Feature

ไม่กลัว FFP? : ทำไม เชลซี ถึงกล้าใช้จ่ายเงินมหาศาลในตลาดนักเตะ | Main Stand

ตลาดซื้อขายนักเตะซัมเมอร์นี้ สโมสรที่ใช้จ่ายเงินได้บ้าคลั่งที่สุดในโลกฟุตบอลคงหนีไม่พ้น เชลซี ทีมดังจากศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ภายใต้การบริหารงานของ ท็อดด์ โบห์ลี และกลุ่ม Clearlake Capital ที่ปิดดีลนักเตะอายุน้อยหลายรายมายังถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ อาทิ คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู, นิโคล่า แจ็คสัน, อักเซล ดิซาซี่, โรเบิร์ต ซานเชซ, มอยเซส ไคเซโด้ รวมถึงรายล่าสุดอย่าง โรเมโอ ลาเวีย ที่ผ่านการตรวจร่างกายเรียบร้อยแล้ว 

 


ส่งผลให้ตัวเลขจำนวนเงินที่ ท็อดด์ โบห์ลีย์, เบห์ดัด เอ็กห์บาลี และคณะ ควักซื้อนักเตะในช่วงสามตลาดล่าสุดนับตั้งแต่ตัวเขาเปลี่ยนสถานะมาเป็นเจ้าของเชลซีเมื่อกลางปี 2022 คิดรวมแล้วเป็นมูลค่าแตะหลัก 900 ล้านปอนด์เลยทีเดียว 

แน่นอนว่าการใช้เงินมหาศาลของเชลซีจะต้องถูกจับตามองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) และ พรีเมียร์ลีก นอกจากนี้ยังมีสโมสรอื่น ๆ ที่เริ่มตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมการซื้อนักเตะของเชลซี 

โบห์ลีย์, เอ็กห์บาลี และคณะ มีกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดจากข้อครหานี้อย่างไร และเชลซีจะโดนกฎ "ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์" หรือ FFP เล่นงานหรือไม่ สามารถติดตามได้ที่ Main Stand 

 

ปรับสมดุลบัญชี

ต้องอธิบายก่อนว่าในช่วงระยะเวลาสามปีตามการนับของยูฟ่ารอบล่าสุด (ฤดูกาล 2020-21, 2021-22 และ 2022-23) คาดการณ์ว่าเชลซีมีตัวเลขติดลบในบัญชีสโมสรไม่ต่ำกว่ากว่า 90 ล้านยูโร หรือประมาณ 77 ล้านปอนด์ ซึ่งขัดกับข้อกำหนดของยูฟ่าที่อนุญาตให้ขาดทุนภายในระยะเวลา 3 ปีได้เพียง 60 ล้านยูโร ดังนั้นสโมสรจะต้องเริ่มสร้างกำไรในเร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายนักเตะ, ทำข้อตกลงทางการค้าที่ดีขึ้น รวมถึงการกลับคืนสู่เวทียุโรปอย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก (คาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 3-4 ล้านปอนด์ต่อเกมเหย้าหนึ่งนัด) 

ช่วงซัมเมอร์นี้ วิธีการแรกที่เชลซีเลือกใช้สำหรับปรับสมดุลบัญชีสโมสรคือการระบายนักเตะค่าเหนื่อยแสนแพงออกจากทีม ประกอบด้วย ไค ฮาแวร์ตซ์ (อาร์เซนอล), เมสัน เมาท์ (แมนฯ ยูไนเต็ด), มาเตโอ โควาซิช (แมนฯ ซิตี้), อีธาน อัมปาดู (ลีดส์ ยูไนเต็ด), รูเบน ลอฟตัส-ชีค และ คริสเตียน พูลิซิช (เอซี มิลาน), คาลิดู คูลิบาลี และ เอดูอาร์ เมนดี้ (ซาอุดี โปรลีก) คิดเป็นเงินรวมแล้วกว่า 250 ล้านปอนด์ 

พร้อม ๆ กับเปลี่ยนวัฒนธรรมของสโมสร จากการดึงแข้งที่กำลังอยู่ในจุดพีกเพื่อไล่ล่าความสำเร็จแบบปีต่อปี ไปเป็นทุ่มเงินซื้อกลุ่มนักเตะอายุน้อยฝีเท้าดี สิริรวมค่าตัวทั้งสามตลาดเป็นเงินกว่า 810 ล้านปอนด์ (นับสิ้นสุดแค่ดีลไคเซโด้) แต่ที่สำคัญคือ ค่าเหนื่อยที่พวกเขายอมรับได้นั้นต้องไม่สูงจนเกินไปเหมือนที่ยุคของ โรมัน อบราโมวิช เคยให้นักเตะ 

ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เชลซีในยุค ท็อดด์ โบห์ลีย์ ก็จัดการปิดดีลเป็นว่าเล่น พร้อมกับมอบสัญญาระยะยาว 6-8 ปี ให้แก่นักเตะ นี่จึงนับเป็นการใช้ช่องโหว่จากกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ของ ยูฟ่า ที่สามารถลงบัญชีค่าใช้จ่ายสำหรับนักเตะได้ตลอดระยะเวลาสัญญา ยกตัวอย่างเช่น 

สโมสร A เซ็นสัญญากับผู้เล่นด้วยค่าตัว 50 ล้านปอนด์ สัญญา 5 ปี ค่าเหนื่อย 100,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ จำนวนเงินที่ลงไว้ในบัญชีจะตกอยู่ที่ราว ๆ 15 ล้านปอนด์ต่อปี (วิธีที่เชลซีใช้)

ขณะที่สโมสร B เซ็นนักเตะใหม่เข้ามาแบบไร้ค่าตัว แต่ได้รับค่าเหนื่อยถึง 400,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ จำนวนเงินที่ลงไว้ในบัญชีจะตกอยู่ที่ราว ๆ 20 ล้านปอนด์ต่อปี (วิธีที่สโมสรอื่นใช้)

โดยตัวเลขที่ได้หลังหักลบค่าเสื่อมราคาสำหรับนักเตะขาเข้าอยู่ที่ 157.2 ล้านปอนด์ และตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงอย่างรวดเร็วด้วยกำไร 149.6 ล้านปอนด์ จากการขายผู้เล่นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ตามรายงานจาก The Athletic 

ส่วนสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากค่าธรรมเนียมเต็มจำนวนสำหรับการขายผู้เล่นจะถูกนำมาหักลบในทันทีโดยไม่ต้องกระจายรายปีเหมือนกรณีผู้เล่นขาเข้า และยังลบด้วยค่าเสื่อมราคาที่เหลือของนักเตะขาออกแต่ละคนอีกด้วย 

อย่างในกรณีของ เมสัน เมาท์ ที่ย้ายไป แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ รูเบน ลอฟตัส-ชีค ที่ย้ายสู่ เอซี มิลาน นับเป็นผลดีอย่างยิ่งที่สามารถปล่อยพวกเขาออกไปจากทีมได้ เพราะทั้งคู่เป็นผลผลิดจากศูนย์ฝึกค็อบแฮม เชลซีจึงได้รับกำไรเต็ม ๆ จากการขายแบบไร้ต้นทุน อีกกรณีหนึ่งในเคสของ ไค ฮาแวร์ตซ์, มาเตโอ โควาซิช และ คริสเตียน พูลิซิช สามคนนี้ก็มีมูลค่าคงเหลือในบัญชีไม่มาก

ปัจจุบันยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าการใช้จ่ายของเชลซีจะทำให้พวกเขาขาดทุนหรือกำไร เพราะรายงานทางการเงินโดยรวมฉบับล่าสุด (2023-24) ของเชลซียังไม่มีการเปิดเผยออกมา

 

เชลซีจะโดน FFP ไหม ?

เมื่อต้นปี 2023 สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) มีการปรับเปลี่ยนกฎเพื่อรองรับการกระทำของเชลซี โดยมีคำสั่งให้ลดระยะเวลาการลงบัญชีรายจ่ายสำหรับนักเตะเหลือเพียงไม่เกิน 5 ปีแบบไม่คำนึงถึงระยะเวลาสัญญา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ซัมเมอร์ 2023-24 (เริ่ม 1 กรกฎาคม 2023 และไม่มีผลกับดีลที่เสร็จสิ้นไปแล้วก่อนหน้า) 

ตัดภาพมาที่ตลาดรอบล่าสุด ผลพวงจากดีลของ มอยเซส ไคเซโด้ ทำให้พรีเมียร์ลีกเตรียมที่จะเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมหารือสำหรับการเปลี่ยนแปลงกฎทางการเงินตามรอยยูฟ่า และคาดว่าจะเริ่มใช้กฎใหม่ภายในซัมเมอร์หน้า

ไซม่อน จอร์แดน อดีตเจ้าของสโมสรคริสตัส พาเลซ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่เชลซีกำลังทำอยู่ และอนาคต ท็อดด์ โบห์ลีย์, เบห์ดัด เอ็กห์บาลี และคณะ จะโดนลงโทษจากกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ หรือไม่

"สุดท้ายแล้วหากเชลซีไม่สามารถหาเงินมาปรับสมดุลบัญชีได้ ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, หาสปอนเซอร์กระเป๋าหนัก หรืออะไรก็ตาม ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ จะตามไปเคาะประตูคุณแน่นอน"

"สิ่งที่ ท็อดด์ โบห์ลีย์ กระทำอยู่ตอนนี้ราวกับการเสี่ยงดวงว่าเชลซีจะโดนกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ เล่นงานหรือไม่ แล้วเรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

"หลาย ๆ ฝ่ายเริ่มตั้งข้อสงสัยเรื่องการใช้เงินของเชลซี ณ ตอนนี้ ว่าคุณจ่ายเงิน 800 ล้านปอนด์ไปกับค่าธรรมเนียมการย้ายทีมโดยไม่ละเมิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ได้อย่างไร ?"

