Feature

มีสตาร์แต่ไม่ถึงดวงดาว : ทำไม นอร์เวย์ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน แม้มีนักเตะชื่อดังในทีม ? | Main Stand

เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ คือยอดศูนย์หน้าปรากฏการณ์ของพรีเมียร์ลีก เป็นเครื่องจักรสังหารประตูให้กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ส่วน มาร์ติน โอเดอการ์ด ก็เป็นทั้งกัปตันทีมและแข้งตัวหลักของ อาร์เซน่อล และทั้งคู่ต่างเป็นแข้งแห่งยุคของทีมชาตินอร์เวย์

 


นอกจากสองดาวเตะระดับแนวหน้าของโลก นอร์เวย์ ยังมีผู้เล่นที่ค้าแข้งในลีกชั้นนำของยุโรปอยู่ค่อนทีม แต่ผลงานของทีมชาติในช่วงหลังกลับไม่ค่อยสู้ดีมากนัก โดยพวกเขาไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งล่าสุดเมื่อปี 1998 และฟุตบอลยูโรได้เพียงครั้งเดียวในปี 2000

ทำไมสตาร์ดังถึงยังไม่สามารถแบกทีมไปถึงฝั่งฝันได้ มีปัจจัยอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของฟุตบอลทีมชาติ ที่ นอร์เวย์ อาจขาดไปอยู่ในตอนนี้ ร่วมวิเคราะห์ไปพร้อมกันกับ Main Stand

 

อดีตยักษ์ใหญ่

มาร์ติน โอเดอการ์ด ยังไม่ลืมตาดูโลกในครั้งล่าสุดที่ นอร์เวย์ ลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และโชว์ฟอร์มโหดด้วยการเอาชนะ บราซิล ในรอบแบ่งกลุ่มได้สำเร็จ ส่วน เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ก็เกิดไม่ทันใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่รุ่นพี่พวกเขาเข้าไปลงเล่นฟุตบอลยูโร 2000 และเปิดสนามด้วยการหักปากกาเซียนเอาชนะ สเปน ไปด้วยสกอร์ 1-0 ในรอบแบ่งกลุ่มเช่นกัน

ทีมชาติ นอร์เวย์ เคยขึ้นชื่อในเรื่องของพละกำลังและการไร้ความปราณีต่อคู่แข่ง และยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติที่ไม่เคยแพ้ บราซิล (ชนะ 2 เสมอ 2) แต่นั่นคือเรื่องราวของอดีตที่เลือนรางหายไปในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันประชากรในประเทศจะคลั่งไคล้ในฟุตบอลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการตามเชียร์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ และฟุตบอลลีก Eliteserien ในประเทศตนเอง 

นอร์เวย์ เคยพุ่งกระฉูดขึ้นไปรั้งอันดับสองของโลกมาแล้วถึงสองครั้ง ด้วยขุมกำลังอย่าง รูน บราทเซธ, รอนนี ยอห์นเซน, ยาน โอเก ฟยอร์ทอฟต์, และ เอวินด์ เลออนฮาร์ดเซน โดยพวกเขาเป็นรองเพียงแค่ทีมชาติ บราซิล ซึ่งอุดมไปด้วยนักเตะซูเปอร์สตาร์อย่าง โรมาริโอ และ เบเบโต แต่ในทุกวันนี้ พวกเขากลับรั้งอยู่อันดับ 42 ของโลก เป็นรองทั้ง ไนจีเรีย และ อียิปต์ ซึ่งครั้งหนึ่ง นอร์เวย์ เคยร่วงลงไปถึงอันดับ 88 ของโลก ในปี 2017 มาแล้ว

แม้การได้ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ กับ มาร์ติน โอเดอการ์ด มานำทัพ ควบคู่กับขุมพลอย่าง คริสโตเฟอร์ เอเย่อร์ จาก เบรนท์ฟอร์ด, ซานเดอร์ เบิร์ก จาก เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, และ อเล็กซานเดอร์ ซอร์โลธ จาก บียาเรอัล จะทำให้แฟนบอลต่างมีความหวังกับโอกาสเข้ารอบฟุตบอลยูโร 2024 แต่ความหวังดังกล่าวก็ยังดูห่างไกลไม่น้อย เมื่อ นอร์เวย์ ไม่สามารถการันตีเข้ารอบจากการแบ่งกลุ่มได้โดยอัตโนมัติ และต้องไปหวังอันดับเพลย์ออฟจากการแบ่งอันดับตามผลงานในเนชันส์ลีกแทน

เมื่อมีผู้เล่นที่มีคุณภาพระดับโลกอยู่ในทีมแล้ว แต่ทำไมผลงานของ นอร์เวย์ ถึงยังไม่ถึงเป้าหมายที่หลายคนตั้งความหวังกันไว้ได้ ?

 

ขาดแคลนกองหลัง (ที่ดี) ?

ฟยอร์ทอฟต์ อดีตศูนย์หน้าของ มิดเดิลสโบรช์ และ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ผู้ได้ลงสนามรับใช้ทีมชาติ นอร์เวย์ ไป 71 นัด ให้ความเห็นกับ The Athletic ว่า “ผมไม่คิดว่ามีทีมไหนในโลกที่มีช่องว่างระหว่างนักเตะที่ดีที่สุด กับนักเตะที่แย่ที่สุดขนาดนี้ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย”

เจ้าตัวได้ยกชื่อของทั้ง โอเดอการ์ด และ ฮาลันด์ ขึ้นมา ก่อนอธิบายต่อว่า “ผมไม่ต้องการดูถูกใครนะ พูดด้วยความจริงและความเคารพเลย พวกเราไม่มีกองหลัง แม้พวกเขาจะเล่นอยู่ลีกต่างประเทศ แต่บางคนก็ไม่ได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่อง นี่ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย”

แม้ผู้รักษาประตูอย่าง เออร์ยัน ไนแลนด์ เพิ่งได้โอกาสลงเล่นอย่างต่อเนื่องกับ เซบีย่า ส่วน คริสโตเฟอร์ เอเย่อร์ ก็เริ่มยึดตำแหน่งตัวจริงกับ เบรนท์ฟอร์ด ได้แล้ว แต่ นอร์เวย์ ยังคงขาดแคลนกองหลังที่ไว้ใจได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่สามารถย้อนกลับไปได้ถึงการพัฒนานักเตะจากระดับเยาวชน ด้วยกระบวนการฝึกซ้อมที่ “จืดชืด” เกินไป จากคำนิยามของ ฟยอร์ทอฟต์

“พวกเขารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับลูกบอล วิธีการหมุนตัวแบบ โยฮัน ครัฟฟ์ หรือการชิพลูก แต่พวกเขาดันไม่รู้วิธีการชนะการแข่งขัน”ก่อนที่ ฟยอร์ทอฟต์ จะลงรายละเอียดเพิ่มอย่างเข้มข้นว่า “ไอ้พวกเซ็นเตอร์ฮาล์ฟตัวใหญ่ ๆ อยู่ไหนวะ พวกเราไม่มีนักเตะแบบนี้เลย และผมโคตรอยากลงเล่นเจอกับกองหลังที่เรามีอยู่ในตอนนี้จริง ๆ”

และประเด็นการขาดแคลนกองหลัง ไม่ใช่แค่ความรู้สึกหรือความเห็นจากอดีตนักเตะเพียงคนเดียว เพราะเมื่อ ลีฟ์ กุนนาร์ สมูอรด์ โค้ชทีมชาติชุดอายุไม่เกิน 21 ปี ได้เดินทางไปติดตามฟอร์มนักเตะเยาวชนจากทั่วประเทศ เจ้าตัวสามารถสรุปได้ว่า “ผมเห็นแต่ทักษะการผ่านบอล หมุนตัวหลบ กับการครองบอล และอาจมีการเล่นแบ่งทีมบ้างในตอนท้าย ซึ่งถ้าเราเอาแต่ฝึกแบบนี้ในแต่ละสัปดาห์ ก็คงไม่มีใครต้องการเด็กตัวใหญ่ ๆ เข้าสกัดหนัก ๆ ที่ไม่สามารถครองบอลได้หรอก”

ในฐานะนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สมูอร์ด เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “มันเหมือนเราให้ยากับการรักษาไป แต่ทุกอย่างก็มีผลข้างเคียง นั่นคือเราอาจคิดว่าการฝึกแบบนี้จะมีผลดีขึ้น แต่มันคือการหยุดปั้นนักเตะในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็กทิ้งไปเลย พวกเขาไม่มีโอกาสผ่านเกณฑ์ได้หรอก”

ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศ นอร์เวย์ ที่ทั้งหนาวเย็นและได้รับแสงอาทิตย์ในแต่ละปีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ทำให้การฝึกซ้อมของเยาวชนนั้นมักเกิดขึ้นกับสนามหญ้าเทียม อันเป็นสาเหตุให้โค้ชและทีมฟิตเนสมีความระมัดระวังในการฝึกซ้อม เพื่อป้องกันปัญหาอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ “แต่เราต้องเล่นฟุตบอลให้มากขึ้น” สมูอร์ด เสริม “จากจุดนั้นนักเตะจะได้ปะทะกัน พวกเขาจะได้พัฒนาขึ้นมาตามสไตล์ที่ตนเองถนัด เพราะพวกเราต้องการนักเตะที่หลากหลายกว่านี้”

 

ตามรอย เวลส์ ได้ไหม?

ประเทศ เวลส์ มีประชากรราว 3,200,000 คน แต่สร้างชื่อด้วยการจบอันดับสามร่วม (จากการเข้ารอบรองชนะเลิศ) ฟุตบอลยูโร 2016 กับทีมที่นำโดย แกเรธ เบล และ อาร์รอน แรมซีย์ แถมยังเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2022 ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 64 ปีด้วย

ส่วน นอร์เวย์ กับประชากรราว 5,400,000 คน กับการนำทัพโดย ฮาลันด์ และ โอเดอการ์ด จะสามารถตามรอยเพื่อนบ้านร่วมทวีปได้ไหม?

“เวลส์ คือแบบอย่างของสิ่งที่ นอร์เวย์ เคยเป็นมาในอดีต” คือความเห็นของ เอริค บัคเก อดีตมิดฟิลด์ของ ลีดส์ ยูไนเต็ด และทีมชาติ นอร์เวย์ “ทุกคนอยากเล่นฟุตบอลให้สวยงาม ในฐานะโค้ช คุณอยากชนะเกมในแบบที่สละสลวย แต่มันไม่จำเป็นเลย ผมไม่เคยเห็น เวลส์ เล่นดีสักนัด พวกเขาแค่ชนะ 1-0 โดยมี แกเรธ เบล เป็นคนทำประตู”

ในฐานะของหนึ่งในขุมพุลชุดลุยศึกฟุตบอลยูโร 2000 บัคเก อยากให้ทีมชาติของเขาเล่นเพื่อชัยชนะมากขึ้น “นั่นคือชุดความคิดที่พวกเราเคยเป็น ไม่ต้องแคร์ว่าแบบแผนเป็นอย่างไร และทุกคนก็ดีใจที่พวกเราชนะ แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนวิธีเล่นให้ดูงดงาม เพราะว่าพวกเรามีนักเตะระดับโลกอยู่ในทีม ซึ่งมันไม่จำเป็นเลย”

สำหรับสถานการณ์รอบคัดเลือกฟุตบอลยูโร 2024 นอร์เวย์ ร่วมกลุ่มเดียวกับ สเปน สกอตแลนด์ จอร์เจีย และ ไซปรัส ... ไม่แปลกที่พวกเขาจะแพ้สเปนทั้งเหย้าเยือน แต่กลายเป็นว่าพวกเขาไปสะดุดแพ้ให้กับ สกอตแลนด์ กับเสมอ จอร์เจีย ทีมละ 1 เกม จนหมดลุ้นเข้ารอบโดยอัตโนมัติ และต้องลุ้นทำผลงานให้ดีที่สุดในนัดสุดท้ายกับ สกอตแลนด์ เพื่อมีหวังไปเตะเพลย์ออฟกับชาติอื่น ๆ จากลีกบี

นอกจากที่เพื่อนร่วมทีมจะต้องรวมใจกันโชว์ฟอร์มเก่งออกมาแล้ว การรักษาร่างกายของทั้ง ฮาลันด์ และ โอเดอการ์ด ให้ฟิตพร้อมลงเล่นรับใช้ชาติ ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสลุ้นไปเล่นฟุตบอลยูโรรอบสุดท้ายเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้นสังกัดของทั้งคู่ต่างมีโปรแกรมลงเตะที่หนาแน่นในตอนนี้

นอร์เวย์ จะกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอล ได้เหมือนกับที่พวกเขาปักหมุดความเป็นชาติมหาอำนาจแห่งกีฬาฤดูหนาวได้หรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอติดตามต่อไป…

 

แหล่งอ้างอิง:

https://theathletic.com/4335230/2023/03/23/haaland-and-odegaard-norway/
https://www.thenationalnews.com/sport/football/2023/10/15/next-golden-generation-norway-led-by-haaland-have-the-talent-for-a-bright-future/
https://www.theguardian.com/football/these-football-times/2016/oct/12/norway-football-world-cup-san-marino-qualifiers

Author

กรทอง วิริยะเศวตกุล

2000 - Football and F1 fanatics - Space enthusiasts - aka KornKT

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