ฟุตบอลโลกปี 1994 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ คือฟุตบอลโลกอีกหนึ่งครั้งประวัติศาสตร์ที่สร้างสถิติมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถิติผู้เข้าชมเกมการแข่งขันในสนาม รวมถึงผู้เข้าชมเฉลี่ยต่อเกมมากที่สุดเท่าที่ฟุตบอลโลกเคยมีมา
แต่แฟนบอลทั่วโลกต่างก็รู้กันดีว่า สหรัฐฯ นั้นเป็นประเทศที่ไม่ได้มีฟุตบอลเป็นกีฬาอันดับ 1 ของชาติ เพราะคำว่า “ฟุตบอล” ที่ชาวอเมริกันรู้จัก คือ “อเมริกันฟุตบอล” ซึ่งเป็นกีฬาที่ถือกำเนิดในดินแดนนี้ และได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ส่วน “ฟุตบอล” ที่ชาวโลกรู้จัก พวกเขากลับเรียกว่า “ซอคเก้อร์” และมีความนิยมสู้ 4 กีฬาใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง อเมริกันฟุตบอล, บาสเกตบอล, เบสบอล และ ฮอกกี้น้ำแข็ง ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุที่กล่าวมา เหตุใดเรื่องราวในศึก ยูเอสเอ 94 ถึงออกมาอย่างงดงามเช่นนี้กัน? Main Stand มีคำตอบ
ดินแดนน้อยรัก
ก่อนที่จะว่าถึงเรื่องราวในฟุตบอลโลกครั้งประวัติศาสตร์นั้น เราคงต้องมาทำความเข้าใจสักนิดว่า เหตุใด ซอคเก้อร์ ถึงได้เป็นกีฬาที่เปรียบเสมือนลูกเมียน้อยของชาวอเมริกันไปเสียได้ ทั้งๆ ที่ก็เริ่มมีการละเล่นในประเทศนี้ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน
อันเดร มาร์โควิทส์ ให้มุมมองถึงเรื่องนี้ว่า แม้จะมีจุดเริ่มต้นในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ทว่าการที่ ซอคเก้อร์ ไม่สามารถแทรกเข้าไปอยู่ในกลางใจของชาวอเมริกันได้นั้น ก็เนื่องมาจากอุปนิสัยของชาวอเมริกันที่ต้องการสร้างตัวตนให้เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่าง ยิ่ง ซอคเก้อร์ นั้นถือเป็นกีฬาที่มีจุดกำเนิดจากอังกฤษ ประเทศที่เคยปกครองสหรัฐฯ ก็ยิ่งทำให้พวกเขาไม่คิดจะแยแสกับวัฒนธรรมนี้
อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจมาจาก วิลเลี่ยม ลีส์ ที่มองว่า ซอคเก้อร์ เป็นกีฬาที่ดูหน่อมแน้มเกินไป ไม่ใช่สิ่งที่ชาวอเมริกันมองหา เพราะหากเทียบกับกีฬาอื่นๆ อย่าง อเมริกันฟุตบอล หรือ ฮอกกี้น้ำแข็ง สองกีฬานี้ถือเป็นก็ฬาที่ผู้เล่นสามารถปลดปล่อยความเถื่อนผ่านการเข้าปะทะออกมาได้อย่างโจ่งแจ้ง แต่ก็มีกติการองรับ ขณะที่ฟุตบอล ซึ่งถูกสร้างภาพให้เป็น “กีฬาที่งดงาม” กลับมีมารยาสาไถยมากมาย ทั้งการพุ่งล้ม, แกล้งเจ็บ ในแทบทุกนัดที่ทำการแข่งขัน
กว่าจะได้เป็นเจ้าภาพ
จากเหตุผลที่กล่าวมาคงพอจะเห็นถึงความ “ไม่ตรงจริต” ที่ ซอคเก้อร์ มีต่อชาวอเมริกันไปบ้างแล้ว ซึ่งทำให้มาสู่คำถามสำคัญข้อหนึ่งคือ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมสหรัฐฯ ถึงตั้งใจที่จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกให้ได้กัน?
ซึ่งสาเหตุสำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ สหรัฐฯ ตั้งใจใช้โอกาสนี้ เพื่อฟื้นฟูความนิยมของ ซอคเกอร์ ให้กลับคืนสู่ดินแดนแห่งเสรีภาพนี้อีกครั้ง หลัง นอร์ธ อเมริกัน ซอคเก้อร์ ลีก (เอ็นเอเอสแอล) ลีกซอคเก้อร์ของสหรัฐฯ ที่เคยโด่งดังในยุค 70 ด้วยการดึงนักเตะดังระดับโลกมาเล่นให้ ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องยุบลีกไปเมื่อปี 1984
อันที่จริง พวกเขาตั้งใจที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 1994 ตั้งแต่แรก เนื่องจากในปี 1986 โคลอมเบีย ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ได้สิทธิ์เจ้าภาพไปก่อนแล้ว ส่วนปี 1990 สหรัฐฯ มองว่าน่าจะเป็นคิวของทวีปยุโรป ซึ่งที่สุดแล้วเป็นอิตาลีที่ได้ไป แต่เมื่อ โคลอมเบีย ต้องถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพปี 1986 เนื่องจากความไม่พร้อม สหรัฐฯ ก็ขอลุ้นอีกเฮือกหวังให้ได้สิทธิ์เร็วกว่านั้น ทว่าสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า กลับมอบสิทธิ์เจ้าภาพให้ เม็กซิโก ทำให้พวกเขาต้องกลับมายึดแผนเดิม
โดยในการชิงสิทธิ์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 1994 สหรัฐฯ ต้องแข่งขันกับ บราซิล ชาติยักษ์ใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ และ โมร็อกโก อีกชาติจากทวีปแอฟริกา ซึ่งแม้หลายคนมองว่า บราซิล ชาติที่หลงใหลฟุตบอลเป็นอันดับต้นๆ ของโลกนั้นคือตัวเต็ง แต่ทีมเสนอตัวของสหรัฐฯ เชื่อว่าฟีฟ่าต้องการพวกเขา เพราะดินแดนแห่งนี้ถือเป็นตลาดใหญ่ที่ซอคเก้อร์ยังตีตลาดไม่สำเร็จ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ซอคเก้อร์กลับมาเป็นที่รู้จักและโด่งดังในประเทศอีกครั้ง
แม้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น แต่หากไม่มีการเตรียมการที่ดีก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ทำให้ทีมเสนอตัวของสหรัฐฯ ทำการบ้านในการเสนอตัวของสหรัฐฯ อย่างตั้งใจ จนมีความพร้อมในทุกด้านชนิดที่หากต้องจัดการแข่งขันในทันทีก็ยังทำได้ แถมมีสัญญาณแปลกๆ ถึงการที่สหรัฐฯ จะได้สิทธิ์อีกประการ นั่นคือการที่ฟีฟ่าเลื่อนวันโหวตเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกคราวนั้นเป็นวันที่ 4 กรกฎาคม 1988 ซึ่งตรงกับวันชาติสหรัฐฯ พอดิบพอดี
ด้วยเหตุทั้งปวงที่กล่าวมา จึงทำให้สหรัฐฯ คว้าสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 1994 ไปครองสมใจในที่สุด
มาด้วยใจไม่ต้องเกณฑ์มา
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก คือความพร้อมที่เหนือกว่าใคร โดยเฉพาะเรื่องสนามที่ใช้จัดแข่งแข่งขัน ที่พวกเขามีพร้อมสรรพชนิดไม่ต้องสร้างเพิ่ม เพราะสามารถใช้สนามอเมริกันฟุตบอล ซึ่งมีมิติใกล้เคียงกันมาใช้ได้ทันที แถมสนามเหล่านี้ยังสามารถจุผู้ชมได้สูงอยู่แล้ว สังเวียนที่เล็กที่สุดอย่าง อาร์เอฟเค สเตเดี้ยม ในกรุงวอชิงตัน ดีซี สามารถจุผู้ชมได้ถึง 53,142 คน ขณะที่ โรส โบวล์ เวทีที่ใหญ่ที่สุดซึ่งใช้จัดแข่งนัดชิงชนะเลิศ จุผู้ชมได้ถึง 91,794 คนเลยทีเดียว
แต่สังเวียนที่ยิ่งใหญ่จะไม่มีอะไรเลยหากไร้ซึ่งคนดู นั่นคือสิ่งที่ฝ่ายจัดการแข่งขันดูจะเป็นกังวลในตอนแรก เพราะต่างก็รู้ดีว่า ซอคเก้อร์ ไม่ใช่กีฬาโปรดของชาวอเมริกันเท่าไหร่นัก ทว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงการแข่งขันจริง กลับกลายเป็นว่า ยูเอสเอ 94 ถือเป็นศึกฟุตบอลโลกที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในแง่ของผู้ชมในสนาม
เพราะจำนวนผู้ชมในสนามในฟุตบอลโลกครั้งนั้น สูงถึง 3,570,000 คน เฉลี่ยต่อนัดสูงถึง 68,991 คน สูงสุดตลอดกาลชนิดที่ยังไม่มีครั้งไหนทำลายสถิติได้อีกเลย
สาเหตุนอกจากสนามที่สามารถจุผู้ชมได้เยอะมากแล้ว การที่สหรัฐฯ เป็นดินแดนแห่งความหลากหลาย มีผู้คนหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกัน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผู้ชมเข้าสนามมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวฮิสแปนิก ที่มาจากประเทศในอเมริกาเหนือและกลางซึ่งพูดภาษาสเปนเป็นหลัก และมีความคลั่งใคล้ซอคเก้อร์อย่างยิ่งยวด
