Feature

คอนเต้ vs เด ลอเรนติส : ลูกจ้าง-เจ้านาย ต่างขั้ว ต่างคิด แต่พิชิตแชมป์ เซเรีย อา | Main Stand

หลายสื่อเริ่มรายงานตรงกันว่า หลังจากที่ อันโตนิโอ คอนเต้ พา นาโปลี คว้าแชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา 2024-25 เจ้าตัวเตรียมแยกทาง และอาจกลายเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ของ ยูเวนตุส ในอีกไม่ช้า 

 

เรื่องน่าสนใจก็คือ นี่เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เซอร์ไพรส์ เพราะว่ากันว่าคนอย่าง คอนเต้ และ ออเรลิโอ เด ลอเรนติส ประธานสโมสรดังจากแดนใต้ของอิตาลี เป็นคนประเภทที่อยู่ใกล้กันไม่ได้ ต่างคนต่างหัวแข็ง ปากร้าย และมีอีโก้สูง ซึ่งเป็นบุคลิกที่ทำงานด้วยยาก 

แม้สิ่งที่หลายคนคาดคิดไว้จะเกิดขึ้นจริง ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ลงรอยกัน แต่ประเด็นคือพวกเขาประคับประคองความสัมพันธ์นี้ร่วมกันและพาทีมไปถึงแชมป์ลีกได้อย่างไร ?

หากคำตอบกับ Main Stand 

 

ไฟกับน้ำมัน 

อันที่จริงแล้ว สิ่งที่หลายคนแปลกใจมากกว่าการที่ ออเรลิโอ เด ลอเรนติส เตรียมจะปลด อันโตนิโอ คอนเต้ ออกจากตำแหน่งกุนซือหลังจากพาทีมคว้าแชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา มาหมาด ๆ ก็คือ 2 คนนี้ตกลงปลงใจร่วมงานกันได้อย่างไร ? 

แม้ทั้ง 2 คนจะทำงานคนละบทบาท แต่คนในวงการฟุตบอลต่างรู้ดีว่า ทั้งคู่ล้วนเป็นคนประเภทยอมหักไม่ยอมงอ มีอีโก้สูง และไม่ชอบให้ใครมาตั้งข้อสงสัยในไอเดียของพวกเขา 

ตัวของ เด ลอเรนติส นั้นเข้ามาเป็นประธานสโมสรของ นาโปลี ในช่วงปี 2004 โดยจ่ายเงินทั้งหมดราว ๆ 25 ล้านยูโรเพื่อเทคโอเวอร์ทีม โดยในช่วงเวลานั้น นาโปลี ประสบปัญหาทางการเงิน ล้มละลาย ถูกปรับตกชั้นไปเล่นใน เซเรีย ซี 

แม้เขาจะไม่ใช่คนฟุตบอลโดยกำเนิด เพราะเติบโตมากับธุรกิจภาพยนตร์ แต่ เด ลอเรนติส ก็เป็นคนประเภทที่ "สั่งแล้วได้ดี" มีความสามารถในการบริหารที่เก่งกาจ เพราะเขาจ้างคนเก่ง ๆ ที่ถนัดงานนั้นจริง ๆ เข้ามาทำงานเป็นแขน-ขา ให้ตนเองเสมอ อาทิ การแต่งตั้ง ปิเอร์เปาโล มาริโน่ ผู้อำนวยการกีฬาของ อูดิเนซ่ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความตาแหลม หยิบนักเตะราคาถูกมาปั้นให้เล่นดีและขายได้ราคาหลายคน ประกอบกับกุนซือที่ทำทีมตามโจทย์ได้ดี จึงทำให้ นาโปลี กลับมาเล่นใน เซเรีย อา ได้อีกครั้งในฤดูกาล 2007-08 จากนั้นนโยบายซื้อมาขายไป ก็สัมฤทธิ์ผล จนทีมกลับมาคว้าแชมป์ เซเรีย อา ได้สำเร็จถึง 2 สมัย ในปี 2023 และ 2025 ดังที่เราทราบกันในตอนนี้ 

