หากการวิ่ง 100 เมตรชาย เคยมีกำแพงเวลา 10 วินาที การวิ่งมาราธอนชายก็มีกำแพงเวลา 2 ชั่วโมง ที่ยังไม่เคยมีใครทำลายลงได้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ
ทว่าในการแข่งขัน ชิคาโก มาราธอน 2023 เคลวิน คิปตัม ได้ทุบสถิติโลกเดิมที่ยอดนักวิ่งอย่าง เอลิอุด คิปโชเก้ เคยทำไว้ในรายการ เบอร์ลิน มาราธอน 2022 ด้วยเวลารวมเพียง 2 ชั่วโมง 35 วินาที
คิปตัม คือใครกัน ? ไปทำความรู้จักเขาได้ในบทความนี้กับ Main Stand
ฝึกฝนด้วยตนเอง
เส้นทางสู่ความสำเร็จของ คิปตัม ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เจ้าตัวไม่ได้มีโค้ชมากฝีมือที่คอยให้คำแนะนำหรือช่วยฝึกฝนทักษะตั้งแต่เด็ก แต่กระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อลงวิ่งรายการระยะยาวของเขานั้น มาจากการฝึกฝนด้วยตัวเองทั้งสิ้น
เขาเติบโตมาในหมู่บ้านเดียวกันกับ เจฟฟรีย์ คัมวอเรอร์ นักวิ่งผู้ชนะรายการ นิวยอร์ค มาราธอน ในปี 2017 และ 2019 ผู้มีความเชี่ยวชาญในการวิ่งฮาล์ฟมาราธอน กับประเภท Cross Country ซึ่งแรงบันดาลใจจากการเห็น คัมวอเรอร์ ประสบความสำเร็จ ได้ผลักดันให้ คิปตัม เข้าสู่วงการวิ่งระยะไกลอย่างจริงจัง
เจ้าตัวเปิดเผยกับ Olympics.com ถึงการเริ่มฝึกฝนในอดีตว่า "ผมเติบโตมาในหมู่บ้านที่มีนักวิ่งอยู่รอบบ้านตัวเอง ผมเลยเริ่มฝึกฝนจริงจังกับพวกนักวิ่งมาราธอนและนักวิ่ง Road Race จนทำให้ผมกลายเป้นนักวิ่ง Road Race มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็นั่นแหละ เพราะที่ที่ผมฝึกมันไม่มีสนามวิ่งเลย"
คิปตัม ลงวิ่งฮาล์ฟมาราธอนรายการแรกที่เคนยา ด้วยอายุเพียง 18 ปี และสามารถเข้าเส้นชัยในฐานะอันดับหนึ่ง ด้วยเวลารวม 1 ชั่วโมง 2 นาที 1 วินาที ก่อนจะค่อย ๆ กดเวลาลงในการแข่งขันรายการนานาชาติ เริ่มจาก ลิสบอน ฮาล์ฟมาราธอน ในปี 2019 ด้วยการจบอันดับ 5 กับสถิติเวลา 59 นาที 54 วินาที
แต่เหตุการณ์ที่สร้างชื่อให้กับ คิปตัม ได้มากสุด คือการลงแข่งมาราธอนรายการแรกในชีวิต ที่ บาเลนเซีย มาราธอน เมื่อปลายปี 2022 และสามารถเข้าเส้นชัยได้ในเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 53 วินาที คว้าแชมป์ไปครองอย่าไม่ต้องสงสัย พร้อมกับเป็นมนุษย์คนที่สามในประวัติศาสตร์ ที่ทำเวลาวิ่งมาราธอนได้น้อยกว่า 2 ชั่วโมง 2 นาที
มาร์ติน เคอิโน อดีตนักวิ่งของเคนยา เปิดเผยกับ BBC ว่า "การที่เขาสามารถวิ่งได้เร็วที่สุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์ โดยไม่มีใครเป็นโค้ชมาคอยคุมเลย แสดงให้เห็นถึงระดับของวินัยและการรู้จักตนเองของเขา"
"เขาอาจเคยซ้อมกับนักวิ่งจนเข้าใจได้ว่าอะไรควรไม่ควรทำ คุณได้เข้าใจว่าร่างกายตอบสนองอย่างไร เมื่อไหร่ที่ควรพัก และเมื่อไหร่ที่ควรใส่ให้เต็มที่"
พุ่งสู่สถิติโลก
หลังจากชัยชนะที่บาเลนเซีย คิปตัม ได้พบกับโค้ช เจอร์เวส ฮาคิซิมาน่า อดีตนักวิ่งชาวรวันดา ที่เข้ามาฝึกซ้อมให้เขาอย่างจริงจัง
"เขาแข็งแกร่งมาก และทำทุกอย่างได้ยอดเยี่ยมในระหว่างการซ้อม แต่เขาซ้อมมากเกินไปจนผมต้องคอยพยายามชะลอเขาลงบ้าง แม้เจ้าตัวจะไม่อยากหยุดก็ตาม" คือความเห็นของ ฮาคิซิมาน่า ที่ให้สัมภาษณ์ถึงนักวิ่งของเขา
แน่นอนว่า คิปตัม กำลังฟอร์มร้อนแรง และสานต่อความสำเร็จด้วยการเป็นผู้ชนะ ลอนดอน มาราธอน ในเดือนเมษายน 2023 ซึ่งเป็นชัยชนะรายการระดับเมเจอร์ครั้งแรกของเจ้าตัว พร้อมกับทำสถิติด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 25 วินาที ไล่บี้สถิติโลกของ คิปโชเก้ ในเวลานั้นเหลือแค่ 16 วินาทีเท่านั้น
เจ้าตัวได้ลงแข่งใน ชิคาโก มาราธอน 2023 เป็นรายการที่สามของตนเองเท่านั้น แต่นักวิ่งวัย 23 ปีจากเคนยา สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับผู้ชม ด้วยการทุกสถิติโลกได้สำเร็จ กับเวลาเมื่อเข้าเส้นชัยที่ 2 ชั่วโมง 35 วินาที พร้อมกับเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอนได้ต่ำกว่าเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที และมีความเร็วเฉลี่ยสูงถึง 20.99 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แม้จะออกสตาร์ทได้ช้ากว่าสถิติโลกเดิมของ คิปโชเก้ แต่ คิปตัม สามารถมาหวดเก็บความเร็วได้ในช่วง 12 กิโลเมตรสุดท้าย จนเข้าป้ายในฐานะเจ้าของสถิติโลกคนใหม่ ด้วยเพซเฉลี่ยทั้งการแข่งขันที่ 2:51 นาทีต่อกิโลเมตร
"ผมรู้สึกดีใจมาก ผมเตรียมตัวมาดี และหวังจะมาทำลายสถิติสนามเท่านั้น แต่โชคดีที่ได้สถิติโลกมาด้วย" คิปตัม ให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งขัน "ผมไม่ได้คิดถึงสถิติโลกมาก่อนเลย แต่ผมรู้ดีว่าในสักวันหนึ่ง ผมต้องเป็นเจ้าของสถิติโลกด้วยตัวเอง"
ตำนานบทใหม่ที่ดับแสง
เมื่อแจ้งเกิดกับการทุบสถิติโลกในระยะเวลาสามสนามแรกเช่นนี้ ชื่อของ คิปตัม จึงถูกนำไปโยงว่าเขาเป็น "คิปโชเก้ 2.0" และอาจเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอนได้ในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
อันที่จริง เอลิอุด คิปโชเก้ เคยวิ่งได้ในเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที ในรายการวิ่ง Ineos 1:59 Challenge ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายกำแพงเวลา 2 ชั่วโมง ด้วยการมีทีมนักวิ่งสนับสนุนคอยนำหน้าเพื่อต้านอากาศให้ และยังมีรถเพซคาร์ที่คอยคุมให้เวลาวิ่งต่ำกว่า 2 ชั่วโมง จึงทำให้สถิติดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองจากกรีฑาโลก (World Athletics)
ด้าน คิปตัม ผู้อยู่ห่างจากการทำลายสถิติดังกล่าวในการแข่งขันอย่างเป็นทางการอีกเพียง 35 วินาที เคยเปิดเผยกับ Olympics.com ว่า "เมื่อผมฝึกซ้อมและเตรียมตัวมาดี กับมีร่างกายที่แข็งแรงพอ ผมสามารถวิ่งได้เร็วกว่า 2 ชั่วโมง"
สำหรับคนที่ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน เพื่อเตรียมตัวลงวิ่งมาราธอน เริ่มจากการวิ่ง 900 กิโลเมตรในเดือนแรก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย ก่อนค่อย ๆ ลดระดับลงมาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนลงวิ่งจริงแล้ว โอกาสทำลายสถิติกำแพง 2 ชั่วโมง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมแต่อย่างใด
"สิ่งที่เขาทำคือ วิ่ง กิน นอน" คือความเห็นของ ฮาคิซิมาน่า ผู้เตรียมให้ คิปตัม เข้าสู่กระบวนการพักผ่อนนานหนึ่งเดือน และเตรียมตัวกลับไปสร้างสถิติใหม่ในอนาคตข้างหน้า
ในตอนนี้ ชื่อของ เคลวิน คิปตัม ถูกจารึกไว้เป็นมนุษย์ที่วิ่งมาราธอนได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว แต่น่าเสียดาย คำถามที่ว่า เขาจะสามารถทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงในการวิ่งมาราธอนได้หรือไม่ กลายเป็นปริศนาไปตลอดกาล
เพราะเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2024 เคลวิน คิปตัม เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เขาหมดโอกาสสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และต้องรอผู้กล้าคนต่อไปที่จะทลายขีดจำกัดของมนุษยชาตินี้ต่อไป
แหล่งอ้างอิง:
https://olympics.com/en/news/how-fast-was-kelvin-kiptums-world-record-2023-chicago-marathon-split-times
https://olympics.com/en/news/chicago-marathon-2023-kiptum-smashes-kipchoge-world-record-sifan-hassan
https://www.bbc.com/sport/africa/65380779
https://sports.yahoo.com/kiptums-coach-fears-intense-training-191744243.html