"หลายสโมสรในยุโรปไม่เคยไว้ใจผู้รักษาประตูที่เป็นคนผิวดำ ... นี่คือความจริง ไม่ต้องเชื่อที่ผมพูดก็ได้ คุณแค่ต้องลองสังเกตและคิดเรื่องนี้ด้วยตัวเอง"
อองเดร โอนาน่า กล่าวประโยคนี้เอาไว้ และมันชวนคิดต่อว่าทำไมชาติแอฟริกันสร้างนักเตะระดับโลกมากมายหลายคน แต่พวกเขากลับไม่มีผู้รักษาประตูมือดีแบบที่ไว้ใจได้เลย
เช่นเดียวกันกับในระดับสโมสรแถวหน้าของโลก ไม่มีโคตรทีมยุคไหนใช้ผู้รักษาประตูผิวดำเป็นมือ 1 เรียกง่าย ๆ ว่ามองไปที่ยุคไหนก็ไร้ซึ่งตัวท็อป
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? นี่คือเรื่องราวที่ลึกถึงไส้ ล้วงไปถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติ และจุดที่เล็กที่สุดของฟุตบอลแอฟริกัน ติดตามที่ Main Stand
ภาพจำที่ลบไม่ได้
ภาพลักษณ์ของผู้รักษาประตูแอฟริกัน หรือผู้รักษาประตูผิวดำ มักถูกมองว่าแย่ และยากแก่การได้รับความไว้วางใจ เมื่อคุณสอดส่องไปในพื้นที่ลีกต่าง ๆ ของยุโรป โดยเฉพาะใน 5 ลีกดัง คุณจะพบว่า ณ ปัจจุบันมีผู้รักษาประตูผิวดำน้อยมาก แม้กระทั่งในลีกที่มีนักเตะเชื้อสายแอฟริกันลงเล่นมากที่สุดอย่าง ลีกเอิง ยังมีผู้รักษาประตูผิวดำที่ได้ขึ้นมาเป็นมือ 1 เพียงแค่ 5 คนเท่านั้นได้แก่ กิลโยม เรสเตส จาก ตูลูส, บริซ แซมบ้า จาก ล็องส์, สตีฟ ม็องด็องด้า จาก แรนส์, ยาเฮีย โฟฟาน่า จาก อองเช่ร์ และ โดโนแวน เลออง จาก โอแซร์
ขณะที่ลีกอื่น ๆ มีเพียงแค่ 1-2 คนเท่านั้น และไม่มีทีมระดับท็อป 4 ของลีกใดจากที่กล่าวมาเลยที่ใช้ผู้รักษาประตูเป็นนักเตะผิวดำ นี่คือการยกตัวอย่างแบบคร่าว ๆ โดยเปรียบเทียบจากลีกที่ดีที่สุดในโลก จากการจัดอันดับตามค่าสัมประสิทธิ์ของ ยูฟ่า
และถ้าคุณจะลองหาเหตุผลแบบบ้าน ๆ ด้วยการสืบข้อมูลด้วยตัวเอง คุณลองพิมพ์หาคลิปจังหวะพลาดของผู้รักษาประตูใน YouTube และคุณจะพบว่ามีคลิปที่ "เหมือนกับว่า" คนตัดต่อและยูสเซอร์ที่อัพโหลด ตั้งใจจะเจาะไปที่โกลผิวดำโดยเฉพาะ
ยกตัวอย่างคลิปนี้
อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติไนจีเรีย อย่าง ไอดาห์ ปีเตอร์ไซด์ เคยพูดถึงเรื่องดังกล่าวและตอบคำถามผ่านสื่อว่า ทำไมผู้รักษาประตูชาวแอฟริกันจึงดูอ่อนชั้น และจะชอบทำอะไรแปลก ๆ ในแบบที่หนักไปทางเหวออยู่บ่อย ๆ ว่า "มันเป็นเรื่องที่ต้องคุยกกันตั้งแต่พื้นฐานและจุดเริ่มต้น ในอดีตสัก 10-20 ปีก่อน โกลแอฟริกันหลายคนอาจจะเป็นแบบในคลิป แต่ตอนนี้หลายอย่างได้พัฒนาขึ้นแล้ว"