แต่เหนือจากการบริหารที่ขึ้นชื่อ ก็คือเรื่องของการเอาแต่ใจและอีโก้ที่สูงปรี๊ด ไม่สนใครและเห็นความคิดตัวเองเป็นใหญ่เสมอ และฝีปากที่แซ่บสะบัด ด่าแหลกแขวะไม่ยั้ง 

ขณะที่ อันโตนิโอ คอนเต้ คนที่ เด ลอเรนติส ดึงตัวมาทำงานด้วยนั้น ก็เป็นเฮดโค้ชที่เด็ดขาดในการทำงานของตัวเอง มีแนวทางไปสู่ความเป็นเลิศที่ชัดเจน และจะไม่ยอมให้ใครมาขัดขวางวิธีการทำงานของเขาง่าย ๆ แม้จะเป็นคนที่ถูกเรียกว่าเจ้าของสโมสรก็ตาม 

เรื่องนี้ คอนเต้ เองก็เคยหักมาแล้วทั้ง โรมัน อบราโมวิช สมัยทำงานกับ เชลซี ที่เขาทำทีมได้แชมป์ พรีเมียร์ ลีก ในปี 2017 ก่อนจะโดนปลดในปีต่อมา ทั้งที่คว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ได้อีกถ้วย นอกจากนี้ยังปลุก อินเตอร์ มิลาน ขึ้นจากหลุมด้วยการเป็นแชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา เมื่อปี 2021 แต่สุดท้ายพอเขารู้ว่าตัวเองจะไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องเงินในการเสริมทัพ เขาก็ไม่แคร์และเลือกจะออกทันที 

สด ๆ ร้อน ๆ งานก่อนหน้านี้กับ สเปอร์ส คอนเต้ ก็ให้สัมภาษณ์เชิงลบในเรื่องความทะเยอทะยาน จนสโมสรไม่สามารถพัฒนาต่อได้ และสุดท้าย คอนเต้ ก็ออก จนกระทังมารับงานที่ นาโปลี ในฤดูกาล 2024-25 นี้ 

นี่คือการร่วมงานกันของคนที่ต้องถูกเรียกว่า "มวยถูกคู่ คนดูถูกใจ" และทุกคนต่างเฝ้ารอว่าอะไรจะเกิดขึ้นระหว่าง 2 คนนี้

 

ข้อตกลงระหว่าง 2 เสือ 

เหตุผลที่ เด ลอเรนติส เลือก คอนเต้ นั้นมีหลายประการ เรื่องแรกคือ การการันตีความสำเร็จ จากสิ่งที่ คอนเต้ เคยทำไว้เมื่อในอดีต เรียกได้ว่าเป็นของขึ้นห้างสำหรับโค้ชอิตาลี เชื่อใจในคุณภาพได้แน่นอน 

และประการที่สองก็คือ คาแร็คเตอร์ ลอเรนติส เลือก คอนเต้ ก็เพราะเห็นว่าพวกเขาเป็นคนในแบบเดียวกัน นั้นคือมีความเป็นผู้นำ เกลียดความพ่ายแพ้ และเป็นคนที่สามารถดึงศักยภาพนักเตะออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม จากนักเตะธรรมก็อาจจะกลายเป็นนักเตะที่ฟิตเปรี๊ยะ เล่นเข้าระบบ ทำให้ทีมเดินหน้าไปต่อได้โดยไม่ต้องทุ่มซื้อสตาร์แพง ๆ เสมอไป 

เด ลอเรนติส เสนอสัญญาให้ คอนเต้ ถึง 3 ปี พร้อมค่าเหนื่อย 6 ล้านยูโรต่อปี บวกด้วยโบนัสต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขาเป็นกุนซือที่รับค่าเหนื่อยสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร และมากที่สุดใน เซเรีย อา ซีซั่นนี้ด้วย ซึ่งค่าจ้างจำนวนนี้ ลอเรนติส ก็คาดหวังให้ คอนเต้ พาทีมกลับมาเป็นแชมป์ เซเรีย อา ให้ได้อีกซัก 1 สมัย และทำผลงานให้ดี โดยเฉพาะใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 

