Feature

เติบโตแบบ แบร์ดลี่ย์ : เบื้องหลังการสร้างดาวรุ่งฉบับ ลิเวอร์พูล ที่แพชชั่นจัดเต็มเน้นความเป็นมนุษย์ | Main Stand

หาก แมนฯ ซิตี้ ถูกยกย่องให้เป็นทีมที่มีศูนย์ฝึกเยาวชนที่ดีที่สุดในอังกฤษด้วยการเพาะบ่มนักเตะฝีเท้าดี มีชื่อเสียงเป็นวันเดอร์คิดตั้งแต่เด็ก ฝั่ง ลิเวอร์พูล เองก็ควรถูกเรียกว่าทีมที่มีศูนย์ฝึกที่สร้างแม่พิมพ์ให้นักเตะของพวกเขาเป็นคนมีคาแร็คเตอร์ และแพชชั่นกับสโมสรมากที่สุดของอังกฤษเช่นกัน

 


จาก สตีเว่น เจอร์ราร์ด ไล่เรียงมาจนถึง เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ และล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ อย่าง คอนเนอร์ แบรดลี่ย์ ไอหนุ่มวัย 20 ปี ที่ลงเล่นเกมบิ๊กแมตช์กับ เชลซี และผลงานเด่นทะลุเบ้า ยิง 1 แอสซิสต์ 2

พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับการยกย่องในช่วงเป็นนักเตะเยาวชนมากนัก แต่เมื่อสวมใส่เสื้อลิเวอร์พูลชุดใหญ่ ทำไมพวกเขาถึงเล่นแบบเดือดติดไฟได้ในทันที
เราจะพาคุณไปดูแม่พิมพ์ของฝั่งหงส์เเดง พวกเขาสร้างนักเตะประเภทนี้ออกมามากมายด้วยเหตุผลอะไร? ติดตามที่นี่

 

ความรู้คู่กีฬา

หนึ่งในสิ่งที่ต้องชื่นชมอคาเดมี่ของหลายทีมในอังกฤษ คือเรื่องของการผลักดันเรื่องการศึกษาไปพร้อม ๆ กับฟุตบอล นักเตะดาวรุ่งของพวกเขา ซึ่งที่ ลิเวอร์พูล เองก็เป็นเช่นนั้น พวกเขาจริงจังให้สองเส้นทางนี้เดินไปคู่กัน เพราะเชื่อว่าการสร้างคนคือพื้นฐานสำคัญของการสร้างนักกีฬาที่ดี

ลิเวอร์พูล ถึงขั้นที่ต้องแต่งตั้งผู้บริหารเกี่ยวกับเรื่องการเรียนโดยเฉพาะ ดีลครั้งใหญ่เกี่ยวกับผู้บริหารด้านนี้คือสโมสรได้ว่าจ้าง เคตลิน ฮอว์กินส์ อดีตผู้จัดการด้านการศึกษาของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ เข้ามาดูแลเรื่องการศึกษาในทีมอคาเดมี่ของ ลิเวอร์พูล ... ที่สำคัญ เคตลิน คือสเก้าเซอร์พันธุ์แท้ เกิดและโตที่เมือง ลิเวอร์พูล นั่นทำให้เธอปรารถนาที่จะกลับมาเติมเต็มในส่วนที่ทีมขาดหาย ... โดยเธอเริ่มงานในปี 2017 หรือหลังจากที่ เยอร์เก้น คล็อปป์ เข้ามารับงานได้ราว 1 ปีครึ่ง

ถ้าหากถามว่าทำไมต้องจริงจังกับเรื่องการศึกษาขนาดนั้น? เคตลิน ตอบเรื่องนี้เองว่า เพราะการศึกษาไม่ทำให้แค่เด็กเรียนเก่ง แต่การที่พวกเขาสะพายกระเป๋าไปโรงเรียน ไปอยู่ภายใต้กฎต่าง ๆ ของโรงเรียนร่วมกับเด็กอีกหลายร้อยคน คือวิธีการสร้างวินัยในทางอ้อม ถ้าพวกเขาเล่นแต่ฟุตบอล โลกของพวกเขาจะอยู่แค่ในสนามแข่งและสนามซ้อม

แต่ถ้าพวกเขาเรียนหนังสือ... โลกและจินตนาการของพวกเขาจะกว้างไกลในแบบที่ไร้ขอบเขต พวกเขาจะได้เห็นเรื่องอื่น ๆ นอกจากฟุตบอล ซึ่งหลายเรื่องช่วยส่งเสริมให้เป็นนักเตะที่ดีขึ้นได้

การที่นักเตะที่ถูกเรียกว่าวันเดอร์คิด ไปอยู่ท่ามกลางเด็กคนอื่น ๆ ที่อาจจะเล่นฟุตบอลไม่เป็น แต่ก็อาจจะมีจุดเด่นด้านอื่น ๆ ในชีวิต มันทำให้เด็ก ๆ ของสโมสร ลิเวอร์พูล ระลึกอยู่เสมอว่าฟุตบอลไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต และถ้าพวกเขามีความรู้ มีความคิด และมีทัศนคติที่ดี พวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งแน่นอนว่าคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นสามารถผลักดันเสริมส่งความฝันของคุณได้ดียิ่งกว่า ล่องลอยไปแบบไม่มีจุดมุ่งหมายแน่นอน ... ตัวอย่างเรื่องนี้คือ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ นักเตะที่โตมาจากอคาเดมี่และเป็นชาวเมือง ลิเวอร์พูล โดยกำเนิด

"เด็กอย่าง เทรนท์ คือตัวอย่างของเรื่องนี้ เขาคือเด็กที่มีความพิเศษตอนเรียน เรนฮิล ไฮ สคูล เขารู้ถึงคุณค่าของการศึกษา และมีความมุ่งมั่นในแบบนักกีฬา นี่คือนักเรียนตัวอย่างเลยก็ว่าได้ ... เทรนท์ โตพร้อม ๆ กันทั้งในฐานะนักฟุตบอลและคน ๆ หนึ่ง ดังนั้นเขาจึงรับมือการเรื่องที่เกิดขึ้นมากมาย ภายใต้ความกดดันของนักเตะอาชีพได้เป็นอย่างดี" เคตลิน ว่าเช่นนั้น

หลักจริยธรรมของสโมสรคือเด็ก ๆ ต้องเติบโตในฐานะบุคคลก่อน หลังจากนั้นการเติบโตในฐานะนักฟุตบอลจะตามมาเอง

"ถ้าคุณตัดสินพวกเขาจากการเป็นนักฟุตบอลอย่างเดียว คุณอาจจะเสียว่าที่นักเตะที่ดีบางคนไป ... บางครั้ง เราก็ลืมไปพวกเขายังเด็กแค่ไหน พวกเขาอยู่ในวัยที่เรียนรู้ การจัดเอาเด็กไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะทำให้พวกเขาเจริญเติบโตในทุกด้านของชีวิต ... ไม่ใช่ค่การเป็นนักฟุตบอลอย่างดี" เคตลิน กล่าว และมันบอกได้ดีว่าทำไมนักเตะที่เติบโตจาก อคาเดมีลิเวอร์พูล มักจะไม่สร้างปัญหานอกสนาม ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นนักฟุตบอลที่ดีหรือไม่ก็ตาม คอเนอร์ แบร์ดลี่ย์ ที่เป็นดาวดวงใหม่เองก็มีแนวคิดเช่นนี้

 

ผลักดันเมื่อพร้อม

การใช้ชีวิตแบบเด็กธรรมดาในรั้วอคาเดมี่ แบบที่ยังต้องเรียนหนังสือ ซักถุงเท้ารองเท้าเอง มีเวรรับผิดชอบในการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นการละลายพฤติกรรมทางอ้อมที่ทำให้เด็ก ๆ ของลิเวอร์พูล ยังคงมีเท้าที่ติดดินอยู่เสมอ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้พวกเขามีแนวคิดที่ว่า โอกาสการขึ้นชุดใหญ่เป็นของคนที่ต้องทำงานหนักทั้งในและนอกสนามไปพร้อม ๆ กัน

ส่วนนี้ต้องให้เครดิต คล็อปป์ ด้วยที่สร้าง DNA นี้ขึ้นมาให้กับนักเตะลิเวอร์พูลชุดใหญ่ ว่ากันว่าไม้แก่นั้นดัดยาก แต่ คล็อปป์ ยังทำให้ทุกคนกลมกลืนและทำงานหนักร่วมกันในฐานะทีมได้ นักเตะลิเวอร์พูล ในยุคของคล็อปป์ จึงออกมาในประเภทที่ว่า จะเก่งหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ คาแร็คเตอร์ต้องได้ ซึ่งสิ่งนี้มันก็สะท้อนไปถึงเหล่าดาวรุ่งที่มองพวกรุ่นพี่เป็นตัวอย่างด้วย

ชัดเจนที่คือเคสของ แบร์ดลี่ย์ ดาวดวงใหม่ ณ ตอนนี้ แบร์ดลี่ย์ มาอยู่กับ ลิเวอร์พูล ในปี 2019 หรือตอนอายุ 15 ปี จากสโมสร ดันกานอน สวิฟต์ ในประเทศไอร์แลนด์เหนือ คำถามคือกับเด็กที่ไม่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ 7-8 ขวบเหมือน เทรนท์ ลิเวอร์พูล มีเกณฑ์ในการเซ็นสัญญาพวกเขามาร่วมทีมยังไง ถึงได้นักเตะที่มาคาแร็คเตอร์ไม่ต่างจากเด็กถิ่นหลาย ๆ คน

การสรรหานักเตะหนุ่มในวัน 12-17 ปี ของ ลิเวอร์พูล มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน แม็ตต์ นิวเบอร์รี่ หัวหน้าฝ่ายสรรหาอคาเดมี่ จะทำงานร่วมกับ อเล็กซ์ อิงเกิลโธร์ป ผู้จัดการทีมอคาเดมี่ โดยในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ลิเวอร์พูล มีการเพิ่มเงินลงทุนในการสรรหานักเตะจากท้องถิ่นทั้งในอังกฤษ, สกอตแลนด์, ไอร์แลนด์เหนือ มากขึ้น หลังจากที่อังกฤษออกจากการเปลี่ยนแปลงจากกฎ Brexit

ทีมงานจะเน้นเรื่องการนักเตะที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี ขึ้นไป โดยเเบ่งความสามารถและวุฒิภาวะทางความคิดตามรุ่นอายุเช่น ยู12, ยู14, ยู16 เป็นต้น วิธีการสเก้าท์มีหลายแบบทั้งการดูจากวีดีโอหรือการไปถึงข้างสนามและเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ เมื่อได้ความสามารถด้านฟุตบอลของเด็ก ๆ แล้ว พวกเขาจะพิจารณาเรื่องนิสัย เพื่อกำหนดว่าผู้เล่นคนไหนจะสามารถรับมือกับแรงกดดันที่มีภายใต้ฐานะ "นักเตะลิเวอร์พูล" ได้บ้าง

ถามว่ารู้นิสัยนักเตะได้ยังไง? ทีมงานนักจิตวิทยาของ ลิเวอร์พูล จะต้องได้คุยกับพ่อแม่ และเอเย่นต์ของนักเตะโดยละเอียด เรียกว่านอกจากจะวิเคราะห์เด็กแล้ว ยังวิเคราะห์พื้นเพของพวกเขาด้วย การปรับวิธีคัดแบบนี้ ลิเวอร์พูล ได้ใครมาร่วมทีมบ้าง? คำตอบที่ ดิ แอธเลติก บอกคือ "เทรนท์, เคอร์ติส โจนส์, จาเรลล์ ควอนซาห์, เบน โด๊ก หรือแม้กระทั่งนักเตะที่เข้ามาช่วงอายุหลัง 15 ปี อย่าง สเตฟาน บายเซติช, ฮาร์วี่ย์ เอลเลียต และแน่นอน คอนเนอร์ แบร์ดลี่ย์ ... ทั้งหมดนี้ได้เล่นชุดใหญ่ของทีมไปแล้วทั้งสิ้น

