Feature

วันนี้ของ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก เป็นอย่างไร ? ล้มเหลวหรือยั่งยืนมากกว่ากัน ? | Main Stand

บีจี ปทุม ยูไนเต็ด และ การท่าเรือ เอฟซี เป็นสองสโมสรตัวแทนจากประเทศไทย ที่ได้สิทธิ์ลงบู๊ใน เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 2023-24 รอบเพลย์ออฟ โดยจะชนกับสองทีมตัวแทนจากประเทศจีนอย่าง เซี่ยงไฮ้ พอร์ต และ เจ้อเจียง​ เอฟซี ตามลำดับ

 

หากย้อนกลับไปในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ แน่นอนว่านี่คืองานยากของทั้ง เดอะ แรบบิท และ สิงห์เจ้าท่า ที่ต้องต่อกรกับทีมจากลีกสูงสุดแดนมังกร เนื่องด้วยหลาย ๆ สโมสรต่างก็อุดมไปด้วยนักเตะฝีเท้าดี แถมหลาย ๆ คนยังพกดีกรีผ่านเวทีลูกหนังระดับโลกมาแล้วมากมาย

อย่างไรก็ดี วงการฟุตบอลจีนในยุคหลังกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป แทบจะทุกทีมไม่ได้มีซูเปอร์สตาร์ชื่อดังอยู่ในสังกัดและทิ้งเรื่องราวในอดีตให้เป็นความหลัง จนอาจกล่าวได้ว่า สองสโมสรจากไทยน่าจะเจองานที่เบาลงกว่าที่เคย

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น Main Stand ขอชวนผู้อ่านทุกท่านมาย้อนเรื่องราวของ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก กันอีกสักครั้ง และลีกอาชีพสูงสุดแดนมังกรในวันนี้กำลังเดินไปในทิศทางไหน

 

ความฝันของท่านสี (จิ้นผิง)

ก่อนเริ่มอธิบายเรื่องราวของวงการฟุตบอลลีกอาชีพของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีปัจจุบัน (2023) แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องรับรู้ที่มาของจุดเริ่มต้นแวดวงลูกหนังแดนมังกรกันเสียก่อน ซึ่งต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปในปี 2011 สี จิ้นผิง ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจีน เคยตั้งปณิธานต่อหน้าสาธารณชนว่าอยากเห็นวงการฟุตบอลของประเทศก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ระดับโลก โดยความฝันสามข้อของ สี จิ้นผิง ที่สองปีต่อมากลายเป็นประธานาธิบดีของประเทศคือ จีนต้องได้ลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (แบบขาประจำ) ได้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก และเป้าหมายใหญ่คือคว้าแชมป์โลกมาครองให้ได้ โดยแผนระยะยาวนี้จะต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2050

หนึ่งในฟันเฟืองที่พร้อมเป็นใบเบิกทางชั้นดีสู่เป้าหมายในอนาคตคือการพัฒนาวงการฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศ เป็นเหตุให้โมเดลการสร้างลีกให้แข็งแกร่งแล้วป้อนสู่ทีมชาติในอนาคตถูกนำมาใช้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ในปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศแล้ว จีนมีแผนให้บริษัทขนาดใหญ่ใช้ความมั่งคั่งที่มีเพื่อเปลี่ยนศึกไชนีส ซูเปอร์ ลีก (CSL) ให้กลายเป็นหนึ่งในลีกชั้นนำของโลก เช่นเดียวกับเป้าหมายให้ห้างร้านใหญ่ ๆ เข้าไปลงทุนในสโมสรยุโรป โดยเฉพาะที่อังกฤษ 

ยกตัวอย่างปี 2015 บริษัทจีนที่ชื่อ China Media Capital ได้ประกาศการลงทุนมูลค่า 265 ล้านปอนด์ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 13 ที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งปีให้หลังจากที่ สี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนสนามซ้อมของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ พร้อมถ่ายภาพร่วมกับ เซร์คิโอ กุน อเกวโร่ และ เดวิด คาเมร่อน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้น