ตัดภาพมา สิ่งที่ คอนเต้ ร้องขอก็มีเช่นกัน โดย La Gazzetta dello Sport สื่อดังอิตาลีระบุว่า "คอนเต้ต้องการการสนับสนุนในการเสริมทัพเพื่อเพิ่มความลึกของทีม และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของสโมสร เช่น สนามฝึกซ้อมและสนามแข่งขัน ทั้งหมดก็เพื่อบรรลุเป้าหมายให้เร็วที่สุด"  

แม้ทั้ง 2 คนจะเป็นคนที่หัวแข็งขนาดไหน แต่นี่คือโลกแห่งมืออาชีพ คอนเต้ ได้รับค่าจ้างมหาศาล ขณะที่ เด ลอเรนติส ก็ได้ของขึ้นห้างที่อยากจะได้ ดีลนี้จึงเกิดขึ้น

ทุกอย่างในช่วงแรกเป็นไปดั่งการฮันนีมูน เพราะ คอนเต้ ก็ได้นักเตะที่อยากจะได้มาเสริมทัพจริง ๆ อเลสซานโดร บวนจอร์โน่ กองหลังดีกรีทีมชาติอิตาลีชุด ยูโร 2024, เดวิด เนเรส ดีกรีทีมชาติบราซิลชุดใหญ่, โรเมลู ลูกากู อดีตดาวซัลโว เซเรีย อา 2 สมัย และ 2 นักเตะชาวสกอตแลนด์อย่าง สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ และ บิลลี่ กิลมัวร์ ทั้งหมดเป็นเงินรวมกันราว ๆ 150 ล้านยูโร 

เมื่อได้วัตถุดิบที่ต้องการ คอนเต้ ก็บันดาลผลการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมให้กับ นาโปลี ได้อย่างที่เห็น ฟุตบอลของ นาโปลี มีคุณภาพที่สมดุลรุก-รับ อย่างยอดเยี่ยม นักเตะที่มีพร้อมใจกันเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม ทุกคนตอบแทนด้วยผลงานที่คุ้มค่าราคาที่จ่ายไป จน นาโปลี จบปลายทางของซีซั่นได้อย่างยอดเยี่ยม 

แต่เรื่องราวระหว่างทางนี่สิที่น่าสนใจ เพราะนอกจากผลงานที่ยอดเยี่ยมแล้วสิ่งที่ควรกล่าวถึงคือ ความสัมพันธ์ของ เด ลอเรนติส และ คอนเต้ ก็มีความไม่เข้าใจกันมาโดยตลอด พวกเขาประคองกันไปถึงเส้นชัยได้อย่างไร นี่คือคำถามที่หลายคนอยากรู้

 

ผมเชื่อแบบนี้ คุณเชื่อแบบนั้น ... แต่เราคือทีม

ในฤดูกาล 2024–25 ความสัมพันธ์ระหว่าง อันโตนิโอ คอนเต้ และ ออเรลิโอ เด ลอเรนติส มีความตึงเครียดและไม่ลงรอยกันในหลายประเด็นสำคัญ แม้คอนเต้จะพานาโปลีคว้าแชมป์ เซเรีย อา ได้สำเร็จ แต่ความเห็นต่างในเรื่องการบริหารทีม ส่งผลให้อนาคตของเขากับสโมสรไม่แน่นอน ซึ่งข่าวนี้เริ่มหลุดออกมาตั้งแต่หลังเข้าสู่ปี 2025 เป็นต้นมา 