โดย ไอดาห์ ขยายความต่อว่า หลายประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นประเทศที่สร้างนักฟุตบอลเอาต์ฟิลด์มากกว่าตำแหน่งผู้รักษาประตู และเหล่าแมวมองจากภาคพื้นยุโรป ก็มักจะเลือกหยิบนักเตะในตำแหน่งเอาท์ฟิลด์จากชาติในแอฟริกาไปก่อนตั้งแต่อดีตแล้ว
เหตุผลหลัก ๆ เป็นเรื่องมรดกที่นักเตะรุ่นเก่า ๆ สร้างไว้ จอร์จ เวอาห์, ซามูเอล เอโต้, ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา, ไมเคิล เอสเซียง และอีกหลาย ๆ คนได้ไปสร้างภาพจำในระดับตำนานไว้ที่ฟุตบอลยุโรป ทำให้ส่วนใหญ่นักเตะที่ดังขึ้นมาในระดับท็อปมักจะเป็นนักเตะในแดนหน้า และมิดฟิลด์ตัวรับ ที่ต้องใช้ทั้งความเร็วและความแข็งแกร่งเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวแอฟริกันเป็นต่อทุก ๆ ชาติพันธุ์ตั้งแต่ DNA
เมื่อมีต้นแบบดี ๆ จากตำแหน่งดังกล่าว เหล่าแมวมองจึงเลือกเล็งไปที่ตำแหน่งเอาท์ฟิลด์ก่อน ส่วนในตำแหน่งผู้รักษาประตู พวกเขาละไว้เป็นอันดับท้าย ๆ
นอกจากเรื่องภาพจำแล้ว ยังมีเรื่องโควต้านักเตะต่างชาติในแต่ละลีกเมื่อครั้งอดีตด้วย การจะเอานักเตะแอฟริกันไปเล่นในลีกยุโรปในฐานะโควต้าแข้งต่างชาติ ก็ต้องเป็นคนที่เก่งจริง ยกระดับทีม และเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันให้ทีมได้ ดังนั้นการจะสละโควต้าผู้รักษาประตูให้กับนายทวารชาวแอฟริกัน หรือแม้จะเป็นชาติอื่น ๆ ทวีปอื่น ๆ จึงเป็นอะไรที่พวกเขาไม่นิยม นอกเสียจากว่าพวกเขาจะได้เจอกับคนที่เก่งจริง ๆ
เมื่อปลายทางเป็นแบบนั้น จึงไม่มีนักเตะแอฟริกันมากนักที่อยากจะเล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู เพราะมันแจ้งเกิดยาก และหาทางไปเล่นในยุโรปยากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ ... ครั้งหนึ่ง เอโต้ เคยออกมาบอกว่า ปรัชญาและแนวคิดของนักเตะแอฟริกันท้องถิ่นหลัก ๆ นั้นเหมือนกันทุกคน พวกเขาท่องไว้เสมอว่า "วิ่งอย่างคนดำ เพื่อใช้ชีวิตแบบคนขาว" ดังนั้นลืมไปได้เลยว่าคนที่มีพรสวรรค์จากแอฟริกาจริง ๆ จะเลือกเล่นผู้รักษาประตูตั้งแต่แรก
ทำไมภาพจำนี้เปลี่ยนไม่ได้ ?
นอกจากคนเก่ง ๆ ไม่เลือกที่จะเล่นประตูตั้งแต่แรกแล้ว ยังมีเรื่องสภาพเศรษฐกิจ สภาพสนาม รวมถึงคุณภาพของศูนย์ฝึกในที่ต่าง ๆ ในแถบแอฟริกาด้วย
เว็บไซต์ Africa Confidential บรรยายเรื่องนี้ต่อว่า "การฝึกซ้อมเป็นปัญหาของชาติแอฟริกาและมีผลต่อการสร้างผู้รักษาประตูที่ดี เพราะสนามในแถบนี้ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยขวดและก้อนหิน และพื้นสนามท้องถิ่นก็แข็งเกินไปกว่าที่เด็กคนหนึ่งจะกระโดดพุ่งเซฟไปมาแบบไม่กลัวเจ็บ"
"หน้าที่ของการเป็นผู้รักษาประตูจะตกเป็นของเด็กที่อายุน้อยที่สุดในการเล่นและการแข่งขัน อาจจะ 8 ขวบหรือต่ำกว่า และเมื่อพวกเขาโตขึ้น พวกเขาจะขยับไปเล่นเป็นผู้เล่นในตำแหน่งเอาท์ฟิลด์ และให้เด็กรุ่นหลังมาเฝ้าหน้าปากประตูแทน"
เรื่องนี้มันพอจะบอกได้ว่า มันไม่แปลกนัก และอาจจะไม่ใช่ทวีปแอฟริกาอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้าหากเราดูจริง ๆ เราจะพบว่า ที่แอฟริกาก็เหมือนกับบราซิล หรือในเอเชียนั่นแหละ ผู้เล่นทุกคนอยากเล่นในตำแหน่งเอาท์ฟิลด์มากกว่า เพราะเติบโตได้ง่าย มีโอกาสไปเล่นในยุโรปมากกว่า และไม่ว่าจะแอฟริกา บราซิล หรือเอเชีย พวกเขาต่างมีนักเตะชั้นยอดที่โลกฟุตบอลจำพวกเขาได้แม่นในตำแหน่งเอาท์ฟิลด์มากกว่านักเตะในตำแหน่งผู้รักษาประตู
กลับมาที่ตัวหลักของเรื่องนี้อย่างผู้รักษาประตูชาวแอฟริกันอีกสักครั้ง ผู้รักษาประตูแอฟริกัน หรือที่มีสัญชาติยุโรปแต่เชื้อสายแอฟริกันส่วนใหญ่ที่มีชื่อในวงการนี้อย่าง อองเดร โอนาน่า ของ แมนฯ ยูไนเต็ด, สตีฟ ม็องด็องด้า ที่เป็นผู้รักษาประตูสำรองของฝรั่งเศสชุดแชมป์โลกปี 2018 หรือ คาร์ลอส กาเมนี่ มือกาวชาวแอฟริกันผิวดำที่ถูกย่องว่าเล่นในระดับสูงมานานที่สุด ผู้รักษาประตูเหล่านี้ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะพวกเขาเติบโตจากระบบฟุตบอลในยุโรปตั้งแต่อายุยังน้อย
กาเมนี่ ย้ายมาเล่นในฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 16 ปี, อองเดร โอนาน่า ก็เป็นหนึ่งในสมบัติของ ซามูเอล เอโต้ อคาเดมี่ ใน แคเมอรูน จนกระทั่งถึงอายุ 13 ปี ก็ได้ย้ายมาเล่นให้ทีมเยาวชนของ บาร์เซโลน่า ที่สเปน เช่นเดียวกับ สตีฟ ม็องด็องด้า ที่เกิดและโตที่ฝรั่งเศส เติบโตมากับระบบการสร้างผู้รักษาประตูชั้นยอดเหมือนนายด่านชาวฝรั่งเศสอีกหลายคน
พวกเขาไม่ต้องกระโดดบนพื้นที่แข็งและเต็มไปด้วยเศษหินเศษปูน นั่นคือความแตกต่างที่ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้รักษาประตูแถวหน้า ที่เล่นในระดับท็อปของยุโรปได้อย่างนาวนาน ... อย่างไรก็ตาม ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังไม่ใช่ตัวท็อปอยู่ดี และพวกเขามักจะโดนจับจ้องเสมอเมื่อพวกเขาเล่นผิดพลาด
เมื่อไหร่จะไปถึงตัวท็อป ?
คำถามนี้ตอบยาก แต่หากเราจะอ้างอิงจากจุดเริ่มต้นของที่ไหนสักที่ เราควรไปดูที่ บราซิล เป็นอันดับแรก ... เพราะกรณีผู้รักษาประตูชาวบราซิล ก็คล้าย ๆ กับบริบทของผู้รักษาประตูแอฟริกัน
เรื่องลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมากับฟุตบอลบราซิลในช่วงหนึ่ง นั่นคือพวกเขาก็ไม่เคยใช้ผู้รักษาประตูที่ผิวดำมานานมาก ๆ จนกระทั่งมาถึงยุคของ ดีด้า ที่เป็นโกลชั้นเยี่ยม ทั้งอยู่ในชุดคว้าแชมป์โลก และพา เอซี มิลาน คว้าแชมป์ยุโรปในช่วงกลางยุค 2000s ... ซึ่ง ดีด้า เป็นผู้รักษาประตูบราซิลผิวดำคนแรกในรอบ 50 ปี
เหตุผลต้นเรื่อง มาจากประตูผิวดำคนล่าสุดอย่าง โมอาเซียร์ บาร์โบซ่า (Moacir Barbosa) ได้ลงเล่นในฟุตบอลโลกปี 1950 นัดชิงชนะเลิศ ที่สนาม มาราคาน่า ในเกม บราซิล เจอกับ อุรุกวัย (อันที่จริงเป็นนัดสุดท้ายของรอบ 4 ทีมสุดท้าย แต่สองทีมนี้ลุ้นแชมป์โลกพอดี) และทำพลาดจนทัพแซมบ้าพลาดแชมป์โลกครั้งนั้น บราซิลจึงไม่เคยใช้ผู้รักษาประตูผิวดำอีกเลยจนกระทั่งถึง ดีด้า และคนพลาดอย่าง บาร์โบซ่า ก็เคยออกมาพูดเองว่า "โทษสูงสุดของบราซิลคือจำคุก 30 ปี แต่ผมต้องจองจำกับความผิดพลาดของตัวเองเป็นเวลาถึง 50 ปี"
กลับมาที่เรื่องของประตูแอฟริกันอีกสักครั้ง เรื่องมันก็คล้าย ๆ กับที่เกิดขึ้นกับ บราซิล และ ดีด้า ... พวกเขาผลิตแข้งเอาท์ฟิลด์ชั้นยอด ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นโกลนัก และโกลผิวดำของพวกเขาก็ต้องใช้เวลาลบล้างความผิดพลาดโดยกินเวลานาน
เหมือนกับที่ โอนาน่า เคยพูดหลังถูกสื่อเล่นงานบ่อย ๆ ตอนที่เขาเล่นผิดพลาดสมัยอยู่กับ อาแจ็กซ์ ว่า "หลายสโมสรในยุโรปไม่เคยไว้ใจผู้รักษาประตูที่เป็นคนผิวดำ ... นี่คือความจริง ไม่ต้องเชื่อที่ผมพูดก็ได้ คุณแค่ต้องลองสังเกตและคิดเรื่องนี้ด้วยตัวเอง"
"ผู้รักษาประตูผิวดำในระดับท็อปมีไม่มากนัก และผู้คนต่างคิดว่าผู้รักษาประตูผิวดำไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันได้ดี หรือทำผิดพลาดบ่อยเกินไป"
ซึ่งแน่นอน ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ผู้รักษาประตูผิวดำก็เแสดงความผิดพลาดให้เราเห็นจริง ๆ และเป็นที่น่าเสียดายที่คนที่เข้าใกล้การลบล้างข้อครหานี้ที่สุดอย่าง โอนาน่า ที่ทั้งโตในยุโรป และเคยพาทีมเข้าชิงถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีก ยังไม่สามารถทำได้ จากความผิดพลาดที่เขาก่อขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเล่นให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด
ถึงตอนนี้ก็อาจจะต้องรอต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มพิกัดจะเกิดขึ้นตอนไหน และมันจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกันหลาย ๆ ด้านตั้งแต่รากฐาน นั่นคือสนามดี ๆ การให้ความสำคัญกับตำแหน่งผู้รักษาประตู การให้ความรู้ที่ถูกต้อง และท้ายที่สุด ใครสักคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นแบบอย่างที่จะทำให้ผู้รักษาประตูผิวดำมีแรงบันดาลใจในการไต่ข้ามระดับ กลายเป็นตัวท็อป เหมือนที่นักเตะอย่าง ดร็อกบา และ เอโต้ มี จอร์จ เวอาห์ เป็นแบบอย่าง
แหล่งอ้างอิง
https://allafrica.com/stories/202106180143.html
https://soccernet.ng/2020/05/why-african-goalkeepers-are-not-rated-in-europe-uzoho.html
https://www.reddit.com/r/soccer/comments/dzsbno/andr%C3%A9_onana_some_clubs_dont_trust_black/?rdt=63986
https://www.africa-confidential.com/blog-entry/Truth+and+stereotyping%3A+Goalkeepers+in+Africa
https://www.marca.com/en/football/international-football/2019/11/22/5dd82eeeca4741bb568b4620.html
https://www.quora.com/Why-are-there-so-few-black-goalkeepers-in-professional-soccer