ในขณะที่บุคลากรใน พรีเมียร์ลีก ต่างต่อต้านการกลับมาของ เมสัน กรีนวู้ด นักเตะของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เคยใช้ความรุนแรงกับแฟนสาวจนเป็นคดีความใหญ่โต
ใน ลาลีกา กลับยินดีต้อนรับเขา ที่ตอนนี้ไปค้าแข้งกับ เกตาเฟ่ ในสัญญายืมตัว ถึงขั้นที่ ฮาเวียร์ เตบาส ประธานลา ลีกา ยังบอกว่า ที่นี่พร้อมให้โอกาสกับเขาเสมอ เพราะที่สเปน "พวกเราให้ความเคารพกระบวนการทางกฎหมาย" เขาว่าแบบนั้น
นั่นนำมาสู่เรื่องของความสงสัยว่า แท้จริงแล้ว "คนดี" หรือ "กฎหมาย" อะไรคือสิ่งที่ แมนฯ ยูไนเต็ด หรือ ชาวอังกฤษ ยึดถือเป็นอันดับแรกกันแน่ ?
ทำไมการเล่นให้ แมนฯ ยูไนเต็ด หรือทีมในอังกฤษอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องยากมากมายแตกต่างจากที่สเปนคนละขั้วขนาดนี้
ติดตามที่ Main Stand
เรื่องที่คนไทยอาจจะไม่เข้าใจ
เรื่องคดีของ เมสัน กรีนวู้ด หากสรุปให้จบในบรรทัดเดียวคือ เขาใช้ความรุนแรงและคุกคามทางเพศกับ แฮร์เรียต ร็อบสัน แฟนสาวของเขา เรื่องดังกล่าวมีความผิดทางกฎหมาย ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปจากวันที่คลิปหลุดคดีดังกล่าวถูกปล่อยสู่สาธารณะเกือบปี การพิจาณาคดีในชั้นศาลจบลงด้วยแถลงการณ์ที่ว่า "เราขอยืนยันข่าวว่า ชายวัย 21 ปีซึ่งถูกจับกุมและถูกกล่าวหา ได้รับการสอบสวนมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 นั้น จะไม่มีการดำเนินคดีอาญาใด ๆ อีก"
นั่นแปลกว่าเขาพ้นผิดแล้ว น่าจะกลับมาเล่นได้เเล้ว แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกเพราะสิ่งที่เขาทำ คือเรื่องที่อ่อนไหวเป็นอย่างมาก มากเสียจนที่ว่า ต่อให้ แมนฯ ยูไนเต็ด จะต้องการตัวรุกฝั่งขวาอย่าง กรีนวู้ด มากแค่ไหน ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสสังคมได้ นั่นคือเหตุผลที่ กรีนวู้ด ต้องไปเล่นที่ ลาลีกา กับสโมสร เกตาเฟ่ จนถึงตอนนี้
คดีคุกคามทางเพศ เป็นคดีที่อ่อนไหวมากในอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลระดับทีมชาติ ที่เป็นเหมือนตัวอย่างของเยาวชน เป็นบุคคลที่ต้องมีความรับผิดชอบส่วนตัว เพื่อสังคมส่วนรวมมากเป็นพิเศษ ดังนั้นเมื่อผิดพลาด พวกเขามีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าคนปกติ
เรียกได้ว่าแค่ แมนฯ ยูไนเต็ด ยังไม่ยกเลิกสัญญา กรีนวู้ด และเลือกเก็บไว้จนวันพิจารณาคดี พวกเขาก็ยังถูกประณามว่าเป็นทีมที่ปกป้องผู้กระทำผิด และมองข้ามความรู้สึกของเหยื่อ ... ย้ำอีกครั้งว่าในช่วงที่มีข่าวโจมตีนี้ กรีนวู้ด และแฟนสาวของเขาคืนดีกันแล้ว และ แฮเรียต ก็ตั้งท้องแล้วด้วย
สื่ออังกฤษ และคนอังกฤษ ซึ่งเป็นชาติที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงมาก ไม่ยอมปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาล เพราะ ศีลธรรมอันดี หรือการเป็นคนดี เป็นสิ่งที่สังคมอังกฤษยึดมั่นมาโดยตลอด หลักฐานคือการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติช ที่มีหลายขั้น หลายชั้น เพื่อมอบให้กับคนที่ทำความดี สร้างชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ
ดังนั้นการที่ กรีนวู้ด นักเตะชาวอังกฤษทำเรื่องเสื่อมเสียแบบนี้ ไม่แปลกที่ชาวอังกฤษ ที่ถูกเรียกว่า "แดนผู้ดี" จึงต้องหน้าบาง ไม่สามารถรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะมันขัดต่อศีลธรรมอันดีที่เหล่าบรรพบุรุษของพวกเขายึดถือกันมา
ตรงนี้แฟนบอลหลายคนก็สงสัยว่า ในเมื่อศาลบอกไม่ผิด ทำไมถึงไม่มีใครยกโทษให้ กรีนวู้ด และไม่ปล่อยให้นักเตะกลับมามีโอกาสลงเล่นอีกครั้ง มีคำตอบที่ดี และชัดมากอยู่บทความหนึ่ง
เรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นในบทความของ บาร์นีย์ โรเนย์ บรรณาธิการข่าวกีฬาของ The Guardian และยังถูกให้เป็นนักข่าวผู้ทรงอิทธิพลของสื่ออังกฤษ จากการที่เขาเป็นนักข่าวและนักเขียนที่ ไม่ได้เกาะกับแค่เรื่องกีฬาเท่านั้น เพราะเขามักจะสอดแทรกเรื่องการเมืองและสังคมลงไปในงานของเขาเสมอ ซึ่งหากดูดีกรีการศึกษาอาจไม่แปลกใจ เพราะเจ้าตัวเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
โรเนย์ ถึงกับต้องลงมือเองเพื่อบอกว่า ทำไม กรีนวู้ด จึงไม่ได้โอกาสที่ ยูไนเต็ด ในบทความที่ชื่อว่า "Manchester United's lack of moral leadership on Greenwood is depressing" … "ยูไนเต็ด ขาดผู้นำทางศีลธรรม และเรื่องราวของ กรีนวู้ด กำลังทำให้สโมสรต่ำลง"
งานของนักเขียนระดับแนวหน้า ดีกรีนักข่าวแห่งปีของสมาคมแฟนฟุตบอลอังกฤษ ปี 2022 เช่น โรเนย์ คืองานประเภทที่ชี้นำสังคม และเป็นกระจกสะท้อนวัฒนธรรมของชาวอังกฤษได้เป็นอย่างดี และแน่นอนไม่ใช่แค่ "ระดับหัวหน้า" ของ The Guardian ที่ลงมือเองในเรื่องนี้ สื่อเจ้าอื่น ๆ ก็มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง กรีนวู้ด ในทิศทางเดียวกันแทบทั้งนั้น ชัดเจนว่าเรื่องนี้ "การให้อภัยไม่ใช่ทางออก"
กลับมาที่บทความของ โรเนย์ เนื้อความในบทความนี้ยาวมาก แต่โดยสรุปเอาแบบที่เป็นหมัดตรงเปรี้ยงเดียวเข้าใจเลย คือท่อนที่ โรเนย์ อธิบายว่า "การพ้นผิดของ กรีนวู้ด ไม่ได้เกิดขึ้นจากการพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตัวเองต่อศาล 'แต่' เป็นเพราะพยานปากสำคัญของคดีนี้ได้ขอถอนตัวต่อการให้การต่อศาล"
แปลไทยเป็นไทยอีกครั้งคือ "กรีนวู้ด ไม่โดนลงโทษเพราะพยานถอนตัว และความผิดอันร้ายแรงของเขาไม่สามารถลบล้างได้ จนกว่าเขาจะพิสูจน์ตัวเอง" หรือพูดให้เข้าใจง่ายที่สุด คดีของกรีนวู้ดนั้น ไม่ได้ถูก "ตัดสิน" แต่ถูก "ตัดจบ" ... ทุกการกระทำมีราคาต้องจ่าย และนั่นเป็นเหตุผลที่ กรีนวู้ด ต้องไป สเปน เพื่อทำให้เรื่องนี้ซาลงสักพัก หรือไม่ก็เพื่อประวิงเวลารอดูกระแสของสังคมว่าจะมองตัวเขาเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่หลังจากนี้
การพิสูจน์ตัวเองคืออะไร ?
