Feature

Extra Time : กฎต่อเวลาพิเศษ ที่อาจหายไปจากโลกฟุตบอลในอนาคต | Main Stand

Football Extra Time

เมื่อจบการแข่งขัน 90 นาทีแล้วยังหาผู้ชนะ เพื่อผ่านเข้าไปสู่รอบต่อไปไม่ได้ กฎการต่อเวลาพิเศษจึงได้ถือกำเนิดขึ้น จนการเล่น 120 นาที กลายเป็นเสน่ห์ของบอลน็อคเอ๊าท์ไปแล้ว

 

การได้ดูเกมการแข่งขันนานขึ้น เข้มข้นขึ้นอาจถูกใจแฟนบอลหลายคน แต่สำหรับนักฟุตบอลแล้วการต้องเล่นเพิ่มขึ้นอีก 30 นาที นั้นส่งผลกระทบทั้งในแง่ของสภาพจิตใจ และสภาพร่างกาย

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด ผ่านการแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่โลกฟุตบอลเคยมีกฎอย่าง Golden Goal หรือ Silver Goal แต่แล้วก็หายไปในที่สุด การต่อเวลาพิเศษเองก็อาจกลายเป็นหนึ่งในกฎที่อาจหายไปได้ในอนาคต

แต่เพราะอะไรทำไมกฎการต่อเวลาพิเศษอาจหายไปจากโลกฟุตบอลในอนาคต Main Stand อยากชวนผู้อ่านมาร่วมหาคำตอบ ร่วมถกประเด็นไปพร้อมกัน และจะพาย้อนกลับไปอ่านเรื่องราวความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นภายใต้กฎการต่อเวลาพิเศษนี้

 

Extra Time คืออะไร? มีจุดเริ่มต้นอย่างไร?

โดยปกติแล้วระยะเวลาของการแข่งขันฟุตบอลจะอยู่ที่ 90 นาที แต่ในฟุตบอลถ้วยหรือฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ จำเป็นต้องหาผู้ชนะให้ได้เพื่อผ่านเข้าสู่รอบต่อไป ดังนั้นสหพันธ์ฟุตบอลจึงต้องคิดหากฎการแข่งขันขึ้นมาเพื่อหาผู้ชนะ 

ในยุคแรกเริ่มของฟุตบอลถ้วยในอังกฤษหากหาผลแพ้ชนะไม่ได้ จะต้องหาวันแข่งขันกันใหม่จนกว่าจะได้ผู้ชนะ แต่กฎนี้ไม่สามารถใช้กับฟุตบอลระดับทวีปได้ เพราะการเดินทางในสมัยนั้นไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน 

Football Extra Time

ดังนั้น ในปี 1897 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติจึงได้คิดค้น กฎการต่อเวลาพิเศษ (Extra Time) ขึ้นโดยการต่อเวลาเพิ่มอีก 30 นาที แบ่งเป็นครึ่งละ 15 นาที และมีช่วงพักสั้น ๆ ระหว่างพักครึ่ง แต่หากจบ 120 นาทีแล้วยังหาผู้ชนะไม่ได้อีก จะต้องตัดสินด้วยการโยนเหรียญเสี่ยงโชค

ในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศฟุตบอลยูโร ปี 1968 ระหว่างอิตาลีและสหภาพโซเวียต หลังจบ 120 นาที พวกเขาเสมอกันอยู่ 0-0 ดังนั้นจึงต้องตัดสินโดยการโยนเหรียญ ฝ่ายที่ดวงแข็งกว่าอย่างอิตาลีก็ได้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับยูโกสลาเวีย และอิตาลีก็คว้าแชมป์ยูโร 1968 มาครองได้สำเร็จ 

การตัดสินด้วยการโยนเหรียญในฟุตบอลยูโรรอบรองชนะเลิศในครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลยูโรและรวมถึงฟุตบอลโลกอีกด้วย เพราะหลังจากนั้นสหพันธ์ฟุตบอลก็ได้หารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการหาผู้แพ้ชนะไม่ได้ เพราะมองว่าในการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติน้ันมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ควรมาตัดสินการแพ้ชนะด้วยการโยนเหรียญเสี่ยงโชค จึงตัดสินใจว่าจำเป็นต้องคิดหาระบบกฎการตัดสินที่ดีกว่านี้

