Feature

จอร์จ ออร์เวลล์ : กีฬาคือการเลียนแบบสงคราม...สิ่งที่สำคัญไม่ใช่พฤติกรรมของผู้เล่น แต่เป็นทัศนคติของผู้ชม | Main Stand

จอร์จ ออร์เวลล์ เป็นนักเขียนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ผลงานส่วนใหญ่ของเขามีเนื้อหามุ่งเน้นเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ต่อต้านเผด็จการ และส่งเสริมสังคมแบบประชาธิปไตย

 


ในปี 1945 ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน จอร์จ ออร์เวลล์ มีโอกาสได้เข้าชมการแข่งขันของ ดินาโม มอสโก แชมป์ลีกโซเวียต ที่มาประชันฝีมือกับสโมสรที่ดีที่สุดของราชอาณาจักรเพื่อเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีอันดีงามระหว่าง 2 ชาติผู้ชนะสงครามในยุคนั้น

แต่ทว่าภายหลังการแข่งขันจบลง จอร์จ ออร์เวลล์ เดินออกจากสนามด้วยความผิดหวัง เพราะเขาสัมผัสได้ถึงบางสิ่งที่ผิดปกติในเกมนั้น จนเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบทความชื่อ ‘The Sporting Spirit’ ในเวลาต่อมา

เกิดอะไรขึ้นในเกมนั้นบ้าง เหตุใด จอร์จ ออร์เวลล์ ถึงต้องกล่าวว่า “กีฬาเปรียบเสมือนสงครามที่ไร้กระสุนปืน” ติดตามได้ที่ MainStand

 

ความโกลาหลจากมอสโก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อปี ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียต นำโดย โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ก็มีบทบาทอย่างมากในสังคมโลกยุคนั้น

สมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงถือโอกาสนี้เชิญสโมรสร ดินาโม มอสโก (Dynamo Moscow) ทีมแชมป์ลีกสหภาพโซเวียต ฤดูกาล 1945 มาประชันฝีมือกับยอดทีมของเกาะอังกฤษ เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีอันดีงามระหว่าง 2 ชาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไป

ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นของมอสโกก็มีความรู้สึกปีติยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ประชันฝีเท้ากับนักเตะของอังกฤษที่ได้ชื่อว่าเป็นลีกมาตรฐานสูงของยุโรปในสมัยนั้น

ข่าวคราวดังกล่าวสร้างความโกลาหลไปทั่วเกาะอังกฤษทันที เนื่องจากผู้คนแทบไม่รู้จักคู่ต่อสู้ของพวกเขาเลย ถึงแม้ว่ามอสโกจะมีผู้เล่นระดับพรสวรรค์สูงมากมาย แต่กลับมีเสียงอื้ออึงกันว่าพวกเขาผสมผสานผู้เล่นจำนวนหนึ่งของลีกที่ไม่ได้เป็นผู้เล่นของมอสโกเพื่อต้องการคว้าชัยชนะเหนือทีมของอังกฤษให้ได้

แต่ถึงกระนั้น ประชาชนชาวอังกฤษส่วนใหญ่ก็ตั้งตารอคอยการมาถึงของมอสโกด้วยความเคารพอย่างสูง เนื่องจากโซเวียตคือหนึ่งในพันธมิตรที่ช่วยให้อังกฤษหยุดความบ้าคลั่งของฮิตเลอร์เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้

ดินาโม มอสโก เดินทางมาถึงแผนดินอังกฤษช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1945 ประกอบด้วยทีมงานและนักกีฬาหลายสิบชีวิต แต่พวกเขากลับรู้สึกผิดหวังกับการต้อนรับของเจ้าภาพที่ให้พำนักในกรมทหารม้าประจำกองทัพอังกฤษ (Royal Horse Guards) ในไวท์ฮอลล์ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ดีทีมผู้มาเยือนปฏิเสธที่จะค้างแรมที่นั่น ดังนั้นทางเลือกเดียวที่อังกฤษทำได้คือต้องวิ่งว่อนหาโรงแรมอย่างเร่งด่วน

แม้ว่าความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่อังกฤษจะสร้างความไม่พอใจให้กับทีมงานของมอสโก แต่ท้ายที่สุดประเด็นความขัดแย้งต่าง ๆ ก็ยุติลงเมื่อคณะเดินทางทั้งหมดได้รับห้องพักของโรงแรมอิมพีเรียล ในรัสเซล สแควร์