คำว่า พิสูจน์ตัวเอง ที่ชาวอังกฤษและสื่ออยากให้ กรีนวู้ด ทำ คืออะไร ? … คำถามนี้ตอบได้ยากจริง ๆ เพราะไม่มีคำตอบสื่อไหนที่ชัดเจน และในอดีตเราก็ไม่เคยมีตัวอย่างนักเตะคนไหนที่ต้องคดีประเภทนี้แล้วกลับมาโด่งดังถึงขั้นเป็นนักเตะแนวหน้าของอังกฤษได้เลย
การไปอยู่กับ เกตาเฟ่ ช่วยให้ กรีนวู้ด ดูดีขึ้นไหมจากความผิดที่เคยก่อ ? คำตอบนี้เราอาจจะต้องวิเคราะห์กันเอง และแต่ละคนก็มีความคิดที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนว่ามัน "มีโอกาส" ที่จะเป็นอย่างนั้น หากเราลองพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้
การที่ กรีนวู้ด กลับมาเล่นฟุตบอลระดับสูงอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่ในอังกฤษ ก็ทำให้เรื่องราวของเขาปรากฎต่อสาธารณะชนมากขึ้น หากมองกันแบบง่าย ๆ แบบมนุษย์ทั่วไป เมื่อคุณอยู่ในสปอตไลท์ และคุณขยันทำในสิ่งดี ๆ ทั้งในและนอกสนาม เรื่องดังกล่าวก็จะถูกตีแผ่ไปกว้างขึ้น
แน่นอนว่าคนเราชอบข่าวฉาวมากกว่าเรื่องดี ๆ แต่กับเรื่องของ กรีนวู้ด ไม่ว่าจะดีหรือแย่ มันก็เป็นข่าวได้เสมอ เพราะมีคน 2 ประเภทที่คิดถึงเรื่องนี้ของเขา แบ่งเป็นคนที่เห็นใจและอยากให้โอกาสเขาอีกครั้ง กับอีกพวก คือคนที่อยากให้เขาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่พ้นจากการเป็นคนทำผิด อย่างน้อยก็ในสายตาของคนกลุ่มนี้
กรีนวู้ด ทำอะไรบ้างที่สเปน ? ... เขากลับมาเล่นฟุตบอลอย่างมีความสุข ไม่มีปัญหานอกสนาม แฟนสาวของเขาขยันลงรูปในโซเชี่ยลมีเดีย และพยายามบอกว่าครอบครัวนี้มีความสุขแค่ไหนในประเทศสเปน ซึ่งนั่นเป็นภาพสะท้อนอีกทีว่า กรีนวู้ด ไม่จำเป็นต้องพูดให้คนอื่นรู้สึกดีต่อเขาเลยด้วยซ้ำ เพราะแฟนสาวของเขายืนยันด้วยตัวเองว่าทุกอย่างกำลังเป็นไปด้วยดี และเรื่องเก่า ๆ ที่เคยเป็นคดีความไม่ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ว่าง่าย ๆ คือเขาเปลี่ยนไปแล้ว
นอกจากนี้ กรีนวู้ด ยังทำได้ดีมาก ๆ ในแง่ของการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เขาได้รับคำชมเรื่องการเป็นคนที่ขยันขันเเข็ง ทำงานหนักเพื่อทีม จุดนี้เท่ากับว่าเขาได้แสดงว่าตัวเองเป็นนักกีฬาที่ดี
เหนือสิ่งอื่นใดยิ่งกว่านั้น เขายังทำเรื่องที่ถูกจดจำและได้รับคำชมมาก ๆ นั่นคือการ "ให้อภัย" ต่อ จู๊ด เบลลิงแฮม ที่โดนกล่าวหาว่า ล้อเลียนเขาว่าเป็น "ไอ้นักข่มขืน" ในเกมที่ เรอัล มาดริด เจอกับ เกตาเฟ่ ในช่วงต้นปี 2024 ที่ผ่านมา
