นับตั้งแต่ปี 1800 ฝรั่งเศส กลายเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดชาติหนึ่ง ทั้งการชนะศึกสงคราม จนนำมาสู่การพิชิตประเทศเซเนกัล, ไอวอรี่โคสต์, โตโก, กาบอง, แอลจีเรีย และอีกหลาย ๆ ประเทศก่อนนำมาเป็นประเทศราช และมันเป็นเหตุผลที่ทำให้ฝรั่งเศสมีผู้คนเชื้อสายแอฟริกันมากมาย
พวกเขาเคยแบ่งแยกคนในประเทศด้วยคำว่า "เชื้อชาติ" ตัดสินคนจาก "สีผิว" แต่แล้ววันหนึ่งฝรั่งเศสก็พยายามละลายความคิดนี้ทิ้งไป และกลายเป็นประเทศที่ไม่ได้สนใจเลยว่าคุณจะมีเชื้อสายใด - ผิวดำ หรือ ขาว
ว่ากันว่าส่วนหนึ่งที่กำแพงเชื้อชาติถูกพังทลายลงนั้นเป็นเพราะ "ฟุตบอลโลก 1998" ... ร่วมค้นหาเรื่องราวนี้ไปกับ Main Stand
สารตั้งต้นที่เรียกว่า การอพยพ
อย่างที่บอกไปว่าในยุคที่ฝรั่งเศสเป็นนักล่าอาณานิคมส่งผลให้มีผู้คนเชื้อสายแอฟริกันปะปนอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก จำนวนผู้อพยพในฝรั่งเศสคิดเป็น 6.8% จากประชากรทั้งหมด ตัวเลขนี้อาจฟังดูไม่ได้น่าตกใจเท่าไรนัก และหลายคนก็คงจะแย้งว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับฝรั่งเศส ประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ, สวิตเซอร์แลนด์, สเปน และ เยอรมนี ก็มีผู้อพยพในประเทศเช่นกัน
แต่ถ้าเราย่อสเกลสำรวจลงให้แคบอีกสักนิด จากจำนวนประชากรทั้งหมดลองเปลี่ยนมาเป็นจำนวนนักเตะในทีมชาติฝรั่งเศส ปรากฏว่าพวกเขามีนักเตะที่มีพื้นเพจากการอพยพสูงถึง 78.3 % ขณะที่เบลเยียมมีจำนวนนักเตะที่มีเชื้อสายแอฟริกัน 47.8 %
ความหลากหลายทางเชื้อชาติทำให้เกิดการเหยียดอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดกันอยู่ทุกยุคทุกสมัย
กระทั่งปี 2018 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของฝรั่งเศส มีมติให้ถอดคำว่า "เชื้อชาติ" ออกจากรัฐธรรมนูญ โดยใช้คำว่า "เพศ" แทนเพื่อความเสมอภาคสำหรับการใช้ในทางกฎหมาย ดังนั้นเรื่องของเชื้อชาติและการนับจำนวนประชากรจากศาสนาในฝรั่งเศสจึงไม่มีอีกต่อไปแล้วในทางทฤษฎี แต่ในทางปฎิบัติอาจจะใช้ไม่ได้ผล 100%
กระทั่งความคิดที่ว่า ฟุตบอลจะหลอมรวมคนในประเทศฝรั่งเศสให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ก็เกิดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงผ่านเวทีลูกหนัง
หากจะบอกว่าทีมชุดฟุตบอลโลก 1998 คือจุดเริ่มต้นของการยอมรับความหลากหลายด้านเชื้อชาติก็คงไม่ผิดนัก เพราะก่อนหน้าจะถึงทีมชุดฟุตบอลโลก 1998 ฝรั่งเศสประสบปัญหาไปไม่ถึงฝันมาตลอดไม่ว่าจะทัวร์นาเมนต์ไหน ๆ
นักเตะ "ฝรั่งเศสแท้" อย่าง ฌอง ปิแอร์ ปาแป็ง, เอริค คันโตนา และ ดาวิด ชิโนลา กลับกลายเป็นนักเตะที่ปกครองยาก
นักเตะตัวความหวังที่ทีมให้ค่าในฐานะฝรั่งเศสแท้อย่างปาแป็งเป็นนักเตะที่ไม่มีวินัยเรื่องการรักษาความฟิต ขณะที่คันโตนาก็ขี้โมโหและทำให้บรรยากาศในห้องแต่งตัวแย่ คนที่เล็งเห็นปัญหาและหวังจะแก้ไขเรื่องนี้คือ เอเม ฌาคเกต์ กุนซือชุดแชมป์โลกปี 1998
เขาเห็นปัญหานี้ตั้งแต่ทำงานเป็นผู้ช่วยของ เชราร์ อุลลิเยร์ ในปี 1992 และทันทีที่ขึ้นเป็นเฮดโค้ชทีมชาติ หลังฝรั่งเศสตกรอบคัดเลือก ฟุตบอลโลก 1994 เขาจึงสร้างทีมของเขาขึ้นมาใหม่สำหรับฟุตบอลโลกปี 1998 ที่แข่งขันในบ้านของตัวเองด้วยการใช้ "สปิริต" เป็นหลัก
ซีเนดีน ซีดาน, ลิลิยอง ตูราม, บิเซนเต้ ลิซาราซู, ยูริ จอร์เกฟฟ์, ปาทริก วิเอร่า และ เธียร์รี่ อองรี เหล่านี้คือนักเตะในการทำทีมของฌาคเกต์
เขามองว่าบรรดาแข้งที่กล่าวมามีพื้นเพที่หลากหลายจากการเป็นลูกหลานผู้อพยพจากทวีปแอฟริกา หรือบางคนอพยพมาเองด้วยซ้ำ และพื้นเพที่ว่านั้นทำให้แต่ละคนมีวินัยและความมุ่งมั่นจากการที่เคยผ่านชีวิตอันยากลำบากมาก่อน
แม้เจตจำนงค์ของฌาคเกต์คือการสร้างสปิริตทีม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อนักเตะที่ผ่านความยากลำบากในชีวิตมาก่อนทุ่มเทในสนามเกิน 100% ก็เป็นการกระตุ้นให้นักเตะฝรั่งเศสแท้ ๆ หันมาโฟกัสมากขึ้น เพื่อไม่ให้โอกาสในการลงสนามหลุดลอยไป
ดังนั้นทีมชาติฝรั่งเศสชุดของฌาคเกต์จึงเต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อการเป็น 11 ตัวจริงในสนาม
ผลลัพธ์และกำไร
ฝรั่งเศสเล่นด้วยความแน่นอนตลอดทัวร์นาเมนต์ โดยเสียประตูไปแค่ 2 ลูก และมีนักเตะถึง 9 คนที่ยิงประตูได้ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น (มากที่สุดเหนือทุกทีม) สุดท้ายพวกเขาจบด้วยการเป็นแชมป์โลกสมัยแรกในประวัติศาสตร์
ฌาคเกต์บอกว่าทีมชาติฝรั่งเศสชุดปี 1998 ของเขาคือทีมที่เต็มไปด้วยความสามัคคี และเหนือสิ่งอื่นใดคือคนที่เป็นเจ้านายของนักเตะเหล่านี้อย่างฌาคเกต์นี่แหละที่คอยปฏิบัติกับพวกเขาในฐานะนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสโดยไม่มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ เขาออกหน้ารับแทนนักเตะทุกคนที่โดนวิจารณ์ และนั่นทำให้ทีมชุดนั้นเป็นทีมที่มีเป้าหมายชัดเจนจนพิชิตแชมป์โลกสมัยแรกมาได้
แต่ฝรั่งเศสได้กำไรมากกว่าเงินรางวัลหรือถ้วยแชมป์ เพราะหลังจากปี 1998 ก็ไม่มีใครมานั่งคิดว่านักเตะฝรั่งเศสคนไหนมีพื้นเพหรืออพยพมาจากที่ใดบ้าง ทุกคนคือทีมชาติฝรั่งเศสที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว
และสิ่งเหล่านั้นมันก็สืบทอดมาจนถึงทีมชุดปัจจุบัน เห็นได้ชัดจากปี 2018 ที่นักเตะฝรั่งเศสชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 2018 ประกอบไปด้วยนักเตะเชื้อสายแอฟริกันทั้งหมด 12 คน มากที่สุดเหนือทุกทีมในฟุตบอลโลก 2018 จนถึงขั้นที่สื่อแอฟริกาตั้งฉายาว่า "แอฟริกันทีมที่ 6" เลยด้วยซ้ำ
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ไม่มีใครมานั่งวิจารณ์เชื้อสายของ ปอล ป็อกบา หรือ เอ็นโกโล ก็องเต้ แม้แต่น้อย คนทั่วโลกพูดถึงแต่ศักยภาพ ฝีเท้า และสปิริตของนักเตะ
และในปี 2022 ยุคสมัยที่โลกเปิดกว้างให้กับคำว่าความหลากหลาย ก็คงไม่มีใครมานั่งนับว่าแข้งฝรั่งเศสชุดนี้มีนักตะเชื้อสายจากแอฟริกันกี่คน เพราะท้ายที่สุดไม่ว่าใครจะมีพื้นเพจากไหน ทุกคนก็ต้องสลัดเรื่องราวปูมหลังของตัวเองออกไปเพื่อคำว่า "ทีม" เท่านั้น
แหล่งอ้างอิง
https://www.nytimes.com/2018/07/15/sports/world-cup/france-vs-croatia-final.html
https://dailytimes.com.pk/268607/united-in-diversity-frances-multi-ethnic-squad-conquers-the-football-world/
https://www.aljazeera.com/features/2018/7/10/is-frances-ethnically-diverse-team-a-symbol-of-multiculturalism
https://bleacherreport.com/articles/2785862-why-france-are-carrying-africas-hopes-in-the-world-cup-final
https://www.rfi.fr/en/20180711-french-squad-celebrates-france-ethnic-diversity-world-cup-2018
https://www.goal.com/en/news/1717/editorial/2011/05/27/2506273/african-players-lit-up-the-french-ligue-1-with-impressive
https://www.usatoday.com/story/sports/columnist/martin-rogers/2018/07/15/france-world-cup-golden-generation/786573002/