อีก 10 ปี ... ฟุตบอลโลก จะถูกจัดที่ประเทศ ซาอุดีอาระเบีย ในปี 2034
และในขณะที่ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพกำลังเฉลิมฉลอง แต่โลกกลับคัดค้าน และดูจะคัดค้านเสียยิ่งกว่าตอนที่ กาตาร์ ได้เป็นเจ้าภาพในปี 2022 เสียด้วยซ้ำ
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ? ฟุตบอลโลก 2034 มีอะไรไม่ชอบมาพากล หรือมีปัญหาตรงไหน ?
ติดตามที่ Main Stand
ประการแรกคือ "หวยล็อก"
เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่อะไรเลย ชาติจากตะวันออกกลาง มักถูกผู้คนมากมายค่อนขอดเรื่องนี้มาตลอด เพราะพวกเขามีทรัพยากรการเงินแบบแทบจะไม่จำกัด ดังนั้น เบื้องหลังความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 แบบที่ชาติอื่น ๆ ไม่พอใจ ก็มาจากเรื่องการใช้เงินซื้อตำแหน่ง หรือถ้าเป็นศัพท์วงการนางงาม เขาก็เรียกกันว่า "ล็อกมง"
ในการโหวตเจ้าภาพ ฟุตบอลโลก 2034 ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศเดียวที่เข้าร่วมชิงชัย และพวกเขาได้คะแนนโหวตรวม 4.2 คะแนน (เต็ม 5) ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์การคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า และเป็นครั้งแรกที่มีชาติเดียวเข้ามาให้โหวตในรอบสุดท้าย
หลังจากแสดงความยินดีกัน ตัวแทนของ ฟีฟ่า ก็ออกมาพูดว่า เหตุผลที่ ซาอุดีอาระเบีย ชนะแบบเดี่ยว ๆ ครั้งนี้ก็เพราะเรื่องของฟุตบอลล้วน ๆ
"ซาอุดีอาระเบียมีวิสัยทัศน์ที่ไม่เหมือนใคร มีความสร้างสรรค์ และทะเยอทะยานสำหรับ 'ศตวรรษหน้า' ของโลกฟุตบอล นี่เป็นโครงการที่ดีต่อ ฟีฟ่า อย่างแท้จริง" นั่นคือสิ่งที่พวกเขาบอก
เมื่อ ซาอุฯ อยากจะเป็นเจ้าภาพ พวกเขาก็ต้องได้เป็น ... คุณได้เห็นแล้วว่า เงินของพวกเขาเปลี่ยนแปลงโลกฟุตบอลไปขนาดไหน ดูได้จากลีกอาชีพของพวกเขาที่เผลอแวบเดียว มีสตาร์หลั่งไหลเข้ามาเต็มไปหมด
นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด อย่างที่ทุกคนรู้กัน ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่ขายน้ำมันจนร่ำรวย ทว่าทรัพยากรน้ำมันของพวกเขา มีได้ก็หมดได้ ทำให้ ซาอุฯ ที่นำโดยมกุฎราชกุมาร มูฮัมหมัด บิน ซัลมาน หรือ MBS พยายามจะลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน และเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด "Saudi Vision 2030" ซึ่งหนึ่งในนโยบาย คือการแปรรูปสโมสรฟุตบอลให้เป็นเอกชน และการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แบบที่พวกเขาทำในเวลานี้
อ่านดู ณ ตรงนี้ มันก็เป็นแนวคิดที่ดี แต่ทว่ามีการลงลึกไปกว่านั้นว่า จริง ๆ แล้วที่ ซาอุดีอาระเบีย พยายามจะเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาชนิดต่าง ๆ รวมถึงฟุตบอลโลกนั้น ถือเป็นการทำ Sportwashing หรือการใช้กีฬาฟอกขาว เป็นการเอากีฬาไว้หน้าฉาก เพื่อปิดบังเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
มีการกล่าวอ้างว่า มีนักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคนในประเทศซาอุดีอาระเบีย หายตัวไปอย่างลึกลับ และบางรายก็ถูกจับเข้าคุก จากการพยายามเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเขา โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศ และสิทธิสตรีในการทำสิ่งต่าง ๆ เพราะกฎหมายที่ซาอุดีอาระเบียหลายมาตราบัญญัติห้ามไว้ ขณะที่ข้อมูลเพิ่มเติมจาก BBC ระบุว่า "ทางการซาอุดีอาระเบีย ได้เดินหน้าจัดการกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการจับตัวโดยพลการ"
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ของ จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุฯ ที่เขียนวิจารณ์ประเทศอย่างตรงไปตรงมา จนโดนขู่ และเขาต้องหนีออกจากบ้านเกิดมาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนบทความวิจารณ์บ้านเกิดเพิ่มเติมอีก ผ่านหนังสือพิมพ์ The Washington Post
