เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, ซีเนดีน ซีดาน, ลูชาโน่ สปัลเล็ตติ, เอริก เทน ฮาก รวมไปถึง อาร์เน่อ สล็อต กับ เอ็นโซ่ มาเรสก้า ล้วนแต่เป็นชื่อของผู้จัดการทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยกุนซือแต่ละคนที่ว่ามานี้ต่างก็ทำหน้าที่คุมทีมข้างสนามจนได้รับคำชื่นชมไปตามภารกิจที่ตั้งไว้ร่วมกับสโมสรต้นสังกัด
เห็นเช่นนี้อาจเป็นเรื่องปกติทั่วไปในวงการฟุตบอลทั่วโลก ทว่าหากสังเกตดี ๆ ผู้จัดการทีมที่ว่ามานี้ล้วนแต่เป็นกุนซือ “หัวล้าน (Bald)”
เรื่องนี้ได้กลายเป็นกระแสและเป็นคำถามปลายเปิดที่ชวนให้พูดถึงเป็นวงกว้าง ว่าแท้จริงแล้วผู้จัดการทีมที่หัวล้าน หรือหัวโล้นประสบความสำเร็จมากกว่ากุนซือที่มีผมหรือไม่
การที่กุนซือลูกหนังคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องทรงผมมากน้อยแค่ไหน และตามหลักจิตวิทยาแล้วมีข้อสังเกตประการใดบ้างที่บ่งชี้ว่าคนหัวโล้นมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่า มาติดตามไปพร้อม ๆ กันกับ Main Stand
หัวล้านได้แชมป์
จุดน่าสนใจประการหนึ่งในแวดวงลูกหนังยุคหลังมานี้คือการที่สโมสรชื่อดังทั่วยุโรปประสบความสำเร็จกับเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้การทำทีมของกุนซือศีรษะล้าน ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ว่าเป็นคนที่ “หัวไร้ผมบางแห่งหรือทั้งหมด”
ไม่ว่าจะเป็น เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่คว้าแชมป์ร่วมกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ รวมกันแล้วถึง 15 แชมป์ รวมถึงการพาเรือใบสีฟ้าคว้าเทรเบิลแชมป์เมื่อฤดูกาล 2022-23 ขณะที่ ซีเนดีน ซีดาน ที่โด่งดังในฐานะคนศีรษะล้านมาตั้งแต่เป็นนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส ต่อด้วยการพา เรอัล มาดริด คว้าแชมป์แชมเปี้ยนส์ลีกได้ถึงสามสมัยติดต่อกัน
ขณะที่ ลูชาโน่ สปัลเล็ตติ ก็เพิ่งพานาโปลีเถลิงแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา หลังไม่ได้แชมป์นานถึง 33 ปี เช่นเดียวกับ เอริก เทน ฮาก ที่เป็นกุนซือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คนแรก ที่คว้าแชมป์ได้ตลอด 2 ปีแรกในการคุมทีม ส่วนเวทีทีมชาติ หลุยส์ เด ลา ฟวนเต้ กุนซือหัวล้านคนใหม่ของ ทีมชาติสเปน ก็เพิ่งพากระทิงดุซิวถ้วยยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก เมื่อฤดูกาล 2022-23
การที่เหล่าผู้จัดการทีมศีรษะล้านพาเหรดกันคว้าความยิ่งใหญ่แบบเหนือกว่าบรรดากุนซือผมเต็มศีรษะ ทำเอาคอฟุตบอลจำนวนไม่น้อยตั้งกระทู้ผ่านเว็บบอร์ดในหลาย ๆ เว็บไซต์ไปจนถึงโพสต์เนื้อหาในลักษณะนี้ชวนให้ชาวเน็ตร่วมแสดงมุมมองผ่านโซเชียลมีเดีย โดยภาพใหญ่ของการแสดงความคิดเห็นกับประเด็นนี้คือ “จริงหรือไม่ที่กุนซือหัวล้านเก่งกว่ากุนซือมีผม ?”
ไขคำตอบตามหลักจิตวิทยา
แม้จะมีกระทู้และมีโพสต์มากมายปรากฏสู่สายตาแฟนฟุตบอลชาวเน็ต อย่างไรก็ดี เมื่อนำคำถามในลักษณะนี้ไปสืบค้นต่อ ไล่ตั้งแต่เสิร์ชเอ็นจิ้นชื่อดังอย่าง Google ตามต่อด้วยช่องทางค้นหาเชิงวิชาการ ทั้ง Google Scholar หรือแม้แต่เว็บไซต์รวมงานวิชาการกีฬาอย่าง The Sport journal กลับไม่พบเนื้อหาเชิงวิเคราะห์ ตลอดจนบทความวิชาการที่ยืนยันตรง ๆ ว่าโค้ชฟุตบอลหัวล้านประสบความสำเร็จมากกว่าโค้ชฟุตบอลมีผม
แต่ถึงอย่างไร หากสืบค้นในเชิงจิตวิทยาเรื่องคนศีรษะล้านก็จะพบบทความวิเคราะห์หรืองานวิจัยที่อ้างอิงถึงบุคลิก และคุณลักษณะเด่นของคนหัวล้านในชีวิตประจำวัน และสิ่งนี้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับตัวตนของผู้จัดการทีมหัวล้านได้ไม่มากก็น้อย
อย่างงานวิจัยเชิงทดลองของ ศาสตราจารย์ ดร.แฟรงก์ มัสคาเรลล่า จากมหาวิทยาลัยแบร์รี่ (Barry University) มีเนื้อหาโดยสรุปว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศชายหัวล้านมีวุฒิภาวะ มีความซื่อสัตย์ ความฉลาด และสถานะทางสังคมเหนือกว่าเพศชายที่มีผม
ขณะที่ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ก็เคยทำวิจัยเกี่ยวกับประเด็นข้อดีของคนหัวล้านผ่านการสำรวจโดยใช้มุมมองและทัศนคติของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งบทสรุปของงานวิจัยนี้คือ ผู้ชายหัวล้านมักถูกมองว่ามีอำนาจเหนือกว่า น่าเกรงขามกว่า และประสบความสำเร็จมากกว่า
เมื่อนำความโดยสรุปจากงานวิจัยทั้งสองมาเรียบเรียงอีกครั้งจะพบว่าคนหัวล้านถูกมองในแง่ของการมีวุฒิภาวะ มีความจริงจัง มีอำนาจ และมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่าคนมีผม
จุดนี้อาจจะส่งผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับบรรดากุนซือหัวล้านในโลกลูกหนัง โดยเฉพาะเรื่องการวางตัวของแต่ละคน วุฒิภาวะจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ตลอดจนบุคลิกความน่าเกรงขามยามที่ยืนคุมลูกทีม เราอาจจะเห็นบุคลิกและคาแร็กเตอร์ของเป๊ปที่ดูสง่างามไม่ต่างกับผลงานที่จารึกไว้ที่แมนฯ ซิตี้, เราอาจเห็นกฎระเบียบที่เป๊ะและความเด็ดขาดของ เทน ฮาก จนเห็นผลตั้งแต่ซีซั่นแรกกับแมนฯ ยูไนเต็ด
หรือแม้แต่การปลด ยูเลี่ยน นาเกิลส์มันน์ ของบาเยิร์น มิวนิค ที่ว่ากันว่าคุมห้องแต่งตัวทีมไม่ได้ แล้วแต่งตั้งโค้ชมากบารมีในวงการลูกหนังเมืองเบียร์อย่าง โธมัส ทูเคิ่ล เข้ามาคุมทีมแทน เป็นต้น
อิทธิพลของกุนซือหัวล้านยังส่งผลในเรื่องของแรงบันดาลใจอีกด้วย ดังที่เพื่อนในวัยเด็กของ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ เคยให้สัมภาษณ์ว่าซูเปอร์สตาร์แห่งเปแอสเชผู้นี้เป็นแฟนตัวยงของ ซีเนดีน ซีดาน ถึงขั้นที่ว่าพร้อมจะโกนผมให้ล้านให้เหมือนไอดอลผู้นี้ในสมัยเป็นเยาวชน
ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าเหล่ากุนซือหัวล้านจะดูให้ภาพแง่บวกมากกว่าลบ แต่ก็ยากที่จะเลี่ยงการถูกวิจารณ์เรื่องรูปร่างหน้าตา (Body shaming) อยู่ดี อย่างเป๊ปที่เคยโดนทั้ง โชเซ่ มูรินโญ่ และอดีตลูกทีมอย่าง เซร์คิโอ อเกวโร่ ให้สัมภาษณ์ว่าที่กุนซือสแปนิชหัวล้านก็เพราะเขาคุมทีมจนเครียดเกินไป
ขณะที่ หลุยส์ เด ลา ฟวนเต้ นายใหญ่ทัพ ลา โรฆา ก็เคยถูกแฟนบอลบูลลี่เรื่องหัวล้าน จนเขาต้องออกมาวิจารณ์ว่านี่เป็นการเหยียดที่รุนแรงเทียบเท่ากับการเหยียดชาติพันธุ์เลยทีเดียว
แท้จริงแล้วโค้ชหัวล้านเก่งกว่าจริงไหม ?
เราไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่ากุนซือหัวล้านเก่งกว่ากุนซือมีผมขนาดไหน ในอดีตกุนซือหัวโล้นก็ไม่ได้ถูกพูดถึงมากเท่ากับช่วงเวลาปัจจุบันที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากกว่า แถมสารที่ถูกสื่อออกไปก็ทำได้ง่ายกว่ายุคก่อน เพราะเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็คิดเนื้อหาสั้นยาวได้ในไม่กี่นาที
อีกเหตุผลก็เพราะฟุตบอลคือเกมการแข่งขันที่มีปัจจัยมากมายมาเกี่ยวโยง ทั้งกลยุทธ์ แทคติกวิธีการเล่น รวมถึงปัจจัยนอกสนาม
แต่กระนั้นสิ่งที่ต่างออกไปคือเราสามารถมองในเชิงจิตวิทยาได้ว่ากุนซือหัวล้านเป็นหนึ่งในตัวอย่างชั้นดีของงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ออกมา นั่นเพราะภาพลักษณ์และบุคลิกที่มีวุฒิภาวะและอำนาจของหลาย ๆ คนในยุคนี้ให้ผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบของ โทรฟี่ แบบไม่มีน้อยหน้ากัน
แหล่งอ้างอิง
https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/relationships/love-sex/bald-men-are-perceived-as-more-attractive-and-masculine-says-study/photostory/70643383.cms
https://www.morefm.co.nz/home/trending/2022/09/bald-men-are-more-intelligent-and-successful-claims-study.html
https://www.healthaddict.com/content/men_sos/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8
https://www.catdumb.com/old/?p=623753
https://www.pacificprime.com/blog/the-top-5-reasons-bald-is-better.html
https://www.marca.com/en/football/international-football/2017/09/07/59b16796ca4741dc748b4659.html