Feature

มันชินี่ & ซาอุฯ : กุนซือแชมป์ยุโรปกับหลักสูตรเร่งรัดฉบับเซียนทัวร์นาเมนต์ | Main Stand

กุนซือที่เคยพาทีมคว้าแชมป์ยุโรปอย่าง โรแบร์โต้ มันชินี่ กำลังเริ่มงานใหม่ของเขากับ ซาอุดีอาระเบีย ชาติที่หวังจะกลายเป็นมหาอำนาจของฟุตบอล และภารกิจแรกของเขาตั้งแต่รับงานคุมทีมเมื่อเดือนสิงหาคม 2023 คือการพา ซาอุดีอาระเบีย พิชิตเอเชีย 

 


แม้จะรับงานได้เพียงราว ๆ 4 เดือน แต่ชื่อเสียงเรียงนามของเขาโด่งดังในฐานะผู้พิชิตบอลทัวร์นาเมนต์ เพราะจากอดีตที่ผ่านมา เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำบอลแบบนัดต่อนัด ที่ไม่ได้มีแค่แท็คติกเท่านั้นในการพิชิตชัยแต่ละนัด 

เบื้องหลังที่ยิ่งใหญ่ กับสิ่งที่ทีมชาติ ไทย กำลังจะเจอกับ ซาอุดีอาระเบีย ของเขา มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง ? ติดตามที่นี่กับ Main Stand

 

มันชินี่ นักบริหารจัดการคน 

โรแบร์โต้ มันชินี่ เป็นเฮดโค้ชที่ประสบความสำเร็จมามากมาย หนึ่งในวิธีที่ทำให้เขาถูกจดจำ โดยเฉพาะตอนที่พาทีมชาติ อิตาลี หักปากกาเซียนคว้าแชมป์ ยูโร 2020 คือสิ่งที่สะท้อนการบริหารทีมและบริหารคนของเขาได้เป็นอย่างดี 

หากใครเคยได้ดูสารคดี Azzurri: Road to Wembley คุณจะเห็นว่า โรแบร์โต้ มันชินี่ เลือกนักเตะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมด้วยวิธีที่ละเอียดมาก มียอดนักเตะชาวอิตาเลียนมากมายกว่า 60 คนในลิสต์ทีมชาติของเขา ซึ่งแต่ละคน มันชินี่ และทีมงานของเขาไล่เรียงโปรไฟล์กันละเอียดยิบ มีทั้งทีมที่เก็บสถิติเรื่องการเล่นในสนาม ซึ่งเป็นความจริงที่โกหกกันไม่ได้ และยิ่งไปกว่านั้นกว่าที่เขาจะเลือกใครสักคน มันชินี่ ก็สืบสาวราวเรื่องไปยังเบื้องหลังของนักเตะเหล่านั้นด้วย 

เหตุผลที่ทำเพราะเขาอยากจะได้คาแร็คเตอร์ที่ดีที่สุด โดยตัวของเขาพิจารณาดูจากนักเตะที่ทีมตัวเองมีกับทีมชาติอื่น ๆ ที่ลงแข่งขันในฐานะตัวเต็งอย่าง อังกฤษ, ฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่ง เยอรมนี อย่างถี่ถ้วน และเขาเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้ อิตาลี ก้าวข้ามทีมเหล่านี้ได้คือ เขาต้องได้นักเตะที่นอกจากจะตอบโจทย์เชิงกลยุทธ์แล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังต้องมีคาแร็คเตอร์ที่แข็งแกร่ง เมื่อต้องรวมเป็นทีมอยู่ร่วมกันแล้วต้องมีเคมีที่เข้ากัน ทุกคนพร้อมจะสนุก สู้ตาย และจริงจังกับงานที่รออยู่ตรงหน้า 

