Feature

โบห์ลี่ย์ vs เอ็กบาลี : ศึกหลังบ้าน เชลซี ที่โลกอยากรู้ "ความผิดใคร ?" | Main Stand

เชลซี ยุคกลุ่มทุนอเมริกัน ถือเป็นทีมที่มีการบริหารแปลกในแบบที่โลกฟุตบอลไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการซื้อตัวนักเตะ แต่งตั้งโค้ช และปลดโค้ช 

 


ณ ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ของการเป็นเจ้าของทีม แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้จะห่างไกลเหลือเกิน และล่าสุดกับการแตกหักกันในกลุ่มผู้บริหารโดย 2 หัวเรือใหญ่ของสโมสร ที่หนักถึงขั้นจะซื้อหุ้นของอีกฝั่งเพื่อเอามาบริหารเอง 

ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ และ เบห์ดัด เอ็กบาลี ทะเลาะอะไรกัน แล้วเรื่องราววุ่น ๆ หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นฝีมือและความผิดใคร ?

ติดตามได้ที่ Main Stand 

 

ใครคือผู้นำ เชลซี ตัวจริง ? 

กลุ่มทุนอเมริกันที่ชื่อว่า BlueCo คือกลุ่มที่เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการสโมสร เชลซี ต่อจากเจ้าของเดิมอย่าง โรมัน อบราโมวิช ที่มีต้นเหตุจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อปี 2022 นโยบายทุ่มงบประมาณทำให้แฟนบอลฝันหวานในการยกระดับสโมสรไปอีกขั้น ทว่า ... ความเป็น "กลุ่มทุน" นั้นนำมาซึ่งความโกลาหลในภายหลัง

อย่างที่บอกว่ามันแตกต่างกับตอนที่ โรมัน อบราโมวิช เป็นหัวเรือใหญ่บริหารสโมสร ในยุคนั้นสิทธิ์ขาดคือเสี่ยหมี ผู้บริหารคนอื่นคือลูกจ้างที่เขาระดมคนเก่ง ๆ มารวมกัน เพียงแต่สิทธิ์ขาดในการตัดสินใจต้องเป็นของเขาเท่านั้น เมื่ออำนาจอยู่ในมือ "เสี่ยหมี" ที่เป็นคนเด็ดขาด คิดอะไร ทำอะไรก็ลงมือทำอย่างรวดเร็ว เราจึงได้เห็น เชลซี พัฒนาแบบมีสเต็ปขั้นตอนตามเวลาที่ผ่านไป

ขณะที่กลุ่ม BlueCo นั้นแตกต่าง กลุ่มทุนนี้ไม่ได้มีใครคนใดคนหนึ่งถือสิทธิ์เด็ดขาดในเรื่องต่าง ๆ ของสโมสรเหมือนกับยุคเสี่ยหมี เพราะกลุ่มนี้เป็นการรวมตัวของหลายกลุ่มหลายคน โดยคนที่แฟนบอลเห็นหน้าบ่อยสุดคือ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร ที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของ แอลเอ ดอดเจอร์ส ทีมเบสบอลชื่อดัง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ถือหุ้นมากที่สุดในสโมสรเชลซี คือ Clearlake Capital กลุ่มทุนสัญชาติอเมริกันที่นำโดย เบห์ดัด เอ็กบาลี ผู้ออกหน้าบ่อยรองจากโบห์ลี่ย์ ซึ่งถือหุ้นถึง 61.5% ส่วนอีก 38.5% ที่เหลือ แบ่งเป็น 3 ส่วนเท่ากันโดยผู้ถือหุ้นอีก 3 คน ประกอบด้วย ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ กับ มาร์ค วอลเตอร์ ที่ร่วมเป็นเจ้าของ แอลเอ ดอดเจอร์ส ด้วยกันในนาม กุ๊กเก้นไฮม์ พาร์ทเนอร์ส และ ฮันส์ยอร์ก วิสส์ มหาเศรษฐีชาวสวิส

พูดง่าย ๆ ให้เห็นภาพคือ กลุ่ม BlueCo นั้นมีนักธุรกิจหลายคนร่วมลงหุ้นกัน แต่หลัก ๆ แล้วพวกเขารวมตัวกันจาก 2 สาย

