Feature

เกาหัวทุกดีล : ทำไม แมนฯ ยูไนเต็ด กลายเป็นทีม ซื้อนักเตะแพงเกินราคา-ขายถูกกว่าตลาด ? | Main Stand

นักข่าวสาย Gossip เปิดหัวเรื่องเกี่ยวกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่น่าสนใจมาอีก 1 เรื่องนั่นคือการบอกเล่าว่าจริง ๆ แล้ว อองเดร โอนาน่า ผู้รักษาประตูที่ ยูไนเต็ด ซื้อตัวมาในราคาราว 50 ล้านปอนด์ ... กลับมีราคาจริงราว 6 ล้านปอนด์เท่านั้น 

 


เรื่องนี้จะจริงเท็จมากน้อยแค่ไหนไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้ ๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ยูไนเต็ด ทุ่มบ้าเลือดเพื่อนักเตะที่ไม่สามารถทำผลงานตอบแทนเงินที่พวกเขาจ่ายไปได้ ... และยิ่งไปกว่านั้นในวันที่ ยูไนเต็ด จะโละนักเตะ พวกเขาก็ขายในราคาทีเรียกได้ว่าแทบจะยกให้กันฟรี ๆ ไปเลยด้วยซ้ำ 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน ทุกอย่างมีเหตุผลซ่อนอยู่ และคุณจะรู้ไปพร้อม ๆ กับเราที่นี่ 

 

โลกของความเป็นเลิศ

ประการเเรกโลกฟุตบอลทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก ไม่ต้องย้อนไปไกลนัก ขอแค่สัก 10 ปีที่แล้วก็พอ เชื่อว่าคนที่ดูฟุตบอลรุ่นเก่า ๆ ก็คงจะนึกภาพออก เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพมากขึ้นเยอะเหลือเกิน 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพการเล่นในสนาม คุณภาพร่างกายนักเตะแต่ละคน ระดับของแท็คติกที่ซับซ้อนยิ่งกว่าที่เคย แน่นอนว่ามาตรฐานที่สูงขึ้นนี้เกิดจากการขับเคี่ยวกันของเหล่าสโมสรเพื่อปลายทางเดียวกันนั่นคือ การแย่งชิง "เค้กก้อนใหญ่" ที่เรียกว่า "รายรับมหาศาล" ที่หมุนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมฟุตบอล ณ เวลานี้ 

เงินเดิมพันในโลกฟุตบอลสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายรับจากสปอนเซอร์ เงินสนับสนุนจากการแข่งขันต่าง ๆ เงินรางวัลของการเป็นเเชมป์ หรือแม้กระทั่งเงินจากการถ่ายทอดสด สิ่งเหล่านี้เป็นที่ต้องการของทุกสโมสรในโลก และพวกเขาต้องพยายามก้าวกระโดด พัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพื่อโลกแห่งการแย่งชิงความเป็นเลิศ ว่าง่าย ๆ คือ "เงินเท่านั้นที่น็อคเอฟวรี่ติงส์!"  

 เมื่อฟุตบอลปัจจุบันคือโลกของความเป็นเลิศ สโมสรต่าง ๆ จึงคัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับสโมสรไม่ว่าจะนักเตะ กุนซือ ทีมงานสต๊าฟฟ์โค้ช ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่เรื่องอาหาร วิทยาศาสตร์ หรือแม่กระทั่งคนดูแลต้นหญ้า พูดมาถึงตรงนี้ เราอยากให้คุณย้อนกลับไปดู แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เคยเป็นมหาอำนาจลูกหนังของโลกเมื่อราว 20 ปีก่อนว่าทุกวันนี้พวกเขาเป็นที่ 1 เรื่องอะไรบ้าง ? ... อย่าว่าแต่ที่ 1 เลย เอาให้ติดลำดับท็อป 20 ในเรื่องของการบริหารจัดการด้านฟุตบอล ไม่รู้ว่าจะยังมีชื่อของ แมนฯ ยูไนเต็่ด อยู่หรือเปล่า ? 