ซึ่งเรื่องนี้จะว่าไปก็สำคัญมาก ๆ เพราะในยูโร 2020 เป็นการแข่งขันที่มีเจ้าภาพถึง 11 ประเทศ (จากกิมมิกเพื่อฉลองครบรอบ 60 ปีการแข่งขัน) ดังนั้นนักเตะจะต้องอยู่ด้วยกัน สื่อสาร และเดินทางอยู่ตลอด ดังนั้นเรื่องบรรยากาศในทีมเป็นสิ่งที่ มันชินี่ ให้ความสำคัญมาก ๆ หากคุณลองดูไปยังเรื่องคาแร็คเตอร์ของนักเตะ อิตาลี ในชุดยูโร 2020 คุณจะเห็นนักเตะพวกเขานี้มีคาแร็คเตอร์เหมือนกับนักรบ พวกเขามักจะเป็นตัวชูโรง เป็นกัปตัน, รองกัปตัน, แข้งซีเนียร์ หรือแม้กระทั่งการเป็นนักเตะที่มีอิทธิพลในห้องแต่งตัวทั้งสิ้น 

หลายครั้งที่นักเตะ อิตาลี แสดงออกในการแข่งขัน ยูโร ครั้งนั้นคือการตีอก ชกลม แปะมือ ตะโกนบอกกล่าวใส่กันตลอดเวลา นั่นทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่เป็นหนึ่งเดียว มีการสื่อสารที่ดีมี มีสมาธิ และรู้ว่าจังหวะไหนควรทำอะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกสร้างมาตั้งแต่ในแคมป์เก็บตัวแล้ว 

"ผมเลือกกลุ่มนักเตะที่ที่นอกจากจะเป็นนักเตะที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังเป็นคนที่ยอดเยี่ยมด้วย ถ้าคุณได้คุณสมบัติทั้ง 2 อย่าง นักเตะจะรู้หน้าที่กันเป็นอย่างดี นักเตะที่อายุมากจะช่วยสอนและแนะนำกับนักเตะดาวรุ่ง และนักเตะดาวรุ่งก็พร้อมจะรับฟังเพราะพวกเขารู้ว่าจะได้อะไรกลับมา ทีมชุดที่ผมเลือกมา เราใช้เวลาอยู่ด้วยกันนานกว่า 50 วัน และเวลาเหล่านั้นทำให้ผมกับพวกเขาทุก ๆ คนเชื่อว่าด้วยทีมที่เรามี มันเป็นไปได้ที่เราจะกลายเป็นแชมป์ ผมคิดแบบนั้นตั้งแต่วันแรก" 

"กลุ่มนักเตะที่ผมเลือกมากลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักเตะที่มีสภาพจิตใจแข็งแกร่งมาก พวกเขาไม่เคยขาสั่นถอดใจเวลาเจอช่วงเวลาที่ยาก ๆ หรือแม้กระทั่งคิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองก่อนทีม พวกเรามาถึงแชมป์ไม่ใช่แค่เพราะพวกเราเป็นทีมที่ยิ่งจุดโทษเก่ง แต่พวกเขากลมกลืนกันด้วยมิตรภาพ และทุกคนร่วมกันสร้างช่วงเวลาที่สวยงามที่สุดในชีวิตขึ้นมา" 

การบริหารจัดการคนของ มันชินี่ ช่วยสร้างทีมสปิริตที่ยอดเยี่ยม ทุกคนพร้อมทำเพื่อทีม ไม่มีใครบ่นต่อให้เป็นตัวสำรอง แม้ว่าลึก ๆ แล้วจะไม่มีนักเตะคนไหนในโลกที่ไม่อยากลงสนามก็ตาม เรื่องนี้เปิดเผยโดยกลุ่มนักเตะในทีมชุดนั้นหลายคนอาทิ นิโคโล่ บาเรลล่า ที่บอกตั้งแต่ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มว่า "ผมภูมิใจมากที่ได้อยู่ในทีมเดียวกับกลุ่มนักเตะเหล่านี้ นี่คือกลุ่มคนที่เรามองหน้ากันและฝันใหญ่ถึงการคว้าแชมป์ยุโรปได้" 

ขณะที่ จอร์โจ้ คิเอลลินี่ กัปตันทีมชาติอิตาลีชุดแชมป์ยุโรป ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่บ่งบอกถึงสภาพจิตใจและบรรยากาศในทีมได้เป็นอย่างดีว่า "เคมีของพวกเราเข้ากันอย่างสมบูรณ์แบบ" แค่นี้ก็มากพอจะยืนยันแล้วว่า มันชินี่ จริงจังในการรวมนักเตะเข้าเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้ทุกคนเสียสละเพื่อทีมแค่ไหน 