"18 เดือนนับจากนี้ ถ้าเชลซียังมีพฤติกรรมการใช้เงินเหมือนที่ทำอยู่หรือไม่สามารถขายผู้เล่นเพิ่มเติมได้ รวมถึงพลาดไปเล่น UCL สโมสรนี้คงไม่รอดจากเงื้อมมือของไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ หรอก"

แต่ก่อนหน้านั้นเชลซีจะไม่ถูกตรวจสอบจากยูฟ่า เนื่องจากเมื่อฤดูกาล 2022-23 พวกเขาจบครึ่งล่างของตาราง พลาดตั๋วไปลุยฟุตบอลยุโรป พร้อมกับมีเวลาปรับแต่งบัญชีสโมสรอีกราว ๆ 12 เดือน เพื่อให้ทันข้อบังคับทางการเงินที่พรีเมียร์ลีกกำลังปรับปรุง  

ทั้งนี้ถ้าหากเชลซีไม่สามารถขายนักเตะเพิ่มเติมหรือพลาดโควตาไปลุยฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาลหน้า พวกเขาอาจต้องสูญเสียรายได้จำนวนมากถึงขนาดกระทบต่อการวางแผนใช้จ่ายเงินในอนาคตระยะยาว หรือกรณีเลวร้ายที่สุดเชลซีอาจโดนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจำกัดการใช้เงินของสโมสร

 

กลยุทธ์แบบนี้ดีจริงหรือไม่

ในอนาคตมีสิทธิ์สูงที่จำนวนตัวเลขการลงบัญชีต่อปีของเชลซีจะสูงขึ้น เพราะกลุ่มผู้เล่นอายุน้อยที่พวกเขาเซ็นเข้าสู่ทีมจะต้องมีการเพิ่มค่าเหนื่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่ยังไม่รวมถึงตัวแปรต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการของแต่ละคนอีกด้วย

หากตัดเรื่องเงินออกไป การสร้างทีมเชลซีแบบฉบับ ท็อดด์ โบห์ลีย์ มีเปอร์เซ็นต์เสี่ยงสูงมากที่จะไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ เนื่องจากตามปกติแล้วทีมฟุตบอลหนึ่งจะประกอบไปด้วยผู้เล่นหลากหลายช่วงอายุ เพื่อให้มีความสมดุลในการเล่นรวมถึงสร้างบรรยากาศที่ดีในห้องแต่งตัว แต่จากการจับจ่ายนักเตะในยุคท็อดด์ โบห์ลีย์ จะเห็นได้ว่าทีมมีแต่นักเตะ "วันเดอร์คิด" อยู่ในทีม 

อย่างไรก็ดี เหตุผลที่เชลซีกล้าเสี่ยงด้วยแนวทางไม่เหมือนใครแบบนี้ ส่วนหนึ่งอาจด้วยความมั่นใจที่ ท็อดด์ โบห์ลีย์, เบห์ดัด เอ็กห์บาลี และคณะ มีให้กับผู้อำนวยการกีฬาทั้งสองคน นั่นคือ ลอเรนซ์ สจวร์ต (อดีตหัวหน้าแมวมองของไลป์ซิก, โมนาโก) และ พอล วินสแตนลีย์ (อดีตหัวหน้าแผนกสรรหาบุคลากรของไบร์ทตัน) ซึ่งดูจากประวัติการทำงานก็พอที่จะบ่งบอกได้บ้างว่าการคัดเลือกนักเตะสักคนเข้าสู่ทีมต้องผ่านการเลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดี เพื่อให้มีโอกาสล้มเหลวน้อยที่สุด

สุดท้ายนี้สิ่งที่จะชี้วัดว่า โบห์ลีย์, เอ็กห์บาลี และคณะ คิดถูกต้องหรือไม่ คงต้องให้ "เวลา" และ "ผลงานในสนาม" เป็นเครื่องพิสูจน์

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://swissramble.substack.com/p/financial-fair-play-202122#:~:text=Profitability%20and%20Sustainability%20Rules,of%20%C2%A335m%20a%20year.
https://theathletic.com/4775684/2023/08/15/chelsea-spending-money-ffp/
https://www.thetimes.co.uk/article/chelsea-net-transfer-spend-players-2023-hrrkmq3gg
https://talksport.com/football/1534030/chelsea-transfer-news-ffp-rules-explained-boehly/

Author

รณกฤต ตุลยะปรีชา

วัยรุ่นคู้บอน

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