Feature

มาลาก้า : 10 ปี จากแชมเปี้ยนส์ลีก สู่นอกลีก | Main Stand

หากให้พูดถึงฟุตบอล ลาลีกา สเปน ในปัจจุบัน ทีมที่ผู้คนต่างคุ้นหน้าคุ้นตาคงหนีไม่พ้น เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก มาดริด หรือว่า เซบีย่า เพราะทีมที่กล่าวมาทั้งหมดต่างเป็นทีมยักษ์ใหญ่ของประเทศสเปนที่มักจะครองอันดับหัวตารางไปลุยบอลยุโรปอยู่ตลอด

 


แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่แล้ว มาลาก้า เป็นอีกหนึ่งทีมชื่อดังของประเทศสเปน เนื่องจากเป็นทีมที่เต็มไปด้วยซูเปอร์สตาร์ชื่อดังและยังเคยสามารถเบียดทีมอย่าง แอตเลติโก้ มาดริด และ เซบีย่า คว้าโควตาได้ไปเตะฟุตบอลยูฟ่า แชมป์เปี้ยนส์ลีก จนถูกมองว่าจะเป็นอีกหนึ่งทีมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นทีมที่ยักษ์ใหญ่ของประเทศสเปนในอนาคต

แต่ในปัจจุบันชื่อของมาลาก้าห่างหายไปจากลีกสูงสุดของสเปน หล่นลงไปเล่นในดิวิชั่น 3 

ทำไมภายในระยะเวลา 10 ปี มาลาก้าถึงเกิดสถานการณ์ราวกับอยู่บนเครื่องเล่นรถไฟเหาะ Main Stand ได้รวบรวมเรื่องราวทั้งหมดมาไว้ที่นี่แล้ว ไปติดตามรับชมกันได้เลย

 

แคว้นอันดาลูเซีย

สโมสรมาลาก้า (Malaga CF) เป็นสโมสรทางใต้ของประเทศสเปน อยู่ในจังหวัดมาลาก้า ตั้งอยู่ที่แคว้นอันดาลูเซีย (Andalucia) เป็นแคว้นการปกครองตนเองของประเทศสเปนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองจากแคว้นทั้งหมด 17 แห่งในประเทศสเปน โดยเมืองหลักของแคว้นอันดาลูเซียคือจังหวัดเซวิลล์ ที่ตั้งของ เซบีย่า นั่นเอง

จังหวัดมาลาก้าได้รับวัฒนธรรมกีฬาฟุตบอลมาจากประเทศอังกฤษเมื่อปี 1904 ประชาชนในจังหวัดมาลาก้าชื่นชอบและคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลเป็นอย่างมาก จังหวัดมาลาก้าจึงก่อตั้งสโมสรเกิดขึ้นและได้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลเป็นครั้งแรก ซึ่งคู่แข่งทีมแรกก็คือลูกเรือเรือต่างประเทศที่เดินทางมาจังหวัดมาลาก้า

ปี 1915 จังหวัดมาลาก้าจัดการแข่งขันฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำแคว้นอันดาลูเซีย เป็นการแข่งขันกันระหว่าง ทีมจังหวัดมาลาก้า พบกับทีม เอฟซี มาลากูเอโน ทีมฟุตบอลเก่าแก่ประจำแคว้นอันดาลูเซีย

จนมาถึงปี 1933 ทั้ง 2 ทีมตัดสินใจทำการรวมสโมสรเป็นหนึ่งเดียวกันโดยถือสิทธิ์คนละครึ่ง และจดทะเบียนด้วยชื่อที่รวมกันของ คลับ เดปอร์ติโบ มาลาก้า (Club Deportivo Malaga) และ คลับ เดปอร์ติโบ มาลาซิตาโน (Club Deportivo Malacitano) กลายเป็นชื่อสโมสรใหม่ว่า คลับ เดปอร์ติโบ มาลาก้า โดยมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 1933 กับ เดปอร์ติโบ อลาเบส 

ปี 1941 คลับ เดปอร์ติโบ มาลาก้า ได้ทำการเปิดตัวสนามแข่งของสโมสรอย่างเป็นทางการ โดยตั้งชื่อสนามว่า ลาโรซาเลดา (Estadio La Rosaleda) ซึ่งในวันเปิดสนามครั้งแรกเป็นการเปิดบ้านต้อนรับการมาเยือนของ เซบีย่า ทีมดังร่วมแคว้นอันดาลูเซีย โดยในการแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้ามาชมในสนามมากถึง 8000 คน

