Feature

วิทยาศาสตร์การกีฬา เหงื่อ และความเชื่อมั่น รู้จัก "ราก" ของฟุตบอลเกาหลีใต้ | Main Stand

การบุกไปเสมอเกาหลีใต้ถึงบ้านอาจจะทำให้แฟนบอลไทยหลายคนคาดหวังถึงการเอาชนะทัพโสมขาวในเกมที่เรากลับมาเล่นในบ้าน

 

อย่างไรก็ตามโลกแห่งความจริงมันกลับกลายเป็นอีกเรื่อง เกาหลีใต้ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาอยู่ในจุดที่ห่างไกลกับทีมชาติไทยแค่ไหน

และเรื่องนี้ไม่เคยเป็นเรื่องบังเอิญ มันเป็นเรื่องราวของ "รากฐาน" ที่พวกเขาสร้างมาหลายสิบปี ... รากของฟุตบอลเกาหลีใต้ คือสิ่งที่ร้อนแรงและเร้าใจเกินกว่าที่พวกเขาจะเสียแต้มให้ไทย 2 เกมติดต่อกัน

รู้จักรากของฟุตบอลเกาหลีใต้กับ Main Stand ที่นี่

 

ประเทศดี ฟุตบอลดี

หากใครได้อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องการเติบโตของร่างกายคนเกาหลีใต้ที่ Main Stand ได้ออนแอร์ ไปหลังเกมที่เสมอกัน 1-1 คุณคงจะพอเข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงมีต้นทุนด้านร่างกายที่ดีมาก ๆ มันเกิดจากการพัฒนาของประเทศ การแบ่งสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง เช่นการทำให้เด็ก ๆ ในวัยเจริญเติบโตได้กินอาหารดี ๆ มีกิจกรรมให้ทำแบบเติบโตสมวัย

บทความที่เกี่ยวข้อง >> DNA หรือ สร้างเอง : แข้งเกาหลีใต้เริ่มตัวใหญ่จนชาติเอเชียจนไม่ยุบได้ยังไง ? | Main Stand

ขณะที่ในส่วนของประเทศเกาหลีใต้นั้น ความเจริญของประเทศ ก็เป็นบ่อกำเนิดของศักยภาพหลาย ๆ ด้านตามมา รวมถึงเรื่องฟุตบอลด้วย
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยการเริ่มต้นของการพัฒนาในอุตสาหกรรมต่างๆ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และเมื่อประเทศมีเงินหมุนเวียนมากพอ พวกเขาก็จัดสรรงบประมาณไปให้กับกีฬา ไม่ใช่แค่ให้เก่งและมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่กีฬายังเป็นตัวเร่งในการส่งเสริมลัทธิชาตินิยมและการยอมรับทางวัฒนธรรม

ฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬาที่ทำแบบนั้นได้ เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่สร้างเสริมสุขภาพ สร้างความบันเทิง และมีรายได้ ดังนั้นฟุตบอลจึงเป็นกีฬายอดนิยมของเกาหลีใต้ อันดับ 2 รองจาก เบสบอล ชนิดทีหายใจรดต้นคอในทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นของการผลักดันฟุตบอลจริงจังเกิดขึ้นหลังการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1988 เพราะหลังจากโอลิมปิกครั้ง สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ ได้งบประมาณจากรัฐบาลมาผลักดันฟุตบอลในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างลีกฟุตบอลที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ส่วนหลัก ๆ แล้วคือการเพิ่มองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเรื่องของแท็คติกและเทคนิคการเล่น แน่นอนว่าพวกเขาไม่ลืมที่จะปลูกฝังเรื่องการสร้างร่างกายอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือการกินอาหารหรือที่เรารู้จักกันในปัจจุบันคือ "วิทยาศาสตร์การกีฬา" นั่นเอง

ความเป็นชาตินิยมทำให้คนเกาหลีใต้จำนวนมากให้การสนับสนุนฟุตบอลลีกในประเทศ เมื่อคนดูเยอะสโมสรก็มีรายได้มาจ้างนักฟุตบอลมากขึ้น นั่นเป็นเหตุให้ฟุตบอลเคลีก เป็นลีกที่มีค่าจ้างนักเตะสูงที่สุดในแถบเอเชีย (จนกระทั่งลีกตะวันออกกลางเริ่มลงทุน) ดังนั้นนักเตะที่สามารถก้าวขึ้นมาเล่นลีกอาชีพได้จะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความมุ่งมั่นที่พวกเขาต้องจ่าย นั่นทำให้พวกเขามีทรัพยากรมนุษย์ (นักเตะ) ขึ้นมาให้เลือกใช้งานได้มากมายนับตั้งแต่การพัฒนาอย่างจริงจังหลังปี 1988

อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น เมื่อประเทศดีอะไรก็ดี เกาหลีใต้ ปรับตัวตามโลกโลกาภิวัตน์พวกเขาเชื่อมโยงกับส่วนต่าง ๆ ของโลกมากขึ้น นำไปสู่แนวคิดและการพัฒนาแบบใหม่ ๆ รวมถึงแนวทางของฟุตบอลด้วย

 

ร่างกายดี ยอมเสียเหงื่อแลกเกียรติยศ

ในช่วง 20-30 เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬานั้นลงล็อกกับไลฟ์สไตล์ของชาวเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเกิดเทรนด์เรื่องมาตรฐานความดูดี ที่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ๆ ในสังคม พวกเขาให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ รูปร่าง หน้าตา ทิ้งความหล่อเท่ในอุดมคติแบบยุคเก่าลงอาทิ ร่างกายที่ผอมบางตัวเล็ก ผิวสีซีด เปลี่ยนมาเป็นความหล่อเท่ หรือความงามของร่างกายฉบับคนยุคใหม่ที่ต้องออกกำลังกาย มีความฟิตเพื่อสร้างมัดกล้าม หรือหุ่นแบบ "คนสุขภาพดี"

ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกและการเปิดรับมาตรฐานความงามที่หลากหลายมากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย แม้กระทั่งดารานักแสดงหลายคนก้ยังหันมาดูแลสุขภาพร่างกาย ยกตัวอย่างเช่นพระเอกขวัญใจชาวเกาหลีใต้อย่าง ลี บยอง ฮุน (แสดงเรื่อง Squid Game) ที่โด่งดังตั้งแต่อายุ 20 ปี ก็เล่าผ่านประสบการณ์ของเทรนด์ชาวเกาหลีใต้ที่เปลี่ยนไปว่า

ตอนที่เขาอายุ 20 ปี และเป็นดารา เขายังมีไขมันส่วนเกินในร่างกายแทบทุกส่วน แต่ปัจจุบันในวัย 40 ปี ตัวของเขาต้องกลับมาออกกำลังกายหนักมากแบบที่ไม่เคยหนักขนาดนี้มาก่อนในชีวิต เพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้อยู่ในวงการบันเทิงยุคปัจจุบัน ซึ่งในวัย 40 ปี บยองฮุน เต็มไปด้วยมัดกล้าม และถ้าเอารูปมาเทียบกันจะพบว่าตอนนี้เขาดูหนุ่มกว่าตอนอายุ 20 ปี ด้วยซ้ำไป

เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ กับเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลก ทุกคนย่อมต้องหมุนตาม ไม่ใช่แค่ดาราเท่านั้น เรื่องนี้มันยังสะท้อนกลับมาที่เรื่องของฟุตบอลเกาหลีใต้ด้วย "การเสียเหงื่อ" ถือเป็นพื้นฐานที่นักเตะเกาหลีใต้ทุกคนต้องยอมสละเพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ดีขึ้น นั่นคือร่างกายที่แข็งแกร่ง สภาพจิตใจที่มุ่งมั่น และพลังปอดที่เพิ่มศักยภาพในการทนทานความเหนื่อยได้มากขึ้น

คนในวงการที่เข้ามามัดและขมวดปมทุกอย่างให้เป็นมัดเดียวกันคือ กุส ฮิดดิงค์ กุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ ชุดฟุตบอลโลกปี 2002 ... ชาวดัตช์ผู้นี้เขามาคุมทีมพร้อมด้วยมาตรฐานใหม่ที่ฟุตบอลเกาหลีใต้ต้องยกระดับขึ้นมาตามเขาโดยไม่มีข้อแม้ และปรัชญาการทำงานของเขาคือ "เหงื่อและความเชื่อมั่นในตนเอง"

ประการแรก ฮิดดิงค์ เข้ามาและงัดกับสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ทันที โดยเขาบอกว่าถ้าอยากจะกำจัดจุดอ่อนหรือปมด้อยของนักเตะเกาหลีใต้ให้สิ้นซาก ทุกคนต้องเชื่อเขา และยืนยันว่าสิ่งที่จะตามมาคือ "ความฟิต" และ "ความสามัคคี" เพราะเขาบอกว่าในฐานะที่มีโลกมองข้าม 2 สิ่งนี้สำคัญที่สุดในการต่อกรกับทีมที่เก่งกว่ามาก ๆ

