Feature

แกเรธ "Tinkerman" เซาธ์เกต : กุนซือคิดมากที่สะท้อนถึง "คลาส" ของตัวเอง | Main Stand

ว่ากันว่าในโลกของฟุตบอล ถ้าคุณได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ความผิดพลาดจะถูกมองข้าม ... เกมแรกใน ยูโร 2024 ของทีมชาติอังกฤษ เป็นแบบนั้น พวกเขาชนะ แม้จะไม่สวยทั้งสกอร์และรูปเกม แต่ก็มีเสียงบ่นที่ไม่มากไม่มายนัก 

 

แต่เกมที่ 2 กับ เดนมาร์ก ที่จบลงด้วยผลเสมอ ต้องใช้คำว่า "ทัวร์ลง" เข้าอย่างจัง เพราะนอกจากสกอร์จะไม่ได้แล้ว อย่างอื่นก็เละไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะรูปเกมหรือการตัดสินใจต่าง ๆ ของตัวกุนซืออย่าง แกเรธ เซาธ์เกต 

สิ่งที่เขาทำ กำลังจะเข้าตำราของกุนซือประเภท "Tinkerman" ... เราจะลองชำแหละเรื่องนี้ให้ถึงไส้ ติดตามที่  Main Stand 

 

ต้นตำรับ "Tinkerman" 

คำว่า "Tinkerman" (ทิงเกอร์แมน) หรือแปลเป็นไทยคือ "มิสเตอร์คิดมาก" คือหนึ่งในคำศัพท์คลาสสิกของวงการฟุตบอล และมันไม่ใช่ศัพท์ที่หมายความไปทางเชิงบวกด้วย 

ใครก็ตามที่ถูกตั้งฉายาว่า ทิงเกอร์แมน มันจะสะท้อนการทำทีมของเขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกุนซือที่มีทุกอย่างกองตรงหน้า ไม่ว่าจะนักเตะดี ๆ หรือเงินทุนในการเสริมทัพแบบเหลือ ๆ แต่กลับไม่สามารถสร้างผลงานของทีมออกมาให้ดีได้ตามทรัพยากรที่พวกเขาเหล่านั้นมี 

ขยายความให้ลึกและเห็นภาพยิ่งกว่าเดิม ต้องชี้ไปที่กุนซืออย่าง เคลาดิโอ รานิเอรี่ สมัยที่เขาคุมทีม เชลซี ในฤดูกาล 2003-04 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาเป็นเจ้าของทีม

ณ เวลานั้น ไม่มีกฎการเงินหรือกฎหยุมหยิมใด ๆ แบบตอนนี้ทั้งสิ้น รานิเอรี่ ได้งบช็อปแหลก เสริมทัพด้วยนักเตะถึง 14 คน แต่ละคนเป็นคนดัง ฝีเท้าดีทั้งนั้น อาทิ เดเมี่ยน ดัฟฟ์, ฮวน เซบาสเตียน เวรอน, โคล้ด มาเกเลเล่ และอีกมากมาย ซึ่งดูขุมกำลังตามหน้ากระดาษ ต้องบอกว่าแข็งโป๊ก น่ามีแชมป์ติดมือสักรายการ

แต่สุดท้าย เขาก็คิดเยอะ คิดมากเกินไป จากนักเตะที่มีอยู่ รานิเอรี่ ไร้ความเด็ดขาด ไม่สามารถเลือก 11 ตัวจริงที่ดีที่สุดได้ และต่อให้เลือกได้ เกมต่อไปเขาก็จะทดลองปรับเปลี่ยนไปเรื่อย จนทีมไม่มีสมดุล และอยู่รอดได้นัดต่อนัดตามคลาสของนักเตะที่มี ซึ่งสุดท้าย เชลซี ก็จบฤดูกาลแบบมือเปล่า ก่อนที่ อบราโมวิช จะปลด รานิเอรี่ เอา "เดอะ สเปเชี่ยล วัน" โชเซ่ มูรินโญ่ ที่ทำ ปอร์โต้ คว้าถ้วย แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลนั้นมาทำทีมแทน 

จากนั้นฉายา ทิงเกอร์แมน จึงถูกเริ่มใช้อย่างแพร่หลายในหมู่กุนซือชอบคิดอะไรที่ซับซ้อน อะไรไม่เสียก็ชอบหาเรื่องซ่อม ส่วนอะไรที่ควรซ่อมควรแก้ก็กลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างปัจจุบันทันด่วน ซึ่งตอนนี้ แกเรธ เซาธ์เกต ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ กำลังกลายเป็น ทิงเกอร์แมน ที่แฟนบอลทีมชาติอังกฤษพร้อมใจกัน "โหวต Out" อย่างท่วมท้น วัดคะแนนจากโซเชี่ยลมีเดียหลังเกม

เซาธ์เกต มีขุมกำลังที่ดี โดยเฉพาะเกมรุกที่ดึงเอาตัวท็อป ๆ ที่ผลงานพีกกับต้นสังกัดมาพร้อมหน้าพร้อมตา แต่สุดท้ายกลายเป็นหนึ่งในทีมที่เล่นได้น่าผิดหวังที่สุด มีเกมรุกที่น่าเบื่อ สร้างโอกาสยิง 2 เกมรวมกันแค่ 9 ครั้ง ยิงเข้ากรอบแค่ 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีค่า xG รวมกัน 2 เกมเพียง 0.90 เท่านั้น แบ่งเป็นเกมกับ เซอร์เบีย 0.56 และในเกมกับเดนมาร์กที่ได้ xG แค่ 0.34  

ถ้าคำถามว่าอะไรที่ทำให้แย่ได้ขนาดนี้ คำตอบที่ชัดที่สุด ณ ตอนนี้ ก็คือความเป็น ทิงเกอร์แมน ของ เซาธ์เกต นี่แหละ 

 

แกเรธ "ทิงเกอร์แมน" เซาธ์เกต 

จริง ๆ แล้วการเป็นโค้ชทีมชาติอังกฤษ และพาทีมไปให้ถึงแชมป์นั้นยากมาก หนึ่งเดียวที่เคยทำได้คือ เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ ในฟุตบอลโลก 1966 ซึ่งถ้านับจากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน หากพูดกันแบบแฟร์ ๆ เซาธ์เกต คือคนที่ทำทีมเข้าใกล้แชมป์ที่สุด ด้วยการคว้าอันดับ 4 ฟุตบอลโลก 2018 และการคว้ารองแชมป์ ยูโร 2020 

2 ทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว เซาธ์เกต ได้รับคำชมมาก โดยเฉพาะเรื่องของการเลือกวิธีการเล่นให้เหมาะกับคุณภาพนักเตะที่ทีมชาติอังกฤษมี เซาธ์เกต ไม่สนเรื่องการทำบอลทรงสวย ๆ ต่อบอลแบบ ติกิ ตากะ แบบที่สเปนเคยใช้จนประสบความสำเร็จเหรอ ? วางไว้ตรงนั้นแหละ

เขาทำทีมเพื่อหวังผลลัพธ์โดยใช้จุดแข็งที่นักเตะอังกฤษมีออกมาใช้ นั่นคือความเร็ว ความแข็งแรง และความเก่งกาจในการเล่นลูกเซตพีซ ที่นอกจากจะมีผู้เล่นสายโหม่งเก่ง ๆ ในทีมเยอะแล้ว ยังมีการซักซ้อมที่ดีเป็นอาวุธหลักของทีมมาโดยตลอด และด้วยสไตล์บอลแบบตีหัวเข้าบ้านและเน้นเซตพีซ ทำให้ อังกฤษ เบียดชนะคู่แขงจนได้ผลงานดี ๆ ดังที่กล่าวมา 

แต่ความแตกต่างได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในฟุตบอลโลก 2022 ที่ กาตาร์ กล่าวคือทีมของ เซาธ์เกต ยังคงสไตล์เดิมเอาไว้ เหนียวแน่นเอาไว้ก่อน และจะเข้าทำเร็วเมื่อมีโอกาสเท่านั้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ฟุตบอลได้เดินหน้าไปอีกก้าวแล้ว ทุกทีมเล่นเกมเพรสซิ่งเข้ม ๆ พอเสียบอลก็ใช้การเคาน์เตอร์เพรสซิ่งแย่งบอลกลับมา ซึ่งการจะเล่นสไตล์นี้ได้ทุก ๆ ทีมต้องมีความฟิตของนักเตะเป็นที่ตั้ง ซึ่งเมื่อมีความฟิตที่ไม่หนีกันมาก อังกฤษ ของ เซาธ์เกต จึงออกอาการ "ใบ้กิน" ณ ตอนนี้ แม้ว่าคู่แข่งจะไม่ใช่ทีมแข็งระดับเกรด A หรือแทบจะเป็นเกรด B ระดับท้าย ๆ พวกเขาก็ไม่สามารถแสดงตัวตนในฐานะของ "ทีมต่อ" ได้เลย

เขามีขุมกำลังชั้นยอดให้เลือกใช้มากมายในเกมรุก แต่เขากำลังคิดเยอะ จนทำให้วัตถุดิบที่มีเป็นการเสียของไปหมด ด้วยความคิดเยอะ ระแวดระวัง และไร้รูปแบบการเล่นที่ชัดเจน 