นอกจากให้ความสำคัญกับการพัฒนาลีกอาชีพแล้ว ควบคู่กันไปจีนได้ออกแผนยุทธศาสตร์การปฏิวัติและพัฒนาฟุตบอล เพื่อส่งเสริมให้ฟุตบอลเป็นกีฬาประจำชาติและได้รับความนิยมไม่แพ้ปิงปอง (เทเบิลเทนนิส) หรือบาสเกตบอล  

รัฐบาลจีนกำหนดให้สถานศึกษาของประเทศต้องบรรจุกีฬาฟุตบอลลงในหลักสูตรพลศึกษา เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นเรียนรู้เกี่ยวกับเกมลูกหนัง ตลอดจนการเพิ่มจำนวนโรงเรียนที่มีสนามฟุตบอลจาก 5,000 โรงเป็น 50,000 โรงภายในปี 2025 

"นี่ไม่ใช่แค่ความพยายามที่จะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในอนาคตเท่านั้น ภาพรวมคือความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมฟุตบอลให้เฟื่องฟูและได้รับประโยชน์ในระยะยาว รวมถึงหวังผลกับผลลัพธ์ที่จะตามมา" ทอม ไบเออร์ อดีตนักฟุตบอลชาวอเมริกันที่เคยรับบทบาทหัวหน้าที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับฟุตบอลของกระทรวงศึกษาธิการจีน เผยผ่าน The Athletic

จากวิสัยทัศน์และความตั้งใจของรัฐบาลจีนสอดรับนโยบายของภาคเอกชนและทุก ๆ ส่วน นี่ถือเป็นสัญญาณอันดี "ตัวแปรสำคัญ" และเป็น "จุดเริ่มต้น" ของการผลักดันให้ฟุตบอลจีนเป็นเต้ยของเอเชียและโลกในอนาคต

 

มังกรผงาด จนโลกสะเทือน

เมื่อรัฐบาลให้การผลักดันและซัปพอร์ตทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อน ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ให้ก้าวขึ้นมาเป็นลีกชั้นนำของโลก ไล่มาตั้งแต่การลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไชนีส ซูเปอร์ ลีก ด้วยเงิน 8 พันล้านหยวน (ราว 41,000 ล้านบาท) ของรัฐบาล 

และดังที่แฟนฟุตบอลได้รับรู้โดยทั่วกัน นั่นคือการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนมากมายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และเพื่อคอนเน็กชั่นที่ดีกับฝั่งรัฐบาลเองด้วย เราจึงได้เห็นบรรดากลุ่มทุนใหญ่ เช่น เอเวอร์แกรนด์, ซูหนิง, ไท่ต๋า หรือแม้แต่ อาลีบาบา กระโดดเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

นโยบายสำคัญที่เจ้าของทีมแต่ละทีมเลือกยึดเป็นแนวทางคือการทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับการดึงนักเตะระดับโลกเข้ามาเล่นในลีก

นอกจากจะเป็นแรงกระเพื่อมชั้นดีและเป็นหน้าเป็นตาให้แวดวงฟุตบอลจีนแล้ว เหตุผลอีกประการที่สอดรับตามมาคือการช่วยผลักดันนักเตะสัญชาติจีนในการพัฒนาฝีเท้าตัวเองไปสู่จุดที่ดีกว่าที่เคย ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าเยาวชนของชาติ

แต่ละสโมสรใน ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ต่างลงทุนกับนักเตะต่างชาติแบบไม่มียอมกัน อย่างปี 2016 เซี่ยงไฮ้ กรีนแลนด์ เสิ่นหัว หรือ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว จัดหนักคว้า คาร์ลอส เตเวซ กองหน้าทีมชาติอาร์เจนตินามาร่วมก๊วน พร้อมรับค่าเหนื่อยตีเป็นเลขไทยกลม ๆ ประมาณ 26 ล้านบาทต่อเดือน นั่นทำให้อดีตหัวหอก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลายเป็นนักเตะเงินเดือนสูงที่สุดในโลก

