Feature

ยกตัวอย่างจาก "มอยส์ vs รุด" : โค้ชประสบการณ์ ... คนสำคัญที่สุดของทีมหนีตาย | Main Stand

ก่อนที่ เอฟเวอร์ตัน จะแต่งตั้ง เดวิด มอยส์ พวกเขาเป็นทีมอันดับ 16 ของตารางคะแนน พรีเมียร์ ลีก ฤดูกาล 2024-25 โดยมีแต้มนำทีมโซนสีแดงอย่าง เลสเตอร์ ซิตี้ แค่ 4 คะแนนเท่านั้น 

 

แต่หลังจากวันที่ 11 มกราคม 2025 กุนซือคนดีคนเดิมของชาวเอฟเวอร์โตเนี่ยนกลับมาทีมเก่า พวกเขากลายเป็นอีกทีมไปเลยด้วยการคืนฟอร์มแจ่ม และตอนนี้มีแต้มเหนือกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยซ้ำ 

ขณะที่ฝั่ง เลสเตอร์ ซึ่งมีการเปลี่ยนกุนซือก่อนหน้านี้ และเลือกเดิมพันกับโค้ชหนุ่มอย่าง รุด ฟาน นิสเตลรอย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2024 กลับเดินสวนทางกันอย่างน่าใจหาย 

เราจะลองเทียบสิ่งที่ทั้งสองคนทำหลังรับงานกับสโมสรล่าสุด เพื่อดูว่า "ประสบการณ์" คือสิ่งล้ำค่าแค่ไหนสำหรับการเลือกกุนซือของทีมระดับกลางค่อนล่างที่กำลังประสบปัญหาสารพัด

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดกับ Main Stand 

 

ประสบการณ์ดูกันตรงไหน ?

หากคุณมองไปที่ รุด ฟาน นิสเตลรอย กับ เดวิด มอยส์ ก่อนที่ทั้งคู่จะรับงานปัจจุบันกับ เลสเตอร์ และ เอฟเวอร์ตัน คุณจะพบว่ากราฟชีวิตของทั้งคู่เริ่มเดินทางมาถึงจุดตัดกันแล้ว 

รุด ฟาน นิสเตลรอย กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากการเข้ามากอบกู้ แมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงสั้น ๆ โดยที่เขาใช้นักเตะชุดเดิม ๆ แต่กลับทำให้หลายคนกลับมาเล่นได้อย่างแข็งแกร่ง แม้จะได้คุมทีมแค่ 4 นัด แต่ความสนใจที่เกิดขึ้นจากแฟนบอลและสื่อก็ต้องยอมรับว่าทำให้เขาดูดีมีโปรไฟล์ขึ้นมาก ถึงขั้นที่หลายคนอยากจะเชียร์ให้เป็นมือขวาของ รูเบน อโมริม เลยด้วยซ้ำด้วยความเสียดาย 

ขณะที่ เดวิด มอยส์ ในวัย 61 ปี หลังจากพา เวสต์แฮม คว้าแชมป์แรกในอาชีพกุนซือของเขาในรายการ ยูฟ่า คอนเฟอร์เรนซ์ ลีก ฤดูกาล 2022-23 ก็ดูเหมือนจะเป็นขาลง เพราะ เวสต์แฮม ดูจะไม่ได้ดีขึ้นมาก แม้ผ่านการเสริมทัพหลายราย หมดเงินไปร่วม ๆ 200 ล้านปอนด์หลังจากได้แชมป์ดังกล่าว

หลายคนคิดว่า มอยส์ คงหมดแล้ว ประกอบกับกุนซือแบบที่เล่นฟุตบอลตีหัวเข้าบ้าน ตั้งรับจ๋า ๆ เล่นแบบทรงเกมไม่สวย เน้นบอลโด่ง การโยนยาว ดูจะตกยุคไปแล้วกับโมเดิร์นฟุตบอลในช่วงนี้ นั่นจึงทำให้ใครต่อใครต่างเชื่อว่า การเลือก รุด ฟาน นิสเตลรอย ที่แม้จะคุมทีมไม่กี่ปี แต่ก็ยังมีโทรฟี่มากกว่า มอยส์ ที่คุมทีมนานเกือบ 30 ปี น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่า