ความไม่พอใจเนื่องจาก คอนเต้ ทำทีมมาถึงกลางซีซั่น และพบว่าทีมจะต้องเสียขุนพลสำคัญอย่าง ควิชา ควารัตสเคเลีย ให้กับ เปแอสเช เขาจึงต้องการเติมนักเตะตัวรุกเข้ามาเพิ่ม แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีนักจากบอร์ดบริหารที่นำโดย เด ลอเรนติส 

โดย คอนเต้ แสดงความกังวลเกี่ยวกับขนาดและคุณภาพของทีม โดยระบุว่า หาก นาโปลี ต้องการแข่งขันในระดับสูงทั้งในประเทศและยุโรป จำเป็นต้องมีการเสริมทัพที่เหมาะสม เขาชี้ว่าทีมมีผู้เล่นเพียง 21 คน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการรับมือกับโปรแกรมการแข่งขันที่หนักหน่วงแบบที่ เด ลอเรนติส ตั้งเป้าว่าจะต้องคว้าทั้งแชมป์ลีก และทำผลงานให้ดีในยุโรปไปพร้อม ๆ กัน 

เรื่องนี้สร้างความรำคาญใจให้กับ เด ลอเรนติส ระดับหนึ่งเพราะ คอนเต้ ก็เริ่มจะออกมาพูดบนหน้าสื่อบ่อยขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการโยนหินถามทางใส่บอร์ดบริหารอยู่บ่อย ๆ อีกด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ คอนเต้เรียกร้องให้มีการปรับปรุง สตาดิโอ ดีเอโก้ อาร์มันโด้ มาราโดน่า สนามแข่งซึ่งมีสภาพทรุดโทรมและไม่ทันสมัย แต่ เด ลอเรนติส ก็มองอีกด้านในฐานะประธานสโมสรว่ายากที่จะเป็นไปได้ เพราะโครงสร้างเดิมที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1959 อาจไม่สามารถรองรับการปรับปรุงครั้งใหญ่ได้ อีกทั้งเจ้าของสนามที่แท้จริงคือสภาเมืองเนเปิ้ลส์ ไม่ใช่สโมสร ซึ่งนี่ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ทั้งคู่ต่างเห็นไม่ตรงกัน 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญมาก ๆ อีกหนึ่งเรื่อง ก็คือสไตล์การทำงานของ เด ลอเรนติส คือการเข้าถึงทีมงานสตาฟฟ์โค้ชและนักเตะได้เสมอในฐานะประธาน พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เป็นประธานสโมสรที่ขอมีบทบาทในทีม อาจถึงขั้นล้วงลูกบ้างอะไรบ้าง โดยเรื่องนี้เขาก็เคยทำในยุคก่อน ๆ เสมอมา 

โค้ชคนอื่นอาจจะยอม แต่ คอนเต้ ไม่ยอม ... เพราะ คอนเต้ ยืนยันแน่ชัดว่าเขาต้องการอิสระในการบริหารทีมอย่างเต็มที่ และบังเอิญว่า เด ลอเรนติส ก็ไม่ยอมเหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างตั้งใจขัดคำขอกันอย่างตรงไปตรงมาอย่างชัดเจน โดย เด ลอเรนติส มักจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของโค้ช เช่น การเข้าห้องแต่งตัวก่อนและระหว่างการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ คอนเต้ ไม่ยอมรับและมองว่าเป็นการละเมิดขอบเขตของโค้ช

3 เรื่องนี้นำมาสู่ปัญหาของการสื่อสารและการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน คอนเต้ รู้สึกว่าความพยายามของเขาในการพัฒนาทีมไม่ได้รับการยอมรับอย่างเพียงพอ และเขาต้องการความเคารพจากผู้บริหารสโมสร ในขณะที่ เด ลอเรนติส ไม่พอใจที่ คอนเต้ ออกมาแสดงความเห็นในช่วงเวลาที่ทีมกำลังแข่งขันอย่างเข้มข้น โดยมองว่าเป็นการสร้างความไม่สงบภายในทีม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องยอมรับทั้งคู่ตรง ๆ ก็คือพวกเขาเข้าสู่สภาวะ "The show must go on" ได้อย่างยอดเยี่ยม แม้ คอนเต้ จะบ่นกับสื่อหรือพาดพิงแค่ไหน แต่เมื่อเขานำทีมลงแข่งขัน ทีมของเขาสามารถทำทุกอย่างที่บอร์ดบริหารร้องขอได้ทั้งหมด ทั้งฟุตบอลที่มีความฟิตและตรงกับแนวทางการเล่นในฟุตบอลสมัยใหม่ ทีมมีความห้าวหาญมีคาแร็คเตอร์ที่ดี และที่สำคัญที่สุด คือได้ผลการแข่งขันที่ต้องการเสมอ 

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ เด ลอเรนติส เริ่มลดความบาดหมางลงบ้างเพราะ คอนเต้ เป็นโค้ชที่ทำได้จริงตามที่พูด ปกติแล้ว เด ลอเรนติส จะจวกยับใส่กุนซือทันทีหากเขาไม่พอใจ แต่กับ คอนเต้ ที่ทำทีมได้ตรงตามบรีฟทุกจุด เด ลอเรนติส ถึงกับกล่าวคำชมบ่อยครั้ง แม้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่อาจจะไม่ลงรอยกันนัก แต่สุดท้าย เด ลอเรนติส ก็ยอมอ่อนข้อที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

เช่น แม้เขาจะไม่ทุ่มเงินซื้อ อเลฮานโดร การ์นาโช่ จาก แมนฯ ยูไนเต็ด แบบที่ คอนเต้ อยากได้ แต่เมื่อ คอนเต้ พาทีมเกาะจ่าฝูงและหัวตารางอยู่นาน เด ลอเรนติส ก็เสริมทัพให้กับ คอนเต้ ด้วยนักเตะที่อาจจะไม่ได้ดังมากนักอย่าง ฟิลิปป์ บิลลิ่ง จาก บอร์นมัธ และ โนอาห์ โอคาห์ฟอร์ ตัวรุกจาก เอซี มิลาน เรียกได้ว่าแม้ในเชิงคุณภาพอาจจะได้ไม่ตรงใจ แต่ในเชิงของจำนวนนับหรือขุมกำลังเชิงรุก ก็ทำให้ คอนเต้ ได้มีนักเตะให้ใช้งานมากขึ้น

แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าความขัดแย้งนี้จะนำไปสู่ตอนจบที่เป็นอื่นไม่ได้นอกจากการแยกทางกันระหว่าง นาโปลี และ คอนเต้ แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ทั้งประธานสโมสร และเฮดโค้ชของทัพอัซซูร่า เลือกความเป็นทีมนำหน้าก่อนเสมอ ไม่มีการเล่นสงครามประสาท ไม่รบกันบนสื่อ และหลายครั้งต่างฝ่ายก็มีคำชมให้กันและกัน ซึ่งแน่นอนว่ามันช่วยซ่อมแซมทำให้บรรยากาศในทีมดีขึ้นได้ และมีส่วนในการชูถ้วยแชมป์สคูเด็ตโต้ประจำฤดูกาลนี้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.corrieredellosport.it/news/calcio/serie-a/napoli/2025/05/24-1100000/de_laurentiis_conte_ha_un_contratto_di_tre_anni_ma_non_posso_costringerlo_a_restare
https://chatgpt.com/c/6835727e-a04c-8002-8380-a018c9dfb0cf
https://www.gazzetta.it/Calcio/Serie-A/Napoli/27-05-2025/conte-de-laurentiis-manna-si-incontrano-per-decidere-il-futuro-del-napoli.shtml
https://www.theguardian.com/football/2025/may/24/antonio-conte-napoli-serie-a-title-italy-football-scudetto?utm_source=chatgpt.com
https://football-italia.net/de-laurentiis-warning-for-conte-if-not-happy/?utm_source=chatgpt.com

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