จริง ๆ เรื่องนี้ ลา ลีกา ต้องการจะเอาเรื่อง เบลลิงแฮม ให้ถึงที่สุด (โดนแบน 10 เกมหากกระทำผิดจริง) มีการพยายามตั้งทีมไต่สวนตามหาความจริงว่าตื้นลึกหนาบางของเรื่องเป็นอย่างไร แต่มีการรายงานว่า กรีนวู้ด ได้ให้ปากคำว่าไม่ต้องการให้มีการลงโทษเกิดขึ้น และจากนี้ตัวเขาจะสนใจแต่เรื่องฟุตบอลอย่างเดียวเท่านั้น
นี่คือแอ็คชั่นที่ กรีนวู้ด ได้รับคำชมมาก ไม่รู้ว่าเขามีกุนซือช่วยตัดสินใจเบื้องหลังหรือไม่ แต่ข่าวนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาดูดีขึ้นมาบ้าง แม้จะเล็กน้อยก็ตาม
จากจุดเปลี่ยนเล็ก ๆ ด้วยการไปประวิงเวลาที่ สเปน ดูเหมือนว่าประกายความหวังของ กรีนวู้ด ในการกลับมาเล่นให้ แมนฯ ยูไนเต็ด เกิดขึ้นอีกครั้ง และเรื่องนี้ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ ผู้ถือหุ้น 25% ของสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นคนพูดเองเลยทีเดียว
ทางแยกวัดใจ
"เขาคือนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด และเราดูแลด้านฟุตบอล ฉะนั้นคำตอบคือ 'ใช่ เราต้องตัดสินใจในเรื่องนี้' กระบวนการคือ ต้องเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ 'กระแส' และพยายามหาจุดที่เราจะตัดสินใจด้วยความยุติธรรมที่สุด โดยคำนึงถึงคุณค่า"
"พูดง่าย ๆ ก็คือ เขาคือคนดีรึเปล่า เขาจะเล่นให้กับแมนฯ ยูไนเต็ดอย่างเต็มที่และจริงใจรึเปล่า พวกเรา (บุคลากรในสโมสร) จะสบายใจรึเปล่าที่มีเขากลับมา, แฟนๆ จะสบายใจรึเปล่าเมื่อเขากลับมา" เซอร์ จิม ว่าแบบนั้น
นี่คือการโยนหินถามทางอย่างแท้จริง ไม่รู้ว่า กรีนวู้ด จะได้กลับมาหรือไม่ แต่คำถามของ เซอร์ จิม กลายเป็นกระทู้ในหมู่แฟนบอล ซึ่งแน่นอนกระแสของแฟนแมนฯ ยูไนเต็ด นั้นเทไปฝั่ง "ดึงตัวกลับมา" มากเป็นพิเศษ
แต่ก็อย่างที่บอก กรีนวู้ด จะต้องเจอกับ "การพิสูจน์ตัวเอง" ซึ่งเราก็ไม่รู้เว่าเขาจะต้องทำแค่ไหน ถึงจะเปลี่ยนแนวทางความคิดหรือกระแสสังคมได้
และแน่นอน คำพูดนี้ของ เซอร์ จิม ไปถึง กรีนวู้ด แล้ว ซึ่งคำตอบที่ได้ออกมาจากจากแหล่งข่าว ก็คือ ต่อให้ ยูไนเต็ดจะสามารถเปิดทางพา กรีนวู้ด กลับมาเล่นให้กับสโมสรได้ และสโมสรจะยืนเคียงข้างนักเตะโดนไม่สนกระแสมวลชน แต่ที่สุดแล้วดูเหมือนว่า กรีนวู้ด เองก็พอเข้าใจภาพกว้าง ๆ ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาแล้ว เพราะคำตอบล่าสุดจากแหล่งข่าวคือ "เขาไม่มีความปรารถนาจะกลับมาเล่นให้กับ ยูไนเต็ด อีกต่อไป"
The Athletic อธิบายเรื่องนี้เพิ่มว่า เขากำลังสนุกกับชีวิตใน มาดริด เขาอยู่ห่างไกลจากสปอตไลท์ โดยมีแฟนสาวและลูกของเขาอยู่ข้าง ๆ เหนือสิ่งอื่นใด แฟนบอลที่นี่รักเขามาก ... ผู้คนที่สเปน ปฏิบัติต่อเขาแตกต่างกับที่อังกฤษ
