Feature

สร้างทีมถูกทุกตรง : ถอดโมเดล โบโลญญ่า "เครซี่แก๊ง" ที่ไปถึงแชมป์โคปปา อิตาเลีย | Main Stand

ปี 2024 ติอาโก้ ม็อตต้า นำทัพ โบโลญญ่า สร้างผลงานสุดเซอร์ไพรส์ด้วยการคว้าโควต้าไปเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ก่อนที่เขาจะลาออกไปอยู่กับ ยูเวนตุส 

 


ใครก็คิดว่าทีมที่เสียทั้งโค้ชและนักเตะตัวหลัก 3-4 คน คงไม่มีสิทธิ์เข้าใกล้ความสำเร็จกว่านี้ได้อีกแล้วในช่วงเวลาอันสั้น ... แต่แล้วบอร์ดบริหาร โบโลญญ่า ก็พิสูจน์ว่าความสุขชั่วคราวไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ 

ปีนี้พวกเขาต่อยอดจากทีมเดิมและไปถึงการคว้าแชมป์ โคปปา อิตาเลีย ได้สำเร็จแถมยังมีลุ้นโควต้าบอลยุโรปถ้วยใหญ่อีกครั้ง คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรที่ทำให้พวกเขาสร้างทีมได้ดีต่อเนื่องได้ ?

ติดตามเรื่องราวของ โบโลญญ่า ที่เปรียบเสมือน "เครซี่แก๊ง" ประจำลีกอิตาลีได้ที่ Main Stand 

 

จาก ม็อตต้า ถึง อิตาเลียโน่  

คุณคงเคยได้เห็นข่าวเกี่ยวกับ ติอาโก้ ม็อตต้า มาบ้าง เรื่องที่เขาทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบหลักสูตรโค้ชด้วยการสร้างระบบการเล่น 2-7-2 ที่แม้แต่ผู้รักษาประตูก็ต้องขึ้นมาช่วยต่อบอลด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกแหวกแนวจนทำให้หลายคนปรามาสว่า "สติเฟื่องแบบนี้ ยากจะเป็นกุนซือที่ดีได้" 

อย่างไรก็ตาม บอร์ดบริหารของ โบโลญญ่า เลือกเขามาทำงาน เพราะการพูดคุยที่ค่อนข้างชัดเจนและได้รับการตอบสนองจาก ม็อตต้า ว่า แม้ 2-7-2 จะไม่สามารถใช้งานได้จริงในโลกฟุตบอลตอนนี้ แต่เขาก็พร้อมจะยอมรับช่องโหว่ของแผนที่เข้าสร้างขึ้น เพื่อกลับสู่วิถีที่เหมาะกับวัตถุดิบ (นักเตะ) ที่มีในท้ายที่สุด

ม็อตต้า ได้งานที่ โบโลญญ่า และเลือกปรับเปลี่ยนมาเล่นระบบยอดฮิตในโลกฟุตบอลปัจจุบันอย่าง 4-2-3-1 แต่ก็ยังติดกลิ่นของระบบการเล่น 2-7-2 แบบที่เขาเคยสร้างไว้ในอดีต วิธีการหลัก ๆ คือใช้นักเตะเกมรุกเยอะเหมือนเดิม ปีก 2 ข้างพร้อมขยับเข้าด้านในเพื่อไปช่วยกองหน้าในกรอบเขตโทษเมื่อมีโอกาส 

นอกจากนี้ จะมีกองกลางในตำแหน่งที่ถูกเรียกว่า Mezzela หรือกองกลางที่เล่นเกมรุกในพื้นที่ด้านข้างมากเป็นพิเศษจนแทบจะเป็นตัวรุกริมเส้นไปเลย และกองกลางของพวกเขาทั้ง 2 คนจะทำหน้าที่เป็นตัวออกบอลในแบบของ "เรจิสต้า" หรือตัวจ่ายบอลที่ยืนอยู่หน้าคู่เซ็นเตอร์แบ็กเพื่อทำให้ทีมมีตัวเลือกในการผ่านบอลมากขึ้น เสียการครองบอลยากขึ้น และบางครั้งคู่เซ็นเตอร์แบ็กของพวกเขา ก็จะมีส่วนร่วมในการผ่านบอลตั้งเกมเพื่อหาจังหวะเข้าทำด้วย  