เรามาเริ่มเข้าประเด็นกันเลย จุดเริ่มต้นของยุคมืดของยูไนเต็ด คือการเข้ามาของกลุ่มทุนอเมริกันภายใต้การบริหารของตระกูลเกลเซอร์ พวกเขาเข้ามาและกอบโกยสิ่งต่างมากมายออกไป พวกเขาใช้ฟุตบอลทำเงิน แต่น่าเสียดายที่เงินที่สโมสรหามาได้ กลับไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างที่สุด 

จริงอยู่พวกเขาคืออเมริกัน คนอเมริกันอาจจจะไม่ได้อินกับวัฒนฟุตบอลอะไรมากมาย แต่อย่างน้อย ๆ พวกเขาควรรู้ว่าอะไรคือบ่อเงินบ่อทอง อะไรคือ "แคชคาว"(Cash Cow) หรือสิ่งที่สร้างรายได้ให้พวกเขาแม้ว่าพวกเขาจะอยู่เฉย ๆ สิ่งนั้นก็คือความสำเร็จของสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด แต่พวกเขากลับใส่ใจกับมันน้อยเกินไป เพราะพวกเขาได้จ้างเอา "ซีอีโอ" หรือผู้บริหาร ที่ไม่ใช่คนเก่งจริง แต่เป็นการเลือกคนใกล้ตัว คนที่พวกเขาควบคุมได้ แต่กลับไม่ใช่คนที่แตกฉานเรื่องการบริหารด้านฟุตบอล ไล่เรียงมาตั้งแต่ เอ็ด วู้ดเวิร์ด, ริชาร์ด อาร์โนลด์ หรือ จอห์น เมอร์เทอร์  รายชื่อเหล่านี้สื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะวงในวงนอกก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั้งหมดเป็นเด็กของตระกูลเกลเซอร์ ชนิดชี้่นกเป็นก ชี้ไม้เป็นไม้  ... จุดนี้แหละคือสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ยูไนเต็ด เข้าวงการ "มีเงินอย่างเดียวซื้อไม่ได้"  เพราะโลกแห่งความเป็นเลิศ ไม่มีที่ว่างของคำว่าคนสนิท ทุกอย่างวัดกันที่ความสำเร็จล้วน ๆ 

 

หัวไม่ขยับ แล้วหางจะทำอะไรได้ ? 

เมื่อคุณได้ผู้นำองค์ที่ไม่ได้แตกฉานเรื่องการบริหารฟุตบอล ต่อให้เขาจะเก่งเรื่องธุรกิจในการหาสปอนเซอร์ มันจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อความสำเร็จของสโมสรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งเหล่านี้จะบันดาลสิ่งต่าง ๆ ตามมมามากมาย ทุกอย่างจะเริ่มจากความสำเร็จนี่แหละ ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นมูลค่าสโมสรและรายรับของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ตกลงทุกปี ถึงตอนนี้พวกเขามาถึงขั้นที่ต้องเสี่ยงต่อการผิดกฎทางการเงิน (FFP) ไปแล้ว  

การผิดกฎ FFP เกิดขึ้นจากการใช้เงินสมดุลกัน หรือการมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ และสิ่งที่เป็นรายจ่ายของ ยูไนเต็ด ที่เห็นภาพชัดที่สุดที่จะยกตัวอย่างก็คือนักเตะของพวกเขานี่แหละ 

นับตั้งแต่หมดยุคเซอร์ อเล็กซ์ ที่ทำงานพร้อมกับ ซีอีโอ อย่าง เดวิด กิลล์ แมนฯ ยูไนเต็ด ซื้อนักเตะเเล้วเข้าเป้าตรงเป๊ะตั้งหมดกี่คน ? ... อาจจะมีบ้าง แต่ถ้าให้คุณนับนิ้ว เราชื่อว่าใช้มือข้างเดียวก็น่าจะมากเกินไปด้วยซ้ำกับดีลที่ประสบความสำเร็จ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น 

ประการแรกโครงสร้างด้านฟุตบอลของ ยูไนเต็ด มีส่วนอย่างมาก ในโลกฟุตบอลปัจจุบันนี้ตำแหน่งนี้เรียกว่า Director of Football หรือ DOF นั้นสำคัญมาก ตำแหน่งนี้คือคนที่จะเชื่อต่อระว่างบุคลากรฝั่งปฎิบัติการ เช่น โค้ช และทีมงานวิเคราะห์ตลาดซื้อขาย ให้ต่อกันติดกับ บุคลากรด้านการบริหารอย่างประธานหรือเจ้าของสโมสร 

ถ้าคุณมี DOF เก่ง ๆ เขาคนนั้นจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้มากมาย เพราะเขาคนนั้นจะเป็นคนที่คุยกับโค้ชว่าอยากจะได้นักเตะคนไหนเป็นพิเศษ จนถึงขั้นไปทำการวิเคราะห์ต่อว่ามีนักเตะคนไหนอีกบ้างที่เล่นในสไตล์แบบนี้ คล้าย ๆ กัน มีคุณภาพไล่ ๆ กันลดหลั่นกันลงมา ในกรณีที่งบประมาณมีไม่พอสำหรับเป้าหมายแรก พวกเขาก็จะได้เป้าหมาย 2 หรือ 3 ที่เป็นตรงกับสเป็คกับที่กุนซืออยากได้ 

ที่ ยูไนเต็ด คุณเคยเห็นภาพการทำงานแบบนี้หรือไม่ ? ... เท่าที่นึกออกแทบจะไม่มีเลย เพราะการซื้อส่วนใหญ่ของ ยูไนเต็ด เป็นประเภทถ้าล็อคเป้าแล้วต้องเอาให้ได้ ไม่มีเบอร์ 2 เบอร์ 3 เป็นเป้าหมายรอง และการมีเป้าหมายเดียวทำให้พวกเขาถือไพ่เป็นรองในการเจรจา เพราะทีมที่จะขายสามารถโขกสับราคานักเตะได้ถึงขีดสุด แฮร์รี่ แม็คไกวร์ 80 ล้านปอนด์, อารอน วาน บิสซาก้า 50 ล้านปอนด์, ปอล ป็อกบา 80 ล้านปอนด์, อันโทนี่ 80 ล้านปอนด์, จาดอน ซานโช่ 80 ล้านปอนด์, อเล็กซิส ซานเชซ รับค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 450,000 ปอนด์ และอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถเอามาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ได้

การสู้ทุกราคาไม่มีเป้าหมายรองเป็นเหตุผลที่ทำให้การซื้อขาย ยูไนเต็ด ออกมาเป็นแบบนี้เสมอ หรือบางครั้งพวกเขาก็ซื้อนักเตะราคาแพงในแบบที่ตัวกุนซือยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าจะเอามาเล่นตรงไหน ? อาทิ ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค 40 ล้านปอนด์, อาหมัด ดิยาโล่ 30 ล้านปอนด์ และอื่น ๆ อีกมากมาย  

สิ่งนี้บ่งบอกถึงการล้มเหลวเชิงโครงสร้าง การไร้แบบแผนในการซื้อนักเตะ เพราะคุณมีทีมซื้อขายหรือทีมบริหารด้านฟุตบอลที่เก่งจริง คุณจะไม่เสียท่าคนอื่นง่าย ๆ ถ้าคนนี้แพงไป คุณจะสามารถถอนสมอและไปหานักเตะคนอื่นที่ถูกและสมเหตุสมผลกว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น ลิเวอร์พูล ในซัมเมอร์นี้ พวกเขาเล็งกองกลางที่เป็นเป้าเบอร์ 1 อย่าง มอยเซส ไคเซโด้ และ โรมีโอ ลาเวีย แต่ในเมื่อทั้งสองคนมีค่าตัวและค่าเหนื่อยที่พวกเขาคิดว่ามันแพงเกินไป พวกเขาก็จะไล่ดูตัวรอง ๆ ลงมาที่ตรงสเป็คต์กับการทำทีมของ เยอร์เก้น คล็อปป์ ซึ่งสุดท้ายพวกเขาได้ วาตารุ เอ็นโด, ไรอัน กราเวนเบิร์ช ในราคาที่แสนสบายกระเป๋ามาแทนที่ และทั้ง 2 คนนี้มีผลงานโดดเด่นกว่าเป้าหมายแรกอย่าง ลาเวีย หรือ ไคเซโด้ ที่ทำกับ เชลซี ด้วยซ้ำ ... นี่คือข้อดีของการที่คุณทำงานอย่างมีแบบแผน  

ถ้าคุณได้ผู้บริหารด้านฟุตบอลที่เก่ง เงินที่คุณใช้จะคุ้มค่ากว่าที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นอยู่ทุกวันนี้ บางดีลอาจจะเป็นดีลที่แพงมาก ๆ ในตอนแรก แต่กลับกลายเป็นของดีในตอนหลัง มองไปที่เพื่อนบ้านของพวกเขาอย่าง แมนฯ ซิตี้ ที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ทำงานควบคู่กับ DOF อย่าง ซิกิ เบกิริกสไตน์ พวกเขาทุ่มเงินเยอะก็จริง แต่ตัวที่ได้มาเรียกได้ว่าเข้าเป้าตอบแทนผลงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย พวกเขาให้ค่าเหนื่อย เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ มหาศาล เพื่อขิงตัวดาวยิงรายนี้กับยอดทีมทั่วยุโรป, แจ็ค กรีลิช 100 ล้านปอนด์ ใครก็มองว่าบ้า แต่สุดท้าย กรีลิช ก็เป็นจิ๊กซอว์สู่แชมป์ยุโรปของพวกเขา 

ไม่ใช่แค่การทุ่มแหลกเท่านั้นที่โดดเด่น แต่ดีลชุบชีวิตของ แมนฯ ซิตี้ ก็มีไม่น้อย อิลคาย กุนโดกัน เจ็บบ่อยจนดรอปลงไปมากกับ ดอร์ทมุนด์ สุดท้าย แมนฯ ซิตี้ ไปคว้าตัวมาร่วมทีมและเมื่อ กุนโดกัน มาอยู่ในระบบทำทีมของ เป๊ป เขากลายเป็นนักเตะเบอร์ 8 ที่เก่งที่สุดในพรีเมียร์ลีกเมื่อซีซั่นที่แล้ว, มานูเอล อาคานจี กองหลังที่ใครมองว่าเป็นบ่อน้ำมันกลายเป็นของดีเหนียวแน่นขึ้นมาได้

แน่นอนว่าทั้ง ลิเวอร์พูล และ แมนฯ ซิตี้ ก็เคยซื้อนักเตะพลาดเป้าเหมือนกัน แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูและหาความคุ้มค่าเอามาเทียบกับ แมนฯ ยูไนเต็ด แล้ว มันยิ่งเห็นชัดว่าการทำงานภายใต้โครงสร้างองค์กรที่ดี มีแบบแผนในการใช้เงินแต่ละครั้ง จะช่วยทำให้สโมสรประหยัดเงินได้มากแค่ไหน และสำคัญที่สุดคือทุกสตางค์ที่จ่ายไปจะส่งผลกระทบเชิงบวกกลับสู่สโมสร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือถ้วยรางวัล ซึ่งเป็นสิ่งที่ ยูไนเต็ด ได้แต่มองดูทีมอื่นขับเคี่ยวแย่งชิงกันในเวลานี้ 

 

สิทธิ์ขาดจากกุนซือ 

สิ่งสำคัญอีกประการนอกจาก DOF ก็คือเฮดโค้ชของทีม คนที่จะเอานักเตะที่ซื้อมาใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้จัดการทีมของ ยูไนเต็ด ในช่วงยุคมืดหลายคนออกมาเปิดเผยภายหลังว่าพวกเขาไม่ค่อยได้นักเตะในแบบที่พวกเขาต้องการ ถ้าคุณย้อนดูคำแฉของกุนซืออย่าง โชเซ่ มูรินโญ่ และ หลุยส์ ฟาน กัล คุณจะเห็นว่าทั้งคู่ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีนักจากบริหาร พวกเขาได้นักเตะที่ไม่ตรงสเป็คต์กับการทำทีม ซึ่งผลออกมาก็ฟอร์มการเล่นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตั้งทรงไมได้ .... ปีหนึ่งดูดีมีลุ้น มีต่อมากลับดิ่งลงเหว นั่นก็เพราะว่าพวกเขาไม่ได้เสริมทีมตามถนัดแบบต่อเนื่อง

ปัญหานี้เริ่มโดนแก้ในยุคหลัง ๆ กุนซืออย่าง โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์  หรือ เอริค เทน ฮาก ได้นักเตะในแบบที่พวกเขาอยากได้มากกว่า มูรินโญ่ หรือ ฟาน กัล ... แต่พวกเขาเองก็ยังเฉียบคมไม่พอในการเลือกนักเตะที่ตัวเองอยากได้  ยุคของ เทน ฮาก ชัดมาก มีนักเตะที่เป็นลูกทีมเก่าที่เขาอยากได้ด้วยตัวเอง หรือดีลที่เขามีส่วนในการตัดสินใจมากมาย อันโทนี่, เมสัน เมาท์, โอนาน่า, ราสมุส ฮอยลุนด์  นักเตะเหลานี้ไม่ใช่ราคาถูก ๆ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการซื้อตัวที่ไมได้พัฒนาให้ทีมเเกร่งขึ้นเลย คุณลองหลับตาแล้วนึกภาพว่าหากวันนี้ ยูไนเต็ด ไม่มีนักเตะอย่าง อันโทนี่, เมาท์, โอนนาน่า และ ฮอยลุนด์ พวกเขาจะแทบจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากมายนัก เพราะนักเตะที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่กระดูกสันหลังที่คอยแบกทีมเอาไว้เลยด้วยซ้ำ 

กลายเป็นว่าในวันที่พวกเขาให้สิทธิ์ขาดในการเลือกซื้อนักเตะกับกุนซือมากขึ้น กลับกลายเป็นการถมนักเตะให้มากขึ้นแค่เชิงปริมาณ แต่ไมได้เพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพมากนัก 

การบริหารที่ผิดพลาด และการมีนักเตะที่ไม่ตรงแท็คติกไม่ตอบโจทย์การใช้งานของโค้ชมากขึ้นเรื่อย ๆ ของ ยูไนเต็ด ยังส่งผลต่อการขายนักเตะในส่วนของขาออกด้วย 

นักเตะที่ไมได้ลงสนาม โดนดอง ย่อมเป็นนักเตะที่ไม่มีผลงานประจักษ์ เป็นนักเตะที่ แมนฯ ยูไนเต็ด "อยากขาย" มากกว่าทีมที่มาซื้อนักเตะของพวกเขา "อยากได้" มันเข้าตามหลักเศรษฐศาสตร์อย่าง demand(อุปสงค์) และ Supply(อุปทาน)

ในเมื่อนักเตะที่พวกเขาต้องการเอาออกเป็นไปในลักษณะของการ "ขายโละ" เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองเช่นการให้ค่าเหนื่อยที่แพงกว่าปกติ จึงทำให้นักเตะเหล่านี้ขายยากเป็นพิเศษ เพราะทีมที่มาซื้อก็ต้องมารับผลกระทบกับค่าเหนื่อยที่สูงของนักเตะเหล่านี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่การเจรจาจะต้องมาจบด้วยการ "ลดค่าตัว" เพื่อให้ทีมที่ซื้อนำเงินส่วนนี้ไปสมทบการจ่ายค่าเหนื่อยของนักเตะคนนั้น ๆ .. ที่สุดแล้วการขายถูกจึงเป็นสิ่งที่ "วินวิน" ... ยูไนเต็ด อยากโละ, ทีมที่ได้ก็อยากไดของถูก  ดังนั้น ยูไนเต็ด จึงเป็นทีมที่ ซื้อแพง-ขายถูก อยู่เรื่อยไป

ยกตัวอย่างเช่นดีลของ อเล็กซิส ซานเชซ(ยืมตัวกับ อินเตอร์), โรเมลู ลูกากู(ยืมตัวกับ อินเตอร์), อองโทนี่ มาร์กซิยาล(ยืมตัวกับ เซบีย่า) ยูไนเต็ด นอกจากจะเสียนักเตะในทีมแล้ว พวกเขายังต้องช่วยออกค่าเหนื่อยให้กับทีมที่มายืมอีกต่างหาก ... นี่คือการซื้อที่ผิดตั้งแต่เริ่ม และส่งผลมาจนกระทั่งถึงวันที่พวกเขาอยากจะโละทิ้งอย่างแท้จริง 

หลังจากนี้โชคดีที่มีการเข้าเทคโอเวอร์ 29% ของ เซอร์ จิม แร้ดคลิฟฟ์ ที่จะเข้ามาดูเรื่องฟุตบอลโดยเฉพาะ โครงสร้างด้านฟุตบอลของยุคมืดที่เน่าเฟะกำลังถูกสังคายนา ... ที่เหลือก็ต้องมารอดูกันหลังจากนี้ว่าวัฎจักรการเป็น "หมู" ในตลาดซื้อขายของ ยูไนเต็ด จะจบลงในยุคใหม่นี้หรือไม่ 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.espn.co.uk/football/story/_/id/37624172/manchester-united-failed-ed-woodward-here-went-wrong-happens-next
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10374943/This-story-Ed-Woodwards-Man-United-reign-knows-failed-deliver.html
https://www.goal.com/en/lists/sir-alex-ferguson-vs-john-murtough-man-utd-football-director-jude-bellingham-transfer/blt2caa598b2a0c843f
https://theathletic.com/5151315/2023/12/22/manchester-united-fotball-news-transfers/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา