Feature

The Danubian School: เมื่อ “ชุดวิธีคิด” สร้างความเกรียงไกรให้ฟุตบอลภาคพื้นทวีป | Main Stand

ศัพท์ว่า “School” นอกจากจะแปลว่าโรงเรียนแล้ว ในโลกตะวันตกยังใช้ในความหมายของ “สำนักทางความคิด” กันเป็นเรื่องปกติ สิ่งนี้มีรอยทางมาจากการจัดตั้งและสืบทอดแบบแผนของปัญญาชนในฐานะ “ประเพณีทางความคิด” ที่กระทำผ่านระดับอุดมศึกษาหรือบัณฑิตศึกษา

 

ในพื้นที่ที่ความคิดสำคัญประหนึ่งวิถีชีวิตปัจเจก การหยิบยืมชุดวิธีคิดเข้าไปยังปริมณฑลต่าง ๆ แม้กระทั่งในที่ที่ไม่คิดว่าจะไปถึงได้อย่าง ฟุตบอล การประกอบใช้คำว่า School ก็มีให้เห็นอย่างดาษดื่น แต่น่าเสียดาย สำหรับประเทศไทยที่ Sense ในการตระหนักรู้ เข้าใจ หรือทำความเข้าใจกลับเป็นเรื่องทาง “เทคนิค” หรือ “วิชาชีพ” เท่านั้น ซึ่งนับว่ายังห่างไกลกับ School ในโลกตะวันตกอยู่หลายขุม 

เพราะรากศัพท์ของ School มาจากภาษากรีกโบราณ skholē ที่แปลว่า “ว่าง (Leisure)” ซึ่งหมายถึง ต้องมีเวลาให้คิด รวบยอด และสรรสร้างองค์ความรู้ ซึ่งแตกต่างจากเรื่องทางเทคนิคและวิชาชีพต่าง ๆ ไปคนละทิศเลยทีเดียว

แน่นอนว่าสำหรับโลกฟุตบอลก็เช่นกัน เพราะน้อยคนนักที่จะทราบถึง “The Danubian School” ที่ครอบครองปริมณฑลฟุตบอลของโลกตะวันตกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แถมยังเป็นกลุ่มประเทศในแถบ “ยุโรปตะวันออก” ที่ดูจะเป็นกลุ่มประเทศ “ชั้นสอง” จากยุโรปตะวันตกที่กร่างว่าฟุตบอลนั้นพัฒนาก้าวล้ำไปไกลกว่ามาก

ร่วมติดตามการตีประเด็นเรื่องนี้ไปพร้อมกับเรา

*หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้เป็นการเล่าประวัติ The Danubian School หรือเป็น The Danubian School 101 หากแต่เป็นความพยายามในการชี้ให้เห็นว่า ฟุตบอลไม่ได้มีแต่เรื่องเชิงเทคนิค หรืออาชีพ หากแต่การก่อรูปในเชิงชุดวิธีคิด กลับมีความสำคัญในการ Architected ฟุตบอลไม่ต่างกัน โดยเฉพาะ สังคมแห่งโลกตะวันตก ที่เป็นสังคมแห่งการคิดใคร่ครวญ เรื่องดังกล่าวย่อมมีความเกี่ยวข้องกับฟุตบอลอย่างยิ่งยวด โดยใช้ The Danubian School เป็นกรณีศึกษาเดี่ยว สำหรับเรื่องนี้

 

จิมมี่ โฮแกน เปิดหัวจนหัวเปิด

อย่างที่ทราบกันดี ฟุตบอลในโลกสมัยใหม่นั้นต้นกำเนิดของกฎและกติกามีรอยทางมากจากประเทศอังกฤษ จากนั้นจึงได้ทยอยแพร่กระจายออกไปทั่วทุกมุมโลกผ่านพาณิชย์นาวี และคนแทบทั้งโลกนั้นก็ “เล่นลูก” เป็นกันถ้วนทั่ว แต่เรื่องของ “ลูกเล่น” ในสนามว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ ระบบ แผนการเล่นนั้น กลับเดินทางผ่าน “ทางบก” ในพื้นที่ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลอย่าง “ภาคพื้นทวีป” ทางตะวันออกของเกาะอังกฤษ