 

สงครามที่ไร้กระสุนปืน

ภายใต้ปัญหามากมายของทีมผู้มาเยือน ในที่สุดการแข่งขันเกมแรกกับ เชลซี ก็เริ่มขึ้นในบ่ายวันอังคารของเดือนพฤษจิกายน ปี ค.ศ. 1945 ที่สนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ ซึ่งคับคั่งไปด้วยผู้ชมมากกว่า 85,000 คนบนอัฒจันทร์

ผู้เล่นจากมอสโกทำสิ่งที่เหนือความคาดหมายอย่างยิ่ง พวกเขามอบดอกไม้ให้กับผู้เล่นของเชลซีซึ่งนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของลีกโซเวียต แล้วหลังจากนั้นเสียงนกหวีดก็ดังขึ้น การแข่งขันเป็นไปด้วยความสนุกตื่นเต้นเร้าใจ แม้เชลซีจะเป็นฝ่ายยิงนำไปก่อน 2-0 แต่มอสโกก็สามารถตามตีเสมอได้ 2-2 และเกมนั้นก็จบลงด้วยผลสกอร์ 3-3 ชนิดที่แฟนบอลอังกฤษแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง

ในเกมต่อมาที่พบกับ คาร์ดิฟฟ์ (ดิวิชั่นสามในยุคนั้น) มอสโกทำสิ่งที่ตื่นตะลึง เมื่อพวกเขาสามารถยิงถล่มยอดทีมจากเวลส์ไปได้ 10-1 นับเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายที่สุดของชาวสหราชอาณาจักร

ดังนั้นในวันที่ 21 พฤษจิกายน 1945 จึงเป็นเกมที่เข้มข้นที่สุด เพราะทีมแชมป์ลีกโซเวียตต้องเผชิญหน้ากับเจ้าของแชมป์ดิวิชันหนึ่ง (พรีเมียร์ลีก) 5 สมัย อย่าง อาร์เซนอล ซึ่งนับว่าเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุดของอังกฤษในยุคนั้น

ไวท์ ฮาร์ท เลน คือสถานที่จัดการแข่งขัน ผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้ามาชมเกมกันอย่างคับคั่ง บนท้องถนนเต็มไปด้วยผู้คนนับหมื่น ผู้คนพลุกพล่านคล้ายจะเป็นสงครามกลางเมืองก็ไม่ปาน

ผู้เล่นจากมอสโกไม่เคยสัมผัสกับเกมที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้มาก่อน อาร์เซนอลเต็มไปด้วยผู้เล่นพรสวรรค์มากมาย อาทิ สแตนลีย์ แมทธิวส์ ที่ยืมตัวมาจาก สโตค ซิตี้, สแตน มอร์เทนสัน ของแบล็คพูล หรือ โจ บาคุซซี ของฟูแล่ม

เมื่อความกลัวกัดกินจิตใจ ผู้เล่นของมอสโกจึงบ่นว่าพวกเขาถูกขอให้เล่นกับทีมชาติอังกฤษ เมื่อเปรียบเทียบผู้เล่นของลีกโซเวียตแล้วชื่อชั้นของนักเตะนับว่าเป็นรองค่อนข้างสูง ดังนั้นพวกเขาจึงขอให้ นิโคไล ลาตีเชฟ (Nikolay Latyshev) ผู้ตัดสินชาวรัสเซียเป็นผู้ชี้ขาดในเกมนี้แทน

ทว่าสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อมีหมอกหนาปกคลุมสนามอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เกมก็ต้องดำเนินต่อไปท่ามกลางฝูงชนกว่า 54,000 คน ซึ่งไม่มีใครได้เห็นว่ามอสโกยิงขึ้นนำตั้งแต่นาทีแรก ก่อนที่ผู้เล่นของอาร์เซนอลจะมีโอกาสได้สัมผัสบอลด้วยซ้ำ