ด้วยระบบดังกล่าวนี้ ม็อตต้า ได้เพิ่มสิ่งสำคัญมาก ๆ ให้กับทีม โบโลญญ่า ชุดฤดูกาล 2023-24 นั่นก็คือ มายด์เซ็ตของผู้ชนะ โบโลญญ่า จึงกลายเป็นทีมประเภทกัดไม่ปล่อย วิ่งไล่ไม่หยุด และไม่ลังเลที่จะเล่นหนัก เล่นแรง หรือฉวยโอกาสนอกเกม เพื่อพาทีมไปยังเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือชัยชนะ 

ม็อตต้า พาทีม โบโลญญ่า ไปจนถึงการจบอันดับ 5 และพาทีมไปเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้สำเร็จก่อนที่เขาจะจากทีมไปเพื่อหาความท้าทายใหม่ เช่นเดียวกับนักเตะตัวหลักอย่าง โจชัว เซิร์กซี, ริคคาร์โด้ คาลาฟิโอรี่ และ วิคเตอร์ คริสเตียนเซ่น  

อย่างไรก็ตาม บอร์ดบริหาร โบโลญญ่า ก็พิสูจน์ว่า ความสุขชั่วคราวไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ พวกเขาเชื่อว่าทีมชุดนี้มีศักยภาพจะต่อยอดให้สำเร็จยิ่งกว่าเดิมได้ แม้จะเสียตัวหลัก ก็จะมีการเสริมตัวใหม่เข้ามาเพื่อให้ทีมยังคงความแข็งแกร่งเอาไว้ และแน่นอนว่าพวกเขาเลือกแม่ทัพคนใหม่เป็น วินเซนโซ่ อิตาเลียโน่ 

อิตาเลียโน่ ถือเป็นกุนซือที่ถูกเรียกว่า "ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง" หลังเคยคุม ฟิออเรนติน่า แพ้ในนัดชิง ยูฟ่า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ถึง 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 2023 และ 2024 อีกทั้งยังเคยแพ้ในนัดชิง โคปปา อิตาเลีย ในปี 2023 อีกด้วย แต่คาแร็คเตอร์ของเขาโดดเด่นเสมอ คำจำกัดความของเขาคือ "จริงจัง พูดน้อย ทำเยอะ" เน้นทำงานเงียบ ๆ แต่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ให้ความสำคัญในการเล่นกับสื่อหรือการสร้างภาพลักษณ์มากนัก  

การเลือก อิตาเลียโน่ มาคุมนี้ ถูกเขียนบรรยายโดยสื่ออิตาลีอย่าง Corriere dello Sport ว่า "แม้จะเคยเป็นผู้ผิดหวังมามาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วมันคืออดีต และทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ... อิตาเลียโน่ มีปรัชญาฟุตบอลที่ถูกต้องเหมาะกับนักเตะที่ โบโลญญ่า มี นี่คือการเลือกเพื่ออนาคต"

"โจอี้ ซาปูโต้ (ประธานสโมสร) ต้องการความต่อเนื่องและมีความทะเยอทะยาน ดังนั้น อิตาเลียโน่ จึงเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบที่สุดในการต่อยอดงานที่ ม็อตต้า ได้สร้างไว้" 

 

สุดยอดนักเพรสซิ่ง 

การมาของ อิตาเลียโน่ นั้นยังคงเอกลักษณ์เดิมในยุคของ ม็อตต้า ไว้ แม้จะเสียตัวหลักไปพอสมควร แต่พวกเขาก็พร้อมจะลงทุนและต่อยอดให้ทีมนี้ไปไกลกว่าเดิม 

ฟุตบอลของ อิตาเลียโน่ นั้นเป็นเหตุผลที่ โจอี้ ซาปูโต้ ประธานสโมสรเลือกเขาเพราะเป็นโค้ชสไตล์ที่เล่นบอลกับพื้น เพรสซิ่งสูงแบบประกบตัวต่อตัว ขยับตำแหน่งต่อเนื่อง รวมไปถึงการบิลด์อัพบอลจากแดนหลัง และครองบอลอย่างมีเป้าหมาย 

สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกอย่างรันต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องรีเซ็ตระบบใหม่ทั้งหมด และที่สุดแล้วในซีซั่นนี้ โบโลญญ่า ยังคงเป็นฝันร้ายของเหล่าทีมใหญ่เสมอ เพราะวิธีการเล่นเพรสซิ่งหนัก เข้าปะทะถึงเนื้อถึงตัวของพวกเขา 