ในปี 1970 IFAB ได้บัญญัติกฎใหม่เข้าไปในกติกาการแข่งขันคือ เมื่อจบเกมการแข่งขัน 120 นาทีแล้วยังหาผู้ชนะไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องมาดวลจุดโทษกัน ฝั่งละ 5 คน หากยังเสมอกันก็ต้องยิงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาผู้ชนะได้

การเข้ามาของกฎการยิงจุดโทษกลับเปลี่ยนแปลงช่วงเวลา 30 นาทีของการต่อเวลาพิเศษไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป้าหมายผู้เล่นทั้งสองทีมกลายเป็นการเล่นรอเวลาเพื่อไปดวลจุดโทษ นั่นทำให้ช่วงเวลา 30 นาทีของการต่อเวลาพิเศษกลายเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อของเกมฟุตบอล

 

Golden Goal สีสันแห่งโลกลูกหนัง

ในช่วงทศวรรษ 1990 FIFA ได้คิดที่จะปรับเปลี่ยนกฎอีกครั้ง เพราะต้องการให้ช่วงเวลาในการต่อเวลาพิเศษน่าตื่นเต้น และเข้มข้นขึ้น จึงได้เกิดกฎ Golden Goal หรือ กฎประตูทอง ขึ้นมา โดยกฎนั้นเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือในช่วงการต่อเวลาพิเศษ 30 นาที หากมีทีมไหนทำประตูได้ก่อน เกมจะจบทันที โดยไม่ต้องเล่นต่อจนครบเวลา

“เบื้องหลังของไอเดีย golden goal ก็เพื่อให้เกิดการเล่นเกมรุกมากขึ้น ให้แต่ละทีมมุ่งไปข้างหน้า ด้วยแรงจูงใจที่ว่าแค่ประตูเดียวก็จะเป็นผู้ชนะ” แอนดรูว์ คูเปอร์ โฆษกของ FIFA ในตอนนั้นกล่าว

Football Extra Time

กฎนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1993 โดยทาง FIFA ได้ทดลองระบบในฟุตบอลระดับเยาวชนและในลีกรองก่อน และ golden goal ลูกแรกก็ได้เกิดขึ้นในการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนโลกปี 1993 ที่ออสเตรเลีย ในนาทีที่ 99 ของเกมรอบก่อนรองชนะเลิศที่เจ้าภาพออสเตรเลีย พบกับอุรุกวัย ผู้ทำประตูคือ แอนโทนี คาร์โบเน่ กองกลางของทีมชาติออสเตรเลีย ส่งผลให้ออสเตรเลีย เอาชนะอุรุกวัยไปได้ 2-1 และหลังจากนั้นไม่นานกฎ golden goal ก็ได้ถูกนำมาใช้ในฟุตบอลระดับอาชีพ

ยูโร 1996 ที่อังกฤษ คือทัวร์นาเมนต์แรกที่กฎ golden goal ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการ และกลายเป็นกฎสำคัญในการตัดสินแชมป์ ในเกมนัดชิงชนะเลิศระหว่างสาธารณรัฐเช็ก และเยอรมัน จบ 90 นาที พวกเขาเสมอกัน 1-1 ต้องต่อเวลาพิเศษ และในนาที 95 golden goal ลูกแรกอย่างเป็นทางการก็ได้เกิดขึ้น โดยการทำประตูของโอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ ตำนานดาวเตะทีมชาติเยอรมัน และส่งให้เยอรมันคว้าแชมป์ยูโรมาครองได้สำเร็จ

