Feature

ทั้ง ๆ ที่ไม่ดูบอล : ทำไม ดารา,นักกีฬา,ทุนอเมริกัน จึงกำลังค่อย ๆ กลืนฟุตบอลอังกฤษ ? | Main Stand

มันอาจจะเริ่มแรกที่ แมนฯ ยูไนเต็ด กับเจ้าของอเมริกันอย่างตระกูลเกลเซอร์ ทว่าปัจจุบัน "อเมริกัน" ชาติที่แทบไม่ดูฟุตบอล(ซ็อคเกอร์ของพวกเขา) กำลังค่อย ๆ เข้ามากลืนวงการฟุตบอลอังกฤษอย่างช้า ๆ 

 


ไม่ใช่แค่กับทีมในพรีเมียร์ลีกที่ทำเงินได้ สร้างกำไรไวเท่านั้น แม้แต่ตอนนี้ทีมจากลีกวัน หรือลีกทู ก็มีเจ้าของเป็นอเมริกันมากมาย 

กับทีมเล็ก ๆ ที่ทำแล้วแทบไม่ได้กำไร พวกอเมริกันเห็นประโยชน์ตรงไหนจึงเข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้ ?

ติดตามทั้งหมดที่ Main Stand 

 

เล็งเห็นอะไร ? 

ประการแรกที่เราต้องคุยกันเลยคือ อเมริกัน ไม่ดูและไม่เล่นฟุตบอล เรื่องนี้แม้แต่สื่ออังกฤษก็ยังต้องถามตัวเองว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ดี ๆ กลุ่มเศรษฐีอเมริกันไม่ว่าจะมาในฐานะกลุ่มทุน, ดารา หรือนักกีฬาดัง จึงมาที่นี่กันมากมาย 

"พวกเราเคยเห็นกระแสการลงในฟุตบอลอังกฤษจากชาติต่าง ๆ เช่น จีน หรือ อาหรับตะวันออกกลาง แต่ไม่เคยมีภูมิภาคใดที่ไม่ได้มีฟุตบอลเป็นกีฬาอันดับ 1 เหมือนกับชาวอเมริกัน ... พวกเขามาที่นี่ และไม่ได้เป็นแค่เจ้าของทีมใหญ่ ๆ เท่านั้น พวกเขาลงไปเทคโอเวอร์ในทีมระดับล่าง ๆ ที่แทบจะเป็นฐานของพีระมิดด้วยซ้ำ" แนนซี ฟรอสตัน นักข่าวจาก The Athletic ตั้งคำถาม 

ถ้าจะถามว่าพวกเขาเล็งอะไร คำตอบที่ง่ายที่สุดคือเงินและผลกำไร ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าเรื่องนั้นสำหรับนักลงทุน พวกเขาเห็นโอกาส และรับทราบว่าฟุตบอลคือกีฬาอันดับ 1 ของโลก แม้ประเทศพวกเขาจะไม่ได้นิยมกีฬาชนิดนี้ และมีการแข่งขันที่มียอดคนดูมากกว่าอย่าง "ซูเปอร์โบวล์" แต่ที่ไหนมีเงิน ที่นั้นย่อมมีนักธุรกิจ มันเป็นเรื่องที่นักลงทุนชาวอเมริกันได้คิดมาแล้วเป็นอย่างดี 

เคียร์แรน แม็คไกวร์ อาจารย์ด้านการเงินในฟุตบอลของมหาวิทยาลัย ลิเวอร์พูล ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Price Of Football และจัดพ็อดแคสต์ที่มียอดดาวน์โหลดกว่า 12 ล้านครั้ง แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้แบบเข้าใจง่าย ๆ ว่า

"มีเงินจำนวนมากในมือกลุ่มนักลงทุนชาวอเมริกัน เศรษฐกิจของประเทศอเมริกายังทำงานได้ดีอย่างน่าทึ่ง มันเหมือนกับว่าผู้คนมีเงินสดสำรอง และพวกเขากำลังคิดว่า ฉันจะทำอะไรกับเงินก้อนนี้ดี ?" 