พวกเขาเหล่านี้ถูกผลักดันสู่ทีมชุดใหญ่ก็ต่อเมื่อทีมงานชุดอคาเดมี่หรือชุดเยาวชนมองว่าพวกเขาพร้อมแล้วทั้งร่างกาย,จิตใจ และทักษะฟุตบอล ... และเมื่อพวกเขาพร้อมรายชื่อพวกเขาจะถูกแนะนำเข้าสู่ปราการด่านสุดท้ายอย่าง เยอร์เก้น คล็อปป์ ที่จะตัดสินว่านักเตะหนุ่มเหล่านี้พร้อมหรือยังกับการเป็นนักเตะลิเวอร์พูลชุดใหญ่

"เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ เป๊ป ลินเดอร์ส คอยกระซิบข้างหูผมว่าเด็กคนนี้พร้อมแล้ว" คล็อปป์ พูดถึง แบรดลี่ย์ หลังได้รับคำชมมากมาย

"วิเตอร์ มาตอส (โค้ชพัฒนา) และ เป๊ป เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในแผนกนี้ พวกเขาคอยสนับสนุนในทุกเรื่อง เพราะงั้นงานของผมจึงง่ายที่สุด ผมแค่ต้องส่งพวกเขาลงสนาม"

แน่นอนว่าเมื่อมาถึงขั้นตอนของ คล็อปป์ จะเป็นการกรองชนิดที่ว่ากรองละเอียดอีกขึ้น นักเตะเหล่านี้จะต้องถูกตัดสินว่าแกร่งใจ ห้าวจริง สร้างความแตกต่างได้ และเบียดกับเหล่าตัวหลักดีกรีสูงในทีมชุดใหญ่ได้ เรียกได้ว่าการกรองแบบละเอียดแล้วละเอียดอีก ส่งผลสำคัญคือเมื่อนักเตะคนไหนที่ถูกคล็อปป์ บอกว่าพร้อม และโยนพวกเขาลงสู่สนามจริง โอกาสที่พวกเขาจะตื่นสนาม ทำผิดพลาด เล่นผิด ๆ ถูก ๆ จนเสียความมั่นใจไปตลอดอาชีพค้าแข้งแทบไม่เกิดขึ้น 

หากยังจำกันได้ เทรนท์ อาร์โนลด์ ในช่วงแรก ๆ ก็ไม่ได้เก่งกาจเป็นโคตรดาวรุ่ง แถมยังมีจังหวะที่เขาโดน มาร์คัส แรชฟอร์ด เผาเละในเกมแดงเดือดจนแฟน แซวกันว่าเป็นบ่อน้ำมัน ... นักเตะบางคนถ้าได้หลุดแล้ว พวกเขาจะหลุดจากวงโคจรไปเลยถ้าไม่เก่งพอ แต่ถ้าพวกเขาถูกฝึกมาอย่างดีทั้งในแง่ฟุตบอลและความเป็นมนุษย์ พวกเขามีโอกาสจะกลับมาพิสูจน์ตัวเองได้ โดยที่ไม่ถอดใจหรือเสียสติจากความผิดพลาดที่ตัวเองเคยสร้างไว้ก่อนหน้านี้

