Feature

‘โค้ชด้านจิตใจ’ กับ แรงผลักดันที่นักเตะทุกคนควรมีก่อนลงสนาม | Main Stand

ผลงานในสนาม คือ คำตอบที่ชัดเจนที่สุดสำหรับการเตรียมตัวและความพร้อมของตัวนักเตะ ถ้าคุณทำผลงานได้ดี คุณคือผู้เล่นที่สุดยอด แต่ถ้าคุณทำมันไม่ได้ละ มันเกิดขึ้นจากอะไร ? และ ใครกันที่ควรจะช่วยคุณ? 

 


คำตอบก็คือ โค้ชด้านจิตใจ หรือ MIND COACH บุคคลผู้ทำงานอยู่เบื้องหลังและเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของนักเตะต่างๆ ผู้ที่ให้ แนวคิด หลักการปฏิบัติ และคำแนะนำมากมาย สำหรับเรื่อง ในใจนักเตะ

MIND COACH โค้ชด้านจิตใจ คือ อะไร มีบทบาทอย่างไร  ติดตามพร้อมกันกับ Main Stand

 

วันที่ไม่อยากลุกจากเตียง

การมี ประสิทธิภาพรอบด้าน ของนักเตะนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจาก หัวหน้าโค้ช / ผู้จัดการทีม ล้วนแต่อย่างเดียว เราจะเห็นได้ว่ามีสโมสรมากมายที่ทำการจ้างงาน โค้ช ผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทางในด้านต่างๆ อย่างเช่น โค้ชลูกนิ่ง หรือ โค้ชกองหน้า เพื่อที่จะมาพัฒนาจุดบกพร่องและเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปของนักเตะพวกเขา 

ซึ่งทาง สตีฟ ซัลลิส หรือ โค้ชด้านจิตใจ ผู้ที่เคยร่วมงานกับ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้, เอเอฟซี วิมเบิลดัน, ทีมชาติอังกฤษชุด U21 และผู้เล่นมากมายใน พรีเมียร์ลีก ได้เคยกล่าวไว้ว่า

“เราทุกคนต่างมีวันที่เราไม่อยากไปทำงานทั้งนั้นแหละ เพราะ เราคือมนุษย์”

“นักเตะบางคนอาจจะตื่นขึ้นมาและรู้สึกว่า วันนี้เขาไม่พร้อมเลย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในหัวของแฟนบอล เพราะพวกเขาคาดหวังและต้องการให้นักเตะนั้นมีสภาพที่พร้อมอยู่เสมอและตลอดเวลา ทั้งเรื่อง เทคนิค การเล่น ร่างกาย หรือ สภาพจิตใจ”

การพูดคุย คือ เครื่องมือสำหรับการเปิดโอกาสให้กับตัวเอง…นี่คือจุดเล็กๆ ที่ส่งผลระยะยาวต่อนักเตะต่างๆ และก็เป็นจุดเล็กๆ ที่หลายๆคนมองข้ามซะด้วย

“ ถ้า ผู้เล่นหรือโค้ช ไม่ได้มีประสบการณ์ที่ดีหรือมากพอ มันจะส่งผลให้การรับรู้ต่างๆของพวกเขาอยู่ในระดับที่ ค่อนข้างต่ำ”

“เราเลยเลือกที่จะโฟกัสไปที่ สิ่งที่ดูธรรมดาที่สุด นั่นก็คือ การพูดคุยและรับฟัง”

“การที่คุณพูดมากขึ้น มันมอบโอกาสและช่องทางต่างๆให้กับคุณ แต่มันก็จะมีบางที ที่ทั้งตัวผู้เล่นหรือโค้ชเอง ไม่สามารถพูดทุกอย่างที่พวกเขาตั้งใจจะสื่อออกไปได้ และนั่นคือ ต้นตอของปัญหา ดังนั้น การเรียนรู้และการเข้าใจ คือ หนึ่งปัจจัยที่สร้างความแตกต่างภายในสนาม”

 

ทุกปัญหาไม่ควรมองข้าม

ฟุตบอลในยุคสมัยนี้ คือ การเล่นตามแผนและแท็คติกที่วางไว้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่นักเตะ ต้องทำ มันออกมาให้ได้และดีที่สุด เพราะมันคือความตั้งใจและสิ่งที่ผู้จัดการทีมมากมายต้องการ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณคือนักเตะที่ไม่ดี ถ้าคุณทำมันไม่ได้ เพราะมันมีลายละเอียดอีกมากมายที่ต้องถูกทบทวนและแก้ไข้ อย่างเช่น ทำไมคุณถึงไม่เล่นตามแผน? คุณรู้สึกหวาดกลัวหรือเปล่า? หรือ คุณลืมไปแล้วว่าเป้าหมายของทีมคืออะไร? นี่คือสิ่งต่างๆที่ โค้ชด้านจิตใจ มุ่งเน้นจะช่วยเหลือนักเตะต่างๆ…จุดสำคัญที่ ผู้จัดการทีม อาจจะมองข้ามไป

