Feature

ประวัติศาสตร์กินไม่ได้ : เมื่อทีมชาติเยอรมันทิ้ง adidas ซบ Nike เพราะปากท้อง | Main Stand

ทีมชาติเยอรมันกับชุดแข่งขันจากแบรนด์ adidas คือหนึ่งในของคู่กันและเป็นซิกเนเจอร์ระดับคลาสสิกสุด ๆ ในวงการฟุตบอล ด้วยระยะเวลานานกว่า 70 ปี 

 


อย่างไรก็ตาม ทุกงานเลี้ยงต้องมีการเลิกรา เรื่องนี้ทุกคนรู้ดี แต่การบอกเลิกกับ adidas และไปอยู่กับแบรนด์คู่แข่งอย่าง Nike เช่นนี้ ... ไม่ธรรมดาแน่

ทำไม เยอรมัน จึงตัดสินใจสะบั้นรักเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้าน ? นี่คือเรื่องราวจาก Main Stand

 

adidas กับ เยอรมัน เริ่มยังไง ? 

ก่อนจะไปถึงวันที่ทีมชาติเยอรมันเป็นหนึ่งเดียวกับ adidas เราขอย้อนกลับไปในวันที่ adidas กลายเป็นแบรนด์คู่บ้านคู่เมือง เริ่มต้นจุดกำเนิดของพวกเขากันก่อน 

เรื่องราวต้องย้อนไปสมัยหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 1924 กันเลย ณ เวลานั้นมีชายคนหนึ่งชื่อ อดอล์ฟ หรือ อาดิ ดาสเลอร์ ได้เริ่มผลิตรองเท้ากีฬาคู่แรกของเขาเองในห้องซักผ้าภายในบ้าน 

จากนั้นก็เกิดเป็นความชอบและพยายามจะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นอาชีพ จนกระทั่งได้จังหวะดีที่พี่ชายของเขา รูดอล์ฟ ดาสเลอร์ ได้รับการปลดประจำการจากกองทัพ พวกเขาจึงมีความคิดที่จะเปิดร้านทำรองเท้า เพื่อสร้างเป็นอาชีพของตัวเอง

ทั้งคู่เริ่มจากการดัดแปลงพื้นที่ในบ้านของตัวเองให้ค่อย ๆ กลายเป็นโรงงานส่วนตัวขึ้นมา เขาเปลี่ยนครัวของแม่ให้กลายเป็นโซนตัดเย็บและประกอบ จากนั้นต่างคนก็ช่วยกันขยายกิจการมาเรื่อยจนกลายเป็นแบรนด์รองเท้ากีฬาที่ชื่อว่า ดาสเลอร์ ตามนามสกุลของพวกเขา 

หลังจากนั้นพี่น้อง ดาสเลอร์ ก็ได้รับสิทธิบัตรฉบับแรกในการผลิตรองเท้าสตั๊ดคู่แรกของโลก หลังจากนั้นผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเริ่มแทรกซึมเข้าไปในกีฬากรีฑา ก่อนที่ชื่อเสียงจะเริ่มขจรขจายในโอลิมปิก ปี 1936 ที่เบอร์ลิน เมื่อ เจสซี่ โอเว่นส์ นักกีฬาชาวอเมริกันผิวดำ ที่พี่น้องดาสเลอร์ไปกล่อมจนยอมใส่รองเท้าของพวกเขา คว้า 4 เหรียญทอง กลายเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้รองเท้าของพวกเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

แม้ความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง ดาสเลอร์ ทำให้ต่างคนต่างแยกกันมาทำแบรนด์ของตัวเอง โดย รูดอล์ฟ ผู้พี่ ออกมาตั้งแบรนด์ใหม่ในชื่อ Puma เมื่อปี 1948 ก่อน อดอล์ฟ หรือ อาดิ จะสร้าง adidas ที่พวกเรารู้จักกันขึ้นมาในปี 1949 แต่ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ อาดิดาส เริ่มกลายเป็นสัญลักษณ์ของทีมชาติเยอรมันแล้ว

 

adidas = ทีมชาติเยอรมัน 

หลังจากสร้างแบรนด์ขึ้นมาจนได้รับความนิยมระดับประเทศ จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในปี 1950 โดยในยุคนั้นชื่อเสียงจากรองเท้าทำมือที่พิถีพิถัน ทำให้นักเตะระดับแถวหน้าของประเทศเยอรมันหลายคน สั่ง "คัสตอม" รองเท้าสตั๊ด โดยให้ adidas เป็นลงมือตัดเย็บและผลิตขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่านอกจากเรื่องของฝีมือการทำที่สุดยอดแล้ว เยอรมัน ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูง พวกเขาพร้อมจะสนับสนุนแบรนด์สายเลือดเดียวกัน ดีกว่าที่จะต้องใช้ของจากประเทศอื่น ๆ 

ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อนักฟุตบอลดัง ๆ ยังต้องให้ adidas ทำรองเท้าให้ มีหรือที่มันจะไม่เกิดกระแสไปทั่วประเทศ และอาจจะส่งต่อไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย ...  ช่วงยุค 1950s นั้น นักเตะไม่ว่าจะดังน้อย ดังมาก ต่างอยากจะได้สตั๊ดจาก adidas ทั้งนั้น 

ซึ่งนั่นทำให้ เดเอฟเบ ได้จ้าง adidas สร้างรองเท้าสตั๊ดสำหรับทีมชาติเยอรมันขึ้นมาสำหรับใช้ลงเล่นในฟุตบอลโลกปี 1954 โดยเฉพาะสตั๊ดรุ่นพิเศษที่มีปุ่มสตั๊ดยาวกว่าเดิม ที่ถูกสวมใส่ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งวันนั้นสภาพสนามเป็นโคลนจากฝนที่ตกก่อนเกม และในภายหลัง สตั๊ดรุ่นนี้ถูกเรียกว่ารุ่น "World Champion" (รุ่นเเชมป์โลก) ... ด้วยรองเท้าสตั๊ดจาก adidas เยอรมัน (ตะวันตก) สามารถคว้าเเชมป์โลกสมัยแรกได้สำเร็จ 

โจเซฟ "เซ็ปป์" แฮร์แบร์เกอร์ (Josef "Sepp" Herberger) กุนซือทีมชาติเยอรมันชุดเเชมป์โลก ยอมรับเรื่องคุณภาพของรองเท้าจาก adidas เป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่เขาประกาศต่อหน้าสื่อหลังจากคว้าแชมป์โลกอย่างยิ่งใหญ่ว่า "ดาสเลอร์ คือผู้อยู่เบื้องหลังแชมป์โลกของทีมชาติเยอรมันครั้งนี้"

สิ่งที่ตามมาจากนั้นคือรองเท้าสตั๊ดของ adidas ขายได้ถึง 450,000 คู่หลังจาก เยอรมัน ได้แชมป์โลกปี 1954 ปรากฏการณ์นี้ทำให้ อาดิดาส กลายเป็นรองเท้าที่นักเตะระดับแถวหน้าของยุคนั้นเลือกใช้กันทั้งหมด ถึงขั้นที่ว่ากันว่าในช่วงปลายยุค 1950s ต่อยุค 1960s อย่างน้อย ๆ ต้องมีนักเตะที่ใส่สตั๊ดของ adidas ลงสนามในทุก ๆ เกมของฟุตบอลโลกช่วงนั้น 

เราแทบไม่ต้องพูดอีกแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นจากนั้น adidas กลายเป็นแบรนด์สปอร์ตแวร์ทรงอิทธิพลของโลก และทีมชาติเยอรมัน เป็นเหมือน "หุ่นลองเสื้อ" ของพวกเขาในทุกทัวร์นาเมนต์

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อาดิ ดาสเลอร์ ก็กลายเป็นหนึ่งในคนสำคัญของ เดเอฟเบ (สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน) และเขาเชื่อว่าถ้าอาดิดาส จะผลิตเสื้อฟุตบอลให้กับทีมชาติไหนสักชาติ ชาตินั้นก็จะต้องเป็นเยอรมันเท่านั้น เพราะเชื่อว่าเสื้อที่ดีที่สุด ย่อมเหมาะสมกับทีมฟุตบอลที่เก่งที่สุดนั่นเอง

เพราะหลังจากตีตลาดรองเท้าแตกจนฮิตไปทั้งโลก adidas ก็เริ่มเข้าสู้ตลาดเสื้อผ้าชุดกีฬา ในช่วงปี 1962 และหลังจากนี้นี่แหละ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทั้ง adidas และ ทีมชาติเยอรมัน เลยก็ว่าได้ 

อาดิ ดาสเลอร์ มองว่าชุดวอร์มของทีมฟุตบอลทีมชาติเยอรมันนั้นดูไม่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นเขาจึงคิดว่าเขาสามารถทำในสิ่งที่ทำให้โลกจดจำเอกลักษณ์ของทั้ง อาดิดาส และทีมชาติเยอรมันไปพร้อม ๆ กันได้ 

เสื้อของทีมชาติเยอรมัน ที่ลงเล่นในรายการต่าง ๆ ไม่ว่าจะในระดับชิงแชมป์ยุโรป หรือชิงแชมป์โลก ที่ผลิตโดย adidas ล้วนมีความเป็นไอคอน หรือกลายเป็น "ของแรร์" ในเวลานี้ เนื่องจาก เยอรมัน เป็นทีมที่เก่งมากในเรื่องของฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ มักจะไปได้ถึงรอบลึก ๆ ตลอด

