Feature

เหตุบนโต๊ะปิงปอง : รอยร้าว ซน ฮึง-มิน กับ อี คัง-อิน ภาพของค่านิยมการใช้ความรุนแรงในสังคมเกาหลีใต้ | Main Stand

ฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ เจอกับเรื่องร้ายอย่างต่อเนื่อง หลังจากพวกเขาจบผลงานในศึกเอเชียน คัพ 2023 ไว้เพียงที่รอบรองชนะเลิศ

 

ทั้งการที่ เยอร์เกน คลินส์มันน์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งกุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ เซ่นผลงานการพาทัพ "โสมขาว" ไปไม่ถึงแชมป์เอเชียน คัพ หนล่าสุด

จนไปถึงเหตุการณ์ที่ถูกสังคมพูดถึงเป็นวงกว้าง นั่นคือเหตุการณ์สองนักเตะดาวดังของทีมอย่าง ซน ฮึง-มิน และ อี คัง-อิน มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันในแคมป์ทีมชาติ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาและกลายเป็นภาพในแง่ลบต่อวงการลูกหนังเกาหลีใต้

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวที่มีการทะเลาะกันจนเกิดความรุนแรงอย่างการทำร้ายร่างกายขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นถึงบางสิ่งบางอย่างที่ถูกฝังรากอยู่ในสังคมเกาหลีใต้มาอย่างยาวนาน

มันคืออะไร ? ติดตามได้ที่นี่ Main Stand

 

เบื้องหลังรอยร้าว

เหตุการณ์การทะเลาะกันจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายระหว่าง ซน ฮึง-มิน กองหน้าตัวชูโรงของทีมชาติเกาหลีใต้ และ อี คัง-อิน ตัวรุกดาวรุ่งน่าจับตา ในแคมป์ทีมชาติช่วงเอเชียน คัพ 2023 ได้ปะทุขึ้นมาเมื่อ The Sun สื่อจอมแฉ ออกมารายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

The Sun ได้รายงานว่าเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในช่วงกินอาหารมื้อเย็นของนักเตะทีมชาติเกาหลีใต้ โดยกลุ่มนักเตะส่วนหนึ่งที่มี อี คัง-อิน เป็นแกนนำ ได้รีบกินอาหารให้หมด เพื่อจะไปใช้เวลาพักผ่อนกับการเล่นปิงปอง

ซน ฮึง-มิน ผู้เป็นแข้งซีเนียร์ของทีม และรวมถึงเป็นกัปตันทีมชาติ รู้สึกไม่โอเคกับการกระทำครั้งนี้ของแข้งรุ่นน้องเหล่านี้ เพราะเขาเห็นว่าช่วงเวลาการกินอาหารบนโต๊ะเดียวกัน คือช่วงเวลาอันดีที่นักเตะทุก ๆ คนในทีม จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก่อนจะต้องลงเล่นเกมสำคัญจากนี้ นั่นคือเกมที่พบ จอร์แดน ในรอบรองชนะเลิศ ของศึกเอเชียน คัพ 2023 จึงเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มนักเตะที่รีบลุกขึ้นไปเล่นปิงปองกลุ่มนี้

ซึ่งนักเตะบางส่วนในกลุ่มก็แสดงความไม่พอใจ เข้าพูดจาไม่ดีใส่ ซน ฮึง-มิน ก่อนจะเกิดการทะเลาะวิวาทกัน และผลที่ออกมาจากการทะเลาะกันครั้งนี้คือ ซน ฮึง-มิน ได้รับบาดเจ็บที่นิ้วมือฝั่งขวา โดยเห็นได้จากการที่เขาต้องพันผ้าไว้ที่นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือขวา ในเกมรอบรองชนะเลิศ ของศึกเอเชียน คัพ 2023 ที่พบกับ จอร์แดน 

ก่อนที่เวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ของสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ (KFA) จะยืนยันว่า เหตุการณ์การทะเลาะกันของนักเตะภายในแคมป์ทีมชาติช่วงเอเชียน คัพ 2023 นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

รวมถึง อี คัง-อิน หนึ่งในกลุ่มนักเตะที่ไปมีเรื่องทะเลาะกับ ซน ฮึง-มิน ในครั้งนี้ ก็ได้ออกมากล่าวคำขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า มีการทะเลาะกันระหว่างนักเตะในแคมป์ทีมชาติเกาหลีใต้

"ผมขอโทษที่ทำให้แฟนบอลของเราต้องผิดหวัง ผมขอโทษจริง ๆ ผมควรจะเป็นผู้นำที่ดี และทำตามคำแนะนำของรุ่นพี่อย่าง ซน ฮึง-มิน ผมขอโทษที่แสดงภาพลักษณ์ที่ไม่ดีออกมา" อี คัง-อิน กล่าวขอโทษผ่านอินสตาแกรม หลังเรื่องราวการทะเลาะวิวาทกันระหว่างนักเตะในแคมป์ทีมชาติเกาหลีใต้ ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน

"ผมตระหนักถึงสิ่งที่แฟนฟุตบอลคาดหวังเสมอ จากนี้ผมจะพยายามทำให้พี่น้องในทีมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น"

นอกจากนี้ รายละเอียดของเหตุการณ์การทะเลาะกัน ของนักเตะภายในแคมป์ทีมชาติเกาหลีใต้ ช่วงเอเชียน คัพ 2023 ยังได้ถูกเปิดเผยออกมาในอีกแง่มุม จากสำนักข่าว Yonhap News ในเกาหลีใต้ โดยรายงานว่า เดิมที อี คัง-อิน และกลุ่มนักเตะส่วนหนึ่ง ได้เล่นปิงปองกันก่อนอยู่แล้ว

จนกระทั่ง ซน ฮึง-มิน และนักเตะคนอื่น ๆ ในทีมอีกส่วนหนึ่ง เดินเข้ามายังห้องอาหาร เพื่อกินอาหารมื้อเย็นร่วมกัน แล้วเป็นตัวของ ซน ฮึง-มิน ที่เข้าไปหากลุ่มนักเตะที่กำลังเล่นปิงปองกัน เพื่อบอกให้พวกเขาช่วยลดเสียงขณะเล่นปิงปองกัน ให้เบาลงหน่อย

แต่ทว่า อี คัง-อิน และกลุ่มนักเตะที่กำลังเล่นปิงปองกัน ก็ไม่ได้เบาเสียงลงตามที่ ซน ฮึง-มิน บอก และนั่นทำให้กัปตันทีมชาติเกาหลีใต้ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจคว้าคอเสื้อของ อี คัง-อิน

ด้าน อี คัง-อิน เลือกตอบโต้ด้วยการชกใส่ ไปโดนนิ้วมือของ ซน ฮึง-มิน กลายเป็นอาการบาดเจ็บที่ทุกคนได้เห็นกันของดาวยิงเกาหลีใต้แห่ง ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์

ก่อนที่เพื่อนร่วมทีมคนอื่นจะเข้ามาพยายามแยกตัว ซน ฮึง-มิน และ อี คัง-อิน ออกจากกัน ซึ่งเวลาต่อมา นักเตะซีเนียร์คนอื่น ๆ ของทีมชาติเกาหลีใต้ ก็เรียกร้องให้ เยอร์เกน คลินส์มันน์ ไม่ส่ง อี คัง-อิน ลงเล่นในเกมรอบรองชนะเลิศ ของศึกเอเชียน คัพ 2023 ที่จะต้องเจอกับ จอร์แดน แต่สุดท้าย คลินส์มันน์ ก็เลือกที่จะส่ง อี คัง-อิน ลงเล่นเป็นตัวจริงในเกมนั้น

ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสามัคคีของนักเตะทีมชาติเกาหลีใต้ชุดนี้ มีรอยร้าวเกิดขึ้น ก่อนที่พวกเขาพลาดท่าแพ้ให้กับ จอร์แดน 0-2 ตกรอบรองชนะเลิศ เอเชียน คัพ 2023

และอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุด้วยก็ได้ นอกจากผลงานการคุมทีม ที่ทำให้ เยอร์เกน คลินส์มันน์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งกุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ เพราะเจ้าตัวแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถควบคุมนักเตะให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การทะเลาะวิวาทกัน จนเกิดเป็นความรุนแรงทำร้ายร่างกายกันระหว่าง ซน ฮึง-มิน กับ อี คัง-อิน มันก็ปรากฏให้เห็นถึงค่านิยมที่อยู่กับสังคมของประเทศเกาหลีใต้ มาเป็นเวลานาน

 

คุ้นชินเป็นปกติ

"ความรุนแรง (Violence)" คำ ๆ นี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า "การใช้กำลังหรืออำนาจโดยเจตนา เพื่อข่มขู่หรือกระทำจริงต่อตนเองหรือบุคคลอื่น ซึ่งส่งผลหรือมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต หรือความอันตรายต่อสภาพจิตใจ ความบกพร่องทางพัฒนาการ หรือความทุพพลภาพ"

ปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยการใช้ความรุนแรงนั้น เป็นวิธีการที่ผู้คนโดยทั่วไปในสากลโลก ไม่สามารถให้การยอมรับได้ แต่สำหรับเกาหลีใต้แล้ว การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันนั้น เป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมของประเทศแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่ทำให้เกิดความบอบช้ำต่อร่างกายหรือต่อจิตใจ

เหตุที่เป็นเช่นนี้ นั่นก็เพราะเกาหลีใต้ คือหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาของ ขงจื่อ นักปรัชญาชาวจีน ที่แพร่กระจายแนวคิดไปทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออก ซึ่งพวกเขาขึ้นชื่อในเรื่องของการทำงานหนักเป็นอย่างมาก

สำหรับชาวเกาหลีใต้แล้ว การทำงานหนักเพื่อพัฒนาตัวเองและเพื่อให้ประสบความสำเร็จกับชีวิต คือความคิดที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของพวกเขามาตั้งแต่กำเนิด

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีใต้ได้เข้าสู่ยุคสร้างชาติใหม่ พวกเขาต่างทำงานกันอย่างหนักจนแทบไม่มีเวลานอน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ และจากประเทศที่ยากจนในช่วงเวลานั้น พวกเขาก็เปลี่ยนประเทศของตัวเองให้กลายเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของทวีปเอเชีย รวมถึงระดับโลก

นอกจากการทำงานหนักแล้ว การทำงานเพื่อให้นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีนั้น ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกันสำหรับชาวเกาหลีใต้

หากทำงานแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากพอ พวกเขาก็จะถูกรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์และความอาวุโสสูงกว่า ต่อว่า ดุด่าอย่างหนัก เลยเถิดไปถึงการถูกทำร้ายร่างกายอย่างเช่น การตบหน้า

ด้วยสังคมที่ยังมีความเป็นระบบอำนาจนิยมสูงของเกาหลีใต้ ทำให้คนที่มีอำนาจและความอาวุโสที่ต่ำกว่า ไม่มีสิทธิ์โต้แย้งหรือเถียงคนที่มีอำนาจและความอาวุโสที่สูงกว่าได้ พวกเขาสามารถทำได้แต่ก้มหน้ารับการลงโทษอย่างเดียว

แต่ทั้งนี้ ชาวเกาหลีใต้ก็เชื่อว่าการต้องเจอกับความยากลำบาก หรือบทเรียนที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอันหนักหน่วงต่อร่างกายและจิตใจ จะช่วยหล่อหลอมให้พวกเขาเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพได้ ด้วยเหตุนี้ การรังแกคนที่อยู่ในจุดที่ต่ำกว่า อ่อนแอกว่า หรือก็คือ การบูลลี่ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในหลาย ๆ แห่งของสังคมเกาหลีใต้ ทั้งภายในครอบครัวกันเอง ภายในโรงเรียน ภายในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในโลกออนไลน์

และอาจกล่าวได้ว่า สังคมเกาหลีใต้ คุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า "ความรุนแรง" อยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถพบเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ ผ่านสื่อบันเทิงต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ในเกาหลีใต้ ที่มักจะมีฉากการทำร้ายร่างกาย ปรากฏออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

"ผู้คนในเกาหลีใต้ มักจะมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง มากกว่าการเจรจาอย่างสันติ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น" ซอง-คอน คิม นักวิชาการชาวเกาหลีใต้ กล่าวกับ koreaherald

"เรามักจะเห็นการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างคนขับรถบนถนนในเกาหลีใต้ หากรถคันไหนคันหนึ่งขับขี่ได้น่ากลัวและอันตราย รถคันอื่น ๆ จะบีบแตรใส่ผู้กระทําความผิดอย่างดุเดือด และขับไล่ตามรถคันนั้นไปจนถึงไฟแดงจุดถัดไป บางคนลงจากรถเพื่อมากระแทกกระจกรถของผู้กระทําความผิด สาปแช่ง ตะโกนใส่คนขับรถคันนั้น"

ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลีใต้ ส่วนมากผู้ใช้ความรุนแรงมักจะเป็นผู้ชาย เพราะระบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ มาตั้งแต่ยุคราชวงศ์โชซอน (ค.ศ. 1392-1897)

