Feature

ขอบคุณแลมพาร์ด : เจาะจุดกำเนิด “โกลไลน์” เทคโนโลยีแรก ที่นำมาใช้ในโลกฟุตบอล

ในขณะที่ระบบวิดีโอช่วยตัดสิน หรือ VAR ยังคงถูกตั้งคำถามว่า ช่วยให้การตัดสินเกมฟุตบอลโปร่งใสได้จริงหรือไม่

 


ยังมีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ทุกฝ่ายให้ใจอย่างเต็มที่ว่า ช่วยได้จริง ๆ เทคโนโลยีที่ว่านั้นคือ โกลไลน์ เทคโนโลยี ซึ่งหากไม่มีลูกยิงของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด ในฟุตบอลโลก 2010 การนำเทคโนโลยีมาใช้ในเกมลูกหนังคงไม่เกิดขึ้น

Main Stand ขอนำเสนอเรื่องราวและต้นกำเนิดของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกฟุตบอลไปตลอดกาล

 

บอลโลก 2010 ... เยอรมันเลือดใหม่ อังกฤษขาลง และความไม่เป็นธรรม

27 มิถุนายน 2010 ทีประเทศแอฟริกาใต้ ทีมชาติอังกฤษชุดที่ขี้เหร่ที่สุดในรอบหลายปี  พวกเขามีนักเตะอย่าง เดวิด เจมส์ เป็นโกลมือ 1, และยังประกอบด้วยรายชื่อที่เชื่อว่าหากเกิดในประเทศอื่นๆคงไม่ได้ไปฟุตบอลโลกแน่นอนทั้ง สตีเฟ่น วอร์น็อค, แม็ทธิว อัพสัน,ไมเคิล ดอว์สัน,เลดลี่ย์ คิง และคุณจะนับรวมเหล่าเกรดบีลบอย่าง อารอน เลนน่อน, เกล็น จอห์นสัน และ เอมิล เฮสกีย์ ในวัยย่าง 33 ปี ด้วยก็ได้   และนักเตะเหล่านี้กำลังจะเจอกับทีมที่เตรียมเดินสวนทางกับพวกเขา

เยอรมัน ชุดฟุตบอลโลก 2010 อุดมไปด้วยนักเตะหนุ่มคุณภาพดีเต็มไปหมด เมซุต โอซิล ในวัย 21 ปี,โธมัส มุลเลอร์ ในวัย 20 ปี  และยังมีนักเตะอย่าง มานูเอล นอยเออร์, ซามี่ เคห์ดิร่า, บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์, ลูคัส โพดอลสกี้ และ คนเล็กหัวใจใหญ่อย่าง ฟิลิปป์ ลาห์ม ที่เป็นกัปตันทีมแม้อายุจะเพิ่ง 26 ปีก็ตาม  นักเตะเหล่านี้กลายเป็นแข้งระดับเวิลด์คลาส ในเวลาต่อมาทั้งสิ้น

เส้นทางก่อนจะมาเจอกันในรอบ 16 ทีมสุดท้าย อังกฤษ ก็ลากเลือดมาแบบเต็มกลืน พวกเขาเสมอ อเมริกา ในเกมนัดเปิดสนาม ตามด้วยการทำอะไรแอลจีเรียไม่ได้เสมอไป 0-0 ในเกมที่ 2 ก่อนที่เกมสุดท้ายจะได้ เจอร์เมน เดโฟ พาทีมชนะสโลวาเกีย 1-0 และเข้ารอบหืดจับ ขณะที่เยอรมันเก็บ 6 แต้มยิงได้ 5 ประตูและเสียเพียงแค่ลูกเดียวเท่านั้นเข้ารอบมาเเบบสบายๆ ด้วยการเป็นที่ 1 ของกลุ่ม D

ดังนั้นในการพบกันของอังกฤษ และ เยอรมัน หนนี้ถือว่า อังกฤษ เป็นรองทุกหน้าเสื่อ ซึ่งเมื่อเริ่มแข่งจริงมันก็เป็นเช่นนั้นเอง เพราะ อินทรีเหล็ก ได้ประตู 2 ลูกรวดตั้งแต่ 32 นาทีแรกจากลูกยิงของ มิโลสลาฟ โคลเซ่ และ โพดอลสกี้  

ทว่าอังกฤษกลับตัวได้ไว พวกเขาได้ประตูที่เปลี่ยนโฉมหน้าเกมจากที่จะขาดกลับมามีลุ้นอีกครั้งหลังจาก อัพสัน โขกไล่มาเป็น 1-2 นาทีที่ 37  