จนกระทั่งฤดูกาล 1948/49 คลับ เดปอร์ติโบ มาลาก้า จบในอันดับที่ 2 ของลีกเซกุนด้า บี ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่น ลาลีกา สเปน เป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมา และอีกหนึ่งในความทรงจำของสโมสรที่แฟนบอลของคลับ เดปอร์ติโบ มาลาก้า จดจำได้ไม่มีวันลืมคือในฤดูกาล 1951/52 คลับ เดปอร์ติโบ มาลาก้า เปิดบ้านต้อนรับการมาเยือนของ “ราชันชุดขาว” เรอัล มาดริด ทีมมหาอำนาจชื่อดังของประเทศสเปน ซึ่งในวันนั้นคลับ เดปอร์ติโบ มาลาก้า เอาชนะ เรอัล มาดริด ไปได้ด้วยสกอร์ถล่มทลายถึง 6-0 

ปี 1992 คลับ เดปอร์ติโบ มาลาก้า เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อผู้ถือหุ้นของสโมสรประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงทำให้สิทธิ์ทั้งหมดของสโมสรมาอยู่ที่ คลับ เดปอร์ติโบ มาลาซิตาโน และจดลิขสิทธิ์สโมสรให้เป็นบริษัทกีฬาของตัวเองอย่างเป็นทางการ และได้ทำการเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น มาลาก้า (Málaga Club de Fútbol Club Atlético Malagueño)

ถึงแม้ว่า คลับ เดปอร์ติโบ มาลาซิตาโน จะเข้ามาบริหารสิทธิ์ด้วยตัวเองทั้งหมด แต่สถานการณ์ของทีมก็ยังไม่สู้ดีนัก ยิ่งในช่วงปี 2000 มาลาก้าเริ่มโดนปัญหาทางการเงินเล่นงานมากขึ้น 

ฆวนเด้ รามอส ผู้จัดการทีมย้ายไปคุมเซบีย่า ทีมคู่ปรับร่วมเมือง นักเตะแกนหลักของทีมอย่าง ดาริโอ ซิลวา, กีกี้ มูซัมปา, เดยี่ บัลเดส และ เปโดร คอนเตอร์ราส ตัดสินใจย้ายออกจากทีม ฟอร์มการเล่นของมาลาก้าจึงไม่เหมือนเดิม ทั้งฤดูกาลเก็บไปได้แค่ 24 คะแนน จบด้วยอันดับสุดท้ายของตาราง และต้องตกชั้นไปสู่ลีก เซกุนด้า บี

มาลาก้าตกชั้นไปเพียงแค่ 2 ฤดูกาล พวกเขาก็กลับมาขึ้นมาบนลีกสูงสุดได้อีกครั้ง แต่ปัญหาทางการเงินเริ่มจะเป็นปัญหากับมาลาก้ามากยิ่งขึ้น เฟร์นานโด ซานซ์ เจ้าของทีมในขณะนั้นจึงตัดสินใจเดินทางไปที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เพื่อเข้าไปพูดคุยและเสนอขายทีมให้กับ ชีค อับดุลลาห์ บิน นัสเซอร์ อัล ธานี นักธุรกิจของราชวงศ์กาตาร์

การพูดคุยของทั้ง 2 ฝั่งเป็นไปได้ด้วยดี ชีค อับดุลลาห์ มองว่าการเป็นเจ้าของทีมมาลาก้าเป็นโปรเจ็กต์ที่ดูท้าทายสำหรับตนเอง ทั้งคู่เจรจากันอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากเจรจากันเรียบร้อย ชีค อับดุลลาห์ จึงซื้อสโมสรมาลาก้าด้วยเงินจำนวน 36 ล้านยูโร และเริ่มการเป็นเจ้าของสโมสรในปี 2010

 

ทีมเงินถุงเงินถัง

ภายใต้การบริหารสโมสรของ ชีค อับดุลลาห์ บิน นัสเซอร์ อัล ธานี ในปีแรก เขาดึงตัว มานูเอล เปเยกรินี่ อดีตกุนซือของ เรอัล มาดริด มารับหน้าที่ผู้จัดการทีม และทุ่มงบ 60 ล้านยูโรซื้อนักเตะเข้ามาสู่ทีมหลากหลายคน เช่น รุด ฟาน นิสเตลรอย, ซานติ การ์ซอร์ลา, เฌเรมี่ ตูลาล็อง, นาโช่ มอนเรอัล, อิสโก้, ฆัวกิน ซานเชส และ ชูลิโอ บาปติสต้า 