ตัดภาพกลับมาในปี 2024 วันที่เขาคุมทีมชาติ ซาอุดีอาระเบีย ลงแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย มันชินี่ ยังคงเชื่อมั่นในแนวทางเดิม เพราะเขารู้ว่าทัวร์นาเมนต์ระยะสั้น ๆ ที่นักเตะต้องใช้ชีวิตกินอยู่ร่วมกันในฐานะทีม การทำให้ทุกคน "ใจเท่ากัน" เป็นเรื่องที่สำคัญไม่เปลี่ยนแปลง 

โดยหนนี้ มันชินี่ สร้างเรื่องใหญ่ก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่ม โดยเขาเลือกปล่อยนักเตะฟอร์มดีจากฟุตบอลลีก 3 คนอย่าง ซัลมาน อัล-ฟาราจ, นาวาฟ อัล-อากิดี้ และ สุลต่าน อัล-กันนัม กลับบ้านทันทีหลังมีปัญหาในแคมป์ฝึกซ้อม นอกจากนี้ทั้ง 3 คนยังถูกตัดชื่อออกจากทีมชุดชิงแชมป์เอเชียด้วย 

การตัดสินใจของโค้ชชาวอิตาเลียนทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย แต่ล่าสุดเจ้าตัวก็ออกมาเปิดเผยแล้วว่า นักเตะสามรายนั้นไม่มีใจอยู่กับทีมชาติ แถมยังก้าวก่ายการทำงานของเขา ทั้งไม่ขอลงเล่นเกมอุ่นเครื่อง ไม่ขอร่วมทีมถ้าไม่ได้เป็นตัวจริง ในฐานะเฮดโค้ชที่มีอำนาจสูงสุด เขาจึงยอมให้ลูกทีมมาลูบคมแบบนี้ไม่ได้

"อัล-ฟาราจ, อัล-กันนัม และ อัล-อากิดี้ เลือกที่จะไม่มาร่วมทีมเอง ไม่ใช่ผม คุณต้องไปถามเหตุผลพวกเขา พวกเขามีชื่ออยู่ในลิสต์ และเลือกที่จะไม่เล่นให้ทีมชาติ อัล-ฟาราจ บอกผมตอนเข้าแคมป์ครั้งแรกว่า เขาไม่อยากลงเล่นเกมอุ่นเครื่อง ผมมองว่ามันไม่ใช่การตัดสินใจของนักเตะ นี่คือการตัดสินใจของโค้ช" มันโช่ กล่าว

"ผมคุยกับ อัล-กันนัม และ อัล-อากิดี้ ก่อนประกาศรายชื่อ ผมถามพวกเขาว่า 'มีความสุขกับการติดทีมชาติหรือเปล่า ? ' อัล-กันนัม บอกผมว่า 'เขาไม่มีความสุขถ้าไม่ได้ลงเล่น' มันเหมือนกับเป็นการปฏิเสธกลาย ๆ ผมเลยบอกเขาไปว่า 'โอเค ฉันคือคนตัดสินใจเรื่องนั้น'"

"ส่วน อัล-อากิดี้ บอกกับโค้ชผู้รักษาประตูว่า เขาจะไม่มาร่วมทีม ถ้าไม่ได้ลงเล่นเป็นตัวจริง ผมคือคนตัดสินใจว่าใครจะได้เล่นหรือไม่ได้เล่น ไม่ใช่พวกเขา ผมคุยกับประธานสหพันธ์แล้ว นี่คือครั้งที่ 3 ที่ อัล-อากิดี้ พูดว่า เขาไม่มีความสุข ผมเลยบอกเขาไปว่า ไม่ต้องกังวล เรามีขุมกำลังใหญ่พอ เราไม่มีปัญหาอะไร" ส่วนหนึ่งที่ มันชินี่ เผยถึงเหตุผล 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ มันชินี่ ยอมไมได้ เพราะเขาประกาศตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งว่า "นโยบายการทำทีมของผมคือการเลือกนักเตะที่พร้อมลงเล่นเท่านั้น เราจะใช้นักเตะ 26 คน แน่นอนว่าบางคนมีชื่อเสียง, บางคนเป็นดาวรุ่ง, บางคนก็มดงาน แต่ที่สุดแล้วหากคุณชนะ มันหมายความว่าคณชนะในฐานะทีม เราจะสร้างทีมที่แข็งแกร่งทั้งร่างกาย และจิตใจ พวกเขาทุกคนจะต้องเดินลงสนามด้วยความคิดที่พร้อมจะชนะทุกเกม ไม่ว่าจะอายุเยอะหรืออายุน้อย นั่นคือฐานตั้งต้นของพวกเขา"