สายนึงคือสาย Clearlake Capital ที่ เอ็กบาลี เป็นคนออกหน้า ถือหุ้น 61.5% 

ส่วนอีกสายคือผู้ถือหุ้นรายอื่น ที่ ท็อดด์ โบลี่ย์ เป็นคนออกหน้า และกลุ่มนี้ถือหุ้นรวม 38.5% ... ไม่แปลกที่คุณจะเห็น 2 คนนี้เป็นผู้บริหารที่ออกสื่อมากที่สุด และกลายเป็นภาพจำว่าสโมสรเชลซีเป็นของพวกเขาแค่ 2 คน  

หากมองจากจำนวนหุ้นที่ถือ กลุ่ม Clearlake ของ เอ็กบาลี น่าจะมีสิทธิ์และอำนาจมากกว่าในการแสดงความเห็นหรือตัดสินใจต่าง ๆ ... แต่ โบห์ลี่ย์ ที่เป็นคนที่บริหารทีมกีฬาประสบความสำเร็จมาแล้ว ก็มีหน้าที่ประธานสโมสร เหมือนเป็น CEO ใหญ่ที่กำหนดแนวทางวิสัยทัศน์ของสโมสรในแง่ขอความสำเร็จและตัวเลขที่มาจากการแข่งขัน และด้านกีฬาโดยเฉพาะ จึงไม่แปลกที่จะได้ออกหน้ามากกว่าใคร ณ ตอนนี้

ที่ต้องบอกว่า ณ ตอนนี้ ก็เพราะว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นของ เขลซี ได้ทำข้อตกลงไว้ด้วยว่า ตัวแทนของแต่ละฝ่าย จะต้องสลับกันดำรงตำแหน่งประธานสโมสร โดยมีวาระ 5 ปี ซึ่ง โบห์ลี่ย์ เป็นไม้แรก ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2022-2027 หลังจากนั้นก็จะมีคนอื่นจากกลุ่มอื่นมารับหน้าที่ต่อ

แรกเริ่มเดิมที เอ็กบาลี ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และ โบห์ลี่ย์ ในฐานะประธานสโมสร ก็ปรากฏตัวด้วยกันบ่อย ๆ เพียงแต่ตอนนี้หลายสิ่งเปลี่ยนไปแล้ว และสื่ออเมริกันเจ้าใหญ่อย่าง Bloomberg บอกว่าทั้งสองกลุ่มเริ่มมีแนวคิดไม่ตรงกัน และจุดนี้อาจจะยาวไปจนถึงเรื่องการแตกแยกกัน ระดับที่ภาษาบ้าน ๆ เรียกว่า "มีกูต้องไม่มีมึง มีมึงต้องไม่มีกู" กันเลยทีเดียว

 

ทำไมไม่ถูกกัน ?

โลกแห่งความจริงไม่ใช่แบบในละครที่การทำงานเป็นทีมเดียวกันจนสามารถทำอะไรสำเร็จสักอย่าง จะต้องมีต้นตอมาจากความรัก ความสามัคคี อะไรทำนองนั้น เพราะในความจริงกลุ่ม BlueCo นั้น ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเพื่อนรักกัน และไม่ได้มีความสนิทสนมส่วนตัวมากมาย พวกเขาทำงานร่วมกันในฐานะ "นักลงทุนร่วม" ไม่ใช่ "ทีมบริหาร" แต่อย่างใด 

Sky Sports ระบุว่า เอ็กบาลี และ โบห์ลี่ย์ 2 บอสจาก 2 ฝั่ง ไม่เคยเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมาตั้งแต่แรก เพียงแต่พวกเขามีความเป็นนักธุรกิจมืออาชีพ ในเมื่อเริ่มลงทุนหรือทำงานร่วมกับใคร พวกเขาคำนึงถึงผลประโยชน์เป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเรื่องเงินทองหรือชื่อเสียง ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ ต้องมากจากการทำงานที่เป็นมืออาชีพ เอาเรื่องธุรกิจเป็นที่ตั้ง 

ช่วงแรก ๆ ที่ซื้อ เชลซี สำเร็จ เอ็กบาลี และ โบห์ลี่ย์ ก็ทำงานร่วมกันได้ดี สนิทกันในระดับหนึ่ง เพียงแต่ตอนนี้มีรายงานว่า ความใกล้ชิดที่ปกติก็มีน้อยอยู่แล้ว มาตึงตอนนี้ มันได้ห่างออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาได้ยากนัก 

ทั้งคู่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงมาตลอดชีวิต แต่ละคนมีแนวคิดและวิธีการบริหารที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะทิ้งวิธีที่ตัวเองเคยทำสำเร็จ และหันไปใช้วิธีที่คนอื่นนำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลลัพธ์ของการลงทุนไม่ได้เป็นตามที่คาด "อีโก้" ของคนเก่งก็เริ่มเกิดขึ้น 