จากการที่เจ้าของทีมลงทุนให้ มานูเอล เปเยกรินี่ เสริมทัพนักเตะชื่อดังเยอะขนาดนี้ ฟอร์มของมาลาก้าในฤดูกาล 2011/12 จึงร้อนแรงจนจบอันดับที่ 4 ของตาราง คว้าโควตาไปเล่นฟุตบอล ยูฟ่า แชมป์เปี้ยนส์ลีก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร หลังจากที่สามารถคว้าสิทธิ์ไปเล่นฟุตบอลยุโรปได้แล้ว ชีค อับดุลลาห์ ก็ทุ่มงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับซื้อนักเตะ และได้ตัว ฮาเวียร์ ซาวิโอล่า, โรเก้ ซานตา ครูซ, ดิเอโก ลูกาโน่ และ การ์ลอส กาเมนี่ มาเสริมทัพ

 

โก ทู บอลยุโรป

ในการลุยฟุตบอลยุโรปครั้งแรก มาลาก้า ถูกจับสลากให้ไปอยู่กลุ่มเดียวกับ เอซี มิลาน, อันเดอร์เลช และ เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ฟอร์มของมาลาก้า ในการเล่นฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ครั้งแรกนั้นไปได้ดีเลยทีเดียว พวกเขาเก็บได้ถึง 12 คะแนนจบลงด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม และไม่แพ้เลยแม้แต่นัดเดียว โดยในรอบ 16 ทีมสุดท้าย มาลาก้า จับสลากไปพบกับ เอฟซี ปอร์โต้ อดีตเจ้าของแชมป์ยูฟ่า แชมป์เปี้ยนส์ลีก ปี 2003/04 

แม้ว่าในนัดแรก มาลาก้า จะบุกไปแพ้ให้กับ เอฟซี ปอร์โต้ 1-0 แต่ว่าในนัดที่สองที่เล่นในสนาม “ลา โรซาเลดา” มาลาก้าสามารถเอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 2-0 จากการทำประตูของ อิสโก้ และ โรเก้ ซานตา ครูซ และเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายต่อไปด้วยผลสกอร์รวม 2-1

รอบ 8 ทีมสุดท้าย มาลาก้า จับสลากมาเจอกับ “เสือเหลือง” โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ในเวลานั้นมี เยอร์เกน คล็อปป์ เป็นผู้จัดการทีม ในนัดแรกเล่นกันที่บ้านของมาลาก้าจบลงไปแบบโนสกอร์ 0-0 ในนัดที่ 2 เป็นมาลาก้าที่ขึ้นนำได้ถึง 2 รอบในเกม แต่ด้วยประสบการณ์ที่โชกโชนของเจ้าบ้านทำให้พลิกกลับมายิงช่วงทดเวลาบาดเจ็บ 2 ประตู พลิกแซง 3-2 ทำให้มาลาก้าต้องตกรอบไป

 

ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์

ถ้าพูดถึง “ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์” คนดูบอลสมัยนี้น่าจะคุ้นหูและรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ในช่วงเกือบ ๆ 10 ปีที่แล้ว กฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ นั้นเพิ่งจะเกิดในวงการฟุตบอล

กฎ “ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์” เป็นกฎที่ยูฟ่าตั้งขึ้นมาเพื่อกำหนดให้แต่ละสโมสรที่ร่วมแข่งขันฟุตบอลยุโรปต้องมีรายจ่ายไม่มากไปกว่ารายได้ที่แต่ละสโมสรได้รับจากการทำธุรกิจฟุตบอล เช่น ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, ค่าบัตรผ่านประตู, ค่าสินค้าประจำสโมสร, เงินรางวัลต่าง ๆ ซึ่งมีหลากหลายทีมที่โดนกฎนี้เล่นงาน หนึ่งในนั้นคือมาลาก้า


 
สาเหตุที่ทำให้มาลาก้าโดนกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ เนื่องจาก ชีค อับดุลลาห์ บิน นัสเซอร์ อัล ธานี เจ้าของทีมใช้เงินทุ่มซื้อนักเตะมากเกินไปจนผิดกฎ และเมื่อโดนเล่นงานด้วยกฎนี้ ชีค อับดุลลาห์ จึงโกรธและไม่พอใจทางลาลีกาเป็นอย่างมาก เนื่องจากลาลีกาแบ่งรายได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับทีมต่าง ๆ ในลีกไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่นทีมยักษ์ใหญ่ของสเปนอย่าง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมากกว่าทีมอื่น ๆ หลายเท่า 

ซึ่งการได้รับรายได้จากลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดไม่เท่ากันทำให้รายรับของมาลาก้าติดลบ มาลาก้าจึงถูกยูฟ่าลงโทษ และการถูกลงโทษครั้งนี้ทำให้ ชีค อับดุลลาห์ เจ้าของสโมสร ประกาศว่าจะไม่ทุ่มงบให้กับมาลาก้าอีกต่อไป