หลังจากนั้นนาทีเดียวลูกยิงที่เปลี่ยนแปลงโลกลูกหนังก็เกิดขึ้นจนได้  เมื่อ แฟร้งค์ แลมพาร์ดได้ยิงจากนอกกรอบเขตโทษ บอลข้ามหัว นอยเออร์ ไปและพุ่งไปชนคานก็จะตกลงหลังเส้นหน้าประตู...ทว่าลูกบอลเจ้ากรรมกับเด้งกลับสปินออกมาจนทำให้ นอยเออร์  อาศัยความเร็วคว้าบอลเอาไว้

แลมพาร์ด เริ่มวิ่งดีใจเนื่องจากเขามั่นใจเป็นอย่างมากว่าบอลที่ออกจากเท้าของเขา หลังจากได้ชมภาพช้าก็พบว่ามันข้ามเส้นแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์  

แต่ทุกอย่างดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็วเมื่อผู้ตัดสินในเกมนั้นอย่าง ฮอร์เก้ ลาร์ริอนด้า บอกให้เล่นต่อไปเพราะบอลยังไม่ข้ามเส้นประตู

จากเกมที่อังกฤษที่เป็นบอลรองเต็มตัว ควรจะกลับมาเสมอ 2-2 กลับกลายมาเป็นการพ่ายแพ้ถึง 1-4 ของอังกฤษ และหลังจากนั้นลูกยิงของ แลมพาร์ด ก็กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ตลอดกาลเมื่อฟุตบอลโลกเวียนมาถึง

 

ดื้อด้าน...วัวหายล้อมคอก

ก่อนหน้านี้ ฟีฟ่า นั้นยืนกรานมาตลอดว่าฟุตบอลคือกีฬาที่เรียบง่าย และมีเสน่ห์ดังนั้นการจะเอาเทคโลโนยีมาใช้ให้ยุ่งยากอาจจะทำให้อรรถรสหายไป

หลายเสียงที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มักจะกล่าวอ้างตำนานลูกยิงของ เฮิร์ส, แฮนด์ ออฟ ก็อด ของ มาราโดน่า และ ลูกยิงของแลมพาร์ด ที่กลายเป็นตำนานของโลกฟุตบอล ซึ่งถ้าหากมีการใช้ เทคโนโลยี ตัดสินแบบเถรตรง เสน่ห์ และความคลาสสิคแบบนี้จะหมดไปอย่างแน่นอน

แต่ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเชื่อมทั้งโลกเข้าด้วยกันทุกข่าวสารส่งถึงผู้คนจำนวนมากในคราวเดียว มันจึงเป็นการตื่นตัวครั้งใหญ่ไม่เว้นแม้แต่งานประชุดมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20  ที่ประเทศแคนาดา ที่ นางอังเกลาร์ แมร์เคิล ผู้นำประเทศเยอรมัน ได้แสดงความเสียใจกับ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เกี่ยวกับลูกยิงของ แลมพาร์ด ที่ทำให้ อังกฤษ ต้องเป็นฝ่ายผิดหวังไปในท้ายที่สุดอีกด้วย

มิเชล พลาตินี่ ประธานของยูฟ่า ผู้รับหน้าเสื่อจัดเเข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 คือตัวแทนของกลุ่มเสพติดความคลาสสิค

เขามองว่าคนทำหน้าที่ได้ไม่แพ้เครื่องจักร การพัฒนาบุคลากรคืออะไรที่ยั่งยืน และสามารถช่วยเซฟงบประมาณได้อีกด้วย

"มีคำถามเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มต้นที่จะใช้มันแล้ว คุณก็ต้องจบลงที่มันด้วยใช่มั้ย เทคโนโลยีมีประโยชน์ก็จริง แต่เราควรยึดกับสิ่งที่แน่นอนมากกว่านี้"

“ผมคิดว่าเราควรเพิ่มผู้ตัดสินตรงบริเวณเส้นประตูมากกว่า ซึ่งตอนนี้ก็ได้รับการยอมรับจากนานาชาติแล้ว ผมคิดว่าพวกเขามีความสามารถมากพอที่จะเห็นบอลข้ามเส้นประตูไปหรือยัง"

เมื่อหัวส่ายมาแบบนี้มีหรือหางจะกล้ากระดิก โกลไลน์ จึงถูกมองข้ามไปในครั้งแรก

เรื่องดังกล่าวถูกถกเถียงกันมานานถึง 2 ปี เต็มๆ มันเป็นเหมือนนโยบายบนกระดาษที่แค่เอามาวิเคราะห์วิจารณ์กันเเล้วก็วางไว้ที่เดิม ไม่มีอะไรที่งอกเงยขึ้นมาเป็นรูปธรรม...ฝั่งหนึ่งเห็นด้วย ฝั่งหนึ่งไม่เห็นด้วยวนไปอยู่อย่างนั้น นานสองนาน