เมื่อปี 2018 คาช็อกกี เดินทางไปที่ประเทศตุรกี และก็เสียชีวิตจากการถูกสังหาร ระหว่างเข้าไปทำธุระในสถานทูตซาอุดีอาระเบีย ที่นครอิสตันบูล โดยมีการระบุเพิ่มเติมว่า เขาถูกสังหารและชำแหละโดยมือสังหารชาวซาอุฯ จำนวน 15 คน ที่บินตรงมายังตุรกีด้วยเครื่องบินของ PIF ที่เป็นกองทุนสาธารณะของประเทศซาอุดีอาระเบีย
เพื่อลบล้างคำวิจารณ์เหล่านี้ ว่ากันว่า ซาอุดีอาระเบีย จึงต้องการเป็นเจ้าภาพเวทีใหญ่ ๆ ของโลก อาทิ มวยปล้ำ WWE, รถสูตรหนึ่ง หรือ F1 และมวยสากล เพื่อแสดงให้เห็นว่า ซาอุดีอาระเบีย มีความทันสมัย มีอารยะทัดเทียมนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เข้มงวดตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น อนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เข้าชมการแข่งขันในสนามกีฬาได้ และให้ผู้หญิงสามารถขับรถเองได้
หลายชาติไม่เห็นด้วยที่จะเอามหกรรมอย่าง ฟุตบอลโลก มาบังหน้า โดยมีหลากหลายประเทศออกมาต่อต้าน โดยประเทศที่ออกตัวชัดเจน ได้แก่ประเทศจากโลกตะวันตกอย่าง สวีเดน แคนาดา นอร์เวย์ เยอรมัน และอีกหลายประเทศ ขณะที่ ออสเตรเลีย ที่เดิมทีจะเข้าท้าชิงเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 แต่ก็ประกาศถอนตัวทีหลัง เมื่อรู้ว่า ซาอุดีอาระเบีย เป็นคู่แข่ง
โดยตัวแทนของออสเตรเลีย บอกว่า "เราจะลงแข่งขันในเกมที่เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจออะไร" ซึ่งก็เป็นการบอกคร่าว ๆ ว่า พวกเขามองว่า ฟีฟ่า โดน ซาอุดีอาระเบีย ซื้อไปแล้ว ... ส่วนจะจริงหรือไม่ เรื่องนี้ยังต้องรอหลักฐานเชิงประจักษ์ออกมาพิสูจน์กันต่อไป
เรียนรู้จาก กาตาร์
ใน ฟุตบอลโลก 2022 ที่ กาตาร์ สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อโลกลูกหนังก็คือ ไทม์ไลน์ที่ผิดเพี้ยน และส่งผลต่อฟุตบอลในหลากหลายประเทศ สาเหตุหลัก ๆ ก็เพราะเมื่อต้องมาแข่งขันในภูมิภาคตะวันออกกลาง พวกเขาต้องขยับมาแข่งขันกันในช่วงเดือนธันวาคม ที่มีสภาพอากาศเย็น ไม่ร้อนเกินไป จนส่งผลต่อสุขภาพร่างกายนักเตะ
ปกติแล้ว เวลาจัดการแข่งขันที่ประเทศอื่น ๆ ฟุตบอลโลกจะแข่งขันช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งตรงกับช่วงฤดูร้อน และเป็นไทม์ไลน์ที่ชาติต่าง ๆ ได้วางเอาไว้อย่างเหมาะสมแล้ว เพราะจะเป็นช่วงปิดซีซั่นพอดี การแข่งขันฟุตบอลโลกในช่วงนี้ จะกระทบกับฟุตบอลลีกในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างทวีปยุโรปน้อยที่สุด
กลับกัน เมื่อครั้งที่ กาตาร์ เมื่อฟุตบอลโลกเตะกันเดือนธันวาคม สิ่งที่หลายลีกต้องเจอคือ การหยุดลีกชั่วคราวเพื่อมาเตะฟุตบอลโลก ทำให้ส่งผลต่อเรื่องตารางการแข่งขัน และเหนือสิ่งอื่นใด หากใครยังจำกันได้ นักเตะหลายคนบาดเจ็บในช่วงเวลาดังกล่าว จนหลายคนต้องพักยาว เสียโอกาสในอาชีพไปโดยปริยาย
ว่ากันว่ามันเป็นความเสี่ยงที่ผู้เล่นจะได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม
ซึ่ง ซาอุดีอาระเบีย ก็ยังไม่ได้ยืนยันเรื่องดังกล่าว เพราะในรายการประเมินข้อเสนอของฟีฟ่าระบุว่า การเสนอตัวของ ซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้เสนอกรอบเวลาสำหรับการแข่งขัน แต่ผู้จัดงานจะ "กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด" หมายความว่ายังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ ซาอุดีอาระเบีย กับ กาตาร์ เป็นชาติที่มีพรมแดนติดกัน จึงทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า ฟุตบอลโลกในเดือนธันวาคมจะกลับมาอีกครั้ง มิหนำซ้ำ ยังมีความซับซ้อนไปอีกขึ้น เพราะในปี 2034 เดือนรอมฎอน หรือช่วงถือศีลอดของศาสนาอิสลาม จะไปอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ที่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงการแข่งขันพอดี