เริ่มจาก แฮร์รี่ เคน กองหน้าที่ยิงประตูเป็นกอบเป็นกำในซีซั่นที่ผ่านมา ที่ เซาธ์เกต มักจะใช้ เคน แบบครอบจักรวาล บางครั้งเขาต้องลงไปเล่นลงไปล้วงบอลจากกลางสนาม จนทำให้เสียโอกาสในการเล่นเกมรุกไปโดยปริยาย หลายครั้งที่เคนได้บอลจากจังหวะตัดจากคู่แข่ง เขามักจะจบด้วยการต้องเลี้ยงวนเพื่อเรียกฟาวล์ เพราะเพื่อนร่วมทีมเติมเกมรุกน้อยมาก จนไม่มีตัวเลือกให้จ่ายบอลเลย

ในเกมกับ เดนมาร์ก แฮร์รี่ เคน กองหน้าที่ซัดในบุนเดสลีกากับต้นสังกัดไป 36 ลูก กลับได้สัมผัสบอลเพียง 22 ครั้ง และเป็นการสัมผัสบอลในเขตโทษคู่แข่งเพียงแค่หนเดียวเท่านั้น ... ต่อให้ เคน จะยิงได้ สถิตินี้ก็ยืนยันได้ว่า เคน กำลังอยู่ผิดที่ผิดทาง จะพูดแบบนั้นก็คงไม่เกินเลยไปนัก 

ขณะที่ขณะตัวสนับสนุนด้านหลังของเคนทั้ง 3 คนอย่าง จู๊ด เบลลิงแฮม, ฟิล โฟเดน และ บูกาโย ซาก้า ถ้าดูแค่ชื่อและจินตนาการภาพ เชื่อว่าหลายคนคงนึกไปถึงเกมรุกที่พุ่งทะยานไปข้างหน้า มีครบทั้งความเร็ว ทักษะ และความแข็งแรง  แต่ก็อย่างที่เห็นเมื่อเอาเข้าจริง 3 คนนี้ที่ผลงานกับสโมสรยากจะหาใครมาเทียบ กลับเล่นกันต่ำกว่ามาตรฐาน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โฟเดน ที่ยิงไป 27 ประตู และทำไปอีก 13 แอสซิสต์ จากตลอดซีซั่น กลับแทบไม่ได้ครองบอลในพื้นที่ทำการเลย ดูแล้วจะหนักไปทางเป็นตัวไล่เพรสซิ่งคู่แข่งเป็นหลักอีกต่างหาก เป็นอีกครั้งที่ควรจะใช้คำว่า "เสียของ" กับทีมชาติอังกฤษชุดนี้  

ขณะที่แดนกลาง คู่กลางที่หลายคนตั้งคำถามว่าจะเลือกใช้ใคร หรือชุดไหนดี เพราะดูแล้วละลานตา น่าใช้ แต่ละคนมีความโดดเด่นแตกต่างกัน ดูแล้วน่าจะสนุกสำหรับโค้ชที่มีออปชั่นมากมายให้เลือกใช้ ตัดกลับมาที่สถานการณ์จริง เซาธ์เกต ก็เลือกใช้ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ ยืนจับคู่กับ ดีแคลน ไรซ์ 

แน่นอนว่ารายของ ไรซ์ เขาควรได้เป็นตัวยืนอยู่แล้วจากผลงานที่ทำมา แต่การวาง เทรนท์ เป็นคู่หู ทำให้เกิดปัญหาหลายข้อ ข้อที่ชัด ๆ เลยคือ เทรนท์ กับ ไรซ์ ดูจะกั๊ก ๆ กันไปหมด พวกเขา 2 คนทำหน้าที่แทบจะเหมือนกันเลย นั่นคือการแย่งบอล และเปลี่ยนจากรับเป็นรุกผ่านการออกบอลจังหวะเดียว ... เรียกได้ว่าพวกเขาเหมือนตกลงกันไม่ได้ว่า ใครจะเล่นเบอร์ 6 หรือใครจะเล่นเบอร์ 8 ซึ่งนี่เป็นคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เกมแรก และถูกตั้งข้อสงสัยว่า "คู่นี้ไม่น่าใช่" 

