ทีมชาติอินโดนีเซีย กำลังมีลุ้นจะไปเล่นฟุตบอลโลก 2026 รอบสุดท้ายแบบจริงจัง จากการเอาชนะ ซาอุดีอาระเบีย 2-0 โอกาสของพวกเขาจึงเปิดกว้าง และนั่นทำให้นักเตะชุดนี้ของพวกเขาเป็นเหมือนฮีโร่ของชาติไปแล้ว
หลายคนรู้ว่าพวกเขาเป็นนักเตะลูกครึ่ง ลูกเสี้ยว ที่ค้าแข้งในยุโรปและอเมริกา ถูกทาบทามมาเล่นให้ทีมชาติอินโดนีเซีย ... ในขณะที่หลายคนคิดว่าพวกเขามาที่นี่เพราะเงิน ไม่มีใจ ไม่มีเรื่องโรแมนติกอย่างความรักชาติ บลา บลา บลา
เราลองมาดูกันดีกว่าว่า จริง ๆ แล้วอะไรทำให้พวกเขามาที่ อินโดนีเซีย และชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไรสำหรับการตัดสินใจครั้งนี้
ก่อนจะมาเป็นอินโดนีเซีย
ก่อนที่เราจะมารู้การเปลี่ยนแปลงของนักเตะลูกครึ่ง ลูกเสี้ยว หลังมาเล่นให้กับอินโดนีเซียว่าเป็นอย่างไร เราควรไปเริ่มจากจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้สั้น ๆ ก่อน
สรุปแบบง่าย ๆ เร็ว ๆ ก็คือ เอริค โธเฮียร์ ประธานสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย หรือ PSSI คนปัจจุบัน ที่หลายคนอาจคุ้นหน้าตั้งแต่สมัยเป็นประธานสโมสร อินเตอร์ มิลาน ระหว่างปี 2013-2018 เป็นคนที่มีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับนโยบายนี้
เขาได้ส่งแผนการพัฒนาฟุตบอลอินโดฯ ไปยังสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า โดยมีสิ่งที่เน้นย้ำเป้าหมายระดับนานาชาติ 2 ประการ หนึ่ง คือการก้าวเข้าสู่ 100 อันดับแรกของการจัดอันดับโลก และ สอง คือการเลือกนักเตะที่ดีที่สุดติดทีมชาติ เนื่องจากพวกเขามีลิสต์ผู้เล่นอย่างน้อย 154 คน (ทั้งในประเทศและยุโรป) ที่สามารถเล่นให้กับทีมชาติอินโดนีเซียได้ เนื่องจากประวัติศาสตร์ชาติเคยโดนชาติยุโรปรุกรานมาไม่น้อย
จากนโยบายดังกล่าว อินโดนีเซีย จึงติดต่อหานักเตะลูกครึ่งได้เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาคือการเอานักเตะที่เป็นตัวระดับดัง ๆ เล่นในเกมระดับสูง มีประสบการณ์มาก ๆ มานั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีกฎหมายอยู่ว่า หากนักเตะลูกครึ่งจะมาเล่นให้ทีมชาติอินโดนีเซีย พวกเขาต้องรับกับกฎหมายถือสัญชาติเดียวของประเทศให้ได้ก่อน ซึ่งนักเตะเบอร์ใหญ่ ดีกรีเข้ม ๆ บอกปัดไปบ้าง
แต่ด้วยความที่พวกเขามีตัวเลือกมากเป็นร้อย ๆ คน ในที่สุดพวกเขาก็ได้นักเตะตามที่ต้องการ แม้เบอร์จะเล็กกว่านิดหน่อย แต่นักเตะเหล่านี้ยอมรับเรื่องนโยบายสัญชาติเดียวได้ง่ายกว่า ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน พวกเขาก็รวบรวมนักเตะเหล่านี้มาติดทีมชาติไปแล้วถึง 24 คน (รวมชุดใหญ่และชุดเล็ก)
การเข้ามาก็เห็นผลในทันที อินโดนีเซีย ที่แทบไม่เคยมีบทบาทในการแข่งขันระดับทวีป กลายเป็นชาติเดียวในอาเซียน ที่ลุ้นตั๋วโอลิมปิก ปารีส 2024 แม้พวกเขาจะแพ้ อิรัก ในนัดชิงที่ 3 ศึกฟุตบอลเอเชียน คัพ ยู 23 แต่ก็เป็นผลงานที่ต้องยอมรับในความแตกต่างที่พวกเขาพยายามสร้างมันขึ้นมา
ขณะที่ทีมชาติชุดใหญ่ในตอนนี้ก็มีลุ้นไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แม้จะอยู่ในสายที่มีทีมอย่าง บาห์เรน, จีน, ซาอุดีอาระเบีย, ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น ก็ตาม ... ทั้งหมดนี้คุณต้องยอมรับว่ากลุ่มนักเตะที่พวกเขาไปเสาะแสวงหามา มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งนั่นเตะเหล่านั้นที่ย้ายมาเป็นชาวอินโดนีเซียเต็มตัวก็ยอมรับเช่นกันว่า ไม่ใช่แค่พวกเขาที่เปลี่ยนทีมชาติ แต่การติดทีมชาติก็เปลี่นชีวิตของพวกเขาเช่นกัน
มาเพราะเงิน ?