มองในแง่ของความสดใหม่ การตามทันเทรนด์ของฟุตบอล และความมีสง่าราศีมองมุมไหน รุด ก็กินขาด ทว่าศาสตร์ของการหนีตกชั้นนั้นมันก็แปลก ... บางครั้งคุณไม่จำเป็นต้องการคนหนุ่มมาดเท่ มาพร้อมกับฟุตบอลที่รวดเร็วดุดัน หรือเป็นเซียนแท็คติกตัวพ่อที่มาพร้อมตำราเล่มใหญ่ เพราะนี่คืองานที่พิเศษและค่อนข้างเฉพาะทาง ซึ่งต้องการสิ่งที่เรียกว่า "ประสบการณ์ตรง" อันเป็นสิ่งที่ มอยส์ มีเหนือกว่า รุด อย่างท่วมท้น 

ตลอดอาชีพของ มอยส์ นั้นไม่เคยทำฟุตบอลสวย ๆ (หากวัดตามรสนิยมของคอฟุตบอลทั่วไป) เลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าเขาจะทำ เอฟเวอร์ตัน (รอบแรกปี 2002) เรอัล โซเซียดาด, ซันเดอร์แลนด์, เวสต์แฮม (2 รอบ) มอยส์ เคยพาทีมเหล่านี้สู้ภารกิจหนีตกชั้นมาแล้วทั้งนั้น 

แม้จะทุลักทุเล แย่บ้าง โดนวิจารณ์บ้าง แต่ มอยส์ ไม่เคยทำทีมไหนตกชั้นเลยตลอดอาชีพของเขา ซึ่งนั่นแปลว่าเขามีบางสิ่งที่ รุด ฟาน นิสเตลรอย ไม่มี ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คงให้อารมณ์เหมือนหนังจีนที่ต้องฝ่าฟันเข้าป่าไปอย่างทุลักทุเล ก่อนจะมุดถ้ำน้ำตกไปเจอคัมภีร์สวรรค์ที่บอกเคล็ดลับบางอย่างของโลกใบนี้ ... และคัมภีร์ที่ มอยส์ พบเจอ ศึกษามันมาซ้ำ ๆ ตลอดอาชีพของเขา ทำให้เรากล้าเรียกมันได้เต็มปากว่า "คัมภีร์หนีตกชั้น" ของแท้เลยทีเดียว

 

ไม่วูบวาบ เน้นเรียบง่าย

ขณะที่ รุด ฟาน นิสเตลรอย เข้ามาทำ เลสเตอร์ 2 เกมแรกและพาเก็บไปถึง 4 แต้มด้วยฟอร์มการเล่นน่าประทับใจ มอยส์ กลับเริ่มต้นกับ เอฟเวอร์ตัน ด้วยการพ่ายคาบ้านต่อ แอสตัน วิลล่า ไป 0-1 แพ้แบบทั้งเกมมีโอกาสยิงแค่ 3 ครั้ง มันเกือบทำให้ใครหลายคนมองว่า เลสเตอร์ คิดถูก แต่ เอฟเวอร์ตัน คิดผิดไปแล้วด้วยซ้ำ สำหรับการเลือกกุนซือแบบ แนวทางใหม่ กับ แนวทางโอลด์ สคูล ครั้งนี้

แต่ความวูบวาบของ รุด ฟาน นิสเตลรอย นั้นไม่ใช่ความยั่งยืน เพราะหลังจาก 4 แต้มนั้น พวกเขาแพ้ไปถึง 7 เกมติดต่อกัน และรวมถึงตอนนี้ เลสเตอร์ แพ้ในลีกมาแล้ว 9 เกมจาก 10 นัดหลังสุดที่ลงสนาม 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะเริ่มต้นได้สวย แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากนักเตะบาดเจ็บ หรือการขาดเงินสนับสนุนเสริมทัพ หรือใด ๆ ก็ตาม รุด ฟาน นิสเตลรอย ขาดประสบการณ์ที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านั้น เขาอาจจะเคยคว้าแชมป์มาก่อน และคุมทีมในลีกสูงสุดมาแล้ว แต่การคุมทีมหนีตกชั้นนั้น สารพันปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอ และ รุด ที่ไม่เคยเจอปัญหาเหล่านี้ ก็ออกอาการจับต้นชนปลายไม่ถูก