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะช่องแคบโดเวอร์ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 32 กิโลเมตร เรียกได้ว่าใครปอดเหล็กเสียหน่อยก็สามารถว่ายข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังอังกฤษได้โดยง่าย ฟุตบอลเองก็แพร่กระจายไปสู่ภาคพื้นทวีปในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับมาตุภูมิ รวมถึงเรื่องทางแทคติกด้วยเช่นกัน

ในทางประวัติศาสตร์ การจะหาว่า “ใครมาก่อนใคร” เป็นเรื่องที่ไร้สาระอย่างมาก (แต่หากทำได้จะเป็นการดี) แต่สำหรับประวัติศาสตร์ฟุตบอล สิ่งหนึ่งที่เป็นฉันทามติว่ามีการเผยแพร่แทคติกจากอังกฤษมายังภาคพื้นทวีป ด้วยชายที่มีชื่อว่า “จิมมี่ โฮแกน (Jimmy Hogan)” 

โดยเยนเติลแมนท่านนี้เป็นนักเตะรุ่นบุกเบิกของฟุตบอลในกติกาสมัยใหม่ ในตำแหน่ง “Inside Forward” กับทั้ง เบิร์นลีย์ และ โบลตัน วันเดอเรอร์ส แต่ก็อยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ได้โดดเด่นขนาดที่จะเป็นตำนานของวงการได้ แถมยังมีอาการเจ็บออด ๆ แอด ๆ ตรงหัวเข่าอีกด้วย

ต่อมา เขาแขวนสตั๊ดและเลือกเดินบนถนนสายงาน “โค้ช” เพราะหลายต่อหลายครั้งการเป็นนักปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมกลับเป็นนักให้ความรู้ที่ยอดแย่ ส่วนนักให้ความรู้ที่ยอดเยี่ยมก็ใช่ว่าจะเป็นนักปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมเสียเมื่อไร และที่สำคัญการเป็น นักคิด ไม่เท่ากับ นักปฏิบัติการ ดังที่คนส่วนใหญ่พิจารณาว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

กระนั้นองค์ความรู้ด้านการโค้ชของเขาก็ใช่ว่าจะขายได้ในประเทศ แต่กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจในวงการฟุตบอลภาคพื้นทวีปอย่างมาก โดยจ็อบแรกของเขาคือการคุมทัพ ดอร์เด็ชท์ (FC Dordrecht) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยสิ่งสำคัญที่เขาก่อร่างให้กับทีม นั่นคือการชี้ให้เห็นความสำคัญของ “ระบบการเล่น” ไม่แพ้เรื่องของพละกำลัง รวมถึงเรื่องความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)

โดยระบบดังกล่าวกระทำผ่านการ “เคลื่อนที่” อย่างมีแบบแผนในการจ่ายและรับบอลเพื่อขึ้นเกม แทนที่จะทำการตะบี้ตะบันสกรัมบอลหรือเข้าปะทะลูกเดียวที่ไม่แตกต่างจากการเตะฟุตบอลข้างถนนในปัจจุบัน แต่สำหรับ 100 กว่าปีก่อนสิ่งนี้ถือเป็นนวัตกรรมที่ก้าวล้ำอย่างมาก (ไม่รวมถึงเรื่องของ “โภชนาการ” ที่โฮแกนจัดตารางการรับประทานอาหารของนักเตะไม่ให้ตามใจปาก แต่ให้เน้นโปรตีน ผัก และผลไม้ ควบคุมตารางเวลาการนอนให้เหมาะสม รวมถึงห้ามท่องราตรี)

แน่นอนว่าด้วยการมีแบบแผนแหวกแนวจึงไปเข้าตาบรรดาสโมสรและสมาคมฟุตบอลในประเทศภาคพื้นทวีปอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี และ เยอรมนี จนท้ายที่สุดการโค้ชของเขาเป็นรอยทางสำคัญที่ทำให้เกิด “Match of the Century” ขึ้น เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 1953 ที่พลพรรค “ไมท์ตี้ แม็กยาร์” บุกมาไล่ถล่มพลพรรค “สิงโตคำราม” ไปแบบไม่ไว้หน้า 3-6 คาเวมบลีย์ และความมหัศจรรย์อื่น ๆ ก็ตามมาภายหลัง

