Feature

พี่คนนี้ให้บอลแม่นมาก : ไขคำตอบจากการวิจัย ทำไมเดอ บรอยน์ ถึงขึ้นชื่อเรื่องเซนส์บอลฉมัง | Main Stand

ฤดูกาล 2023-24 อาจเป็นช่วงเวลาไม่สบอารมณ์ เควิน เดอ บรอยน์ รวมถึงแฟน ๆ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สักเท่าไร หลังกองกลางวัย 32 ปี ได้รับบาดเจ็บหนักตั้งแต่ตอนออกสตาร์ตซีซั่น ถึงขั้นต้องผ่าตัดและฟื้นฟูอาการร่วม 4 เดือน และนั่นก็ทำให้ผลงานในลีกของแมนฯ ซิตี้ มีเป๋อยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องการขาดหายไปในแง่ของการปั้นเกมและการสร้างสรรค์ในพื้นที่สุดท้าย 

 

แต่หลังจากที่ เดอ บรอยน์ คัมแบ็คผืนสนามให้ซิตี้อีกครั้งในเดือนมกราคม 2024 และมีส่วนร่วมกับประตูทีมได้แบบทันทีทันใดในเกมบุกชนะนิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด 3-2 นี่ถือเป็นสัญญาณอันดีของแมนฯ ซิตี้ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของพรีเมียร์ลีกซีซั่น 2023-24 และทำให้สถานการณ์การลุ้นแชมป์กลับมาสนุกอีกครั้ง

ไม่มีใครปฏิเสธว่าความเป็นอัจฉริยะลูกหนังของจอมทัพเบลเจี้ยนนั้นได้รับการจารึกและถูกพูดถึงมาช้านาน โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายบอลที่เฉียบขาดและวิสัยทัศน์การอ่านเกม นำมาสู่คำถามปลายเปิดที่ตามมาว่า เดอ บรอยน์ พาตัวเองมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร แล้วอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของตัวเขา

ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันกับ Main Stand 

 

หัวใจหลักเรือใบ

กว่าจะเป็น เควิน เดอ บรอยน์ ในทุกวันนี้ได้ เจ้าตัวเดินทางผ่านเส้นทางชีวิตฟุตบอลชนิดรับประสบการณ์น้อยใหญ่มาโชกโชน เริ่มตั้งแต่การฝึกฟุตบอลผ่านคุณพ่อ ที่เน้นให้ลูกชายพยายามฝึกเตะลูกฟุตบอลให้ได้ทั้งสองเท้า ไม่ว่าจะเตะ ส่ง หรือเดาะ เพื่อให้ลูกชายคนนี้มีทักษะการเล่นฟุตบอลที่ยอดเยี่ยม

ที่สุดแล้ว เควิน เดอ บรอยน์ ก็พาตัวเองมาอยู่ในสารบบฟุตบอลจนได้ โดยเริ่มตั้งแต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมเยาวชนของสองสโมสรในลีกสูงสุดเบลเยียม อย่าง เกนต์ (Ghent) ตามด้วยเกงค์ (Genk) โดยเฉพาะกับทีมหลัง เขาก้าวขึ้นมาลงเล่นให้ทีมตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี และอีกหนึ่งปีต่อมา เขากลายเป็นแกนหลักของทีมได้ด้วย

ด้วยการฉายแววเด่นเกินวัยของเควิน เดอ บรอยน์ ทำให้เขาเริ่มได้รับการจับตาจากสโมสรระดับท็อปยุโรป ก่อนจะเป็น เชลซี ที่การเซ็นสัญญามาร่วมทัพแบบล่วงหน้า ในเดือนมกราคมปี 2012 โดย เดอ บรอยน์ จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของสิงห์บลูส์ ในซีซั่น 2012-13

อย่างไรก็ตาม เควิน เดอ บรอยน์ หรือ KDB ไม่อาจแจ้งเกิดในถิ่น สแตมฟอร์ด บริดจ์ ได้ โดยรวมแล้ว เดอ บรอยน์ ลงเล่นกับเชลซีในเกมทางการทั้งสิ้น 3 นัด แถมยังเคยถูกปล่อยให้ แวร์เดอร์ เบรเมน ยืมไปใช้งานด้วย กระทั่งเขามาได้รับโอกาสใหม่กับ โวล์ฟสบวร์ก ที่เลือกเซ็นสัญญาแบบซื้อขาดจากเชลซีที่ 18 ล้านปอนด์