จากผลการศึกษาของสถาบันพัฒนาสตรีแห่งเกาหลี ที่ได้ร่วมมือกับ กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นในปี 2021 ผ่านการสำรวจผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ จำนวน 7,000 คน พบว่า 16.1% หรือ 1,127 คน มีประสบการณ์ในการถูกทำร้ายทางร่างกาย ทางเพศ หรือทางอารมณ์ จากฝีมือของคู่รักที่อาศัยอยู่ใกล้ชิด เช่น คู่สมรส หรือคู่รักในปัจจุบันหรือในอดีต

เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ความรุนแรง เป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่กับสังคมเกาหลีใต้มาอย่างยาวนาน และเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถขจัดออกจากสังคมได้อย่างเป็นปลิดทิ้ง แต่ถึงกระนั้น ในอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นสิ่งที่มีส่วนทำให้เกาหลีใต้ พัฒนาผู้คน พัฒนาประเทศ จนกลายเป็นชาติชั้นนำของโลก

ส่วนวงการกีฬาเกาหลีใต้ พวกเขาก็มีเรื่องของการใช้ความรุนแรงเข้ามาพัวพันอยู่ตลอด ผ่านวัฒนธรรมการบูลลี่ที่เป็นปัญหาไม่หมดไม่สิ้นไปจากสังคมเกาหลีใต้ แต่ด้วยความที่ผู้คนในเกาหลีใต้ ต่างคุ้นชินกับเรื่องแบบนี้จนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไปแล้ว จึงมองว่าการบูลลี่นั้นเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้นักกีฬาของชาติพวกเขา แข็งแกร่งขึ้น

 

ความรุนแรงที่เกิดในแวดวงกีฬาเกาหลีใต้

หนทางของวงการกีฬาเกาหลีใต้ ในการจะปั้นนักกีฬาของพวกเขาให้มีคุณภาพ สามารถต่อกรกับนักกีฬาชาติอื่น ๆ และเอาชนะได้ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา เบสบอล, เทควันโด, ฟุตบอล หรืออื่น ๆ นั้นก็คือการให้นักกีฬาฝีกซ้อมอย่างหนัก บีบเค้นให้นักกีฬาต้องกับความยากลำบากแบบสุดขึด ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งการบูลลี่ตัวนักกีฬาผ่านทางนักกีฬาด้วยกันเอง หรือจะเป็นสตาฟฟ์โค้ช ทีมแพทย์ ก็เป็นหนึ่งในหนทางเหล่านั้น

การใช้ความรุนแรงนั้นไม่มีวี่แววว่าจะหายไปไหนเลยในวงการกีฬาเกาหลีใต้ และบางครั้งมันก็ส่งผลทำให้เรื่องราวที่แย่ เรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ดังเช่นกรณีของ ชเว ซุค-ฮยอน นักไตรกีฬาที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เมื่อช่วงปี 2020 เพราะไม่สามารถรับแรงกดดัน และการถูกบูลลี่ด้วยทางวาจาและการทำร้ายร่างกายโดยคนในต้นสังกัดของเธอ 

ซึ่งเรื่องนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนเป็นอย่างมากให้กับวงการกีฬาเกาหลีใต้ และทำให้เกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่า นี่เป็นหนทางในการปลุกปั้นนักกีฬาในชาติด้วยการให้ฝึกซ้อมจนเกินขีดจำกัด ต้องเคารพเชื่อฟังโค้ชและรุ่นพี่อย่างเคร่งครัดโดยไม่มีข้อแม้ และสร้างช่วงเวลาอันยากลำบาก ด้วยการใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกายและจิตใจ เป็นหนทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ?

สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการทะเลาะกันระหว่าง ซน ฮึง-มิน กับ อี คัง-อิน ในแคมป์ทีมชาติเกาหลีใต้ ช่วงเอเชียน คัพ 2023 นั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงทั้งค่านิยมการใช้ความรุนแรงในสังคมเกาหลีใต้ 

และปฎิเสธไม่ได้ว่า การทะเลาะกันในครั้งนี้ของทั้งสอง ได้สร้างภาพลักษณ์ด้านลบต่อตัวของพวกเขาเอง และเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง ในวงการฟุตบอลเกาหลีใต้

 

เรียนรู้ เปลี่ยนแปลง เดินหน้าต่อ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ หลังจากจบศึกเอเชียน คัพ 2023 ก็คือการถูกปลดออกจากตำแหน่งกุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ ของ เยอร์เกน คลินส์มันน์ หลังพาทีมไปไม่ถึงเป้าหมายในการคว้าแชมป์รายการนี้ รวมถึงแนวทางการเล่นของทีมที่ดูจะหวังพึ่งไม่ค่อยได้เท่าไรนัก จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้น