หลังจากที่มาลาก้าขาดเงินลงทุนจาก ชีค อับดุลลาห์ ทำให้มาลาก้าประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างรุนแรงถึงขนาดที่ค้างค่าเหนื่อยนักฟุตบอลและทีมสตาฟ

จากปัญหาดังกล่าว ยูฟ่าจึงตัดสิทธิ์ห้ามมาลาก้าลงแข่งฟุตบอลยุโรปทุกรายการเป็นเวลา 1 ปี แม้ว่ามาลาก้าจะยื่นอุทธรณ์ แต่สุดท้ายคำอุทธรณ์ก็ไม่มีผล เนื่องจากยูฟ่าได้แจ้งกับมาลาก้าว่าสโมสรมีความผิดจริงและยังคงโทษแบนตามเดิม 1 ฤดูกาล และต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 300,000 ยูโร

มาลาก้าจึงความจำเป็นต้องขายนักเตะซูเปอร์สตาร์ชื่อดัง ๆ ของทีม เช่น อิสโก้, ซานติ การ์ซอร์ลา, นาโช่ มอนเรอัล, โรเก้ ซานตา ครูซ, รุด ฟาน นิสเตลรอย, วิลลี่ กาบาเยโล่, ซาโลมอน รอนดอน, ฆัวกิน ซานเชส ออกจากทีม เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายนักเตะเหล่านี้มาใช้จ่ายในสโมสร 

 

สาละวันเตี้ยลง

หลังจากจบฤดูกาล 2012/13 มานูเอล เปเยกรินี่ ตัดสินใจโบกมืออำลามาลาก้าไปคุมทีม “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากทีมที่ทุ่มซื้อนักเตะซูเปอร์สตาร์ชื่อดัง พวกเขากลับกลายเป็นทีมที่ดันนักเตะดาวรุ่งและยืมตัวนักเตะที่สโมสรอื่นไม่ได้ใช้งาน 

แม้ว่ามาลาก้าจะเสียนักเตะหลักของทีมไปหลายคนและงบประมาณมีอย่างจำกัด แต่พวกเขาก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่บนลีกสูงสุดของสเปนได้นานถึง 4 ฤดูกาล 

จนมาถึงฤดูกาล 2017/18 ด้วยตัวผู้เล่นของมาลาก้าที่เต็มไปด้วยนักเตะดาวรุ่งเกือบครึ่งทีม ทำให้ผลงานของมาลาก้าในฤดูกาลนั้นสุดแสนจะย่ำแย่ ทั้งฤดูกาลทำประตูได้เพียง 24 ประตู จบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 20 ของตารางเก็บคะแนนไปได้เพียง 20 คะแนน และตกชั้นกลับไปเล่นในลีก เซกุนด้า หรือดิวิชั่น 2 ของสเปนในรอบ 10 ปี

ถึงในฤดูกาลต่อมาฟอร์มของมาลาก้า ในลีก เซกุนด้า จะดีขึ้นจนสามารถจบอันดับที่ 3 ของตารางได้ แต่มาลาก้า ก็ไปแพ้ในเกมเพลย์ออฟกับ เดปอร์ติโบ ลา คอรุนญ่า 5-2 พลาดโอกาสกลับคืนสู่ลีกสูงสุดไปอย่างน่าเสียดาย

กระทั่งล่าสุดฤดูกาล 2022/23 มาลาก้าต้องเผชิญกับความผิดหวังอีกครั้ง หลังจากจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 20 ของตารางลีก เซกุนด้า ทำให้ต้องตกชั้นไปเล่นใน พรีมิร่า เฟเดเรซิออง ลีกดิวิชั่น 3 ของประเทศสเปน 

แฟนบอลของมาลาก้าคงไม่คาดคิดว่าเพียงแค่ระยะเวลา 10 ปี จากที่สามารถเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปี 2013 พวกเขาจะต้องมาเห็นทีมที่ตนรักตกลงไปเล่นในลีกฟุตบอลดิวิชั่น 3 และต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่สูงที่สุดและตกต่ำที่สุดของสโมสรราวกับขึ้นเครื่องเล่นรถไฟเหาะโรลเลอร์โคสเตอร์เช่นนี้

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.malagacf.com/en/history
https://www.malaga.us/sport/football-clubs-in-malaga/
https://www.malagacar.com/information/malaga_cf.asp
https://english.alarabiya.net/sports/2020/09/17/Qatari-former-owner-family-owe-10-mln-to-Malaga-FC-Spanish-court
https://hmong.in.th/wiki/M%C3%A1laga_CF
https://www.youtube.com/watch?v=xg95e2BPKQ4

Author

วิสุทธา วงค์หน่อแก้ว

หนุ่มน้อยผู้คลั่งรัก "ปีศาจแดง" แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สุดหัวใจ

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