อย่างที่เรารู้กัน อินโดนีเซีย คือประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก และประเทศนี้บ้าฟุตบอลแบบที่คนไทยเรายังเลียนแบบไม่ได้ คุณลองคิดภาพว่าผู้คนราว 270 ล้านคน บ้าฟุตบอลกันไปแล้ว 60-70% (ตีคร่าว ๆ) ถ้ามีใครสักคนที่เล่นฟุตบอลเก่งจนทำให้พวกเขามีความสุขได้ นักเตะคนนั้นจะถูกยกย่องแค่ไหน ?
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย มาร์เตน เปส ผู้รักษาประตูเชื้อสายดัตช์ที่ค้าแข้งกับ เอฟซี ดัลลัส ใน เมเจอร์ลีก ซอคเก้อร์ สหรัฐอเมริกา ว่าอันที่จริงการจะมาเป็นประชากรของอินโดนีเซียเต็มตัว ไม่ใช่แค่คิดจะมาก็มาได้ และพวกเขาหลายคนที่มาเล่นที่นี่ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินเป็นหลักด้วย
ความจริงคือพวกเขาเป็นนักเตะระดับเทียร์ 3 ของประเทศ อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ คือถ้านักเตะเทียร์ 1 เป็นนักเตะทีมชาติเนเธอร์แลนด์ นักเตะเทียร์ 2 ก็คือนักเตะตัวรองท็อปที่อาจจะไม่ติดทีมชาติชุดใหญ่จนต้องย้ายไปเล่นให้กับชาติอื่น ๆ ตามเชื้อสายอย่าง ซูรินาม เป็นต้น
จนกระทั่งมาถึงกลุ่มเทียร์ 3 คือนักเตะที่ไม่ได้ติดทีมชาติทั้งชุดใหญ่ และหลุดวงโคจรจากการโดนเรียกติดทีมชาติไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของอายุหรือฝีเท้า ซึ่งนักเตะกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มาเล่นให้ อินโดนีเซีย ตามเชื้อสายของปู่ย่าตายาย
ซึ่งนักเตะกลุ่มนี้หลังจากตกลงมาเล่นให้ทีมชาติอินโดนีเซีย จะต้องเข้ามาทำธุระเรื่องเอกสารการเลือกถือสัญชาติให้เรียบร้อย และจากนั้นพวกเขาจะเข้าพิธีสาบานตน เป็นอันจบพิธี พวกเขาจะกลายเป็นประชากรของประเทศอินโดนีเซียบแบบเต็มตัว
"พวกเรามักจะถูกมองว่าเป็นพวกที่เข้ามาฉกฉวยและเห็นแก่ผลประโยชน์ แต่อันที่จริงแล้วคนเราก็มีหลายบริบทที่ต้องรับผิดชอบ อย่างตัวของผมที่เลือกมาเล่นให้อินโดนีเซีย เพราะเป็นเชื้อสายทางคุณย่าของผม และผมสนิทกับย่ามาก ๆ ด้วย"
"ตอนนั้นที่ อินโดนีเซีย ติดต่อเข้ามาเมื่อปลายปีก่อน คุณย่าของผมก็เริ่มสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว และผมมีโอกาสได้นั่งคุยกับท่านบ่อย ๆ เรื่องการจะเล่นให้ทีมชาติอินโดนีเซีย และเรื่องนี้มันทำให้ท่านยิ้มได้ ทำให้ท่านมีกำลังใจในการรักษาตัวเองต่อเพื่อรอวันที่ผมเป็นคนอินโดนีเซีย และติดทีมชาติ ... นั่นแหละผมจึงมาเลือกเล่นให้กับทีมชาติอินโดนีเซีย และผมยืนยันด้วยตัวเองว่าผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก ๆ ที่ได้มาอยู่จุดนี้"
ขณะที่ดาวเตะอินโดนีเซียหน้าใหม่อีกคนอย่าง จัสติน ฮุบเนอร์ ที่เคยเล่นทีมเยาวชนรุ่นเดียวกับ ชาวี ซิม่อนส์ ตัวรุกทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ก่อนจะไปเล่นให้กับ วูล์ฟส์ และ เซเรโซ โอซาก้า ในปัจจุบัน ต่างก็บอกถึงเหตุผลว่า ถ้าคิดแต่เรื่องเงินอย่างเดียว เขาคงไม่เลือกมาเล่นให้ อินโดนีเซีย แน่ เพราะเขาชอบชีวิตเงียบ ๆ สงบสุขมากกว่าจะเป็นสตาร์ในอาเซียน แต่การติดทีมชาติก็คือความท้าทาย ที่นักเตะหลาย ๆ คนอยากจะมีโอกาสสักครั้ง
"ผมเองก็มีความเป็นชาวอินโดนีเซียในตัวอยู่แล้ว และเมื่อคุณเป็นนักเตะอาชีพ การมีโอกาสได้เล่นทีมชาติถือเป็นสิ่งที่คุณอยากจะทำมัน มันเป็นความท้าทายที่ต่อยอดอาชีพนี้ได้ มันทำให้คุณอยากที่จะพัฒนาตัวเองมากขึ้น เพื่อประสบความสำเร็จที่มากขึ้น" ฮุบเนอร์ กล่าว
จริงอยู่ที่พวกเขาอาจจะพูดเพียงเพราะเมื่อออกสื่อทุกคำล้วนต้องเสริมแต่งอยู่แล้ว และอาจจะมีนักเตะหลายคนที่มาเล่นเพื่อเงินตามที่แฟน ๆ บ้านเราคิดก็เป็นได้ ? ... เรามีสิทธิ์จะคิดอะไรก็ได้ทั้งสิ้น แต่เราไปยัดเยียดความคิดตัวเองใส่ให้กับพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ จนกว่าที่พวกเขาจะออกมาพูดด้วยตัวเองเหมือนที่ เปส และ ฮุบเนอร์ ทำ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพวกเขาจะมาด้วยเหตุผลอะไร แต่สิ่งที่พวกเขาจะได้กลับไปแน่ ๆ คือความเป็นสตาร์แบบที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนตลอดการเป็นชีวิตนักฟุตบอล
โลกอีกใบเมื่อรับใช้อินโดนีเซีย
สิ่งที่ เปส กับ ฮุบเนอร์ บอกตรงกันอีกอย่างคือ ... ใครจะคิดว่าพวกเขาจะกลายเป็นสตาร์ในชั่วข้ามคืน เพราะความบ้าบอลแบบอินโดนีเซียที่พวกเขาไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน
"ผมอาจจะพอรู้มาบ้างถึงความคลั่งไคล้ฟุตบอลของคนที่นี่ แต่ผมไม่คิดว่ามันจะขนาดนี้" เปส ว่าต่อและอธิบายว่าตอนที่เล่นในสหรัฐอเมริกา เขาอาจจะเป็นผู้รักษาประตูมือ 1 ของ ดัลลัส แต่ชีวิตนอกสนามของเขานั้นเงียบสงบมาก เขาสามารถเดินไปไหนมาไหนได้สบาย ๆ ทั้งในถนนพลุกพล่านที่ ดัลลัส หรือแม้กระทั่งรัฐเท็กซัส เพราะไม่มีใครสังเกตหรือสนใจเขานัก
แต่การมาที่อินโดนีเซีย มันเป็นความสุขอีกแบบที่เขาได้สัมผัส เขาเล่าต่อว่าแฟน ๆ มากมายพยายามจะติดต่อพูดคุยกับเขาทั้งบนท้องถนนและในโลกโซเชี่ยล จนกระทั่งบางครั้งเขาไม่สามารถเดินบนถนนปกติได้เลย เพราะจะมีแฟนมารุมล้อมเต็มไปหมด ซึ่งเขาแคร์เรื่องนี้จริง ๆ จนถึงขั้นต้องกลับมาปัดฝุ่นเล่นโซเชี่ยลมีเดีย เพื่อให้มีช่องทางติดต่อกับแฟน ๆ มากขึ้น
"มันไม่น่าเชื่อ เพราะจู่ ๆ คุณก็กลายเป็นที่ชื่นชอบและมีผู้ติดตามจำนวนมาก ผมเองก็ต้องรับผิดชอบความคาดหวังด้วยการสร้างความสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่น ๆ กับพวกเขา (แฟน ๆ) ซึ่งหลังจากนั้นการตอบรับก็ล้นหลามเป็นอย่างมาก ผมต้องพยายามรับมือและตอบกลับให้ได้มากที่สุดเสมอ นั่นเป็นเรื่องที่ดีนะ" เปส ที่ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามใน Instagram มากถึง 1.7 ล้านคน และบน TikTok 1.2 ล้านคนเผย