เขาพูด เขาทำ และเขาแสดงออกให้เห็นแบบที่ไม่ต้องรื้อฝอยหาตะเข็บ และนอกจากเรื่องบริหารจัดการคนแล้ว การเล่นเกมต่อเกม คือสิ่งที่ มันชินี่ โดดเด่นและเขี้ยวลากดินเป็นพิเศษอีกด้วย 

 

การสเกาท์ขั้นเทพ 

เมื่อมีทีมที่ดี ใจเท่ากัน ศีลเสมอกันแล้ว สิ่งที่ตามมาคือกลยุทธ์ ในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์แบบนี้ ต้องมีความยืดหยุ่น แต่ก็ต้องยืดหยุ่นบนความเป็นตัวของตัวเอง มันชินี่ เป็นกุนซือประเภทที่จะต้องหาระบบการเล่นที่แน่นอนยืนพื้นไว้ก่อน จากนั้น แผนการเล่นจะปรับเปลี่ยนไปตามคุณภาพทีมที่พวกเขาพบเจอ 

ในสารคดี Azzurri: Road to Wembley มีตอนหนึ่งที่อธิบายเรื่องนี้ชัดเจนสุด ๆ นั่นคือในเกมรอบแบ่งกลุ่ม มันชินี่ วางหมากเกมบุกให้กับนักเตะ อิตาลี เป็นหลัก พวกเขาทุกคนจะมีพื้นที่รับผิดชอบในเกมรุกชนิดที่ว่าเมื่อได้บอลแล้ว สามารถจ่ายบอลให้กันแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องเงยหน้ามองเพื่อนเลยทีเดียว 

แต่เมื่อถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ พวกเขาต้องเจอกับ เบลเยียม ทีมที่ไม่เคยหลุดท็อป 3 ของโลกในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ และในช่วงก่อนแข่ง มันชินี่ สั่งประชุมทีมครั้งใหญ่ และการสอนแท็คติกเกมรุกแทบไม่ปรากฏในเนื้อหาของสารคดี ... โดยในสารคดีพยายามชี้ให้เห็นว่า มันชินี่ วางแผนขยี้นักเตะเกมรุกของ เบลเยียม ด้วยการเล่นแบบรุมสกรัม เมื่อถึงโซนรับของแต่ละคน โดยเฉพาะการปิดตายเพลย์เมคเกอร์อย่าง เควิน เดอ บรอยน์ 

และที่เหลือเชื่อยิ่งกว่านั้นคือ ช่วงเวลาที่เขาเอาข้อมูลนักเตะและวิธีการเล่นของ เบลเยียม มากางให้ลูกทีมของเขาดูบนไวท์บอร์ด เขาเอามือจิ้มไปบริเวณพื้นที่ระหว่างกองกลาง และกองหลังของเบลเยียม และย้ำกับลูกทีมว่า เบลเยียม คือทีมที่จะเปิดพื้นที่ตรงนี้บ่อยครั้ง และถ้าลูกทีมของเขาได้โอกาสเจาะเข้าพื้นที่ตรงนี้ พวกเขาจะได้ช่องสำหรับการยิงไกล และเมื่อถึงตรงนั้นขอให้ทุกคนยิงเมื่อได้โอกาส