ก่อนที่ช่วงเวลาของ เดอ บรอยน์ ภายใต้อาภรณ์หมาป่าเมืองเบียร์ จะนำพาให้เขาเริ่มกลายเป็นนักเตะระดับแถวหน้าของโลกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในซีซั่น 2014-15 หรือซีซั่นที่สองกับทีม KDB ทำ 16 ประตูกับอีก 28 แอสซิสต์ เป็นสถิติรวมทุกรายการกับโวล์ฟสบวร์ก 

นอกจากนี้ เขายังพาสโมสรคว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาล, ช่วยให้สโมสรจบอันดับสองในบุนเดสลีกา และเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศของยูโรปา ลีก เช่นเดียวกับการถูกรับเลือกให้เป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลของบุนเดสลีกาด้วย

เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว กับการพาตัวเองกลับมาสู่ทีมชื่อดังยุโรปอีกครั้ง คราวนี้เป็น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในยุคของกุนซือ มานูเอล เปเยกรินี่ ที่คว้ามาร่วมทัพด้วยค่าตัวถึง 55 ล้านปอนด์ 

แม้ในปีแรก เดอ บรอยน์ จะยังไม่อาจช่วยแมนฯ ซิตี้ คว้าความสำเร็จในภาพรวมได้มากมายเท่าไร (ได้แค่แชมป์ลีก คัพ) ทว่าในอีกหลายปีต่อจากนั้น เมื่อได้ร่วมงานกับ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า มิดฟิลด์ทีมชาติเบลเยียมผู้นี้ก็ได้กลายเป็นฟันเฟืองแห่งความสำเร็จแบบยิ่งยวดร่วมกับทีม

แชมป์พรีเมียร์ลีก 5 สมัย เอฟเอ คัพ 2 สมัย คาราบาว คัพ 5 สมัย ไปจนถึงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อีก 1 สมัย นี่คือโทรฟี่ระดับเมเจอร์ที่มิดฟิลด์วัย 32 ปีรายนี้จารึกไว้กับซิตี้

ยังไม่นับความสำเร็จส่วนตัวอีกมากมาย ไล่มาตั้งแต่รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของสโมสร 4 สมัย, นักเตะยอดเยี่ยมของพรีเมียร์ลีก 2 สมัย รางวัลแข้งยอดเยี่ยมจากสมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ (PFA) 2 สมัย, คว้าอันดับสามในการประกาศบัลลงดอร์ ปี 2022 รวมไปถึงรางวัลฟีฟ่า ฟิฟโปร เวิลด์ 11 หรือรางวัล 11 ผู้เล่นที่ติดทีมยอดเยี่ยมประจำปี 2022 ของฟีฟ่า อีก 3 สมัย เป็นต้น

อาจกล่าวได้ด้วยว่า หากเกมไหนหรือช่วงเวลาใดที่แมนฯ ซิตี้ไม่มี เควิน เดอ บรอยน์ ลงบัญชาการในฐานะเพลย์เมกเกอร์ ว่ากันว่าเกมนั้น ๆ แทบจะขาดทีเด็ดในเรื่องของการสร้างสรรค์เกม การป้อนบอลแถวพื้นที่สุดท้ายไปด้วย 

นั่นเพราะสิ่งที่ เควิน เดอ บรอยน์ รังสรรค์ออกมาในสนาม มักจะนำมาซึ่งความสำเร็จ “มากกว่า” ความล้มเหลว ซึ่งสถิติมากมายที่ถูกบันทึกเอาไว้ ล้วนแต่เป็นเครื่องช่วยบ่งชี้ว่า เดอ บรอยน์ คือ “ของจริง”

 

งานวิจัยกับการศึกษาสไตล์ เดอ บรอยน์ 

ความสามารถของเควิน เดอ บรอยน์ที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์นั้นมีอยู่มากมาย แต่ที่เป็นภาพจำของคนลูกหนังก็คือเรื่องการออกบอลให้เพื่อนเล่นต่อได้ทั้งสองเท้า ไปจนถึงวิสัยทัศน์ทั้งการอ่านเกมและกะจังหวะการเล่นร่วมกับเพื่อนร่วมทีมทั้งยามที่มีและไม่มีบอลอยู่กับตัวได้อย่างเนียนสนิท 

ตัวอย่างความสุดยอดที่ว่ามานี้ ล้วนเป็นที่มาของการสร้างสรรค์ประตูรวมถึงแอสซิสต์ที่เฉียบคมมานักต่อนัก