ส่วน ฮุบเนอร์ นั้นต้องบอกว่าดังยิ่งกว่า เปส นอกจากการติดทีมชาติ เขากลาเยป็นดาราไปแล้ว เรื่องนี้มันเห็นชัดมากตั้งแต่ตอนที่เขาเล่นให้กับ วูล์ฟส์ และพอเริ่มมีข่าวกับทีมชาติอินโดนีเซีย ยอดผู้ติดตามของเขาก็เพิ่มขึ้นทีละนิด ๆ และเมื่อเขาตัดสินใจเด็ดขาด ยอดผู้ติดตามของเขาก็พุ่งไปถึง 2.7 ล้านคน จากจุดเริ่มต้นแค่ 5 พันคนเท่านั้น
"ในแง่ของโซเชี่ยลมีเดีย ทุกอย่างเติบโตเร็วมาก ผมมีโอกาสได้ดีลกับแบรนด์ต่าง ๆ และเหมือนได้ใช้ชีวิตในความฝันภายในชั่วข้ามคืนเลย" ฮุบเนอร์ กล่าว
"แรกๆ เพื่อนร่วมทีมที่ วูล์ฟส์ ถามผมว่าผมจะไปเล่นให้ทีมชาติอินโดนีเซียจริงหรือไม่ ? ผมบอกวาผมจะไป มันคือทางเลือกที่ดีมาก ๆ ทุกคนก็เห็นแบบนั้น และทุกคนยังแซวกลับมาเลยว่า ช่วยพาข้าไปติดทีมชาติอินโดนีเซียด้วยคน"
"ผมยังจำวันที่ผมตัดสินใจเลือกเล่นให้ทีมชาติอินโดนีเซียได้ ผมได้เห็นแรงสนับสนุนแบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ผมเลือกสิ่งนี้จากโอกาสมากมายที่เปิดกว้าง และผมต้องยอมรับจริง ๆ ว่าสิ่งที่ตามมานั้นดีมาก ๆ"
“วันที่เครื่องบินลงจอดที่อินโดนีเซีย ผมพยายามซ่อนตัวโดยสวมหมวกและหน้ากาก แต่พวกเขาก็จำผมได้ในทันที แม้แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจยังอยากถ่ายรูปกับผมเลย มีแฟน ๆ ประมาณ 50 ถึง 60 คนที่ต้องการถ่ายรูปและผมใช้เวลาถ่ายรูปกับพวกเขาจนครบ กว่าจะได้ออกจากสนามบิน
"ไม่ใช่แค่ผมหรอก ครอบครัวของผมก็ค่อนข้างมีชื่อเสียงเช่นกัน ผมสร้างบัญชี Instagram ให้กับแม่ และเธอก็มีผู้ติดตามเกือบ 50,000 คนแล้ว ทุกคนที่อินโดนีเซียจำเธอได้ ครั้งแรกที่เธอไปอินโดนีเซีย เธอถามว่าทำไมผู้คนถึงอยากถ่ายรูปกับเธอ ซึ่งตอนนี้เธอชินกับมันไปเรียบร้อยแล้ว”
การมาของนักเตะอย่าง เปส, ฮุบเนอร์ และอีกหลายคนเหมือนกับภูเขาไฟที่รอปะทุได้ระเบิดออกมา อินโดนีเซีย ห่างไกลความสำเร็จจากวงการฟุตบอลมานานมากแล้ว และการที่พวกเขามีนักเตะกลุ่มนี้มาสร้างความแตกต่างและทำผลงานที่ฉีกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง มันทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์ขึ้นมาแบบที่เป็นอยู่
ไม่ใช่แค่ 2 คนนี้เท่านั้น นักเตะอินโดนีเซียหลายคนในทีมชุดปัจจุบัน ทั้งที่เป็นลูกครึ่ง-ลูกเสี้ยว ก็มียอดผู้ติดตามในโซเชี่ยลมีเดียสูงขึ้น และต้นสังกัดของพวกเขาก็ได้ผลประโยชน์จากเรื่องนี้ไปด้วย
ล่าสุดนักเตะที่ยิง 2 ประตูให้ทีมเอาชนะ ซาอุดีอาระเบีย อย่าง มาร์เซลินโญ่ เฟอร์ดินานด์ นักเตะอินโดนีเซียแท้ ๆ ที่เล่นให้ อ็อกซ์ฟอร์ด (ชุด U23) ก็มีแฟนบอลอินโดนีเซียเข้ามาติดตาม และเพิ่มยอดไลก์ยอดวิวกันสนั่นหวั่นไหว แบบที่นักเตะท้องถิ่นของพวกเขาไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