เรื่องนี้แม้แต่กูรูอย่าง เจมี่ คาร์ราเกอร์ ก็หล่นความเห็นหลังเกมในลักษณะนี้ โดยเขาบอกว่า เซาธ์เกต ไม่ผิดที่เลือก เทรนท์ และ ไรซ์ ลงพร้อม แต่ที่ผิดคือการให้พวกเขาโฟกัสสิ่งเดียวกันมากเกินไป ไม่มีการแบ่งหน้าที่เหมาะสม  จึงทำให้เกมรุกจากแดนกลางคู่นี้ แทบไม่มีจังหวะอันตรายเลย 

"เทรนท์และไรซ์อยู่ลึกเกินไปเมื่อเดนมาร์กได้บอล พวกเขากังวลมากเกินไปกับสิ่งที่อยู่ด้านหลังพวกเขา นั่นทำให้พวกเขามองข้ามงานสำคัญที่อยู่ข้างหน้าพวกเขาไปเลย เซ็นเตอร์แบ็กต้องตะโกนใส่พวกเขา เพื่อให้พวกเขาขยับขึ้นจากพื้นที่ตรงนั้นไป"

คาราเกอร์ สงสัยและยกตัวอย่างเพื่อตั้งคำถามต่อว่า การพะวงเกมรับเยอะเกินไปแบบนี้ มันถูกต้องจริง ๆ หรือกับสถานการณ์ในตอนนี้ ? 

ซึ่งที่สุดแล้ว เซาธ์เกต ก็มาเฉลยด้วยตัวเองผ่านการสัมภาษณ์หลังเกมว่า การที่เขาเลือกใช้ เทรนท์ และให้เขาทำหน้าที่คล้ายกับ ไรซ์ ก็เพราะ เซาธ์เกต ต้องการให้ เทรนท์ เข้ามาเป็นตัวแทนของ คัลวิน ฟิลลิปส์ นักเตะคู่บารมีของ เซาธ์เกต ที่ฟอร์มเละเทะจนไม่ติดทีมชาติ ... โดยการสัมภาษณ์หลังเกมของ เซาธ์เกต มีอยู่ว่า 

"เขามีช่วงเวลาที่เขาทำได้ตามที่เราคิดไว้ การใช้งาน เทรนท์ ถือเป็นการทดลอง และเราพบว่าไม่มีทางทดแทน คัลวิน ฟิลลิปส์ ได้โดยธรรมชาติ แต่เรากำลังลองทำบางอย่างที่แตกต่างออกไป และในตอนนี้เราก็ต้องยอมรับว่า เกมของเรายังไหลลื่นไม่พอ" เซาธ์เกต ว่าแบบนั้น 

จะเห็นได้ว่าเขายึดติดกับ คัลวิน ฟิลลิปส์ แม้ในยามที่เจ้าตัวไม่ได้ติดทีมมาด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่า การพลิกแพลงกลยุทธ์ตามศักยภาพของผู้เล่นที่มีของ เซาธ์เกต ใน 2 เกมแรกเข้าเกณฑ์ "สอบตก" อย่างจัง 

พูดแบบไม่เข้าข้างกัน กองกลางอังกฤษที่มีในชุดนี้ หลายคนน่าจะมีดีกว่า คัลวิน ฟิลลิปส์ แทบทั้งหมดหากเทียบผลงาน 2-3 ปีหลังสุดที่ผ่านมา... และถ้าเขาจะหาตัวแทนของ คัลวิน ฟิลิปส์ จริง ๆ ก็น่าแปลกว่าทำไมเขาถึงเลือกใช้ เทรนท์ เพราะ ฟิลลิปส์ กับ เทรนท์ ถือเป็นนักเตะที่ต่างสไตล์กันอย่างสิ้นเชิง 

ซึ่งความยึดติดกับวิธีการเก่า ๆ นี้อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ โคล พาลเมอร์ ไม่เคยถูกส่งลงมาใช้งานเลยแม้แต่วินาทีเดียว เพราะสไตล์การเล่นเขาดูจะไม่คล้ายกับนักเตะคนที่ เซาธ์เกต เคยใช้งานเลย จนหาที่เสียบลงไม่ได้แม้กระทั่งการเป็นตัวแก้เกม ซึ่งน่าเสียดายมากสำหรับนักเตะที่กำลังอยู่ในช่วงพีกและเล่นได้อย่างมั่นใจมาตลอดทั้งปีแบบนี้ 

 

มองปัญหาจาก 2 เกมแรก 

The Athletic รวบรวมสถิติและวิเคราะห์ผลงานของทีมชาติอังกฤษ 2 เกมแรกแบบไม่ไว้หน้ากัน พวกเขาบอกว่านี่คืออังกฤษที่ฟอร์มแย่ที่สุดหากนับจาก 4 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ครั้งหลังสุดเลยทีเดียว

พวกเขาชี้ไปที่เกมรุกของทีมที่ ณ ตอนนี้ไม่มีความสมดุล มีความหนักขวา จนซ้ายบอดไปหมด ซึ่งเบื้องต้นก็มาจากการตัดสินใจของเขาที่จะเลือกใช้ คีแรน ทริปเปียร์ ในตำแหน่งแบ็กซ้าย และดูจากฮีตแมพของ ทริปเปียร์ ก็บอกได้ว่า เซาธ์เกต ตั้งใจจะให้เขายืนช่วยเกมรับเป็นหลัก จนไม่เติมขึ้นมาช่วย โฟเดน ทำเกมทางกราบซ้ายเลย 

บอลอังกฤษจึงจับทางง่าย ดังที่เราเห็น เซอร์เบีย และ เดนมาร์ก แก้เกมเกมมาจัดการปิดตายฝั่งขวา พวกเขาก็แทบจะขึ้นเกมรุกไม่ได้เลย โดยในเกมกับ เดนมาร์ก นั้น อังกฤษบุกทางกราบขวาถึง 44% บุกจากตรงกลาง 32% และบุกจากทางซ้ายแค่ 24% เท่านั้น เป็นสถิติที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับทีมที่เอาตัวริมเส้นมากมายเช่นนี้  

การไม่เน้นเกมบุก หรือเล่นในเกมที่ไม่ใช่เกมถนัดของนักเตะที่ตัวเองมีทำให้ อังกฤษ ชุดนี้ กลายเป็นทีมที่ขาดความต่อเนื่องในการครองเกม พวกเขาเอาบอลขึ้นไปเสียในเเดนคู่ต่อสู้เยอะมาก ๆ ใน 2 เกมแรก หลัก ๆ ก็เพราะว่าเกมรุกของพวกเขาโดดเดี่ยวจนเกินไปในการบุกแต่ละครั้ง 

นอกจากนี้ เรื่องของการครองบอลก็พลาดเยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะการจ่ายบอลพลาดในแนวรับนั้น อังกฤษ พลาดไปถึง 28 ครั้ง ขณะที่อัตราความเข้มของการเพรสซิ่งแย่งบอลของทีมชุดนี้ ก็น้อยยิ่งกว่าชุดฟุตบอลโลก 2022 และยูโร 2020 อีกด้วย 

จะเห็นได้ว่าตอนนี้ อังกฤษ และ เซาธ์เกต มีเรื่องต้องกลับไปขบคิด และใช้ความ "ทิงเกอร์แมน" ไปในทางที่ดี เพราะตอนนี้ได้เวลาที่เขาจะต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ลองหยิบจับอะไรใหม่ ๆ ก็ใช้นักเตะทำงานในสิ่งที่ถนัดไปซะ เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ ด้วยฟอร์มการเล่นแบบ 2 เกมแรก ต้องยอมรับตรง ๆ ว่ายากจริง ๆ ที่พวกเขาจะไปถึงแชมป์ตามที่ใคร ๆ คาดหวัง 

เซาธ์เกต จะต้องพิสูจน์คลาสของตัวเองแล้วในช่วงเวลาที่เหลือของทัวร์นาเมนต์ เพราะโค้ชที่มีคลาสจริง ๆ จะเห็นปัญหาได้โดยไว จะคิดวิธีการเล่นที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของนักเตะภายในทีม และสุดท้าย คือเมื่อถึงเวลาที่ต้องชนะ ต้องทำให้ได้ 

การหยิบจับนักเตะที่ผิดฝาผิดตัว ใช้งานผิดประเภท สะท้อนออกมาเป็นผลงานในสนามที่ย่ำแย่ ... แม้ทัวร์นาเมนต์จะยังไม่จบ นั่นก็มากพอที่จะทำให้ทุกคนพร้อมปัดอังกฤษลงจากการเป็นเต็ง 1 ของรายการ ตามด้วยเสียงเหยียดหยามว่า "จุดอ่อนเดียวของอังกฤษชุดนี้ คือ แกเรธ เซาท์เกต" เรียบร้อยแล้ว 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.nytimes.com/athletic/5569483/2024/06/18/england-starting-xi-denmark/
https://www.nytimes.com/athletic/5572865/2024/06/20/england-denmark-euro-analysis-kane/
https://www.nytimes.com/athletic/5578967/2024/06/20/harry-kane-england-sub-southgate/
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-13552387/Gareth-Southgate-Trent-Alexander-Arnold-EXPERIMENT-Kalvin-Phillips.html
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-13551961/Jamie-Carragher-slams-Trent-Alexander-Arnold-Declan-Rice-far-deep-Denmark-ball-England-struggle-Euro-2024-clash.html

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