"พวกเขาเอาเงินใส่รถ และกำลังมองหาที่ ๆ สักที่เพื่อจอด และลงทุนกับอะไรสักอย่างที่มันใหม่ และเป็นตลาดที่พวกเขาแทบไม่เคยสนใจจับต้องมาตลอดนั่นคือฟุตบอล"

"ฟุตบอลไม่ได้ทำให้พวกเขารวยในข้ามคืน แต่สำหรับคนอเมริกันการลงทุนกับฟุตบอล ด้วยเงินจำนวนที่พอจะซื้อสโมสรฟุตบอลในอังกฤษไดสัก 10-20 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นมันจิ๊บจ๊อยมาก เงินขนาดนี้ไม่มีทางลงทุนกับทีมกีฬายอดฮิตในประเทศพวกเขาอย่าง บาสเกตบอล, เบสบอล และ อเมริกันฟุตบอล ได้เลย"

"พวกเขาทำการบ้านกันแล้ว และไล่เรียงดูว่าในเมื่อพวกเขาแต่อันดับ 1 ไม่ได้ แต่อันดับ 2 ไม่ได้ พวกเขาจึงมองหาอันดับ 3 อย่างฟุตบอล"  แม็คไกวร์ สรุป 

อย่างที่บอกพวกอเมริกันกล้าได้กล้าเสีย กล้าลองในสิ่งใหม่ กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ และกล้าเรียนรู้ในสิ่งที่จะสร้างผลกำไร ... พวกเขาทำการบ้านมาเป็นอย่างดีว่าเมื่อวันที่สโมสรพัฒนาไปถึงจุดที่เรียกว่าเป็นทีมดังเป็นที่รู้จัก ได้ไปเล่นฟุตบอลยุโรป ผลกำไรก้อนงามจะสะท้อนกลับมา ดังนั้นในการลงทุนกับทีมเล็ก ๆ ระยะยาว เงิน 10-20 ล้านดอลลาร์ในการเทคโอเวอร์ ถือว่าคุ้มค่าเสี่ยง เหมือนการโยนหินถามทาง  

นับตั้งแต่ปี 2020 นักลงทุนชาวอเมริกันแบกเงินดอลลาร์มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินปอนด์มากมาย พวกเขาถอยลงมาซื้อทีมระดับล่างในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ, ลีกวัน, ลีกทู จนกระทั่งทีมนอกลีก ถึงตอนนี้สโมสรที่อยู่ภายใต้การดูแลของ EFL มีทั้งหมด 72 ทีม แต่มีถึง 22 ทีมเลยทีเดียวที่มีชาวอเมริกันเป็นเจ้าของ 

พวกเขามาเพราะพวกเขาเห็นเงิน แต่ทำยังไงให้ทีมระดับล่าง ๆ แบบนี้สร้างกำไร เพราะหลายคนเองก็น่าจะเคยได้ยินข่าวว่าทีมบอลอังกฤษขาดทุน พร้อมขายทิ้งมากมาย พวกอเมริกันมีวิธีบริหารให้ได้เงินอย่างไรกันแน่ ? 

 

ใช้ชีวิตแบบอเมริกัน 

เมื่อคนอเมริกันลงทุน พวกเขาคิดแล้วว่ามันจะต้องให้อะไรกับพวกเขาสักอย่าง ใครกันจะเชื่อว่า ไรอัน เรย์โนลด์ และ ร็อบ เแม็คเอลเฮนนี่ย์ 2 นักแสดงจากอเมริกา จะหอบเงินดอลลาร์เข้ามาซื้อทีมอย่างก เร็กซ์แฮม ทีมในระดับ ดิวิชั่น 5 ของพีระมิด ... แน่นอนทีมระดับนี้จะทำเงินได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก รายได้หลักมาจากตั๋วเข้าชม และเงินสนับสนุนเล็ก ๆ น้อย ๆ จากทาง FA ? 

