Feature

สมัยก่อนฟุตบอลญี่ปุ่นคือขนมกรุบของไทย : เรื่องจริงหรือแค่อุปโลกน์ไปเอง | Main Stand

“ญี่ปุ่นคือขนมของคนไทย มันคือขนมกรุบที่คนไทยจะแกะห่อกินเมื่อไรก็ได้” นี่คือหนึ่งในความเชื่อที่หลายคนปักใจว่าในสมัยก่อนฟุตบอลทีมชาติไทยเหนือกว่าทีมชาติญี่ปุ่นอย่างชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม หากกางสถิติดูจะพบว่าตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ทัพซามูไรบลูส์ แทบจะผูกขาดชัยชนะอยู่เพียงฝ่ายเดียว โดยมีเพียงแค่ 3 เกมเท่านั้นที่ถูกจารึกอย่างชัดเจนว่าทีมไทยเป็นฝ่ายกำชัย

แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ทำไมจึงยังมีคนเชื่อว่าฟุตบอลไทยเคยเก่งกว่าญี่ปุ่น เป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นหรือเป็นเพียงมายาคติที่คิดกันไปเอง ร่วมหาคำตอบได้ที่ Main Stand

 

ญี่ปุ่นในวันวานไม่ได้เก่งเหมือนวันนี้

ปัจจุบันทีมชาติญี่ปุ่นสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นทีมเบอร์ 1 ของเอเชียอย่างเต็มภาคภูมิ ทว่าหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว พวกเขายังเป็นเพียงทีมระดับกลางของทวีปที่ไม่ได้ไร้เทียมทานอะไร

แม้ว่าจะเคยได้เหรียญทองแดงในโอลิมปิกเมื่อปี 1968 แต่หลังจากนั้นอีก 28 ปีก็ไม่เคยได้อีกเลย ขณะที่ผลงานโดยรวมก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตกรอบคัดเลือกเอเชียนคัพ ทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติก็แพ้ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ฮ่องกง จึงทำให้พวกเขาดูไม่ได้เหนือกว่าทีมชาติไทยมากมายนักในสายตาผู้คนสมัยนั้น

“เมื่อก่อนเนี่ย มาเลเซีย พม่า เก่งมาก นักบอลญี่ปุ่นตัวเตี้ยมาก ตัวเล็ก ๆ ถ้าตัวสูงก็ผอม เล่นเหมือนเด็ก ไม่มีอะไรเลย” โค้ชเฮง-วิทยา เลาหกุล อดีตกองกลางทีมชาติไทย กล่าวถึงทีมชาติญี่ปุ่นสมัยนั้นในสายตาของตนเอง

ในช่วงทศวรรษ 60s-80s ทีมไทยมีโอกาสปะทะกับญี่ปุ่นหลายครั้ง โดยเฉพาะในฟุตบอลถ้วย “เมอร์เดก้า คัพ” ทัวร์นาเมนต์พิเศษอันเก่าแก่ของประเทศมาเลเซีย ที่จะเชิญชาติต่าง ๆ ในทวีปมาร่วมฟาดแข้งเป็นประจำทุกปี

แม้ทีมไทยจะไม่เคยเอาชนะญี่ปุ่นได้แม้แต่ครั้งเดียวในรายการนี้ แต่ก็มีหลายเกมที่พอจะสู้ได้ โดยทั้งคู่เจอกัน 11 นัด ยันเสมอได้ 4 เกม และมีอีก 3 เกมที่แพ้ด้วยผลต่างประตูได้เสียเพียงลูกเดียว นักเตะไทยหลายคนที่เคยไปลับฝีเท้ากับแข้งญี่ปุ่นช่วงเวลานั้นจึงมีความเชื่อว่าตัวเองไม่ได้เป็นรองอะไรมากมาย

“ภาพรวมเราดีกว่าหมดทั้งเรื่องเทคนิคต่าง ๆ แม้กระทั่งรูปร่างความแข็งแรง ญี่ปุ่นนี่หมูเลย ผมยิงสบายเลย ผมยิง 2 ลูก ผมถึงได้ไปเล่นที่ญี่ปุ่นไง” โค้ชเฮง เผย

ในมุมมองของโค้ชเฮง ความเชื่อที่ว่าไทยสูสีกับญี่ปุ่นจึงอาจไม่ใช่เรื่องเกินจริงมากนัก เพราะหลังจากทำ 2 ประตูในศึกเมอร์เดก้าปี 1976 ที่เสมอกัน 2-2 “เฮงซัง” ก็ถูกทาบทามดึงตัวไปเล่นให้กับสโมสรยันมาร์ ดีเซล (เซเรโซ โอซากา ในปัจจุบัน) เพื่อร่วมบุกเบิกฟุตบอลลีกกึ่งอาชีพของแดนซามูไร

