Feature

อนาคต “ซูเปอร์ลีก” หลังคำตัดสินศาลยุติธรรมยุโรป | Main Stand

ย้อนกลับไปในปี 2021 หากใครยังจำกันได้ วงการฟุตบอลยุโรปได้เกิดแนวคิดการจัดตั้งศึกฟุตบอลยูโรเปี้ยน “ซูเปอร์ลีก” ขึ้น โดยมี 12 สโมสรระดับท็อปแห่งทวีปเป็นตัวตั้งตัวตี แต่ก็เกิดกระแสต้านจากทั้งองค์กรลูกหนังแม่แห่งยุโรป อย่างยูฟ่า รวมถึงแฟนบอลน้อยใหญ่ ทำให้แนวทางดังกล่าวถูกพับเก็บไปชั่วคราว และแม้ว่ากระแส ซูเปอร์ลีกจะถูกผุดขึ้นมาอีกครั้งในช่วงสองหนึ่งปีให้หลัง ทว่าก็ยังล่มไม่เป็นท่าอีกคำรบ 

 

อย่างไรเสีย อนาคตของการแข่งขันดังกล่าวถูกพูดถึงอีกครั้งในช่วงปลายปี 2023 หลังศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (อียู) มีคำตัดสินว่าทั้งยูฟ่า รวมถึงสพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มีความผิดฐานขัดขวางการตั้ง ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก อย่างไม่เป็นธรรมและขัดต่อกฎหมายของอียู 

เป็นเหตุให้ศึกซูเปอร์ลีก กลับมาเป็นที่พูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้ง โดยตัวละครหลักก็ยังคงทั้งฝั่งที่เห็นดีเห็นงาม และฝั่งที่ยืนกรานค้านเต็มอัตรา นำมาซึ่งคำถามปลายเปิดต่อเนื่องจากคำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรป ว่าซูเปอร์ลีกมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน

Main Stand ขอชวนแฟน ๆ มาวิเคราะห์ไปด้วยกัน

 

ทำความเข้าใจยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก

แนวคิดการจัดตั้งรายการแข่งขันยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ถูกพูดถึงครั้งแรกในเดือนเมษายน 2021 โดยใจความหลักของทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว จะถูกนำมาแข่งขันแทนที่ของรายการแข่งขันชิงแชมป์ทวีปยุโรป ในนัดกลางสัปดาห์ ทั้งยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ที่มีสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า เป็นหัวเรือใหญ่ 

แรกเริ่มเดิมที มีทีมระดับท็อปของยุโรปตอบตกลงเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวไปแล้ว 12 จาก 15 ทีมในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ประกอบไปด้วย 6 ทีมจากพรีเมียร์ลีก นำโดยแมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล และท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์, 3 ทีมจากลา ลีก้า ประกอบด้วย เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า รวมถึงแอตเลติโก้ มาดริด และอีก 3 ทีมจากกัลโช่ เซเรีย อา คือ ยูเวนตุส, อินเตอร์ มิลาน และเอซี มิลาน 

ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ตั้งใจจะจัดการแข่งขันแบบ 20 ทีมมาห้ำหั่นกัน นอกจาก 12 ทีมที่เผยนามแล้ว ก็จะมีอีก 3 ทีมที่ยังไม่เผยชื่อออกมา ส่วนอีก 5 ทีมที่เหลือ จะมาจากการคัดเลือกซึ่งขึ้นอยู่กับผลงานการแข่งขันภายในประเทศของตัวเอง ในแต่ละซีซั่น

รูปแบบการแข่งขันจะแบ่งออกเป็นรอบแรก แบ่ง 20 ทีมออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ทีม เตะแบบพบกันหมดในระบบเหย้าและเยือน โดยทีม 3 อันดับแรกของทั้ง 2 กลุ่ จะเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศทันที ส่วนอันดับ 4 และ 5 จะต้องมาแข่งเพลย์ออฟแบบเหย้าเยือนเพื่อช่วงชิงโควตาที่เหลือ