ขนาดที่ ซานดอร์ บาร์คส์ (Sándor Barcs) นักเตะในทีมชาติฮังการีชุดนั้นกล่าวอวยยศว่า “เขาสอนทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับฟุตบอลให้เราจริง ๆ”

กระนั้นมีสิ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม เพราะเมื่ออธิบายในแนวเรื่องเช่นนี้จึงอาจดูเหมือนว่า โฮแกน มีความ “ไปกันได้” กับฟุตบอลภาคพื้นทวีป ซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้เกิดความเกรียงไกรในกาลต่อมา 

แต่หากพิจารณาประวัติศาสตร์ “กระแสรอง (Substream)” จะพบว่า การข้ามน้ำข้ามทะเลของ “ชุดวิธีคิด” ทางฟุตบอลระหว่างภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร การจะทำความเข้าใจไม่ได้ง่ายถึงขนาดที่จะสามารถเขียนเป็นเส้นตรงได้อย่างเป็นลำดับ

เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถให้เหตุผลโต้แย้งสิ่งที่โฮแกนบ่นอุบเกี่ยวกับฟุตบอลภาคพื้นทวีปที่เขา “คุยไม่รู้เรื่อง” เมื่อครั้งคุมทีมชาติออสเตรีย เตรียมแข่งโอลิมปิก 1912 ที่อ้างในหนังสือ Prophet or Traitor?: The Jimmy Hogan Story เขียนโดย นอร์แมน ฟอกซ์ (Norman Fox) ความว่า 

“ดูเป็นเรื่องที่ยากแก่การเข้าใจไปเลยสำหรับผู้เล่นในทีม แม้ว่าจะสอนเรื่องที่โคตรจะพื้นฐานเรื่องฟุตบอลก็เถอะ” 

ตรงนี้นอกเหนือไปจากการบริภาษแบบไม่คิดอะไรที่ว่า จับกังภาคพื้นทวีปโง่กว่าจับกังอังกฤษ ย่อมเป็นที่น่าสนใจว่าในเมื่อคุยไม่รู้เรื่องกับลูกทีมที่เป็นชาวภาคพื้นทวีป แล้วเหตุอันใด จิมมี่ โฮแกน จึงกลายเป็น “ฮีโร่” ในสายตาของพวกเขาในฐานะ “ไอ้ทรยศ” ที่นำศาสตร์ระบบการเล่นมาถ่ายทอด และหวนกลับไปเป็นหอกข้างแคร่ของอังกฤษ มาตุภูมิของฟุตบอลเอง ?

การจะตอบคำถามดังกล่าวอาจต้องทำความเข้าใจ “ประเพณีทางความคิด” ที่แตกต่างกันของภาคพื้นทวีป และอังกฤษ ในฐานะสิ่งที่เป็นเรื่อง “Abstract” เพื่อนำมาทำความเข้าใจให้เห็นถึงเหตุการณ์อย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น

 

ฟุตบอลคือประเพณีทางความคิด

ในโลกของปรัชญาซึ่งเป็นฐานกำเนิดของทุกสรรพวิชาในการศึกษาขั้นสูง ชุดวิธีคิดต่าง ๆ มีการจำแนกประเพณีทางความคิดของโลกตะวันตกไว้เป็น 2 แนวทาง (แบบกว้าง ๆ) นั่นคือ “สายวิเคราะห์ (Analytic)” และ “สายภาคพื้นทวีป (Continental)” โดยส่วนแรก เป็นประเพณีทางความคิดของพวก “แองโกล-แซ็กซอน” หรือก็คืออังกฤษและเพื่อบ้านใกล้เคียง (สกอตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ) ส่วนหลังจะเป็นประเพณีทางความคิดของกลุ่มแผ่นดินใหญ่ที่เหลือ

ความแตกต่างของประเพณีดังกล่าวอาจสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า อย่างแรก คือเน้นไปที่ความเข้าใจที่ผ่าน “ตรรกะ (Logic)” ที่จะบอกอย่างชัดเจนว่าจะทำเท่านี้ ๆ อย่างอื่นไม่ทำ หรือก็คือเป็นเรื่อง “ทื่อ ๆ” ตรงไปตรงมา หมายว่าจะกระทำการอะไรย่อมกระทำอย่างนั้น ส่วนอย่างหลัง เน้นความเป็น “สุนทรีย์ (Aesthetics)” ที่เสพสมความรุ่มรวยต่าง ๆ และเน้นความสลับซับซ้อน ลุกลามไปยังสื่อกลางในการนำเสนออย่างภาษาที่ใช้ ไปจนถึงสิ่งที่เหนือภาษา

ตรงนี้ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักคิดชื่อดังชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวถึง “ความทำตัวเข้าใจยาก” ของพวกภาคพื้นทวีปไว้ว่า

“ในประเทศผม (ฝรั่งเศส) คุณต้องเขียนงานให้มีความสลับซับซ้อนอย่างน้อย ๆ ร้อยละ 10 ไม่เช่นนั้นคนอ่านจะถ่มถุยท่านได้ว่า ท่านไม่มีความลุ่มลึก ไม่มีดีกรีเป็นนักคิดที่ลึกล้ำสุดแสนฉลาดหลักแหลม”

“สำหรับ ฌัคซ์ แดร์ริดา (Jaques Derrida: นักคิดระดับตำนานของฝรั่งเศส) คุณอาจจะเข้าใจเขายากเสียเล็กน้อย เพราะเขานั้นลุ่มลึกทางความคิดอย่างมาก ยามใดที่คุณพยายามชี้ให้เห็นว่าเขาเสนออย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็จะสวนมาว่าคุณเข้าใจผมคลาดเคลื่อน คุณไม่เข้าใจผมเลย และคุณมันโคตรโง่”

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เกิดแต่กับฝรั่งเศส เพราะเกือบทุกประเทศในภาคพื้นทวีปกระทำตนเช่นนี้กันหมด โดยเฉพาะในออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งปัญญาชนมีความสลับซับซ้อนทางความคิดอย่างมาก เช่น “ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)”  บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ที่ใครสนใจจิตวิทยาต้องรู้จักและเคยอ่านงานเขียนของเขามาบ้าง หรือ “ฟรานซ์ คาฟคา (Franz Kafka)” นักประพันธ์หนังสือชื่อดัง กับงาน The Metamorphosis ที่ขายดิบขายดีไปทั่วโลก

ซึ่งอาจมีน้อยจนแทบจะไม่มีเลยที่จะกล่าวได้ว่า งานเขียนของพวกเขานั้น “เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย” เหมือนปลอกกล้วยเข้าปาก แม้หลายครั้งจะมีการ “ยืมปาก” พวกเขามาโควตลงโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อให้พินิจว่า "คูล" ก็ตาม

แต่หากการอธิบายเช่นนี้ยังยากแก่การเข้าใจ การทำความเข้าใจผ่าน “มีม (Meme)” อาจเป็นมิตรกว่ามาก โดยมีมนี้เปรียบเทียบว่าสายวิเคราะห์นั้น “มีแบบมีแผนชัดเจน” เหมือนกันทุกจุด ส่วนสายภาคพื้นทวีปนั้น “กินหลากหลาย” อุดมด้วยภัตตาหาร มังสาหาร

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเพณีทางความคิด มีความแตกต่างกันมากพอสมควร (แม้ในเรื่องของ Discipline จะมีการหยิบยืมกันมาปรับใช้) ในโลกที่ชุดวิธีคิดกำกับความคิดของประชากร ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเข้าไปศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือมีเงินเรียนจึงจะได้มา เรียกได้ว่ามีการ “ตัดข้าม” อัตลักษณ์ทางชนชั้นบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดการคุยไม่รู้เรื่องได้อย่างง่ายมาก

อีกทั้งการก่อรูปทางฟุตบอลระหว่างอังกฤษและภาคพื้นทวีปก็มีความแตกต่างกันในระดับ “มูลฐาน” ดังที่ โจนาธาน วิลสัน (Jonathan Wilson) ได้เสนอไว้ในหนังสือ Inverting The Pyramid: The History of Soccer Tactics และ The Names Heard Long Ago: How the Golden Age of Hungarian Soccer Shaped the Modern Game ความว่า

“ที่อังกฤษ การพูดคุยถึงเรื่องฟุตบอลเกิดขึ้นในผับในบาร์ แต่ที่ภาคพื้นทวีปโดยเฉพาะยุโรปตะวันออก เรื่องฟุตบอลจะเกิดขึ้นที่ร้านกาแฟ ในอังกฤษฟุตบอลคือกีฬาหลังเลิกเรียนที่เล่นกันแบบขำ ๆ ก่อนที่พวกจับกังจะยึดไปเป็นกีฬาประจำตน (และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอัตลักษณ์ของตนเอง - เสริมโดยคนเขียน) กลับกัน ในภาคพื้นทวีปมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น”

“เพราะที่นี่ฟุตบอลได้รับการยึดกุมโดยชนชั้นกลางระดับสูง แต่คนที่ลงสนามคือพวกจับกัง แน่นอนว่าชนชั้นดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนที่มีการศึกษาและมีแนวความคิดที่สลับซับซ้อนทั้งนั้น … ฟุตบอลภาคพื้นทวีปจึงเป็นปรากฏการณ์ในเขตเมืองใหญ่ (มากกว่าที่จะเกิดขึ้นในเมืองรอง ๆ อย่างอังกฤษ - เสริมโดยคนเขียน) อย่างเวียนนา บูดาเปสต์ และ ปราก (จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี) ที่ซึ่งปัญญาชนนั้นเดินกันให้ควัก นั่งชิลล์จิบกาแฟคุยเรื่องฟุตบอลอย่างสนุกสนาน ดังนั้นการผสมผสานด้านความรู้จึงเกิดขึ้นแบบจับต้นชนปลายไม่ถูกเลยทีเดียว”

ตรงนี้วิลสันชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างทางฟุตบอลได้อย่างชัดเจน อังกฤษโดนพวกจับกัง ชนชั้นแรงงาน และบรรดาคนไม่มีจะกินเข้าครอบครองปริมณฑลไปเสียหมด ส่วนชนชั้นปัญญาชนยังคงตีกอล์ฟ เล่นคริกเก็ต และรักบี้ อยู่วันยังค่ำ แต่ไม่ใช่กับภาคพื้นทวีปที่ปัญญาชนเข้าครอบครองปริมณฑลทางฟุตบอล แน่นอนว่าพวกจับกังลงไปเตะ แต่การวางแผนหรือการชี้แนวทางมาจากปัญญาชนทั้งสิ้น

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหากโฮแกนจะออกอาการปวดเศียรเวียนเกล้าในการที่จะสอนให้นักเตะพวกนี้เข้าใจในแบบที่เขาอยากให้เข้าใจ เพราะระดับมูลฐานนั้นต่างกัน และการปรับเปลี่ยนชุดวิธีคิดที่ถูกก่อรูปขึ้นมานั้นใช่ว่าวันสองวันจะปรับเปลี่ยนได้ดั่งเสกมนต์คาถา แต่โฮแกนไม่ใช่คนโง่ เพราะถึงแม้เขาจะคุยไม่รู้เรื่องแต่ก็สามารถให้มือขวาอย่าง อูโก แมร์เซิล (Hugo Meisl) ที่เป็นปัญญาชนท้องถิ่นไปคุยให้ได้

หรือก็คือ โฮแกนเลือกที่จะโค้ช “โดยอ้อม” ผ่านการคุยกับปัญญาชน เพราะอย่างน้อยพวกนี้ก็มีความ “ใกล้ชิด” กับชุดวิธีคิดมากกว่านักเตะที่เป็นจับกัง แล้วให้ปัญญาชนไปคุยในภาษามูลฐานเดียวกันกับนักเตะอีกทอดหนึ่งจะเป็นการง่ายกว่า 