ในการสนทนาเป็นการส่วนตัวจนถึงปีที่แล้ว พวกเขาได้แสดงจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ตอนนี้หน้าที่ของ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ ที่ทั้งสองได้ตกลงกันไว้ ดูจะไม่เวิร์กนัก จากการลงทุนซื้อนักเตะอายุน้อย ๆ ทำสัญญายาว ๆ แบบที่เขาเคยใช้ในการทำทีมเบสบอลอย่าง ดอดเจอร์ส จนกลายเป็นทีมที่ใหญ่ 

นอกจากนี้ โบห์ลี่ย์ ยังต้องมีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบเรื่องการซื้อนักเตะแบบผิดตำแหน่งผิดสเป็กไปเสียหมด โดยในช่วงครึ่งปีแรก นับจากตอนที่ BlueCo ซื้อกิจการ เชลซี เมื่อกลางปี 2022 นั้น โบห์ลี่ย์ ถือเป็นคนที่ได้สิทธิ์ในการตัดสินใจเลือกนักเตะด้วยตัวเอง ซึ่งสุดท้ายก็ล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ อาทิ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง, คาลิดู คูลิบาลี่, เวสลี่ย์ โฟฟาน่า และอื่น ๆ อีกหลายคน

นักเตะเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ตรงสเป็ก "ดาวรุ่งฝีเท้าดีมีอายุใช้งานยาว ๆ" (ที่เข้าสเป็กก็ โฟฟาน่า ซึ่งเจ็บบ่อย) และหากจะวัดผลงานก็ต้องนับว่าแย่มากกว่าดีเสียแทบทุกคน ชนิดที่ว่านักเตะบางคนต้องขายขาดทุน และพยายามหาทางระบายออก เพราะนอกจากค่าตัวจะแพงแล้ว ค่าเหนื่อยก็ยังสูงด้วย

นั่นก็ถือเป็นความล้มเหลวที่กลุ่มของ เอ็กบาลี ไม่พอใจ ซึ่งสุดท้ายการถกกันจบในช่วงต้นปี 2023 ด้วยการที่ โบห์ลี่ย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสโมสร เชลซี ลาออกจาก 2 ตำแหน่งที่อยู่ในการดูแลของเขา นั่นคือ ตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาชั่วคราวของสโมสร และตำแหน่งหัวหน้าแผนกบริหารจัดการบุคลากร

โดยคนที่เข้ามาทำงานแทนที่ในด้านการซื้อขายคือ พอล วินสแตนลี่ย์ กับ ลอว์เรนซ์ สจ็วร์ต ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาร่วม โดยรายแรกเข้ามาเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ส่วนรายหลังเข้ามาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 (นอกจากนี้ยังมี คริสโตเฟอร์ วิเวลล์ ที่เป็นประธานเทคนิคของสโมสรในช่วงสั้น ๆ ระหว่างฤดูกาล 2022-23 อีกคน)

ถามว่ามันดีขึ้นในทันทีเลยหรือไม่หลังจากการหาทางออกร่วมกันครั้งนี้โดยใช้แนวคิดของ เอ็กบาลี เป็นหลักในการจ้างทีมงานที่มีประสบการณ์มาทำหน้าที่ ผอ.กีฬา และหัวหน้าฝ่ายบุคลากร คำตอบก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนักว่าดี 

เพราะการซื้อตัวของแม้จะกลับมาอยู่ในนโยบายเดิมที่ซื้อนักเตะอายุน้อย ใช้ได้ยาว ๆ ทำสัญญาหลาย ๆ ปี แต่ส่วนใหญ่ก็แทบไม่มีใครแทรกขึ้นมาเป็น 11 ตัวจริงได้เต็มตัวเลย ไม่ว่าจะเป็น มิไคโล มูดริก หรือ โรเมโอ ลาเวีย จะมีก็ โคล พาลเมอร์ นี่แหละ ที่ซื้อมาแล้วใช้ได้เลย 