อีกสองปีต่อมาฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส หรือที่เรารู้จักกันในนาม “ฟรองซ์ 98” อีกหนึ่งทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกที่อยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน กฎ golden goal ถูกนำมาใช้ในฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก และมีหนึ่งประตูเกิดขึ้นในเกมรอบ 16 ทีมสุดท้าย ระหว่างเจ้าภาพฝรั่งเศส กับปารากวัย โดยเกิดขึ้นในนาทีที่ 114 โลรองต์ บลองก์ มาทำประตูชี้เป็นชี้ตายให้ฝรั่งเศสได้ และได้จารึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้เล่นคนแรกที่ทำประตูทองได้ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ไม่เพียงเท่านั้นเพราะในที่สุดเจ้าภาพฝรั่งเศสก็คว้าแชมป์โลกครั้งแรกของพวกเขาได้สำเร็จ ด้วยการเอาชนะบราซิลไปอย่างเบ็ดเสร็จ  3-0

หลังจากนั้น golden goal ก็ถูกนำมาใช้ในฟุตบอลระดับชาติอีกครั้ง ในยูโร 2000 ที่เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศสสานต่อฟอร์มอันร้อนแรงจากฟุตบอลโลก 1998 ด้วยการคว้าแชมป์ยูโรมาครองได้สำเร็จ จากประตู golden goal ของ ซีเนดีน ซีดาน ในรอบรองชนะเลิศ และ ดาวิด เทรเซเกต์ ในนาทีที่ 103 ของเกมนัดชิงที่พบกับอิตาลี กฎ golden goal ดูท่าจะถูกโฉลกกับฝรั่งเศสเป็นพิเศษ เพราะกฎนี้พาพวกเขาคว้าทั้งแชมป์โลกและแชมป์ยุโรป

และฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้  ในทัวร์นาเมนต์นี้มีประตูทองเกิดขึ้นถึง 3 ประตู โดยเกิดขึ้นในรอบ 16 ทีมสุดท้าย 2 ประตู จาก อองรี กามาร่า ที่ส่งให้เซเนกัลเกือบชัยเหนือสวีเดน และประตูของ อาห์น จุง วาน ในเกมแห่งความทรงจำของฟุตบอลโลกในครั้งนั้น เจ้าภาพเกาหลีใต้โค่นอิตาลี แบบช็อกโลก แต่ประตูสุดท้ายเกิดขึ้นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ระหว่างตุรกี กับเซเนกัล สองม้ามืดของฟุตบอลโลกครั้งนั้นที่ต้องโคจรมาเจอกันเอง อิลฮาน มานซิซ ซัดประตูชัย ส่งตุรกีผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้สำเร็จ 

Football Extra Time

รายการระดับชาติของ FIFA รายการสุดท้ายที่ได้ใช้กฎนี้คือ ฟุตบอลโลกหญิง 2003 ในเกมนัดชิงชนะเลิศระหว่างเยอรมัน และสวีเดน โดยเกิดขึ้นในนาทีที่ 98 เนีย คุนเซอร์ (Nia Kuenzer) โหม่งประตูทองประตูสุดท้ายให้เยอรมันเอาชนะสวีเดน 2-1 และคว้าแชมป์โลกหญิงไปครองได้สำเร็จ 

เบื้องลึกเบื้องหลังที่ FIFA ต้องยกเลิกกฎนี้ไปก็เพราะผลตอบรับในแง่ลบที่มากกว่าแง่ดี กฎนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มความตื่นเต้น ความเข้มข้นในเกมการแข่งขัน และหวังให้ผู้เล่นทั้งสองทีมเปิดหน้าแลกกันให้เร็วที่สุดเพื่อทำประตูแรกให้ได้ แต่ในความเป็นจริงกฎนี้กลับสร้างความกังวลและความกดดันให้กับผู้เล่น จนไม่มีฝ่ายไหนกล้าที่จะเล่นเกมเกมรุก กลายเป็นทั้งสองทีมเลือกที่จะเล่นแบบรัดกุม และรอเวลาไปดวลจุดโทษกัน นั่นทำให้เกมการแข่งขันที่ต้องต่อเวลาพิเศษกลายเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อมากกว่าสนุก

 

