เอริค เทน ฮาก โดนแซวเรื่องการดึงนักเตะเก่ากลับมาร่วมงานอีกแล้วหลังจากเปิดตัว 2 กองหลังอย่าง มัทไธจ์ เดอ ลิกต์ และ นูสแซร์ มาซราวี ในตำแหน่งแบ็คขวา
ดังนั้นเราจะย้อนรอยกลับไปดูเรื่องเก่า ๆ เพื่อทำให้คุณได้เข้าใจว่า มาซราวี ในตำแหน่งแบ็คขวาที่ เทน ฮาก ชอบนักชอบหนามันเป็นอย่างไร เล่นสไตล์ไหน
และการมาขอเขาจะทำให้แฟน ๆ ได้เห็นความแตกต่างกับคนที่ย้ายสวนทางอย่าง อารอน วาบิส ซก้า แค่ไหน ?
ติดตามได้ที่ Main Stand
สร้างเด็กแบบอาแจ็กซ์
หลายคนอาจจะพอรู้ว่า นูแซร์ มาซราวี เป็นนักเตะทีมชาติโมร็อคโค และอยู่ในทีมชุดอันดับ 4 ฟุตบอลโลก 2022 ทว่าอันที่จริงแล้วตัวของเขานั้นเติบโตในครอบครัวชาวโมร็อคโคอพยพ ครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่รุ่นปู่-ย่า แล้ว นั่นจึงทำให้เขาเกิดและโตที่เนเธอร์แลนด์ และได้มีโอกาสเล่นฟุตบอลกับสโมสรในท้องถิ่นตั้งแต่ยังเด็ก
ครอบครัวของ มาซราวี ได้สนับสนุนให้เขาเล่นฟุตบอลตั้งแต่ 4 ขวบ ไล่เรียงระดับเรื่อยมาจนกระทั่งโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงเล็กเป้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นัน่คือการได้เข้าอคาเดมี่ของ อาแจ็กซ์ ในแบบที่ได้ทั้งทุนเรื่องการเรียน และทุนเรื่องการเล่นฟุตบอลด้วย
เพียงแต่ว่าไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่ฝันถึงอะไรแบบนั้น เด็กหนุ่มแทบทั้งประเทศอยากจะมาที่นี่ เพราะ อาแจ็กซ์ คือสโมสรที่มีโอกาสเจริญเติบโตมากที่สุด จากประวัติการสร้างนักเตะชื่อดังของประเทศในอดีตที่ผ่านมา
มาซราวี ใช้เวลาทดสอบฝีเท้ากับ อาแจ็กซ์ ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ผิดหวังถึง 4 ครั้งในระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ท้ายที่สุดตอนที่เขาอายุ 9 ขวบ สโมสรก็ส่งจดหมายเชิญและมอบทุนเรียนและฝึกฟุตบอลให้กับเขาในท้ายที่สุด และความสำเร็จใน 9 ขวบวันนั้น สิ่งที่ต้องชื่นชมคือ มาซราวี ไม่เคยสอบตกในการทดสอบเลื่อนขั้นในระดับเยาวชนเลย 10 ปี ผ่านไปเขาก็ได้สัญญาฉบับแรกและลงไปเล่นให้กับทีมชุดบีในลีกรองที่ชื่อว่า จอง อาแจ็กซ์
ซึ่งหลักสูตรในการสร้างเยาวชนของที่นี่มักจะไม่ปักหลักตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งให้กับนักเตะเล่น 100% ก่อนขึ้นชุดใหญ่ พวกเขาจะหาตำแหน่งที่เหมาะ 3 ตำแหน่งว่าเล่นตรงไหนได้บ้าง จากนั้นก็จะมีการเริ่มเก็บข้อมูลการเล่นในสนาม สมรรถภาพร่างกาย จนกระทั่งตกผลึกมาว่าใครควรจะเล่นตำแหน่งไหนกันแน่
"ตอนนั้นจะบอกว่า มาซราวี เป็นกองหลังคงไม่ถูกต้องซะทีเดียว ที่อาแจ็กซ์ นักเตะดาวรุ่งหลายคนจะถูกใช้ในหลายตำแหน่งผ่านจากการวิเคราะห์ของโค้ช และจากนั้นพวกเขาจึงค่อยฟันธงว่าตำแหน่งตรงไหนดีที่สุดสำหรับนักเตะคนนั้น" อเล็กซ์ ดีเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลดัตช์เผย
"ผมมีโอกาสได้ดูเขาเล่นในชุด จอง อาแจ็กซ์ อยู่และวิธีการเล่นของเขาค่อนข้างไม่เหมือนกับกองหลังในตำแหน่งแบ็ค เพราะเขาไม่ได้อยู่คาริมเส้นตลอด มีหลายครั้งที่เขามาช่วยกองกลางเชื่อมบอลและตัดเกม แถมยังเป็นแบ็คที่เล่นในแดนคู่แข่งมากกว่าตัวเอง... ถ้าจะบอกว่าคล้าย ๆ กับใคร ผมว่าเขามีกลิ่นของ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ และ ชูเอา กานเซโล่ อยู่ในตัว"
คำอธิบายของ ดีเกอร์ นั้นถูกต้อง เพราะมันไม่หนีจากที่ เอริค เทน ฮาก พูดถึง มาซราวี สมัยทำงานร่วมกันนัก เพราะในปี 2017 หลังจาก เทน ฮาก ย้ายจาก อูเทร็คช์ เข้ามาคุม อาแจ็กซ์ เขาก็มองหานักเตะตำแหน่งแบ็คที่เล่นได้ในแบบที่เขาต้องการ ครองบอลได้ แย่งบอลได้ จ่ายบอลได้ และเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์คับคัน ... นั่นคือเหตุผลที่เขาจับเอา มาซราวี เป็นตัวหลักในตำแหน่งแบ็คขวาตั้งแต่อายุ 20 ปี
1 ในขุนพลเอก เทน ฮาก
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า เทน ฮาก ประทับใจในตัว มาซราวี ขนาดไหนไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ดึงตัวมาร่วมทีมที่ ยูไนเต็ด เป็นคำรบที่ 2 คำชมที่ เทน ฮาก มีต่ออาแจ็กซ์นั้นอาจจะไม่ได้ชัดเจนมาก แต่มันก็ซ่อนเอาไว้ในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง โดยเฉพาะตอนที่เขาบอกว่า ยูไนเต็ด ไม่สามารถเล่นเหมือนอาแจ็กซ์ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะนักเตะตำแหน่งแบ็คนี่แหละที่เป็นหนึ่งในปัญหา หากยังจำความกำได้วันที่ เทน ฮาก เป็นกุนซือ ยูไนเต้ด ใหม่ ๆ เขาอยากได้ตำแหน่งแบ็คขวามาก ๆ ดิโอโก้ ดาโลต์ ยังม่ชัดเจนพอเรื่องการครองบอล ส่วน วาน บิสซาก้า ยิ่งแล้วใหญ่สไตล์ต่างกันมากชนิดที่ว่านักเตะค่าตัว 50 ล้านปอนด์ แทบไม่ได้เล่นให้กับ ยูไนเต็ด ยุค เทน ฮาก เลยในช่วง 2-3 เดือนแรก
เทน ฮาก กับฟุตบอลในแบบของเขาต้องการแบ็คอย่างที่ มาซราวี เป็น จริง ๆ แล้วในกุนซือคนก่อน ๆ พวกเขาไม่ได้ชอบ มาซราวี นักเพราะเป็นนักเตะที่ผอมแห้ง ไม่แข็งแรง จนทำให้เขาได้โอกาสในชุดใหญ่ช้ากว่าใครหากเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันอย่าง มัธไธจ์ เดอ ลิกต์ ทื่เป็นตัวหลักตั้งแต่อายุ 17 ปี
"ในช่วงที่นักเตะคนอื่น ๆ ขยับไปเล่นชุดใหญ่หรือเป็นตัวหลักในทีมสำรอง ผมยังแถบไม่ถูกเลือกลงสนาม ผมยังจำได้ผมรอโทรศัพท์ก่อนเกมหลายครั้ง และพวกเขา(โค้ช) ก็ไม่โทรหาผมเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วผมทำอะไรมากกว่าการพยายามในส่วนของตัวเองต่อไปให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกับผมหลาย ๆ คนค่อย ๆ โดนคัดออก(ไม่ได้สัญญาฉบับใหม่) นั่นทำให้ผมเผลอคิดไปในทางลบเหมือนกัน"
"ผมคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นที่ต้องการมากนัก โดนสโมสรละเลย และสงสัยในตัวเองตลอดว่าเราเล่นและซ้อมได้ห่วยขนาดนั้นเลยเหรอ ? ...โชคดีที่ความอดทนมันมีมากกว่าในเวลาในตอนนั้น ย้อนกลับไปมันเป็นหนึ่งในช่วงเวลาของการเรียนรู้ที่สำคัญมาก"
เมื่อ เทน ฮาก เข้ามาเขาไมได้แคร์เรื่องความผอมแห้งของ มาซราวี เขาเพียงเข้าใจว่านักเตะในตำแหน่งแบ็คในสายตาของเขาต้องมีพละกำลังมากพอที่จะวิ่งขึ้นลงและอย่างที่บอกในข้างต้น ทักษะครองบอล หนีเพรสซิ่ง ขยับตัวหาที่วางคือความสำคัญกว่ามัดกล้าม
ดังนั้นตอนที่ มาซราวี เล่นให้กับ เทน ฮาก ที่อาแจ็กซ์ เขาจึงถูกสั่งให้เล่นเกมรุกเยอะเป็นพิเศษ และแน่นอนคนที่เด่นด้วยพร้อม ๆ กันกับเขาก็คือ อันโทนี่ ปีกบราซิลที่ย้ายมาอยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด เมื่อ 2 ปีก่อนด้วยราคาราวเกือบ ๆ 100 ล้านยูโร
เรื่องนี้ เคซีย์ เอแวนส์ จาก แมนเชสเตอร์ อีฟนิ่ง นิวส์ เคยลงพื้นที่และสรุปว่าทำไม เทน ฮาก จึงชอบแบ็คขวาอย่าง มาซราวี ว่า
"แบ็คขวาของ อาแจ็กซ์ ที่ชื่อว่า นูแซร์ มาซราวี คือคนที่สำคัญมาก ๆ กับเกมบุกของพวกเขาเพราะเป็นคนที่จ้องจะหาพื้นที่ขึ้นมาเล่นเกรุกเสมอ ผมติดตามฟอร์มของเขาในปี 2019 และเขาทำไป 5 ประตูกับอีก 4 แอสซิสต์ในเกมลีก นั่นคือตัวเลขที่ไม่เลวสำหรับตำแหน่งนี้" เอแวนส์ กล่าว
"การมีอยู่ของแบ็คนนี้ทำให้ปีกอย่าง อันโทนี่ สามารถเล่นได้ง่ายขึ้น ทั้งคู่มีไทมิ่งการวิ่งอ้อมหลัง หรือตัดเข้าในที่ค่อนข้างรู้ใจกัน ซึ่งผมว่าฟุตบอลของ เทน ฮาก การเอาชนะกันและใช้ประโยชน์ตจากพื้นที่ว่างนนี่แหละสำคัญที่สุด"
"จากลิสต์แบ็คขวาที่มีข่างกับ ยูไนเต็ด (เมื่อ 3 ปีก่อน) เขาดีกว่าทุก ๆ คน (เจเรมี่ ฟริมปง, มาโล กุสโต และ ไคล์ วอล์เกอร์ ปีเตอร์ส) และมันจะดีมาก ๆ เพราะในซัมเมอร์ปี 2022-23 เพราะเขาจะหมดสัญญากับ อาแจ็กซ์ และเป็นฟรีเอเยนต์"
น่าเสียดายที่ความจริงมันไม่เป็นไปตามที่วิเคราะห์ หลังจากจบฤดูกาล 2021-22 มาซาราวี ได้ย้ายไปอยู่กับ บาเยิร์น แบบไร้ค่าตัวเพราะเชื่อว่ามีโอกาสเป็นแชมป์และได้เล่นแชมเปี้ยนส์ลีกอย่างต่อเนื่อง
“นูสแซร์เป็นนักเตะที่บุกขึ้นทางฝั่งขวาบ่อยมาก เราชอบความคิดของเขามาก เขามุ่งมั่นกับความท้าทายนี้ที่บาเยิร์น” ฮาซาน ซาลิฮามิดซิช อดีตผู้อำนวยการกีฬาของบาเยิร์น พูดถึงเหตุผลที่ บาเยิร์น ต้องลงตลาดนั้นและรีบปิดดีล มาซราวีก่อนใคร
ทว่าที่สุดแล้วคู่แล้วก็ไม่แคล้วกันหลังเล่นให้กับเสือใต้ 2 ปี มาซราวี ที่ไม่ได้เป็นตัวหลักเลย ก็กลับมาอยู่กับคนที่หาตำแหน่งทีดีที่สุดให้กับเขาอย่าง เทน ฮาก อีกครั้ง ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด
คนก่อนเป็นแบบไหน คนใหม่ต้องต่างจากเดิม
อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ในข้างต้นเดิมทีเทน ฮาก เองไม่ได้ถูกใจกับสไตล์การเล่นของ อารอน วาน บิสซากา อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสุดท้ายจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม พวกเขาไม่มีแบ็คขวาคนไหนย้ายมาสู่ทีมเลยนับตั้งแต่ปี 2019 .. ดังนั้นช่วยไม่ได้ที่ วาน บิสซากา จะต้องเป็นตัวจริงอยู่บ่อย ๆ โดยมี ดาโลต์ มาเบียดในช่วงหลัง ๆ
ทั้ง 2 คนเป็นขั้วตรงข้ามกัน วาน บิสซาก้า เป็นกองหลังแบบเชิงรับจริง ๆ มีความเหนี่ยวแน่นและเก่งในการดวลกัน 1-1 กับปีกที่มีความเร็ว แต่ปัญหาที่ทุกคนไม่สามารถปฎิเสธได้เลยคือทักษะเชิงบอลเขาไม่เหมาะกับการเล่นเกมรุกเลย ไม่ใช่แค่การเลี้ยงบอล การจ่ายบอล และการเปิดบอลจากด้านข้าง แม้แต่การยืนตำแหน่งที่ผิดพลาดของเขาก็ถูกวิจารณ์อยู่บ่อย ๆ
ดังนั้นเมื่อ เทน ฮาก อยากให้ทีมเล่นเกมรุก แต่ดันมีแบ็คที่ไม่ตรงสเป็กต์ เราจึงได้เห็นความผิดพลาดมากมายเกิดขึ้น และในฟุตบอลระดับนี้ ถ้าคุณพลาดเสียบอลให้คู่แข่ง หรือยืนตำแหน่งผิดพลาด ...
ทีมของคุณจะต้องเหนื่อยไปแย่งบอลกลับมาใหม่ด้วยกันทั้งทีม และถ้าเจอคู่แข่งที่คุณภาพสูง ๆ การเสียบอลครั้งเดียวก็สามารถโดนเสียบทะลุหัวใจได้ แมนฯ ยูไนเต็ด พลาดแบบนี้บ่อยมากในปีที่ผ่าน ๆ มา พวกเขาเสียประตูง่ายแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย และนั่นทำให้แต้มของพวกเขาโดนทีมหัวตารางทิ้งห่างไกลระดับมากกว่า 20 แต้มในหลาย ๆ ซีซั่น
แล้วการมาของ มาซราวี จะช่วย เทน ฮาก ได้ยังไง ? ลองย้อนกลับไปในเวอร์ชั่นแรกที่พวกเขาทำงานร่วมกัน เทน ฮาก ใช้จุดแข็งของ มาซราวี อย่างครบครัน ทักษะการเล่นเกมรุกของเขาโดนซื้อทั้งหมด เพียงแต่ว่าการเล่นเกมรับของ มาซราวี อาจะจดูไม่แข็งแรงเท่า วาน บิสซาก้า แต่ก็สามารถทดแทนได้ด้วยการยืนตำแหน่งที่ดี ซึ่งตรงนี้ต้องเอาสถิติมาอ้างอิงว่าสถิติการดวล 1-1 ชนะนักเตะเกมรุกคู่แข่ของ มาซราวี มีถึง 68.9% ขณะที่ วาน บิสซาก้า ทำไปในซีซั่นที่แล้วอยู่ 61% เท่านั้น
ส่วนสถิติเกมรุกนั้นไม่ต้องเทียบกันเลย เพราะ มาซราวี ดีกว่า งาน บิสซาก้า เยอะมาก เช่นเรื่องการสร้างโอกาสยิงประตู วาน บิสซาก้า ทำได้ทั้งหมเพียง 0.76 ครั้งต่อเกม ส่วน มาซราวี ทำได้เฉลี่ย 1.35 ครั้งต่อเกม .... เท่านั้นยังไม่พอยังมีเรื่องสถิติการจ่ายบอลเข้าพื้นที่สุดท้าย สถิติการครอสบอลแม่นยำ สถิติผ่านบอลต่อเกม ที่ มาซราวี มากกว่าทั้งหมด มีเพียงการเลี้ยงกินตัวเท่านั้นที่ วาน บิสซากา ดีกว่า มาซราวี เล็กน้อย
เห็นได้ชัดว่าการใช้นักที่เล่นเกมรุกดีอาจไม่ได้หมายความว่าคุณจะสูญเสียเกมรับเสมอไป ความแข็งแรงถูกทดแทนด้วยการยืนตำแหน่ง และการเชี่ยวชาญในด้านการเอาตัวรอดและทักษะฟุตบอลที่ดีกว่า แม้ มาซราวี อาจจะไม่สายเกมรับจ๋า แต่เขาจะไม่เสียบอลง่าย ๆ ให้ทีมคุณทั้งทีมต้องวิ่งถอยกลับมาเล่นเกมรับบ่อย ๆ แน่นอน
นอกจากนี้ตำราอาแจ็กซ์ในการเล่นได้หลากหลายตำแหน่งยังทำให้เขาเป็นตัวเลือกที่อเนกประสงค์ไม่ว่าทีมจะขาดแบ็คซ้าย เซ็นเตอร์ฮาล์ฟในระบบกองหลัง 3 ตัว หรือมิดฟิลด์ตัวกลาง มาซราวี เองก็มีความหลากหลายมากกว่าในแง่ฟังก์ชั่นการใช้งาน
ดังนั้นการขาย วาน บิสซาก้า ออกไปในราคา 15 ล้านปอนด์ และทดแทนด้วย มาซราวรี ในราคาที่ถูกกว่า (ซื้อมา 12 ล้านปอนด์) ถือว่าเป็นการลดทุนที่เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่า เทน ฮาก จะใช้ มาซราวี ออกมาได้ดีแค่ไหน ถ้าตกร่องปล่องชิ้นเล่นได้เหมือนเดิมกับตอนที่เป็นทหารเอกให้กันนั่นก็นับว่า ปีศาจแดง ได้กลบจดอุ่นของตัวเองไปแล้วอย่างน้อย 1 จุด
และมันจะเยี่ยมมาก ๆ ถ้าพวกเขาหยิบจับนักเตะตรงสเป็กต์แบบนี้ในทุก ๆ ตลาด ความผิดพลาดที่เคยมีมากมายก็จะลดน้อยลงไป และในไม่ช้าพวกเขาอาจจะกลับมาอยู่ในจุดที่ตัวเองต้องการก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง :
https://www.footballparadise.com/noussair-mazraoui-footballs-glorious-nonconformist/
https://theanalyst.com/eu/2024/08/noussair-mazraoui-compared-aaron-wan-bissaka-man-utd/
https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/noussair-mazraoui-who-is-the-bayern-munich-full-back-ajax-morocco-20082
https://www.moroccoworldnews.com/2022/12/352929/noussair-mazraoui-from-law-student-to-morocco-s-wingback
https://fcbayern.com/en/news/2022/05/this-is-noussair-mazraoui