ที่สำคัญตลอด 2 ปีที่ญี่ปุ่น “เฮงซัง” ยังลงเล่นเคียงบ่าเคียงไหล่กับแข้งเจ้าถิ่นได้อย่างสมศักดิ์ศรี พร้อมทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมจนได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 11 นักเตะยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล รวมทั้งคว้าดาวซัลโวสูงสุดในฟุตบอลถ้วย 6 ประตู และยิงในลีกรวมทั้งสิ้น 14 ประตู 

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งการที่ห้วงเวลานั้นญี่ปุ่นไม่ได้เป็นทีมระดับท็อปของเอเชีย ฟุตบอลลีกในประเทศก็ยังเป็นลีกกึ่งอาชีพที่ไม่ได้มีมาตรฐานสูงเหมือนทุกวันนี้ และเวลาเจอกับไทยก็ไม่ได้ถึงขนาดข่มมิดขาดลอยตลอด จึงไม่ได้ทำให้ทัพซามูไรบลูส์เหนือกว่าไทยแต่อย่างใดในสายตาแฟนบอลห้วงเวลานั้น 

…ก่อนจะตอกย้ำภาพจำยิ่งขึ้นด้วยชัยชนะในเวลาต่อมา

 

ชัยชนะที่ตอกย้ำความเชื่อ

ตามสถิติที่มีการบันทึกอย่างชัดเจน ทีมชาติไทยเคยเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่นเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้นในประวัติศาสตร์ (เว็บไซต์ fifaranking.net ระบุว่าเจอกันทั้งหมด 19 ครั้ง ญี่ปุ่นชนะ 15 นัด เสมอ 3 นัด และไทยชนะ 1 นัด)

เกมแรกเกิดขึ้นในศึกโอลิมปิกเกมส์ 1984 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย 10 รอบทีมสุดท้าย กลุ่ม 2 ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีการจำกัดอายุ โดยทีมไทยชนะ 5-2 จากการทำประตูของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน (3 ประตู), ชลอ หงษ์ขจร และ เฉลิมวุฒิ สง่าพล ที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์

เกมที่ถัดมาคือศึกคิงส์คัพ 1995 โดยทีมไทยชนะ 3-2 จากการทำแฮตทริกของ เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ ซึ่งทีมญี่ปุ่นที่ส่งมาแข่งขันในครั้งนั้นเรียกว่าเป็นทีมเฉพาะกิจก็ว่าได้ เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นทั้งตัวหลักหรือตัวสำรองของทีมชาติชุดใหญ่ด้วยซ้ำ

ส่วนเกมสุดท้ายเป็นเกมอุ่นเครื่องเมื่อปี 1997 ที่สนามศุภชลาศัย ซึ่งถือเป็นชัยชนะแมตช์เดียวที่ได้รับการรับรองสถิติการแข่งขันอย่างเป็นทางการจากฟีฟ่า โดยทีมไทยชนะไป 3-1 จากการยิงของ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (2 ประตู) และ ดุสิต เฉลิมแสน

ดังนั้นภาพจำที่พอจะเคลมได้ว่าทีมไทยเหนือกว่าญี่ปุ่นได้นั้นเกิดขึ้นแค่ในช่วงปี 1984-1997 เท่านั้น ซึ่งช่วงปี 1995-1997 นอกจากชัยชนะทั้ง 2 เกมของไทยที่เกิดขึ้นต่อหน้าแฟนบอลที่สนามศุภชลาศัยแล้ว ในศึกคิงส์คัพ ปี 1997 ไทยยังเสมอญี่ปุ่นได้ 1-1 ด้วยเช่นกัน 

ทำให้ในภาพรวมช่วงปี 1995-1997 ไทยเจอญี่ปุ่น 3 นัด ชนะ 2 เสมอ 1 โดยเฉพาะ 2 เกมหลังในปี 1997 ที่เสมอ 1-1 ในคิงส์คัพ และชนะ 3-1 ในเกมอุ่นเครื่อง ทัพซามูไรบูลส์เรียกได้ว่าส่งทีมชุดใหญ่มาเต็มสูบทั้ง “คิงคาซู” คาซูโยชิ มิอูระ ในวัย 30 ปี, โชจิ โจ, ฮิโรชิ นามามิ, มาซามิ อิฮาระ, มาซาคิโยะ มาเอโซโนะ ฯลฯ

ชัยชนะที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงตราตรึงและฝังอยู่ในใจของกองเชียร์ชาวไทยหลายคนในเวลานั้น เพราะมันเป็นการแข่งขันที่จับต้องได้มากที่สุด 

พวกเขาได้รับรู้จากการไปเชียร์ที่ขอบสนาม ได้เห็นฟอร์มการเล่นผ่านการถ่ายทอดสด และได้สัมผัสความเก่งกาจของแข้งไทยจากสื่อต่าง ๆ ที่โหมประโคม โดยอาจไม่เคยรับรู้เลยว่าภาพรวมที่แท้จริงแล้วก่อนหน้านั้นและที่ผ่านมาเป็นอย่างไร 

 

เหนือกว่าจริงหรือแค่คิดไปเอง ?

“ไทยเหนือกว่าญี่ปุ่นมันไม่จริง มันเป็นความเชื่อผิด ๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นตอนคัดโอลิมปิกที่เราชนะญี่ปุ่น 5-2 ตอนนั้นก็เลยฝังใจกันว่าบอลไทยเหนือกว่าญี่ปุ่นมาโดยตลอด ซึ่งช่วงนั้นก็ไม่ได้เจอกันบ่อย คนก็เลยไปนึกว่าฟุตบอลญี่ปุ่นมันหมูตู้” คมกฤช นภาลัย หรือ "อ๋อ วังโอ่ง" อดีตนักข่าวและแฟนพันธ์แท้ฟุตบอลไทย ให้ความเห็น

กูรูลูกหนังไทยยังให้เหตุผลต่อว่า ช่วงเวลาที่ทีมไทยชนะญี่ปุ่นอาจเป็นช่วงที่ฟุตบอลญี่ปุ่นไม่ได้รับความนิยมมากนัก หรือเป็นช่วงที่ฟอร์มตกลงไปช่วงหนึ่งแค่นั้น หรือแม้แต่ตอนที่เอาชนะญี่ปุ่นชุดที่มี “คิงคาซู” ก็ใช้วัดอะไรไม่ได้ว่าไทยเก่งกว่าญี่ปุ่น เพราะความจริงก็คือเราเป็นรองมาโดยตลอด

ยิ่งหากย้อนกลับไปดูก็จะพบความจริง ทีมชาติญี่ปุ่นก่อนแพ้ไทย 2-5 เมื่อปี 1984 แม้จะยังไม่ใช่ทีมระดับท็อปของเอเชียแต่พวกเขาก็ไม่เคยปราชัยให้ทีมไทยมาก่อน 

ซึ่งความพ่ายแพ้นัดนั้นก็เหนือความคาดหมาย เพราะไม่เพียงแค่แพ้ไทย แต่ญี่ปุ่นยังแพ้ทุกทีมในกลุ่มทั้ง มาเลเซีย อิรัก กาตาร์ จนต้องจอดป้ายด้วยอันดับบ๊วยของกลุ่ม ทว่าไทยเองนอกจากชัยชนะเหนือญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเอาชนะทีมอื่นได้ ยุติเส้นทางเพียงรอบนี้เช่นกัน

“ช่วงนั้นญี่ปุ่นไม่ดีจริง ๆ ไม่ใช่แค่เตะกับไทยแล้วแพ้ ในห้วงเวลานั้นมันเห็นแต่ญี่ปุ่นแพ้ ไปเตะที่ไหนก็แพ้แทบทุกรายการ มันก็เลยไปมองว่าบอลญี่ปุ่นไม่ดี เลยอุปโลกน์กันว่าเราดีกว่าญี่ปุ่น” คมกฤช กล่าวต่อ

ยิ่งไปกว่านั้นความพ่ายแพ้เกมนั้นยังทำให้พวกเขามุ่งมั่นยกระดับตัวเองขึ้นอย่างจริงจัง ด้วยการรื้อระบบบริหารจัดการแล้วยกเครื่องใหม่ทั้งหมด จนเป็นที่มาของการก่อตั้งเจลีกในปี 1992 พร้อมคว้าผงาดแชมป์เอเชียนคัพได้เป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน

ก่อนที่ 2 ปีต่อมาเกือบจะผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 1994 ได้ โดยอกหักในเกมสุดท้าย เป็นรองเกาหลีใต้ด้วยผลต่างประตูได้เสียเพียง 2 ลูกเท่านั้น ซึ่งในรอบคัดเลือกรอบแรก ยังเอาชนะทีมไทยด้วยสกอร์ 1-0 ทั้ง 2 นัดได้อีกด้วย

ขณะที่ปี 1997 ที่ “คิงคาซู” และผองเพื่อนยกพลมาเสมอและแพ้ให้กับทีมไทยช่วงต้นปีก็เป็นเพียงเกมอุ่นเครื่องเตรียมทีม ซึ่งปลายปีเดียวกันพวกเขาก็สามารถจารึกประวัติศาสตร์คว้าตั๋วไปเล่นฟุตบอลโลก 1998 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ส่วนไทยไม่ผ่านรอบแรกด้วยซ้ำ

ดังนั้นหากมองภาพรวมทั้งหมดแทบไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่ญี่ปุ่นจะเป็นขนมกรุบให้ทีมไทยเคี้ยวได้ง่าย ๆ หนำซ้ำยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งกลายเป็นพวกเขาที่เคี้ยวเราได้คล่องคอขึ้น เพราะหลังจากชนะได้ 3-1 เมื่อปี 1997 ไทยก็แพ้รวดมาโดยตลอด

“ต้องบอกว่าบอลไทยเคยดีกว่าญี่ปุ่นแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 10 ปี ญี่ปุ่นก็ก้าวไปอีกระดับเลย แต่เรายังวนอยู่ที่เดิม” อ๋อ วังโอ่ง ทิ้งท้าย

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