ดังนั้นจึงมีคำกล่าวกันว่า "เมื่อเยอรมันสวมเสื้อสีขาวของ adidas ลงสนาม คู่แข่งของพวกเขาก็แพ้ไปครึ่งตัวแล้ว" สิ่งนี้ยืนยันได้ด้วยดาวบนโลโก้ทีมชาติเยอรมันทั้ง 4 ดวง ซึ่งหมายถึงเเชมป์โลก 4 สมัย และทุกครั้ง adidas มีส่วนร่วมกับทีมอินทรีเหล็กไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็น "คู่แล้วไม่แคล้วกัน" ของทั้งทีมชาติเยอรมัน และ adidas ได้เป็นอย่างดี และไม่น่ามีอะไรแยกทั้งคู่จากกันได้ ยกเว้นเสียแต่สิ่งเดียวที่สร้างปัญหาให้กับทุกเรื่องในโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องฟุตบอล ... นั่นคือเรื่องของ "เงิน" นั่นเอง

 

เงินมา ... ผ้าหลุด ? 

หากจะพยายามเขียนเรื่องราวให้ซาบซึ้งตรึงใจ มันคงจะเป็นอะไรที่เว่อร์เกินเหตุ เพราะการปิดตำนานของคู่พันธมิตรอย่าง ทีมชาติเยอรมัน และ adidas ที่มีความสัมพันธ์มานานกว่า 70 ปี (จะยุติลงตอนสิ้นปี 2026) ไม่ว่าจะมองมุมไหนเหลี่ยมไหน มันก็ต้องพูดว่า มีเงินเป็นที่ตั้งของการแยกทางครั้งนี้ทั้งสิ้น 

ประการแรกเลยคือ  ทีมชาติเยอรมัน ก้าวข้ามการเป็นสมบัติของชาตินานแล้ว พวกเขาคว้าเเชมป์โลก 4 สมัย มีนักเตะเก่ง ๆ มากมาย มีวัฒนธรรมฟุตบอลที่เป็นเอกลักษณ์ และวิธีการเล่นที่แตกต่างเฉพาะตัว สิ่งเหล่านี้ทำให้ทีมชาติเยอรมัน มีแฟนบอลอยู่ทั่วโลก และแบรนด์ของพวกเขาก็แข็งมาก ดังนั้นเมื่อมันเป็นแบรนด์ระดับขึ้นหิ้ง ผลิตหรือทำอะไรออกมาก็มีแต่คนตามหา และอยากได้มาครอบครอง จึงไม่ใช่ adidas แบรนด์เดียว ที่อยากดูและเรื่องชุดแข่งขันให้กับทีมชาติเยอรมันอย่างแน่นอน 

แล้วจะมีแบรนด์ไหนที่หาญกล้ามางัดทีมชาติเยอรมันออกจากอกของ adidas ได้อีก นอกจากคู่แข่งเบอร์ 1 ของพวกเขา แบรนด์สปอร์ตแวร์สัญชาติอเมริกันนามว่า Nike นั่นเอง 

เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามกลไกธุรกิจ นั่นคือทีมชาติเยอรมัน มีสัญญาปัจจุบันกับ adidas ถึงปี 2026 ดังนั้นเมือเวลาใกล้มาถึง ก็จะเป็นช่วงการมองหาสปอนเซอร์ใหม่ ที่จะเข้ามาสนับสนุนทีมชาติ ซึ่งมีการเปิดซองประมูล ว่าจะมีแบรนด์ไหนให้เงินสนับสนุนมากกว่า 

หากคุณกำลังมองว่าทีมชาติเยอรมัน ทิ้งความเป็นชาตินิยมฉบับชาวด๊อยซ์ แค่เรื่องเงินอย่างเดียวเท่านั้นจริง ๆ หรือ ? คำตอบคือ "ใช่" และถ้าคุณเห็นจำนวนเงิน และความแตกต่างที่ adidas ยื่นข้อเสนอ กับ Nike ยื่นข้อเสนอ เชื่อว่าไม่ว่าใครก็ต้องมีหวั่นไหวกันทั้งนั้น 