ตัวอย่างเช่นการทำงานของ แดน อับราฮัม หรือผู้ที่เคยทำงานร่วมกับสโมสร เอเอฟซี บอร์นมัธ และ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด…หน้าที่ของเขานั้นคือ การทำความเข้าใจกับสิ่งที่นักเตะนึกคิด และ การทำงานกับสต๊าฟโค้ชท่านอื่นๆ เพื่อออกแบบรูปแบบการซ้อมต่างๆ ที่มีผลต่อสภาพจิตใจของนักเตะ ซึ่งเขาเคยได้กล่าวไว้ว่า

“ เวลาที่เราออกแบบการซ้อมต่างๆนั้น เราจะเน้นไปที่การซ้อมของ สมาธิ, การควบคุมตัวเอง, ความมั่นใจ, การสื่อสาร, การเล่นร่วมกัน หรือ การเป็นผู้นำ และอื่นๆ…นี่คือปัจจัยสำคัญที่ควรปลูกฝังในตัวนักเตะและการซ้อมต่างๆ สิ่งพวกนี้จะทำให้พวกเรารับรู้ถึง ปัญหาหรือจุดที่ควรพัฒนาต่อไปของนักเตะเราได้”

มากไปกว่านั้น เมื่อนักเตะรับรู้และเข้าใจว่า ทุกการพัฒนา เกิดขึ้นจาก สิ่งที่พวกเขาคิด นั้น จะเป็นสิ่งที่ส่งผลให้กับนักเตะพวกนี้มีความได้เปรียบและเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างมาก เพราะถ้าหากในสมองของคุณกำลังบอกคุณว่า คุณทำมันไม่ได้หรอก…คุณก็จะไม่มีทางทำมันได้ หรืออย่างที่ แดน อับราอัม เคยกล่าไว้ว่า

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ นักเตะ รู้สึกคิดมาก หรือ มีข้อกังขา กับตัวเอง…มันจะมีการตอบสนองทางเคมีทั้งใน สมองและร่างกายของพวกเขา และมันส่งผลกระทบไปถึงสิ่งที่อยู่ด้านนอกจิตใจของนักเตะอย่างมาก”

ซึ่งหนึ่งในหลักการสำหรับการจัดการปัญหาและการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาเหล่านี้ นั้นก็คือ การจำลองภาพในหัว ซึ่งมันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบสำคัญ ได้แก่  

1. จำลองภาพก่อนเกมส์   

( ถ้าคุณมองเห็นภาพตัวเองทำได้ดีในสนาม นั่นจะทำให้คุณลงไปเล่นด้วย ความมั่นใจและลดอาการเครียด ลงได้ ) 

2. จำลองภาพแท็คติกที่จะต้องเล่น

( สิ่งนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจและจินตนาการถึงการซ้อมได้ โดยที่ไม่ต้องลงไปในสนาม ) 

3. จำลองภาพช่วงบาดเจ็บ

( ถึงแม้ว่าคุณจะได้รับอาการบาดเจ็บมาอย่างรุนแรง การนึกถึง กระบวนการรักษา และ ภาพของคุณกลับไปลงเล่นในสนาม คือ แรงใจสำคัญที่ช่วยให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น )

 

ทำงานผสานแท็กติกที่ลงตัว

ในโลกฟุตบอลหรือในลีกระดับสูง แฟนๆ ต้องการและคาดหวังให้ผู้เล่นของพวกเขานั้นมีทุกอย่างที่ นักเตะคุณภาพ ควรจะต้องมี 

ไม่ว่าจะเรื่องการส่ง การจับบอล การยิง หรือสภาพร่างกาย ซึ่งนั้นก็เชื่อมโยงกับการ บริหารความเครียดและการรับมือต่อสถานการณ์ภายใต้ความกดดันต่างๆ ที่นักเตะทุกคนล้วนจะต้องนึกคิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการ การฝึกสมรรถภาพทางจิต คือ หลักการที่ส่งเสริมให้นักเตะสามารถรักษาฟอร์มและสภาพจิตใจของพวกเขาได้ตลอดทั้งฤดูกาล การฝึกอย่างเช่น การทำสมาธิ หรือ การซ้อมความไวปฏิกิริยาของนักเตะ นั้น คือ แนวทางที่จะช่วยให้พวกเขา อยู่กับปัจจุบัน ขจัดสิ่งรบกวน และ  ตัดสินใจได้ดีขึ้น ในสนาม 

การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น ล้วนต้องมาจาก การปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงและความสม่ำเสมอ นั่นคือหลักการที่ทาง โค้ชด้านจิตใจ ต้องทำการบ้านและวางแผนการซ้อมออกมาให้มี ประสิทธิภาพและส่งผลต่อนักเตะมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการที่จะเสริม ความเป็นผู้นำ ให้กับนักเตะ คุณต้องทำให้เขารับรู้และรู้สึกถึง ภาวะการเป็นผู้นำ ผ่านรูปแบบการซ้อมของคุณ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเล็กๆ อย่างเช่น การซ้อมที่หลากหลาย การพัก หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ โค้ชด้านจิตใจ และ นักเตะ เข้าใจถึงปัญหาและพร้อมที่จะหาทางแก้ไข้ผ่านกิจกรรมต่างๆในการซ้อมของพวกเขา

แล้วการซ้อมแบบไหนกันละ? ที่จะทำให้เราเห็นถึง สิ่งที่นักเตะมัก คิด ปัญหา และจุดที่ต้องพัฒนาต่อๆไป

ซึ่งการซ้อมรูปแบบนึงที่สามารถโชว์ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น นั้นก็คือ การซ้อมการขึ้นเกมแบบ 3 คน ตาม คริส โอแฮร์ โค้ชด้านจิตใจของทัพ บียาร์เรอัล ที่เคยกล่าวไว้ว่า

“การส่งเสริมผู้เล่นให้คำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆในสนาม เป็นเรื่องที่ สำคัญ มาก…ซึ่งการซ้อมง่ายๆเลยก็คือ การขึ้นเกม 3 คน และการเติมพื้นที่ว่างเมื่อมีโอกาส”

“การฝึกซ้อมรูปแบบนี้ คือ การให้นักเตะนั้นรู้ถึงหน้าที่ของตัวเองเวลาที่พวกเขาได้ทำการเติมเกมส์ และ ก็ทำให้เราได้รู้ถึง การพัฒนาทางด้านบุคลิก และ การสื่อสารที่เกิดขึ้นบนสนามระหว่างผู้เล่น ได้อย่างดี”

อีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ชี้วัดความสำเร็จของ โค้ชทางด้านจิตใจ คือ การการร่วมงานของ รีส์ เนลสัน กับ  มาร์ค โบว์เดน ในช่วงปี 2022 ตอนที่ตัวนักเตะมีสัญญายืมตัวกับสโมสร เฟเยนูร์ด ซึ่งในช่วงเวลาก่อนที่พวกเขาจะเริ่มทำงานด้วยกันนั้น ทางด้าน รีส์ เนลสัน เอง ทำผลงานได้ไม่ได้ดีนัก หลังทำไปได้แค่ 1 ประตู กับ 1 แอสซิสต์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 

แต่หลังจากที่ พวกเขาทั้งคู่ได้เริ่มทำงานด้วยกัน ผลงานของตัวนักเตะนั้น เรียกได้ว่า พลิกผันไปในทางที่ดีมากๆ เพราะ เขาสามารถพัฒนาตัวเองและฝากผลงานไว้ที่ 6 แอสซิสต์ 3 ประตู ได้รับสัญญาฉบับใหม่กับ อาร์เซน่อล และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่พา เฟเยนูร์ด เข้ารอบชิงชนะเลิศสำหรับรายการ ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ในฤดูกาลที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะวัดว่า สิ่งไหนคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อนักเตะมากที่สุด คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและไม่ตายตัว เพราะ โลกฟุตบอลสมัยใหม่ นั้น เต็มไปด้วย ข้อมูลและสถิติมากมาย ที่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดปัจจัยภายนอกต่างๆของนักเตะได้ แต่เรื่อง สภาพจิตใจของนักเตะ นั้น ก็คือเรื่องที่ ไม่ควรถูกมองข้าม และ สมควรได้รับการผลักดัน ให้เป็นสิ่งที่ สโมสรต่างๆ ควรจะให้ความสำคัญ เพราะ ทุกความสำเร็จ ของสโมสรที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ล้วนมาจาก ตัวนักเตะ ของพวกเขาเอง ที่พร้อมจะเล่นเพื่อตราที่อยู่ตรงหัวใจ

 

คนกลัวไม่ต้องยิง คนยิงต้องไม่กลัว

ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปี 2008 ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึง ความสามารถ ของโค้ชด้านจิตใจที่ทัพปีศาจแดงให้ความสำคัญ หลังจากที่พวกเขาสามารถเอาชนะสโมสร เชลซี ได้ในการชิงชนะเลิศถ้วย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จากการยิงลูกโทษที่ต้องลุ้นกันอย่างสุดมัน 