เรื่องนี้มีสถิติยืนยันว่าในฤดูกาล 2024-25 โบโลญญ่า เป็นทีมที่มีสถิติที่น่าประทับใจมาก ๆ ในการแย่งบอลกลับมา ยกตัวอย่างเช่นสถิติ PPDA (Passes per Defensive Action) หรือ คู่แข่งจะได้ต่อบอลโดยเฉลี่ยกี่ครั้งจึงจะสามารถเป็นฝ่ายไล่แย่งบอลกลับมาให้ตัวเองเป็นฝ่ายครอบครองบอลได้ ซึ่ง โบโลญญ่า เป็นอันดับ 1 ของเซเรีย อา โดยพวกเขาปล่อยให้คู่แข่งต่อบอลโดยเฉลี่ยแค่ 9 ครั้งเท่านั้น (อันดับ 2 คือ ยูเวนตุส เฉลี่ย 10.6 ครั้ง, อันดับ 3 โคโม่ 11.2 ครั้ง และ อันดับ 4 อินเตอร์ 11.5 ครั้ง) 

โบโลญญ่า ยังเป็นทีมที่สามารถตัดบอลในแดนของคู่แข่งได้มากที่สุดในกัลโช่ เซเรีย อา อีกด้วย (229 ครั้ง สถิติบันทึกไว้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2025) และยังมีอีกสถิติที่สื่อไปในทางที่ว่าพวกเขาเล่นเกมเพรสซิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการตัดบอลได้มากที่สุด, การเก็บบอลในจังหวะสอง, การหยุดเกมรุกในแดนคู่แข่ง ... ทั้งหมดนี้เป็นอันดับที่ 1 ทั้งหมด   

แค่เห็นสถิติคุณก็เห็นภาพแล้วว่า โบโลญญ่า ชุดนี้เป็นฟุตบอลที่ทำลายภาพจำของแฟนบอลทั่วไปที่คิดว่าฟุตบอลอิตาลีวิ่งน้อย มีพื้นที่เล่นเยอะ และเน้นยืนโซนเกมรับในแดนของตัวเอง อิตาเลียโน่ รักษาคาแร็คเตอร์ทีมจอมกัดไม่ปล่อยได้อย่างน่าชื่นชม ถ้าถ้าพูดถึงทีมที่บีบเพรสเร็ว ดุดัน ไล่บดไม่เลิกในอิตาลีตอนนี้ ไม่มีใครเกิน โบโลญญ่า อีกแล้ว

การเลือกโค้ชที่ถูกต้องตามแนวทาง คือข้อได้เปรียบของ โบโลญญ่า ในซีซั่นนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างนั้นจะได้มาอย่างง่ายดาย มีบทความภาษาในเว็บไซต์ฟุตบอลของอิตาลีหลายเว็บไซต์ที่ระบุถึงการสร้างทีมชุดนี้ของ อิตาเลียโน่ ว่า "กว่าจะมาถึงจุดนี้ย่อมมีจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ" 

"ในช่วงต้นฤดูกาล โบโลญญ่า ยังเป็นทีมที่ดูจับต้นชนปลายไม่ถูกอยู่เลย จะรุกก็ไม่สุด จะรับก็ไม่แน่น พวกเขาเหมือนยืนอยู่กลางแม่น้ำจะเดินหน้าก็เปียก จะถอยหลังก็ช้ากว่าจะถึงฝั่ง แถมการเพรสซิ่งในตอนแรกยังสอดประสานกันได้ไม่ดีพอ บางคนวิ่ง บางคนเดิน ซึ่งมันทำให้กลายเป็นช่องโหว่ มากกว่าที่พวกเขาจะได้เปรียบ ... แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขามาถึงตรงนี้ก็คือผลลัพธ์ของการฝึกซ้อมไงล่ะ" เคลาดิโอ เบเนฟอติ กูรูบอลอิตาลีผู้เขียนบทความ "โบโลญญ่า ตัวเลขนี้มันอะไรกัน ?" ว่าเช่นนั้น 

เป็นจริงดังเขาว่า โบโลญญ่า เล่น 10 เกมแรกใน เซเรีย อา และจบด้วยการชนะเพียงแค่ 2 เกมเท่านั้น แถมเป็นการเอาชนะทีมระดับท้ายตารางอย่าง มอนซ่า และ กายารี่ เท่านั้น ... ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันในฟุตบอลยุโรป พวกเขาก็ไม่ชนะใครเลยใน 6 เกมแรก (แพ้ 4 เสมอ 2) อีกด้วย การฝึกซ้อมอะไรที่เปลี่ยนพวกเขาได้ขนาดนั้นกันล่ะ ? 
 
การฝึกซ้อมของ อิตาเลียโน่ เป็นการใส่ทั้งแท็คติก พละกำลัง และการเล่นเป็นทีมให้กับลูกทีมของเขา โดยหลัก ๆ แล้วเขาต้องการให้นักเตะเข้าใจการเล่นเพรสซิ่งในแบบฉบับของเขาอย่างถ่องแท้ นั่นคือไม่ใช่แค่วิ่งไล่เท่านั้น แต่ต้องเน้นเรื่องการปิดมุมจ่ายจนคู่แข่งไม่มีทางเลือกในการออกบอลให้ได้ 

และเมื่อเวลาที่ทีมเสียบอล นักเตะทุกคนจะต้องรีบ "แปลงร่าง" กลายเป็นผู้เล่นเกมรับพร้อมกันทั้งทีมเพื่อแย่งบอลกลับมาให้เร็วที่สุด และเมื่อแย่งบอลได้ก็จะมีการฝึกให้สร้างจังหวะการสวนกลับด้วยการจ่ายบอล 2-3 เพื่อไปให้ถึงหน้าประตูคู่แข่ง 

เรียกได้ว่า อิตาเลียโน่ ให้ความสำคัญเรื่อง "Intensity" หรือ "ระดับความเข้มข้น" มากกว่าปริมาณการวิ่ง ทว่าในทุกการซ้อมนักเตะทุกคนจะต้องมีการวัด GPS ทุกเซสชั่น ใครที่วิ่งน้อย หรือตัดเกมไม่ถึงเป้า โดนเรียกคุยเป็นการบ้านในทันที ทุกการเคลื่อนไหวต้องมีเหตุผล ทุกจังหวะต้องมีระบบ และทุกคนในทีมต้อง "เข้าใจเกม" 

เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน ทุกอย่างก็เริ่มเห็นผล นั่นคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ โบโลญญ่า กลายเป็นฝันร้ายของทุกทีมในเซเรีย อา โดยเฉพาะทีมใหญ่ ๆ ในซีซั่นนี้ ยืนยันได้จากการเอาชนะทีมอย่าง อินเตอร์, โรม่า, มิลาน, อตาลันต้า และแม้แต่การเจอหมองูอย่าง ม็อตต้า ที่คุม ยุเวนตุส โบโลญญ่า ก็ไม่แพ้ทั้งเกมเหย้าและเกมเยือนอีกด้วย  

ทีนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจจะดูเหมือนไม่สำคัญ แต่มันก็ชวนให้คิดว่า สิ่ง ๆ นี้เป็นเหมือนลมใต้ปีกที่ทำให้ โบโลญญ่า ทำผลงานได้ดีทั้งในบอลลีกและบอลถ้วย และตัวแปรคลาสสิกนี้ก็คือ "กรรมการ" 

 

ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเป็น "เครซี่แก๊ง"

นอกจากจะวิ่งไล่เป็นบ้าเป็นหลังแล้ว โบโลญญ่า ชุดนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องความเล่นหนัก และมีการติดลูกตุกติกนอกเกม เล่นเกมจิตวิทยาปั่นประสาทคู่แข่งครบสูตร มันชวนให้เห็นภาพของ วิมเบิลดัน ชุด เครซี่แก๊ง ในตำนาน ทีถือว่าเป็นทีมที่พร้อมหาเรื่องทุกจังหวะ 

นี่ไม่ใช่การกล่าวร้ายแต่อย่างใด ภายใต้สถิติการวิ่งเพรสซิ่งที่เข้มข้นดังที่กล่าวไปในข้างต้น โบโลญญ่า ยังคงเป็นทีมที่เสียฟาวล์มากที่สุดใน กัลโช่ เซเรีย อา ฤดูกาลนี้ โดยมีการขยายความเพิ่มเติมว่า "นักเตะพวกเขาไม่ลังเลที่จะตัดเกมหรือเสียฟาวล์" นอกจากนี้ยังมีสถิติการเข้าปะทะต่อเกมเฉลี่ยถึง 17.86 ครั้ง (อันดับ 3 รองจาก เอ็มโปลี และ โคโม่) ... การพยายามตัดบอล เตะทิ้ง และตัดฟาวล์ ถือเป็นกลยุทธ์ที่ โบโลญญ่า เลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เพราะพวกเขาเป็นทีมที่เน้นเล่นในแดนคู่ต่อสู้ ดังนั้นหากพวกเขาปล่อยให้อีกทีมเล่นง่าย ๆ การเพรสซิ่งของพวกเขาก็จะกลายเป็นดาบสองคมทันที

แม้พวกเขาจะลงสนามด้วยการมีทัศนคติแบบทีมใหญ่ แต่ในจังหวะที่ต้องเล่นแบบทีมเล็กเพื่อเอาตัวรอด พวกเขาก็ไม่เคอะเขิน และพร้อมจะทำมันอย่างไม่ลังเล 

เหนือสิ่งอื่นใด ที่น่าสนใจ และเราได้รับความเห็นจากเพจ I am Anya หรือ "หมอแก้ว" ที่เป็นหนึ่งในแฟนคลับอินเตอร์ มิลาน และคร่ำหวอดกับการดูฟุตบอลอิตาลีมานาน ได้อธิบายความเป็นเครซี่แก๊งของ โบโลญญ่า ต่อว่า 

"โบโลญญ่า เป็นทีมที่รับมือยากยิ่ง  เพรสซิ่งดุ เข้าเร็ว เข้าหนักทุกจังหวะ  ทั้งฉุดรั้ง กางแขน ใช้ท่อนแขนฟาด สร้างสงครามประสาทแบบไม่ให้อีกฝ่ายได้หยุดพักหายใจ" เขาใช้ประโยคนี้อธิบายถึงลายเซ็นของ โบโลญญ่า แต่ก็ไม่ลืมที่จะทิ้งประเด็นให้ผู้เขียนตามต่อ และเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า 

"ประเด็นนี้ควรขยายไปที่มายด์เซ็ตลีกด้วยครับ เจอปัญหาหมดเลยเวลาทีมเล็กใส่หนัก ๆ ผู้ตัดสิน​ค่อนข้างผ่อนปรน" 

ซึ่งเมื่อเราไปดูไฮไลต์เกมนัดชิงขนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ที่ โบโลญญ่า ชนะ มิลาน 1-0 และคอมเม้นต์ของแฟน ๆ มิลาน ในโซเชี่ยลแล้ว มันก็ค่อนข้างเข้าเค้า เพราะแฟน มิลาน บ่นเรื่องการเล่นแรงแบบเอาถึงเจ็บของ โบโลญญ่า เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีหลายคอมเมนต์ที่บอกว่า กรรมการไม่ทันเกม หรือเป่ามั่วอีกด้วย 

ประเด็นนี้จึงน่าติดตาม ซึ่งหากจะวิเคราะห์ตามที่กล่าวมา เราอาจจะบอกได้ว่า การปล่อยให้ทีมเล็กไล่เตะทีมใหญ่เป็นพิเศษนั้น อาจจะเกิดขึ้นเพราะการเข้าปะทะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทีมเล็กจะใช้เอาชนะทีมใหญ่ในทุก ๆ ลีกอยู่แล้ว 

หรือแม้กระทั่งในแมตช์ที่ทีมใหญ่มาเป็นทีมเยือน ทีมเล็กมักเล่นในบ้านด้วยความฮึกเหิม กรรมการอาจปล่อยให้เกมไหลต่อมากขึ้นเพื่อรักษาความต่อเนื่องของเกม ... มันอาจจะเป็นเรื่องปกติ หรือไม่ใช่การลำเอียงหรือเปล่าเข้าข้างอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกตก็ได้ ? แต่อย่างไรเสีย การวิเคราะห์ที่ดี ก็ควรหาเรื่องมาเหตุผลให้กับท้งสองมุม 

แล้วมุมของการเป่าแบบปล่อยทีมเล็กให้เล่นแรงล่ะ มีเหตุผลอะไรมายืนยันได้บ้าง ?

The Athletic เคยเขียนบทความเรื่องเกี่ยวกับผู้ตัดสินอิตาลี เมื่อปี 2023 ว่า ในเกมที่นาโปลีแพ้ทีมเล็กบางทีมคาบ้านตัวเอง กรรมการปล่อยให้คู่แข่งเล่นหนักหลายครั้งโดยไม่มีใบเหลือง

ขณะที่ Corriere dello Sport มีบทความที่ยิ่งตรงจุดกับที่เราพยายามหาเหตุผล เพราะพวกเขาบอกว่า "โบโลญญ่า เป็นทีมที่มีอัตราการฟาวล์สูงมาก แต่ได้ใบเหลืองต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยลีก"

ต้นขั้วทั้ง 2 ฉบับที่อ้างมามีการอธิบายบางอย่างตรงกันที่บอกว่า ผู้ตัดสิน เซเรีย อา มีคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอและมักมีการตีความกฎกติกาที่แตกต่างกันในแต่ละเกม ซึ่งนำไปสู่ความสับสนและผลการแข่งขัน 

แต่เมื่อเราค้นจากสถิติของผู้ตัดสินใน เซเรีย อา ฤดูกาล 2024-25 ก็ได้พบว่า ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนในจำนวนการฟาวล์หรือใบเหลืองที่ผู้ตัดสินแจกให้กับทีมเล็กหรือทีมใหญ่ ซึ่งบ่งชี้ว่าในเชิงสถิติ ผู้ตัดสินไม่ได้มีแนวโน้มที่จะผ่อนปรนต่อทีมเล็กมากกว่าทีมใหญ่มากนัก 

เพียงแต่ว่าบทวิเคราะห์และความคิดเห็นจากสื่ออิตาลีหลายแห่ง ได้สะท้อนถึงความไม่สม่ำเสมอในการตัดสิน ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าทีมเล็กได้รับการผ่อนปรนมากกว่าทีมใหญ่ในบางสถานการณ์ ... และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ฟุตบอลแบบเครซี่แก๊งของ โบโลญญ่า ถูกติดปีกให้อันตรายมากขึ้น และกลายเป็นทีมที่มีความเฉียบคมในเชิงกลยุทธ์ของนักเพรสซิ่งอันดับ 1 ของลีกได้ จนนำไปสู่การเป็นแชมป์บอลถ้วยของพวกเขาในซีซั่นนี้ 

แน่นอนว่าการเล่นแรงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ทีมใดทีมหนึ่งไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้ และ โบโลญญ่า ก็เช่นกัน พวกเขาไม่ควรถูกติติงว่ามาถึงจุดนี้ได้เพราะความป่าเถื่อน  

ความจริงคือพวกเขาค่อย ๆ ประกอบร่างและต่อยอดขึ้นมาเรื่อย ๆ การเลือกโค้ชที่ถูกคน การหมุนเวียนเปลี่ยนนักเตะที่ยอดเยี่ยม แม้เสียตัวหลักไป แต่ก็ยังเปลี่ยนแกนในส่วนต่าง ๆ ของทีมให้ตอบโจทย์เชิงกลยุทธ์ได้ดีเหมือนเดิม 

และเหนือสิ่งอื่นใด ทัศนคติของการเอาชนะ และความเสียสละตนตั้งแต่สนามซ้อมของ โบโลญญ่า ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกสิ่งใดมาลดทอนความยอดเยี่ยมนี้ของพวกเขา 

ถ้ามีทีมใดจะสร้างทีมจากเล็กให้เป็นใหญ่ เราสามารถพูดได้ว่าแนวทางของ โบโลญญ่า ถือเป็นต้นแบบที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว 

 

แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/2024%E2%80%9325_Bologna_FC_1909_season
https://www.corrieredellosport.it/news/calcio/serie-a/bologna/2025/04/10-139852520/il_bologna_ti_toglie_il_respiro_la_statistica_che_la_avvicina_alle_big_d_europa
https://football-italia.net/thiago-motta-praised-bologna-fourth/
https://assoanalisti.it/analisi-tattica-come-gioca-il-bologna-match-analysis-di-vincenzo-italiano/
https://www.ultimouomo.com/atalanta-bologna-0-1-analisi-tattica-vittoria-storica-vincenzo-italiano

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