Feature

เด็ดขาดแล้วได้อะไร ? : ทำไมการตัดสตาร์ขาลงออกจากทีมจึงเป็นแนวทางสุดฮิตในยุคนี้ | Main Stand

"ผมแค่พยายามพัฒนาลูกทีม บางทีคุณใช้วิธีการบางอย่างมายาวนานและมันไม่ได้ผล อย่างเช่นกรณีของ แรชฟอร์ด ดังนั้นอาจถึงเวลาลองสิ่งที่แตกต่าง"

 

นี่คือสิ่งที่ รูเบน อโมริม กุนซือของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยืนยันถึงการตัดชื่อ 2 ตัวรุกที่เคยเป็นตัวความหวังเบอร์ต้น ๆ ของทีมอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด และ อเลฮานโดร การ์นาโช่ แถมทีมยังสามารถบุกชนะทีมคู่ปรับร่วมเมืองอย่าง แมนฯ ซิตี้ ได้อีกด้วย 

เราจะมาว่ากันที่ "การลองทำอะไรที่แตกต่าง" ในแบบที่ อโมริม บอก ... การลงโทษด้วยการตัดชื่ออกจากทีม ส่งผลในแง่ลบแง่บวกขนาดไหน และทำไมในยุคนี้การใช้บทลงโทษลักษณะนี้จึงเวิร์ก ?  

อ่านบทความที่ Main Stand 

 

ไปศิลปินที่อื่น

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าโลกฟุตบอลยุคใหม่ มันกลายเป็นโลกที่คนซึ่งมีแค่พรสวรรค์อย่างเดียวไม่สามารถอยู่รอดปลอดภัยได้อีกต่อไป เกมลูกหนังยุคนี้คุณจะต้องใช้ทั้งความมุ่งมั่น ความพยายาม และความเสียสละเพื่อทีมลงไปด้วย ซึ่งทั้งหมดสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า พรสวรรค์ ต้องมาพร้อมกับ พรแสวง เท่านั้น คุณจึงจะถูกยกย่องเป็นนักเตะในระดับท็อปได้ ... นอกเสียจากว่าคุณเก่งพอ ๆ กับ ลิโอเนล เมสซี่ 

เรื่องดังกล่าวเราไม่ได้ยกมาลอย ๆ เราสามารถตัดสินได้จากฟุตบอลโลกปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์ โดยมีการหาค่าเฉลี่ยในการวิ่งของนักเตะแต่ละคนสำหรับทีมที่สามารถเข้าไปถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายได้ และปรากฎว่าค่าเฉลี่ยในการวิ่งของพวกเขาอยู่ที่ราว ๆ 11 กิโลเมตรต่อ 1 เกม 

สถิติดังกล่าวบอกได้ว่าชาติระดับท็อปในโลกลูกหนังจะต้องประกอบไปด้วยนักเตะที่มีทั้งความอึดถึกทน ความเข้าใจเกม และพรสวรรค์ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะมีสถิติยืนยันแล้ว มันยังสะท้อนไปถึงวิธีการเล่น และตำแหน่งของนักเตะ 11 ตัวจริงในสนามที่เปลี่ยนไปอีกด้วย

โดยเฉพาะตำแหน่งที่เคยได้รับอนุญาตให้ "วิ่งน้อย เล่นตามฟีลมาก" เป็นพิเศษก็คือนักเตะตำแหน่งเบอร์ 10 หรือที่เราเรียกกันว่า เพลย์เมคเกอร์ นับตั้งแต่ฟุตบอลเริ่มกำเนิดเกิดมา ตำแหน่งนี้มักจะเป็นหน้าที่ของคนที่มีพรสวรรค์ เป็นศิลปิน เล่นตามอารมณ์ และมักจะเป็นคนที่ทีมไม่สามารถแตะต้องได้ อาทิ ดิเอโก้ มาราโดน่า, แมทธิว เลอ ทิสซิเอร์, พอล แกสคอยน์, โรนัลดินโญ่ หรือแม้กระทั่งยุคที่เพิ่งผ่านมาไม่นานอย่าง เมซุต โอซิล 