จุดนี้แสดงให้เห็นว่า กรีนวู้ด เองก็ไม่อยากจะเล่นเกมศีลธรรมอีกแล้ว เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องพิสูจน์ตัวเองแบบไหนเพื่อให้กลับไปค้าแข้งในอังกฤษบ้าง แต่ที่สเปน อย่าว่าแต่แฟน เกตาเฟ่ ที่รักเขาเลย ทีมอื่น ๆ ก็อยากได้ตัวเขาทั้งนั้น เหนือสิ่งอื่นใด แฟนบอลที่นั่นก็ไม่ได้โจมตีเขาตลอดเวลาทั้งในและนอกสนาม ... ตอนนี้เขาพบสัจธรรมที่สเปนแล้ว จะพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิดนัก
สิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนคือ ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา ที่ถึงขั้นออกตัวในฐานะตัวเเทนของฟุตบอลสเปนว่า ตัวเขายินดี หากกรีนวูดจะเล่นในลาลีกาต่อไป
"ผมเป็นนักกฎหมายนะ ถ้ามีใครสักคนถูกตัดสินว่าบริสุทธิ์ ผมก็ไม่มีอะไรจะพูดแล้ว เขากำลังทำได้ดีมากในฐานะนักเตะ และผมหวังว่าเขาจะอยู่ในฟุตบอลสเปนต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรา”
"คุณควรเคารพกระบวนการทางกฎหมาย ผู้คนอาจจะประณามเขาบนหน้าสื่อ แต่คุณต้องเคารพกระบวนการทางกฎหมาย เขาไม่ได้มีความผิดที่สเปนนี่ ดังนั้นผมจึงไม่สนใจที่จะรื้อฟื้นคดีที่เขาเคยมีในอังกฤษ"
เคลียร์ทุกอย่างที่ เตบาส บอก ที่อังกฤษ กรีนวู้ด จะต้องเจอกับคำถามไม่รู้จักจบจักสิ้น แต่ที่สเปน เขากำลังได้รับการต้อนรับตั้งแต่บุคคลระดับผู้บริหารจนถึงแฟนบอล
ดูเหมือนว่าเขากำลังอยู่บนทางแยกวัดใจ และต้องชั่งน้ำหนักว่า เขาเลือกที่จะพิสูจน์ตัวเองให้พ้นผิดในประเทศบ้านเกิดของเขา หรือเล่นฟุตบอลต่อไป โฟกัสกับเกมลูกหนัง เอ็นจอยกับแสงแดด และอาหารสเปนอร่อย ๆ อย่างที่ภรรยาของเขาทำให้เห็น
แมนฯ ยูไนเต็ด ทำงานหนักกับเรื่องนี้แน่ ไม่อย่างนั้น เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ ไม่ออกตัวเองขนาดนี้ ... อย่างไรเสียการเป็นคนดีที่อังกฤษมันยากเสียเหลือเกิน ไม่มีอะไรการันตีว่า กรีนวู้ด จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนเพื่อให้ทุกคนมองว่าเขาพ้นผิดจริง ๆ
และนี่คือทั้งหมดที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้
แหล่งอ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=9Vn6lJlUCBo
https://theathletic.com/5302295/2024/02/28/what-do-sir-jim-ratcliffes-comments-mean-for-mason-greenwoods-man-united-future/
https://www.spectator.co.uk/article/how-did-united-handle-the-mason-greenwood-scandal-so-badly/
https://davidchallen.substack.com/p/mason-greenwoods-return-to-manchester
https://www.theguardian.com/football/2023/aug/21/manchester-uniteds-lack-of-moral-leadership-on-greenwood-is-depressing