมทัพในตลาดซัมเมอร์นี้
การเสริมทัพรวมกว่า 300 ล้านปอนด์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ลิเวอร์พูล และกุนซือ อาร์เน่อ ชล็อต มีความเชื่อมั่นว่ารากฐานเรื่องรายรับของสโมสรมั่นคง และจะไม่กลับมาเป็นหนี้ ขาดทุนยับแบบเดิมได้ง่าย ๆ อีกแล้ว ดังนั้นการขยายความสำเร็จในสนามแข่งขัน จึงเป็นงานที่พวกเขาสามารถลงมือทำได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเลยในช่่วงนี้
การลงแข่งขันในพรีเมียร์ลีกในฐานะ "แชมป์เก่า" ทำให้พวกสามารถใช้นำโมเดล Moneyball มาผสมผสานกับการเลือกซื้อนักเตะที่พิสูจน์ตัวเองในเกมระดับสูงมาแล้ว มีศักยภาพที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง และเข้ากับระบบการทำทีมของ ชล็อต ... เพียงแต่หนนี้พวกเขาไม่ต้องเหนียมอาย วิเคราะห์แค่สถิติอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ถ้าทีมหลังบ้านและชล็อตเห็นตรงกันว่าใช่ พวกเขาก็สามารถเสริมทัพระดับพรีเมี่ยมโดยแทบไม่ต้องสนเรื่องราคาเหมือนกับสมัยก่อน ๆ เลย
ในยุค เยอร์เก้น คล็อปป์ หงส์แดง อาจจะเคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 1 สมัย แต่พวกเขาก็ต่อยอดไม่ได้ จากการไม่ลงทุนเสริมทัพเพื่อต่อยอดความสำเร็จ ... ดังนั้นในยุค ชล็อต จึงเป็นอะไรที่แตกต่าง จากการเสริมทัพแบบกระมิดกระเมี้ยน กลายเป็นการเสริมทัพแบบเขย่าตลาดซื้อขายทุกครั้งที่พวกเขาขยับตัว
ลิเวอร์พูล มองไปที่อนาคตในระยะยาว และบทเรียนครั้งเก่าจะไม่พาพวกเขาเดินไปซ้ำรอยอีกแล้ว การซื้อนักเตะที่ป้องกันแชมป์พรีเมียร์ลีก และไล่ล่าแชมป์ที่เหลือในยุค ชล็อต จึงเป็นเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลอย่างที่สุด เพราะถ้ามองอีกมุม การเสริมทัพด้วยนักเตะชั้นดี มีมูลค่า ไม่ได้ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งแค่ในสนามเท่านั้น แต่จะทำให้พวกเขาได้นักเตะระดับแม่เหล็กที่ดึงดูดแฟนบอลใหม่ ๆ ที่เป็นแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ของสโมสรเพิ่มเติมได้อีก
ว่ากันว่า "เงินต่อเงิน" คือแนวคิดสู่ความมั่งคั่ง การซื้อนักเตะของ ลิเวอร์พูล ก็เช่นกัน พวกเขาลงทุนมหาศาลก็เพราะว่าพวกเขามองเห็นสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า ที่ท้าทาย และยิ่งใหญ่กว่าจุดที่พวกเขาอยู่ในเวลานี้ และการไปถึงจุดนั้นได้คุณต้องเป็นระดับ "ยอดทีม" เท่านั้น ... และพวกเขากำลังเดินบนเส้นทางดังกล่าวสู่ความเป็นเลิศทั้งในและนอกสนามอย่างแท้จริง
แหล่งอ้างอิง :
https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/liverpool-fc-brief-rise-very-10262118
https://edition.cnn.com/2020/06/25/football/jurgen-klopp-liverpool-premier-league-title-spt-int/index.html
https://www.planetfootball.com/quick-reads/11-stats-on-how-liverpools-finances-have-changed-since-klopp-arrived/
https://www.thetimes.com/sport/football/article/liverpool-financial-results-jurgen-klopp-3tr3h5njr?utm_source=chatgpt.com®ion=global
https://www.nytimes.com/athletic/6486703/2025/07/17/liverpool-transfer-spending-criticism/
https://www.nytimes.com/athletic/4124305/2023/01/26/liverpool-transfer-spending/
https://www.si.com/soccer/how-liverpool-afford-record-shattering-transfer-spend