“เกมที่ไม่มีใครมองเห็น” คือคำกล่าวล้อเลียนเกมในวันนั้น

ด้วยความที่มีหมอกหนาทึบปกคลุมทั่วไวท์ ฮาร์ท เลน จึงทำให้ผู้คนมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามได้ไม่ถนัด กล่าวกันว่ามีการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น จอร์จ ดรูรี ผู้เล่นของอาร์เซนอลได้รับใบแดงไล่ออกจากสนาม หรือแม้แต่แมทธิวส์ที่เคยเลี้ยงบอลอย่างคล่องแคล่วก็ถูกสกัดกั้นอย่างรุนแรงโดยที่ผู้เล่นมอสโกไม่ถูกตักเตือนด้วยซ้ำ

มีคำกล่าวว่าผู้เล่นของมอสโกในสนามมีมากถึง 15 คน

หลังจบการแข่งขัน แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเกมนั้น แต่เช้าวันถัดมาพวกเขาก็ได้รับข่าวจาก Daily Mail ว่า "เป็นหนึ่งในเกมที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่ผู้คน 54,000 คนไม่เคยเห็น แม้อาร์เซนอลจะพ่ายแพ้ไป 4-3 ก็ตาม"

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เกมได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นอย่างสูง มอสโกจึงเดินทางขึ้นแดนเหนือเพื่อเล่นเกมสุดท้ายกับ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ก่อนจบลงด้วยผลเสมอ 2-2 อย่างน่าพอใจ

 

จิตวิญญาณแห่งกีฬา

จอร์จ ออร์เวลล์ ขณะนั้นอาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เขาเป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารทริบูน (Tribune) ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตย และได้ยินข่าวลือมากมายเกี่ยวกับทีมจากโซเวียต จึงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ภายหลังได้รับชมเกมระหว่าง อาร์เซนอล กับ ดินาโม มอสโก ที่สนามไวท์ ฮาร์ท เลน เขาก็รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากสัมผัสได้ว่านี้ไม่ใช่เกมกีฬาแต่เป็นสงคราม

ออร์เวลล์นำแนวคิดดังกล่าวมาเขียนเป็นบทความชื่อ “The Sporting Spirit” ที่มีใจความโจมตีระบบเผด็จการที่แฝงอยู่ในเกมกีฬา โดยให้เหตุผลว่าการแข่งขันครั้งนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของทั้งสองชาติที่มีเรื่องของความหลงใหลในแนวคิดชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง

เขาเห็นทั้งสองชาติพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับชัยชนะ ไม่ว่าจะพยายามดึงตัวผู้เล่นมากฝีมือจากทีมอื่นเข้ามาร่วมทีม หรือแม้แต่การพยายามโกงการแข่งขัน

เขาประหลาดใจอย่างมากเมื่อได้ยินผู้คนพูดว่า “กีฬาสร้างไมตรีจิตระหว่างชาติ และถ้าคนทั่วโลกสามารถพบกันที่สนามฟุตบอลหรือคริกเก็ตได้ พวกเขาคงไม่มีโอกาสพบกันในสนามรบ”

ออร์เวลล์โจมตีไปว่า “คนเล่นกีฬาทุกคนล้วนต้องการชัยชนะ ยิ่งถ้าหากมีเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้เล่นจะถูกปลุกสัญชาตญาณการต่อสู้ที่ป่าเถื่อนออกมา และเกมกีฬาก็จะไม่มีความสนุกอีกต่อไป”

อย่างไรก็ดี ออร์เวลล์เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการเล่นกีฬาไม่ใช่พฤติกรรมของผู้เล่นในสนาม แต่เป็นทัศนคติของผู้คนที่จะแสดงตัวตนออกมาอย่างชัดเจนระหว่างรับชมการแข่งขัน

เขาได้เห็นปฏิกิริยาของผู้คนจำนวนมากที่กำลังแสดงออกถึงความเกลียดชังซึ่งกันและกันอย่างไม่น่าเชื่อ จนเขารู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างมากที่กีฬาตกต้องเป็นเครื่องมือทางการเมืองและนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างทั้งสองประเทศ