หรืออาจกล่าวได้เลยว่า เดอ บรอยน์ มองเห็นพื้นที่การเล่นในสนามในแบบที่นักเตะหลาย ๆ คนไม่สามารถมองได้อย่างเขา เช่นเดียวกับการวิจารณ์แบบติดตลกจากนักวิจารณ์เกม หรือบนโซเชียลมีเดียว่าเดอ บรอยน์อาจมีดวงตาที่มองไม่เห็นอยู่บริเวณหลังศีรษะอย่างไรอย่างนั้น 

ทั้งหมดนี้กลายเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า จอมทัพ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ผู้นี้ ทำได้อย่างไร ?

คำถามร่มใหญ่นี้ก็ได้ถูกคลี่คลายผ่านการสังเคราะห์จากนักวิจัยที่ชื่อ กิแอร์ จอร์เด็ต (Geir Jordet) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาฟุตบอลแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬานอร์เวย์ (Norwegian School of Sports Sciences) ที่ได้ให้คำอธิบายเบื้องหลังความสามารถอันมหัศจรรย์ของเดอ บรอยน์ 

จุดที่น่าสนใจจากการศึกษาศาสตร์นี้คือ ศาสตราจารย์จากสถาบันการศึกษาในนอร์เวย์ผู้นี้วนเวียนกับงานวิจัยเชิงสแกนแนวทางการเล่นของนักเตะในสนามมาเป็นเวลาร่วมทศวรรษแล้ว  และค้นพบว่านักเตะประเภท เควิน เดอ บรอยน์ มีความพิเศษยิ่งกว่าตำแหน่งใด ๆ โดยศาสตราจารย์ ดร.กิแอร์ ได้ใช้กรอบแนวคิดที่ตกผลึกมาจากงานวิจัยปริญญาเอกของเขา รวมถึงงานวิชาการด้านอื่น ๆ มุ่งเน้นการศึกษาไปที่วิสัยทัศน์ การอ่านเกม การรับรู้ของนักเตะ ตอบสนองออกมาเป็นผลงานระดับเหนือชั้นบนสังเวียนหญ้า

“ผมเริ่มศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1998 งานศึกษาทั้งหมดนี้ถูกเก็บบันทึกมาเยอะพอสมควร แต่ตอนนั้นโลกยังไม่ค่อยรับรู้กับศาสตร์พวกนี้เท่าไร จนเราเริ่มตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสารเชิงวิทยาศาสตร์ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากนั้นงานศึกษาแนวนี้ก็เริ่มได้รับการพูดถึงมากขึ้น” Sky sports เผยบทสัมภาษณ์ของ กิแอร์ จอร์เด็ต

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งให้งานศึกษาของ ดร.กิแอร์ จอร์เด็ต มีความฉมังยิ่งขึ้น ก็คือการถูกสื่อดังอย่าง Sky sports เชื้อเชิญให้มาวิเคราะห์แนวทางการเล่นของนักเตะพรีเมียร์ลีก 118 คน ทำให้เขาได้ข้อค้นพบสำคัญ ว่าด้วยสไตล์การเล่นของสองนักเตะตำแหน่งเดียวกับ เดอ บรอยน์ ที่มีความ “แตกต่าง” ออกไปจากนักเตะคนอื่น ๆ นั่นก็คือ แฟรงค์ แลมพาร์ด และ สตีเว่น เจอร์ราร์ด 

“นั่นเป็นหนึ่งในการศึกษาใหญ่ครั้งแรกที่เราทำ (วิเคราะห์นักเตะพรีเมียร์ลีก) และเราสแกนออกมาจนค้นพบความแตกต่างระหว่างผู้เล่น และจากกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา เราพบว่ามีนักเตะพรีเมียร์ลีกที่เก่งกว่านักเตะในลีกด้วยกัน อันดับหนึ่งและสองตามลำดับก็คือ แฟรงค์ แลมพาร์ด และ สตีเว่น เจอร์ราร์ด” ดร.กิแอร์ ว่าต่อ

“อันที่จริงการสแกนเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้บอกเราทุกอย่างนะ เพราะมันมีความซับซ้อนอยู่ แต่มันก็ช่วยให้เรามองเห็นถึงกระบวนการรับรู้ของนักเตะประเภทนี้ เป็นจุดที่ต่างออกไปจากนักเตะคนอื่น ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เผชิญในเวลานั้น”