ซึ่งพวกเขามองว่า มันเป็นปัญหาที่ ฟีฟ่า ควรเรียนรู้จากฟุตบอลโลก 2022 มากกว่าที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ครั้งที่ 2 แบบที่พวกเขากำลังให้สิทธิ์กับซาอุดีอาระเบีย ในฟุตบอลโลก 2034 นี้
ปัญหาเรื่องทรัพยากรมนุษย์
เมื่อ ซาอุดีอาระเบีย ได้จัดฟุตบอลโลก นั่นหมายความว่า พวกเขาจะต้องเร่งมือสร้างสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะ ณ เวลานี้ พวกเขาเตรียมแผนการในการใช้สังเวียนแข่ง 15 สนาม ซึ่งเป็นการสร้างใหม่มากถึง 11 สนาม และเรื่องนี้ส่งผลต่อปัญหาแรงงานข้ามชาติ
ณ ตอนนี้ ตามรายงานของ ฮิวแมนไรท์วอตช์ ระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติ 13.4 ล้านคนในซาอุดีอาระเบีย คิดเป็นประมาณร้อยละ 42 ของประชากรทั้งหมด คาดว่าจำนวนทั้งสองจำนวนจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานอพยพ เช่น ค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และการกดขี่แรงงาน การต้องทำงานกลางแดดร้อนจัด การเบี้ยวค่าจ้าง และการที่แรงงานไม่มีสิทธิที่ทางกฎหมาย เช่น พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะแจ้งตำรวจหรือฟ้องศาล หากพวกเขาโดนโกงค่าจ้าง โดนปล้น ขโมย หรือทำร้ายร่างกาย
เรื่องนี้ก็คล้าย ๆ กับตอน ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศ กาตาร์ ซึ่งมีการอ้างว่า มีแรงงานเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหลายพันราย และที่น่าเป็นห่วงก็คือ ซาอุดีอาระเบีย มีขนาดประเทศที่ใหญ่กว่า กาตาร์ มาก ดังนั้นพวกเขาจะต้องใช้แรงงานต่างด้าว โดยหลัก ๆ มาจาก อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ และ ปากีสถาน มากเป็นพิเศษ
โดยเหตุที่กลุ่มต่อต้านครั้งนี้แปลกใจก็คือ ในขณะที่เจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030 อย่าง สเปน โปรตุเกส และ โมร็อกโก (ซึ่ง อาร์เจนตินา, อุรุกวัย และ ปารากวัย ได้รับสิทธิ์ด้วย เพื่อรำลึก 100 ปี ฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 ที่ประเทศอุรุกวัย) ผ่านการประเมินด้านสิทธิมนุษยชนโดยองค์กรอิสระถึง 3 ครั้ง ทว่ากับ ซาอุดีอาระเบีย พวกเขากลับไม่ได้รับการประเมินเรื่องนี้ แต่ก็ยังได้เป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลก 2034 ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า นอกจากเรื่องของฟุตบอลแล้ว จะมีปัญหาด้านนี้ตามมาอีกมากมาย
ย้ำอีกครั้งว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นจากคนที่ไม่เห็นด้วย และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนในการนำข้อกล่าวหาทั้งหมดออกมาตีแผ่ว่า ซาอุดีอาระเบีย ทำแบบนั้นจริง ๆ
ดังนั้น ณ ตอนนี้ มีเวลาเหลืออีก 10 ปี ที่ซาอุดีอาระเบีย จะต้องลบล้างภาพจำและคำวิจารณ์เหล่านี้ให้ได้ เพื่อว่าหากวันนั้นมาถึง พวกเขาจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า คำวิจารณ์ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ความจริง
และหาก ฟุตบอลโลก 2034 จัดขึ้นอย่างราบรื่น ไร้มลทิน มันอาจจะเป็นประตูบานใหม่สำหรับชาติจากตะวันออกกลาง ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาติตะวันตกมาโดยตลอดก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
https://thestandard.co/fa-saudi-lgbtqia-fan-safety-commitment/
https://mainstand.co.th/th/news/1/article/20046
https://www.footboom1.com/th/news/football/2163958-norway-to-abstain-from-approving-saudi-arabia-as-2034-world-cup-host-in-protest-against-fifa-s-human-rights-record
https://www.footboom1.com/th/news/football/2165835-outrage-and-protest-erupt-as-fifa-set-to-confirm-1-trillion-world-cup-hosts
https://www.nytimes.com/athletic/5983670/2024/12/11/saudi-arabia-world-cup-2034-controversial/