ต่อมา หลังจากที่เหตุการณ์การทะเลาะกันในแคมป์ทีมชาติเกาหลีใต้ ช่วงเอเชียน คัพ 2023 ระหว่าง ซน ฮึง-มิน กับ อี คัง-อิน ถูกเผยแพร่ออกมา ชุน มยอง-กิว ประธานสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ ก็ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ โดยเปิดเผยว่าอาจจะมีบทลงโทษให้กับทั้งสองนักเตะ ด้วยการไม่เรียกตัวติดทีมชาติในโปรแกรมการแข่งขันครั้งต่อจากนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้นักเตะก่อเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

แต่ก็จะต้องมีการพูดคุยหารือเรื่องนี้กับทางกุนซือคนใหม่ของทีมชาติเกาหลีใต้ก่อน ว่าจะเห็นด้วยหรือไปการวิธีการลงโทษนักเตะแบบนี้

"การลงโทษทางวินัยของ อี คัง-อิน และ ซน ฮึง-มิน ทั้งสองคนไม่ได้ค้าแข้งอยู่ในลีกประเทศเกาหลีใต้ ดังนั้นมาตรการทางวินัยที่สามารถทำได้ คือ การไม่เรียกติดทีมในโปรแกรมถัดไป มันเป็นสิ่งที่เราต้องพูดคุยกับกุนซือคนใหม่" ชุน มยอง-กิว ประธานสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ กล่าว

ขณะที่ล่าสุด ซน ฮึง-มิน เขาก็ได้ออกมาโพสต์ทางอินสตาแกรม ขอโทษทุกคนที่เขามีส่วนทำให้เหตุการณ์การทะเลาะกันในครั้งนี้มันเกิดขึ้น พร้อมกับให้อภัยแข้งรุ่นน้อง อี คัง-อิน รวมถึงสัญญาว่าจะเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม

"สวัสดี ผม ซน ฮึง-มิน วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องราวบางอย่างที่ค่อนข้างจะจริงจังสักหน่อย คัง-อิน สำนึกผิดกับการกระทำของเขา และได้ขอโทษนักเตะทุกคนในทีมแล้ว รวมถึงตัวผมเองด้วย

"ตอนที่ผมยังเด็ก ผมเองก็เคยทำเรื่องที่ผิดพลาดมากมาย แต่ผมคิดว่าที่ผมสามารถมาจุดนี้ได้ ก็เพราะคำแนะนำและคำสอนจากนักเตะรุ่นพี่ที่ดี"

"เพื่อป้องกันไม่ให้เขาทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เราทุกคนในทีมชาติเกาหลีใต้ ในฐานะนักเตะรุ่นพี่ และในฐานะกัปตันทีม จะช่วยกันดูแล คัง-อิน เพื่อให้เขาเติบโตเป็นนักเตะที่ดีขึ้น"

"เรื่องที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้เราต้องเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สะท้อนให้เห็นถึงจุดที่ผมยังทำได้ไม่ดีพอ ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก ผมไม่ทำผิดพลาดซ้ำแบบเดิม ผมจะต้องคิดถึงเรื่องของทีมเป็นหลัก และพยายามทำความเข้าใจเพื่อนร่วมทีมให้มากขึ้น"

"คัง-อิน กำลังเผชิญกับเรื่องยากลำบากหลังเกิดเหตุการณ์นี้ ได้โปรดยกโทษให้กับผมในฐานะกัปตันทีมชาติด้วยความกรุณาสักครั้ง เราต้องขออภัยที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา เราจะทำงานให้หนักขึ้น เพื่อทำให้ทีมชาติของเราเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม ในฐานะกัปตันทีม ผมต้องขอโทษอีกครั้งสำหรับเรื่องนี้"

เหตุการณ์การทะเลาะวิวาทจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันในครั้งนี้ของ ซน ฮึง-มิน กับ อี คัง-อิน ได้กลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่สำหรับพวกเขาทั้งสอง ว่าการใช้ความรุนแรง มีแต่จะส่งผลในด้านลบกับทุกฝ่าย

และเป็นเครื่องยืนยันว่า ความรุนแรง ไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ในโลกยุคปัจจุบัน

 

แหล่งอ้างอิง :

https://m-en.yna.co.kr/view/AEN20240214004151315
https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20090527000034
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2652990/
https://sport.trueid.net/detail/9JyjdEb7QyVk
https://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/1056632
https://www.instagram.com/p/C3llyLHKlu9/

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