นี่คือพลังแห่งการตลาดที่รุนแรงเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าพวกเขาจะเต็มใจมาหรือไม่ อินโดนีเซีย เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาจากโนวันสู่ซูเปอร์สตาร์แห่งอาเซียนไปเรียบร้อยแล้ว พวกเขาเติบโตทางอาชีพ มีเงินมีทองที่มากขึ้น ได้เล่นฟุตบอลในระดับทีมชาติ และแข่งกับทีมระดับหัวแถวของเอเชีย หากไม่ดูแคลนกันเกินไปนัก ก็ต้องบอกว่านี่เป็นโอกาสที่ใครก็ปฏิเสธไม่ลง
และจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเตะกลุ่มนี้ ... มันจะเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในอนาคต และโอกาสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอาชีพ อาจจะทำให้กลุ่มนักเตะเชื้อสายอินโดนีเซียที่ค้าแข้งในยุโรปรุ่นหลัง อาจจะตัดสินใจง่ายขึ้นในกรณีเช่นนี้ และนั่นหมายถึงว่าพวกเขาอาจจะได้นักเตะที่เกรดดีกว่าเดิมด้วย
ส่วนแฟนบอลหลายคนที่ต่อว่าและบอกว่าพวกเขาหลงลืมนักเตะท้องถิ่น ก็มีคำตอบจาก ไซนูดิน อมาลี รองประธาน PSSI ที่เคลียร์สุด ๆ เขาพูดว่า
"การทำให้ทีมเป็นยุโรปไม่เห็นจะเป็นปัญหาตรงไหน การมีผู้เล่นฝีเท้าดีจำนวนมาก ย่อมดีกว่าสำหรับทีมชาติอินโดนีเซียไม่ใช่เหรอ ? นี่คือนโยบายระยะสั้นที่สามารถต่อยอดไปสู่นโยบายระยะยาวในอนาคต แน่นอน เราหวังว่าวันหนึ่ง เราจะประสบความสำเร็จระยะยาวด้วยนักเตะที่ค้าแข้งในระบบลีกของประเทศ แต่ตอนนี้เราเลือกที่จะอยู่กับความจริงก่อน" ไซนูดิน อมาลี กล่าวทิ้งท้าย
และเราคงไม่เถียง เพราะด้วยคุณภาพของฟุตบอลระดับอาเซียน ... ถ้ายังใช้วิธีเดิม ๆ ความฝันจะไปฟุตบอลโลกคงต้องรอไปอีกหลายชั่วอายุคน เผลอ ๆ เรา ๆ ที่อยู่กันในตอนนี้ อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นมันด้วยตาตัวเองก็เป็นได้ และนั่นคือเหตุผลที่พวกเขามองหาแนวทางใหม่ ๆ อย่างที่ทำในตอนนี้
แหล่งอ้างอิง
https://www.nytimes.com/athletic/5790813/2024/09/29/indonesia-soccer-players/
https://www.dw.com/en/indonesias-foreign-born-players-improvement-at-a-cost/a-67976075
https://e.vnexpress.net/news/football/why-indonesia-uses-so-many-naturalized-football-players-4720378.html
https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2024/04/27/indonesia-fans-hails-its-u-23-team-after-historic-victory-over-title-favourites-s-korea-11-10-on-penalties
https://thediplomat.com/2022/12/why-cant-a-nation-of-276-million-people-field-a-decent-soccer-team/
https://time.com/6219205/indonesia-kanjuruhan-soccer-violence-football/
https://www.thejakartapost.com/news/2015/06/09/group-accuses-pssi-high-corruption.html
https://www.dw.com/en/football-in-indonesia-new-generation-provides-new-hope-ahead-of-asian-cup/a-61999071
https://cidiss.co/uncategorized-2/erick-thohir-leads-the-transformation-of-indonesian-football/