จากนั้นจะประกบคู่แบบน็อคเอาต์ไปจนถึงรอบรองชนะเลิศ เป็นการแข่งขันแบบสองเลก (เหย้า-เยือน) ก่อนจะได้คู่ชิงชนะเลิศมาแข่งขันที่สนามกลางในช่วงเดือนพฤษภาคม 

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้แนวคิด ซูเปอร์ลีก ริเริ่มขึ้น เพราะเหล่าทีมที่รวมกลุ่มกันคิดริเริ่ม มองเรื่องส่วนแบ่งรายได้ของทัวร์นาเมนต์สโมสรใหญ่สุดของยุโรป อย่างแชมเปี้ยนส์ ลีก มีมูลค่าที่ไม่สมเหตุสมผลกับที่เหล่าสโมสรใหญ่ควรจะได้รับ 

อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น ยกตัวอย่างมูลค่าของเงินนัดชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ลีกเทียบกับเกมนัดชิงตั๋วเพลย์ออฟเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ของสองทีมจากเดอะ แชมเปี้ยนชิพ ปรากฏว่าการเดิมพันระหว่างสองสโมสรลีกรองอังกฤษมีมูลค่ามากกว่าเดิมพันในนัดดำแชมเปียนส์ ลีก ถึง 42.5 เท่า 

หรือหากมององค์รวมอย่างเรื่องเงินรางวัลเปรียบเทียบระหว่างแชมเปี้ยนส์ลีกกับซูเปอร์ลีก ก็จะพบว่าทีมที่เข้าร่วมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก หากไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้ จะมีรายรับรวมซึ่งคำนวณจากทั้งค่าเข้าร่วมการแข่งขัน ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด รวม ๆ แล้ว 172.5 ล้านยูโร 

ในขณะที่เงินสะพัดของซูเปอร์ ลีก คำนวณค่าจากค่าต่าง ๆ ตามรายการแชมเปี้ยนส์ลีกเช่นกัน หากไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้ ก็จะได้รับรายได้สูงถึง 802 ล้านยูโร หรือหากแค่เข้าร่วม ก็ได้เงินเหนาะ ๆ เข้ากระเป๋าไปแล้วที่ 350 ล้านยูโร แน่นอนว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าทีมแชมป์ UCL เกินเท่าตัว

ว่ากันว่าทีมใหญ่ ๆ ในยุโรปมีการพูดถึงการจัดตั้งรายการแข่งขันดังกล่าวมาหลายทศวรรษแล้ว ยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์ของอาร์แซน เวนเกอร์ ที่เคยทำนายไว้ตั้งแต่ปี 2009 ว่ายูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีกจะเกิดขึ้นในสักวันหนึ่ง “ฟุตบอลลีกจะมีอยู่ต่อไป แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า บางทีอาจจะมียูโรเปี้ยน ลีก ผมเองก็ไม่มั่นใจว่าความคิดของผมนั้นถูกต้อง 100% หรือไม่ แต่ผมรู้สึกว่ามีคนบางกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังในเกมของเรา กำลังทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากฎต่าง ๆ มันเริ่มเคร่งครัดจนเกินไป”

แต่กระนั้น การเกิดขึ้นแบบเป็นรูปเป็นร่างยังไม่ปรากฏให้เห็นง่าย ๆ เพราะเมื่อใดก็ตามที่กระแสนี้เริ่มผุด ก็จะถูกยูฟ่าสกัดจากการเพิ่มเงินรายได้ให้แต่ละทีมที่ลงเล่นในแชมเปี้ยนส์ลีกอยู่บ่อย ๆ 

กระทั่ง เมื่อถึงคราวที่การพูดถึงมาบังเกิดขึ้นแบบเต็มอัตราในปี 2021 หรือหากสังเกตดี ๆ กระแสนี้มาแดงขึ้นในช่วงหลังวิกฤตใหญ่โควิด-19 ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสโมสรใหญ่ ๆ ขาดรายได้จากผลกระทบนี้ไม่มากก็น้อย

 