สุดท้ายเเล้ว ฟีฟ่า ก็เลือกทำอะไรที่แบบกั๊กๆครึ่งๆกลางๆ ด้วยยการยืนยันว่า ฟุตบอลยูโร 2012 จะมีผู้ตัดสินอยู่หลังประตูเพิ่มขึ้น ตามที่ พลาตินี่ ต้องการ  แต่มันก็เรื่องทีทำให้เจ้าของฉายานโปเลียนลูกหนังหน้าแหกครั้งใหญ่จนได้

ในเกมยูโร 2012 นัดที่ อังกฤษ ชนะ ยูเครน ไป 1-0 ซึ่งในเกมนั้นมีจังหวะที่ จอห์น เทอร์รี่สกัดลูกยิงของมาร์โก เดวิช ออกจากปากประตูพร้อมกับช่วยให้ทีมชาติอังกฤษรอดพ้นการตามตีเสมอของยูเครน เเละเมื่อดูเทปย้อนหลังปรากฏว่าลูกบอลได้ข้ามเส้นไปเเล้ว

เท่านั้นล่ะครับ ประเด็นเทคโนโลยีก็ถูกกลับมาพูดถึงอย่างจริงจังทันที เมื่อสายตาของมนุษย์ให้ความเป็นธรรมกับ 2 ฝั่งที่ลงเเข่งขันไม่ได้

"ในเกมการเเข่งขัน มีผู้ตัดสินมีสูงถึง 5 คน เเต่พวกเขาไม่สามารถทราบรายละเอียดได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นผมคิดว่าเราควรจะนำเอาโกลไลน์มาใช้ในการตัดสินใจ" แบล็ตเตอร์  ชักจะเริ่มเอนเอียงกับสิ่งที่ชักจะถูกพูดถึงในแง่ลบมากขึ้นเรื่อยๆ

ความผิดพลาดซ้ำซ้อนทำให้ เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ในเวลานั้นต้องฟาดค้อนลงบนโต๊ะประชุมและยืนยันว่าถึงเวลาเเล้ว ที่โลกฟุตบอลจะต้องเป็นเกมที่ไร้ข้อกังขาและเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด และหนนี้เขาใช้อำนาจที่มีอย่างเต็มที่ แม้แต่ พลาตินี่ ก็ห้ามเขาไม่ได้

"ผมเชื่อว่าเราจะพัฒนาระบบโกล-ไลน์ จะสำเร็จภายในปี 2012 ซึ่งจะช่วยให้เรารู้ว่าลูกนั้นเข้าประตูไปแล้วหรือไม่ และมันน่าจะถูกใช้ในฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล และระบบของเราจะไร้ซึ่งข้อกังขาแล้วจะไม่มีใครออกมาต่อต้าน เพราะการได้ประตูทุกลูกนั้น จะขาวสะอาดแน่นอน"

"ผมอยากบอกว่าเราไม่ได้เห็นต่างกับยูฟ่านะ มีแค่พลาตินี... พลาตินีคนเดียวที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ทั้งที่สหพันธ์, กรรมการ, นักเตะ และทุกคนต่างเห็นด้วยกับนโยบายนี้ทั้งหมด ถ้าพลาตินีไม่ต้องการมัน ผมคิดว่ามันคงเป็นแค่เรื่องส่วนตัวของเขา แต่ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนแปลง" เเบล็ตเตอร์ ยืนยัน

 

ขอบคุณแลมพาร์ด

ถึงตรงนี้ทุกอย่างเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม นโยบายของฟีฟ่าส่งลงไปถึงการปฎิบัติการจริง พวกเขาใช้เงินกับติดตั้งระบบโกลไลน์ด้วยงบประมาณถึง 5-8 ล้านบาทต่อการแข่งขัน 1 เกม

ใครจะว่าวัวหายล้อมคอก็ช่างปะไร เพราะการปัญหาแก้ช้าก็ยังดีกว่าไม่คิดจะแก้ไขอะไรเลย

เทคโนโลยี โกลไลน์ นั้นออกแบบจากการผสมผสานระหว่างฮอว์กอายที่ช่วยในการตัดสินลูกเทนนิสตกลงไปในเส้นหรือนอกเส้นเทนนิส และ โกลเรฟ  ระบบที่ใช้ค่าสนามแม่เหล็กวัดค่าและประมวลผลว่า ลูกบอล จะข้ามเส้นไปหรือยัง

โดยตรงบริเวณประตูและเส้นประตูจะมีเซนเซอร์ตรวจสอบลูกบอล ที่มีชิพติดในลูกฟุตบอล หากบอลกำลังจะข้ามเส้นประตูระบบจะทำการเตือนผู้ตัดสินว่าลูกบอลจะข้ามเส้นแล้วต้องตัดสินอย่างระมัดระวัง และทันทีที่ลูกผ่านเส้น จะรายงานให้กรรมการทราบผ่านทางนาฬิกาพิเศษ ที่รับสัญญาณจากบริเวณเส้นประตูว่าลูกบอลข้ามเส้นไปแล้วจริงๆ  เรียกได้ว่ามีการเช็คแล้วเช็คอีกถึง 2-3 รอบภายในระยะเวลาอันสั้นเพื่อความชัวร์ที่สุด ... จากข้ออธิบายนี้เราแทบจะไม่เห็นข้อเสียของเทคโนโลยีดังกล่าวเลย

"เมื่อมาถึงช่วงเวลาสำคัญของเกมระดับสูง คุณมีเทคโนโลยีอยู่ในมือ แต่คุณกลับไม่ใช้ มันคงเป็นอะไรที่ผิดพลาด นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญของวงการฟุตบอลเลยก็ว่าได้ การเล่นฟุตบอลเป้าหมายสำคัญก็คือการทำประตู"

"สำหรับผมในฐานะประธานของ (ฟีฟ่า) ศึกฟุตบอลโลก 2010 ที่ แอฟริกาใต้ ยังคงชัดเจนสำหรับผม ถึงตรงนี้ผมคงต้องขอขอบคุณ แฟร้งค์ แลมพาร์ด ที่ทำให้การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้น ตอนนั้น ผมรู้สึกแย่มากๆ ที่ได้เห็นจังหวะผิดพลาดแบบนั้น ผมแทบช็อค และนิ่งไปเป็นวันเหมือนกัน ถึงจะตอบอะไรได้ ที่สำคัญมันดันเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันขึ้นอีกครั้ง ที่ประเทศยูเครน ซึ่งถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่อยากเชื่ออยู่ดี"

การประชุมของฟีฟ่า ที่ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงปลายปี 2012 ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าต่อจากนี้เป็นต้นไป ฟุตบอล จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตัดสินเหมือนกับกีฬาอื่นๆ โกลไลน์ จะถูกนำออกมาใช้เร็วกว่าที่คิดเพื่อจะได้เป็นการทดลองและทำให้พร้อมที่สุดสำหรับฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล

ฟีฟ่า จัด โกลไลน์ ให้ทดลองใข้ในเกมชิงแชมป์สโมสรโลกที่ประเทศญี่ปุ่น และยังต่อด้วยการใช้โกลไลน์ในฟุตบอล คอนเฟเดอเรชั่น คัพ 2013 ซึ่งผลที่ออกมาก็ไม่อะไรให้ต้องตะขิดตะขวงใจอีกต่อไปแล้ว

ปัญหาบอลคาบเส้นจบลงไปแล้ว และไม่ถูกพูดถึงอีก

เมื่อเทคโนโลยีสามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่สายตาของมนุษย์ให้ไม่ได้จะมีใครบ้างที่ไม่แฮปปี้กับเรื่องนี้

เหล่าบิ๊กๆในองค์กรของ ฟีฟ่า อาจจะมองว่าเป็นการสิ้นเปลือง ทว่าฟุตบอลโลกสมัยนี้มีเดิมพันเป็นพันล้านหมื่นล้าน ดังนั้นการใช้สิ่งที่ชี้ชัดได้ย่อมเป็นเหตุผล ที่ควรทุ่มงบประมาณกับเรื่องใหญ่เช่นนี้

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์อย่างๆเรานั้นต่างกลัวการเปลี่ยนแปลงและกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น

ทว่าหากมีการพยายามคิด วิเคราะห์ พิจาณา อย่างละเอียดและวางแผนถี่ถ้วนเเล้ว การก้าวกระโดดออกจากสิ่งเดิมๆจะถูกเรียกว่าวิวัฒนาการที่เปลี่ยนโลกไปเลยทีเดียวซึ่งจุดนี้ โกลไลน์ ได้พิสูจน์ให้เห็นเเล้วว่า พอใช้กันจนเริ่มชิน คำวิจารณ์ด้านลบก็ไม่เหลืออยู่อีกต่อไป   

นี่แหละครับเป็นที่มาคำวลีเท่ๆที่ว่า "ยิ่งค้นคว้า เรายิ่งค้นพบ" ความคลาสสิคหรือจะสู้ความถูกต้อง?  ... คุณคิดแบบนั้นหรือเปล่า?

Author

เจษฎา บุญประสม

Content Creator ผู้ชื่นชอบการกิน, ท่องเที่ยว และดูกีฬาแทบทุกประเภท โดยเฉพาะฟุตบอล, อเมริกันเกมส์, มอเตอร์สปอร์ต, อีสปอร์ต