ศิลปินลูกหนังหายไป และเพลย์เมคเกอร์หลายคนต้องพัฒนา เสียสละตัวเองมากขึ้น มาช่วยเล่นเกมรับเพื่อให้อยู่รอดในโมเดิร์นฟุตบอล อาทิ มาร์ติน โอเดการ์ด และ เควิน เดอ บรอยน์ เป็นต้น ... นี่คือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ถ้าคุณอยากเป็นนักเตะระดับท็อป เล่นในทีมระดับท็อป และลงแข่งขันเพื่อประสบความสำเร็จในระดับท็อป

ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ครัสทรัพ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก สรุปถึงเรื่องยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของฟุตบอลว่า "จังหวะฟุตบอลโดยทั่วไปเร็วขึ้นอย่างมาก และดูเหมือนว่าความเข้มข้นของการวิ่งและการใช้พละกำลังจะคงที่เกือบตลอดทั้งเกม ช่วงเวลาพักหรือการเคาะบอลไปมาแทบไม่มีให้เห็นแล้ว มันถูกแทนที่ด้วยช่วงการวิ่งที่มีความเข้มข้นสูงจำนวนมาก"  

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่นักเตะที่เก่งที่สุดในทีม และเล่นในตำแหน่งที่เคยได้รับอนุญาตให้ขี้เกียจได้ ก็ยังต้องปรับตัว ดังนั้นมันจะเหลืออะไรกับนักเตะที่เล่นในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยความขยัน ถ้าพวกเขาไม่เสียสละเพื่อทีมในฟุตบอลยุคนี้ก็เท่ากับว่า พวกเขาเป็นนักเตะที่ไร้ประโยชน์ไปโดยปริยาย 

 

ท่องเอาไว้ว่ามืออาชีพ

เมื่อฟุตบอลปัจจุบันเป็นอย่างที่เรากล่าวมาในข้างต้น และฟุตบอลยุคนี้ก็มีเดิมพันสูงมหาศาล ดังนั้นนักเตะที่ดี ๆ สักคนหนึ่งจะถูกจ้างในราคาที่แพงสมเหตุสมผล ทว่าในทางกลับกัน จากมุมของสโมสรที่มีต่อนักเตะ ในเมื่อเราจ้างคุณด้วยค่าเหนื่อยมหาศาล คุณก็ต้องทำประโยชน์คืนมาให้ตรงกับที่ทีมคาดหวังจากคุณด้วย ซึ่งถ้าทำไม่ได้ หรือแม้แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น คุณก็ไม่อาจจะหลบซ่อนไปที่ไหนได้ เพราะภาพที่เห็นมันชัดเจนว่าคนที่ควรจะเป็นจุดแข็ง กลับกลายเป็นจุดอ่อน 

ไม่แปลกเลยที่ รูเบน อโมริม จะตัดชื่อ มาร์คัส แรชฟอร์ด และ อเลฮานโดร การ์นาโช่ ออกจากทีมในเกมกับ แมนฯ ซิตี้ เหตุผลมากมายบีบให้อโมริมต้องทำแบบนั้น และเขาก็ตัดสินใจอย่างกล้าหาญแบบที่โค้ชคนอื่น ๆ ไม่กล้าทำมาก่อน 

แรชฟอร์ด และ การ์นาโช่ ไม่ได้อยู่ในสถานะของนักเตะฟอร์มตกเท่านั้น แต่เรื่องนอกสนามของทั้งคู่ก็มีไม่น้อย แรชฟอร์ด แสดงออกชัดทางภาษากายที่เหนื่อยล้า เบื่อ เซ็ง และดูเหมือนไม่อยากจะลงสนาม แบบที่แฟนผีชอบแซวกันว่า "เหมือนต้องไปง้อให้ลงสนาม" ซึ่งสิ่งที่สะท้อนออกมาในเกมก็ดูเป็นการเล่นที่เหยาะแหยะและแทบไม่มีส่วนร่วมกับเกมเลย 

ขณะที่ การ์นาโช่ นั้นก็เป็นอีกคนที่เสียความมั่นใจมานานพอสมควร อีกทั้งพฤติกรรมนอกสนามที่ชอบใช้โซเชี่ยลให้มีประเด็น จนนักข่าวต้องหยิบมาเล่นและทำให้ทีมต้องรับมือกับข่าวที่เขาสร้างขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ... มันมีให้เห็นบ่อยครั้ง และหลายครั้งที่ผ่านมาการลงโทษจบลงแบบไม้นวม ดังนั้น อโมริม จึงจำเป็นต้องทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปด้วยการใช้มาตรการไม้แข็ง และนี่คือสิ่งที่เขาสัมภาษณ์ออกมา