ซึ่งเมื่อการแข่งขันจริงมาถึง ลอเรนโซ่ อินซินเญ่ ยิงประตูปั้นโค้งจากนอกกรอบตรงที่ มันชินี่ ชี้ตรงกระดานไวท์บอร์ดเป๊ะ ๆ ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องนี้บังเอิญหรือไม่ แต่ที่สุดแล้ว มันแสดงให้เห็นว่านอกจากเขาใส่แท็คติกให้นักเตะของตัวเองแล้ว เขายังทำการบ้านเกี่ยวกับคู่แข่งอย่างหนัก ... เหตุผลที่ต้องเจาะถึงไส้ขนาดนั้น ก็เพราะ มันชินี่ รู้ว่าในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ที่ทุกทีมต่างระแวดระวังเป็นพิเศษ การเปิดจุดอ่อนจะมีให้เห็นน้อย และเมื่อเห็นจุดอ่อนเมื่อไหร่ ถ้าไม่เล่นงาน ณ จุดอ่อนนั้น โอกาสที่จะได้ประตูจะไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ อย่างแน่นอน 

ตัดภาพกลับมาที่การคุมทีมชาติ ซาอุดีอาระเบีย ของเขาอีกครั้ง มีหนึ่งสิ่งที่เขาคิดถูกจากการสเกาท์คู่แข่ง โดยในเกมแรกของเอเชียนคัพ 2023 กลุ่ม F นัดที่เจอกับ โอมาน มันชินี่ ให้สัมภาษณ์หลังเกมว่า เขารู้ว่า โอมาน เป็นทีมที่มีสมาธิในการเล่นเกมรับสูงมาก แต่ในขณะเดียวกันการมีสมาธิกับเกมรับ ก็เท่ากับว่า โอมาน จะถอยลงไปเล่นเกมรับต่ำมาก และใช้ผู้เล่นเกมรับหลายคน สิ่งที่มันชินี่ แก้คือการส่งนักเตะที่มีความคล่องตัวสูงลงไปลากบอลทำลายโซนเกมรับที่ "แข็งแกร่งเมื่อเล่นเป็นทีม แต่จะอ่อนแอเมื่อโดนจับแยกเป็นรายคน" ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็ทำมาสู่ประตูแรกที่ ซาอุดีอาระเบีย ได้ประตูตีเสมอโอมาน 1-1 ก่อนที่จะพลิกชนะ 2-1 ในเกมแรก  

แน่นอนว่าการใส่แท็คติกแบบเป็นนัด ๆ และการหาจุดอ่อนของคู่แข่งเพื่อใช้โจมตี เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับทีมที่ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นทีมที่เก่งที่สุดในทัวร์นาเมนต์อย่าง ซาอุดีอาระเบีย หากเทียบกับตัวเต็งอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือ อิหร่าน ที่ตัวของ มันชินี่ เองก็ออกมายอมรับว่าทีมของเขายังตามหลังทีมแถวหน้าเหล่านี้

แต่สุดท้ายเขาก็ทิ้งประโยคเด็ดเหมือนกับตอนที่เขาพาทีมชาติ อิตาลี ในยูโร 2020 นั่นคือการบอกว่า "แต่ในฟุตบอลถ้วยแบบนี้ มันคือการตัดสินแบบเกมต่อเกม อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เราจะเป็นทีมที่ดีขึ้นกว่าเดิมในทุก ๆ นัด เราแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแบบจุดต่อจุด และในลำดับต่อไปเราจะคิดถึงแต่กับเกมที่ 3 ที่เราจะต้องเจอกับทีมชาติไทย ... เราจะเล่นด้วยเป้าหมายแบบเดิม นั่นคือการเป็นผู้ชนะ" 

 

ใช้นักเตะอย่างคุ้มค่า เพราะทุกคนมีจุดเด่น 

นอกจากจะมีทีมเต็มไปด้วยนักเตะที่พร้อมด้วยสภาพร่างกายและจิตใจ สิ่งที่จะดึงประโยชน์ของพวกเขาเหล่านี้ออกมาได้ดีที่สุดคือการใช้งานพวกเขาให้เหมาะสม แน่นอนว่าด้วยวิธีการของ มันชินี่ เขาเป็นคนที่ไม่ได้มี 11 ตัวจริงตายตัวชนิดที่ว่าใครจะคาดเดาได้ง่าย ๆ  ทุก ๆ อย่างจะกิดจากการสเกาท์คู่แข่ง การเลือกแท็คติกที่จะเล่น และท้ายที่สุดคือการใส่นักเตะที่เหมาะสมกับแท็คติกในเกมนั้น ๆ มากที่สุด 

"ในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ เราแทบจะลงเล่นเกมในทุก ๆ 3 วัน ดังนั้น ความสำคัญในการหมุนเวียนทีมถือเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ ... ผมไม่เคยบอกให้ใครรู้ 11 ตัวจริงก่อน เราจะซ้อมตามแบบแผนที่วางไว้อย่างน้อย 2 วัน และก่อนเกมจะเริ่มเท่านั้นพวกเขาจึงจะรู้ว่าใครจะได้ลงสนาม" มันชินี่ เล่าถึงความละเอียดของเขา ซึ่งทุกอย่างจะถูกแก้ไขตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

รายละเอียดชัด ๆ คือในเกมนัดชิง ยูโร 2020 กับทีมชาติอังกฤษ ในเกมนั้น อังกฤษ ยิงนำ อิตาลี ตั้งแต่นาทีที่ 2 แต่หลังจากนั้น มันชินี่ ตัดสินใจแก้เกมเร็ว ตั้งแต่ช่วงต้น แถมเป็นการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดด้วยการเปลี่ยน 2 ตัวหลักตลอดทัวร์นาเมนต์อย่าง นิโก้ บาเรลล่า กับ ซิโร อิมโมบิเล่ ที่เกมนี้โชว์ฟอร์มไม่ดีออกทันที และปรับมาเน้นการเพรสซิ่งสูงตามที่พวกเขาถนัด ซึ่งมันก็ได้ผลอย่างยอดเยี่ยม หลังจากนวดอยู่นานพวกเขาก็ตีเสมอได้สำเร็จ พร้อมการดึงโมเมนตัมของเกมมาอยู่กับตัวด้วยการไล่บุกกดดันอย่างต่อเนื่องตลอด 120 นาทีนั่นเอง 

เพราะนักเตะทุกคนล้วนมีจุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกัน ดังนั้นทุกคนล้วนมีประโยชน์กับทีม หากเลือกเอาจุดแข็งของพวกเขาออกมาใช้ให้ถูกสถานการณ์ แล้วเมื่อไหร่ที่หยิบถูกตัวใช้งานถูกคน ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะล้ำค่าในแบบที่ใครก็คาดไม่ถึง 

กับทีมชาติ ซาอุดีอาระเบีย ตอนนี้เร็วเกินกว่าจะบอกว่าเขาทำมันออกมาได้สมบูรณ์แบบเหมือนกับที่ทำ อิตาลี อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนมีจุดเริ่มต้นเสมอ และเราต่างได้เห็นเค้าลางของการเป็น "เซียนบอลทัวร์นาเมนต์" ของ ซาอุดีอาระเบีย ที่เป็นเหมือน DNA ประจำตัวของ มันชินี่ มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว 

และทั้งหมดที่กล่าวมาคุณจะเห็นได้ชัดยิ่งกว่านี้ เพราะว่าคู่แข่งของ ซาอุดีอาระเบีย คือทีมชาติ ไทย ของเรา ... ใครที่อ่านบทความนี้อยากให้ลองจำสิ่งที่อ่านเอาไว้ และมาคาดเดากันว่า วันนี้ มันชินี่ จะแสดงคุณสมบัติข้อใดให้เราเห็นบ้าง 

 

แหล่งอ้างอิง

https://thinkcurve.co/draamaar-naekhmpchaa-u-manchinii-tadchuue-3-naketa-kaawkaayngaanokhch/
https://www.theasiangame.net/saudi-arabias-struggle-poses-questions-for-mancini/
https://www.barrons.com/news/saudi-arabia-beat-nine-man-kyrgyzstan-to-reach-asian-cup-last-16-eabdb12c
https://fr.uefa.com/uefaeuro/history/news/026d-133d412a282b-6b4feb008617-1000--roberto-mancini-a-tale-of-team-spirit/
https://www.theguardian.com/football/2021/may/31/euro-2020-team-guides-part-1-italy

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น