จากทีมชุด 11 ตัวจริงที่ดีที่สุดที่เขาจัดไว้ใน 2 เกมแรกที่ได้แต้ม หลังจากนั้นแต่ละคนเริ่มทยอยกันบาดเจ็บ เขาก็เจอปัญหาลองผิดลองถูกกับการจับนักเตะโยกตำแหน่ง จนถึงตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่ายังหาจุดลงตัวไม่เจอ 

ไหนจะเรื่องของการเจอกับทีมในระดับไล่ ๆ กันที่ เลสเตอร์ จะต้องขึ้นเกมไปบุกหรือครองเกมให้ได้ เขาก็ยังไม่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้ และส่วนใหญ่ การขึ้นเกมของ เลสเตอร์ มักจะนำมาซึ่งความผิดพลาดในการเสียบอลกลางทาง และสุดท้ายก็นำไปสู่การเสียประตู จุดนี้เป็นเรื่องที่เขารับงานมาเกือบ ๆ 3 เดือนแล้ว แต่ปัญหาหลายข้อก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ตัดภาพกลับมาที่ มอยส์ ที่เห็นปัญหาหมดแล้ว ไม่ต้องลองผิดลองถูกสำหรับการเริ่มต้นกอบกู้ทีมหนีตกชั้น เขางัดคัมภีร์ที่มีออกมา และเอามันมาปรับใช้ได้ในทันที ... หลังจากแพ้เกมแรก ทุกอย่างดีขึ้นมาก โดยเฉพาะในแง่ผลการแข่งขัน ที่ตอนนี้ เอฟเวอร์ตัน ชนะรวด  ๆ รัว ๆ จนแทบจะการันตีการรอดตกชั้นไปแล้วทางในปฏิบัติ 

คัมภีร์ของ มอยส์ ไม่ใช่ความลับแต่อย่างใด เขาออกมาพูดถึงเรื่องนี้บ่อย ๆ ภายใต้ฟุตบอลที่ดูขี้เหร่ของเขา ถูกซ่อนไว้ด้วย 3 สิ่งมี่เขาเรียกร้องจากลูกทีมเสมอได้แก่ "ความดุดัน พลังงาน และความมั่นใจ" นั่นคือสิ่งที่เขาบอกกับลูกทีมเสมอ ไมใช่เรื่องกลเม็ดเคล็ดลับหรือตัวเลขสถิติอะไรที่วุ่นวาย ... พวกเขาเลือกแก้ที่คน ก่อนจะแก้แท็คติกการเล่น เรื่องนี้ยืนยันจาก ลีออน ออสแมน อดีตนักเตะของ เอฟเวอร์ตัน ที่เคยเป็นลูกน้องเก่าของ มอยส์ อยู่หลายปี 

"ผมเล่นเกมพรีเมียร์ลีกมากกว่า 200 นัดภายใต้การคุมทีมของ มอยส์ ภายใต้ระบบการเล่นที่ดูง่าย ๆ ไม่มีอะไร นักเตะเองก็ต้องทุ่มเทและใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก"

"มอยส์ จะเรียกร้องให้นักเตะของเขาลงเล่น ลงมือทำ และทุ่มสุดตัวโดยที่ไม่หวังคำชื่นชม ... นักเตะจะถูกสอนแบบนั้น ซึ่งผมเข้าใจว่า ณ ตอนนี้มันเป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่ เขายังมีอะไรให้ต้องทำอีกมาก แต่สิ่งที่เขารู้ดียิ่งกว่าใครก็คือ ประสบการณ์ในการทำทีมต่อหน้าแฟนบอลที่ กูดิสัน พาร์ค … ไม่มีใครในตอนนี้จะรู้สิ่งนี้มากกว่าเขาอีกแล้ว"

"มอยส์ รู้ว่าเขาต้องทำอย่างไรเพื่อให้แฟนบอลในสนามเหย้ามีอารมณ์ร่วม และส่งเสียงสร้างบรรยากาศเหมือนเป็นนักเตะคนที่ 12 ... เขาเข้าใจผู้คนที่นี่ รู้ว่าแฟนบอลคาดหวังอะไร และต้องทำอะไรเพื่อให้แฟนบอลตอบสนอง แถมยังรู้ด้วยว่าแฟนบอลจะช่วยทีมได้ดีที่สุดในตอนไหน"

"คุณลองสังเกตดู เวลาที่นักเตะ เอฟเวอร์ตัน เพิ่มสปีดในการไล่ล่าคู่แข่ง กดดัน เตะอัดหนัก ๆ จนคู่แข่งของพวกเขาเริ่มเล่นผิดพลาด นั่นแหละ กองเชียร์จะชอบมาก และเสียงของพวกเขาจะดังกระหึ่มทันที และเสียงที่ดังขึ้นนี้ ทำให้นักเตะของพวกเขารีดผลงานออกมาได้มากขึ้นด้วย" ออสแมน กล่าว

ตัดภาพกลับไปที่ คิง เพาเวอร์ สเตเดียม รุด ฟาน นิสเตลรอย เจอปัญหาหลังจากที่พยายามเล่นเกมสวย ๆ แล้วไม่ได้ผลการแข่งขัน เขาเลือกเล่นเกมที่เน้นปลอดภัย ไม่เสียประตูไว้ก่อน และอาศัยการสวนกลับเป็นหลัก ... ซึ่ง ณ ตอนนี้ไม่ต้องบอกว่ามันสำเร็จหรือไม่ จากผลงานของทีม และแฟนบอลที่ตะโกนโห่ใส่เขาแม้จะเป็นการเล่นในเกมเหย้า ซึ่งนี่คือความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 

มอยส์ ทำฟุตบอลให้สู้ตามเสียงเชียร์และรู้ว่าปัญหาไหนควรแก้ก่อนหลัง นั่นคือคัมภีร์ของเขา ... ส่วน รุด ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อยู่หลายครั้งจนคนรอบข้างเริ่มรอไม่ไหว นี่เองที่เรียกว่าราคาของประสบการณ์อย่างแท้จริง

 

ต่อยอดด้วยความกล้า

หลังเริ่มต้นด้วยการสร้างความกระหายและแพชชั่น เดวิด มอยส์ เริ่มลงรายละเอียดเรียงตัวมากขึ้น เขาสั่งให้ เบโต้ หัวหอกที่ทีมซื้อมาด้วยค่าตัวถึง 30 ล้านปอนด์ แต่ยิงได้แค่ 3 ลูกจาก 30 เกมลีกที่สนาม กลายเป็นอีกคน หลังจากที่ โดมินิค คัลเวิร์ต เลวิน กองหน้าเบอร์ 1 ของทีมบาดเจ็บ 

ตัวของ เบโต้ ถูกส่งไปซ้อมพิเศษ เพิ่มความมั่นใจเล็กน้อย และเลือกวิธีการที่เหมาะกับนักเตะที่มีที่สุด ซึ่งถือเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาแบบตัวต่อตัว เพื่อให้ทีมมีคุณภาพมากขึ้นแม้จะมีตัวเลือกไม่มากนัก 

"ผมซ้อมพิเศษกับทีมงานโค้ช ทั้งการครองบอล การจบสกอร์ เดวิด มอยส์ บอกผมว่า เล่นเกมของนายไป เล่นให้เป็นระบบ นายจะช่วยเราได้เยอะ เขาชอบให้ผมเล่นเกมของตัวเอง วิ่งสอดมาจากแดนหลังคือส่วนสำคัญในเกมของผม และทีมกำลังเล่นดีขึ้นด้วยในตอนนี้" เบโต้ กล่าว 

สิ่งที่เขาบอก คล้าย ๆ กันกับที่นักเตะคนอื่น ๆ ในทีมให้สัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็น เจมส์ ทาร์คอฟสกี้ หรือ เยสเปอร์ ลินด์สตรอม ปีกซ้ายที่กลายเป็นตัวหลักของทีมในเวลานี้พูดตรงกัน 

การแก้ปัญหาทีละเปลาะแบบจับถูกจุด จี้ตรงประเด็น ทำให้ เอฟเวอร์ตัน เปลี่ยนไปเป็นคนละทีมอย่างรวดเร็ว จากเดิม 19 นัดแรก พวกเขายิงได้แค่ 15 ประตูเท่านั้น พร้อมด้วยค่า xG ที่น้อยเป็นอันดับสุดท้ายของลีก แต่เมื่อ มอยส์ เริ่มงาน ตอนนี้ผ่านไป 6 นัด ทีมยิงไปแล้ว 12 ลูกจากค่า xG 8.12 ... แม้ทีมจะขาดคนที่ยิงมากที่สุดในทีมถึง 3 คนทั้ง คัลเวิร์ต เลวิน, อับดุลลาย ดูกูเร่ และ อิลลิมาน เอ็นดิอาย 

เรียกได้ว่า มอยส์ แก้ที่เรื่องของสภาพจิตใจก่อน ตามด้วยการไม่เปลี่ยนแปลงอะไรนักเตะที่มากเกินไปในแง่ของเชิงแท็คติก เขาให้นักเตะเล่นในแบบของตัวเอง เอาตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดออกมา จากนั้นเขาจึงจะใส่แท็คติกที่เหมาะสมลงไปเพื่อให้ทุกคนปรับตัวง่ายที่สุด ซึ่งก็อย่างที่เราเห็นคือ ตอนนี้ปัญหาต่าง ๆ ของ เอฟเวอร์ตัน ถูกแก้ไปอย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ และนั่นทำให้เราสามารถพูดได้เต็มปากว่า เอฟเวอร์ตัน เลือกใช้คนได้ถูกงานอย่างแท้จริง

ขณะที่กับ เลสเตอร์ ซิตี้ นั้น ไม่ใช่ว่า รุด ฟาน นิสเตลรอย จะไม่มีดีอะไรเลย เพียงแต่งานประเภทหนีตายที่มีปัญหาเยอะ หรือการมีนักเตะในมือที่ทรัพยากรไม่ดีอาจจะไม่ได้เหมาะกับเขามากนัก เขาอาจจะเป็นโค้ชอีกประเภท ที่สามารถต่อยอดจากสิ่งเดิมที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ... เรียก ๆ ง่ายก็คือ เขาอาจจะถนัดสร้างสรรค์ และนึกคิด มากกว่าที่จะถนัดงานประเภทที่ต้องซ่อมแซมและแก้ปัญหาที่ตัวเองไม่ได้สร้างขึ้นเหมือนที่เจออยู่ในเวลานี้ 

น่าคิดเหมือนกันว่า ในวันที่ เลสเตอร์ ซิตี้ มีข่าวจะแต่งตั้งโค้ชใหม่ ชื่อของ เดวิด มอยส์ คือแคนดิเดต 2 คนสุดท้ายกับ รุด ฟาน นิสเตลรอย .. และถ้าวันนั้นเป็นจิ้งจอกสยามที่เลือก มอยส์ อะไรจะเกิดขึ้น ?

แน่นอนว่าสายน้ำไม่เคยไหลย้อนกลับ งานของ มอยส์ ผ่านฉลุยไปแล้ว และงานของ รุด ยังต้องแก้กันอีกเยอะ แต่ก็ใช่ว่าเราจะกาชื่อ เลสเตอร์ ว่าตกชั้นและบอกว่าเขาเป็นคนล้มเหลวได้ในเวลานี้ 

ชีวิตคนเรา บางครั้งมันก็มีจังหวะของมัน หากว่า รุด สามารถจับจังหวะและแก้ปัญหาที่ทีมมีได้อย่างจริงจัง ทีมของเขาก็อาจจะดีขึ้นแบบก้าวกระโดดก็เป็นได้ ... เพียงแต่ว่า ณ ตอนนี้เวลาเหลือให้เขาแค่อีก 13 เกมเท่านั้น 

แม้เขาจะไม่มีประสบการณ์ แต่เขาได้รู้จักลูกทีมมาสักระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่า เขาจะพบคัมภีร์ในแบบฉบับของตัวเองเหมือนที่ เดวิด มอยส์ ค้นพบเมื่อไหร่ต่างหาก นี่คือเรื่องที่เราต้องหาคำตอบกันต่อไปกับฤดูกาลที่เหลืออยู่ของ รุด ฟาน นิสเตลรอย และ เลสเตอร์ ซิตี้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.independent.co.uk/sport/football/everton-tottenham-result-moyes-calvert-lewin-b2682436.html
https://www.bbc.com/sport/football/articles/c2031qg8py4o
https://www.bbc.com/sport/football/articles/cn01ly52r7lo
https://en.wikipedia.org/wiki/David_Moyes
https://www.theguardian.com/football/2025/feb/14/david-moyes-everton-premier-league-football

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