ขณะที่เรื่องของ คอนเนอร์ แบรดลี่ย์ แม้เขาเพิ่งจะเล่นทีมชุดใหญ่และเเจ้งเกิดมาในช่วงต้นปี 2024 แต่จริง ๆ แล้วกว่าที่เจ้าตัวจะได้โอกาสลงสนามก็ต้องรอนานเป็นปีเหมือนกัน คล็อปป์ มีชื่อของเขาอยู่ใน ลิสต์ มีการหนีบเขาไปพรีซีซั่นด้วย 2 ฤดูกาลติดต่อกันแล้ว เรียกได้ว่าช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเขาก็สุกงอมใช้งานได้พอดี

"ผมอยู่ปรีซีซั่นกับทีมา 2 ปี แม้จะไมได้เล่นมากแต่มันเป็รช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ แต่ละปีผ่านไปมันก็ให้ความรู้สึกแตกต่างกัน ในปีนี้ (ก่อนซีซั่นนี้เริ่ม) ผมคิดว่าเวลาของผมใกล้มาถึง ผมตั้งเป้าไว้ที่การต่อสู้เพื่อแย่งตำแหน่งในทีม ผมกำลังมองหาวิธีการทำงานให้หนักเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น" แบรดลี่ย์ กล่าวเมื่อ 7 เดือนก่อน

"ผมคิดว่าตอนนี้ผมเป็นนักเตะที่ดีขึ้น จากปีก่อนที่ผมได้มาอยู่ที่นี่ (ในแคมป์พรีซีซั่น) ถึงเวลาแล้วที่ผมจะแสดงให้เห็นว่าผมมีอะไรในตัวบ้าง ... ผมจะทำงานหนักต่อไป และต่อไปเรื่อย ๆ จากนั้นเรามาคอยดูกันว่าผมจะไปได้ถึงจุดไหนในปีนี้"

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเขาผ่านฉลุย ในเกมกับเอฟเอ คัพ กับ นอริช ต่อเนื่องในเกมลีกกับ เชลซี ที่เขายิง 1 ประตูและทำ 2 แอสซิสต์ จนขึ้นหน้าหนึ่งทุกสำนัก ... ช่วงเวลาในการสร้างคนอันยาวนานของ ลิเวอร์พูล ประสบความสำเร็จอีกครั้ง พวกเขาได้นักเตะที่ดี จากการสร้างคนที่ดีได้อีก 1 รายแล้วในเวลานี้

 

บรรยากาศทีมชุดใหญ่ที่คุ้นเคย

ว่ากันว่าในช่วงอายุ 12-18 ปี เป็นช่วงเวลาที่คุณต้องเสริมสร้างร่างกาย เทคนิค และทักษะต่าง ๆ ด้านฟุตบอลเอาจนชนิดที่ว่าทำให้เบสิคแน่นเต็มที่ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ได้เล่นชุดใหญ่ คุณจะไม่มีเวลามาทบทวนพื้นฐานทุกสัปดาห์เหมือนตอนเด็ก ๆ อีกแล้ว

ทุกคนจะข้ามขั้นตอนนี้ไป ไปเรียนรู้เรื่องแท็คติก ความเข้าใจเกม การรับมือกับผู้เล่นฝั่งตรงข้าม เพราะฟุตบอลระดับชุดใหญ่เเข่งสัปดาห์ละ 2 เกมเป็นอย่างน้อย ไหนจะซ้อม ไหนจะเดินทาง ไหนจะไปเกมเยือน ดังนั้น การได้เด็กที่พร้อมจึงต่อยอดได้ดีกว่า

และที่ ลิเวอร์พูล มันการวางแผนงานที่ดี อย่างน้อย ๆ ก็ในเรื่องเชิงโครงสร้าง ระบบการเล่นที่ คล็อปป์ ใช้กับทีมชุดใหญ่คือ ฟุตบอลไดเร็กดุดัน วิ่งไม่มีหมด และใส่รายละเอียดซับซ้อนมากมายลงไปในแต่ละตำแหน่งในเรื่องของการคุมพื้นที่ในนาม และการเล่นร่วมกัน ... ระบบนี้ที่วางไว้ ไม่ได้วางไว้แค่ให้ชุดใหญ่เล่นเท่านั้น เพราะนักเตะลิเวอร์พูลชุดเล็ก ก็ใช้วิธีการเล่นแบบเดียวกันด้วย

หากคุณย้อนความสำเร็จทีมชุดเยาวชนของ ลิเวอร์พุล ในยุค 10 ปีหลัง พวกเขาไม่ค่อยจะได้รางวัลอะไรมากมายนัก ความสำเร็จในรายการที่จับต้องได้อย่าง เอฟเอ ยูธ คัพ พวกเขาก็ได้สมัยเดียวเท่านั้น ที่เหลือแทบจะเป็นการแบ่งกันของ แมนฯซิตี้ กับ เชลซี แต่คำถามคือทำไมดาวรุ่ง ลิเวอร์พูล เวลาถูกดันมาเล่นชุดใหญ่แล้ว กลับสามารถเล่นให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับรุ่นพี่ได้ง่าย ๆ ?

คำตอบคือพวกเขาให้ความสำคัญกับวิธีการเล่นและพัฒนาการเป็นหลัก ส่วนผลการแข่งขันในระดับเยาวชนขอให้เป็นเรื่องรอง ดังนั้นเมื่อขึ้นชุดใหญ่พวกเขาไม่ต้องเรียนรู้แท็คติกตั้งแต่เริ่ม ทำให้ประหยัดเวลาทดสอบไปหลายขั้น ซึ่งมันตอบโจทย์กับฟุตบอลสมัยนี้มาก ๆ เพราะคงไม่มีทีมไหนจะให้นักเตะดาวรุ่ง "ลอง" ลงเล่นในเกมทางการเป็นสิบนัดแน่นอน เพราะผลการแข่งขันในระดับทีมชุดใหญ่สำคัญมากเกินกว่าที่เหล่ากุนซือจะกล้าเสี่ยงกับเด็กที่ไม่พร้อมขนาดนั้น

เอาเป็นว่าที่สุดแล้วเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าทักษะการสร้างคนตั้งแต่วัยเด็ก ใส่ทักษะให้พร้อมตอนเป็นวัยรุ่น และใส่ระบบฝังสมองก่อนที่พวกเขาจะก้าวพ้นวัยทีน ทำให้เด็ก ๆ ของ ลิเวอร์พูล ดูโดดเด่น มีผลงานจับต้องได้เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาเล่นชุดใหญ่

เรื่องสำคัญอีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือ เมื่อเด็ก ๆ ถูกดันมาเล่นชุดใหญ่ และเจอกับรุ่นพี่ที่มีคาแร็คเตอร์ดี มีสปิริต มีความเป็นนักสู้ สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องชมไปที่สรรหานักเตะมาสู่ทีมทั้งชุดใหญ่ และเยาวชน ที่ทำให้พวกเขาส่งเสริมกันทั้งสองฝ่าย เด็ก ๆ ก็ได้เห็นความแข็งแกร่งของรุ่นพี่ รุ่นพี่ก็ได้เห็นความห้าวพร้อมแย่งตำแหน่งของรุ่นน้อง ก็กลายเป็นสิ่งแต่ละคนในทีมตื่นตัว ซึ่งที่สุดแล้วทั้งหมดมันก็สะท้อนอยู่ในผลงานและคาแร็คเตอร์ของนักเตะลิเวอร์พูลชุดนี้

 

แหล่งอ้างอิง 

https://onefootball.com/en/news/conor-bradley-gives-emotional-interview-after-dream-performance-38971953
https://www.liverpoolfc.com/news/first-team/461698-interview-why-this-pre-season-is-the-biggest-of-conor-bradley-s-career-so-far
https://www.liverpoolfc.com/news/academy/397810-explained-how-lfc-s-youngsters-manage-football-and-education
https://theathletic.com/4855787/2023/10/10/liverpool-youth-recruitment-explained/
https://en.wikipedia.org/wiki/FA_Youth_Cup

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