“กีฬาคือการเลียนแบบสงครามอย่างลีกเลี่ยงไม่ได้ เบื้องหลังของการแข่งขันเหล่านี้คือลัทธิชาตินิยมที่ทำงานอย่างเดือดดาลและบ้าคลั่งจนมองทุกอย่างเป็นเกมการแข่งขัน ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์อย่างมากหากการแข่งขันทั้งปวงเป็นไปเพื่อไมตรีจิตที่ดีต่อกัน แต่ทั้งหมดที่กล่าวถึงเป็นสิ่งที่ผมยังมองไม่เห็นในเวลานี้” ออร์เวลล์ กล่าว

 

นักเขียนผู้ต่อต้านเผด็จการ

จอร์จ ออร์เวลล์ เป็นนามปากกาของ อีริก อาเธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) เขาเป็นนักเขียน นักข่าว และนักวิจารณ์ชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1903 ที่รัฐเบงกอล ในช่วงที่อินเดียยังคงเป็นชาติอาณานิคมของอังกฤษ

เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนผู้ผ่านชีวิตมามาก ด้วยความที่เกิดในประเทศอาณานิคมทำให้มีโอกาสได้เห็นกลุ่มชนชั้นแรงงานถูกกดขี่จากประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างป่าเถื่อน อีกทั้งยังเคยเสี่ยงชีวิตเข้าไปร่วมรบในสงครามกลางเมืองสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1939 เพื่อต่อสู้กับระบอบฟาสซิสต์จนถูกยิงเข้าที่ลำคอ ทำให้เขามีปัญหาเกี่ยวกับการพูดเสมอมา

จอร์จ ออร์เวลล์ ยังเคยแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มคนไร้บ้านเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มคนผู้ไม่มีอันจะกินในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภายหลังจากที่สงครามปะทุขึ้นทั่วทุกมุมโลกเขาจึงได้เห็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคม รวมถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่โดนกดขี่และใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง

เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากผลงานนวนิยายเรื่อง Animal Farm (1945) และ Nineteen Eighty-Four  (1949) นวนิยายแนวดิสโทเปียที่เสียดสีการเมืองที่มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีระบอบเผด็จการเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการวิจารณ์รัฐบาลอังกฤษและระบอบสังคมนิยม

คำพูดที่มีชื่อเสียงของ จอร์จ ออร์เวลล์ ได้แก่

“อำนาจอยู่ในมือของผู้ที่ควบคุมปัจจัยการผลิต”

มันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมที่มีคนกลุ่มเล็ก ๆ เพียงไม่กี่คนเป็นผู้ควบคุม แต่กลับมีอิทธิพลชี้นำเศรษฐกิจและชีวิตของชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่ไว้ได้ทั้งหมด

ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ จอร์จ ออร์เวลล์ สร้างชื่อเสียงด้วยการเป็นนักเขียนผู้ต่อต้านเผด็จการ นวนนิยายของเขาอย่าง Animal Farm ได้สะท้อนแนวคิดและโลกทัศน์ของเขาออกมาอย่างชัดเจน

มันคือนวนิยายที่เขียนขึ้นเพื่อเสียดสีการปฏิวัติรัสเซียโดยใช้สัตว์เป็นตัวดำเนินเรื่อง เขาต้องการชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เจ้าของฟาร์มเปรียบเสมือนเผด็จการแบบโซเวียตที่ควบคุมหมู่สัตว์ด้วยความกลัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความน่าสะพรึงกลัวของระบอบเผด็จการที่กดขี่ข่มเหงผู้คนให้ไร้สิทธิเสรีภาพเพียงเพราะต้องการครอบครองอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น

จอร์จ ออร์เวลล์ เสียชีวิตในวันที่ 21 มกราคม ปี ค.ศ 1950 ด้วยวัย 46 ปี แต่ผลงานอย่าง Animal Farm ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ (TIME) ให้เป็นหนึ่งใน 100 นวนิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดของโลก รวมถึงตัวของเขาเองยังได้รับการยกย่องให้เป็นตัวแทนของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่กล้าเผชิญหน้ากับระบอบเผด็จการอย่างกล้าหาญมาจนถึงตอนนี้

 

แหล่งอ้างอิง

https://philzav.livejournal.com/153805.html
https://www.janetwhardy.com/george-orwells-the-sporting-spirit/
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Sporting_Spirit
https://thesefootballtimes.co/2015/12/02/the-groundbreaking-dynamo-moscow-tour-of-britain-in-1945/
https://www.bbc.com/sport/football/54839305

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