Feature

คว้าทุกแชมป์ ทุกรุ่น เหตุผลที่ ยะโฮร์ กินรวบฟุตบอลมาเลเซีย ที่ไม่ใช่เพราะแค่ความรวย | Main Stand

ในโลกของฟุตบอลอาเซียน หากพูดถึง “การกินรวบลีก” ในแบบที่ทุกฤดูกาลแทบจะไม่ต้องลุ้นแชมป์… หนึ่งในชื่อที่ทุกคนจะนึกถึงทันทีคือ "ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม" หรือ JDT (Johor Darul Ta'zim) สโมสรจากมาเลเซียที่ครองความยิ่งใหญ่แบบเบ็ดเสร็จมายาวนานตลอดกว่า 10 ปี

 

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่เพราะโชคช่วย และยิ่งไม่ใช่เพราะงบที่ล้นฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ JDT คือผลลัพธ์ของการออกแบบสโมสรอย่างเป็นระบบ จากผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก การพัฒนาเยาวชนที่ชัดเจน และการจัดการอย่างมืออาชีพ

วันนี้พวกเรา Main Stand  ขอพาผู้อ่านทุกท่านไปทราบถึงเหตุเเละปัจจัยที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของ JDT ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าพร้อมกันแล้ว เตรียมพบกับเนื้อหาที่ กระชับ – ตรงประเด็น – สุดพิเศษ ได้ก่อนใครได้เเล้ว ที่ Main Stand

 

วิสัยทัศน์การบริหารของเจ้าชาย ตงกู อิสมาอิล อิดรีส

เบื้องหลังจักรวรรดิแห่งฟุตบอลมาเลเซีย ที่ไม่ได้สร้างขึ้นภายในวันเดียวก่อนที่ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม หรือ JDT จะกลายเป็นชื่อที่ทุกสโมสรในอาเซียนต้องเงยหน้ามอง พวกเขาเคยเป็นเพียงทีมระดับท้องถิ่นในรัฐยะโฮร์ ที่มีฐานแฟนคลับจำกัด ผลงานขึ้น ๆ ลง ๆ และไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน

เเต่ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปในปี 2012...จากการมาของ เจ้าชาย ตงกู อิสมาอิล อิดรีส (Tunku Ismail Idris) แห่งรัฐยะโฮร์ ที่ทรงตัดสินพระทัยเข้ามารับตำแหน่งประธานสมาคมฟุตบอลยะโฮร์ พร้อมภารกิจใหญ่ที่จะ “พลิกโฉม” วงการฟุตบอลทั้งรัฐ ด้วยการทำให้ยะโฮร์ ไม่เป็นเพียงเเค่ทีมฟุตบอลอีกต่อไปแต่จะเป็นต้นเเบบที่ทั้งมาเลเซียต้องเรียนรู้

พระองค์ทรงรวมทีมต่าง ๆ ที่แยกส่วนในยะโฮร์ให้เป็นหนึ่งเดียวในชื่อ “Johor Darul Ta'zim FC” พร้อมวางแผนการบริหารสโมสรแบบระยะยาว และสร้างองค์กรที่มีรากฐานมั่นคงในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน หรือการพัฒนาเยาวชน

สิ่งแรกที่พระองค์ ลงมือทำทันที คือการยกระดับวัฒนธรรมการทำงานภายในสโมสรให้มีความเป็นมืออาชีพ โดยเปลี่ยนจากวัฒนธรรมแบบข้าราชการที่เคร่งขรึมและเชื่องช้า ไปสู่ทีมงานที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ ประสิทธิภาพ และความรับผิดชอบเชิงธุรกิจ พระองค์เปิดโอกาสให้บุคลากรรุ่นใหม่เข้ามาเสนอแผนงาน และผลักดันไอเดียใหม่ ๆ 

นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนใน สนาม Sultan Ibrahim Stadium ที่เป็นหมากที่สำคัญ ที่พระองค์ไม่ได้มองว่าฟุตบอลเป็นแค่เรื่องของ 11 คนในสนาม แต่คือธุรกิจบันเทิงระดับเมือง หนึ่งในภาพฝันที่พระองค์วางไว้คือการมี “Home of Johor Football” ที่ไม่ใช่แค่สนามบอล แต่คือจุดศูนย์รวมของวัฒนธรรมลูกหนังซึ่งกลายเป็นสนามมาตรฐาน FIFA ที่ดีที่สุดในประเทศ และเป็นจุดศูนย์กลางของยะโฮร์

ถึงแม้จะเป็นเจ้าชาย แต่พระองค์ไม่เคยยืนอยู่หลังม่าน พระองค์เข้าร่วมประชุมทีมโค้ช ประชุมบริหาร เดินดูสนามซ้อม และตอบคำถามแฟนบอลบนโซเชียลมีเดียด้วยพระองค์เองเสมอ ด้วยเหตุนี้ ยะโฮร์ จึงถูกมองว่าเป็น “สโมสรที่มีเจ้าของเป็นผู้นำจริง ๆ” มากกว่าจะเป็นองค์กรตามพิธี

ภายใต้พระราชดำริของพระองค์ ยะโฮร์ ยังกลายเป็นสโมสรแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คว้าแชมป์ AFC Cup ในปี 2015 ซึ่งเป็นรางวัลที่ส่งสัญญาณให้ทั้งเอเชียรู้ว่า “ฟุตบอลมาเลเซียกลับมาแล้ว” และเป็นรากฐานที่ต่อยอดสู่แชมป์ลีก 10 สมัยติดต่อกันในประเทศ

เหนือสิ่งอื่นใด พระองค์กลับให้ความสำคัญกับการ “สร้างมากกว่าซื้อ” อะคาเดมีเยาวชนของ  ยะโฮร์ ถูกออกแบบให้ครบวงจรเหมือนศูนย์ฝึกในยุโรป มีทั้งที่พัก อาหารการกิน การศึกษา การอบรมเรื่องวินัย และการเสริมสร้างจิตวิทยานักกีฬา 

พระองค์ถึงขั้นดึงอดีตนักเตะอย่าง หลุยส์ การ์เซีย (Luis García) มานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการอะคาเดมี เพื่อให้นักเตะรุ่นใหม่ได้เติบโตในมาตรฐานระดับสากลตั้งแต่วัยเยาว์

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ภาพฝัน แต่มันคือผลลัพธ์ของการบริหารแบบ “ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์” ที่เลือกเดินเกมยาว วางแผนทุกอย่างอย่างเป็นระบบ และยอมลงทุนทั้งเงิน เวลา และความอดทน

 

โครงสร้างพื้นฐานระดับโลกอย่าง สนามสุลต่าน อิบราฮิม (Sultan Ibrahim Stadium) 

มากกว่าสนามฟุตบอล คืออนาคตของวงการลูกหนังมาเลเซีย ทุกทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ ล้วนมี “บ้าน” ที่คู่ควร… สำหรับยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม สโมสรเบอร์หนึ่งแห่งมาเลเซีย “บ้าน” หลังนั้นมีชื่อว่า สนามสุลต่าน อิบราฮิม (Sultan Ibrahim Stadium) สถาปัตยกรรมทรงพลังที่ไม่เพียงเป็นสนามเหย้า แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการลงทุนระยะยาวที่วางรากฐานไว้เพื่ออนาคตของทั้งสโมสรและวงการฟุตบอลประเทศ

สนามแห่งนี้เปิดใช้งานในปี 2020 ด้วยงบก่อสร้างสูงถึง 200 ล้านริงกิต หรือราว 1,600 ล้านบาท สร้างขึ้นที่เมือง อิสกันดาร์ ปูเตรี รัฐยะโฮร์ บนพื้นที่กว่า 140,000 ตารางเมตรและมีความจุมาตรฐาน 40,000 ที่นั่ง พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทีมระดับทวีปยังต้องอิจฉา

ที่นี่ไม่ได้มีแค่สนามแข่งขัน แต่ยังเป็น สำนักงานใหญ่ของยะโฮร์, ศูนย์ฝึกนักเตะเยาวชน, พื้นที่ฝึกซ้อมสำหรับทีมชุดใหญ่, ร้านค้าสโมสร, ห้องประชุมของฝ่ายบริหาร, และแม้แต่พื้นที่รับรองระดับ VIP สำหรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือน

สนามแห่งนี้ถูกออกแบบโดยบริษัท Saadon Architect ร่วมกับ Beijing Institute of Architectural Design โดยแรงบันดาลใจมาจาก “ใบกล้วย” ที่สะท้อนถึงรากวัฒนธรรมท้องถิ่นของมาเลย์ และถูกห่อหุ้มด้วยแผ่นเมทัลลิกดีไซน์โค้งลื่นสมัยใหม่ ผสานกันอย่างลงตัวระหว่างประวัติศาสตร์และอนาคต

เวลากลางคืน สนามจะเปล่งแสงด้วย ไฟ LED สีแดง น้ำเงิน และขาว ที่เป็นสีประจำรัฐยะโฮร์ โอบล้อมโครงสร้างอาคารแบบไดนามิก ราวกับเป็นอาณาจักรลูกหนังที่ไม่เคยหลับใหล

และนี่ไม่ใช่แค่ความรู้สึกของแฟนบอลเท่านั้น... เพราะสนาม Sultan Ibrahim Stadium ยังได้รับการยกย่องจากเว็บไซต์ต่างประเทศอย่าง StadiumDB.com ให้เป็น “Stadium of the Year 2020” เอาชนะสนามใหม่ทั่วโลกกว่า 19 แห่งในเวลานั้น

 

การพัฒนาเยาวชนอย่างเป็นระบบ

หลายสโมสรในอาเซียนเลือกเดินเกมตลาดซื้อขายเพื่อความสำเร็จระยะสั้น ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม (JDT) กลับสร้างอีกหนึ่งโครงสร้างที่มั่นคงไม่แพ้สนามเหย้า นั่นคือ JDT Academy อะคาเดมีที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแข่งขันแค่ในประเทศ แต่เตรียมพร้อมไว้เพื่อยืนระยะในระดับภูมิภาค

ทว่าที่นี่ไม่ใช่แค่โรงเรียนฝึกนักบอล แต่คือระบบการพัฒนาเยาวชนแบบครบวงจรที่มีทั้งที่พัก การศึกษา โค้ชเฉพาะทาง และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในทุกแง่มุม ตั้งแต่การวางแผนการฝึกซ้อม ไปจนถึงการฟื้นฟูร่างกายและการวิเคราะห์สมรรถภาพนักกีฬา จากการวางระบบดังกล่าวนี้ส่งผลให้ผลลัพธ์ที่ออกมาชัดเจนอย่างมากในเวทีระดับภูมิภาค

นอกจากนี้สโมสรยังวางแผนเชื่อมต่อระบบเยาวชนกับทีมชุดใหญ่ผ่านทีมสำรองอย่าง JDT II และ JDT III เพื่อให้เยาวชนได้ขยับระดับการแข่งขันตามลำดับ … ก่อนจะถูกดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในเวลาที่เหมาะสมพวกเขาไม่ได้หวังแค่ “การปั้นดาวรุ่ง” แต่กำลัง “ออกแบบอนาคตของสโมสร” ผ่านระบบเยาวชนที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

ระดับพื้นฐานของอะคาเดมีของ ยะโฮร์ จะเริ่มตั้งแต่รุ่น U13 และ U15 โดยใช้การลงแข่งขันในรายการระดับนานาชาติ เช่น Singapore Youth League หรือ FAS Under-U15 International Challenge Cup เพื่อสร้างพื้นฐานทักษะ – พัฒนาทางกายและจิตใจ – และเปิดประสบการณ์ให้เด็กได้สัมผัสรูปแบบฟุตบอลที่หลากหลายก่อนเข้าสู่ระบบจริง

JDT วางระบบเยาวชนแบบ 2 ระดับใหญ่ ๆ คือ

 1. ระดับอะคาเดมี (Academy Teams) ซึ่งประกอบด้วย JDT U13, U15 และ JDT IV (U18)ทีมเหล่านี้เน้นการฝึกซ้อม วางรากฐานด้านทักษะ ความคิด และจิตวิทยานักกีฬาและจะถูกส่งเข้าแข่งขันในรายการเยาวชนนานาชาติ เช่น Singapore Youth League หรือ FAS U15 International Cup รวมถึงรายการเยาวชนระดับชาติ เช่น Piala Belia (Youth Cup) ในกรณีของ JDT IV

2. ระดับทีมสำรอง (Development & Feeder Teams) เมื่อผ่านระดับอะคาเดมีแล้ว นักเตะจะถูกดันขึ้นสู่ JDT III (U20) และ JDT II (U23)ซึ่งทำหน้าที่เป็น “สะพานสุดท้าย” ก่อนถึงทีมชุดใหญ่ทั้งสองทีมมีตารางแข่งขันจริงในระบบของลีกมาเลเซีย ได้แก่

  • President’s Cup สำหรับ JDT III
  • MFL Cup สำหรับ JDT II (ซึ่งถือเป็นทีมสำรองอย่างเป็นทางการ)

จากจุดนี้ นักเตะที่โดดเด่นจะถูกผลักดันขึ้นสู่ทีม ยะโฮร์ ชุดใหญ่ต่อไป ระบบนี้คือคำตอบว่า ทำไม ยะโฮร์ จึงไม่ต้องพึ่งตลาดนักเตะจากภายนอกมากนักเพราะพวกเขา “สร้างทุกอย่างไว้ในบ้าน” และเตรียมเส้นทางให้นักเตะเดินขึ้นมาด้วยระบบที่ต่อเนื่องชัดเจน ดังจะเห็นจากผลลัพธ์ที่โด่ดเด่น

ในปี 2024 ทีม JDT U13 และ U15 สามารถคว้าแชมป์ Singapore Youth League ได้ทั้งสองรุ่น โดยเฉพาะทีม U15 ที่เก็บชัยชนะได้ทุกนัดในทัวร์นาเมนต์ หากย้อนไปก่อนหน้านี้ในปี 2019 JDT U15 ยังสามารถคว้าแชมป์ FAS Under-15 International Challenge Cup ได้อีกหนึ่งรายการ ด้วยการเอาชนะ PVF Academy จากเวียดนามที่ถือเป็นหนึ่งในอะคาเดมีระดับแนวหน้าของอาเซียน นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆอีกมากมากของ ยะโฮร์  อาทิ

JDT IV คว้าแชมป์ Youth Cup (U18) ด้วยการเอาชนะ Terengganu FC IV

JDT III คว้าแชมป์ President's Cup (U20) ด้วยฟอร์มสม่ำเสมอตลอดฤดูกาล

JDT II ทีมสำรอง คว้าแชมป์ MFL Cup (U23) ด้วยสกอร์ 7-0 ในนัดชิง

ทีมชุดใหญ่ คว้าดับเบิลแชมป์ทั้ง Malaysia Super League และ FA Cup

หรือจาก ทีมฟุตซอล JDT เองก็ยังคว้าแชมป์ MPFL และ Malaysia Futsal Cup ได้ในปีเดียวกันเช่นกัน

ดังนั้นเเล้ว ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม (JDT)  ไม่ได้สร้างระบบนี้ขึ้นมาเพื่อแค่หนึ่งปีเเล้วเลิกลาแต่พวกเขาวางระบบนี้ไว้ให้สโมสรของพวกเขากินรวบ… ได้ทุกระดับในทุกฤดูกาล ซึ่งถ้ามองในมิติทีมชาติเราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการมีทีมในประเทศที่ดีเเละมีคุณภาพสูงเเบบนี้ ก็ย่อมส่งผลต่อผลงานในระดับชาติที่ดีด้วยเช่นกัน

 

การลงทุนในบุคลากรคุณภาพสูงเพื่อการยกระดับ

ในโลกฟุตบอลที่การแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน การมีผู้บริหารที่เข้าใจเกมทั้งในและนอกสนามกลายเป็นสิ่งสำคัญ ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม (JDT) ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับสโมสรอีกครั้ง ด้วยการแต่งตั้ง หลุยส์ การ์เซีย (Luis García) อดีตนักเตะทีมชาติสเปนและแชมป์ UEFA Champions League กับ Liverpool เข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสโมสร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2025​

การแต่งตั้งครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเสริมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสโมสร  โดยการนำประสบการณ์จากการเล่นให้กับสโมสรชั้นนำอย่าง Barcelona, Liverpool และ Atlético Madrid มาสู่บทบาทใหม่เพื่อใช้ในการพัฒนาสโมสรแห่งนี้

นอกจากนี้ การ์เซีย ในการก้าวมาพัฒนาสโมสรตัวเขายังมีดีกรี ถือใบอนุญาต UEFA Pro Licence และปริญญาโทด้านการบริหารจัดการสำหรับนักฟุตบอลนานาชาติจาก UEFA ติดตัวมาอีกด้วย 

ทั้งยังเคยทำหน้าที่เป็นทูตให้กับ FIFA, UEFA และ LaLiga ซึ่งแสดงถึงความเชี่ยวชาญและความหลากหลายของเขาในวงการฟุตบอลระดับโลก

ซึ่งการดึงตัวบุคลากรที่มีประสบการณ์และความรู้ระดับนี้เข้ามาบริหารสโมสร 

แสดงให้เห็นถึงมุมมองการพัฒนาสโมสรอย่างยั่งยืน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การอยากจะเพียงเเค่คว้าชัยชนะในสนามเเข่งขัน แต่ยังรวมถึงการสร้างระบบและโครงสร้างที่มั่นคง เพื่อรองรับความสำเร็จในอนาคตอีกด้วย

 

การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่หลายสโมสรในอาเซียนยังวนเวียนกับคำถามว่า “จะคว้าแชมป์ได้อย่างไรในฤดูกาลหน้า?” ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม หรือ JDT คงจะมีคำถามที่ต่างออกไปตั้งแต่ต้นว่า “จะรักษาความยิ่งใหญ่นี้ให้ยั่งยืนได้อย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า?”

เบื้องหลังถ้วยแชมป์ทุกรายการที่สโมสรนี้กวาดมาในรอบทศวรรษ คือการบริหารจัดการที่ไม่ได้มองแค่ผลงานในสนาม แต่ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนงบประมาณระยะยาว, การใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพ,การวางโครงสร้างการฝึกซ้อมแบบวิทยาศาสตร์การกีฬาไปจนถึง การบริหารภาพลักษณ์ของสโมสรแบบ 360 องศา เพื่อสร้างทีมให้แข็งแรง

องค์ประกอบทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดในกระดาษแต่ได้รับการนำไปศึกษาอย่างจริงจังในระดับประเทศ โดยเฉพาะในงานวิจัยเรื่อง “Unlocking Success: The Blueprint for Malaysian Football and Field Hockey” ซึ่งชี้ชัดว่าโมเดลของ ยะโฮร์ ถูกใช้เป็นแม่แบบในการพัฒนากีฬาระดับชาติอย่าง “ฮอกกี้สนาม” ด้วย เพื่อยกระดับการบริหาร การเตรียมทีม และการวิเคราะห์ข้อมูลของนักกีฬาให้เข้าใกล้มาตรฐานโลก

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่ได้รับการยกย่องคือการที่ ยะโฮร์ ลงทุนสร้างหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลและฟิตเนสแบบมืออาชีพ ซึ่งรวบรวมทั้งทีมโค้ช สมรรถภาพร่างกาย นักจิตวิทยาการกีฬา และฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลการแข่งขันไว้ในองค์กรเดียวกัน ทุกการฝึกซ้อมจะถูกบันทึกทุกตัวเลขทางร่างกายจะถูกวิเคราะห์เเละทุกความผิดพลาดจะมีรายงานเพื่อพัฒนาปรับปรุงสำหรับเเก้ไข

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างแค่นักเตะที่พร้อมลงเล่นในสนามเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นการสร้าง “องค์กร” ที่พร้อมเดินหน้าได้ด้วยตนเองแม้วันหนึ่งจะไม่มีซูเปอร์สตาร์คนใดเหลืออยู่ในสนาม เเต่จะมีผู้เล่นสายเลือดใหม่ที่จะมาทดเเทนได้เสมอ

 

บทสรุปส่งท้าย

ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม ไม่ได้เป็นแชมป์เพราะเล่นบอลดีกว่าทีมอื่นเท่านั้นแต่เพราะพวกเขา “สร้างทีม” ดีกว่าทุกคนในประเทศจากผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก อะคาเดมีที่จริงจังกับการพัฒนาลงทุนกับเยาวชนจริงๆ จนถึงระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบมืออาชีพ  

ทุกอย่างของ ยะโฮร์ คือภาพรวมขององค์กรที่เดินเกมรุกทุกด้านเเนวทางนี้ของพวกเขาที่ไม่เเปลกที่จะถูกยกให้เป็นต้นแบบในระดับชาติ เพราะไม่ใช่เพราะมีเงินมากกว่าใคร แต่เพราะรู้ว่าจะใช้เงินนั้นพัฒนาทั้งสนาม คน และระบบอย่างไรให้ยั่งยืน และนั่นคือที่มาที่ไปว่า…ทำไม ยะโฮร์ จึงกินรวบ ในฟุตบอลของมาเลเซีย

 

บทความโดย นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สมปรารถนา อำนวยลาภไพศาล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Tunku_Ismail_Idris?utm
https://downtownjb.my/en/article_details/46/history-of-johor-darul-takzim-foot-ball-club
https://en.wikipedia.org/wiki/Johor_Darul_Ta%27zim_F.C
https://www.transfermarkt.us/tunku-ismail-sultan-ibrahim/profil/trainer/52637
https://johorsoutherntigers.my/
https://en.wikipedia.org/wiki/Sultan_Ibrahim_Stadium
https://www.bernama.com/en/news.php?id=1940556
https://x.com/OfficialJohor/status/1848227839218507888?utm_source
https://johorsoutherntigers.my/jdt-academy-u13-u15-squads-are-singapore-youth-league-2024-champions.jst/
https://www.fas.org.sg/johor-darul-tazim-stun-pvf-win-fas-under-15-international-challenge-cup-title/
https://johorsoutherntigers.my/welcome-to-jdt-luis-garcia.jst/
https://www.thestar.com.my/sport/football/2025/03/21/former-liverpool-striker-luis-garcia-is-jdt039s-new-ceo
https://www.malaymail.com/news/sports/2025/03/21/jdt-names-former-liverpool-winger-luis-garcia-as-new-ceo/170381?utm_source
https://theiskandarian.com/spanish-icon-luis-garcia-jdts-new-ceo/?utm_source
https://www.academia.edu/112754567/Unlocking_Success_The_Blueprint_for_Malaysian_Football_and_Field_Hockey?utm_source
https://www.tribunnews.com/superskor/2019/03/06/johor-darul-takzim-fc-menjadi-juru-kunci-klasemen-grup-e-liga-champions-asia
https://johorsoutherntigers.my/we-dominated-the-2024-25-season-with-the-jdt-academy-to-senior-team-winning-just-about-everything-in-the-way.jst
https://en.wikipedia.org/wiki/2024%E2%80%9325_Piala_Belia
https://johorsoutherntigers.my/table/president-cup-2024-25
https://ground.news/article/jdt-ii-crowned-champions-piala-mfl-2024-25
https://en.wikipedia.org/wiki/2024_Malaysia_FA_Cup_final
https://www.aseanfootball.org/v3/jdt-futsal-crowned-champions-of-mpfl-2024
https://en.wikipedia.org/wiki/2024_Malaysia_Futsal_Cup

Author

Main Stand

Stand ForAll สื่อกีฬาที่เข้าถึงทุกคน

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