ขณะที่ทีมร่วมเมืองอย่าง เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี (เซียงไฮ้ พอร์ต ในปัจจุบัน) ปี 2017 พวกเขาทุ่มเงินคว้า ออสการ์ เพลย์เมกเกอร์ชาวบราซิลมาจากเชลซี ด้วยค่าเหนื่อยที่ว่ากันว่าสูงกว่า 305 ล้านบาทเลยทีเดียว

และยังไม่นับดาวดังคนอื่น ๆ ที่ตบเท้ากันมาแบบไม่ขาดสาย เช่น อเล็กซ์ เตเซร่า แนวรุกบราซิลเลียนที่เคยมีข่าวหนาหูกับ ลิเวอร์พูล แต่จู่ ๆ กลับตัดสินใจมาเล่นให้ เจียงซู ซูหนิง เช่นเดียวกับ รามิเรส (ทีมเดียวกัน), กราเซียโน่ เปลเล่ หอกจอมเก๋าดีกรีทีมชาติอิตาลี มาเล่นให้ ซานตง ลู่เหนิง ไท่ซาน, กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ มี เปาลินโญ่ และ แจ็คสัน มาร์ติเนซ เป็นตัวชูโรง หรือแม้แต่ เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ที่มี ฮัลค์ เข้าเป็นเพื่อนร่วมทีมกับออสการ์ เป็นต้น

ในเวลานั้น ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ถูกพูดถึงบนหน้าสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไปทั่วทุกมุมโลก ทำเอาคนลูกหนังชื่อดังหลาย ๆ คนต่างก็แสดงความเห็นเกี่ยวกับทิศทางของลีกฟุตบอลจีน

"(สโมสรในจีน) ดูเหมือนจะมีอำนาจทางการเงินในการล่อตาล่อใจนักเตะทุกคนจากยุโรป ด้วยแรงปรารถนาที่แข็งแกร่งมาก ๆ ของจีนทำให้นักเตะดัง ๆ หลายคน รวมถึงพวกเรา (พรีเมียร์ลีก) ควรจะกังวล" อาร์แซน เวนเกอร์ ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล แสดงมุมมอง หลังลีกจีนทุ่มเงินแบบบ้าคลั่งชวนให้ตลาดนักเตะโลกผันผวน

"(ลีกจีน) อันตรายสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่เชลซีเท่านั้น แต่ยังอันตรายสำหรับทุกทีมในโลก" อันโตนิโอ คอนเต้ เผยในขณะเป็นผู้จัดการทีมเชลซี 

อีกทั้งกระแสที่ดังขึ้นของลีกสูงสุดเมืองจีนที่เป็นดั่งการจุดพลุขึ้นไปบนฟ้าก็ได้รับผลลัพธ์ที่น่าชื่นชม เช่น จากที่ลีกมีแฟนบอลเฉลี่ยในสนาม 18,571 คน ในปี 2013 เพิ่มเป็น 18,986 คน ในปี 2014 

สองปีต่อมา (2016) ลีกสูงสุดเมืองจีนมีผู้ชมในสนามกระโดดมาถึงหลัก 24,000 คน กลายเป็นสถิติผู้เข้าชมเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ของลีกฟุตบอลทั่วโลก เรียกได้ว่ารองจากลาลีกา และกัลโช่ เซเรีย อา ไม่ไกลนัก 

ด้านผลงานของทีมจากจีนในเวทีระดับนานาชาติก็มีเรื่องราวให้น่าชื่นชม เมื่อ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ หรือ กว่างโจว เอฟซี ในปัจจุบัน ผงาดแชมป์ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก หรือโทรฟี่ศึกชิงแชมป์สโมสรเอเชียถึงสองสมัย ในปี 2013 และ 2015

อย่างไรก็ดี นี่กลับไม่ใช่ความยั่งยืนของ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก แต่อย่างใด เพราะต่อจากนั้นไม่กี่ปี ลีกอาชีพที่นี่ก็เงียบสนิทลงดั่งพลุที่สวยสะดุดตาบนฟากฟ้าก่อนจะดับลงไปตามกลไกการทำงาน

 

สูงสุดสู่สามัญ

เพราะความสำเร็จต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่าย "มหาศาล" หาก ไชนีส ซูเปอร์ ลีก อยากจะก้าวขึ้นมาเป็นเต้ยในวงการฟุตบอล พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทุ่มเม็ดเงินเพื่อครองความยิ่งใหญ่ไปเรื่อย ๆ

สำนักข่าวซินหัวของจีนเคยรายงานข้อมูลโดยอ้างอิงจากสมาคมฟุตบอลจีน ว่าด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายของ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก 2018 พบว่าลีกสูงสุดของจีนปีดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยมากถึง 1,100 ล้านหยวน หรือกว่า 5.6 พันล้านบาท สวนทางกับรายรับที่คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 686 ล้านหยวน หรือประมาณ 3.5 พันล้านบาท ทั้งยังคิดเป็นรายจ่ายที่มากกว่าศึก เคลีก 1 ของเกาหลีใต้ ถึง 10 เท่า และต่างจาก เจ 1 ลีก ของญี่ปุ่นถึง 3 เท่า

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือจากนโยบายพัฒนาลีกที่พร้อมป้อนความสำเร็จสู่ทีมชาติจีนชุดใหญ่ นี่ก็นับเป็นความล้มเหลวที่เห็นภาพชัดเจน 

แม้ลีกจีนจะอุดมไปด้วยดาวดังจากทั้งยุโรปและอเมริกาใต้ ซึ่งส่งผลให้นักเตะสัญชาติจีนจำเป็นจะต้องพัฒนาตัวเองเพื่อทั้งต่อกรและเล่นต่อติดกับเหล่าสตาร์ดัง และที่สำคัญเป็นพัฒนาตัวเองเพื่อพาทีมชาติจีนอัปเกรด โดยเฉพาะการคว้าตั๋วไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ไม่ปล่อยให้ชาติร่วมโซนเอเชียตะวันออกทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นขาประจำอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทีมชาติจีนกลับตกม้าตายอยู่เรื่อยมา พวกเขา "ไม่อาจ" ไปถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เลยในตลอดช่วงเวลาที่ลีกเติบโตแบบพุ่งพรวด ประกอบไปด้วยเกมรอบคัดเลือก โซนเอเชีย ไล่มาตั้งแต่ปี 2014 ไปจนถึง 2022 

เมื่อมีตัวเลขบ่งบอกอยู่ชัดเจนว่าการลงทุนครั้งนี้ของวงการฟุตบอลจีนมี "รายจ่าย" มากกว่า "รายรับ" โดยเฉพาะ รายจ่ายที่เกิดขึ้นกับแต่ละสโมสร ยังให้ความรู้สึกเหมือนนำเงินออกนอกประเทศมากกว่านำเงินเข้าประเทศ 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ รายจ่ายจากการจ่ายค่าเหนื่อยให้เหล่าซูเปอร์สตาร์ กุนซือมากชื่อชั้น ตลอดจนเอเยนต์น้อยใหญ่ แบบมหาศาล ขณะที่พ่อค้าแข้งในชาติตัวเองกลับไม่ได้ถูกพัฒนาไปด้วยดั่งผลงานของทีมชาติชุดใหญ่ และนั่นดูเหมือนจะเป็นการเดินหมากที่ผิดวิธี 

ด้วยเหตุนี้ ตัวละครใหญ่ของเรื่องอย่างรัฐบาลจีนจึงเลือกนโยบายที่เน้นว่า "คนจีนมาก่อน (China first)" เข้ามาแทนแนวทางเดิม โดยเริ่มจัดการปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่มองว่ามันเกินตัว ในช่วงปี 2018 ถึง 2020 

ไม่ว่าจะจัดตั้งนโยบายเก็บภาษีนักเตะต่างชาติเพิ่ม หากสโมสรใดจ่ายเงินให้แข้งต่างชาติเกินกว่าที่รัฐกำหนดก็จะต้องจ่ายอีกเท่าหนึ่งให้กับสมาคมฟุตบอลจีนด้วย จากนั้นก็เริ่มกำหนดเพดานค่าเหนื่อยนักเตะในลีก อย่างนักเตะต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้มีรายได้ไม่เกิน 3 ล้านยูโรต่อปี ขณะที่นักฟุตบอลท้องถิ่นกำหนดให้มีรายได้อยู่ที่ 5 ล้านหยวน ส่วนสโมสรสามารถใช้จ่ายเงินในค่าเหนื่อยได้ไม่เกิน 600 ล้านหยวน 

แน่นอนว่าส่งแนวทางนี้เป็นการผลักให้นักเตะต่างชาติหลาย ๆ คนเก็บข้าวของออกจากประเทศ

นอกจากนี้ทางการจีนกำหนดให้สโมสรสมาชิกสมาคมฟุตบอลประเทศ "ห้าม" ใส่ชื่อสปอนเซอร์หรือผู้ลงทุนหลักต่อท้าย เสมือนเป็นการเปลี่ยนเพื่อให้ฟุตบอลปรากฏในรูปแบบของวัฒนธรรมและความเป็นท้องถิ่นนิยมมากกว่า เป็นเหตุให้บริษัทที่เข้ามาลงทุนหลาย ๆ เจ้าเริ่มถอนตัวจากวงการลูกหนัง 

มากไปกว่านั้น การเกิดขึ้นของวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำเอาภาครัฐกำหนดมาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นซึ่งกินเวลาแตะเลขสองปี กลายเป็นว่าลีกฟุตบอลก็ถูกแช่แข็งไปด้วยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ลีกไม่มีแข่ง หรือต่อให้กลับมาแข่งก็ไม่ได้มีผู้ชมในสนาม สปอนเซอร์น้อยใหญ่จึงพากันถอนตัว ฯลฯ หลายทีมล้มหายตายจากจนเหลือแต่เพียงชื่อให้คนจดจำ

ทั้งหมดนี้นับเป็นการสิ้นสุดยุคลีกจีนใช้เงินซื้อความสำเร็จอย่างแท้จริง

 

รีเซ็ตสู่ความยั่งยืน ?

ภายหลังที่เกิดนโยบายต่าง ๆ นานาเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีทางของไชนีส ซูเปอร์ ลีก นั่นเท่ากับว่า ณ เวลานี้ ฟุตบอลลีกอาชีพที่เมืองจีนกลับมานับหนึ่งกันใหม่อีกครั้ง

ดังจะเห็นได้จากสโมสรใดที่ไม่อาจยืนได้ในระบบรีเซ็ตใหม่ก็จะล้มหายตายจากไปตามสถานการณ์ อาทิ เจียงซู ซูหนิง ทีมดีกรีแชมป์ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก 2020 ทว่ากลับหมดสิทธิ์ป้องกันแชมป์ลีก เนื่องจากเจ้าของทีมอย่าง กลุ่มซูหนิง ยุบทีมไปแบบดื้อ ๆ หลังประสบปัญหาหนี้สินอย่างหนักในช่วงโควิด-19 จนไม่มีเงินทุนมาหมุนเวียนและใช้หนี้ได้ตามกำหนด 