ปัญหาคือยิ่งเปลี่ยนทีมซื้อขายใหม่ นักเตะในทีมก็ยิ่งเยอะขึ้นไปอีก ทำให้ทีมต้องพยายามระบายออกอย่างขาดทุน ไม่ว่าจะขายถูกกว่าที่ซื้อมา หรือปล่อยยืมแบบช่วยออกค่าเหนื่อย ซึ่งมันก็นับเป็นการขาดทุนทั้งสิ้น 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ เชลซี ในตอนนี้หลาย ๆ เรื่องมีเหตุผลมาจากการซื้อตัวแบบ "ซื้อไม่อั้น เน้นจำนวน" ไม่ว่าจะเรื่องการไม่สามารถหา 11 ตัวจริงที่ดีที่สุดเจอเลยนับตั้งแต่ BlueCo เข้ามาเทคโอเวอร์, ปัญหาเรื่องนักเตะดาวรุ่งหลาย ๆ คนที่ซื้อมาใหม่ที่ไม่พอใจสถานะของตัวเอง ณ ปัจจุบัน เริ่มเรียกร้องหาโอกาสลงสนาม รวมไปถึงเรื่องการต้องขายนักเตะจากอคาเดมี่ที่แฟน ๆ รักออกจากทีม หรือปฎิบัติกับพวกเขาแบบไม่แฟร์นัก

นอกจากนี้ ยังปัญหาเรื่องสนาม ว่าจะปรับปรุง สแตมฟอร์ด บริดจ์ หรือหาที่สร้างใหม่ ที่คาราคาซังมานาน หาบทสรุปและเริ่มลงมือไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ตัวสนาม สแตมฟอร์ด บริดจ์ ไม่ได้เป็นทรัพย์สินของสโมสร แต่เป็นของกลุ่มแฟนบอล

ความล้มเหลวเปลี่ยนเป็นการตกลงแบบใหม่ จากการรายงานของ Sky Sports พวกเขาบอกว่า ระยะหลังมานี้ ขั้นตอนในการตัดสินใจในส่วนของการเสริมทัพและเรื่องเกี่ยวกับกีฬาจากเดิมที่ โบห์ลี่ย์ เป็นหัวเรือใหญ่ ถูกเปลี่ยนมาเป็นการรอคำอนุมัติจากกลุ่ม Clearlake ที่นำโดย เอ็กบาลี และแน่นอนว่าในวงการของนักบริหารชั้นแนวหน้า การทำแบบนี้เหมือนการไม่เชื่อใจและก้าวก่ายกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นความไม่พอใจแบบที่เราได้เห็นในข่าว

"ความสัมพันธ์ระหว่าง เอ็กบาลี และ โบห์ลี่ย์ สามารถอธิบายได้ดีที่สุดว่า ตอนนี้เหลือเพียงความเป็นมืออาชีพเท่านั้นที่พวกเขายังทำงานด้วยกัน" กาเวห์ โซลเฮโคล หัวห้นากองบรรณาธิการของ Sky แสดงความเห็นในบทความของเขา

 

อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ?

ตอนนี้จะว่ากันง่าย ๆ คือต่างฝ่ายก็ต่างไม่ไว้ใจวิธีการของอีกฝ่าย โบห์ลี่ เคยพลาดในการซื้อขายมาแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้ฝั่ง เอ็กบาลี่ ได้โอกาสเอาคนเข้ามาทำแทน 

แต่คนที่เข้ามาแทนจากฟากของ เอ็กบาลี ก็ยังไม่สามารถสำแดงความแหลมคม ชนิดที่ว่าหยิบใครมาแล้วใช้งานได้เลยแบบที่ตั้งเป้าไว้ 

ต่างคนต่างก็พลาด … แต่ในเกมธุรกิจนี้มันมีสิ่งที่ทำให้ใครบางคนมีไพ่เหนือกว่า สิ่งนั้นคือจำนวนหุ้นในมือนั่นเอง

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า เอ็กบาลี คือหุ้นใหญ่ และนั่นหมายความว่าพวกเขาเป็นฝ่ายถือไพ่ที่เหนือกว่า แม้ ณ ตอนนี้อาจจะไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่านับตั้งแต่ BlueCo เข้ามาครองเชลซี พวกเขาถูกตัดเกรดว่า ล้มเหลว เนื่องจากพวกเขามีแผนการระยะยาวไปเป็น 10 ปี -20 ปี แต่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าจุดเริ่มต้นในช่วง 2-3 ปีแรกของ เชลซี ดูจากอาการแล้วใช้คำว่า "มีพัฒนาการที่ดี" แทบไม่ได้ 