เมื่อหมดยุคสมัยของเหล่ากรณีศึกษาที่ กิแอร์ จอร์เด็ต ได้ศึกษาเอาไว้ แน่นอนว่าเขาก็ยังคงเดินหน้าวิเคราะห์แนวทางศึกษาของตัวเองต่อมายังนักเตะรุ่นหลังอีกหลายคน

ซึ่งรวมถึงการติดตามทุกการเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาในสนามของ เควิน เดอ บรอยน์ ด้วย

 

ผลการศึกษาบอกอะไรเกี่ยวกับ เดอ บรอยน์

ศาสตราจารย์ ดร. กิแอร์ จอร์เด็ต สแกนแนวทางการเล่นฟุตบอลของเควิน เดอ บรอยน์ จนพบความแตกต่างจากนักเตะคนอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิงในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2020 ในเกมที่ทีมชาติเบลเยียม ลงเตะรอบแบ่งกลุ่มนัดสองกับทีมชาติเดนมาร์ก

ผลการแข่งขันเป็นทีมปีศาจแดงแห่งยุโรปที่เอาชนะทัพโคนม 2-1 โดยจุดมหัศจรรย์ของเกมนี้คือประตูตีเสมอ 1-1 ของเบลเยียม เพราะมาจากการสร้างสรรค์เกมของมิดฟิลด์จาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ โดย เดอ บรอยน์ โชว์สกิลแตะบอลหลบผู้เล่นเดนมาร์กอย่างใจเย็น ก่อนจ่ายเข้ากลางให้ธอร์แกน อาซาร์ ยิงโล่ง ๆ เข้าไป 

กับจังหวะเข้าทำที่เบลเยียมได้ โดยมี KDB เป็นส่วนหนึ่ง ว่ากันว่าเรื่องนี้ทำเอา ดร.กิแอร์ เลือกโฟกัสกับแนวทางการเล่นที่น่าทึ่งของ เดอ บรอยน์ นับแต่นั้น

“ที่ผมคิดผิด คือผมคิดว่าเขาสแกนจังหวะการเล่นของตัวเองแค่ครั้งเดียว แต่เมื่อมองย้อนกลับไปดูการเล่นเกมบุกทั้งหมด โดยโฟกัสที่เขาคนเดียว ก็พบว่าเขาสแกนจังหวะการเล่นถึง 5 ครั้ง เขาสแกนจังหวะตัวเองเพิ่มอีก 4 ครั้งเลย ผมพลาดในเรื่องนี้ไปเพราะตอนนั้นดูแค่ถ่ายทอดสด” อาจารย์และนักวิจัยจาก สถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬานอร์เวย์ กล่าว

เวลาต่อจากนั้น การศึกษาแนวทางการเล่นของเควิน เดอ บรอยน์ ของ กิแอร์ จอร์เด็ต ก็ถูกพูดถึงมากขึ้น และได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างไปในเวลาเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ศ. ดร. กิแอร์ จอร์เด็ต ยังย่อยงานวิชาการของตัวเองให้สังคมโลกเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย เมื่อเขาอธิบายแนวทางการเล่นของนักเตะหลาย ๆ คน รวมทั้งตัวของ เควิน เดอ บรอยน์ ผ่านช่องทางทวิตเตอร์ (X) ส่วนตัว ในชื่อบัญชี @GeirJordet (เคลื่อนไหวล่าสุดกันยายน 2023)

หลังจบศึกยูโร 2020 กิแอร์ จอร์เด็ต มักจะอธิบายเซนส์ฟุตบอลของ เควิน เดอ บรอยน์ ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างปี 2022 เขาค้นพบการอ่านเกมของ เดอ บรอยน์ ที่แตกต่างไปจากนักเตะคนอื่น ๆ ในเกมที่เรือใบสีฟ้า เฉือนชนะ แอตเลติโก มาดริด 1-0 ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบก่อนรองชนะเลิศ นัดแรก ซึ่งคนทำประตูโทนในเกมดังกล่าวก็คือ เดอ บรอยน์

บทสรุปของจุดเด่นที่มีในตัว เดอ บรอยน์ ผ่านการสแกนของ กิแอร์ จอร์เด็ต ก็คือการอ่านจังหวะการเคลื่อนที่ของตัวเองแบบถี่และต่อเนื่องก่อนที่บอลจะเข้ามาหาตัว จนกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ยากจะมีใครมาเอาชนะได้