"ผมแค่พยายามพัฒนาลูกทีม บางทีคุณใช้วิธีการบางอย่างมายาวนานและมันไม่ได้ผล อย่างเช่นกรณีของ แรชฟอร์ด ดังนั้นอาจถึงเวลาลองสิ่งที่แตกต่าง"

"สิ่งสำคัญสำหรับผม คือผลงานในสนาม ทั้งการซ้อมและการแข่ง รวมไปถึงเรื่องการแต่งตัว, กินอาหาร และปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมทีม เรากำลังเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจึงมีความสำคัญ มีผู้คนในสโมสรกำลังสูญเสียตำแหน่งงาน ดังนั้นเราต้องสร้างมาตรฐานในระดับที่สูงมาก"

อโมริม พูดออกมาแบบไม่มีกั๊กและแทบไม่ต้องตีความเพิ่ม การลงโทษแบบไม้แข็งนี้ก็เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่แค่ในสนาม มันรวมถึงการวางตัวต่าง ๆ ของทั้ง 2 คน ที่อาจจะทำให้ทีมที่เขากำลังพยายามรวบรวมให้เป็นหนึ่ง เกิดความโคลงเคลงหากทั้ง 2 คนยังไม่ได้รับบทเรียนอะไรเลย และคงยิ่งไปกันใหญ่หากยังประคบประหงม เพียงเพราะทั้งคู่เป็นนักเตะเยาวชนหรือลูกหม้อของสโมสร 

นี่คือฟุตบอลเพื่อความเป็นเลิศ ดังนั้นการรักษาส่วนรวมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับ 1 ... ทีมต้องมาเป็นอันดับแรก และการที่ทีมจะเป็นทีมได้ วัฒนธรรมของทีม โดยเฉพาะทีมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงใหม่ คนที่ทำผลงานได้ดี และพร้อมเสียสละตัวเองเพื่อทีมเท่านั้น คือคนที่คู่ควรกับการลงสนาม เมื่อไม่ดีพอก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นตัวสำรอง หรืออาจจะโดนตัดชื่อจากเกมไปเลย นั่นคือสิ่งที่ทีมระดับท็อปบนโลกนี้ทีมไหนก็ทำกัน 

 

ไม่เจ็บปวด ไม่เรียนรู้ 

การตัดสินใจแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่าของอโมริมหลังเข้ามารับงานไม่ถึง 2 เดือนแบบนี้ อาจจะดูเป็นการเสี่ยงต่อการที่เขาจะทำให้ห้องแต่งตัวสั่นคลอน แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ยากที่จะแข่งขันด้านความเป็นเลิศกับทีมอื่น ๆ ได้ 

ตัวของ แรชฟอร์ด และ การ์นาโช่ ออกจะไม่พอใจในแง่ของความรู้สึกลึก ๆ อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเช่นนี้ของ อโมริม ก็ไม่ใช่ว่าจะส่งเฉพาะข้อเสียให้กับเขาอย่างเดียวเท่านั้น ของแบบนี้มันก็มีแง่ดีอยู่ เพียงแต่พวกเขาอาจจะยังไม่รู้สึกถึงมันมาก่อน 

เราลองย้อนอดีตไปไม่ไกล ทีมระดับโลกต่างก็เคยดรอปนักเตะดังที่ฟอร์มตกมาแล้วทั้ง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เคยทำกับ เควิน เดอ บรอยน์ มาแล้วในช่วงหนึ่งของฤดูกาล 2023-24 ที่ผ่านมา โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ เดอ บรอยน์ หายเจ็บจากแฮมสตริง และกลับมาลงเล่น 5 เกมโดยไม่สามารถยิงประตูหรือแอสซิสต์ได้แม้แต่ลูกเดียว 

เป๊ป จึงจับ เดอ บรอยน์ นั่งเป็นตัวสำรองแบบไม่ส่งลงสนามในเกมชนะ แอสตัน วิลล่า 4-1 ... หลังจากนั้นเกมต่อไป เขาส่ง เดอ บรอยน์ ลงเล่นอีกครั้ง และ 4 เกมหลังจากนั้น เดอ บรอยน์ ยิงไป 3 ลูก และแอสซิสต์ไปอีก 3 ลูก 