ขณะที่เหล่านักเตะชื่อดังก็ทยอย ๆ อำลาไปทีละคน จากดาวเด่นแตะหลัก 10 แปรเปลี่ยนมาสู่ดาวดังชื่อคุ้นหูแฟน ๆ เพียงหยิบมือ เช่นในปี 2023 เหลือ ออสการ์ ของ เซี่ยงไฮ้ พอร์ต และมารูยาน เฟลไลนี่ ของ ซานตง ไท่ซาน เท่านั้น แน่นอนว่าอดีตสองสตาร์พรีเมียร์ลีกรับค่าเหนื่อยที่ต่างไปจากอดีตแบบลิบลับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายสู่ความยิ่งใหญ่ทัดเทียมชาติอื่น ๆ ในแวดวงลูกหนังจีนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะให้ภาพความ "ล้มเหลว" มากกว่าความ "รุ่งเรือง" หลังริเริ่มแผนมาได้ราว ๆ ทศวรรษ จนกล่าวได้ว่าฟุตบอลจีนต้องกลับมาที่จุดออกสตาร์ทกันอีกครั้ง

อย่างไรเสีย การกลับมารีเซ็ตกันใหม่นี้ไม่ใช่จะมีแต่เรื่องติดลบเสมอไป เพราะในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะได้เห็นจีนวางนโยบาย "เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" หรือ "Common Prosperity" ดังที่ สี จิ้นผิง เคยแถลงนโยบายดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อปี 2021 ที่มุ่งเน้นความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของคนในชาติ "เป็นสำคัญ" มาใช้กับวงการฟุตบอล

"ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงวาระการประชุมโดยประธานาธิบดีได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวงการฟุตบอลจีนโดยรวมไปด้วย พวกเขาทุ่มเงินก้อนโตน้อยลง ดึงดูดสตาร์น้อยลง และเบรกไม่ให้สโมสรใช้จ่ายเงินเกินตัว" ศาสตราจารย์ ไซมอน แชดวิค อาจารย์ด้านกีฬาของ Emlyon Business School ให้ความเห็น

"นโยบายของสีอย่าง 'เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน' มันเกี่ยวกับการที่คนรวยไม่ได้รวยอย่างเดียวเท่านั้น นโยบายนี้เปิดโอกาสให้คนรายได้น้อยในสังคมมีโอกาสได้ทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและค่าครองชีพของตัวเอง แน่นอนเลย จากที่บริษัทยักษ์ใหญ่เคยจ่ายเงินให้นักฟุตบอลโดยเฉพาะนักฟุตบอลต่างชาติ ความคิดนี้ไม่สอดคล้องไปกับนโนบายดังกล่าว"

"สิ่งที่สอดคล้องกันคือการให้ทุนแก่รากหญ้า ทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงฟุตบอลได้ นั่นคือแนวทางที่เสมอภาคซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องเจริญรุ่งเรืองร่วมกันครับ ในทางกลับกันการจ่ายเงินให้ คาร์ลอส เตเวซ แตะหลัก 600,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ มันไม่ใช่"

บางทีนี่อาจจะเป็นความยั่งยืนในระยะยาวที่ส่งผลต่อวงการฟุตบอลแดนมังกร "มากกว่า" การใช้เงินทุ่มเฉกเช่นในอดีตอย่างไม่ต้องสงสัย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

จีนแชมป์บอลโลก 2050: เมื่อ สี จิ้นผิง อยากใช้ฟุตบอลเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจีน (แต่ยังไม่สำเร็จ)

 

แหล่งอ้างอิง

https://indianexpress.com/article/sports/football/lessons-for-saudi-arabia-why-did-the-chinese-super-league-fail-8692295/ 
https://theathletic.com/2981422/2021/11/28/the-chinese-super-league-from-unprecedented-salaries-to-uncertain-restart-date-unpaid-wages-and-deepening-turmoil/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_Super_League 
https://www.france24.com/en/live-news/20210302-football-power-by-2050-china-dream-totters-on-shaky-foundations 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น