และแน่นอนอยู่แล้วว่า การยิงจุดโทษ นั้น คือ สิ่งหนึ่งที่กดดันที่สุด สำหรับนักฟุตบอลทุกคน ยิ่งถ้าคุณต้องยิงมันต่อหน้า แฟนบอลมากมาย ที่คาดหวังกับลูกโทษที่สามารถเปลี่ยนชะตาสโมสรของคุณได้ นั้นยิ่งทำให้ คุณรู้สึกว่าโลกทั้งใบนั้นอยู่บนตัวคุณเลย

ซึ่ง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เอง ก็คือ หนึ่งในผู้ที่ถูกเลือกให้มาสังหารจุดโทษ…ถึงแม้ว่า สุดท้ายแล้ว เขาจะเตะมันไม่เข้า แต่มันแสดงให้เห็นว่า เขานั้น มีความมั่นใจและพร้อมที่เผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ ตามหลักการ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม ที่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่ต้องการจะผลักดันและส่งเสริม แนวคิดบวก ที่นักเตะทุกคนของเขา ควรจะได้รับ มัน…เขาได้นำ โค้ชด้านจิตใจ เขามาพัฒนาในเรื่องของการ ยิงจุดโทษ โดยเฉพาะ แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับ เทคนิคตรงเท้า แต่เป็น ข้างในหัวและใจของนักเตะ เหล่านั้น

ซึ่งสิ่งที่พวกเขาได้ฝึกฝนและเรียนรู้นั้น มันเริ่มต้นจากการที่ พวกเขาต้องออกความเห็นและความรู้สึกต่อการยิงจุดโทษ ซึ่งนักเตะส่วนมากก็จะมี แนวคิดเชิงลบ ก่อนที่พวกเขาจะถูกเลือกเสียอีก พวกเขาส่วนใหญ่จะมีความคิดที่ผูกมัดกับตัวเอง ที่ว่า พวกเขาจะยิงมันไม่เข้าหรอก และนั้นก็ได้เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป เมื่อ โค้ชด้านจิตใจ จะแนะนำและให้นักเตะทุกคนคิดว่า “เราคือคนที่ใช่สำหรับการยิงจุดโทษนี้ ทุกอย่างที่เราฝึกซ้อมมา จะต้องเห็นผล และบอลลูกนี้จะพุ่งเข้าไปที่ก้นตาข่าย”  

มันอาจจะฟังดูเหมือนหลักการที่ซ้ำซากและไม่น่าได้ผล แต่ ความคิด คือ หนึ่งกุญแจสำคัญที่สามารถเพิ่ม คุณภาพของนักเตะ ทุกคนได้ และในขั้นตอนสุดท้าย นั้นก็คือ การลงมือทำและฝึกซ้อม ซึ่งทางนักเตะจะเริ่มจากการ ยิงจุดโทษ แบบไม่มีผู้รักษาประตูก่อน เพื่อที่พวกเขาจะสามารคงเทคนิคและแนวคิดต่างๆให้คงที่ก่อน และหลังจากนั้นค่อยเพิ่ม ผู้รักษาประตู หรือ เสียงเชียร์ของแฟนๆ เพื่อที่จะให้นักเตะนั้นรู้สึก คุ้นชิน และะพร้อมจะรับมือกับสถานการณ์จริง

มากไปกว่านั้น การแนะนำหลักการ วิสัยทัศน์อุโมงค์ [ Tunnle Vision ] ก็เป็นอีกหนึ่งรายละเอียดที่จะช่วยให้นักเตะโฟกัสกับแค่ จุดที่จะยิงบอล เสียงนกหวีดจากผู้ตัดสิน และ ลูกยิงของนักเตะที่จะเป็นประตู เพราะหลักการความคิดนี้จะช่วยให้นักเตะมุ่งมั่นไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นและอยู่ข้างหน้าพวกเขาเท่านั้น พวกเขาจะสามารตัดสิ่งรบกวนมากมายภายในหัวของพวกเขาออกไปได้ และนั้นก็คือหนึ่งในสาเหตุว่าทำไมนักเตะอย่าง ซีเนดีน ซีดาน, ฟรานเชสโก้ ต็อตติ หรือ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ถึงถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้สังหารจุดโทษที่ดีที่สุดในโลก


แหล่งอ้างอิง :

https://theathletic.com/5359534/2024/03/28/football-mental-coaching/?source=user_shared_article
https://www.isspf.com/the-power-of-soccer-psychology-developing-the-power-of-the-coaching-mind/
https://bleacherreport.com/articles/149527-where-football-meets-psychology-what-the-mind-coach-taught-cristiano-ronaldo

Author

กฤตภาส นิลแสงงาม

สวัสดีครับผม "KING" เอง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