โดยทาง adidas ยื่นซองประมูลเงินสนับสนุนอยู่ที่ปีละ 50 ล้านยูโร (ราว 1,950 ล้านบาท) ขณะที่ Nike นั้นเปิดตัวเลขมาแบบว้าวซ่า 007 ของแทร่ เพราะพวกเขาให้เงินสนับสนุน เดเอฟเบ ถึง 100 ล้านยูโรต่อปี (ปีละราว ๆ 3,915 ล้านบาท) ห่างกันแบบครึ่ง ๆ ... ซึ่งแน่นอนว่ามันคือความต่างมหาศาล แม้แต่ เดเอฟเบ ก็วิเคราะห์ออกมาแล้วว่า จำเป็นต้องเลือก Nike ด้วยเหตุผลที่ดีที่สุดในแง่ของเศรษฐกิจ 

"การเซ็นสัญญาเป็นผู้สนับสนุนชุดแข่งของ ไนกี้ กับพวกเราในอนาคตนั้น เป็นผลมาจากขั้นตอนการประกวดราคาที่โปร่งใสและไม่เลือกปฏิบัติ ไนกี้ ได้ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด และเราประทับใจกับวิสัยทัศน์ของพวกเขา รวมถึงความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการสนับสนุนวงการกีฬาสมัครเล่นและระดับรากหญ้า ตลอดจนการพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงในเยอรมนี" โฮลเกอร์ บลาสก์ กรรมการผู้จัดการ เดเอฟเบ กล่าว

เรียกว่าการเสียทีมชาติเยอรมัน ออกจากอ้อมอกแบบนี้ adidas ต้องมีร้อน ๆ หนาว ๆ กันบ้างในเรื่องของตัวเลขทางธุรกิจ เนื่องจากพวกเขาเองก็เคยมีประวัติการเสีย "ไอค่อน" ให้กับคู่แข่งมาเเล้ว อาทิ ในปี 2022 ที่ adidas ยุติสัญญากับ คานเย่ เวสต์ ศิลปินฮิปฮ็อปและแฟชั่นนิสต้าตัวพ่อของวงการ ผู้ทำให้รองเท้า adidas รุ่น Yeezy ดังเป็นพลุแตก (แม้สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมของคานเย่เอง ที่ไปโพสต์เหยียดชาวยิวรัว ๆ บนโลกออนไลน์ก็ตาม) เหตุการณ์นั้น ทำให้ตัวเลขรายรับของ adidas ก็ดิ่งฮวบลงไปด้วย

เรียกได้ว่าการย้ายข้ามฟากหนนี้ สะเทือนไปทุกวงการ และทุกหย่อมหญ้าของชาวเยอรมัน เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ณ เวลานี้เลยก็ว่าได้ และแม้แต่แวดวงการเมืองยังต้องขอมีซีนกับเขาด้วย

โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ คาร์ล เลาเตอร์บาช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงขั้นกล่าวในสภาเลยว่า เดเอฟเบ กำลังทรยศบ้านเกิดตัวเองและไม่สำนึกรักชาติที่ยอมจำนนให้กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระบบทุนนิยมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นการแหกขนบแบบที่ไม่เคยมี และไม่มีใครคิดมาก่อน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องยอมรับคือ โลกทุกวันนี้มันเป็นทุนนิยมไปหมดแล้ว กระแสของโลกมันเป็นเช่นนั้น และการที่คุณจะแข็งขืนยืนต้านกระแสที่โหมกระหน่ำเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้านพายุทอร์นาโด ไม่แคล้วที่ต้นไม้จะผุกร่อนเสียหาย จนอาจถึงขั้นหักหรือโดนพายุทำลายไปเลย 

แต่ถ้าคุณโอนอ่อนไปตามกระแส แต่ยังคงความเป็นตัวเองเอาไว้ เลือกแต่สิ่งที่เป็น “แก่น” จริง ๆ คุณก็จะอยู่รอดได้ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม 

จริงอยู่ที่อาจจะไมได้ใช้แบรนด์เยอรมัน แต่ทีมชาติเยอรมันก็ยังมีขนบ ธรรมเนียม และแนวคิดหลายอย่างที่พวกเขาซ่อนไว้ในทีมฟุตบอลของพวกเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคน รักและชื่นชอบในความเป็นทีมชาติเยอรมัน ไม่ว่าพวกเขาจะใส่ชุดของแบรนด์ไหนลงสนามก็ตาม 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.highsnobiety.com/p/germany-football-adidas-nike/
https://theculturetrip.com/europe/germany/articles/the-next-big-berlin-trend-adidas
https://www.footyheadlines.com/2020/11/germany-adidas-only-boot-rule-is.html#google_vignette
https://www.washingtonpost.com/business/2024/03/21/germany-nike-adidas-gear/bf4bdfce-e7a0-11ee-9eba-1558f848ec25_story.html
https://www.france24.com/en/live-news/20240322-berlin-says-german-fa-lacks-patriotism-for-dropping-adidas-1
https://time.com/6224899/adidas-kanye-west-antisemitism-nazis/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