ดังนั้นในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นนักธุรกิจที่มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเองสูง เอ็กบาลี และกลุ่ม Clearlake ที่ถือไพ่เหนือกว่า จะไม่ใช่ฝ่ายถอยอย่างแน่นอน พวกเขามองเชลซีเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้ในอนาคต และเป็นเหมือนกับการลงทุนที่สามารถทำเงินได้เสมอ หากวันใดที่ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ตอนนี้พวกเขาเหมือนกับยอมรับกลาย ๆ ว่า 2 ปีที่ผ่านมาพวกเขาได้ตัดสินใจผิดพลาดในฐานะผู้ถือหุ้นหลัก และพวกเขาต้องการแก้ไขมันให้ถูกต้องด้วยวิธีการที่ดีกว่าเดิม ดังนั้นการที่พวกเขาจะสามารถตัดสินทุก ๆ สิ่งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสโมสรเชลซีได้ คือการซื้อหุ้นจาก ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ และคนอื่น ๆ มาให้หมด 

Clearlake มีวิธีการของตัวเองที่จะบริหาร เชลซี แม้แนวทาง ทัศนวิสัยที่พวกเขาเตรียมไว้ตอนนี้ ยังไม่เห็นหนทางความสำเร็จแบบชัด ๆ ก็ตาม

ด้านตัวของ โบห์ลี่ย์ ก็มีอำนาจในสโมสรอยู่ และท่าทีของเขาก็คือการมุ่งมั่นที่จะทำงานบริหารสโมสรนี้ต่อไป เพียงแต่ว่าด้วยหุ้นที่น้อยกว่า ณ ตอนนี้เขาไม่ใช่ผู้คุมเกม และการทำงานของเขาจะยากขึ้นอย่างแน่นอน 

เพราะต่อให้เขาไม่อยากจะขายหุ้นและมีไอเดียในการสร้างทีม เชลซี ให้ประสบความสำเร็จเต็มหัวไปหมด แต่ในโลกแห่งความจริง เขาจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร ? ในเมื่อกลุ่มถือหุ้นใหญ่ยังอยู่ และยังมีความกระหายที่จะบริหารทีมแต่เพียงผู้เดียวหากมีโอกาส

ยกเว้นเสียแต่ว่า โบห์ลี่ย์ จะซื้อหุ้นจาก Clearlake เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจในทีมอย่างเต็มตัว ซึ่งในจุดนี้ โบห์ลี่ย์ อาจต้องพึ่งพันธมิตรอย่าง มาร์ค วอลเตอร์ ที่บริหาร แอลเอ ดอดเจอร์ ด้วยกันอีกแรง

แน่นอนนี่คือโลกของฟุตบอลยุคใหม่ มันไม่เหมือนยุคคลาสสิกที่เป็นกีฬาของชนชั้นแรงงาน อยู่กันด้วยใจและความสามัคคีเพื่อความเป็นหนึ่งสู่ความยิ่งใหญ่ร่วมกันอีกแล้ว 

การบริหารฟุตบอลยุคนี้เป็นเกมธุรกิจเต็ม 100% นักลงทุนจากต่างชาติเขามาหาสโมสรในอังกฤษด้วยเหตุผลเดียว ไม่ว่าพวกเขาจะพูดว่าอย่างไร แต่ปลายทางคือการทำกำไร แบบไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้

จากนี้ไปเกมหลังบ้านของ เชลซี อาจจะไม่ถึงกับเป็นสงครามประสาทอย่างที่ใครหลายคนคิด แต่มันจะเป็นเรื่องการหาข้อตกลง แบ่งผลประโยชน์ให้ลงตัวที่สุด ฝ่ายไหนยอมรับข้อเสนอได้ ฝั่งนั้นก็จะถอยออกไป และผู้ชนะจะเหลือเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น 

เพียงแต่ว่านี่คือเกมที่แยบยลและลึกเกินกว่าที่แฟนบอลธรรมดาอย่างเราจะรู้ ... เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่านี่คือเกมของคนรวยระดับอภิมหาเศรษฐีที่มีแฟนฟุตบอลเป็นตัวประกัน เรื่องเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในวงการฟุตบอลอังกฤษ 

ที่เหลือเราก็ต้องมารอดูกันว่าเหตุการณ์ระหว่าง เอ็กบาลี และ โบห์ลี่ย์ โดยมีสโมสร เชลซี อยู่ตรงกลาง จะสร้างกรณีศึกษาแบบไหนกันแน่ ?

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-09-06/chelsea-fc-s-backers-clearlake-and-todd-boehly-weigh-ownership-options
https://www.telegraph.co.uk/football/2024/09/06/chelsea-shareholders-power-battle-claims-todd-boehly-sale/
https://www.skysports.com/football/news/11095/13210977/chelsea-power-struggle-explained-how-todd-boehly-and-behdad-eghbali-reached-this-point

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