กระแสมากี่วัน เจอต้านกลับจนต้องพับเก็บ

ไม่ถึง 72 ชั่วโมงหลังการประกาศ ปรากฏว่าแนวคิดการเกิดขึ้นของซูเปอร์ลีก ต้องพับโครงการไปเสียก่อน เมื่อ 6 สโมสรจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ทนกระแสต่อต้านไม่ไหว โดยเฉพาะกับแฟนบอลท้องถิ่นของแต่ละทีม และค่อย ๆ แถลงถอนตัวออกจากซูเปอร์ลีกไป ตามมาด้วยอินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน และแอตเลติโก้ มาดริด ที่ประกาศถอนทีมในลำดับถัดมา

“แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะไม่มีส่วนร่วมในการแข่งขัน ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก พวกเราได้รับฟังปฎิกิริยาจากแฟนบอล จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร และผู้มีส่วนสำคัญอื่นๆ อย่างระมัดระวัง เราจะยังคงทำงานร่วมกับชุมชนฟุตบอลอย่างหนักเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนเพื่อความท้าทายในเกมฟุตบอลระยะยาวต่อไป” แมนฯ ยูไนเต็ด ประกาศผ่านเว็บไซต์ทางการสโมสร เรื่องแถลงถอนตัวจากซูเปอร์ลีก 

เช่นเดียวกับการออกมาเทคแอคชั่นจากองค์กรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป ถึงขั้นมีรายงานว่ายูฟ่าเตรียมเอาผิดทางวินัยกับทีมที่ยังไม่ยอมถอนตัว โทษฐานละเมิดกฎการแข่งขัน และยืดไปถึงขั้นขู่ห้ามนักเตะจากสโมสรนั้น ๆ ลงเล่นเกมทีมชาติด้วย 

พร้อมกับแถลงขอบคุณทีมใหญ่จากทั้งบุนเดสลีก้าและลีกเอิง ที่มองเรื่องของเกมกีฬาผูกโยงกับแฟนบอล มากกว่ามองเรื่องเม็ดเงินมหาศาล 

เท่ากับว่า นับแต่ที่มีประกาศเตรียมจัดตั้งซูเปอร์ลีก ในวันที่ 18 เมษายน 2021 เวลาไม่ถึง 72 ชั่วโมงต่อจากนั้น หลาย ๆ ทีมที่เคยเข้าร่วมต่างทยอยบอกปัดเป็นส่วนหนึ่งแบบทันควัน

อย่างไรก็ดี ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ยังไม่ได้จางหายไปจากสารบบ นั่นเพราะสามสโมสรที่ว่ากันว่าเป็นแกนนำอย่างเรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และยูเวนตุส ไปจนถึงบริษัทที่สนับสนุนการก่อตั้งซูเปอร์ลีกอย่าง A22 ยังไม่มียืนยันเรื่องการถอดแนวคิดนี้

นั่นเท่ากับว่าบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ยังไม่ถอนตัว ยังมีโอกาสและจังหวะปรับโครงสร้างแผนงานใหม่ เพื่อใช้โปรโมทเพิ่มเติมในอนาคตต่อไปได้ จนกระทั่งมีการเปิดโปรเจกต์ใหม่อีกคำรบ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 คราวนี้ตัวละครหลักคือเบิร์นด์ ไรชาร์ต ซีอีโอของ A22 Sports Management หรือบริษัทสนับสนุนการก่อตั้ง ได้เปิดเผยถึงแนวทางการแข่งขันใหม่ของซูเปอร์ลีก ซึ่งหวังรื้อฟื้นซูเปอร์ลีกให้กลับมาคืนชีพอีกครั้ง

"รากฐานของฟุตบอลยุโรปกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะล่มสลาย มันถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะในขณะที่สโมสรต้องแบกรับความเสี่ยง แต่พวกเขากลับไม่มีอำนาจร่วมในการตัดสินใจกับประเด็นสำคัญ และเมื่อสโมสรออกมาพูดต่อต้านระบบที่มีอยู่ พวกเขาก็มักใช้การขู่เสมอ" เบิร์นด์ ไรชาร์ตกล่าวกับ Die Welt สื่อจากเยอรมนี

กล่าวโดยสรุปคือซูเปอร์ลีกจะเพิ่มทีมที่ร่วมลงชิงชัย ซึ่งคาดการณ์สูงสุดถึง 80 ทีม คราวนี้จะไม่ให้มีสมาชิกถาวรแล้ว มีการจัดแบบดิวิชั่น ใช้ระบบเลื่อนชั้นตกชั้น มีแมตช์แข่งขันมากขึ้น และที่สำคัญ บรรดาทีมเกรดรองยุโรป ที่แต่เดิมจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ทว่าการปรับโฉมใหม่นี้ จะเปิดโอกาสให้มีพื้นที่มากขึ้น และจะอิงตามผลงานจากลีกในประเทศเป็นสำคัญ

กระนั้น ก็ยังไม่มีสโมสรใดเปิดเผยตัวถึงการสนับสนุนยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก รูปแบบใหม่นี้ เรื่องดังกล่าวยังคงเป็นเพียงกระแสมากกว่าการกระทำ จนกระทั่งโมเมนต์สำคัญมาเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี 2023


943 วัน กระทั่งถึงวันตัดสินจากศาลอียู

21 ธันวาคม 2023 หรือกว่า 943 วันหลังเรื่องดังกล่าวถูกผุดขึ้น ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (ECJ) มีบทสรุปของการพิจารณาคดี C-333/21 ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างฟีฟ่า ยูฟ่า และการจัดแข่งขันซูเปอร์ลีก โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า การที่ยูฟ่าและฟีฟ่าออกกฎห้ามสโมสรเข้าร่วมการแข่งขัน ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายของทางสหภาพยุโรป  

หรืออธิบายได้โดยสรุปคือ ทั้งฟีฟ่าและยูฟ่าไม่มีสิทธิ์ห้ามสโมสรเข้าร่วมซูเปอร์ลีกได้ เช่นเดียวกัน ทั้งสององค์กรลูกหนังโลกไม่มีสิทธิ์ลงโทษห้ามหรือแบนทั้งสโมสรและผู้เล่น ไม่ให้ทำการแข่งขันในรายการใด ๆ ของพวกเขาได้

หลังจากที่ศาลยุโรปถูกเผยแพร่ออกไป ทาง A22 ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังซูเปอร์ลีก ก็ได้ออกแถลงการณ์เดินหน้าเสนอรูปแบบการแข่งขันใหม่ของฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรป พร้อมกับแถลงการณ์สั้น ๆ ขึ้นมาทันที

“เราได้รับสิทธิ์ในการแข่งขัน การผูกขาดของยูฟ่าสิ้นสุดลงแล้ว ฟุตบอลเป็นอิสระ บัดนี้สโมสรต่าง ๆ จะไม่ต้องทนจากการคุกคามและการคว่ำบาตรอีกต่อไป”

โดยซูเปอร์ลีกในรูปแบบใหม่ล่าสุดที่มีการเสนอขึ้นมา จะมีทีมลงแข่งขันทั้งสิ้น 64 ทีม แบ่งเป็น 3 ลีก คือ Star ลีกสูงสุด 2 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ทีม รวม 16 ทีม, Gold ลีกรอง 2 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ทีม รวม 16 ทีม และ Blue ลีกล่าง 4 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ทีม รวม 32 ทีม ซึ่งจะอิงจากผลงานในลีกภายในประเทศเป็นสำคัญ อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

เอฟเฟ็คต์ที่ตามมา

แน่นอนว่าการตัดสินของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปนั้นยึดไปตามข้อกฏหมาย ซึ่งเปรียบได้ดั่งการตัดสินไปตามทฤษฎี

ทว่าหากมองในทางปฏิบัติ ก็จะพบว่าหลาย ๆ องค์กรฟุตบอลในยุโรป ไม่ว่าจะทั้งยูฟ่า ไปจนถึงองค์กรระดับประเทศทั้งสมาคมฟุตบอลชาตินั้น ๆ ไปจนถึงสโมสรน้อยใหญ่ ก็ยังคงยืนกรานในจุดยืนเดิมว่าขอ “ต่อต้าน” การจัดตั้งยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก

"ในวันนี้ (21 ธันวาคม 2023) เราขอย้ำมากกว่าที่เคยย้ำว่า “ซูเปอร์ลีก” เป็นโมเดลที่เห็นแก่ตัวและเอื้อประโยชน์แต่ทีมชั้นสูง อะไรก็ตามที่ไม่ได้เปิดกว้างอย่างแท้จริง ด้วยการมีส่วนร่วมโดยตรงผ่านลีกท้องถิ่นในแต่ละฤดูกาล คือระบบปิด ฟุตบอลยุโรปกำลังพูด ได้โปรดฟัง #EarnItOnThePitch” แถลงการณ์จากลา ลีก้า

“ประตูสู่ซูเปอร์ลีกที่เอฟซี บาเยิร์น ยังคงถูกปิดตายเช่นเดิม” ประกาศจากบาเยิร์น มิวนิค

“จุดยืนยังไม่เปลี่ยนแปลง เรายังคงมุ่งมั่นที่จะลงแข่งในรายการของยูฟ่าต่อไป และจะให้ความร่วมมือกับยูฟ่า พรีเมียร์ลีก และสโมสรต่าง ๆ อย่างเต็มที่” ถ้อยแถลงจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

"เราจะไม่พยายามหยุดพวกเขา พวกเขาสามารถสร้างการแข่งขันอะไรขึ้นมาก็ได้ ตามที่พวกเขาต้องการ ผมหวังว่าพวกเขาจะเริ่มสร้างการแข่งขันของพวกเขาขึ้นมา ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วแข่งกันอยู่ 2 สโมสรนั่นแหละ ฟุตบอลน่ะ ไม่ได้มีไว้ขาย" สารจาก อเล็กซานเดอร์ เชเฟริน ประธานยูฟ่า

เพราะคำตัดสินที่มาจากองค์การกลาง แน่นอนว่าการขัดขวางกฏระเบียบที่ตั้งมาไว้แล้วนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม โอกาสที่จะเกิดขึ้นของซูเปอร์ลีกนั้นก็มีอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะทั้งการที่ยูฟ่า จัดรูปแบบแข่งขันใหม่แชมเปี้ยนส์ลีก เริ่มในปี 2024 และแว่ว ๆ ว่ามูลค่าของการแข่งขันก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปตามโอกาส นั่นแสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นและพร้อมท้ารบกับแนวคิดซูเปอร์ลีกเต็มสูบ 

เช่นเดียวกับแถลงการณ์จากสโมสรฟุตบอลทั่วทวีปยุโรป นอกจากบาเยิร์น มิวนิค และแมนฯ ยูฯ แล้วถึงตอนนี้ก็มีทั้งเชลซี, สเปอร์ส, แมนฯ ซิตี้, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, เปแอสเช, อินเตอร์ มิลาน, โรม่า ไปจนถึงทีมอย่างจีโรน่า, เฟเยนูร์ด ตลอดจนเอฟซี โคเปนเฮเก้น ล้วนออกมาแสดงจุดยืนแบบพร้อมหน้า และจากนี้มันก็ยากจะปฏิเสธว่าจะมีอีกหลาย ๆ ทีมที่ออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองว่า “ไม่เห็นด้วย” 

ดังนั้น ต่อให้คำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรปจะเปิดโอกาสให้องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำเสนอแผนงานสู่สาธารณชนต่อไปในอนาคตได้ เพราะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย 

แต่กระนั้น โอกาสที่จะเกิดขึ้นจริงก็นับว่ายังอีกยาวไกล เพราะในเวลานี้ ดูเหมือนว่าทีมที่ไม่เห็นด้วยจะผุดขึ้นมากกว่าทีมที่เห็นด้วย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ซูเปอร์ลีกยังไม่ตาย เปิดโปรเจกต์ใหม่ สูงสุด 80 ทีม มีหลายดิวิชั่น และแข่งขันระบบเปิด
- ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ประวัติศาสตร์โลกลูกหนัง | Footballista EP.156
- สรุปผลการตัดสินเรื่อง ยูฟ่า ซูเปอร์ลีก 

 

แหล่งอ้างอิง

https://theathletic.com/5154222/2023/12/21/super-league-ruling-case-uefa-fifa/ 
https://theathletic.com/5148591/2023/12/20/european-super-league-verdict/ 
https://www.bbc.com/sport/football/56795811 
https://www.pptvhd36.com/sport/news/145985 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา