ในศึกแอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2023 เป็นทางฝั่ง ไอวอรี่ โคสต์ เจ้าภาพ ที่เอาชนะ ทีมชาติไนจีเรีย ในรอบชิงชนะเลิศด้วยสกอร์ 2-1 พร้อมคว้าแชมป์ในบ้านของตัวเองได้อย่างยิ่งใหญ่
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าเบื้องหลังความสำเร็จของทัพ "ช้างดำ" ครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับชาติมหาอำนาจจากเอเชียอย่างประเทศจีน เพราะสนามอลาสซาน อ๊วตทาร่า สเตเดี้ยม (Alassane Ouattara Stadium) สังเวียนชิงดำนั้นได้รับเงินสนับสนุนการสร้างจากรัฐบาลจีน
และนอกจาก ไอวอรี่ โคสต์ แล้ว ประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกาก็มีสเตเดี้ยมที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีนเช่นกัน ... เหตุใดจีนจึงต้องยอมควักเงินกว่าร้อยล้านดอลลาร์เพื่อสร้างสนามกีฬาให้ประเทศที่อยู่ห่างกันคนละทวีป Main Stand มีคำตอบ
เงินเชื่อมสัมพันธ์
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าการที่ประเทศจีนใช้กีฬาสานสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้น โดยในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 จีนได้นำการแข่งขันปิงปองมาใช้กระชับความสัมพันธ์กับ สหรัฐอเมริกา หรือที่ต่อมาเราเรียกว่า "การทูตปิงปอง" จนส่งผลให้เกิดการปรองดองระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในปี 1972 แถมยังเกิดการเยือนแดนมังกรครั้งประวัติศาสตร์ของ ริชาร์ด นิกสัน อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อีกด้วย
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า จีน ภายใต้การนำของรัฐบาล เหมา เจ๋อตง ได้เริ่มใช้แนวทางการทูตด้านกีฬาอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือการสร้างสเตเดี้ยมให้แก่ประเทศในทวีปแอฟริกา เพราะประเทศจีนที่กำลังมีการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม รวมถึงจำนวนประชากรภายในประเทศอย่างก้าวกระโดด ตระหนักได้ว่าการสร้างสเตเดี้ยมอาจสามารถเป็นใบเบิกทางในแง่ของการขยายอำนาจ รวมถึงต่อยอดเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ก่อนจะผลักดัน "Stadium Diplomacy" ไปยังทวีปแอฟริกาที่มีความต้องการปัจจัยพื้นฐานมากกว่าสเตเดี้ยม
แทนซาเนีย ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา คือประเทศแรก ๆ ที่จีนลงทุนสร้างสเตเดี้ยมให้ ณ เมืองดาร์เอสซาลาม (Dar es Salaam) เมื่อปี 1971 และหลังจากนั้นเรื่อยมาจีนก็ทยอยส่งมอบสเตเดี้ยมให้แก่ประเทศในทวีปแอฟริกาอีกหลายแห่ง โดย โซมาเลียได้รับสนามกีฬาในโมกาดิชู (Mogadishu) ในปี 1978 ตลอดจนในช่วงทศวรรษที่ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 จีนยังคงมอบสเตเดี้ยมเป็นของขวัญให้กับหลายประเทศในแอฟริกา อาทิ เบนิน, บูร์กินาฟาโซ, จิบูตี, ไลบีเรีย, มอริเตเนีย, มอริเชียส, ไนเจอร์ และ รวันดา
ในตอนแรกสนามกีฬาเหล่านั้นมีขนาดเล็กแต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานครบครัน ทว่าเมื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างของจีนเติบโตขึ้น จีนก็สามารถสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่และมีความสำคัญทางสถาปัตยกรรมมากขึ้น แม้จะเป็นสนามกีฬาที่สร้างในประเทศเผด็จการขณะนั้นอย่าง ณ ไนโรบี เคนย่า หรือ ที่กินชาซา (ดีอาร์ คองโก)
นับตั้งแต่โตโกไปจนถึงสาธารณรัฐแอฟริกากลาง สิริรวมแล้วจีนได้มอบสเตเดี้ยมให้กับประเทศพันธมิตรในแอฟริกาไปมากกว่า 40 แห่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีแค่สนามกีฬาเท่านั้นที่จีนบริการส่งมอบให้แก่ประเทศในแอฟริกา แต่มันยังรวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ เช่น สำนักงานของประธานาธิบดีของ ยูกันดา และ โมซัมบิก, รัฐสภาของ เซียร์ราลีโอน และ ซิมบับเว, โรงละครแห่งชาติของกานา, และสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของสหภาพแอฟริกา ในกรุงแอดดิสอาบาบา
นอกจากนี้แล้วสนามกีฬาอื่น ๆ อีกหลายแห่งยังได้รับเงินทุนผ่านข้อตกลงแบบแพ็คเกจ โดยมีธนาคารรัฐแห่งหนึ่งของจีนให้กู้ยืมเงินแก่รัฐบาลประเทศนั้น ๆ ซ้ำยังไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินชำระหนี้ เพราะหากประเทศใดไม่มีเงินสดเพียงพอพวกเขาจะยังสามารถจ่ายในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ หรือแม้แต่วัตถุดิบสินค้าอื่น ๆ ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่สมบูรณ์แบบหากมีเม็ดเงินจำกัด
สเตเดี้ยม = ตั๋วทอง
ต่อมาจีนได้ต่อยอดการสร้างสเตเดี้ยมสนามกีฬา จนมีสนามกีฬารังนกที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2008 โดยเฉพาะ และทำให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าเรื่องของสนามกีฬาระดับโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของประเทศ ด้วยการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
ขณะเดียวกันในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สเตเดี้ยมที่ได้รับทุนสนับสนุนการสร้างจากจีนก็เริ่มเปิดให้ใช้งาน โดยเฉพาะการแข่งขันที่สำคัญต่อทวีปของพวกเขาอย่าง AFCON ไม่ว่าจะเป็นสเตเดี้ยม 6 แห่งในมาลี เมื่อปี 2002 รวมถึง 4 สเตเดี้ยมสำหรับ กานา ในปี 2008, แองโกลา ปี 2010, กินีและกาบอง (เจ้าภาพร่วม) ปี 2012, กินี ปี 2015 และกาบอง ปี 2017
จีนได้สร้างชื่อเสียงในวงการกีฬาแอฟริกาโดยมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่าง สเตเดี้ยมอันทันสมัย ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่มีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกระดับโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของจีนในฐานะผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรม ตลอดจนวัฒนธรรมและคุณค่าของจีน จนกลายมาเป็น Soft Power อีกรูปแบบหนึ่งในเวทีโลกปัจจุบัน
จากการกระทำของจีนที่ขยายขอบเขตอำนาจในแอฟริกาผ่านการสร้างสเตเดี้ยม ทำให้พวกเขากลายเป็นตลาดน้ำมันอันดับต้น ๆ ของทั้งกานา และแองโกลา ซ้ำยังเปลี่ยนปักกิ่งให้เป็นจุดหมายปลายทางของกาบอง สำหรับการส่งออกน้ำมันและแมงกานีสถึง 15% นอกจากนี้ จีน ยังทำให้ตนเองเป็นคู่ค้าน้ำมันคนสำคัญของอิเควทอเรียลกินี
ซึ่งผู้ที่ศึกษากลยุทธ์การขยายอำนาจผ่านสเตเดี้ยมของจีน ได้แสดงความเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ จีนทำอยู่นั้นยึดผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก "จีนไม่ได้ถามว่าทำไมคุณถึงต้องมีสนามกีฬา พวกเขาแค่หาเงินและสร้างมันขึ้นมา" อิตามาร์ ดูบินสกี นักวิจัยจากโครงการแอฟริกันศึกษาที่มหาวิทยาลัยเบนกูเรียนแห่งเนเกฟ ประเทศอิสราเอล กล่าว
เพราะหลังจากที่สเตเดี้ยมโดยฝีมือชาวจีนถูกใช้จัดการแข่งขันเรียบร้อยแล้ว บริษัทผู้รับผิดชอบกลับไม่ได้เข้ามาดูแลหรือบูรณะเพิ่มเติม แต่ทางรัฐบาลจีนยังคงสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศ และดำเนินการค้าตลอดเวลา เช่น สเตเดี้ยมที่ลีเบรอวิล ณ กาบอง ที่ถูกสร้างเพื่อรองรับรอบชิงชนะเลิศ AFCON เมื่อปี 2017 ทว่าปัจจุบันถูกทิ้งร้าง รวมถึงอนาคตของสนามมอลาสซาน อ๊วตทาร่า สเตเดี้ยม สังเวียนชิงดำแอฟริกัน คัพ ออฟเนชันส์ หนล่าสุดก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะใช้ทำการอะไรต่อไป
หน้าซื่อใจคด
อย่างไรก็ตามมีชาวแอฟริกันจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่พอใจกับการเข้ามาของจีน ซึ่งประเด็นแรกที่ จีน ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับการสร้างสนามกีฬาเหล่านี้ เพราะแม้บริษัทก่อสร้างของจีนจะมีชื่อเสียงในเรื่องการดำเนินงานที่รวดเร็วแต่ก็ต้องแลกกับเม็ดเงินอันมหาศาล จนโดนมองว่าไม่ยั่งยืนในระยะยาว แถมสนามกีฬาบางแห่งยังถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีความต้องการเล่นกีฬาเพียงเล็กน้อย จนทำให้การเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริงและหนี้ที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลจีน ว่าคุ้มค่าแล้วหรือ?
และหากมองในรายละเอียดการสร้างสเตเดี้ยมให้กับประเทศในแถบแอฟริกาโดยฝีมือของจีน จะใช้คำว่า “ผักชีโรยหน้า” ก็ไม่เกินจริงเสียทีเดียว เนื่องจากหากเปรียบเทียบหน้าตาของสเตเดี้ยมแต่ละแห่งจะพบว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน ราวกับไม่สนใจวัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์ของแต่ละชาติ ยกตัวอย่างเช่น สเตเดี้ยมที่แซมเบีย และกาบอง (สนามกีฬา Levy Mwanawasa และสนามกีฬา Stade de l’Amitié) หรือแม้แต่สนามกีฬาแห่งชาติของคอสตาริกาและมาลาวี ที่ตั้งอยู่คนละฟากของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้แต่คนหลายคนมองว่าเป็นเหมือนสเตเดี้ยมฝาแฝดกัน ยังไม่รวมถึงเรื่องที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการขุดเพชรในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและซิมบับเว มาสร้างสนามกีฬาอีกด้วย
แต่สิ่งที่หลายคนวิตกกังวลอย่างหนักจริง ๆ คงหนีไม่พ้นข้อสังเกตที่ว่าการสร้างสเตเดี้ยมให้กับประเทศในทวีปแอฟริกาของ จีน นับเป็นการล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่หรือไม่? เพราะด้วยข้อตกลงหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรม หลายเรื่อง จีน เป็นฝ่ายได้เปรียบ อาทิ เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์และการแข่งขันการค้าที่ไม่เป็นธรรม การใช้แรงงานจีนเพียงอย่างเดียว และข้อกังวลอื่น ๆ เกี่ยวกับความโปร่งใสในขั้นตอนการดำเนินการ
รวมถึงความรับผิดชอบในการประมูลและกระบวนการก่อสร้าง ถึงขนาดที่มีบางคนออกมาแฉว่ามีการมอบสัญญาให้กับบริษัทจีนโดยไม่มีการควบคุมดูแลหรือตรวจสอบสถานะอย่างเหมาะสม ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีคนงานชาวจีนเดินทางมาทำงานสร้างสนามกีฬาแห่งชาติของคอสตาริกา ข้ามวันข้ามคืนแม้จะมีกฎหมายของประเทศคอสตาริกา ห้ามไว้อย่างชัดเจนก็ตาม แถมวัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้ในโครงการก่อสร้างสเตเดี้ยมยังจัดส่งมาจากประเทศจีน ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของคอสตาริกาได้เพียงเล็กน้อย
ในขณะที่ทางการทูตของจีนแย้งว่านี่เป็นเพียงวิธีในการส่งเสริมไมตรีจิตและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าแรงจูงใจที่แท้จริงสำหรับการสร้างสเตเดี้ยมให้กับประเทศในแอฟริกาของจีนนั้นเกี่ยวกับอำนาจและการควบคุมมากกว่ามิตรภาพอย่างงั้นหรือ?
กระนั้นแนวทางของจีนที่มาพร้อมกับนโยบาย "ไม่ผูกมัด" การเมืองและสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ส่งผลให้เป็นที่ต้องการของหลายประเทศในแอฟริกา แตกต่างจากผู้เล่นทางการเมืองระดับโลกรายอื่น ๆ จากฝั่งตะวันตกที่มักให้ความสนใจในบริบทสังคมภายในประเทศที่พวกเขาทำการมอบสิ่งต่าง ๆ ให้
อย่างไรก็ดีเหตุผลจริง ๆ ที่ประเทศในทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่ยอมรับการเข้ามาของจีนทั้งที่รู้ว่าอาจมีผลกระทบตามมา ก็เพราะพวกเขาเชื่อว่าการมีสเตเดี้ยมอันทันสมัย และใช้สำหรับรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ ๆ จะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว รายได้ที่เพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจในท้องถิ่น รวมถึงเป็นการแสดงความทันสมัยและอิทธิพลในเวทีระดับโลกเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าความพยายามของ จีน สามารถช่วยปรับปรุงภาพลักษณ์ของพวกเขาในมุมของประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกาได้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยที่หลายคนมองว่าจีนเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในการพัฒนาของพวกเขา … ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งเราอาจได้เห็น จีน กลายเป็นมหาอำนาจของโลกในทุก ๆ ด้านแบบเดี่ยว ๆ ผ่านการสร้างสนามกีฬา ก็เป็นได้
ดีไม่ดีหากตัดเรื่องกีฬาออกไป จีน อาจช่วยให้ประเทศพันธมิตรที่ได้รับการช่วยเหลือเชิดหน้าชูตาบนเวทีโลกได้ด้วยซ้ำ เหมือนอย่างกรณีของ เอธิโอเปีย ประเทศที่ยากจนอันดับท็อป ๆ ของโลก ที่ จีน ยอมหอบเงินหลายพันล้านดอลลาร์มาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงการค้า แต่ต้องแลกกับหนี้มหาศาลและการครอบงำระหว่างประเทศ
แหล่งอ้างอิง :
https://www.nytimes.com/2024/02/10/world/africa/china-africa-stadiums.html
https://medium.com/@qaraqra/building-stadiums-and-alliances-chinas-diplomatic-approach-to-dominance-6a6ce8842643