ช่วงเวลาสั้น ๆ ของ Silver Goal 

หลังจากที่ยกเลิกกฎ Golden goal ไป FIFA ก็ยังไม่หยุดความพยายามที่จะคิดหากฎพิเศษเพื่อมาใช้ในการแข่งขันในช่วงต่อเวลาพิเศษ จึงได้เกิดเป็นกฎ Silver Goal ขึ้น คือ ภายใน 15 นาทีแรกของการต่อเวลาพิเศษ หากมีทีมที่ทำประตูขึ้นนำไปจนจบ 15 นาทีแรกได้ จะเป็นฝ่ายชนะทันที โดยไม่ต้องแข่งต่อใน 15 นาทีที่เหลือ ซึ่งแตกต่างจาก golden goal ที่หากมีฝ่ายที่ทำประตูได้ก่อนเกมจะจบทันทัน

FIFA คิดกฎ silver goal ขึ้นมาเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องของกฎ golden goal ที่ถูกมองว่าไม่ยุติธรรมและโหดร้ายเกินไป เพราะหากโดนยิงก่อนอีกฝ่ายจะไม่มีโอกาสให้แก้ตัวเลย FIFA จึงคิดว่าการปรับเปลี่ยนรายละเอียดตรงนี้จะช่วยให้ดีขึ้นได้ เพราะหากโดนยิงได้ในนาทีที่ 5 ของการต่อเวลาพิเศษ คุณยังมีเวลาอีก 10 นาที เพื่อแก้ตัวและทำประตูตีเสมอ

Football Extra Time

แต่กฎ silver goal กลับมีชีวิตอยู่แค่ช่วงสั้น ๆ ในโลกฟุตบอลเท่านั้น โดยนำมาใช้ครั้งแรกใน ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก และ ยูฟ่า คัพ 2002-03 (หรือ ยูฟ่า ยูโรปา ลีก ในปัจจุบัน)

นัดชิงชนะเลิศยูฟ่า คัพ 2002-03 ระหว่างปอร์โต้ และเซลติก ถือเป็นโอกาสแรกที่จะได้ประเดิมใช้กฎ silver goal หลังจบ 90 นาที สกอร์เสมอกันอยู่ที่ 2-2 ต้องต่อเวลาพิเศษ และก็มีประตูเกิดขึ้นโดยเป็นทางฝั่งปอร์โต้ที่ทำประตูออกนำไปได้ 3-2 แต่เกิดขึ้นในนาทีที่ 115 นาที ไม่เข้าข่าย silver goal ต้องเล่นต่อจนครบเวลา 

ในนัดชิง ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาลเดียวกัน ระหว่าง เอซี มิลาน และ ยูเวนตุส ที่จบ 90 นาทียังทำอะไรกันไม่ได้ ต้องต่อเวลาพิเศษ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น สุดท้ายต้องไปตัดสินกันถึงฎีกา และเป็นฝั่งมิลานดวลจุดโทษเอาชนะยูเวนตุสไปได้

ส่วนในรายการระดับชาติกฎ silver goal ถูกนำไปใช้ 1 ครั้งถ้วน โดยเกิดขึ้นในฟุตบอลยูโร 2004 ที่โปรตุเกส และกลายเป็นประตูสำคัญที่ช่วยให้กรีซผ่านเข้าไปชิงกับเจ้าภาพโปรตุเกส โดยเกิดขึ้นในนาทีที่ 105+1 ของรอบรองชนะเลิศระหว่างกรีซ และสาธารณรัฐเช็ก ผู้ทำประตู คือ Traianos Dellas เป็นประตูเงินเพียงประตูเดียวที่เกิดขึ้น และเป็นประตูที่ส่งกรีซถึงแชมป์ยูโร

กฎที่ถูกคิดขึ้นมาใหม่อย่าง silver goal กลับไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก golden goal เลย ช่วงเวลา 30 นาทียังคงกลายเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อ แถมกฎใหม่ที่คิดขึ้นมาก็ไม่ได้มีความสมเหตุสมผล นั่นจึงทำให้หลังจบยูโร 2004 ทั้ง golden goal และ silver goal ถูกถอดออกจากกฎ FIFA และหายไปตลอดกาล จนช่วงเวลาปัจจุบันนี้มีเพียงการเล่นจนครบ 30 นาที และหากทำอะไรกันไม่ได้ ก็จะไปตัดสินด้วยการดวลจุดโทษ

 

ทำไมการต่อเวลาพิเศษถึงอาจหายไปได้ในอนาคต ?

ในช่วงฤดูร้อนปี 2018 ลีกฟุตบอลอังกฤษยืนยันว่าจะยกเลิกการต่อเวลาพิเศษในอีเอฟแอลคัพ หากจบ 90 นาทีแล้วยังหาผู้ชนะไม่ได้ จะดวลจุดโทษทันที เหลือไว้เพียงแค่การต่อเวลาพิเศษในนัดชิงชนะเลิศเท่านั้น 

กฎนี้ถูกนำมาใช้สำหรับฤดูกาล 2018-2019 หลังจากที่สโมสรต่าง ๆ ลงมติให้ยกเลิกการต่อเวลาพิเศษ 30 นาที เพราะมองว่าไม่มีประโยชน์สำหรับถ้วยใบที่สามของฟุตบอลอังกฤษ และหวังว่าการยกเลิกกฎนี้จะช่วยลดโอากาสที่ผู้เล่นจะเหนื่อยล้าได้ 

Football Extra Time

แถลงการณ์ของ EFL กล่าวว่า “เหตุผลที่ EFL ยกเลิกกฎการต่อเวลาพิเศษ 30 นาที ก็เพื่อแก้ปัญหาความเหนื่อยล้าที่จะเพิ่มขึ้นในบางครั้งเมื่อต้องเล่นในเกมกลางสัปดาห์ และจากสถิติยังเผยให้เห็นอีกว่าเกมการแข่งขันกว่า 85% จบใน 90 นาที จึงไม่จำเป็นจะต้องใช้กฎต่อเวลาพิเศษอีกต่อไป”

ในช่วงฤดูร้อนปีเดียวกัน ยูฟ่ายืนยันว่าทีมต่าง ๆ จะสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นเพิ่มได้อีกฝั่งละคนในช่วงการต่อเวลาพิเศษ แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่โต้แย้งกันด้วยความได้เปรียบเสียเปรียบจากเวลาการแข่งขันที่มากกว่า ตัวอย่างเช่นทีมสองทีมที่ต้องเล่นนัดชิงชนะเลิศ แต่อีกทีมกลับมีเวลาการแข่งขันที่มากกว่าถึง 60 นาที จากการต้องเล่นช่วงต่อเวลาพิเศษถึง 2 นัด ก่อนจะเข้าชิง ความเหนื่อยล้าสะสมที่มากกว่าอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเล่นของนักเตะได้

หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในฟุตบอลโลก 2018 คู่ชิงในครั้งนั้นคือม้ามืดอย่างโครเอเชีย และเจ้าของแชมป์โลก 1 สมัย ฝรั่งเศส โดยโครเอเชียผ่านเข้าสู่นัดชิงชนะเลิศได้ด้วยการเล่นต่อเวลาพิเศษทุกนัดในรอบน็อคเอ๊าท์ จนกลายเป็นเทพแห่งการต่อเวลา และดวลจุดโทษ ทำให้โครเอเชียมีจำนวนนาทีที่แข่งมากกว่าฝรั่งเศสถึง 90 นาที หรือเทียบเท่าฟุตบอล 1 แมตช์ และสุดท้ายก็เป็นฝรั่งเศสชนะไป 4-2 คว้าแชมป์โลกสมัยที่สองมาครองได้ จำนวนเวลาการแข่งขันที่มากกว่าอาจไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่ทำให้โครเอเชียพ่ายแพ้ไป อาจจะด้วยคุณภาพผู้เล่นที่ฝรั่งเศสมีมากกว่า เมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ หรือแทคติกที่ใส่ลงไปในสนาม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหนื่อยล้าที่มากกว่าจะไม่ส่งผลกระทบเลย