กุส ฮิดดิงค์ ของบประมาณสำหรับโค้ชฟิตเนสเพิ่มให้กับทีมชาติเกาหลีใต้ชุดใหญ่ ตั้งแต่ก่อนฟุตบอลโลก 2002 จะเริ่ม โดยที่เขาบอกยืนยันว่าเขาจะแสดงให้เห็นว่าร่างกายที่ฟิตจริง ๆ มันเป็นอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ ณ ตอนนั้นในสายตาคนไทยเราก็มองว่าเกาหลีใต้นั้นถือว่าเป็นชาติที่ฟิตที่สุดในเอเชียอยู่แล้ว ... แต่ฮิดดิงค์ จะพามันไปอีกขั้น

เขาบอกว่าแต่ก่อนนักเตะอาจจะวิ่งเยอะเพราะความมุ่งมั่นที่อยากจะชนะ แต่ในยุคของเขาทุกคนต้องวิ่งเยอะได้จากร่างกายและพลังปอดที่แข็งแรงขึ้น เขาใช้เวลา 2 เดือน พานักเตะทีมชาติเกาหลีใต้ชุดฟุตบอลโลก 2002 ที่ ณ ตอนนั้นค้าแข้งในประเทศถึง 16 คน เล่นในเจลีกอีก 5 คน และมีแค่ 2 คนเท่านั้นที่เล่นในยุโรป (อาห์น จุง หวาน และ โซล กี ฮยอน) มาถึงจุดที่เขาเรียกว่า "ความฟิตสูงสุด" ซึ่งภายหลังเป็นกุญแจสู่อันดับ 4 ของพวกเขา (หลับตามองข้ามเรื่องการตัดสินไปข้างหนึ่ง)

ฮิดดิงค์ เรียกร้องสารพัดเพื่อไปในสิ่งที่คนเกาหลีใต้ยังไม่เคยสัมผัสด้วยตัวเอง มีการปรับอาหารการกินให้เหมาะกับผู้เล่นแต่ละคนโดยเฉพาะ มีการตรวจชั่งน้ำหนักกันเสมอ ใครที่ไม่ผ่านเกณฑ์ จะต้องออกจากทีม เพราะเขาเชื่อว่ามีคนมากมายที่รอต่อคิวยอมเสียเหงื่อและทุ่มแรงใจแรงกายเพื่อรับเกียรติยศครั้งนี้ ...

นี่คือโมเดลที่เป็นจุดเริ่มต้นพาฟุตบอลเกาหลีใต้ไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง เพราะหลังจากนั้นการว่าจ้างโค้ชและผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านฟิตเนสส์ และวิทยาศาสตร์การกีฬา กลายเป็นส่วนสำคัญในทุก ๆ ทีม ไม่ว่าจะในทีมชาติและสโมสร ยิ่งประกอบกับเทรนด์ของคนทั้งประเทศที่ต้องดูแลร่างกายให้ดูแข็งแรงเเล้ว เกาหลีใต้ จึงมีจุดแข็งที่เรื่องของร่างกายชัดมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อร่างกายแข็งแรงพอ พละกำลังถึง ไม่ว่าจะพวกเขาจะเล่นด้วยเเท็คติกแบบไหน นักเตะก็มีศักยภาพพอที่จะไปถึงทั้งนั้น

 

เชื่อมั่นในตัวเองเเละเพื่อนร่วมทีม

นอกจากความฟิตแล้ว สิ่งที่เป็นรากของฟุตบอลเกาหลีใต้ในยุคใหม่คือเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเองและเพื่อนร่วมทีม ซึ่งแน่นอนว่ามันเริ่มจากฟุตบอลโลกปี 2002

ในตอนนั้น กุส ฮิดดิงก์ กล่าวผ่านสื่อว่าเขาไม่เคยสงสัยในเรื่องทักษะและพรสวรรค์ของนักเตะเกาหลีใต้ แม้จะมีอะไรต้องพัฒนากันในเรื่องฝีเท้า แต่สิ่งที่ต้องเริ่มทำเป็นอย่างแรกเลยคือ 1. เรื่องของฟิตเนสและพละกำลังดังที่เราได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ และ 2. เรื่องความเชื่อมั่นในตัวเองและเพื่อนร่วมทีม

กล่าวคือเมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับทีมที่เก่งกว่า ห้ามถอดใจและแพ้ตั้งแต่ก่อนเริ่มแข่ง ทำให้ตัวเองดูตัวใหญ่กว่าคู่แข่งเสมอเอาสิ่งที่ดีที่สุดของตัวเองมาเป็นแรงผลักดันในการเอาชนะในการดวล นอกจากนี้คือการอยู่ร่วมกันและเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมทีม ซึ่งการขยับ การช่วยกันในสนามของนักเตะเกาหลีใต้ จะช่วยเป็นทางเลือกให้เพื่อนที่มีบอลอยู่กับตัวและกำลังดวลกับคู่แข่งที่แกร่งกว่า มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นในการเอาชนะการดวล

"ถ้าเอาชนะกองหลังที่เก่งมาก ๆ ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ... คุณต้องใช้การเล่นเป็นทีมเข้าช่วย คุณต้องมองหาเพื่อนร่วมทีมที่ไว้ใจได้" โซล คี ฮยอน จากทีมชุดปี 2002 กล่าวและแนวคิดนี้สะท้อนมาถึงทีมชุดปัจจุบันด้วย

คุณจะได้เห็นการทะเลาะกันของ ซน ฮึง มิน และ อี คัง อิน ในเอเชี่ยน คัพ ราวกับว่าทีมของพวกเขาจะแตกแล้วด้วยซ้ำ แต่เมื่อทัวร์นาเมนต์จบลง ต่างฝ่ายต่างเปิดใจคุยกัน พวกเขาก็กลับมาสามัคคีกันอีกครั้ง ซน ฮึง มิน ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเขาเกือบจะประกาศเลิกเล่นอยู่แล้วหลังจากจบเอเชี่ยน คัพ แต่เขาทิ้งความฝันและความมุ่งมั่นที่จะทำให้คนทั้งประเทศมีความสุขไม่ได้ เขาจึงเปลี่ยนใจและกลับมาแก้ตัวอีกครั้งเพื่อทดแทนความเสียใจของแฟน ๆ ที่เกิดขึ้นในทัวร์นาเมนต์ก่อนหน้านี้

ขณะที่ อี คัง อิน ก้มหัวขอโทษแฟนบอลและแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันว่าเขารู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป จากนั้นเขากลับมาลงเล่นเป็นตัวจริงในเกมเยือนทีมชาติไทยที่ราชมังคลากีฬาสถาน ... เขาแอสซิสต์ให้ ซน คู่กรณียิงประตู จากนั้นทั้งคู่ก็กอดกัน พร้อมกับบทสัมภาษณ์หลังเกมว่าทั้งคู่ยังคงเชื่อมั่นในกันและกัน เพื่อทำให้ทีมประสบความสำเร็จในอนาคต

เกาหลีใต้ เริ่มจากการเป็นรองพวกเขาอาจจะสู้ด้วยทักษะและพรสวรรค์ไม่ได้ แต่พวกเขายังมีพละกำลังและการเล่นแบบสามัคคีกันทั้งทีมเป็นจุดเเข็ง จนตอนนี้พวกเขาสู้กับทีมไหนบนโลกนี้ก็ได้ ... รากฐานเหล่านี้ นำไปถูกต่อยอดในอีกหลาย ๆ เรื่องจนเกาหลีใต้ ดูห่างไกลจากชาติอื่น ๆ ในเอเชียไปไม่มากก็น้อย และถ้าเรามองถึงการพัฒนาของพวกเขา เราเองก็น่าจะได้ประโยชน์พอสมควร

พวกเขามีรากจากความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่น ... แล้วรากของเราในตอนนี้คืออะไร? ถ้าเรามีแล้วเราควรจะต่อยอดแบบไหน และถ้าเรายังไม่มีถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะหาราก เพื่อให้ฟุตบอลไทยยืนต้นอย่างยั่งยืนให้ได้หลังจากนี้ ไม่ใช่การหวังแบบเกมต่อเกม ... ชนะทีก็เชื่อมั่นกันที เพราะสิ่งเหล่านี้ถ้าคุณมีตั้งแต่ก่อนเริ่มแข่งทุก ๆ เกม มันจะช่วยให้คุณเป็นผู้ชนะได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แบบที่เกาหลีใต้เป็นอย่างแน่นอน

 

แหล่งอ้างอิง

https://theathletic.com/5175044/2024/01/19/japan-korea-scouting/
https://www.linkedin.com/pulse/rise-football-most-popular-sport-south-korea-sporting-dominic-roy
https://interestingkorea.com/physical-100-what-makes-the-show-so-popular-in-korea-and-beyond/
https://www.theguardian.com/football/2002/jun/24/worldcupfootball2002.sport2
https://www.koreanculture.org/korea-information-sports
https://www.statista.com/topics/6860/professional-men-s-sports-in-south-korea/#topicOverview
https://www-tandfonline-com-christuniversity.knimbus.com/doi/full/10.1080/17430437.2020.1807516

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น