โดย เป๊ป ให้สัมภาษณ์ว่า การให้ เดอ บรอยน์ นั่งดูเพื่อนร่วมทีมเล่นและทำประตู ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เขารู้สึกกระหาย คันแข้งคันขา อยากจะมีส่วนร่วมบ้าง และเมื่อถึงเวลาที่สมควร ในจังหวะที่จอมทัพของเขาพร้อมจะอาละวาดเต็มที่ เขาก็ปล่อย เดอ บรอยน์ ลงไป จากนั้น เดอ บรอยน์ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ซิตี้ ชนะรวดจนจบซีซั่น และคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกไปครองได้สำเร็จ

นอกจากการดรอปหรือตัดชื่อนักเตะดังออกจากทีม จะเป็นเหมือนการส่งสัญญาณเตือนเรื่องฟอร์มของพวกเขา และเป็นการกระตุ้นความกระหายอยากลงสนามของพวกเขาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ช่วยนักเตะได้ดีอีกอย่างก็คือ มันจะทำให้นักเตะดังที่ฟอร์มตก หลุดจากโฟกัสของสื่อไประยะหนึ่ง 

เพราะในยุคนี้ ชีวิตนักฟุตบอลอาชีพนั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก เมื่อทุกความเคลื่อนไหวของพวกเขาทั้งในและนอกสนามล้วนแต่ถูกจับตามองโดยสื่อมวลชน ยิ่งในวันที่ฟอร์มแย่ในสนาม มันจะไม่จบลงแค่เมื่อสิ้นเสียงนกหวีดหมดเวลาแข่งขัน พวกเขาจะต้องเจอเสียงโวยวายของโค้ช, คำวิจารณ์ทางโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงบทความทางด้านลบตามหน้าสื่อ และบางครั้งมันก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อคุณแก้ตัวจากความผิดพลาดครั้งก่อนได้ในเกมถัดไป

เรื่องนี้มีอยู่จริง และทำให้หลายทีมจ้างนักจิตวิทยาเข้ามาทำงานร่วมกับนักเตะในปัจจุบัน โดยทีมที่เคยมีข่าวออกมาชัด ๆ ก็คือ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่จ้าง ฟิลิปป์ เลาซ์ ที่เป็นคนเสนอแนวคิดให้กุนซือของ ดอร์ทมุนด์ หลายคนพักการใช้นักเตะฟอร์มตกในช่วงสั้น ๆ เพื่อให้นักเตะได้ผ่อนคลายลงจากความกดดัน กระหายลงสนามมากขึ้น และได้มองดูคนอื่นเล่นว่ามันแตกต่างกับตอนที่พวกเขาลงเล่นอย่างไร 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย มันคือการทำให้นักเตะรู้ว่าตัวเองกำลังฟอร์มตก และพวกเขาจะได้ช่วงพักสั้น ๆ ทั้งจิตใจและร่างกายเพื่อให้กลับมายังโฟกัสเดิมของพวกเขาอีกครั้ง ... นั่นคือเมื่อเกมเดิมได้จบลงไป เกมใหม่ที่คืบคลานเข้ามาจะเป็นการตัดสินกันที่ปัจจุบัน ถ้าพวกเขาทำงานได้ดีทั้งในและนอกสนาม โอกาสจะกลับมาเป็นของพวกเขาอีกครั้ง 

และถ้าพวกเขากลับมาทำฟอร์มได้ดี กลายเป็นตัวหลักคืนฟอร์มเดิม เรื่องราวการโดนดรอปหรือตัดชื่อก็จะกลายเป็นแค่ฝันร้ายที่พวกเขาฝังไว้ในลิ้นชักโดยไม่เปิดมันออกมาอีกเลย 

 

แหล่งอ้างอิง

https://totalfootballanalysis.com/tactical-theory/tactical-theory-the-death-of-the-number-10-tactical-analysis-tactics
https://www.dreamteamfc.com/c/news-gossip/421938/number-10-position-dying-out/
https://www.goal.com/en/news/football-squad-numbers-explained-how-positions-are-traditionally-/1rrwwpkupqgbczd542hkjiwl2
https://attackingsoccer.com/the-number-10-in-soccer-why-its-so-significant/
https://www.fourfourtwo.com/features/was-football-really-better-90s-i-long-it-my-students-prove-every-generation-different
https://sciencenordic.com/denmark-football-society--culture/scientists-football-has-changed-dramatically/1440511

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