โคปา อเมริกา และโคปา ลิเบอร์ตาดอเรส ได้แก้ไขปัญหานี้ไปแล้ว โดยให้การต่อเวลาพิเศษเกิดขึ้นได้ในนัดชิงชนะเลิศเท่านั้น เพื่อลดปัญหาที่ทีมหนึ่งจะได้เปรียบอย่างไม่ยุติธรรมเหนืออีกทีมหนึ่ง และอาจส่งผลดี หากพวกเขามีเวลาการลงเล่นน้อย ความกังวลเกี่ยวกับความเหนื่อยล้าก็จะลดลง ทำให้เกมนัดชิงชนะเลิศดุเดือดมากขึ้น

Football Extra Time

จากผลการวิจัยถึงผลกระทบต่อสภาพร่างกายของนักเตะในช่วงการต่อเวลาพิเศษ ชี้ให้เห็นว่า การเล่นในช่วงต่อเวลาพิเศษส่งผลต่อประสิทธิภาพทางกายและทางเทคนิคของผู้เล่น โดยการเก็บข้อมูลจากผู้เล่น 99 คน ที่ลงเล่น 6 นัดในช่วงต่อเวลาพิเศษในฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพในการเข้าทำ ความเร็วสูงสุดในการวิ่ง ระยะทางในการวิ่ง ลดลง ซึ่งเกิดจากความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากอะดรีนาลีนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้เล่น 

การวิจัยอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าอิทธิพลของช่วงต่อเวลาพิเศษส่งผลต่อประสิทธิภาพของผู้เล่นในเรื่องจำนวนการจ่ายบอล การยิง การเลี้ยงบอล และการจ่ายบอลเข้าพื้นที่ตรงกลาง ทำให้อัตราการจ่ายบอลสำเร็จและความแม่นยำในการจ่ายบอลลดลง นั่นหมายรวมถึงโอกาสการเข้าทำเกมรุกก็จะลดลงด้วย

และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หลาย ๆ การแข่งขันยกเลิกกฎนี้ไปแล้ว เพราะระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูร่างกายจะนานกว่าปกติ และอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพของการฟื้นตัว นั่นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บได้

การแข่งขันที่เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอย่าง ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ ระหว่างแชมป์ UCL แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และแชมป์ ยูโรปา เซบีย่า ก็เป็นอีกหนึ่งถ้วยของยูฟ่าที่ยกเลิกการต่อเวลาพิเศษไปแล้ว โดยในเกมนั้นหลังจบ 90 นาที พวกเขาเสมอกันอยู่ 1-1 ต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษทันที และเป็นทางฝั่งแมนฯ ซิตี้ ที่ดวลชนะจุดโทษไปได้ 5-4

ในมุมมองของนักฟุตบอล แบร์นาโด้ ซิลวา ตาวเตะชาวโปรตุเกสของเรือใบสีฟ้า ได้ออกมาแสดงความกังวัลถึงจำนวนเวลาและจำนวนแมตช์การแข่งขันที่นักฟุตบอลต้องเผชิญ “ในปฏิทินการแข่งขันที่อัดแน่น การเล่นในช่วงทดเวลาที่ยาวนาน หรือแม้กระทั่งการต้องเล่นในช่วงต่อเวลาพิเศษ นักเตะต้องเผชิญกับความกังวลว่าจะเกิดความเหนื่อยล้าที่มากไป และอาจทำให้เราเกิดอาการบาดเจ็บได้”

อีกทีมหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์ นักเตะดีกรีแชมป์โลกอย่าง ราฟาเอล วาราน ก็เคยออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ไว้ในฐานะผู้เล่นในแนวรับ “คงไม่มีผู้เล่นคนไหนชื่นชอบการเล่นในช่วงต่อเวลาพิเศษ โดยเฉพาะผู้เล่นในแนวรับ เพราะตลอดระยะเวลา 30 นาทีนั้นเต็มไปด้วยความกังวลว่าจะทำผิดพลาด”

ผู้สื่อข่าว Telegraph ได้เสนอไอเดียว่า “เราควรยกเลิกกฎการต่อเวลาพิเศษ แล้วไปตัดสินกันที่การดวลจุดโทษเลยดีกว่า เพราะจากสถิติก็ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่าช่วงเวลา 30 นาทีตรงนั้น ผู้เล่นมักเล่นอย่างรัดกุม เพื่อไปดวลจุดโทษกันอยู่แล้ว ทำไมเราถึงไม่ยกเลิกมันไปซะเลยอย่างที่ EFL ทำ”

Football Extra Time

แม้ว่าในรายการระดับชาติอย่างฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมาจะยังคงใช้กฎนี้อยู่ หรือแม้กระทั่งในยูโร 2024 ที่กำลังจะมาถึงก็ยังคงต้องต่อเวลาพิเศษ แต่ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา เราได้เห็นแล้วว่าหลาย ๆ รายการยกเลิกกฎนี้ไปแล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องสภาพร่างกายของนักเตะ 

แนวทางที่ดูจะเป็นไปได้ที่สุด และเริ่มใช้ไปแล้วในบางรายการ คือ ยกเลิกการต่อเวลาพิเศษ แล้วตัดสินด้วยการดวลจุดโทษไปเลย แม้ว่าช่วงเวลาของการดวลจุดโทษจะเต็มไปด้วยความตึงเครียด แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่เด็ดขาดที่สุดที่จะใช้ในการหาผลแพ้ชนะ โดยที่ไม่ต้องเล่นเพิ่มขึ้นอีก 30 นาที

ในอนาคต FIFA อาจจะต้องคำนึงถึงผลกระทบเรื่องความเหนื่อยล้า และอาการบาดเจ็บให้มากขึ้น เพราะรายการสำคัญ ๆ ที่ยังคงกฎนี้ไว้ คือ รายการแข่งขันระดับทีมชาติ ที่จัดการแข่งขันคั่นกลางโปรแกรมลีก และในปัจจุบันเองนักฟุตบอลก็มีจำนวนนัดที่ต้องลงเล่นมากอยู่แล้ว การปรับกฎข้อนี้อาจส่งผลดีต่อสภาพร่างกายนักเตะได้ แต่นี่ก็เป็นเพียงการตั้งสมมติฐานจากข้อมูลการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าช่วงเวลา 30 นาทีที่ต้องเล่นเพิ่มไปนั้นส่งผลอย่างไรต่อนักเตะบ้าง ส่วนในอนาคตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะตัดสินใจอย่างไร เรายังคงต้องติดตามกันต่อไป

อ่านจนมาถึงตรงนี้แล้วผู้อ่านทุกท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ยังเห็นด้วยกับการมีอยู่
ของกฎการต่อเวลาพิเศษหรือไม่ หรือหลังจบ 90 นาที แล้วดวลจุดโทษกันเลยเป็นสิ่งที่ดีกว่า หรือมีแนวทางอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ร่วมแสดงความคิดเห็นกันได้

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.football-stadiums.co.uk/articles/extra-time/
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2095254620300429
https://elearning.barcainnovationhub.com/how-does-playing-extra-time-influence-a-football-players-performance/
https://www.uefa.com/uefaeuro/history/seasons/1968/matches/
https://thesefootballtimes.co/2019/12/05/the-rise-and-fall-of-the-golden-goal-how-it-defined-tournaments-and-created-legends/
https://www.thefootballhistoryboys.com/2020/08/extra-time-rise-and-fall-of-silver-goal.html
https://www.fifa.com/tournaments/mens/u20worldcup/australia1993/match-center/30914
https://www.uefa.com/uefaeuro/match/65299--france-vs-italy/
https://www.fifa.com/tournaments/womens/womensworldcup/usa2003/match-center/69290032
https://www.uefa.com/uefachampionsleague/history/seasons/2002/
https://www.uefa.com/uefaeuro/match/79108--greece-vs-czechia/
https://medium.com/@mayankpatel_5153/unleashing-the-excitement-why-its-time-to-remove-the-extra-time-rule-in-football-124b4f828992
https://www.skysports.com/football/news/11938/11398594/extra-time-scrapped-in-carabao-cup-from-next-season
https://www.telegraph.co.uk/football/2023/12/20/extra-time-should-be-done-away-with-for-good/

Author

กมลธิชา จันทร์เอียด

หนูรู้สึกง่วงตลอดเวลา ยกเว้นตอนดู "ลิเวอร์พูล" ทีมรักของหนูลงแข่ง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