ไรอัน เรย์โนลด์ ออกมาเปิดเผยว่าการซื้อทีมของเขาถือเป็นการลงทุนในระยะยาว เบื้องต้นเขาจะทำให้ทีมเลื่อนชั้นในลีกที่สูงขึ้นให้ได้ก่อน อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วพวกเขาก็ยังหาเบี้ยไบ้รายทางให้เขามาเป็นกำไรได้ อาทิ การสร้างสารคดีของสโมสรและลงฉายในสตรีมมิ่ง ภายใช้ชื่อเรื่อง Welcome To Wrexham ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก พวกเขาเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ เร็กซ์แฮม ที่เป็นเพียงสโมสรโบราณจาก เวลส์ ให้กลายเป็นเหมือนดาราฟอร์มเล็กในโลกบันเทิง 

ไม่ใช่การทำเงินจากซี่รีส์เท่านั้น เรย์โนลด์ และ แม็คเอลเฮนนี่ย์ ยังทำให้ทีม ๆ นี้เป็นที่รู้จัก และที่สนใจจากแฟนบอลทั่วโลก ถึงขนาดที่ว่าเกมอย่าง FIFA ยังต้องบรรจุทีม เร็กซ์แฮม ไว้ในหมวด Rest of the world ... พวกเขาเปลี่ยนจากทีมท้องถิ่นให้กลายเป็นองค์กรระดับโลกไปแล้ว ไม่เคยมีทีมนอกลีกทีมไหนทำได้ขนาดนี้ 

ขณะเดียวกันผลงานในสนามก็เป็นไปตามการลงทุนที่ทั้งคู่คาดไว้ พวกเขาลงทุนราว 2 ล้านปอนด์ในการซื้อทีม และตอนนี้พวกเขาขยับขึ้นสู่ลีกวัน ได้เงินสนับสนุนจาก EFL ตกปีละ 1.6 ล้านปอนด์แล้ว แม้จะยังไม่กำไร แต่ก็ต้องบอกว่าพวกเขาควักกระเป๋าน้อยได้ ในทุก ๆ ครั้งที่ทีมก้าวหน้า 

ไม่ใช่แค่กับคนดังอย่าง เรย์โนลด์ เท่านั้นที่ทำเงินได้กับทีมเล็ก ๆ ในอังกฤษ กับกลุ่มทุนอเมริกันอย่าง Gamechanger 20 Ltd.ที่เข้ามาซื้อิปสวิช ในปี 2020 ด้วยเงินเทคโอเวอร์ราว 40 ล้านปอนด์ ตอนที่ทีมอยู่ในระดับลีกวัน โดยราคาดังกล่าวถือว่าแพงมากสำหรับทีมในระดับลีกนี้ แต่ อิปสวิช มีความพร้อมมากพอที่ Gamechanger 20 Ltd. เลือกลงทุน เพราะมีสนามที่ใหญ่อย่าง พอร์ท เมน โรด,มีประชากรในเมืองที่เยอะ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามซ้อมอยู่บ้างแล้ว  ถือว่เาป็นทีมสำเร็จรูปที่พร้อมทำทันที โดยไม่ต้องไปต่อเติมสนามอะไรมากมาย 

Gamechanger 20 Ltd. เข้ามาและปฎิวัติการทำงานแบบคนอังกฤษ โดยเอาการทำงานแบบคนอเมริกันเข้ามาแทน พวกเขาจ้างซีอีโอเก่ง ๆ อย่าง ไมค์ โอเลียรี่ เข้ามารนั่งตำแหน่งประธาน นำเงินทุนอเมริกันที่มาจากกองทุนเพื่อการลงทุน และกองทุนบำเหน็ดบำนาญแห่ง รัฐ โอไฮโอ เข้ามาใช้เป็นทุนสำรองของสโมสร ซึ่งถึงตอนนี้ผ่านไป 4 ปี จากทีมที่พวกเขาซื้อมา 40 ล้านปอนด์ กลายเป็นทีมที่ขึ้นชั้นสู่พรีเมียร์ลีก และกำลังจะคว้าเงินระดับ 100 ถึง 150 ล้านปอนด์ เข้ากระเป๋าแบบเน้น ๆ จากการเลื่อนชั้นครั้งนี้ 

ด้วยโมเดลที่เห็นนี้ จึงมีเศรษฐีอเมริกันมาลงทุนกับฟุตบอลอังกฤษมากเรื่อย ๆ ล่าสุดนักกีฬาดังอย่าง ทอม เบรดี้ ก็เตรียมจะเทคโอเวอร์ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่เพิ่งตกชั้นไปลีกวัน ... พวกเขาไมได้หวังว่าการซื้อทีมบอลในอังกฤษจะตอบโจทย์ทำกำไรในทันทีทันใด แต่มันคือการลงทุนระยะยาว ที่ใช้เงินจำนวนไม่มากนัก ซึ่งถ้าทำได้ผลตอบแทนจะคุ้มค่ามาก ๆ แบบที่ อิปสวิช ทำได้ 

เหนือสิ่งอื่นใดการพิชิตยุโรปถือเป็น 1 ในเรื่องที่ท้าทายคนอเมริกันมาตลอด เนื่องด้วยพวกเขาต่างมีแนวคิดการทำงานหรือการบริหารที่แตกต่างกัน  การที่ทุนอเมริกันจะมาประสบความสำเร็จในยุโรปไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นใครที่ทำได้ ทำสำเร็จ ก็ถือเป็นการประกาศศักดิ์ดาขององค์กรไปในตัวด้วย ... นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทั้งหมด แต่มันคือความท้าทาย ที่พาพวกเขาข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่นี่ 

“การลงทุนเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์รางวัล มีความรักมากมายจากแฟน ๆ เกิดขึ้นต่อชาวสหรัฐอเมริกา พร้อม ๆ กันกับเงินด้วย" 

“ยกตัวอย่าง Fenway Sports Group ซื้อสโมสร Liverpool FC ในราคาประมาณ 300 ล้านปอนด์ และขายสโมสรไป 10% ในจำนวนที่เท่ากันเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว ... พวกอเมริกันนั้นนั่นน่าทึ่งจริงๆ" 

“มันก็เหมือนกับการเป็นเจ้าของม้าแข่ง มีค่าใช้จ่ายและความเพลิดเพลินเล็กน้อยในการ 'ชนะการแข่งขัน' รางวัลในส่วนนี้อาจจะไม่คุ้มอะไรมาก คุณอาจจะยังขาดทุนอยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งมันประสบความสำเร็จและก้าวหน้าแบบก้าวกระโดขึ้นมา คุณจะขายมันได้โดยที่มีกำไรมหาศาล" เคียร์แรน แม็คไกวร์  สรุปให้เห็นภาพ

 

ระวัง...ตกจากฝัน 

อ่านมาถึงตรงนี้มันดูช่างง่ายดายเสียเหลือเกิน แต่ในความจริงมันก็ไม่ถึงขนาดนั้น มีคนได้กำไร ก็ย่อมมีคนต้องขาดทุน โลกมันเป็นแบบนั้นเสมอ และการลงทุนบางครั้งก็ไม่ได้คุ้มค่า

ด้วยความเป็นอเมริกัน พวกเขาไมได้ดูฟุตบอล และแม้ปากของพวกเขาจะบอกว่าพวกเขารักฟุตบอลมาก หรือแคร์แฟนบอลท้องถิ่นมากขนาดไหน แต่มาถึงวันที่หมดกำไร และการขาดทุนตกมาอยู่ในจุดที่พวกเขาวิเคราะห์แล้วว่า "ไปต่อไม่ได้" พวกเขาก็ไม่ลังเล ... เมื่ออยู่แล้วทำเงินไม่ได้ อีกทั้งยังไม่ให้ความท้าทาย ก็ไม่มีเหตุผลที่พวกเขาจะอยู่ต่อ พวกเขาจะมองหาเจ้าของสโมสรใหม่ และพร้อมขายสโมสรทันที ... ไม่ว่่าปัญหาอะไรที่เคยสร้างไว้ พวกเขาไม่สนทั้งนั้น ให้มันเป้นเรื่องการแก้ไขของเจ้าของใหม่เท่านั้น 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ของตระกูลเกลเซอร์ ที่มาถึงวันที่สโมสรกำลังดิ่งลงเหว กำไรน้อยลงเรื่อย เสียงด่าวิจารณ์ขรม ชีวิตของพวกเขาต้องเสี่ยงกับคำขู่มากมาาย พวกเขาก็ยังต้องแบ่งขายสโมสรส่วนหนึ่งเพื่อให้คนอังกฤษอย่างเซอร์ จิม แรดคลิฟฟ์ เข้ามาดูแลในส่วนที่พวกเขาละเลยไป  ... จะบอกว่าไม่รับผิดชอบก็คงไม่ใช่คำนี่เกินเลยไปอย่างแน่นอน 

ไม่ใช่แค่ทีมใหญ่อย่าง ยูไนเต็ด เท่านั้น ทีมอย่าง นอริช ในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ, ชาร์ลตัน ในลีกวัน, คาร์ลสไลน์ ในลีก ทู ที่เจ้าของทำท่าเตรียมวัดใจอยู่ว่าจะเก็บไว้หรือปล่อยให้เป็นของคนอื่นในปีหน้า 

ว่าการว่าการมาของคนอเมริกันจะทำให้สโมสรออกห่างจากแฟนบอลมากขึ้น และถ้าใครโชคร้ายได้เจ้าของที่มีแนวคิดไปในทิศทางการกาลงทุน ขาดทุนและกำไรล้วน ๆ เหมือนทีมที่เรากล่าวมาเป็น ... และนั่นคือเรื่องเลวร้ายและผิดวัตถุประสงค์จากวันที่พวกเขากอตั้งสโมสรขึ้นมาอย่างแท้จริง 

โลกทุกวันนี้หมุนไปเร็วมาก เราได้เห็นสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายในทุกวงการ เช่นเดียวกับในวงการฟุตบอลที่เรารัก จากนี้ทีมเล็ก ๆ ในอังกฤษจะมีเจ้าของในต่างแดนมากขึ้น และมันจะกลายเป็นยุคใหม่ ที่จะดีขึ้นหรือแย่ลง เรายังไม่สามารถคาดเดาได้ เพียงแต่รอวันให้มันเกิดขึ้นเต็มรูปแบบ เราจึงจะรู้ว่าเมื่อฟุตบอลกลายเป็นเรื่องของเงินและการลงทุน แฟนบอลจะยังมีความหมายต่อกีฬาชนิดนี้หรือไม่ ? 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://theathletic.com/5148257/2023/12/26/efl-clubs-american-ownership/

https://theathletic.com/4904749/2023/09/27/tom-brady-birmingham-city-17bn/

https://www.straitstimes.com/sport/americans-are-taking-over-english-football-everywhere

https://www.thecourier.co.uk/fp/business-environment/business/4968189/why-are-american-investors-so-interested-in-tayside-football-clubs/

https://www.lavanguardia.com/mediterranean/20240429/9605843/football-soccer-chinese-arabs-spain-us-united-states-psg-premier.html

https://www.theguardian.com/football/2021/apr/07/ipswich-enter-new-era-with-40m-takeover-by-gamechanger-20

https://www.goal.com/en/news/how-much-promotion-league-one-worth-wrexham-financial-prize-breakdown-explained/blt731410490df08ef0

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