แต่ทั้งนี้ ก็ต้องไม่ลืมว่า ชาวฮิสแปนิกนั้นถือเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในประเทศนี้ ดังนั้นการที่คนจะเข้าชมการแข่งขันกีฬาที่เปรียบเสมือนลูกเมียน้อยอย่างมากมายมหาศาล มันต้องมีอะไรที่มากกว่านั้น
และสิ่งที่ว่า ก็คือความเป็นธรรมชาติของชาวอเมริกันนั่นเอง
“สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ชอบงานอีเวนท์ระดับมหึมาอยู่แล้วครับ” อลัน โรเธนเบิร์ก นายกสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐอเมริกาในช่วงฟุตบอลโลก 1994 เผย “เราเลยพยายามนำเสนออย่างหนักเพื่อให้ชาวอเมริกันเห็นว่า นี่คืองานระดับโลก เป็นงานที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมีส่วนร่วมให้ได้ จนทำให้ชาวอเมริกันยินดีที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับมันในที่สุด”
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดไม่แพ้กัน คือความรักชาติ ความคลั่งไคล้ในตัวฮีโร่ ซึ่งศึกยูเอสเอ 94 มีตัวช่วยสำคัญ คือผลงานของทีมชาติสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ที่ดีจนคนทั้งชาติต้องเอาใจช่วย
ปีเตอร์ เวอร์เมส เฮดโค้ชของ สปอร์ติ้ง แคนซัส ซิตี้ ทีมใน เมเจอร์ ลีก ซอคเก้อร์ ซึ่งเคยเป็นอดีตนักเตะทีมชาติสหรัฐฯ ยอมรับว่า การที่สหรัฐฯ ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 1990 รอบสุดท้าย ถือเป็นอีกแรงกระตุ้นสำคัญ
“ตอนที่สหรัฐฯ ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 1994 ไม่ว่าใครก็ต่างหัวเราะเยาะ มองว่าประเทศที่ไม่มีแม้กระทั่งลีกอาชีพเนี่ยนะจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แต่พอเราได้เข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายปี 1990 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ตอนนั้นเราไม่มีฟุตบอลลีกอาชีพน่ะเหรอะ? เราก็มีดีพอไปเล่นฟุตบอลโลกแล้วกัน”
และอีกหนึ่งเบื้องหลังความสำเร็จของฟุตบอลโลกที่ดินแดนแห่งเสรีภาพ ก็คือผลงานของทีมชาติในปี 1994 นั่นเอง ซึ่ง อเล็กซี่ ลาลาส ที่เป็นสมาชิกทีมชาติสหรัฐฯ ชุดฟุตบอลโลกในบ้านเกิดเผยถึงความรู้สึกในตอนนั้นว่า
“วันที่เราชนะโคลอมเบีย 2-1 ในรอบแรก มันเป็นอะไรที่สุดยอดมาก ผู้คนทั้งประเทศต่างโบกธง ร้องตะโกนพร้อมเพรียงกัน ‘ยูเอสเอ ยูเอสเอ’ และนั่นคือวันที่เรารู้สึกว่าเราบรรลุเป้าหมายแล้ว เราไม่ได้ดีพอที่จะเป็นเจ้าภาพแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรายังดีพอที่จะเข้าไปแข่งขัน และประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน”
สู่ ‘ซอคเก้อร์บูม’
การที่สหรัฐฯ ทำผลงานในฟุตบอลโลกปี 1994 ได้อย่างเกินคาดหมาย ด้วยการผ่านรอบแบ่งกลุ่มได้สำเร็จ ทำให้ชาวอเมริกันหันมาให้ความสนใจในกีฬาซอคเก้อร์อีกครั้ง ซึ่งส่งผลถึง เมเจอร์ ลีก ซอคเก้อร์ หรือ เอ็มแอลเอส ลีกฟุตบอลอาชีพของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการแข่งขันในปี 1996 อีกด้วย
นอกจากนี้ ผลสืบเนื่องจากฟุตบอลโลกคราวนั้น ยังทำให้ทั้งทีมชาติและลีกเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งเคียงข้างกัน
“ทั้งทีมชาติและลีกเติบโตไปด้วยกันครับ คุณไม่มีทางที่จะมีทีมชาติที่แข็งแกร่งได้หรอกหากลีกของประเทศตัวเองยังไม่แข็งแรง ซึ่งพวกเราทุกคนยึดถือมันเป็นแนวทางอย่างแน่วแน่ และการรวมกัน ยังทำให้เราเติบโตอย่างมั่นคงมากกว่าการแยกกันสู้อีกด้วย”
ยิ่งไปกว่านั้น ฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าวยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนจำนวนมาก จนหันมาเอาดีทางด้านนี้ สร้างทรัพยากรบุคคลที่แข็งแกร่งให้วงการฟุตบอลสหรัฐฯ อย่างมหาศาล เช่นที่ โอมาร์ กอนซาเลซ กองหลังทีมชาติสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันเผยถึงสาเหตุที่เลือกเล่นซอคเก้อร์ว่า
“ฟุตบอลโลก 1994 นั้นถือเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งนี่ถือเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ผมบอกกับแม่ในตอนนั้นว่า ‘ผมอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ’”
หลังจากฟุตบอลโลกปี 1994 ที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ พวกเขาก็กลายเป็นสมาชิกขาประจำในรอบสุดท้ายอย่างสม่ำเสมอ และสามารถผ่านรอบแบ่งกลุ่มได้เป็นส่วนใหญ่ โดยผลงานที่ดีที่สุด คือการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายเมื่อปี 2002
และแม้จะพลาดท่าตกรอบคัดเลือก ไม่สามารถเข้ามาเล่นในฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้ายที่รัสเซียในปีนี้ แต่การที่สหรัฐฯ ได้เป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก 2026 กับ แคนาดา และ เม็กซิโก ก็ถือเป็นการจุดไฟฝันที่มีกับซอคเก้อร์ให้ลุกโชนอีกครั้ง
จาก 3 กลายเป็นหนึ่ง
อันที่จริงในตอนแรก ทั้งสามชาติต่างตั้งใจที่จะยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกแบบเดี่ยวๆ ไม่เกี่ยวกับใคร โดยแคนาดาและเม็กซิโกเผยถึงเจตจำนงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2012 ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศตัวในอีก 4 ปีต่อมา
ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญอันถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมของทั้ง 3 ชาติ เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 เมื่อ จิอานนี่ อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่าได้นำเสนอแนวคิดเพิ่มทีมในรอบสุดท้ายเป็น 48 ทีม ก่อนที่จะแนวคิดดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติในเวลาต่อมา รวมถึงไม่ปิดกั้นการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งทางสหพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือและกลาง หรือ คอนคาเคฟ มองเห็นถึงโอกาสนี้ จึงได้เปิดเผยแนวคิดดังกล่าวเมื่อปี 2016 ก่อนจะยื่นเสนอตัวอย่างเป็นทางการในปีถัดมา โดยทางสหรัฐฯ ที่มีความพร้อมมากที่สุดได้เป็นโต้โผใหญ่ ใช้สังเวียนจัดแข่งขันมากที่สุดถึง 10 จาก 16 สนาม และได้จัดแข่งมากถึง 60 จาก 80 นัด ซึ่งรวมถึงเกมตั้งแต่รอบ 8 ทีมสุดท้ายถึงรอบชิงชนะเลิศอีกด้วย
แม้การเสนอตัวคราวนี้ จะมีโมร็อกโกเป็นคู่แข่งเหมือนปี 1994 แต่ด้วยความพร้อมที่เหนือกว่า พวกเขาก็ได้รับชัยชนะในการโหวตเลือกเจ้าภาพแบบท่วมท้นในที่สุด ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตอนนี้สหรัฐโต้โผใหญ่ พร้อมทิ้งความผิดหวังในช่วงนี้ให้กลายเป็นอดีต และมองถึงอนาคตอันสดใสในอีก 8 ปีข้างหน้า วันที่พวกเขาจะได้เปิดบ้านรับแขกจากทั่วโลก เพื่อสร้างฟุตบอลโลกครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาให้จดจำชั่วกาลนานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แหล่งที่มา
http://www.bbc.co.uk/blogs/chrisbevan/2010/05/the_story_of_the_1994_world_cu.html
https://www.theguardian.com/football/2015/jul/04/usa-world-cup-94-inside-story
https://bleacherreport.com/articles/1798046-world-cups-revisited-the-story-of-usa-1994
http://www.fifamuseum.com/stories/blog/usa-94-a-15th-world-cup-full-of-firsts-2610677/
https://sites.duke.edu/wcwp/research-projects/soccermarkets-in-the-u-s/soccer-exceptionalism-in-america/
https://www.huffingtonpost.com/william-lees/soccers-low-popularity-in_b_10559190.html
http://www.guinnessworldrecords.com/news/2014/6/world-cup-rewind-america-goes-crazy-for-soccer-in-1994-57852/
http://articles.latimes.com/1994-07-10/news/ss-14092_1_world-cup
http://www.latimes.com/sports/soccer/la-sp-us-world-cup-mls-20140601-story.html
http://sports.usatoday.com/2014/06/27/us-soccer-usa-usmnt-world-cup-1994-alexi-lalas/
https://www.fourfourtwo.com/us/features/legacy-usa-world-cup-1994