“เดอ บรอยน์ เป็นนักเตะที่ตระหนักรู้และมีความสามารถพิเศษในการทำประตู รวมถึงการทำแอสซิสต์ที่เด็ดขาด” นักวิจัยชื่อดัง เกริ่น

“เดอ บรอยน์สแกนไปรอบ ๆ พื้นที่ในสนามก่อนรับบอล ด้วยอัตราการสแกน 0.45 ครั้ง/วินาที ดังนั้นเขาจะคอยสแกนด้วยความถี่ถึง 4-5 ครั้งในทุก ๆ 10 วินาที ถือว่าสูงมาก ๆ สำหรับผู้เล่นในตำแหน่งเดียวกับเขา เขามักจะใช้สายตามองไปรอบ ๆ ตัว และตระหนักถึงโอกาสรวมถึงภัยคุกคามที่พร้อมจะเข้ามาตั้งแต่เนิ่น ๆ”

“โดยปกติ นักฟุตบอลมักจะสแกนตัวเองเมื่อมีพื้นที่ว่างรอบตัว และจะสแกนมันน้อยลงเมื่ออยู่ในพื้นที่แคบ แต่กรณีนี้ใช้ไม่ได้กับ เดอ บรอยน์ ที่มักจะมีอัตราการสแกนจังหวะอยู่บ่อย ๆ แม้ว่านักเตะจากทีมคู่แข่งจะอยู่ใกล้ตัวก็ตาม ทำให้เขามีประสิทธิภาพในการเล่นพื้นที่แคบ และมีส่วนอย่างยิ่งกับการสร้างแอสซิสต์และทำประตู”

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ กิแอร์ จอร์เด็ต ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า เควิน เดอ บรอยน์ ยังมีจุดเด่นที่ยากจะมีใครเลียนแบบได้อีกสองประการ คือ “ไม่ตามทุกจังหวะที่บอลเคลื่อนที่” และ “มองรอบด้านแม้ครองบอลอยู่กับตัว” ดังคำอธิบายดังต่อไปนี้

“ภายใต้สภาวะที่ยังไม่ถูกกดดัน เดอ บรอยน์ จะใช้การสแกนเป็นลำดับขั้น เขาจะกวาดสายตาไปทั่วทั้งสนาม สิ่งนี้ทำให้เขามองเห็นการขึ้นเกมรุกได้กว้างขึ้น” 

“มันช่วยเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับการจ่ายบอลที่สร้างสรรค์ให้เพื่อนและคอยอันตรายต่อคู่แข่ง”

“ขั้นตอนการสแกนเกมการแข่งขันที่สำคัญ มักเกิดขึ้นในระหว่างที่ลูกบอลกำลังเข้ามายังตัวคุณ ซึ่ง เดอ บรอยน์ ทำเรื่องนี้ได้ละเอียดมาก บ่อยครั้งที่เขาละสายตาจากลูกฟุตบอลในขณะที่รับบอลต่อจากเพื่อน” 

“แต่มันกลับช่วยให้เขาสามารถรับส่งบอลที่มีประสิทธิภาพให้กับเพื่อนร่วมทีมและทำลายจังหวะคู่แข่งได้”

เพราะความยืดหยุ่น แม่นยำ มาพร้อมกับการปรับจังหวะเพื่อให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์การแข่งขันได้อย่างชาญฉลาด ไม่แปลกใจที่ เควิน เดอ บรอยน์ จะยังคงเป็นกำลังหลักของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับการไล่ล่าความสำเร็จในช่วงเวลาต่อจากนี้ไปอีกเรื่อย ๆ 

และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไร หลังแฟนบอลทีมคู่แข่งลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกพร้อมใจกันใช้คำว่า 

“ตัวเดียวเสียวทั้งลีก”

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.skysports.com/football/news/11096/12341305/kevin-de-bruyne-is-a-master-at-scanning-geir-jordet-on-the-science-behind-the-importance-of-vision-and-perception-in-football 
https://onefootball.com/en/news/kevin-de-bruyne-psychologist-breaks-down-man-city-playmakers-epic-passing-ability-34917531 
https://onefootball.com/fr/news/kevin-de-bruyne-man-city-stars-epic-football-iq-shown-in-clip-v-arsenal-37341488 
https://www.sportbible.com/football/twitter-thread-explains-why-kevin-de-bruyne-is-so-good-at-passing-20220415 
https://jobsinfootball.com/blog/geir-jordet-sports-psychologist-and-scanning-expert/ 
https://www.transfermarkt.com/kevin-de-bruyne/profil/spieler/88755 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา