Feature

Soccer for life : ลีกฟุตบอลสมัครเล่นแห่งโตเกียว ที่สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น | Main Stand

ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญสภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และยังคงสถานการณ์นี้มาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน ในปี 2023 มีข้อมูลระบุว่าประชากรเกือบ 1 ใน 3 จากทั้งหมดประมาณ 126 ล้านคนของประเทศ มีอายุเฉลี่ย 65 ปีขึ้นไป

 


เมื่อสังคมผู้สูงอายุยังคงปรากฏให้เห็น เป็นเหตุให้ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงประชากรในญี่ปุ่น ต่างก็มีนโยบายรวมถึงแนวทางปฏิบัติที่สอดรับกับกลุ่มประชากรสูงอายุในประเทศ 

“การเล่นกีฬาและออกกำลังกาย” เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ๆ นั่นเพราะสำหรับผู้สูงอายุ การออกกำลังกายในสัดส่วนที่ร่างกายรับไหว นอกจากจะนำพาซึ่งสุขภาพที่ดีแล้ว ในบางโอกาสยังได้รับมิตรภาพที่ดีไปด้วย ดังการเกิดขึ้นของ “Soccer for life” หรือลีกฟุตบอลที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของคนสูงวัยในโตเกียว เมืองหลวงของประเทศ

ลีกของคน “สูงวัย” ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของคนในประเทศญี่ปุ่นในทิศทางใดบ้าง และฟุตบอลให้อะไรกับคนกลุ่มนี้ มาติดตามเรื่องราวทั้งหมดไปพร้อม ๆ กันกับ Main Stand

 

สังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น

ตามหลักการของ องค์กรสหประชาชาติ หรือ UN กำหนดคำนิยามผู้สูงอายุว่า เป็นประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และแบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไว้ 3 รูปแบบ คือ 1. สังคมผู้สูงอายุ (Aging society), 2. สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) และ 3. สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) 

โดยแต่ละระดับจะมีความแตกต่างไปตามการเปรียบเทียบกับร้อยละของประชากรในแต่ละประเทศ เช่น ในระดับแรก หมายถึงประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ ตามลำดับ

สำหรับประเทศญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่โดยสมบูรณ์เมื่อปี 2007 ญี่ปุ่นคงสถานะนี้อยู่เรื่อยมา ว่ากันว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นนั้นมีอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีท่าทีว่าจะลดลง แถมอัตราเกิดของประชากรก็ต่ำสวนทางกันอีกด้วย

อย่างในปี 2023 นี้ ญี่ปุ่นมีกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นจำนวนเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด 126 ล้านคน โดยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 85 ปี และนั่นก็ทำให้ดินแดนอาทิตย์อุทัยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดชาติหนึ่งของโลก

เมื่อหลีกเลี่ยงการเป็นสังคมผู้สูงอายุไม่ได้อีกต่อไป นั่นทำให้สังคมความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในแง่ต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับวิถีทางดังกล่าวอยู่เรื่อยมา

ยกตัวอย่างภาครัฐได้มีทั้งการขอความร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชน ตลอดจนการผลักดัน “พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาเสถียรภาพการจ้างงานของผู้สูงอายุ” ในปี 2021 เพื่อให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ ขยายระยะเวลาเกษียณของลูกจ้างจากเดิม 65 ปี เป็น 70 ปี  ไปจนถึงเรื่องการจ่ายเงินบำนาญให้ช้าลงแต่จำนวนสูงขึ้น 

ตลอดจนการขอความร่วมมือในบางโอกาส เพื่อให้ผู้สูงอายุในช่วงอายุดังกล่าวยังคงอยู่ในแวดวงการทำงาน โดยอาจจะเปลี่ยนไปในรูปแบบของการจ้างงานแบบไม่ประจำ (ฟรีแลนซ์) เป็นต้น 

นำมาซึ่งข้อมูลชุดหนึ่งที่เว็บไซต์ Japan Times รายงานว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีในญี่ปุ่น เป็นบุคคลที่อยู่ในสถานะ “มีงานทำ” 

ขณะที่แนวทางความร่วมมืออื่น ๆ นอกจากภาครัฐก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อสอดรับกับกระแสสังคมสูงวัย และนั่นก็ทำให้กิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรม ที่หากมองผิวเผินแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนสูงอายุ เช่น การรวมกลุ่มกันเล่นกีฬาและออกกำลังกาย โดยมี “ฟุตบอล” เป็นแรงผลักดัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องใช้แรงกายในการลงเล่นไม่แพ้กีฬาหรือการออกกำลังกายรูปแบบอื่น ๆ และดูเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนอายุ 60 ปี หรือมากกว่านั้นมาห้ำหั่นกันในสนาม

ทว่าเพราะแพสชั่น (Passion) แห่งการขับเคลื่อนของหลาย ๆ ฝ่ายในสังคมกลับทำให้คนสูงอายุลงเล่นฟุตบอลร่วมกันได้อย่างไม่มีเคอะเขิน 

นำมาซึ่งการเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือขององค์กร “Soccer for life” และกลุ่มคนสูงอายุที่หลงใหลในเกมลูกหนัง ก่อกำเนิดเป็นลีกฟุตบอลเพื่อประชากรสูงอายุขึ้นมาที่มหานครโตเกียว

 

สูงวัย ยูไนเต็ด

“ผมคิดว่าการเกิดขึ้นของลีกสำหรับคนอายุมากกว่า 80 ปี เป็นภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดเจนในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งประชากรสูงอายุสามารถทำกิจกรรมเช่นนี้ได้” ยูทากะ อิโตะ เลขาธิการของ Soccer for life (SFL) League กล่าวกับ Reuters

ว่ากันว่าการเกิดขึ้นของลีกฟุตบอลเพื่อคนสูงวัยริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2002 แล้ว แต่เดิมเป็นลีกที่กำหนดแบบภาพกว้าง กล่าวคือให้คนที่อายุมากกว่า 50 ถึง 60 ปีขึ้นไปลงเล่น จากนั้นก็เริ่มขมวดช่วงวัยเพื่อสอดคล้องกับเหล่าคุณปู่คุณตาที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของลีก

ในปี 2008 มีการกำหนดลีกและกำหนดผู้เข้าร่วมว่าต้องมีอายุอย่างน้อย 60 ปี จากนั้นอีก 4 ปี (2012) มีการเปิดลีกสำหรับผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ตามมาด้วยในอีก 5 ปีต่อมา (2017) มีลีกสำหรับคนที่อายุ 75 ปีขึ้นไป 

ส่วนจำนวนผู้เข้าร่วมก็ไม่ใช่น้อย ๆ ซึ่งสะท้อนถึงสังคมคนสูงวัยได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างการเก็บข้อมูลจำนวนทีมเข้าร่วมแข่งขัน อย่างลีกสำหรับคนอายุเกิน 60 ปี ปัจจุบันมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันถึง 57 ทีม เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ถึง 13 ทีม

ขณะที่ลีกสำหรับคนที่อายุเกิน 70 ปี ในปี 2023 นี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 11 ทีมเป็น 15 ทีม ยิ่งไปกว่านั้นกับลีกของผู้เล่นที่อายุ 80 ปีขึ้นไปที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2022 ก็มีทีมเข้าร่วมแข่งขันถึง 3 ทีมด้วยกัน

และจากข้อมูลที่สำนักข่าว Reuters นำเสนอ พบว่าคนที่อายุมากที่สุดที่เป็นส่วนหนึ่งของลีกฟุตบอล SFL อยู่ที่ 93 ปี

ไม่ใช่ว่าคนสูงวัยทุกคนจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของลีกได้ทันที เพราะทั้งฝ่ายจัดการแข่งขันไปจนถึงตัวนักกีฬาเองก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความเหมาะสมต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลร้ายมากไปกว่าผลดี

ฝ่ายจัดการแข่งขันจำเป็นต้องมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ และต้องฝึกปฏิบัติจนใช้งานให้เป็นและรู้ถึงวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ขณะที่นักกีฬาก็ต้องมีสุขภาพที่ดีและมีหลักฐานยืนยันว่าสามารถออกกำลังกายด้วยฟุตบอลได้ ยิ่งช่วงหลังก็ยิ่งมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น หลังการเกิดขึ้นของเชื้อไวรัสโควิด-19

การแข่งขันจะเน้นการเล่นบนสนามหญ้าเทียมที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศและจัดการได้ง่ายกว่า หรือหากวันใดที่อากาศแปรปรวนและทำให้นักกีฬาเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดด (ฮีทสโตรก) ก็จะหยุดแข่งขันในวันนั้น ๆ ในทันที