และด้วยความสุนทรีย์ที่มีติดตัว การรับฟุตบอลจึงไม่ได้รับมาแล้วใช้เลย แต่ได้ทำการ “สร้างสรรค์” ปรับแปรวิธีการเล่นให้เข้ากับสิ่งที่ภาคพื้นทวีปเป็น ซึ่งจะออกมาในแนวทาง “เล่นฉีก” เน้นครีเอตเกมตามใจคนเล่น แต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้วินัยแห่งการเคลื่อนที่ ยืนตำแหน่ง และแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน หาได้ตามใจตนเอง

แน่นอนว่าผลลัพธ์ก็ออกมาอย่างที่ทราบกัน ทั้ง ออสเตรีย และ ฮังการี ต่างครอบครองความยิ่งใหญ่ในปริมณฑลทางฟุตบอลยุคหลังสงคราม เริ่มจากออสเตรียที่เกิด “Wunderteam” ขึ้นมาในคริสต์ทศวรรษ 1930 ส่วนฮังการีก็เกิด “Mighty Magyars” ขึ้นมาราว 20 ปีหลังจากนั้น 

 

ไม่มีอะไรจีรังในโลกฟุตบอล

จากที่กล่าวในข้างต้น ย่อมเป็นที่ตั้งข้อสังเกตได้ว่าฟุตบอลที่เป็นกีฬาของจับกังแท้จริงอาจเกิดขึ้นแต่ในอังกฤษ เพราะเพื่อนบ้านอย่างบรรดาประเทศภาคพื้นทวีปโดยเฉพาะออสเตรียและฮังการี ฟุตบอลได้รับการก่อร่างโดยปัญญาชน ซึ่งกระทำการผ่านประเพณีทางความคิดสายภาคพื้นทวีปไม่ทางใดทางหนึ่งก็เต็มไปด้วยความลุ่มลึก สร้างสรรค์ และเปิดพื้นที่ให้หลากหลาย แตกต่างจากมาตุภูมิที่แข็งทื่อ ตายตัว และขาดการสร้างสรรค์

แต่คำถามที่ตามมาคือ เมื่อฟุตบอลภาคพื้นทวีปมีชุดวิธีคิดที่ดีเลิศประเสริฐศรีขนาดนี้ เหตุใดบรรดาร่องรอยของประเพณีทางความคิดแห่ง The Danubian School จึงอิเหละเขละขละ ตกต่ำ และไม่สมสง่าราศรีที่เคยยิ่งใหญ่ เพราะในยุคปัจจุบันเรียกได้ว่าแทบจะเป็นคนละทีมเลยทีเดียว 

คำตอบที่พอจะเข้าเค้าคือ ชุดวิธีคิดหนึ่งอาจ Function ในยุคสมัยหนึ่ง เมื่อข้ามผ่านกาลเวลามาชุดวิธีคิดนั้นอาจไม่เหมาะกับการใช้อีกต่อไป หรือก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมี “ความเปลี่ยนแปลง” และ “เปลี่ยนผ่าน” ตลอดเวลา ไม่มีอะไรจีรัง หรือเป็นนิรันดร์

ฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่าแม้ออสเตรียและฮังการีจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่พวกเขากลับเป็น “ราชาไร้บัลลังก์” โดยเฉพาะในฟุตบอลโลกที่ไม่เคยได้ชูถ้วยเลยแม้แต่ครั้งเดียว

กลับกัน ความเจริญทางแทคติกกลับเคลื่อนตัวออกห่างจากภาคพื้นทวีปมากขึ้นเรื่อย ๆ ไล่ตั้งแต่หมดยุคประเพณีทางความคิดของออสเตรียและฮังการีก็มี อิตาลี ที่คิดค้นระบบคาเตนัชโช่, เยอรมนี ที่มีริเบโร่, เนเธอร์แลนด์ กับ โททัล ฟุตบอล และวกกลับไปที่ 4-4-2 เปิดโหม่งแบบ อังกฤษ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี (ไม่นับรวมพวกละตินอเมริกา)

หรือก็คือ ฟุตบอลออกห่างจากการใช้ทื่อ ๆ แบบอังกฤษ แล้วก็กลับไปสู่การใช้ทื่อ ๆ แบบอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้ายอย่างมาก

อีกทั้งชุดวิธีคิดต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปตลอด จากแต่เดิมที่เน้นคิดล้วน ๆ ไปเรื่อยเปื่อย เมื่อโลกเข้าสู่ยุคทุนนิยม กระบวนการทำให้เป็นอาชีพย่อมเกิดขึ้น ความรู้และวิชาต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปเป็นเชิง “Practical” มากขึ้น เพื่อให้สามารถ “ใช้สอย” ในโลกที่เงินเป็นใหญ่ได้

อย่างเรื่องของ “นิติศาสตร์” ที่ปัจจุบันเข้าใจว่าเป็นเรื่องของ “วิชากฎหมาย” ทั้งที่จริง ๆ “Law School” กับ “Jurisprudence” มีความแตกต่างกันอยู่หลายขุม 

อย่าง “อักษรศาสตร์” ที่ปัจจุบันเข้าใจว่าเป็นเรื่องของ “ภาษา” แต่จริง ๆ คำว่า “Arts” มีความยิ่งใหญ่ในฐานะมูลฐานแห่งความเข้าใจโลก และไม่ใช่ “Language School” 

หรือ “รัฐศาสตร์” ที่ปัจจุบันเข้าใจว่าเป็นเรื่องของ “ราชการแผ่นดิน” ใส่ชุดกากีเดินเฉิดฉาย ทั้งที่จริง ๆ นั้น “Political Science” ไม่ใช่เรื่องของ “Clerk School” แต่อย่างใด

ซึ่งแท้จริงอาจมีปัญหามาตั้งแต่การพยายามแปลสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นภาษาไทยแล้วทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนตั้งแต่ต้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การไม่เห็นและไม่เข้าใจปัญหาพื้นฐานของสังคม เช่น การยึดมั่นถือมั่นกับ "Rule of Law" จนเพิกเฉยต่อ "Fairness, Equity และ Equality" ไปสิ้น

รวมไปถึงเป็นการใช้ "School" แบบ "ไร้ราก" เสียด้วย

เช่นนี้ประหนึ่งฟุตบอลที่สนแต่เรื่องทางเทคนิค เน้นแต่ระบบ ทำตามแผน สรรหาแทคติกมาแก้ลำ จะด้วยการเก็บค่าสถิตินู่นนี่หรือการรีดเร้นศักยภาพทางกายอย่างเต็มสตรีม จนอาจลืมไปว่านักฟุตบอลก็เป็น "มนุษย์" ที่ประจักษ์แจ้งในตนเองว่ามากไปด้วยปัญญาในระดับสูงกว่าเดรัจฉานและต่ำกว่าพระเจ้า

ดังนั้นเราจึงเห็นความสำคัญของ “การใช้ทื่อ ๆ” ทำตามจ็อบอย่างเคร่งครัดในสนามทวีความสำคัญมากขึ้น และบรรดาสายติสต์ ความคิดสร้างสรรค์ เน้นยูนีค กลับมีลดลง และที่สำคัญการผลิตทุนทรัพยากรมนุษย์ทางฟุตบอลออกมาเป็น “บล็อก” ประหนึ่งลงโปรแกรม จับใครก็ได้มาลงสนาม ใช้งานได้ทันที จึงเป็น Sense แบบใหม่ที่แฟนบอลอยากเห็นโดยดุษฎี

หรือก็คือ “ชีวิตแห่งการคิดใคร่ครวญ (Vita Contemplativa)” ทางฟุตบอลกำลังจะอันตรธานไปสิ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

แหล่งอ้างอิง

บทความ Austria and Hungary: The Danubian School ใน The Cambridge Companion to Football
หนังสือ Inverting The Pyramid: The History of Soccer Tactics
หนังสือ The Names Heard Long Ago: How the Golden Age of Hungarian Soccer Shaped the Modern Game
หนังสือ Prophet or Traitor?: The Jimmy Hogan Story
https://philosophynow.org/issues/74/Analytic_versus_Continental_Philosophy 
https://www.openculture.com/2013/07/jean_searle_on_foucault_and_the_obscurantism_in_french_philosophy.html#google_vignette 
https://www.youtube.com/watch?v=uPOQxEOVsOI&t=6995s 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น