 

แด่สุขภาพและมิตรภาพ

ฟุตบอลเกี่ยวข้องกับเรื่องการแข่งขัน ไม่แปลกที่การแข่งขันลีก SFL นี้จะมีความจริงจังเกิดขึ้นบ้างในบางโอกาส 

ดังตัวอย่างเสียงตะโกนบางส่วนของเหล่าแข้งสูงวัยภายในสนามหญ้าเทียมโคมาซาวะ โอลิมปิก พาร์ก ที่กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลรุ่นอายุ 80 ปีขึ้นไป เมื่อเดือนเมษายน 2023

“เร็วเข้า ๆ ” 

“เอ็งป้องกันช้าไปแล้ว” 

แม้จะมีเสียงตะโกนที่แสดงถึงความจริงจัง บางคนก็โดนใบเหลืองตามรูปเกมปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง แต่บางครั้งความจริงจังก็ถูกลดทอนลงไป อาจด้วยสังขารที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา บางคนลงสนามไม่ถึง 10 นาทีก็ขอเปลี่ยนตัวออก บางคนจ่ายบอลน้ำหนักเบาไปจนไม่ถึงเพื่อน บ้างก็เตะวืดไม่โดนบอล ฯลฯ

ตัวอย่างข้างต้นอาจดูเป็นอุปสรรคและเป็นความทุลักทุเลที่เกิดขึ้นในสนาม แต่อันที่จริงเรื่องของรูปเกมและการแข่งขันเป็นประเด็นรองที่เหล่าผู้มีส่วนร่วมไม่ได้มองว่าเป็นเป้าหมายใหญ่ 

เหนือสิ่งอื่นใด การรวมกลุ่มกันแข่งขันฟุตบอลลีกสูงวัยในโตเกียวเป็นการลงแข่งขันด้วยธงในใจเรื่องการมีสุขภาพดี (Healthy) และเรื่องของมิตรภาพ (Friendly) มากกว่า 

“ถ้าผมไม่ได้เล่นฟุตบอล ตอนนี้ผมคงแก่ตายไปแล้วล่ะ” ชิโงะ ชิโอซาวะ อดีตนักออกแบบรถแข่งในวัย 93 ปี ที่ลงเล่นเป็นผู้รักษาประตู ให้เครดิตการร่วมกลุ่มกันเล่นฟุตบอลสูงวัย ซึ่งช่วยให้เขาเลิกสูบบุหรี่และช่วยฟื้นตัวจากการรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบได้เป็นอย่างดี 

“สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขมากกว่าสิ่งใดก็คือการที่ผมได้มีโอกาสเตะฟุตบอลนี่ล่ะครับ” คิม มย็อง-ซิค วัย 84 กะรัต อดีตนักฟุตบอลทีมสมัครเล่นชาวเกาหลีในญี่ปุ่น กล่าว

“ความสนิทสนมกันมันเกิดขึ้นในหมู่พวกเรา และพวกเราก็คุยกันเยอะมาก ๆ มันดีต่อสุขภาพ มันทำให้ผมรู้สึกได้รับการเติมเต็มอย่างดีเยี่ยม” ทาคายูกิ อิโนะฮานะ วัย 83 ปี เผยถึงมิตรภาพที่ได้รับจากการแข่งขัน

ท่ามกลางความท้าทายเรื่องสังคมผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น การเกิดขึ้นของ Soccer for life นับเป็นการปรับตัวในอีกรูปแบบหนึ่งของคนชราแดนซามูไร ที่ทั้งได้การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีไปจนถึงการสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ ผ่านสังเวียนหญ้าเทียม ภายใต้การแข่งขันที่ถูกออกแบบมาสำหรับคนสูงอายุ 

ทั้งหมดก็เพื่อให้กลุ่มคนวัยมากประสบการณ์เหล่านี้ไม่ได้แค่รู้สึกถึงเรื่องสุขภาพที่เสื่อมถอยหรือต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.japantimes.co.jp/sports/2023/04/19/soccer/japan-senior-soccer-o80/ 
https://www.nippon.com/en/japan-data/h01111/ 
https://www.reuters.com/investigates/special-report/asia-population-japan-elderly-soccer/ 
https://www.asahi.com/ajw/articles/14797799 
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30453 
https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/101170 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